ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2102
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

วัดเขาอ้อ

[คัดลอกลิงก์]
ครั้งนั้น ตามพงศาวดารเมืองพัทลุง กล่าวว่า ยังมีตายาย ๒ คน ตาชื่อ สามโม ยายชื่อ ยายเพ็ชร์ ตายายมีบุตรและหลานบุญธรรมอยู่สองคน ผู้ชายชื่อ กุมาร ผู้หญิงชื่อ เลือดขาว นางเลือดขาวกล่าวกันว่าเป็นอัจฉริยะมนุษย์คือเลือดในตัวนางมีสีขาว ผิวขาวผิดกับมนุษย์ธรรมดาสามัญ ตาสามโมเป็นนายกองช้างหน้าที่จับช้าง เลี้ยงช้างถวายพระยากรงทอง ปีละ ๑ เชือก เมื่อบุตรธิดาทั้งสองเจริญวัยพอสมควรแล้ว ตายายจึงนำไปฝากให้พระอาจารย์ทอง วัดเขาอ้อ สอนวิชาความรู้ให้ พบบันทึกในตำราว่าเริ่มนำตัวไปถวายพระอาจารย์ทองเมื่อวันพฤหัสบดี ปีกุน เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๓๐๑ (พ.ศ.๑๔๘๒) จะศึกษาอยู่นานเท่าใดไม่ปรากฏ ทราบแต่ว่าเป็นผู้มีความรู้ทางอยู่ยงคงกระพัน กำบังกายหายตัว และอื่น ๆ เป็นอย่างดียิ่ง
ต่อมาตายายให้บุตรบุญธรรมทั้งสองแต่งงานเป็นสามีภรรยากัน พระยากรงทองโปรดให้ได้เป็นเจ้าเมืองชื่อ พระกุมารและนางเลือดขาว ตั้งเมืองอยู่ที่บางแก้วฝั่งทะเลสาบตะวันตก ชื่อเมืองตะลุง ได้สร้างวัดและเจดีย์วัดตะเขียน (วัดบางแก้ว ต. เขาชัยสน จ. พัทลุง เดี๋ยวนี้)
การที่ให้ชื่อเมืองว่าเมืองตะลุง อาจจะเป็นเพราะว่าเดิมเป็นที่หลักล่ามช้าง ต่อมาจึงกลายเป็นเมืองพัทลุง พระกุมารและนางเลือดขาวเป็นผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา สร้างวัดอาราม, พระพุทธรูป, พระเจดีย์ ทั้งในเขตเมืองพัทลุง เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองตรังหลายแห่งด้วยกัน เช่น วัดบางแก้ว วัดสะทังใหญ่ เมื่อปีพ.ศ. ๑๔๙๓ สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดตรัง ๑ วัด (ในพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวว่า สร้างครั้งสมัยพระเจ้าไสยณรงค์ เป็นเจ้ากรุงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๕๐๐ (ผิดพลาดขออภัยด้วย) สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ๑ องค์ พอจะจับเค้ามูลได้ว่าวัดเขาอ้อมีมาก่อนเมืองพัทลุงเพราะพระกุมารมาศึกษาวิชาความรู้ก่อนเป็นเจ้าเมือง”
อีกตอนหนึ่ง “เมื่อจุลศักราช ๙๙๑ (พ.ศ. ๒๑๗๑) พระสามีรามวัดพะโค๊ะ หรือที่เราทราบกันเดี๋ยวนี้ว่าหลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ ซึ่งประชาชนในสมัยนั้นยกย่องถวายนามว่าสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ ท่านได้ไปเรียนพระปริยัติธรรม ณ กรุงศรีอยุธยา เป็นผู้แตกฉานในอรรถธรรม ครั้งนั้นยังมีพราหมณ์เป็นนักปราชญ์มาจากประเทศสิงหล (ลังกา) มาตั้งปริศนาปัญหาธรรมที่แสนยากพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระสามีรามเถระแก้ปัญหาธรรมนั้น ๆ จนชนะพราหมณ์ชาวสิงหล จึงพระราชทานยศเป็นพระราชมุนี เมื่อกลับมาเมืองพัทลุงได้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระรัตนมหาธาตุไว้บนเขาพะโค๊ะ สูง ๑ เส้น ๕ วา มีระเบียงล้อมรอบพระเจดีย์ (แต่ตามตำนานของวัดพะโค๊ะเองบอกว่า หลวงปู่ทวดมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นั้นมาก่อนนั้นแล้วแต่ถูกทำลายเมื่อคราวอุชุตนะ จอมโจรสลัดมาลายูเข้าปล้นบ้านปล้นเมืองและทำลายวัดวาอารามชายฝั่งทะเลแถบภาคใต้ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี –เขียน)
ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งฉลองพระเจดีย์นั้น ท่านพระอาจารย์เฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง องค์หนึ่งชื่อ สมเด็จเจ้าจอมทอง ซึ่งคงจะเป็นชื่อที่ยกย่องเช่นเดียวกับสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ นำพุทธบริษัทไปในงานฉลองพระเจดีย์ทางเรือใบ แสดงอภินิหารวิ่งเรือใบเลยขึ้นไปถึงเขาพะโค๊ะซึ่งไกลจากทะเลมาก ทำให้ประชาชนที่เห็นอภินิหารเคารพนับถือและปัจจุบัน สถานที่ตรงนั้นเรียกกันว่า “ที่จอดเรือท่านอาจารย์วัดเขาอ้อ”
ต่อมา ท่านสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ ให้คนกวนข้าวเหนียวด้วยน้ำตาลโตนดภาษาภาคใต้เรียกว่า เหนียวกวน ทำเป็นก้อนยาวประมาณ ๒ ศอก โตเท่าขา ให้พระนำไปถวายสมเด็จเจ้าจอมทอง วัดเขาอ้อ ครั้นถึงเวลาฉัน ท่านสมเด็จเจ้าจอมทองสั่งให้แบ่งถวายพระทุกองค์ ศิษย์วัดตลอดถึงพระก็ไม่มีใครที่จะแบ่งได้เอามีดมาฟันเท่าใดก็ไม่เข้า ทราบถึงสมเด็จเจ้าจอมทอง ท่านสั่งให้เอามาแล้วท่านจึงเอามือลูบ แล้วส่งให้ศิษย์ตัดแบ่งถวายพระอย่างข้าวเหนียวธรรมดา
อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จเจ้าจอมทองให้พระนำแตงโมใบใหญ่ ๒ ลูกไปถวายสมเด็จเจ้าพะโค๊ะพอถึงเวลาฉันก็ไม่มีใครผ่าออก สมเด็จพะโค๊ะทราบเข้าก็หัวเราะชอบใจ พูดขึ้นว่า สหายเราคงแสดงฤทธิ์แก้มือเรา ท่านรับแตงโมแล้วผ่าด้วยมือของท่านเองออกเป็นชิ้น ๆ ถวายพระ
การแสดงอภินิหารของพระอาจารย์ครั้งโบราณเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีมากอาจารย์ด้วยกัน ต่อจากนั้นพระอาจารย์วัดเขาอ้อทุก ๆ องค์ ได้แสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ตลอดมา จึงเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทุกชั้น เจ้าเมืองพัทลุงทุกคนต้องไปเรียนวิชาความรู้ที่วัดเขาอ้อ ปัจจุบันก็มีการศึกษากันอยู่
ลำดับพระอาจารย์เท่าที่ทราบชื่อมี ๑๐ ท่าน คือ
๑. พระอาจารย์ทอง
๒. พระอาจารย์สมเด็จเจ้าจอมทอง
๓. พระอาจารย์พรมทอง
๔. พระอาจารย์ไชยทอง
๕. พระอาจารย์ทองจันทร์
๖. พระอาจารย์ทองในถ้ำ
๗. พระอาจารย์ทองนอกถ้ำ
๘. พระอาจารย์สมภารทอง
๙. พระอาจารย์พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า)
๑๐. พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม
(๑๑. พระครูอดุลธรรมกิตติ์ -หลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสรูปล่าสุด มรณภาพ ๒๕๔๙)
พระอาจารย์วัดเขาอ้อทุก ๆ องค์ มีความรู้ความสามารถคล้ายคลึงกัน เพราะได้ศึกษากันมาไม่ขาดระยะ ตำราและวิชาความรู้ที่เป็นหลัก คือพระอาจารย์สำนักวัดเขาอ้อทุกองค์สอนเวทมนต์คาถาเป็นหลัก เรียนตั้งแต่ธาตุ ๔ ธาตุทั้ง ๕ แม่ธาตุ การตั้งธาตุ หนุนธาตุ แปลงธาตุ และตรวจธาตุ วิชาคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด มหาอุด สอนให้รู้กำเนิดที่มาของเลขยันต์อักขระต่าง ๆ ซึ่งใช้ความพยายามและจะต้องอยู่ปฏิบัติอาจารย์ จนอาจารย์เห็นความพยายามที่รักวิชาของศิษย์จึงจะสอนให้ ศิษย์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจนทำให้ตามตำราก็มีจำนวนมาก



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-10-29 22:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
นอกจากสอนวิชาความรู้ทางไสยศาสตร์แล้วยังสอนวิชาความรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคจนกระทั้งตำรายาของสำนักเขาอ้อมีทั่วไป ทั้งภาคใต้ ตลอดไปถึงมาเลเซีย
วิชาไสยศาสตร์ที่เป็นหลักเดิมเป็นคุณวิเศษประจำอาจารย์ทุกองค์ คือ
๑. เสกน้ำมันงาให้เดือด ให้แข็ง แล้วทำพิธีป้อนให้ศิษย์เป็นคงกะพัน
๒.วิธีอาบว่านแช่ยา เป็นคงกระพันกันโรค
๓. พิธีหุงข้าวเหนียวดำกิน เป็นคงกระพัน กันเจ็บเอว เจ็บหลังเป็นอายุวัฒนะ
๔. พิธีสอนให้สักยันต์ที่ตัวด้วยดินสอหรือมือ เป็นคงกะพันชาตรีเป็นมหาอุด แคล้วคลาด เป็นเมตตามหานิยม
๕. พิธีลงตะกรุด ๑ ดอก ๔ ดอก ๕ดอก ๑๖ ดอก
๖. พิธีลงตะกรุด ๑ ดอก ๔ ดอก ๑๖ ดอก
๗.วิชาความรู้เกี่ยวกับฤกษ์ยาม ตามตำราพิชัยสงคราม
๘.วิชาความรู้ทางยารักษาโรค รักษาคนเป็นบ้า รักษาคนกระดูกหัก กระดูกแตก ต่อกระดูก รักษาโรค ตามตำราเขาอ้อ ต้องรักษาเพื่อการกุศลหายแล้วนำอาหารคาวหนาวไปถวายพระ
๙. พิธีพิเศษและสูงสุดระดับชาติ ระดับศาสนา คือ ทำไม้เท้ากายสิทธิ์ชี้ต้นตาย ชี้ปลายเป็น ช่วย ชาติในคราวคับขัน เป็นปริศนาธรรมให้ชาวพุทธพิจารณาแก้ช่วยกัน แก้ได้ โลกจะกลับคืนเข้าสู่สันติตัวจริง สันติตัวปลอมจะหมดไปจากโลก คือ ให้เจริญภาวนาให้เห็นว่าชี้ต้นนาย ชี้เป็นปลายเป็น เป็นตัวโลกุตรธรรม
ในพงศาวดารยังพูดถึงวัดเขาอ้ออีกครั้ง โดยปรากฏในประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง ดังที่อาจารย์ชุม ไชยศีรี ได้เขียนไว้โดยสังเขปในหนังสือเล่มเดียวกับที่อ้างถึงข้างต้น ความว่า
“... ในพงศาวดารกล่าวว่า ครั้งสมัยศรีวิชัย ตอนกลางของแหลมมาลายูปรากฏว่ามีเมืองโบราณเก่าแก่อยู่ ๓ เมือง คือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวง มีเจ้าผู้ครองนคร ตกอยู่ในอำนาจของศรีวิชัยตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๐๐ ถึง พ.ศ. ๑๘๒๓ ต่อจากนั้นเข้ารวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัยครั้งพ่อขุนรามคำแหงเมืองพัทลุงกับเมืองไชยาเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองนครฯ
เมืองพัทลุงมีอาณาเขตติดต่อกับทะเลตะวันตกและทะเลตะวันออก ในสมัยนั้นมีเมืองขึ้นเล็กๆ หลายเมือง เช่น เมืองปะเหลียน เมืองจะนะ เมืองชะรัด เมืองเทพา เมืองกำแพงเพชร (อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา) เมืองสงขลา เมืองสทิง เมืองสิงห์ (กิ่งอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ในปัจจุบัน- ผู้เขียน) เมืองระโนด เมืองปราน เมืองสีชะนา (ที่ตั้งเมืองพัทลุงปัจจุบัน) ตัวเมืองพัทลุงสมัยนั้นตั้งอยู่ที่บางแก้ว (เขตอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เดี๋ยวนี้)
(ตามหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕ จดหมายเหตุของหลวงอุดมสมบัติ จดหมายเหตุเรื่อง “สยามกับสุวรรณภูมิ” ของหลวงวิจิตรวามการ, และจาการค้นคว้าจากที่อื่นหลายแห่ง)
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ครั้งที่พม่ายกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชได้เป็นผลสำเร็จแล้วยกทัพตีมาเรื่อย พระยาพัทลุง (ขุน) กับพระมหาช่วย วัดป่าเลไลย์ ชาวบ้านน้ำเลือด ซึ่งเป็นศิษย์อาจารย์วัดเขาอ้อ มีความรู้เชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ ได้ลงตะกรุดเลขยันต์ผ้าประเจียดให้ไพร่พล แล้วแต่งเป็นกองทัพยกไปคอยรับทัพพม่าอยู่ที่ตำบลท่าเสม็ด(อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน-ผู้เขียน) ทัพพม่ายามาถึงเห็นกองทัพไทยจากพัทลุงมีกำลังมากว่าตน แต่ที่จริงมีกำลังน้อยกว่ากองทัพพม่าหลายเท่า แต่ด้วยอำนาจเวทมนตร์คาถาที่พระมหาช่วยซึ่งนั่งบริกรรมภาวนาอยู่เบื้องหลัง ทำให้ข้าศึกมองเห็นเป็นจำนวนมาก และมีกำลังร่างกายสูงใหญ่ผิดปกติ
กองทัพพม่าไม่กล้ารุกเข้าเขตเมืองพัทลุงจึงหยุดอยู่เพียงคนละฝั่งแม่น้ำเป็นหลายวัน จนกองทัพหลวงก็ยกมาถึง พม่าจึงยกทัพกลับไปพระมหาช่วยมีความชอบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น พระยาช่วยทุกข์ราษฎร เป็นผู้ช่วยราชการเมืองพัทลุง..
ปัจจุบัน พระยาช่วยทุกข์ราษฎรผู้นี้ ชาวจังหวัดพัทลุงยกขึ้นเป็นวีรบุรุษประจำเมืองโดยร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ประดิษฐานไว้เป็นที่เคารพบูชา และตั้งเด่นเป็นสง่าราศีแก่เมืองพัทลุงอยู่ที่สามแยกท่ามิหรำ อำเภอเมือง ซึ่งถนนสายสำคัญที่เข้าเมืองพัทลุงต้องผ่านทางนั้น
ประวัติวัดเขาอ้อปรากฏหลักฐานในเอกสารทางราชการอีกแห่งคือ ในสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ที่จัดโดยสถาบันทักษิณคดีศึกษาซึ่งได้เขียนประวัติวัดเขาอ้อไว้ย่อๆ ในส่วนของจังหวัดพัทลุง ความว่า
“...วัดเขาอ้อเป็นตั้งอยู่หมู่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน วัดเขาอ้อเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในสมัยอยุธยา เดิมเป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมา พ.ศ.๒๒๘๔ พระมหาอินทราชมาจากเมืองปัตตานีได้เป็นเจ้าอาวาส จึงทำการบูรณะสิ่งปรักหักพัง เช่น บูรณะพระพุทธรูปในถ้ำ ๑๐ องค์ สร้างอุโบสถ ๑ หลังเสร็จแล้วมีหนังสือถวายพระราชกุศลเข้าไปกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูปหล่อสำริด ๑ องค์หล่อด้วยเงิน ๑ องค์ แก่วัดเขาอ้อ ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า
“เจ้าฟ้าอิ่ม เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ”
ต่อมาพระมหาอินทราชได้สร้างพระพุทธบาทจำลองด้วยมณฑปไว้บนเขาอ้อ สร้างพระพุทธไสยาสน์ ๑ องค์ และสร้างเจดีย์ไว้บนเขา ๓ องค์ เสร็จแล้วพระมหาอินทราชไปเสียจากวัด จึงทำให้วัดเสื่อมโทรมลงอีก ปะขาวขุนแก้วเสนา และขุนศรีสมบัติ พร้อมด้วยชาวบ้านใกล้เคียงได้ไปนิมนต์พระมหาคง จากวัดพนางตุงมาเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้นมาวัดก็เจริญขึ้นเรื่อย มีเจ้าอาวาสปกครองวัดต่อ ๆ กันมากมายหลายสิบรูป ล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคใต้ตราบเท่าทุกวันนี้”


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-10-29 22:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระพุทธรูปเจ้าฟ้ามะเดื่อที่ว่านี้ ยังมีผู้เล่าประวัติปลีกย่อยออกไปว่าที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะอดีตนายมะเดื่อหรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสมัยเมื่อยังเป็นนายมะเดื่อที่เชื่อกันว่าเป็นราชโอรสลับ ๆ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เดินทางไปศึกษาวิทยากรในสำนักเขาอ้อ โดยยกกันไปทั้งครอบครัว หนึ่งในจำนวนนั้นมีเชื้อพระวงศ์ แต่ไม่แน่ว่าเป็นสายใด มีชื่ออิ่มอยู่ด้วย ครั้นศึกษาได้พอสมควรแล้ว ก็เดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา เข้ารับราชการจนกระทั้งเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเสือ ขณะที่อยู่ที่วัดเขาอ้อก็ได้สร้างปูชนียวัตถุไว้เป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่ง คือ พระพุทธรูปที่ว่านั่นเอง
ต่อมาเมื่อชาวบ้านทราบว่าผู้ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาคุณในครั้งนั้นถึงเป็นถึงเจ้าฟ้าจึงได้ถวายนามพระพุทธรูปองค์นั้นตามชื่อผู้สร้าง คือ “เจ้าฟ้ามะเดื่อ” เพื่อเป็นอนุสรณ์เพราะสร้างตั้งแต่เป็นเจ้าฟ้ามะเดื่อ
ส่วนเจ้าฟ้าอิ่มนั้นก็เช่นกัน สร้างขึ้นโดยราชวงศ์องค์หนึ่ง ซึ่งมีนามเดิมว่า “อิ่ม” ซึ่งต่อมาได้เป็นใครก็ไม่อาจจะทราบได้ ผลแต่การศึกษาของเจ้าฟ้ามะเดื่อ หรือพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในทางวิทยาการแต่ในอดีตของสำนักแห่งนี้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานบันผู้นำเพียงใดซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาแต่สำนักทิศาปาโมกข์แต่เดิม
สาเหตุที่ทำให้ข้อสันนิษฐานที่ว่า วัดเขาอ้อเคยเป็นสำนักทิศาปาโมกข์ของ พราหมณาจารย์ในอดีตส่วนหนึ่งก็เพราะความที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้นำ เพราะสำนักทิศาปาโมกข์ที่สืบถอดมาแต่ตักศิลาประเทศอินเดีย ส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่ถวายวิทยาการให้กับเชื้อพระวงศ์และลูกหลานผู้นำ เข้าใจกันว่า สำนักเขาอ้อแต่เดิม สมัยที่ยังเป็นสำนักทิศาปาโมกข์นั้น ผู้ที่เป็นศิษย์ของสำนักแห่งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนระดับผู้นำ ดังที่ปรากฏรายนามตามประวัติของวัด
วัดเขาอ้อที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวคงจะเป็นการพูดถึงเขาอ้อเพียงสมัยหนึ่ง คือสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่วัดเขาอ้อสร้างมานานกว่านั้นมาก ร้างและเจริญสลับกันเรื่อยมาตราบปัจจุบัน
ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้
(คัดจากหนังสือ “เขาอ้อ วิทยาลัยไสยเวทแห่งสยาม”
เวทย์ วรวิทย์ ค้นคว้า-เรียบเรียงสำนักพิมพ์ร่มฟ้าสยาม)
เพื่อเผยแผ่กิตติคุณเป็นสังฆบูชา

เรียบเรียงโดย
ศักดิ์ศรี บุญรังศรี : สำนักข่าวทีนิวส์

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้