วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริจะทรงสร้างพระปรางค์ใหญ่
ให้มีในกรุงรัตนโกสินทร์อีกองค์หนึ่ง
เรียกกันว่า “ภูเขาทอง” กันมาแต่แรกสร้าง
เพราะเหตุที่อยู่ใกล้คลองมหานาค เหมือนอย่างที่ภูเขาทองที่กรุงเก่า (อยุธยา)
มีจดหมายที่สร้างภูเขาทอง เมื่อรัชกาลที่ ๓ อยู่ใน หนังสือพระราชพงศวดาร ที่ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ เรียบเรียง ดังนี้
วัดสระเกศนั้น โปรดให้ พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด บุญนาค) เป็นแม่กอง ทำพระปรางค์ใหญ่องค์หนึ่งฐานเป็นไม้สิบสอง
ด้านหนึ่งยาว ๕๐ วา ขุดรากลึกลงไปที่โคลนแล้ว เอาหลักแพทั้งต้นเป็นเข็มห่มลงไป จนเต็มที่แล้ว เอาไม้ซุงทำเป็นและปูเป็นตาราง แล้วเอาศิลาแลงก่อเสมอขึ้นมาก่อเสมอดิน
จึงก่อด้วยอิฐ
ในระหว่างองค์พระนั้น เอาศิลาก้อนซึ่งราษฎรเก็บมาขาย บรรจุลงไปจนเต็ม การก่อขึ้นได้ถึงชั้นทักษินที่สอง ศิลาที่บรรจุข้างใน กดหนักลงไปจนทรุดลงไปถึง ๙ วา
อิฐที่ก่อหุ้มข้างนอกนั้น ก็แตกร้าวรอบไปทั้งองค์
ของนี้ไม่ทลายก็เพราะทรุดกลางกดกันลงไป
พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ได้ขุดดินริมฐานพระชันสูตรดู ก็พบหัวไม้และระเบิดขึ้นมาหมด
จึงโปรดให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ และขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชทานพระกฐิน ผู้คนยังพรักพร้อมอยู่ให้ ปักเสาหลักแพเป็นหลักมั่น กันข้างนอกให้แน่นเป็นหลายชั้น กั้นฐานพระปรางค์มิให้ดินถีบออกไป สิ้นไม้หลักแพหลายพันต้น แล้วก็จัดการก่อแก้ไข ที่ทรุดหนักลงมาอีก ๓ วา เห็นว่าจะแก้ไม่ได้แล้ว
ก็ให้เลิกการนั้นเสีย ..
ครั้งในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้แก้ไขพระปรางค์ใหญ่ ซึ่งทิ้งค้างมาแต่รัชกาลที่ ๓
ทำเป็นภูเขาทองมีบันไดเวียนสองสายขึ้นถึงยอด แลบนยอดเขาก่อพระเจดีย์องค์หนึ่ง
พระราชทานนามภูเขาว่า “บรมบรรพต”
การยังค้างมา(บางส่วน)สำเร็จจริงๆ ในรัชกาลที่ ๕ และในรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดให้ตัดถนนสระปทุมต่อจากถนนบำรุงเมือง ถนนนี้ผ่านไปในระหว่างกุฎีวัดสระเกศ กับบริเวณเมรุปูน โปรดให้สร้างพลับพลา แลแก้ไขบริเวณเมรุ ให้เข้ากับถนน ให้ทำสะพานแลถนนต่อจากถนนสระปทุม เข้าไปถึงลานบรมบรรพตกด้วยสายหนึ่ง
ต่อมาเมื่อตัดถนนจักรพรรดิต่อจากถนนวรจักร
โปรดให้ถมคลองข้างหน้าวัด ทำถนนและทำกำแพงวัด หน้าวัดออกถนนใหญ่ได้ในครั้งนั้น
แล้วโปรดให้ทำสะพานข้ามคลอง ข้างหลังวัด
ต่อจากถนนสระปทุม เข้าในลานบรมบรรพตอีกสายหนึ่ง
อนึ่ง เมื่อรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทาน พระทันตธาตุจำลองมาตั้งไว้ในคูหา พระเจดีย์ยอดบรมบรรพต แลโปรดให้กำหนดนักขัตฤกษ์ ให้ราษฎรมาบูชาพระที่บรมบรรพต เมื่อกลางเดือน ๑๒ ทุกปี มีมาจนบัดนี้