ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:41 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
รวมตัวที่บ้านปาง



หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยพ้นจากอธิกรณ์ ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางกลับไปจังหวัดลำพูน
เพื่อไปบูรณะและสร้างวัดบ้างปาง อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน หลวงพ่อและครูบาขาวปี
(ซึ่งขณะนั้นนุ่งขาวห่มขาวทั้งคู่) ตลอดจนลูกศิษย์ทั้งที่ถูกจับสึกเป็นฆราวาส
และที่หนีไปในที่ต่างๆ ต่างก็ได้เดินทางกลับมาช่วยกันสร้างและบูรณะวัดบ้านปาง
เพื่อให้เป็นที่อยู่ที่ถาวรของครูบาศรีวิชัย

พระสงฆ์ที่เคยช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวัดบ้านปาง ปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่ที่หลวงพ่อพอจำได้
คือ ครูบาศรีนวล ญาณสิริ วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย,
ครูบาก้อน ปัจจุบันย้ายจากวัดสวนดอกไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง
(ครูบาก้อนนี้เป็นผู้นำเถ้าอังคารของครูบาศรีวิชัยมาทำพระเครื่องรูปเหมือนครูบาศรีวิชัย
ซึ่งปัจจุบันพระเครื่องชุดนี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วไป)

หลวงพ่อได้ช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างวิหารที่วัดบ้านปางได้ระยะหนึ่ง
ท่านจึงลาไปบำเพ็ญภาวนาธุดงค์ แสวงหาสัจธรรมต่อไปในป่าในเขา
และเผยแผ่ธรรมะให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ ต่อไป

ชีวิตเดินธุดงค์

ในสมัยนั้น ท่านได้ธุดงค์บำเพ็ญเพียรไปในที่ต่างๆ องค์เดียวเสมอ
ท่านชอบธุดงค์ไปอยู่ในป่า ในถ้ำที่ห่างไกลผู้คน

หลวงพ่อเล่าว่า ในสมัยนั้นการเดินธุดงค์ไม่สะดวกสบายเช่นสมัยนี้
เพราะเครื่องอัฏฐบริขารและกลดก็หาได้ยากมาก
ตามป่าตามเขาก็มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายอาศัยกันอย่างมากมาย
ในขณะถือธุดงค์ในป่าในเขาก็ต้องอาศัยถ้ำหรือใต้ต้นไม้เป็นที่พักที่ภาวนา
เมื่อเจอพายุฝนก็ต้องนั่งแช่อยู่ในน้ำที่ไหลท่วมมาอย่างรวดเร็วเช่นนั้นจนกว่าฝนจะหยุดตก
การภาวนาในถ้ำในสมัยก่อนนั้นก็มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย
เช่น เสือ, ช้าง, งู, เม่น ฯลฯ เป็นต้น แต่มันไม่เคยมารบกวน
หรือสร้างความกังวลใจให้ท่านเลย ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน


ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้ไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำแห่งหนึ่งที่ตำบลบ้านก้อ
สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ ต้นสักแต่ละต้นขนาด ๓ คนโอบไม่รอบ
ในถ้ำนั้นมีเม่นและช้างอาศัยอยู่ บางครั้งก็มีเสือเข้ามาหลบฝน
บ่อยครั้งที่ท่านกำลังภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น พวกมันจะมาจ้องมองท่านด้วยความแปลกใจ
ทำให้ท่านรู้สึกถึงความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสาของสัตว์ที่มองดูท่านด้วยท่าทางฉงนสนเท่ห์
ทำให้ท่านนึกถึงคำสั่งสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
"ความไม่เบียดเบียนกันเป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง"

หลวงพ่อบอกว่าพระธุดงค์ในสมัยก่อนต้องผจญอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มากมาย
จึงต้องเคี่ยวจิตใจและกำลังใจให้เข้มแข็งและแกร่งอยู่เสมอ
ดังนั้น พระธุดงค์รุ่นเก่าจึงเก่งและได้เปรียบ กว่าพระสงฆ์ในปัจจุบัน
ทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา
แต่เสียเปรียบกว่า พระสงฆ์ในยุคนี้ในด้านการใฝ่หาความรู้ทางด้านปริยัติ
เพราะในสมัยนี้ความเจริญทำให้ไปไหนมาไหนได้สะดวกและเร็วขึ้น
พระสงฆ์ในรุ่นเก่าที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองจึงต้องบังคับจิตใจ บำเพ็ญเพียร
ปฏิบัติภาวนาให้เกิดปัญญาและธรรมะขึ้นในจิตในใจ
เพื่อนำมาพิจารณาและปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน

ธุดงค์น้ำแข็ง

บ่อยครั้งท่านได้ธุดงค์จาริกผ่านไปที่กิ่งอำเภออมก๋อย
ในฤดูหนาวบริเวณภูเขาของกิ่งอำเภออมก๋อยจะมีเหมยค้างปกคลุมไปทั่ว
(เหมยค้างนี้ภาษาภาคเหนือ หมายถึง น้ำค้างที่กลายเป็นน้ำแข็ง)
ในบริเวณนี้มีต้นสนขนาดต่างๆ ขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย
เวลาย่ำเดินไปบนพื้น น้ำแข็ง ขาจะจมลึกลงไปในน้ำแข็งนั้น
ทำให้เกิดความหนาวเย็นเป็นอันมาก เพราะท่านมีแต่ผ้าที่ครองอยู่เพียงชั้นเดียวเท่านั้น
โดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดผ่านมา ท่านต้องสั่นสะท้านทุกครั้ง

ท่านได้เล่าว่า ความแห้งแล้งของอากาศและความหนาวเย็นของน้ำแข็ง
ทำให้ผิวหนังของท่านแตกปริเป็นแผลไปทั้งตัว ต้องได้รับทุกขเวทนามาก
สมัยนั้นในภาคเหนือจะหากลดมาสักอันหนึ่งก็ยากมาก
การธุดงค์ของท่านก็มีแต่อัฐบริขารเท่านั้น ที่ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง
ช้อนก็ทำจากกะลามะพร้าว ถ้วยน้ำก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่
ผ้าจีวรที่ครองอยู่ก็ต้องปะแล้วปะอีก

ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนว่า แต่การปฏิบัติภาวนาบนภูเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากเช่นนี้
ทำให้การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานนั้นกลับแจ่มชัดและรวดเร็วดียิ่งกว่าในเวลาปกติธรรมดา
เพราะทำให้ได้เห็นเรื่องของไตรลักษณ์ได้ชัดเจนดี
และการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็สามารถเห็นอย่างแจ่มชัด
ทำให้ในขณะภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น จิตสงบดีมาก ไม่พะวงกับ สิ่งภายนอกเลย

ในบางครั้ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น ไฟที่ก่อไว้ได้ลุกไหม้จีวรของท่านไปตั้งครึ่งค่อนตัว
ท่านยังไม่รู้สึกตัวเลย เมื่อจิตออกจากสมาธิแล้ว ท่านต้องรีบดับไฟที่ลุกไหม้อยู่นั้นอย่างรีบด่วน
ทำให้ต้องครองผ้าจีวรขาดนั้นไปจนกว่าจะเดินทางไปพบหมู่บ้าน
ท่านก็จะนำผ้าที่ชาวบ้านถวายให้มาต่อกับจีวรผืนเก่าที่เหลืออยู่นั้น
ในบางครั้งท่านจะนำผ้าบังสุกุลที่พบในระหว่างทาง
มาเย็บต่อจีวรที่ขาดอยู่นั้นตามแบบอย่างที่ครูบาอาจารย์ในยุคก่อนๆ
ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล

หลวงพ่อ เป็นพระสงฆ์ผู้ถ่อมตนและไม่เคยโออวดเป็นนิสัย
เมื่อมีผู้สงสัยว่าท่านคงเข้าสมาธิจนสูงถึงขึ้น
จิตไม่จับกับกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้ว
จึงไม่รู้ว่าไฟไหม้ ตัวท่านมักตอบเลี่ยงไปด้วยใบหน้าเมตตาว่า

"คงจะอากาศหนาวมาก หลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้จีวร"

ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ

เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาตามดอยต่างๆ
ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ
และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีวิชัย
ที่วัดบ้านปาง เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว
กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน-บ้านห้วยหละ
ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่ เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว
ชาวบ้านห้วยหละ จึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา
และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:43 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


วัดพระพุทธบาทตะเมาะ (เต่าหมอบ) อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่  


มณฑป ๘๔ ยอด ครอบรอยพระพุทธบาท
วัดพระพุทธบาทตะเมาะ (เต่าหมอบ) อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่


ห่มเหลืองอีกครั้งหนึ่ง

ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี ครูบายศ
(ซึ่งเป็นศิษย์คนหนึ่งของครูบาศรีวิชัย และเป็นเพื่อนสงฆ์กลุ่มเดียวกับหลวงพ่อ,
ครูบาขาวปี วัดผาหนาม จังหวัดลำพูน, ครูบาบุญทืม วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน,
ครูบาศรีนวล วัดเจริญเมือง จังหวัดเชียงราย, ครูบาก้อน จังหวัดลำปาง ฯลฯ เป็นต้น)
และชาวบ้านป่าพลูได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลู
และในปีนี้ท่านได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง
โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาใหม่ว่า "จันทวังโส"
(ในคราวนี้หลวงปู่แก้วอุบาลี วัดห้วยแทง จังหวัดลำพูนเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในพิธีด้วยองค์หนึ่ง)

ในการห่มเหลืองในครั้งนี้ คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลู
เป็นเวลา ๕ พรรษา เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์
และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาวป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต
และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่

ตรงตามคำทำนาย

เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว
ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี นายอำเภอลี้ และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้
ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยง มานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง
เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป และบอกว่า

"ไม่ใช่หน้าที่ของกู"

ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า

"วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว"

ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้างวัด พระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม
ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว
ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลง เป็น "วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม"

ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า "น้อย"
เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วย (ข้าว) ต้ม ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า
ท่านคงเป็น "พระน้อยเมืองตื๋น" ตามคำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม
และเหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋า และครูบาศรีวิชัย ดังที่กล่าวมาข้างต้น
เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม
และท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้าน
และชาวเขาในที่ต่างๆ อยู่เสมอๆ เหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา


ป้ายชื่อวัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


เจดีย์และวิหาร วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


พิพิธภัณฑ์บริขารพระครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


รูปหล่อครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย ประดิษฐานกลางแจ้ง ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


จากซ้าย : รูปหล่อครูบาอภิชัย (ครูบาขาวปี), ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย
และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์) ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน

13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:45 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)


ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์

ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม
ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า

"ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล (คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน) จะมีชาวกะเหรี่ยง
อพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต
ในครั้งนี้จะใหญ่กว่า หมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้"


คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้ว ไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก
แต่ในเวลาต่อมาไม่นานคำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ

หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่า คนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอนาคต
และมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากที่ท่านได้สร้างวิหาร
ที่วัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้ม เป็นรูปร่างขึ้นแล้ว
ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อน เคยเห็นคำทำนายโบราณ
ของวัดพระพุทธบาทห้วย (ข้าว) ต้มมาก่อน ได้มาพูดกับท่านว่า

"ท่านครูบา จะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้ แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
ต่อไปจะมีคนๆ หนึ่งมาช่วย ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้"


ชาวเขาอพยพตามมา

เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วย (ข้าว) ต้ม ได้ไม่นาน คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง
เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆ ที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมาก็ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆ
จนถึงปัจจุบันเพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน

ในระยะแรกๆ นั้นท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า
พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด และให้สาบานกับท่านว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
และจะกินมังสวิรัติตลอดไป ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี
ลดการเบียดเบียน มีศีลธรรม หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม
และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป
ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วย (ข้าว) ต้มนี้
มีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา
ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน

แต่ในสมัยนี้ กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้ม
ที่จะต้องนำมีดไม้ ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย
เพราะหลวงพ่อเห็นว่าทางราชการ ได้ส่งหน่วยงานต่างๆ
เข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือและให้การศึกษาแก่พวกเขา คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น
และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา

บูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม



เมื่อหลวงปู่ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  
ท่านได้บุกเบิกปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง  
เช่น วิหารครอบรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  
และพระพุทธรูปจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ภายในทำเป็นชั้นสูง ๑๖ ชั้น  
พระบาทกบ  โดยเฉพาะวิหารครอบรอยพระพุทธบาท  ท่านก่อสร้างมาเป็นเวลา ๓๔ ปี
ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีภารกิจในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ
ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย ไม่ได้ทำเฉพาะวัดของท่านเท่านั้น  
ระหว่างปี  พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๙ ท่านได้สร้างประธานถวายวัดต่างๆ ที่ขอมา
เมื่อท่านพิจารณาเห็นสมควรจะให้ประมาณ ๒๐ องค์  
ขนาดองค์หน้าตักตั้งแต่ ๘๙ นิ้ว ถึง ๓๐ นิ้ว

เมื่อประมาณปี  พ.ศ.๒๕๑๔ พวกกะเหรี่ยงได้อพยพจากป่าเขา
มาพึ่งใบบุญอยู่กับหลวงปู่เป็นจำนวนมาก ก่อนที่พวกเหล่านี้จะมาอยู่หมู่บ้านห้วยต้ม
หลวงปู่เคยไปโปรดเมตตาสงเคราะห์เป็นครั้งคราว
สาเหตุที่โยกย้ายกันมาเนื่องจากการไปมาติดต่อลำบาก  
จะทำบุญกับหลวงปู่ต่อสักครั้งหนึ่งก็สิ้นเปลืองเงินทองและเสียเวลามาก
บางพวกทางราชการได้มาสร้างเขื่อนภูมิพล  ที่จังหวัดตากขึ้นทำให้มีที่ทำกิน
การอพยพมาอยู่ในระยะแรกมีความลำบากมากเพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลงและแห้งแล้ง

อีกประการหนึ่งกะเหรี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยสูบฝิ่นกินเนื้อสัตว์มาก่อน
ผู้ที่จะมาอยู่หลวงปู่ท่านให้ตั้งสัตย์ว่าต้องเลิกสูบฝิ่นและเลิกกินเนื้อสัตว์ทุกคน
เพราะสถานที่แห่งนี่ตามตำนานในอดีต พระพุทธเจ้าเคยเสร็จมาโปรด
พระพุทธองค์ไม่ทรงเสวยเนื้อสัตว์ และทรงโปรดประทับรอยพระพุทธบาทไว้ด้วย
จึงถือเป็นประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมา ผู้ที่ไม่เชื่อฟังมักอยู่อย่างไม่มีความสุข
มีเรื่องทุกข์ร้อนใจและเจ็บป่วยอยู่เสมอ

กะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนได้อยู่ได้ต้องอพยพกลับไปอยู่ถิ่นเดิม
พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำความดี  ทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา
มีความขยันขันแข็งต่อสู่อุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ มีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ไปวันหนึ่งๆ
หลวงปู่เล่าให้ฟังว่าก่อนที่พวกกะเหรี่ยงจะมาอยู่  
พวกอื่นจะเข้ามาอยู่ทำไร่ทำไถนาไม่ได้ ต้องมีอันเป็นไปเกือบทุกราย  
น้ำที่เคยแห้งแล้งก็มีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคุณธรรมความดีที่พวกเขาได้พยายามสร้างสรรค์นั่นเอง

ถึงแม้กะเหรี่ยงพวกนี้ทำไร่นาได้น้อยจนแทบจะไม่พอกินก็ตาม  
เมื่อเขาได้ผลิตผลซึ่งหามาได้  ผู้ที่พวกเขานำมาถวายให้เป็นอันดับแรกก็คือหลวงปู่
เพื่อให้ได้รับผลบุญกุศลไว้กินไว้ใช้ภายภาคหน้าและประโยชน์สุขในปัจจุบันเสียก่อน
แล้วจึงนำส่วนที่เหลือมากินเพื่อเลี้ยงตนครอบครัว และขายต่อไป  
อาชีพอย่างหนึ่งก็คือการขุดศิลาแลงขาย นับว่าต้องให้ความอุตสาหะพยายามมาก
เพราะเครื่องมือที่ใช้มีแต่เพียงมีดสำหรับขุดเพียงอย่างเดียว
และต้องตบแต่งศิลาแลงที่เป็นแผ่นใหญ่ให้ได้ตามขนาดต้องการ
ผู้ที่มีความขยันจริงๆ จะขุดหินศิลาแลงได้โดยเฉลี่ยวันละประมาณ ๓๐ บาทต่อวัน (๑๐ ก้อน)  
คือต้องทำงานตั้งแต่เช้าจนกระทั่งค่ำ สำหรับศิลาแลงที่จะขายให้วัดก็ลดให้อีกราคาหนึ่ง  
โดยแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือกินส่วนหนึ่ง ทำบุญส่วนหนึ่ง และเป็นค่าภาษีอีกหนึ่งส่วน

ทุกเช้ากะเหรี่ยงเกือบทุกหลังคาเรือนจะนำอาหารมาถวายที่วัดเป็นประจำ  
การใส่บาตรที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น  เนื่องจากพระภิกษุจะออกรับบิณฑบาตในวัด  
โดยนั่งเป็นแถวเรียงยาวนับตั้งแต่ผู้อาวุโสสูงสุดคือหลวงปู่และไล่ลงมาตามลำดับ
การใส่บาตรจะให้ผู้ชายใส่ก่อนแล้วตามด้วยผู้หญิง  
อาหารที่จะใส่บาตรมีเพียงข้าวเหนียวอย่างเดียว  สำหรับเข้าเจ้าและกับข้าวจะใส่แยกไว้ถวายต่างหาก
ภายหลังนอกจากนั้นยังมีการถวายน้ำซึ่งนำมาจากบ้านใส่ลงคนโทที่ตั้งเรียงไว้
แล้วนำน้ำนี้ไปถวายเพื่อให้พระภิกษุที่ออกบิณฑบาตกรวดน้ำอีกครั้งหนึ่ง

ทุกวันในตอนเย็นพวกกะเหรี่ยงบางส่วนจะมาฟังพระสวดมนต์ทำวัตรเย็น
และกราบไหว้บูชาพระธาตุเจดีย์เสมอ  การถือศีลนั้นพวกเขาถือเป็นชีวิตจิตใจอยู่แล้ว
ส่วนการภาวนาจะกระทำทุกเช้าก่อนออกไปทำงานและตอนเย็นก่อนนอน
โดยใช้วิธีตกลูกประคำ  นึกถึงคุณของพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์
โดยภาวนา  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ และพิจารณายอดของวิปัสสนา  คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ก่อนวันพระ ๑ วัน ก่อนสวดมนต์ทำวัตรเย็น
พวกกะเหรี่ยงจะพากันมารับศีล ๕  ที่วัดกับพระภิกษุ
แล้วพากันไปสวดมนต์ที่วิหารครอบรอยพระพุทธบาท  
สำหรับในวันพระจะมีคนมาทำบุญกันมากเป็นพิเศษ เพราะวันนี้พวกกะเหรี่ยงถือว่าเป็นวันสำคัญ
ต้องหยุดทำงานมาช่วยบำเพ็ญประโยชน์ให้กับวัด เช่น กวาดถูลานวัดพื้นวัด  
ขนหินดินทรายถมที่ให้วัด หลังจากฉันเพลจะมีการทำบุญอีกครั้งหนึ่ง
แล้วพวกกะเหรี่ยงจะนำขันน้ำส้มป่อยไปประพรมสถานที่สำคัญ เช่น รอยพระพุทธบาท  
พระธาตุเจดีย์  พระบาทกบ  แม้แต่ห้องน้ำของหลวงพ่อปู่  เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตน
ส่วนในตอนกลางคืนจะมีการฟังเทศน์ตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มครึ่งถึงประมาณ ๕ ทุ่ม
สำหรับการเทศน์เป็นภาษาลานนา  ผู้ฟังส่วนใหญ่ฟังกันไม่รู้เรื่อง
แต่ถือว่าเป็นการฟังเพื่อเอาบุญพวกเขาก็ยินดีกระทำกัน

พวกกะเหรี่ยงบางคนมาช่วยทางวัดก่อสร้างเกือบทุกวัน  
กระทำเพื่อหวังส่วนบุญแต่เพียงอย่างเดียว นอกจากจะไม่มีกินจริงๆ
จะขอแต่เพียงข้าวสาร เกลือ นำไปหุงกินเท่านั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า
การก่อสร้างที่ใช้ฝีมือจะเป็นกะเหรี่ยงชายทั้งหมด ส่วนการทำงานหนัก  
เช่น ขนหิน ดิน ทราย น้ำ ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง
ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ หลวงปู่ท่านไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไปเหยียบย่ำนั่นเอง

การก่อสร้างทุกอย่างที่ทำเสร็จไปบ้างแล้ว  และกำลังกระทำอยู่หลวงปู่ท่านเป็นผู้ออกแบบ
และควบคุมงานเองหมด  นอกจากนั้นท่านยังสามารถทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้ด้วย
กำลังที่ได้ส่วนใหญ่คือ  กะเหรี่ยงซึ่งหลวงปู่ได้ฝึกฝนแทนองค์ท่าน
ถึงแม้ว่าสภาพสังขารของท่านจะร่วงโรยไปมากแล้วแต่คำว่าย่อท้อของท่านนั้นไม่มี
เห็นท่านทำงานแล้วบางครั้งน้ำตาแทบจะไหล  เพราะขณะนั้นท่านเดินเกือบจะไม่ได้
ต้องใช้รถเข็นแทน  ท่านก็ยังอุตส่าห์ทำงานจนเสร็จตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนกระทั่ง ๕ ทุ่ม เที่ยงคืน
ท่านต้องทำงานทุกอย่างทั้งด้านวัตถุและจิตใจไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง
ความทุกข์ร้อนของผู้คนจากทั่วสารทิศ  การทำมาหากินและปัญหาอื่นๆ  อีกมากมาย


กะเหรี่ยงผู้ชายนอนเรียงแถวให้หลวงปู่เดินไปที่สวดมนต์


วันสำคัญๆ ในพระพุทธศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา  ออกพรรษา วันสงกรานต์
นอกจากจะมีการทำบุญตามปกติแล้ว ยังมีการสรงน้ำหลวงปู่
โดยท่านเข้าไปนั่งอยู่ในกุฏิเล็กๆ ที่สร้างไว้แล้วทำรางน้ำยื่นออกมา  
ผู้ที่จะสรงน้ำก็เทน้ำลงตามรางไหลไปรดที่องค์ท่าน มีกะเหรี่ยงหลายคนนำถุงพลาสติกบ้าง
กระป๋องบ้าง ไปรองน้ำที่ใต้ถุนซึ่งตกจากองค์ท่านมาดื่มกิน  บางคนก็เอาตัวไปอาบ  
แม้กระทั้งผ้าที่ท่านสรงแล้ว  กะเหรี่ยงบางคนก็บิดเอาน้ำที่ยังค้างอยู่มาดื่มกินด้วยความเคารพศรัทธา
ในหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง  และหลังจากที่หลวงปู่สรงน้ำเปลี่ยนผ้าเรียบร้อยแล้ว
กะเหรี่ยงผู้ชายจะนอนเรียงกันเป็นแถวยาวให้ท่านเหยียบเดินจนกระทั่งไปถึงที่ท่านสวดมนต์  

มิใช่ว่าพวกเขาจะพึ่งเริ่มกระทำประเพณีเช่นนี้แต่ได้ทำกันมาตั้งแต่อยู่ตามป่าเขาแล้ว
การทำไร่ทำนาในปีใดมีฝนตกน้อยกว่าปกติ  พวกกะเหรี่ยงจะทำพิธีขอฝนโดยหลวงปู่เป็นประธาน
วิธีการตามที่ได้เห็นมานั้นอันดับแรกจะมีการรับศีลถวายของทานแก่พระภิกษุสงฆ์
แล้วหลวงปู่จะเทศนาธรรมในวิหารครอบรอยพระพุทธบาท
จากนั้นท่านจะออกไปทำพิธีอยู่สักพักใหญ่แล้วราดน้ำลงบนฆ้อง
เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะนำฆ้องออกเดินตีไปโดยทั่วบริเวณ  ตามที่ได้ยินได้ฟังมาฝนตกทุกครั้ง
แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ร่วมทำ
ถ้ามีศรัทธามากฝนก็ตกมาก ถ้ามีศรัทธาน้อยก็ตกน้อย

ในหมู่คนดีย่อมมีคนไม่ดีร่วมอยู่ด้วย  ที่หมู่บ้านห้วยต้มนี้ก็เช่นเดียวกัน
หมู่บ้านกะเหรี่ยงทั้งหมดเกือบ ๖๐๐  หลังคาเรือน  มีคนอาศัยอยู่  ๓,๐๐๐  กว่าคน
มีกะเหรี่ยงบางคนเที่ยวชักชวนกันเล่นไพ่  ไฮโล  ดื่มสุรา  ร้องรำทำเพลง  
กินชิ้นกินเนื้อกันเป็นที่สนุกสนาน  หลวงพ่อท่านได้รับทราบข่าวเรื่องนี้มานานแล้ว
และพยายามบอกเล่าตักเตือนกันไป  แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เพราะพวกเหล่านี้ไปฟังคนพาล มิจฉาทิฐิ ไม่ยอมเข้าวัดฟังธรรมหลงอยู่ในอบายมุขตลอดมา

จนกระทั่งในวันที่  ๑๙  มกราคม  ๒๕๒๕  ที่ผ่านมา
นายปิเชอซึ่งเป็นกะเหรี่ยงผู้หนึ่งได้ล้มป่วยหนักมาก
ในตอนเย็นหลวงปู่ได้รับทราบข่าวจึงไปเยี่ยมที่บ้าน เห็นนายปิเชอมีอาการป่วยปางตาย
ท่านจึงเป่ามนต์ให้สักพักหนึ่งนายปิเชอก็ฟื้นคืนสติขึ้นมา
ในระหว่างที่ป่วยมากนั้น ปิเชอเล่าให้หลวงปู่ฟังว่าฝันว่า
ได้ขึ้นไปพบครูบาเจ้าศรีวิชัยและครูบาเจ้าอภิชัยขาวปี
ท่านทั้งสองให้นายปิเชอลงมาบอกกล่าวตักเตือนพวกกะเหรี่ยงที่ทำไม่ดีให้กลับตัวเสียใหม่
เพราะในไม่ช้าจะมียักษ์ลงมากินคนบาปคาบร้าย  
ซึ่งรายละเอียดมีอยู่แล้วในเรื่องบันทึกการจัดพิธีชำระหนี้กรรม

หลวงปู่ท่านได้บันทึกรายละเอียดตามที่นายปิเชอบอกกล่าวไว้หมด
เมื่อถึงวันพระท่านได้นำเรื่องนี้ไปเทศนาให้กะเหรี่ยงฟัง  
พร้อมทั้งบอกคาถากันยักษ์ให้ท่องจำสวดมนต์ทุกเช้าเย็นและให้เขียนติดไว้ที่บ้านทุกคน
หลวงปู่ท่านได้ปล่อยช่วงเวลาไว้สัก ๒-๓ อาทิตย์ เพื่อให้สื่อข่าวให้ทราบทั่วกัน
และในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ หลวงปู่ท่านได้เรียกกะเหรี่ยงให้มาประชุมรวมกันทั้งหมด
แล้วเริ่มเทศน์เป็นภาษาไทยบ้าง ภาษากะเหรี่ยงบ้างสลับกันไปพอจับใจความได้ว่า

"เดี๋ยวนี้ครูบา (หมายถึงหลวงปู่) ไม่มีความหมายแล้ว จะเป็นครูบ้าอยู่แล้ว
ว่ากล่าวตักเตือนให้ทำดีไม่ยอมทำต่อไปไม่ต้องมาเชื่อฟังคำกัน  
โน่นไปเชื่อไอ้โน่น (แล้วท่านก็เอ่ยชื่อผู้ชักชวนกันทำผิด)
ยกให้มันเป็นครูบาจะได้กินชิ้นกินเนื้อ เล่นไพ่ ไฮโลว์ ดื่มเหล้า
ครูบาตนนี้ไม่ต้องมาเชื่อ จับเอาไอ้โน่น มาเป็นครูบาแทน"


กะเหรี่ยงทุกคนนั่งฟังด้วยความสงบเงียบและหลังจากที่ท่านว่ากล่าวได้สักพักหนึ่ง
ท่านจึงสั่งสอนให้ละทิ้งการเห็นผิดนั้นเสีย  
ให้หันกลับมาประพฤติอยู่ในศีลในธรรมเหมือนกับครั้งแรกที่เคยมาอยู่

อยู่ต่อมาไม่นานได้รับทราบข่าวจากผู้ใหญ่บ้านชื่อนายลาซอว่า
กะเหรี่ยงหมู่ยางทุกคนร่วมมือกันให้ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งความบริสุทธิ์เหมือนเดิม
ใครที่กระทำผิดศีลธรรมจะอยู่ในหมู่บ้านนี้ไม่ได้ และเมื่อประมาณสัก ๒-๓ ปีที่ผ่านมา
เคยมีเทวดาที่รักษาน้ำตกที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ไปเข้าร่างทรงและกล่าวว่า
ในดินแดนหมู่บ้านห้วยต้มแห่งหนี้ นับตั้งแต่รอยพระพุทธบาทที่วัด
ออกไปเป็นระยะทางโดยรอบ ๑๐๐ เส้น (๔ กิโลเมตร) ผู้ใดที่มาอาศัยอยู่จะกินเนื้อสัตว์ไม่ได้
ถ้าใครกินจะถูกลงโทษแม้ผู้อื่นที่เข้ามาในบริเวณนี้ต้องงดกินเนื้อสัตว์
สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี ๑๐๐ เส้น จะออกไปกินเนื้อสัตว์ที่ไหนก็ไม่ได้
นอกจากไม่มีอะไรกินจริงๆ มีแต่เนื้อสัตว์ไม่มีข้าว
ไม่มีผักกินเพื่อประทังชีวิตเท่านั้นจึงอนุญาตให้กินได้ ได้เห็นศรัทธาหมู่ยางพวกนี้แล้วก็ปลื้มปิติแทน
ในไม่ช้าพวกเขาคงจะได้รับความสุขกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

หลวงปู่ท่านเมตตาสั่งสอนให้ลูกศิษย์ทุกๆ คน ยึดมั่นอยู่ในความดี
มีความรักใคร่สามัคคีซึ่งกันและกัน ยึดมั่นในอมตนิพพานเป็นแดนสุดท้าย
และเมื่อท่านได้อ่านประวัติและปฏิปทาบางอย่างของหลวงพ่อแล้ว  
สิ่งใดดีก็นำไปปฏิบัติเพื่อเป็นคุณประโยชน์สำหรับตนเถิด  
ขอยกคำสุภาษิตโบราณ ซึ่งหลวงปู่ท่านเมตตาสั่งสอนให้ถือเป็นคติเตือนใจเสมอว่า

"คุณอันใดดีให้หมั่นสร้าง อย่าได้อ้างแดนภายหลัง
ความทุกข์เที่ยงมาทันไม่ร้าง ใครช่างสร้างจักเป็นบุญแล"

15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สมณศักดิ์

๔ เมษายน ๒๕๑๔ เป็นพระครูใบฎีกาชัยยะวงศาพัฒนา

๕ เมษายน ๒๕๓๐ เป็นพระครูพัฒนากิจจานุรักษ์

๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๓ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท

เกียรติคุณ

๑๕ มีนาคม ๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการพัฒนาท้องถิ่นในเขตอำเภอลี้ โดยเจ้าคณะจังหวัดลำพูน

๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ได้รับรางวัล "ครูบาศรีวิชัย" ในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงาน
การส่งเสริมพัฒนาพระพุทธศาสนา กิจการสาธารณะ มีความวิริยะ เสียสละเพื่อสังคม
และเป็นแบบอย่างที่ดี มีปฏิปทาเดินตามรอยเยี่ยง ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย

๓ เมษายน ๒๕๓๙ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณในฐานะ "คนดีศรีทุ่งหัวช้าง" จาก อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน

๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านศิลปินดีเด่น
จังหวัดลำพูน สาขาศิลปะ สถาปัตยกรรมจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักร ในฐานะ
"บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน"

ประวัติการจำพรรษาของหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

ลำดับการจำพรรษาของหลวงปู่เมื่อเป็นสามเณร

พรรษาที่ ๑-๒ พ.ศ. ๒๔๖๘-๖๙ (อายุ ๑๓-๑๔ ปี) วัดบรมธาตุแก่งสร้อย ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก

พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๗๐ (อายุ ๑๕ ปี) วัดก้อท่า ต.บ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๑ (อายุ ๑๖ ปี) วัดจอมหมอก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๗๒ (อายุ ๑๗ ปี) วัดแม่อู่ฮู ต.แม่ต้าน อ.แม่ต้าน จ.ตาก

พรรษาที่ ๖-๗ พ.ศ.๒๔๗๓-๗๔ (อายุ ๑๘-๑๙ ปี) วัดจอมปลวก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ลำดับการจำพรรษาของหลวงปู่เมื่อเป็นพระภิกษุ

พรรษาที่ ๑ พ.ศ.๒๔๗๕ (อายุ ๒๐ ปี) วัดห้วยแม่บางแบ่ง เขตพม่า
(อุปสมบทที่วัดป่าน้ำ เมื่อเดือน ๕ เหนือ โดยมีครูบาเจ้าพรหมจักร เป็นพระอุปัชฌาย์)

พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ.๒๔๗๖-๗๘ (อายุ ๒๑-๒๓ ปี) วัดจอมหมอก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

พรรษาที่ ๕ พ.ศ.๒๔๗๙ (อายุ ๒๔ ปี) วัดห้วยเปียง อ.แม่ระมาด จ.ตาก

พรรษาที่ ๖ พ.ศ.๒๔๘๐ (อายุ ๒๕ ปี) วัดไม้ตะเคียน อ.แม่ระมาด จ.ตาก

พรรษาที่ ๗-๘ พ.ศ.๒๔๘๑-๘๒ (อายุ ๒๖-๒๗) วัดห้อยเปียง (นุ่งขาวห่มขาว)

พรรษาที่ ๙ พ.ศ.๒๔๘๓ (อายุ ๒๘ ปี) วัดห้วยหละ ต.ป่าพลู อ.บ้านโอ่ง จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๑๐-๑๔ พ.ศ. ๒๔๘๔-๘๘ (อายุ ๒๙-๓๓ ปี) วัดป่าพลู ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๑๕-๑๘ พ.ศ.๒๔๘๙-๙๒ (อายุ ๓๔-๓๗ ปี) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๑๙-๒๔ พ.ศ.๒๔๙๓-๙๘ (อายุ ๓๘-๔๓ ปี) วัดแม่ต๋ำ ต.เสริมซ้าย อ.เสริมงาม จ.ลำปาง

พรรษาที่ ๒๕-๒๗ พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑ (อายุ ๔๔-๔๖ ปี) วัดน้ำอุ่น ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๒๘ พ.ศ.๒๕๐๒ (อายุ ๔๗ ปี) วัดพระธาตุห้าดวง ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน

พรรษาที่ ๒๙-๖๙ พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๔๓ (อายุ ๔๘-๘๘ ปี) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

กิจวัตรประจำวันในช่วงปัจฉิมวัยของหลวงปู่

๐๖.๐๐ น. สวดมนต์ไหว้พระ อธิษฐานบาตร

๐๖.๓๐ น. ลงบิณฑบาต

๐๗.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเช้า

๐๘.๐๐ น. สวดมนต์หลังฉันเช้า

๐๘.๓๐ น. พักผ่อนอิริยาบถ

๐๙.๐๐ น. รับแขกญาติโยม ออกตรวจงานก่อสร้างทั้งในและนอกวัด

๑๑.๓๐ น. ฉันเพล

๑๓.๐๐ น. จำวัดพักผ่อน

๑๖.๐๐ น. ออกตรวจงานก่อสร้างภายในวัดหรือนอกวัด

๑๙.๐๐ น. สรงน้ำ

๒๐.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์ และเจริญกัมมัฎฐาน ที่ห้องรับแขก

๒๒.๐๐ น. สวดมนต์ไหว้พระในห้องจำวัด ทำธุระส่วนตัว เช่น เขียนอักขระล้านนา,
ออกแบบงานก่อสร้าง, เขียนบันทึกประวัติ หรือตรวจทานบทสวดมนต์

๐๐.๐๐-๐๑.๐๐ น. จำวัดพักผ่อน

หมายเหตุ หลังฉันภัตตาหารส่วนใหญ่ท่านจะชอบฉันหมากต่อเสมอ
เวลาตรวจงานนั้นไม่แน่นอน บางวันบางครั้งท่านจะไปตั้งแต่เสร็จจากสวดมนต์หลังฉันเช้าเสร็จ
ในกรณีที่สถานที่ก่อสร้างอยู่นอกวัดและอยู่ไกลวัด
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สรุปอาการป่วยและการมรณภาพของหลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ได้เดินทางไปรักษาองค์ท่านที่โรงพยาบาลลานนา จ.เชียงใหม่
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่หลวงปู่ได้เข้าทำการรักษาองค์ท่านเป็นประจำ
เนื่องจากมีอาการ อ่อนเพลียและมีอาการหลงๆ ลืมๆ
ขณะแพทย์ได้ทำการเติมโปรตีนและเปลี่ยนยาให้ท่าน
เพราะมียาบางตัวมีผลทางด้านระบบประสาท องค์หลวงปู่มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ
และกำหนดจะกลับวัดในวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓

ในคืนวันอาทิตย์ที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เวลาประมาณ ๕ ทุ่มเศษ
หลวงปู่ได้มีอาการท้องผูกและ ถ่ายไม่ออก ได้มีการสวนทวารเพื่อให้ท่านถ่าย
เพราะหลวงปู่ปวดท้องมากช่วงนี้ จนถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. เศษ ของวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๓
หลวงปู่ได้ถ่ายประมาณ ๔ ครั้ง และมีอาการอ่อนเพลีย หายใจไม่ออก
หลวงปู่ปรารภว่า เจ็บที่ลิ้นปี่ เจ็บอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน วันนี้หลวงปู่ฉันไม่ได้
เวลา ๐๗.๐๐ น. เศษ แพทย์ได้ตรวจดูอาการหลวงปู่
และได้ทราบว่าหลวงปู่มีอาการโรคหัวใจกำเริบ แพทย์จึงกราบนิมนต์หลวงปู่เข้ารักษาที่ห้อง ICU

หลวงปู่ได้อยู่รักษาที่ห้อง ICU โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์
อาการ ของหลวงปู่เริ่มดีขึ้น เล็กน้อย ช่วงบ่ายความดันเริ่มต่ำลง
ไตเริ่มไม่ทำงานทำให้ปัสสาวะไม่ออก แพทย์ได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจและไต
มาช่วยรักษาอาการหลวงปู่ ช่วงเย็นคณะแพทย์ได้พิจารณาสวนปัสสาวะให้หลวงปู่
แต่ปัสสาวะก็ไม่ออก คณะแพทย์จึงตัดสินใจเจาะช่องท้องเพื่อเอาปัสสาวะหลวงปู่ออก
เมื่อปัสสาวะหลวงปู่ออกแล้ว ความดันหลวงปู่เริ่มดีขึ้นคุยได้ พูดได้
คณะแพทย์ต้องการให้ ท่านพักผ่อน จึงห้ามเยี่ยมหลวงปู่
ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าของวันอังคารที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓
หลวงปู่ให้พระที่ดูแลท่านแปรงฟันให้ท่าน ท่านยังคุยพูดได้บ้าง แต่ยังมีอาการเหนื่อย
เช้าวันนี้หลวงปู่ฉันน้ำข้าวได้ ๔-๕ ช้อน เมื่อฉันเสร็จท่านก็พัก ดูอาการหลวงปู่ดีขึ้น
ช่วงเช้ามีหลวงพ่อพระครูบาพรรณ วัดนาเลี่ยง และท่านพระคำจันทร์ วัดพระบาทห้วยต้ม
ไปกราบเยี่ยมอาการหลวงปู่ หลวงปู่ท่านก็คุยได้ ยังให้ศีลให้พรหลวงพ่อพระครูบาพรรณได้อย่างชัดเจน

หลังจากนั้นเวลาบ่ายโมง หลวงปู่เริ่มมีอาการกระวนกระวาย และหายใจไม่ออก
ความดันต่ำลงเรื่อยๆ คณะแพทย์ได้ปรึกษากันและลงความเห็นว่า
ให้ย้ายหลวงปู่เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลมหาราช (สวนดอก)
เพราะที่โรงพยาบาลลานนา ไม่มีเครื่องมือที่จะรักษาอาการของหลวงปู่ได้

เมื่อไปถึง โรงพยาบาลมหาราช ทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและไต
ได้ทำการรักษาหลวงปู่ และได้พบว่าหลวงปู่มีเลือดไปอุดตันที่เส้นเลือดหัวใจข้างขวา
ยาวประมาณ ๔-๕ นิ้ว ไตไม่ทำงาน ปอดอักเสบและมีไข้
คณะแพทย์จึงได้ทำการรักษาหลวงปู่ด้วยวิธีสุดท้าย
คือ ใช้บอลลูนไปช่วยทำให้เลือดที่อุดตันเส้นเลือดใหญ่กระจาย

เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. เศษ หลวงปู่ออกมาจากห้องทำบอลลูน ดูท่านดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ยกแขนและคุยได้ดี คณะแพทย์ได้พาหลวงปู่มาอยู่ที่ห้อง CCU
ตึกศรีพัฒน์ ชั้น ๘ โรงพยาบาลมหาราช เวลาประมาณทุ่มเศษ
หลวงปู่เริ่มมีอาการหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คณะแพทย์ได้จึงได้ช่วยกัน
รักษาหลวงปู่อย่างสุดความสามารถ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น ไตไม่ทำงาน ความดันต่ำลงเรื่อยๆ
เพราะ เลือดที่อุดตันกระจายทำให้หลวงปู่ดีขึ้น แต่ไม่สามารถผ่านเส้นเลือดเล็กๆ
ที่ไปเลี้ยงร่างกายได้เพราะเลือดแข็งตัวเป็นลิ่ม จึงอุดตันที่เส้นเลือดเล็ก
ทำให้หลวงปู่ทรุดลงอีก หายใจไม่ออกแน่นหน้าอก จนท่านหมดสติ
คณะแพทย์ได้พยายามให้ยาละลายเลือดที่อุดตัน แต่ก็ไม่ได้ผล ความดันเริ่มต่ำลงอีก

คณะแพทย์ช่วยหลวงปู่จนถึงเวลา ประมาณตีหนึ่งของวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๓
คณะแพทย์ได้แจ้งว่าไตของหลวงปู่ไม่ทำงานแล้ว สมองไม่สั่งงาน
เวลา ๐๑.๑๐ น. คณะแพทย์แจ้งว่าหัวใจของหลวงปู่ได้หยุดเต้น
ไม่มีระบบการตอบรับของร่างกายหลวงปู่แล้ว แต่ยังใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอยู่
ถึงอย่างไรหลวงปู่ก็ไม่สามารถกลับมาหายใจได้อีก เพราะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ไตวาย
สมองไม่ทำงาน ปอดอักเสบ ช่วงนั้นหลวงพ่อพระครูบาพรรณอยู่ในห้อง CCU พอดี
ท่านจึงยังไม่ให้แพทย์เอาเครื่องกระตุ้นหัวใจออก

จนถึงเวลา ๐๗.๓๐ น. คณะศิษย์ นำโดยหลวงพ่อพระครูบาพรรณ วัดนาเลี่ยง อ.ลี้ จ.ลำพูน
ได้ทำพิธีขอขมาพระศพหลวงปู่ และให้คณะแพทย์ถอดเครื่องกระตุ้นหัวใจหลวงปู่ออก
หลวงปู่ จึงนอนพักอย่างสงบตั้งแต่นั้นมา

พระอนันต์ วัดพระธาตุห้าดวง ผู้บันทึก



บันทึกท้ายประวัติพระครูพัฒนกิจจานุรักษ์
(หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา)


ด้วยความที่หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา มีวัตรปฏิปทาดำเนินรอยตามพระอริยเจ้า
ในฝ่ายอรัญญาวาสี ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร มีการปฏิบัติน้อมไปในทางวิปัสสนากรรมฐาน
ดังนั้นในการบันทึกชีวประวัติของพระคุณท่านจึงพยายามเว้นเรื่องการได้รับยศถาบรรดาศักดิ์
แม้มีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น การได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูใบฎีกา
จากเจ้าคณะจังหวัดลำพูน หรือในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช
บรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม เป็นต้น
ผู้เขียนจึงขอบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์สำคัญเรียงตามลำดับปี พ.ศ. ไว้ดังนี้คือ

๑) ๔ เมษายน ๒๕๑๔
พระราชสุตาจารย์ บริหารจามเทวี ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สังฆปาโมกข์
เจ้าคณะจังหวัด นครลำพูน แต่งตั้งสมณศักดิ์หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา
เป็นพระครูฐานานุกรมของพระเดชพระคุณท่าน ในตำแหน่งที่ "พระครูใบฎีกา"

๒) ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
ณ บ้านพระพุทธห้วยต้ม และทรงนมัสการหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ทรงฝากราษฎรกับหลวงปู่ครูบาฯ ให้ช่วยเอาใจใส่ปกครองดูแลด้วย

๓) ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จพระราชดำเนิน
พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  
และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  
ณ บ้านพระพุทธบาทห้วยต้ม และทรงทอดพระเนตรโครงการหลวงบ้านผาลาด
อ่างเก็บน้ำแม่ลอง และทรงนมัสการหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นครั้งที่ ๒

๔) ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ตั้งสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ครูบาชัยวงศาพัฒนา เป็นพระครูสัญญาบัตรรองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์
ในราชทินนามที่ "พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์"
เข้าเฝ้าเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ)
รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศและผ้าไตร
ณ หอประชุมพุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

๕) ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๓
แต่งตั้งให้หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

๖) ๕ ธันวาคม ๒๕๔๐

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
เป็น พระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ในราชทินนามเดิม

๗) ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๒
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ทรงประทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ประกาศเกียรติคุณหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
ในฐานะบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมการพัฒนาชุมชน

๘) พ.ศ. ๒๕๔๓
สมเด็จพระสังฆราช ประเทศศรีลังกา ประทานประกาศเกียรติคุณ
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-8-18 18:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

รูปหล่อ “ครูบาชัยลังก๋า” ปฐมอาจารย์
ของครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)
ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
  


รูปหล่อ “ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย”
ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
  


รูปหล่อ “ครูบาอภิชัย (ครูบาขาวปี)”
ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน
  


รูปหล่อ “ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)”
ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน



วิหารและเสนาสนะภายในวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน


รูปหล่อ “ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ครูบาวงศ์)”
ด้านหน้าพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย



พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน


   

ที่มาของเนื้อหา
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44829


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้