ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5718
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

เกอิชา

[คัดลอกลิงก์]
**** ประวัติเกอิชา ****




นานมาแล้ว ที่ เกอิชา เป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่ง   ที่สร้างความหลงใหลให้ญี่ปุ่น และทั่วทั้งโลก ตลอดระยะเวลาหลายศตวรรษ   พวกเธอออกจากบ้านยามพลบค่ำ ราวกับผีเสื้อที่ลอกคราบจากดักแด้   เพื่อตระเวนไปตามนัดหมายที่ร้านน้ำชาในยามราตรี งานสังคมช่วงค่ำคืน   เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจในญี่ปุ่นมาเนิ่นนานแล้ว และการมีเกอิชาร่วมงาน   ก็เป็นการสะท้อนเป็นอย่างดีว่า เจ้าภาพมีเงินใช้สอย   มากพอที่จะเรียกใช้บริการของสาวงามเช่นนี้
เกอิชา ไม่ได้เป็นทั้งภรรยาหรือโสเภณี   หากแต่เธอเป็นศิลปิน ผู้ยังชีพด้วยการให้ความบันเทิง แก่ผู้ชายที่มีอำนาจทั้งหลาย   คำว่าเก หมายถึง “ศิลปะ” ในภาษาญี่ปุ่น เกอิชาเป็นนักเต้น นักร้อง นักดนตรี   และนักสนทนา ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เธอจะหัวเราะไปกับเรื่องตลกของลูกค้า   และไม่เคยแพร่งพรายความลับของเขา เธอสามารถสร้างละครให้เกิดขึ้นได้   ด้วยการสะบัดพัดเพียงอย่างเดียว


การฝึกฝนอย่างหนักนานหลายปีและความมีวินัย   ได้เปลี่ยนเธอให้กลายเป็นสตรีผู้ได้รับการเพาะบ่มอย่างดี   แต่ภายใต้กิโมโนที่ทับกันหลายทบ และการแต่งหน้าที่เรียบเฉยนั้น   คือผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อ ผู้มีชีวิต ความผิดหวัง และความใฝ่ฝันของตัวเอง   ความลับที่เธอหวงแหนสุดชีวิต อยู่ในใจเธอคนเดียวเท่านั้น..


กว่าจะเป็นเกอิชาได้นั้น เธอจะต้องเรียนรู้ศิลปะแห่งการปรนนิบัติทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาทอันอ่อนน้อมในการต้อนรับแขก วิธีการชงน้ำชา การร้องรำ   และเล่นดนตรี ซึ่งศิลปกรรมเหล่านี้จะต้องฝึกฝนมาแต่เด็ก   และมักเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนในตระกูล นอกจากนี้ “เกอิชา” ยังเป็นคำที่โลกภายนอกเรียกขาน   แต่ในญี่ปุ่นพวกเธอส่วนใหญ่จะถูกเรียกว่า “มาอิโกะ” หรือนักร่ายรำ   และ “เกอิโกะ” ผู้มีศิลปะ


วัฒนธรรมเกอิชามีมาแต่ครั้งศตวรรษที่ 17   โดยเฉพาะภายในเมืองเกียวโต ที่เคยเป็นนครหลวงเดิมมานานกว่าพันปี (จนถึง ค.ศ. 1868   สมัยราชวงศ์เมยจิ ที่ตั้งโตเกียวเป็นเมืองหลวง) ภายในเกียวโต ซึ่งมี   ศาสนสถานโบราณหลายแห่ง ทั้งวิหารชินโต และวัดพระพุทธศาสนานั้น ขณะเดียวกัน   ก็ยังมีย่านที่เรียกกันว่า ฮานามาชิ อันเป็นอาณาเขตที่ใช้สำหรับ   การเฉลิมฉลองในเทศกาลต่างๆ และในย่านนี่เองเป็นที่ตั้งของ โอชายะ   หรือสถานน้ำชาที่มี มาอิโกะและเกอิโกะ คอยให้บริการปรนนิบัติในช่วงกลางศตวรรษที่ 19   ซึ่งธุรกิจโรงน้ำชารุ่งเรืองสุดขีดนั้น กิออน   ซึ่งเป็นย่านฮานามาชิใหญ่ที่สุดในเกียวโต มีโรงน้ำชาถึง 700 แห่ง   และมีเกอิชามากกว่า 3,000 นาง ประจำทำงานอยู่

หากถามว่าทำไมสาวญี่ปุ่น จึงมาประกอบอาชีพเป็นเกอิชา

  คำตอบมีอยู่หลายประการ แรกสุดนั้นก็คือความจนนั่นเอง เกอิชาหลายคนมาจากชนบท   ด้วยความใฝ่ฝันว่า จะมีชีวิตในเมืองที่ดีกว่า ไม่ต้องทำงานหนักในไร่นา   เธอจะได้ฝึกฝนร่ำเรียน ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ ที่สำคัญคือเธอจะได้มีโอกาส   พบกับบุรุษที่ร่ำรวย ที่เข้ามาใช้บริการในสถานน้ำชา และถ้าฝันของเธอเป็นจริง   เธอก็จะได้แต่งงานและมีหลัก มีฐานต่อไป

หากทว่าในปัจจุบันนี้ ความยากจนได้หมดไป   จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ผู้หญิงมีโอกาสหางานดีๆ ได้มากมาย   ความสนใจที่จะมาเป็นเกอิชาคอย ปรนนิบัติบุรุษเพศก็หมดสิ้นไป ทุกวันนี้มีมาอิโกะ   หรือสาวนาฏศิลป์อยู่ในเกียวโตเพียง 55 คน และทุกย่านฮานามาชิก็กำลังขาดแคลน   เกอิชามาปฏิบัติงาน จะมีก็เพียงสาวเกอิชาที่สืบทอด วิชาปรนนิบัติตามอาชีพดั้งเดิม   ของตระกูลเท่านั้น



ย้อนกลับมาสมัยรุ่งเรืองของเกอิชาใหม่   โดยทั่วไปเด็กสาวที่สมัครมาเป็นเกอิชา จะมายังสถานน้ำชาพร้อมกับบิดามารดา   เมื่อตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว เธอก็จะเริ่มต้นด้วยการเป็น ชิโกมิซัง   หรือเด็กรับใช้ของมาอิโกะและเกอิโกะ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณหนึ่งปี   ในช่วงนี้เธอจะต้องเหนื่อยยากลำบาก เช่นว่า ชาวญี่ปุ่นทุกคนจะอาบน้ำก่อนเข้านอน   แต่สาวชิโกมิซังจะต้องคอยจนกว่า นายผู้หญิงของเธอทั้งหมดได้ อาบก่อน   ซึ่งบางวันนายของเธอ กลับจากปฏิบัติงานหลังเที่ยงคืน กว่าเธอจะได้อาบน้ำก็ตีสาม   และต้องลุกขึ้นทำงานแต่เช้าตรู่
เมื่อผ่านพ้นระยะแรกแล้ว เธอก็จะก้าวขึ้นเป็น   มินาราอิซัง เข้าเรียนในการเป็นเกอิชา ซึ่งเธอจะต้องฝึกฝนตั้งแต่กระบวนการ ชิโรนูริ   หรือการลงแป้งใบหน้า จนขาวจั๊วะอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของเกอิชา   การสวมใส่ชุดกิโมโนพิเศษที่เรียกว่า โอฮิกิซูริ ซึ่งยาวกรอมเท้าและมี “โอบิ”   ผ้าคาดอกและเอว ต้องฝึกเดินตัวตรงตลอดเวลา เพื่อให้โอบิตรึงอยู่ได้   เธอต้องหัดโค้งคำนับอย่างสุภาพ อ่อนน้อมต่อลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการ



  แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การร่ำเรียนดนตรีและนาฏศิลป์   โดยเครื่องดนตรี ที่พวกเธอจะต้องฝึกฝนจนชำนาญ ได้แก่ อูกาวา (กลองหิ้วขนาดใหญ่)   โคสึซูมิ (กลองหิ้วขนาดเล็ก) ทาอิโกะ (กลอง) ฟูเอะ (ขลุ่ย) และ ซามิเซน   หรือพิณสามสาย นอกจากนี้ เธอยังต้องเรียนการร่ายรำร้องเพลง   และศิลปะการละครของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โนะ” อีกด้วย   ตามความเชื่อตั้งแต่ครั้งโบราณถือว่า ศิลปะเหล่านี้ควรเริ่มฝึกฝนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ   6 เดือน กับ 6 วัน จึงจะได้ผลสำเร็จที่เยี่ยมยอด
หากทว่าเด็กสาวส่วนใหญ่   ที่เริ่มเข้ามาอยู่ในสถานน้ำชาโอชายะนั้น มักเข้าวัยรุ่น 15 ปี   บางคนจึงพบกับความยากลำบากในการเรียนและต้องเลิกราออกไป


พิธีชงน้ำชาก็เป็นภารกิจหนึ่ง   ที่เกอิชาจะต้องเรียนรู้ ชานั้นจีนเป็นผู้นำมาสู่ญี่ปุ่น ในช่วงศตวรรษที่   8 และค่อยๆ เป็นที่นิยม ของขุนนางและคหบดี กระทั่งต่อมา เซนโนริเกียว (ค.ศ. 1522-91) พ่อค้าแห่งซากาอิใกล้เมืองโอซากา   ได้นำเอาธรรมเนียมการชงชา มาเผยแพร่เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง   ซึ่งแม้แต่โชกุนก็ยังชื่นชอบ ที่จะจัดการเลี้ยงน้ำชาเป็นงานใหญ่   และมีเกียรติในระหว่างเหล่าขุนนางชั้นสูง

จุดประสงค์แท้จริงของพิธีชงชานั้น   มิได้อยู่ที่รสชาติของชาแต่อย่างใด หากเป็นการแสดงออกถึงมารยาท   และธรรมเนียมประเพณีอันงดงามต่างๆ นับตั้งแต่การต้อนรับ การปรุงน้ำชา การส่งถ้วยชา   การแสดงความชื่นชมในศิลปะของการจัดดอกไม้แบบอิเคบานา   ตลอดจนกลิ่นอายของเครื่องหอมภายในห้องพิธี




สำหรับชนทั่วไปแล้ว   การจะเข้ามาใช้บริการในสถานน้ำชาหรือโอชายะนั้น จะต้องขอจองล่วงหน้าต่อ โอกาซัง   หรือ “คุณแม่” แห่งสถานน้ำชาในโอชายะชั้นดี   บุรุษที่จะเข้ามาได้มักต้องรู้จักคุ้นเคยกับโอกา-ซัง   หรือมิฉะนั้นก็เป็นแขกรับเชิญของผู้ที่รู้จัก นอกจากนี้ เขาจะต้องมีฐานะดีอย่างยิ่ง   เพราะการเข้ามารับความบันเทิงใจคลายเครียด   จากการปรนนิบัติของสาวเกอิชานั้นจัดว่ามีราคาแพงเอาการ

เนื่องจากสาวเกอิชามีความสามารถ   ในการให้ความบันเทิง และมีศิลปะในการปรนนิบัติ จนบุรุษเพศที่มาใช้บริการมีความสุข   และคลายเครียด จากการงานอันหนักหน่วงทั้งวัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาอยู่เอง   ที่บางครั้งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสนิทสนม จนถึงขั้นผูกพันรักใคร่   แต่ข้อห้ามหนึ่งของการเป็นเกอิชาก็คือ เธอจะไม่ได้รับอนุญาต   ให้มีสามีในระหว่างประจำทำงาน และที่สำคัญก็คือ   บุรุษที่เธอรักใคร่นั้นก็มักจะมีฐานะสูงส่ง และหมายถึงว่าเขามีครอบครัวแล้ว
ความรักของเธอจึงมีอุปสรรคดังเช่นชีวิตของ   “ซายูริ” นางเอกเกอิชาใน “นางโลมโลกจารึก” นั่นเอง

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-1 09:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เกอิชาจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

                                                                 


เกอิชา


เกอิชา (ญี่ปุ่น: 芸者 geisha "ศิลปิน" ?) เป็นอาชีพหนึ่งของสตรีญี่ปุ่นในสมัยก่อน ถือว่าเป็นผู้ที่ชำนาญทางศิลปะและให้ความเพลิดเพลินบันเทิงใจ เป็นเสมือนผู้คอยต้อนรับและปรนนิบัติแขก เกอิชามีอยู่แพร่หลายอย่างมากในญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ19 เมื่อ ค.ศ. 1920 มีจำนวนเกอิชาถึง 80,000 คน ส่วนในปัจจุบันแม้ว่าจะยังมีอาชีพเกอิชา แต่จำนวนค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับเกอิชาฝึกหัดจะเรียกว่า ไมโกะ (ญี่ปุ่น: 舞子 maiko ?)
คำว่า "เกอิชา" นั้น ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า "เกชะ" ในแถบคันไซเรียกว่า เกงิ (芸妓, げいぎ) ส่วนเกอิชาฝึกงานหรือ "เกโกะ" (芸子, げいこ) มีใช้มาตั้งแต่สมัยเมจิ ส่วนคำว่า "กีชา" ที่เรียกว่า "สาวเกอิชา" นั้น นิยมเรียกในช่วงปฏิบัติการร่วมระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา หมายถึง หญิงขายบริการ แต่เรียกตัวเองว่า "เกอิชา"
อาชีพของเกอิชานั้นพัฒนาขึ้นมาจาก ไทโคะโมะชิ หรือ โฮกัง ซึ่งคล้ายกับพวกตลกหลวงในราชสำนัก เกอิชาในสมัยแรกนั้นล้วนเป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันนั้นจะเรียกกันว่า "อนนะ เกชะ" (女芸者) หรือเกอิชาหญิง แต่ในปัจจุบันเกอิชาเป็นหญิงเท่านั้น

อักษรญี่ปุ่น "เกชะ" หมายถึง ศิลปิน


เดิมนั้นหญิงที่จะทำอาชีพเกอิชาจะได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่เด็ก สำนักเกอิชามักจะซื้อตัวเด็กหญิงมาจากครอบครัวที่ยากจน แล้วนำมาฝึกฝนเลี้ยงดูโดยตลอด ในช่วงวัยเด็ก พวกเขาจะทำงานเป็นหญิงรับใช้ เพราะผู้ช่วยเกอิชารุ่นพี่ในสำนักถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนด้วยเช่นกัน และเพื่อชดใช้กับค่าเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอน การสอนและฝึกฝนอาชีพที่ยาวนานเช่นนี้ นักเรียนจะอาศัยอยู่ในบ้านของครูผู้ฝึก ช่วยทำงานบ้าน สังเกต และช่วยครู และเมื่อชำนาญเป็นเกอิชาแล้ว สุดท้ายก็จะเลื่อนขึ้นไปสู่ตำแหน่งครูผู้ฝึกอบรมต่อไป การฝึกอบรมนี้จะต้องใช้เวลานานหลายปีทีเดียว
ในเบื้องต้นนั้นเด็กสาวจะได้เรียนศิลปะหลายแขนง ได้แก่ การเล่นดนตรี (โดยเฉพาะชะมิเซ็ง รูปร่างคล้ายกีตาร์) การขับร้อง การเต้นรำ การชงชา การจัดดอกไม้ (อิเกะบะนะ) รวมถึงเรื่องบทกวีและวรรณคดี การได้คอยเป็นผู้ช่วยและได้เห็นเกอิชารุ่นพี่ทำงาน พวกเขาก็จะมีความชำนาญมากขึ้นและเรียนรู้ศิลปะที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การแต่งชุดกิโมโน รวมถึงการพนันหลายแบบ รู้จักการสนทนา และการโต้ตอบกับลูกค้า
เมื่อหญิงสาวได้เข้ามารับการฝึกฝนเป็นไมโกะหรือเกอิชาฝึกหัด ก็จะเริ่มติดตามเกอิชารุ่นพี่ไปยังโรงน้ำชา งานเลี้ยง และการสังสรรค์ต่าง ๆ ที่เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานจริงของเกอิชา ทำให้ได้ประสบการณ์ทำงานจริงและมีความชำนาญขึ้นเรื่อย ๆ

ตำบลกิอง แหล่งเกอิชาในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น




เกอิชาไม่ใช่โสเภณี แม้ว่าในอดีตจะมีการขายพรหมจารีอย่างถูกต้อง และเกอิชาก็ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า แม้ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินซื้อเพื่อการนี้ก็ตาม

เกอิชากับโสเภณีมีความแตกต่างพอสมควร โดยสังเกตอย่างง่ายจากการแต่งตัว

โดยที่โสเภณีจะมีสายโอบิผูกชุดที่สามารถแกะได้จากข้างหน้า เพื่อความสะดวกในถอดชุดออกออก

เครื่องประดับของเหล่าหญิงโสเภณีมีความงดงาม หรูหรา ฟู่ฟ่า ในขณะที่เกอิชามีผ้าโอบิผูกจากข้างหลังตามชุดกิโมโนทั่วไป

เครื่องประดับนั้นจะเรียบง่ายแต่แสดงออกถึงความสวยงามตามธรรมชาติ ในรูปแบบของศิลปะได้อย่างดีทีเดียว


เกอิชาสมัยใหม่จะไม่ถูกซื้อตัวหรือพามายังสำนักเกอิชาตั้งแต่เด็กเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว

การเป็นเกอิชาในสมัยใหม่นั้นเป็นไปโดยสมัครใจทั้งสิ้น และการฝึกฝนอาชีพนั้นจะเริ่มต้นที่หญิงสาว ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย
ไม่ใช่เด็กหญิงอย่างแต่ก่อน และจะใช้เวลาที่ยาวนานและยุ่งยากมาก เพราะฝึกเมื่ออายุมาก

ปัจจุบันเกอิชายังคงอาศัยอยู่มากในสำนักเกอิชาในบริเวณพื้นที่ซึ่งเรียกว่า ฮะนะมะชิ (花街 "เมืองดอกไม้") หรือ คะเรียวไก (花柳界 "โลกของดอกไม้และต้นหลิว") ซึ่งคล้ายกับย่านโพนโทะโช ในเกียวโต

เกอิชานั้นมักได้รับการว่าจ้างให้ปรนนิบัติหมู่คณะ และมักทำงานร่วมกันในโรงน้ำชา (茶屋 ชะยะ)

หรือร้านอาหารแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น โดยเวลาใช้บริการนั้นจะใช้ธูปจุดเป็นเกณฑ์วัด เรียกว่า "เซนโกได" (線香代 "ค่าธูป") หรือ เคียวกุได (玉代 "ค่าเพชร") ลูกค้าจะติดต่อโดยผ่านสำนักติดต่อเกอิชาหรือ "เค็นบัน" (検番) ซึ่งจะมีตารางนัดของเกอิชาแต่ละคน และทำการนัดหมาย ทั้งเพื่อการทำงานและการฝึกฝนอาชีพ


เมื่อหญิงที่ทำงานเป็นเกอิชาแต่งงานก็จะเลิกจากอาชีพนี้ หากไม่แต่งงาน

เมื่ออายุมากขึ้นก็จะเลิกอาชีพนี้เช่นกัน แต่อาจทำงานเป็นเจ้าของร้านอาหาร

ครูสอนดนตรี เต้นรำ หรือครูสอนเกอิชาต่อไปก็ได้

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้