ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1792
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ศาลหลักเมือง

[คัดลอกลิงก์]


ตามประเพณีไทยแต่โบราณมา เมื่อจะมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่ใดก็ตามสิ่งที่จะต้องทำเป็นประการแรกก็คือ หาฤกษ์ยามอันดี สำหรับฝังเสาหลักเมือง
แล้วหลังจากนั้นจึงจะดำเนินการสร้างบ้านสร้างเมืองกันต่อไป เสาหลักเมือง ที่ได้รับการฝังไว้เป็นปฐมนั้น ไม่ว่าที่เมืองไหน ๆ ก็ตาม เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วก็มักจะเป็นที่เคารพบูชาของชาวเมืองนั้น ๆ ตลอดไป รวมทั้งชาวเมืองอื่น ๆ ที่พากันเดินทางมายังเมืองนั้น ๆ ก็มักจะต้องแวะไหว้เสาหลักเมือง หรือ เจ้าพ่อหลักเมืองกันจนถือเป็นประเพณี
“หลักเมือง” เป็นประเพณีพราหมณ์ มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งเสาหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้น คงจะเป็นด้วยประชุมชน ประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมกันเป็นตำบล ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอนั้นเดิมเรียกว่าเมือง เมืองหลาย ๆ เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ ๆ เมืองใหญ่ ๆ หลาย ๆ เมืองรวมเป็นมหานคร คือเมืองมหานคร
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบคือดวงเมืองแบบหนึ่ง บ้างเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประเทศไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป
ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง เพราะพระองค์คงจะทรงเห็นว่าการที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหนก็ไม่ความหมายอันใด เมื่อสิ้นความเป็นไทย
ในสมัยในรัชกาลที่ 4 – 5 นั้น บ้านเมืองต่าง ๆ โดยรอบประเทศไทย ไม่ว่าลาว เขมร พม่า มลายู ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและอังกฤษจนหมดสิ้น แม้แต่ประเทศใหญ่อย่างอินเดีย ก็ยังตกเป็นของอังกฤษ มีแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่รักษาเอกราช คงความเป็นไทมาได้
เรื่องนี้อาจจะเนื่องมาจากดวงเมืองของกรุงเทพฯ ที่บรรจุอยู่ ณ ปลายเสาหลักเมืองก็เป็นได้ สำหรับเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้น เสาเดิมจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่มีใครเคยเห็น เพราะเหตุว่าได้มีการเปลี่ยนเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ กันครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเสาหลักเมืองเดิมนั้นผุพังหมดสภาพไปนั่งเอง เสาหลักเมือง ที่เปลี่ยนใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ต้นใหญ่มาก คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 นิ้ว สูง 108 นิ้ว ตรงปลายเสาทำเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ บรรจุดวงชะตาของกรุงเทพฯ ไว้ภายใน
แต่ทุกวันนี้ จะไปหาดูเนื้อไม้สักนิดก็ไม่เห็น เพราะประชาชนผู้เคารพสักการะเสาหลักเมืองนั้น ได้พากันปิดทองคำเปลว จนกระทั่งเสาหลักเมืองอร่ามเรืองเป็นสีทอง ราวกับหล่อด้วยทองคำทั้งแท่งทีเดียว เป็นการแสดงให้เห็นว่า เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้น เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนมากเพียงไร
มีตำนานและเป็นเรื่องเล่าที่ตรงกันในสถานที่หลาย ๆ แห่ง นั่นคือ ในสมัยก่อนเมื่อจะมีการสร้างเมือง ซึ่งจะต้องสร้างประตูเมืองและกำแพงเมืองพร้อมกันด้วยนั้น ได้มีคติความเชื่อในสมัยนั้นว่า จะต้องนำคนมาฝั่งทั้งเป็นไว้ที่ประตูเมืองเพื่อเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เฝ้าปกปักรักษาเมือง โดยจะใช้คนที่มีชื่อว่า อินทร์ จันทร์ มั่น คง อยู่ ดี …
การสร้างเมืองเพชรบูรณ์ก็เช่นเดียวกัน เจ้าเมืองได้ประกาศให้หาคนมาฝั่งทั้งเป็นที่ประตูด้านทิศตะวันตกแห่งนี้ แต่เนื่องจากเพชรบูรณ์เป็นเมืองเล็ก จึงทำให้หาคนที่มีชื่อตามต้องการได้ลำบาก จึงให้ประกาศให้หาเฉพาะ ชื่อมั่นและชื่อคง … แม้กระนั้นก็ดี การหาคนชื่อมั่น ชื่อคง ก็ยังหายากมาก เหล่าทหารได้ออกค้นหามาหลายวันก็ยังไม่พบ จนถึงวันกำหนดพิธีซึ่งจะต้องจัดตอนเที่ยง ..
เวลาใกล้เพล เหล่าทหารก็ประกาศหา คนชื่อมั่น ชื่อคง มาจนถึงวัดไตรภูมิ ตะโกนว่า “กระจองงอง กระจองงอง เจ้าข้าเอ๊ย … ใครชื่อมั่นชื่อคง ให้ออกมาหน่อย” ก็มีเณร 2 รูปที่กวาดลานวัดอยู่ในวัดไตรภูมิตะโกนขานรับออกมา “โว้ย…” เหล่าทหารจึงรีบเขาไปคุมตัวจะนำมาเข้าพิธี เจ้าอาวาสเห็นเช่นนั้นก็ได้ออกมาห้ามปราม แต่เหล่าทหารได้อธิบายความจำเป็นที่จะต้องนำตัวไปร่วมพิธีเพื่อบ้านเพื่อเมืองดังกล่าว … เจ้าอาวาสเห็นเป็นเช่นนั้น ก็ยอม แต่ขอให้เณรทั้ง 2 ได้ฉันเพลก่อนแล้วค่อยนำตัวไป … แต่เหล่าทหารเห็นว่า เวลาใกล้จะเริ่มพิธีแล้ว จึงได้นำตัวไปทันทีโดยไม่ยอมให้ฉันเพล … ทำให้เจ้าอาวาสโกรธ และสาปแช่งเจ้าเมืองเพชรบูรณ์ทุกคนไว้ว่า เจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนใดครองเมืองเพชรบูรณ์เกินกว่า 3 ปี ขอให้มีอันเป็นไป … จากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีเจ้าเมืองเพชรบูรณ์คนใดครองเมืองเกินกว่า 3 ปีแม้แต่คนเดียว จนกระทั่งทุกวันนี้
ส่วนดวงวิญญาณเณรมั่น เณรคง ก็ได้สิงสถิตอยู่ที่ประตูเมือง เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ให้การปกปักรักษาและให้พรแก่คนเพชรบูรณ์มาช้านาน โดยคนเพชรบูรณ์ได้สร้างศาลไว้ที่บนป้อมประตูเมืองด้วย และคนรุ่นเก่า ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองจะรู้ดีถึงเรื่องนี้ มีการไปขอพร บนบานศาลกล่าวต่าง ๆ และเมื่อผ่านไปมาก็จะยกมือไหว้กันทุกคน จนทุกวันนี้ …
ป้อมประตูชุมพลที่อยู่ทิศตะวันตกของเมืองนี้ ปัจจุบันจะเห็นเป็นซากโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐประกอบด้วยหินทราย ตั้งอยู่ที่บริเวณใกล้สี่แยกถนนเพชรรัตน์ ทางไปวัดไตรภูมิ ซึ่งยังคงมองเห็นได้จนปัจจุบันนี้ …
อนึ่ง .. การฝังคนทั้งเป็นเพื่อให้เป็นวิญญาณเฝ้าเมืองนั้น เป็นคติความเชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีอิทธิพลความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์ ซึ่งก็ตรงกับหลักฐานทางประวิติศาสตร์ของช่วงเวลาในการก่อสร้างกำแพงเมืองเพชรบูรณ์
ส่วนที่ศาลหลักเมืองปัจจุบันนี้ ก็ตั้งอยู่บนป้อมปราการเช่นเดียวกัน แต่เป็นมุมกำแพง ไม่ใช่ประตูเมือง … ซึ่งเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์นี้ ตามหลักฐานของกรมศิลปากร เพิ่งมีการปักเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว คือ พ.ศ. 2443 นี่เอง .. ซึ่งตอนนั้น บ้านเมืองเรานับถือศาสนาพุทธแล้ว จึงคงจะไม่มีการฝังคนทั้งเป็นอย่างเด็ดขาด … เณรมั่นเณรคง จึงไม่ได้ถูกฝังอยู่ที่ศาลหลักเมืองในปัจจุบันนี้แต่อย่างใด
ที่มาจาก : storyofsiam.blogspot.com & wisonk.wordpress.com
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : TNews
นำเสนอโดย : แอพเกจิ – AppGeji


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้