การเริ่มการใช้ช้างไถนาที่บ้าน ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ถือเป็นประเพณีสุดแปลก โดยเริ่มมาจากนายพะก่าโหนะ ชาวกระเหรี่ยง ได้เดินทางไปที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วได้เห็นการนำช้างมาลากคราด คราดที่ทำจากไม้ กวาดเศษไม้ใบหญ้าออกจากนา เพื่อเป็นการปรับผืนดินในการทำนารอบใหม่ ซึ่งในสมัยนั้นยังใช้แรงงานจากคนและวัวควาย เป็นหลักในการไถนา ซึ่งหลังจากนายพะก่าโหนะ ได้พบเห็น ก็ได้เกิดความคิดว่าหากเราเปลี่ยนจากการใช้การใช้ วัว ควาย ในการไถนา โดยเฉพาะนาที่บ้าน นาเกียนส่วนมากจะเป็นดินปนหินหรือที่เรียกว่าดินดอย มาเป็นช้างน่าจะสามารถทดแทนกันได้ จึงปรึกษากับเพื่อนสนิทอีก 2 คน และได้ทำการทดลองนำช้างมาไถนาจริงๆเพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ แข็งแรงกว่าวัว ควาย และยังสามารถไถนาได้พื้นที่มากกว่าในระยะเวลาที่เท่ากัน โดย 1 แรงช้าง เท่ากับ 4 แรงวัวควาย ทำให้การไถนาเร็วและได้พื้นที่มากขึ้นที่สำคัญการลากคันไถได้ตั้งแต่ 1-4 คันไถไม่ต้องพักเหนื่อย เพราะการไถนาถือเป็นงานเบาสำหรับช้าง โดยช้างเชือกแรกที่นำมาใช้ในการไถนานั้น ชื่อว่า “ปุ๊น่อย” (ตัวผู้น้อย) เป็นช้างหุ้นส่วนที่ร่วมกันซื้อหลายคน และใช้งานอยู่ในระหว่างช่วงปี 2521 – 2526 โดยช้าง 1 เชือก ต้องมีคนควบคุม 2 คน คือบังคับช้างและถือคันไถ แต่ในปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้ามาสู่หมู่บ้านเริ่มมีรถไถนา จนจำนวนช้างที่มีกว่า 20 เชือกก็ลดน้อยลงเหลือเพียง 6 เชือก แต่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังอนุรักษ์ประเพณี ช้างไถนา เอาไว้ให้ลูกหลานได้เห็นต่อไป
|