ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดราษฎรสงเคราะห์ (วัดป่าหนองแซง) ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๔
บวชเป็นพระภิกษุ


หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เมื่อก่อนนั้นท่านเป็นคนแข็งแรง “รูปร่างของท่านนี่สง่า กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ เลย รูปร่างสมส่วนที่สุดละ ท่านมีความองอาจหาญกล้าดีจริงๆ”

ต่อมาภายหลังที่พวกเราเห็นรูปถ่ายของหลวงปู่อ่อนว่าท่านนั่งหรือยืนหลังค่อมๆ เพราะท่านอาพาธ และหมอได้ตัดลำไส้ท่านออกบางส่วน ความสง่าผ่าเผยของท่านจึงดูเปลี่ยนไป

หลวงปู่อ่อนตา พูดถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ว่า “โลกเรานี้มันเป็นอนิจจังนะ มันจะเป็นอะไรไม่บอกล่วงหน้าหรอก เพราะทุกอย่างเป็นอนัตตา คือเราไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้จะเกิดมันก็ไม่บอก จะอยู่ก็ไม่บอก จะไปตายจากมันก็ไม่บอกทั้งนั้นนอกจาก สนฺทิฏฺฐิโก จึงจะรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครบอก

พวกเราจงภูมิใจใน พุท-โธ ของเรา ในโลกนี้ไม่มีใครเก่งเกินพุทโธของเราหรอก พุทโธเป็นเลิศในโลกเน้อ”

หลวงปู่อ่อนได้ทดสอบจิตใจหลวงปู่บัวอยู่ถึง ๓ ปี ท่านเห็นสมควรบวชได้แล้ว จึงมีจดหมายถึงท่านเพ็ง ถามว่า “โยมผ้าขาวนี่จะเอาอย่างไร จะให้อาตมาบวชให้หรือท่านเพ็งจะบวชเอง

ท่านเพ็งก็ตอบไปว่า จะขอบวชเองครับ พระคุณเจ้า

ท่านเพ็งก็ได้ไปซื้อผ้ามาตัดจีวรต่างๆ เป็นไตรชุดเลย ผ้าแต่ก่อนโน้นราคาถูกนะ ไม้หนึ่งราคา ๑๖ บาทเท่านั้น ท่านเพ็งใช้เวลา ๓ วัน ๓ คืน จึงเสร็จเป็นผ้าจีวร

หลวงปู่อ่อนได้ส่งท่านบัวมาบ้านที่ร้อยเอ็ดเลย เพื่อมาบวชพระ”

หลวงปู่อ่อนตา เล่าถึงความรู้สึกของหลวงปู่บัว เมื่อก่อนบวชว่า

“ท่านเล่าว่า ทีแรกไปมองเห็นที่ทำมาหาทินแถวปักธงชัยดี ทำเรือกสวนได้ดี คิดจะพาครอบครัวมาอยู่ แต่มานึกว่า ตัวเราเองได้หยุดมานานแล้ว ยังจะคิดทำไร่ทำนาอยู่อีกหรือ ท่านคิดทบทวนดู แล้วตัดขาดตั้งแต่บัดนั้นเลยนะ ไม่คิดเอาอะไรทั้งนั้น นอกจากบวชอย่างเดียว

พอทุกอย่างจัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเพ็งพระลูกชาย ก็ได้นำบิดา คือท่านบัว ไปบวชที่วัดบึงพระลานชัยในตัวเมืองร้อยเอ็ด ทำพิธีอุปสมบทเวลา ๑๕.๑๘ น. มีคณะสงฆ์ ๑๑ รูป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ อายุท่านได้ ๕๓ ปี พอดี

โดยมี ท่านพระครูคุณสารพินิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ปลัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอุปัชฌาย์ได้ให้ชื่อว่า พระภิกษุบัว สิริปุณฺโณ

หลังจากพิธีบวชแล้ว ท่านบัว ได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านเพ็ง ที่วัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ตอนนั้นท่านเพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้อยู่นะ”
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๕
ปฏิบัติจริงจังและรู้ได้เร็ว


หลวงปู่อ่อนตาได้เล่าถึงการบวชของหลวงปู่บัว ต่อไปว่า

“ต่อจากนั้น ท่านบัวได้เอาจริงกับการปฏิบัติ ไม่ว่า ยืน เดิน นั่ง นอน สติของท่านดีมาก เพราะได้ฝึกมาแล้วตอนสมัยเป็นฆราวาส

ท่านบัวนี่ อาตมาพิจารณาดูแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติ ท่านไปได้เร็วมาก คิดดูซิ ท่านมาบวชเมื่อตอนแก่นะ พาคนแก่ๆ อย่างนี้มาบวชแล้วได้สมาธิเร็วๆ คงมีไม่กี่องค์หรอก

ท่านบัวรักษาศีล ๕ ศีล ๘ มาก่อน ท่านบัว กำหนดสติอย่างชำนาญมาก่อน พอท่านบวชแล้วเอาจริงเอาจังก็เลยเป็นของไม่ยากสำหรับท่าน”

หลวงปู่บัว ท่านจึงเป็นพุทธสาวกประเภท สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา คือ ปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากและรู้ได้รวดเร็ว

สำหรับพุทธสาวกประเภทอื่นๆ ได้แก่

- ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติลำบากและก็รู้ได้ช้า

- ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว

- สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา ประเภทที่ปฏิบัติสบายและก็รู้ได้ช้า


๑๖
พิจารณาเวทนาใต้ต้นลำดวน


ภายหลังที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ มาจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวันแล้ว ในกลางพรรษาแรกนั้นเองท่านก็ได้ธรรมเกิดขึ้นในจิตใจ

ในตอนนั้น หลวงปู่บัว ท่านมีอาการเจ็บในรูหูมาก หลวงปู่เพ็ง พระลูกชายได้ออกไปซื้อหายากินและยาหยอดหูมาถวาย พอหลวงปู่บัวท่านรับยาแล้วก็ถือไปนั่งสมาธิใต้ต้นลำดวนในบริเวณวัด นั่งต่อสู้กับทุกขเวทนาที่กำลังเผชิญในขณะนั้น ท่านยกเอาความเจ็บปวดเป็นกรรมฐาน ท่านนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่นั้นติดต่อกัน ๓ วัน ๓ คืน

หลวงปู่ต่อสู้กับความเจ็บปวดจนชนะมันได้ ความเจ็บปวดหายไปโดยไม่ได้ใช้ยากินยาหยอดหูเลยแม้สักนิดเดียว

เรื่องที่ว่า หลวงปู่บัวท่านใช้อุบายในการกำหนดอย่างไรนั้นมาเปิดเผยขึ้นเมื่อหลวงปู่บัว เข้าไปกราบหลวงปู่มั่นในครั้งแรก เพื่อถวายตัวเป็นศิษย์

ครั้งนั้นหลวงปู่มั่นท่านยังไม่เคยรู้จักหลวงปู่บัวมาก่อน เมื่อเจอหน้าครั้งแรก หลวงปู่มั่น ท่านทักถามว่า

“ตอนที่ท่านบัวนั่งอยู่ใต้ต้นลำดวนอยู่ ๓ วัน ๓ คืนนั้น ท่านทำอย่างไร...”

หลวงปู่บัว กราบเรียนว่า

“กระผมเจริญพระกรรมฐาน กำหนดดูปฏิสนธิตั้งแต่เริ่มแรก พิจารณาการเกิดของเราเลย คือตั้งแต่เข้าไปอยู่ในครรภ์มารดา ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันครับ ท่านอาจารย์”

และทราบจากการบอกเล่าในครั้งนั้นว่าหลวงปู่บัว ได้พิจารณาปฏิจจสมุปปบาท จนมองเห็นอย่างรู้แจ้งแทงตลอด เป็นที่น่าอัศจรรย์มากที่หลวงปู่ไม่รู้หนังสือ แต่สามารถพิจารณาธรรมได้อย่างเข้าใจชัดเจน ท่านบอกว่ามันเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไปเป็นวัฏวน เหมือนกับมดไต่ขอบกระด้ง ถ้าไม่ใช้ปัญญาตัดจะไม่สามารถออกจากวัฏสงสารนี้ได้..นับเป็นที่น่าอัศจรรย์จริงๆ
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๗
ไปภาวนากับพระอาจารย์คูณที่มหาสารคาม


เมื่อออกพรรษาในปีนั้นแล้ว หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ออกเดินทางจากวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด ไปยังจังหวัดมหาสารคาม ได้ถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อปฏิบัติพระกรรมฐานกับพระอาจารย์คูณ ที่วัดพูลศรีสารคาม อำเภอเมือง มหาสารคาม (ไม่ทราบว่าวัดนี้ยังคงชื่อเดิมหรือเปลี่ยนชื่อไปเป็นอย่างอื่น)

สำหรับท่านพระอาจารย์คูณองค์นี้ ท่านมีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติภาวนา ท่านมักชอบออกเที่ยวธุดงค์อยู่ป่ามากกว่าอยู่ประจำที่ สถานที่ที่พระอาจารย์คูณท่องเที่ยวธุดงค์ส่วนใหญ่เป็นป่าแถวจังหวัดมหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ และปราจีนบุรี ส่วนภาคอื่นท่านก็ไปบ้างบางโอกาส

หลวงปู่บัว ท่านเคยเล่าปฏิปทาข้อวัตรต่างๆ ของพระอาจารย์คูณ ให้ลูกศิษย์ฟังว่า งดงามยิ่งนัก หลักธรรมของท่านโน้มไปสู่การรู้ข้างในตน สำหรับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่เคยมีอะไรให้เห็นเป็นข้อบกพร่อง ท่านเป็นพระฝ่ายกรรมฐานที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจริงๆ

เวลาที่พระอาจารย์คูณอยู่กลางป่ากลางไพร พอถึงเวลาปักกลดตอนเย็นหน่อยเดียวป่าสมัยนั้นก็มืดสนิท แล้วท่านนั่งภาวนาชั่วครูแล้วก็เริ่มแสดงธรรม พูดเสียงดังๆ ออกมาเหมือนกับว่าในป่าดงยามค่ำคืนนั้นมีคนฟังเทศน์ท่านอยู่เป็นร้อยๆ คนพอเทศนาจบ ท่านดับเทียนทำภาวนาและเดินจงกรม

หลวงปู่บัว มีโอกาสได้ฟังเทศน์และจดจำเนื้อหาธรรมของพระอาจารย์คูณได้เป็นอันมาก และได้นำธรรมะนั้นไปเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติของท่านได้เป็นอย่างดี

เมื่อใกล้จะสว่าง พระอาจารย์คูณก็เทศนาอีกครั้ง ท่านพูดดังๆ อยู่องค์เดียว ไม่สนใจว่าจะมีใครฟังหรือไม่ หลังจากนั้นท่านก็เจริญภาวนาและออกเดินจงกรม เมื่อได้เวลารุ่งอรุณ ท่านก็หยิบบาตรเดินเข้าโปรดญาติโยมชาวบ้านป่าเป็นกิจวัตรของท่าน

หลวงปู่บัว ได้เรียนรู้ธรรมและการปฏิบัติภาวนาจากพระอาจารย์คูณเป็นอันมาก

ปกติพระอาจารย์คูณเป็นพระพูดน้อย พอท่านได้ลูกศิษย์ที่ถูกใจคือหลวงปู่บัว ซึ่งพูดน้อยเหมือนกัน เลยอยู่ด้วยกันได้อย่างสบาย รู้ใจกันทั้งสองฝ่าย
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๘
การปฏิบัติธรรมไม่ต้องรอเวลา


ถ้ามีเวลาพักผ่อนสนทนากันบ้างในเรื่องอรรถธรรมพระอาจารย์คูณท่านจะบอกให้อย่างแจ่มแจ้ง หายกังวลหายสงสัยไปเลยทีเดียว เมื่อหลวงปู่บัว และลูกศิษย์คนอื่นๆ เข้าใจแล้วก็รีบลงมือปฏิบัติทันที ไม่มีการรอเวลาว่าเท่านั้นเท่านี้โมง ลงมือเดี๋ยวนั้นเลย

เรื่องนี้ครูบาอาจารย์สายกรรมฐานแต่ละท่าน มักพูดเสียงเดียวกันว่า “เอากันเดี๋ยวนั้น” ไมมีคำว่าเดี๋ยวก่อน หรือ วันหน้า เราจะมัวประมาทหรือทำเล่นๆ ไม่ได้ เราไม่รู้วันตาย ถ้าเนิ่นช้าจะเสียการ ถ้าเพียงแต่รู้หรือเข้าใจธรรม แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังไม่สามารถสัมผัสรสคุณธรรมในใจตนได้ คือ มีแต่ปริยัติ ไม่มีการปฏิบัติ ก็ย่อมไม่บังเกิดผลในจิตใจคือ ปฏิเวธ

หลวงปู่บัว ท่านมีนิสัยนี้ติดตัวมาโดยตลอด เช่น เวลานอนพักผ่อน ขณะเอนกายลง ธรรมะเกิดขึ้น ท่านจะรีบลุกขึ้นมาพิจารณา กำหนดจิตลงสู่ความสงบ ให้ได้วิปัสสนาญาณรู้แจ้งในขณะนั้น ไม่มีการห่วงเรื่องนอนแม้จะง่วงแสนง่วงก็ตาม

เพราะเมื่อได้ธรรมะแล้ว ความง่วงมันก็หลบหน้าหายไป จะมีแต่ความชื่นบานในตัวรู้ภายในตลอดเวลา บางทีมันจะทรงอยู่เป็นวันเลย มันมีตัวรู้ตัวทั่วพร้อมในนั้น คือ ภายในจิต เป็นความรู้ที่ได้จากการพิจารณาทางจิต ไม่ใช่ได้จากการใช้สมองครุ่นคิด เหมือนกับปัญญาความรู้ในทางวิชาการหรือในทางโลก

นอกจากนี้ อีกขณะหนึ่ง เวลานอนหลับ แต่ตัวสติมันรู้มันทำหน้าที่ของมันอยู่ พอเกิดธรรมะเกิดปัญญาขึ้นขณะนั้น ท่านว่าท่านจะลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉง นั่งภาวนาจนรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องนั้นๆ

ตัวอย่างในกรณีของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ในขณะที่ลูกศิษย์นั่งสมาธิภาวนา เมื่อเกิดข้อธรรมหรือมีข้อสงสัยขึ้นในใจ หลวงปู่มักจะพูดขึ้นมาทันทีว่า “กำหนดดูต่อไป อย่าเปลี่ยน พิจารณาดูให้มันทะลุไป”


๑๙
สติกับจิตต้องไปด้วยกัน


หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ แม้ท่านไม่รู้หนังสือ แต่ท่านก็รู้ธรรม เกิดปัญญาจากการปฏิบัติภาวนา เป็นความรู้ที่ค้นพบด้วยตัวของท่านเอง พิจารณาตรวจสอบด้วยตัวท่านเอง มิใช่ความรู้ที่ได้จากการจดจำมาจากตำราหรือการได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น

หลวงปู่บัวท่านสอนศิษย์เป็นประจำขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า

“ขอให้มีสติตัวเดียวเท่านั้น มันจะแจ้งหมดโลก”

คนตาดีก็ต้องมีสติกำกับในการเดิน ยืนนิ่งนอนและทำกิจกรรมทุกอย่าง ต้องทำด้วยความมีสติทั้งนั้น คลาดเคลื่อนไม่ได้ ถ้ารักการพ้นทุกข์ รักการปฏิบัติ ต้องเอาให้ได้ ทำให้ชำนาญ เรื่องสตินี้สติกับจิต ต้องหนักเท่ากัน เหมือนตราชั่ง ถ้าจะชั่งของต่างๆ ลูกตุ้มก็ดี สิ่งของก็ดี ต้องให้มันเท่ากัน มันจึงจะเป็นธรรม มันจึงจะตรงและบริสุทธิ์ยุติธรรมทั้งสองฝ่าย

คนตาบอดก็ต้องมีสติ เอาสติวางไว้ที่ไม้เท้า กำหนดรู้ที่ไม้และที่เท้าขณะก้าวเดิน ถ้าเอาไปไว้ที่ไม้เท้ามาก ขาหรือเท้าหมดสิ่งกำกับ ก็จะเป๋ตกบ่อตกท่อไป ดังนั้น ต้องให้เท่ากันเหมือนลูกตุ้มกับสิ่งของในเรื่องตราชั่งที่ว่านั่นแหละ มันจึงจะพอใจ บริสุทธิ์ต่อกัน ทั้งไม้เท้าและขา ดังนี้ เรียกว่า สติกับจิตเป็นของคู่กันทุกสมัย
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๐
มีอำนาจในแววตา


ชีวิตในเพศบรรพชิตของหลวงปู่บัว แม้ว่าจะบวชเมื่อล่วงวัย ๕๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ท่านก็มีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์ตามป่าเขามามากแต่ขาดการบันทึกไว้ ส่วนที่จดจำจากคำบอกเล่าจากปากของท่านเอก็มีเป็นส่วนน้อย เพราะหลวงปู่ท่านเป็นคนพูดน้อย ท่านสนใจการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาบอกกล่าวให้ลูกศิษย์ลูกหาได้รู้ในเรื่องราวและประสบการณ์ของท่าน

จากคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ที่คุ้นเคยกับท่านมักจะพูดตรงกันว่า หลวงปู่บัวท่านมีอำนาจจิตเข้มข้น แววตาของท่าน ไม่ว่าท่านจะมองดูอะไร หรือผู้ที่พบเห็นท่านแล้ว คล้ายกับมีอำนาจสะกดให้จังงังได้

แววตาของหลวงปู่นั้นดุ มีอำนาจ และจิตใจของท่านอ่อนโยน มีเมตตาสูง เมตตาต่อผู้ที่ได้รับทุกข์เดือดร้อน ท่านจะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเสมอโดยไม่เลือกผู้ดีมีจน

การที่แววตาท่านดุ จริงจัง มีอำนาจ ส่วนหนึ่งก็คงสืบเนื่องมาจากกิตติศัพท์ และประสบการณ์เดิมของท่านในสมัยเป็นฆราวาส ที่ท่านเล่นคุณไสยและเป็นหมอขับไล่ผีมาก่อน จึงทำให้สัญญาในอดีตส่งผลให้คนรู้จักเกรงกลัวท่านเป็นทุนเดิมอยู่ในใจ
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๑
สั่งสอนชาวร้อยเอ็ดให้เลิกการนับถือผี


หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ออกท่องธุดงค์ แสวงหาที่วิเวกปฏิบัติธรรมตามป่าเขาเป็นเวลาหลายปี จนได้คุณธรรมชั้นสูงประจักษ์ในจิตใจแล้ว ท่านได้เดินทางกลับจังหวัดร้อยเอ็ดบ้านเกิด

ความตั้งใจประการหนึ่งของท่าน ได้แก่การสั่งสอนชาวบ้านจานทุ่งให้เลิกละการนับถือภูตผีปีศาจให้หันมานับถือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง และมาปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา

หลวงปู่ได้เทศนาอบรมแสดงเหตุผลต่อชาวบ้านให้ยึดมั่นในศีลเจริญภาวนาให้เกิดปัญญารู้เห็นในธรรม ท่านได้ชี้แจงแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน โดยยกตัวอย่างตัวท่านเองสมัยฆราวาส ท่านได้หลงผิดนับถือยึดมั่นในหลักไสยศาสตร์ ว่าเป็นของดีงาม จนเป็นเหตุให้ตนเองและผู้อื่นหลงงมงายไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

การนับถือผีนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้ทรงสรรเสริญ แต่พระองค์สรรเสริญให้คนทำความดี ให้คนมีศีลธรรม

การปฏิบัติทางจิตก็ไม่ยาก เพียงแต่นั่งหลับตาแล้วบริกรรมภาวนาในใจว่า พุท-โธ เท่านั้น บุญก็เกิดขึ้นแล้วภายใน นี่เป็นวิธีปฏิบัติขั้นต้นให้ใจสงบ เพื่อจะได้ดำเนินจิตให้เกิดปัญญารู้ในขั้นสูงต่อไป

ส่วนการทำบุญภายนอก คือ การทำทาน ไม่ว่าทานนั้นจะเป็นสิ่งของวัตถุใดก็ตาม เมื่อเราได้กระทำทานไปแล้ว จิตใจจะรู้สึกเบิกบาน ความสุขที่ได้รับจะขยายวงกว้างออกไปจนหาที่สุดที่ประมาณไม่ได้

ถ้าเราไปนับถือผี การเซ่นสรวงบูชาผี เราจะมีแต่ทางเสีย เสียทั้งกำลังกาย กำลังใจ และเสียทั้งทรัพย์ การเซ่นสรวงบูชาผี ผีมีแต่กิน เมื่อได้กินแล้วเขาก็ดี แต่เราเสียเงิน เสียเวลาไปซื้อหาของมาเซ่นสรวง เราเดือดร้อน ผีมันสบาย เราต้องทำมาหากิน หาเงินแสนเหนื่อยยาก กว่าจะได้เงินมาแต่ละอัฐแต่ละไพ ผีมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย

เวลาผีมันอยากจะกินไก่กินหมูเราก็ต้องทำตาม ต้องไปหาไปฆ่าไปแกง แต่ผีมันนอนดูเราทำบาป มันไม่ต้องบาปเพราะไม่ได้เป็นคนทำ เราเองเป็นคนฆ่า คนสั่งฆ่า บาปกรรมก็ตกอยู่ที่เรา

อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นอกุศลกรรมบถ คือทางแห่งความชั่ว เพราะเราตั้งใจกระทำชั่วเอง เมื่อเราเห็นผิดเป็นชอบแล้ว ผีมันมาช่วยอะไรเราไม่ได้ มาช่วยเรามิให้ตกนรกไม่ได้ สวรรค์หรือนรกอยู่ที่การกระทำของเราเอง เราอยากไปนรก หรืออยากไปสวรรค์กันล่ะ ถ้าอยากไปสวรรค์ ก็ควรมารับเอาพระไตรสรณาคมน์จากอาตมาเถิด เมื่อรับแล้วจงถือมั่นในสัจจะ แล้วจงรับศีลห้าไปประพฤติปฏิบัติกัน เมื่อรับแล้วถ้าบุคคลผู้นั้นปฏิบัติตรงก็เท่ากับว่ามีพระประจำอยู่ในใจด้วยกันทุกคนจะอยู่บ้านเรือน อยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิง เฒ่าเล็กเด็กน้อยสามารถทำได้ทั้งนั้น

ศีลจะรักษา ศีลจะให้ความสุขความเจริญทั้งตัวเราและประเทศชาติบ้านเมือง ให้งอกงามไพบูลย์ต่อไป

เป็นที่น่าอัศจรรย์ ปรากฏว่าชาวบ้านตำบลใกล้เคียงต่างๆ พากันเลิกการับถือภูตผีปีศาจ หันมารับพระไตรสรณาคมน์จากคำเทศนาของหลวงปู่ในครั้งนั้น

ความดีมีเมตตาของหลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ในครั้งนั้นยังจารึกติดแน่นในดวงใจของชาวบ้านจานทุ่งและตำบลใกล้เคียงมาตราบเท่าทุกวันนี้
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๒
การเผชิญสัตว์ป่า


หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้ฝึกฝนจิตใจตนเองกับพระอาจารย์คูณเป็นเวลานานหลายพรรษา จนมีอำนาจจิตแก่กล้า อีกทั้งปัญญาญาณก็ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

หลวงปู่บัว รักชีวิตการอยู่ป่า เพราะป่าเป็นที่อาศัยของสัตว์และมนุษย์ผู้รักความอิสระ รักสันโดษ ป่ามีธรรมะให้สำหรับผู้มีปัญญา ผู้ใฝ่ธรรมจึงเที่ยวออกหาครูอาจารย์ผู้อยู่ป่ากันมากในปัจจุบัน

จากประสบการณ์การท่องธุดงค์ในป่า มีหลายครั้งที่หลวงปู่บัวผจญกับเหตุการณ์น่ากลัวน่าหวาดเสียว แต่ท่านก็สามารถรักษาจิตใจของท่านได้ทุกครั้งที่พบเหตุการณ์นั้นๆ

ป่าในสมัยนั้นมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม นับตั้งแต่ ช้าง เสือ งู หมี ควายป่า เป็นต้น สัตว์ป่าที่หลวงปู่ได้ผจญมากและเห็นว่าดื้อมากที่สุดไม่มีอะไรเกินหมีกับควายป่า มันดื้อจริงๆ ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่ค่อยหลบ ไม่ค่อยหนี มันคอยจ้องคุมเชิงพระอยู่อย่างนั้น มันจะหลีกไปก็ต่อเมื่อมันรู้ว่า ต่างคนต่างไม่เป็นภัยต่อกัน นั่นแหละมันจึงจะหลีกทางให้

ตัวอย่างที่ปรากฏบ่อย เกิดขึ้นช่วงที่หลวงปู่เดินจงกรม เมื่อท่านเดินกลับไปกลับมาบนทางเดินจงกรม ปรากฏสัตว์พวกนี้มายืนขวางทางเดิน ยืนมองดูว่า พระท่านจะเอาอย่างไร

หลวงปู่เห็นก็ทำเฉย ไม่แสดงอะไรให้เป็นที่สงสัยของมัน ท่านกำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เดินก้าวย่างไปตามปกติ จนเกือบถึงตัวมันแล้วหันกลับเดินย้อนที่เก่า คือ เดินไปในระยะทางที่สามารถเดินได้ ท่านเดินไปเดินกลับอยู่อย่างนั้น เมื่อมันรู้ว่าพระไม่ได้สนใจกับมันจริงมันก็เดินหลบไปเอง

งูก็เหมือนกัน ตัวโตๆ ขนาดลำขา มันเลื้อยมาจากที่อื่นๆ ก็มาได้ แต่พอมาถึงทางเดินจงกรมของพระ มันก็หยุดเลื้อยเลยเฉยๆ นิ่งทำเป็นว่าใครจะกล้าถูกตัวมันบ้าง ไปถูกตัวมันไม่ได้นะ มันรัดทันทีเลยพวกนี้ มันจะสงบเฉยรออยู่อย่างนั้น พอมันเห็นว่าไม่มีอะไรผิดปกติมันก็จะค่อยๆ เลื้อยหายไปเอง


๒๓
ครอบครัวงูเห่าเผือก


มีคราวหนึ่ง หลวงปู่บัว ไปพักนั่งสมาธิภาวนาอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ปรากฏมีงูเห่า ๒ ตัว ตัวใหญ่ขนาดลำแขน ตัวมันสีขาวตลอดลำตัว มันเป็นงูเห่าเผือก

งูเห่าเผือก ๒ ตัวนี้ จะมาเฝ้าดูหลวงปู่อยู่ทุกวัน ขวางทางเข้าปากถ้ำไว้ เวลาท่านจะเดินออกไปบิณฑบาตหรือเดินจงกรมนอกถ้ำมันจะนอนเฉยอยู่อย่างนั้นโดยไม่ทำอะไร

งูเห่าทั้ง ๒ ตัวมีลูกหลายตัว เวลามันพาครอบครัวออกไปกินน้ำกันมันจะไปเป็นแถว เลื้อยไปกันเป็นระยะทาง ๘-๙ กิโลเมตรเลย เมื่อกินน้ำแล้วมันก็จะเลื้อยกลับมายังที่เก่าในถ้ำนั้นแหละ มันมาเฝ้าอยู่เหมือนเป็นยามรักษาให้หลวงปู่

มันอยู่ของมันอย่างนั้นทุกวัน จนถึงวันสุดท้ายที่หลวงปู่จะย้ายออกจากถ้ำนั้นไป พอหลวงปู่เตรียมตัวเก็บข้าวของ แล้วคิดในใจว่าต้องไปขอบใจเขาก่อน ที่เขามีน้ำใจประเสริฐนัก ถึงแม้เขาจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานก็จริง แต่ความซื่อสัตย์ของงูเห่าทั้ง ๒ ตัวนี้ ยากจะหาอะไรเปรียบได้ หมั่นเฝ้าดูแลรักษาความปลอดภัยให้ นับว่าผิดวิสัยสัตว์ทั่วไปที่ต้องออกหากินเลี้ยงชีวิตรอดเป็นประจำวัน

พอหลวงปู่ไปถึงที่อยู่ประจำของเขาตรงปากถ้ำกลับไม่เห็นพวกเขา ไม่รู้ว่าหายไปไหน ก็ได้แต่กำหนดแผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้เขาไป
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๔
อรรถธรรมของการบำเพ็ญบารมี


การที่หลวงปู่ได้พบกับสัตว์ร้ายในขณะเดินธุดงค์ในป่านั้น หลวงปู่ได้รับธรรมะอย่างกว้างขวางจากการฝึกภาวนาพิจารณาธรรมด้วยตนเอง อาศัยธรรมชาติเหล่านั้นเป็นส่วนประกอบ เหมือนกับว่ามีสัตว์ป่าเหล่านั้นคอยให้กำลังใจในการประพฤติปฏิบัติ

สมาธิก็เป็นไปอย่างแนบแน่น ความรู้แจ้งเห็นจริงก็แจ่มใส สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ไม่คลอนแคลน ท่านได้ปัญญาและกำลังใจมากในการอยู่ป่า

หลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม พระลูกชายของหลวงปู่บัว ได้เล่าถึงการเห็นอรรถเห็นธรรมของหลวงปู่ว่า “อรรถธรรมของท่านหลวงปู่บัว ก็คือ เมตตาบารมีนี่เอง บารมีแต่ละอย่างมารวมอยู่ในจุดเดียวกันตอนที่ท่านนั่งภาวนาอยู่นั่นเอง ท่านทำจนสำเร็จกิจในระยะนั้น จนเป็นบารมีสิบทัศ พร้อมมูลบริบูรณ์ไปเลย

ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ท่านมีบารมีด้วยกันทุกองค์นั่นแหละ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว จิตใจก็ไม่ดำเนินลงสู่สมาธิได้ นี่เรียกว่าเป็นการสร้างบารมี ดูอย่างในตอนที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ก็เกิดขึ้นในขณะที่นั่งภาวนาในที่แห่งเดียวใต้ต้นศรีมหาโพธิพฤกษ์ เป็นอย่างนี้นะ”

๒๕
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น


ต่อเมื่อพระอาจารย์คูณได้ล้มป่วยและมรณภาพลง หลวงปู่บัวได้ช่วยกิจการงานศพของพระอาจารย์ แล้วท่านได้พบกับพระอาจารย์ส่วน ได้แนะนำและชักชวนหลวงปู่ให้ไปถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาธรรมกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ทางวิปัสสนากรรมฐาน

หลวงปู่บัว แสนจะปีติยินดี คิดว่าเป็นวาสนาบารมีของตนที่จะมีโอกาสได้พบหลวงปู่มั่น เพราะเคยได้ยินชื่อเสียงของท่านมานาน บัดนี้บุญกุศีลเกื้อกูลเราแล้ว

จากนั้นหลวงปู่บัวได้เดินทางติดตามพระอาจารย์ส่วนไปยังจังหวัดสกลนคร ถิ่นที่พำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่บัว ได้เข้านมัสการถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และอยู่ปฏิบัติธรรมใกล้ชิดหลวงปู่มั่น จนถึงวาระสุดท้ายของหลวงปู่มั่นในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เมื่อไปถึงในตอนแรก หลวงปู่มั่นได้มอบธรรมเข้าสู่จิตใจหลวงปู่บัวทันทีในการพบหน้าเป็นครั้งแรก

หลวงปู่มั่นได้อธิบายขยายธรรมะที่หลวงปู่บัว พิจารณาเมื่อครั้งมีอาการเจ็บหู และพิจารณาดูปฏิสนธิ ขณะนั่ง ๓ วัน ๓ คืน ใต้ต้นลำดวน ภายในวัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด

หลวงปู่มั่น ได้อธิบายปฏิจฺจสมุปฺปบาท ให้ฟังและรับรองว่าหลวงปู่บัว ได้พิจารณาและเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว รวมทั้งยกย่องชมเชยหลวงปู่บัวให้ปรากฏแก่หมู่คณะในขณะนั้น นับเป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก

ทำไมจะไม่อัศจรรย์ ก็ตอนที่หลวงปู่บัว นั่งภาวนาเมื่อครั้งที่ท่านเจ็บหูนั้น หลวงปู่บัว ยังไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่มั่นด้วยซ้ำไป แล้วจู่ๆ เพียงเข้ากราบและพบหน้ากันเป็นครั้งแรก หลวงปู่มั่นได้ทักทายและกล่าวถึงการภาวนาของหลวงปู่บัวในครั้งนั้นได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งอธิบายข้อธรรมที่ละเอียดชัดเจนให้ด้วย ยิ่งทำให้หลวงปู่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่นอย่างหมดหัวใจ
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๖
กิจวัตรประจำวัน


ลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นทุกองค์ มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก อีกทั้งกิจวัตรประจำวันที่หลวงปู่มั่นได้วางแนวการปฏิบัติลูกศิษย์ทุกองค์ก็ยึดถือปฏิบัติเป็นอาจิณวัตร คือปฏิบัติเป็นแบบแผนเป็นประจำ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

กิจวัตรของพระสงฆ์สายหลวงปู่มั่น จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. ตื่นนอน ออกจากกุฏิทำสรีรกิจ ล้างหน้าบ้วนปาก ปฏิบัติสมาธิภาวนาพอสมควร แล้วนำบริขารลงสู่โรงฉัน ปัดกวาดลานวัดออกเดินจงกรม

พอได้เวลาออกบิณฑบาตภิกขาจารก็ขึ้นสู่โรงฉัน นุ่งห่มเป็นปริมณฑล สะพายบาตรเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตแล้ว จัดแจงบาตร จีวร จัดอาหารใส่บาตร นั่งพิจารณาอาหารปัจเวกขณ์ ทำภัตตานุโมทนายถาสัพพี แล้วฉันอาหารภายในบาตรอย่างสำรวม

หลังจากเสร็จกิจการฉันภัตตาหารแล้ว ต่างองค์ต่างเช็ดล้างบาตร ทำความสะอาดเสนาสนะ ต่างองค์ต่างแยกย้ายกลับกุฏิ พักผ่อนเล็กน้อย สวดมนต์ไหว้พระ พิจารณาธาตุอาหาร ชำระจิตจากนิวรณ์ นั่งสมาธิภาวนา หรือเดินจงกรมพอสมควร

เวลาบ่าย แต่ละองค์จะลงกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันมาไว้อาบน้ำชำระกาย แล้วเดินจงกรมชำระจิตใจขัดเกลากิเลส ตัณหา อุปาทานออกจากจิตใจ จนถึงเวลาพลบค่ำจึงขึ้นกุฏิ

วาจาหรือความนึกคิดอันใดไม่มีความจำเป็นต้องพูด ให้พิจารณากำหนดลงที่จิต กำหนดสติ ตักตวงธรรมทำกำไรไว้ให้แก่ตนเองในแต่ละวัน แต่ละชั่วขณะจิต

ถ้ามีข้อสงสัยติดขัดในข้ออรรถข้อธรรม ก็ค่อยไปสอบถามพระอาจารย์ในเวลาค่ำคืน หลวงปู่มั่นจะเปิดโอกาสให้ศิษย์แต่ละคนได้สอบถาม ข้อคำถามและการอธิบายคำตอบนั้น ลูกศิษย์ทั้งปวงจะมีส่วนรู้เห็น และทำความเข้าใจอย่างพร้อมหน้ากัน

เวลากลางคืน สานุศิษย์จะทยอยกันขึ้นไปปรนนิบัติครูบาอาจารย์ เวลานี้แหละลูกศิษย์ทุกองค์จะได้ฟังธรรมวิเศษจากท่าน ซึ่งมีคุณค่าต่อการปฏิบัติธรรมอย่างมหาศาล ไม่สามารถศึกษาค้นคว้าจากตำหรับตำราได้ หลวงปู่มั่นจะสอนอบรมสติปัญญาแก่ลูกศิษย์พอสมควรแล้วต่างองค์ต่างแยกย้ายไปบำเพ็ญภาวนาในสถานที่ของตน

ส่วนพระเณรที่รับหน้าที่นวดเฟ้นถวายพอสมควรแล้วก็กราบลากลับกุฏิ หลวงปู่มั่นก็เข้าห้องพัก ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิของท่านต่อไป

บรรดาลูกศิษย์เมื่อแยกย้ายกันกลับกุฏิแล้ว บางองค์ก็นั่งภาวนา บางองค์ก็เดินจงกรม กำหนดจิตใจพิจารณาธรรมที่ตนได้รับมาเป็นเวลาอันสมควรแล้วเข้าพักผ่อน ถึงเวลา ๐๓.๐๐ น. ก็ตื่นขึ้นมาทำกิจประจำวันต่อไป
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-8-7 00:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๒๗
เมื่อมีเกิด ก็ย่อมมีไม่เกิด


ในช่วงที่หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ พำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือกับหลวงปู่มั่น ท่านก็ไม่ได้อยู่ประจำที่เสมอไป บางโอกาสท่านจะออกฝึกจิตใจโดยออกเดินธุดงค์ไปตามถิ่นต่างๆ เพียงลำพังองค์เดียวหลายครั้ง

ระยะทางการเดินธุดงค์ของหลวงปู่บัว ส่วนใหญ่จะไปไม่ไกลจากบ้านหนองผือนัก เพราะเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพของท่าน ด้วยท่านอยู่ในวัยชราแล้ว จึงเดินทางไกลพอสมควรแก่สุขภาพร่างกาย แม้ท่านอยู่ในวัยชราท่านก็ไม่ยอมแพ้ตกเป็นทาสของสังขาร ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง จิตใจของท่านอาจหาญนัก

หลวงปู่มั่น เคยอบรมบ่มนิสัยสานุศิษย์ให้รู้เท่าทันกิเลส กิเลสมันพามนุษย์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงอยู่กับรูปสังขาร

เมื่อผู้ใดยังยึดมั่น ลุ่มหลงอยู่ในขันธ์ มันก็จะพาเราให้มาเกิดแก่ เจ็บ ตาย ได้อีก อย่างไม่มีการจบสิ้น วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ไปชั่วกาลนาน ถ้าไม่รู้จักทางแก้ไข จึงจำเป็นต้องมาพิจารณาหาทางแก้ไขความทุกข์ที่วนเวียนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไป เพราะเมื่อมีมืดก็ต้องมีสว่างมาแก้กัน

เมื่อมี เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้ว ก็ย่อมต้องมีทางที่จะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และไม่ตาย อยู่เป็นแน่ ผู้ที่ใฝ่ธรรมในทางพระพุทธศาสนา จะต้องมานะพยายามใคร่ครวญหาทางแก้ไข พบเห็นหนทางด้วยตนเองให้จงได้

ทางเดียวที่หลวงปู่บัวได้พิจารณาตามคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา และจากการอบรมพร่ำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้แก่ การปฏิบัติสมาธิภาวนาให้สติตามรู้เหตุผลไปตลอดสาย จนเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด สามารถตัดขาดจากวงจรแห่งวัฏสงสารไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่วงจรแห่งความทุกข์อย่างไม่มีวันจบสิ้น นั่นคือ ต้องบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งจิตเข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

๒๘
ปฏิบัติธรรมจนรู้จริง


หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ได้รับอุบายธรรมในการปฏิบัติภาวนาจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีคุณค่าอย่างมากมายมหาศาล หลวงปู่มั่นได้เล่าถึงการเดินธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ เช่นในท้องที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี บ้านดงน้อยสามผง จังหวัดนครพนม และได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่ภาคเหนือเป็นเวลาถึง ๑๒ ปี

หลวงปู่บัว ยังมีโอกาสศึกษาอุบายธรรมจากพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐานหลายองค์ หลวงปู่ได้จดจำปฏิปทาของพระเดชพระคุณเจ้าเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติตาม

หลวงปู่บัวเคยเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ธรรมที่เกิดจากจิตใจในครั้งนั้น ช่างแนบแน่นยกระดับจิตใจได้รวดเร็วทีเดียว

ภายหลังจากหลวงปู่มั่น เดินทางจากภาคเหนือมายังภาคอิสาน คือ จังหวัดอุดรธานี แล้วเดินทางไปอบรมสั่งสอนศิษย์ ในจังหวัดต่างๆ ในภาคอิสานตอนบนแถบจังหวัดขอนแก่น สกลนคร นครพนม เป็นต้น หลวงปู่มั่นได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาอย่างเต็มที่ ท่านเร่งเร้าให้ศิษย์ได้เอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติภาวนาให้ยิ่งขึ้นไป ท่านเข้มงวดกวดขันกับลูกศิษย์ชนิดแทบหาเวลาพักผ่อนส่วนตัวได้ยาก

ผู้ใดมีความสงสัยอะไร ก็ให้ปรึกษาสอบถามได้อย่างไม่ต้องรอช้า เมื่อได้รับอุบายไปแล้วให้ปฏิบัติภาวนากันเลยทีเดียว พิจารณาจนรู้ประจักษ์แจ้งในธรรมนั้นๆ ด้วยตนเองไป
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้