ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ เจ้าคุณนรฯ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ วัดเทพศิรินทร์ ~

[คัดลอกลิงก์]
11#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คนเป็นคนตาย

ท่านธมฺมวิตกฺโก มีปกตินิสัยชอบความสงบ ท่านชอบคนตาย ท่านบอกว่าคนตายให้แต่ความดีงาม ทำใจให้สงบ เพราะเมื่อเห็นแล้วก็เป็นเครื่องเตือนสติว่า ตัวเราก็ต้องตายเช่นนั้นไม่ช้าก็เร็ว

นอกจากนี้คนตายยังให้ความรู้เป็นอาจารย์ทางแพทย์ได้อีกด้วย ไม่เหมือนคนเป็น ซึ่งอาจมีคุณและโทษ ถ้าพบคนเลวก็มีแต่โทษ มีแต่ความลำบากใจไม่รู้จักหยุด

ฉะนั้นด้วยวิสัยนี้ ถ้าตามเสด็จไปบางปะอินครั้งใด ท่านจะ ต้องไปนั่งในป่าช้าเสมอ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ต้องการตัว ท่านจะรับสั่งให้คนไปตามที่ป่าช้า

ท่านไม่นิยมความสนุกสนาน แต่กระนั้นท่านก็บอกว่า ท่านสามารถเล่นโขนและละครได้ ท่านเคยแสดงเป็นทั้งตัวพระและตัวนางหน้าพระที่นั่ง และแสดงได้ดีจนได้รับการยกย่องในสมัยนั้น

จงรักและภักดี

ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับ ท่านธมฺมวิตกฺโก แต่ครั้งยังรับราชการ เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม ในนามบรรดาศักดิ์พระยานรรัตนราชมานิตนั้น เป็นไปอย่างใกล้ชิดสนิทแน่นยิ่ง

ตำแหน่งเจ้ากรมห้องที่พระบรรทมหรือมหาดเล็กต้นห้อง พระบรรทม ตลอดกระทั่งการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นถึงพระยาพานทอง ตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี

และราชทินนามที่ว่า “นรรัตนราชมานิต” อันแปลอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “คนดีที่มีพระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่อง” นั้น ย่อมเป็นพยานยืนยันอย่างดี ถึงความไว้วางพระราชหฤทัย และความยกย่องให้เกียรติเพียงใด ขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพระยานรรัตนราชมานิต ตั้งแต่ยังเยาว์วัย

แต่พระยานรรัตนราชมานิต ได้มีความวิริยะอุตสาหะ ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณอย่างดีที่สุด ที่มนุษย์ในโลกนี้จักพึงกระทำได้ต่อผู้มีพระคุณแก่ตนตลอดทั้งความจงรักภักดี และ ความกตัญญูกตเวทีก็มีอยู่อย่างล้นพ้น จนสุดที่จะประมาณได้

ตลอดเวลาที่รับราชการประจำอยู่แต่ในเขตพระราชฐาน เป็นเวลานานเกือบ 10 ปีบริบูรณ์นั้น ท่านได้ตั้งหน้าอุตสาหะปฏิบัติหน้าที่ราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มสติกำลัง และโดยสม่ำเสมอ ไม่รู้จักย่นย่อท้อถอย

หน้าที่อันใดที่บ่าวจักพึงปฏิบัติต่อนาย เป็นต้นว่าตื่นก่อน นอนทีหลัง ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การงานใหญ่ขึ้น นำพระคุณของนายไปสรรเสริญ ฯลฯ เหล่านี้ ท่านสามารถปฏิบัติได้โดยครบถ้วนบริบูรณ์ไม่มีขาดตกบกพร่องใด ๆ

เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตื่นพระบรรทมลืมพระเนตรขึ้นมาคราวใด เป็นต้องได้ทอดพระ เนตรเห็นท่านหมอบเฝ้าคอยถวายอยู่งานแทบทุกครั้งไป

ไม่ว่างานหนักงานเบา งานจุกจิกหยุมหยิมอย่างใด ท่านก็ ยินดีและเต็มใจปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณ จนเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยแทบทุกกรณีไป

กล่าวกันว่าตลอดเวลา 10 ปี ที่รับราชการสนองพระเดชพระ คุณอยู่อย่างใกล้ชิดนั้น ท่านไม่เคยถูกกริ้วเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้ง ๆ ที่โดยปกตินั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอารมณ์ออกจะรุนแรง กริ้วง่ายและกริ้วอยู่เสมอ สำหรับบุคคลอื่น ๆ แต่สำหรับตัวท่านแล้ว กลับตรงกันข้าม จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจ ให้แก่ผู้ที่ได้ทราบเรื่องนี้อยู่เสมอ
12#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
โดยปกติมหาดเล็กห้องพระบรรทมจะมีหน้าที่อยู่เวรถวายอยู่งานวันหนึ่ง แล้วว่างเว้นวันหนึ่ง สลับกันไป เพื่อจะได้มีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง สำหรับจะได้พักผ่อนหรือทำธุรกิจส่วนตัว

แต่สำหรับท่านแล้ว เล่ากันว่าแม้จะเป็นวันว่างเวร ท่านก็มักจะไม่ไปไหน คงประจำอยู่แต่ในห้องพระบรรทมแทบทุกวัน ไม่ว่าวันเข้าเวรหรือออกเวร หากมีธุระส่วนตัวจะต้องออกมาข้างนอกเมื่อใด ก็จะใช้เวลาตอนเสด็จออกจากห้องพระบรรทมแล้ว หรือเวลาเข้าที่พระบรรทมแล้ว เท่านั้น

อันงานในหน้าที่ของมหาดเล็กห้องพระบรรทมนั้น นับว่าจุกจิกหยุมหยิมมากมายพอดูทีเดียว เริ่มแต่พอเสด็จเข้าที่พระบรรทม ก็จะต้องถวายอยู่งานนวด อยู่งานพัดเรื่อยไป จนกว่าจะทรงบรรทม หลับ

เวลาจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใด ๆ ก็จะต้องทำหน้าที่แต่งพระองค์หรือควบคุมการแต่งพระองค์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับพนักงานภูษามาลา คอยติดตามฉลองพระองค์ ฯลฯ บางครั้งท่านยังต้องชุนพระสนับเพลาจีนด้วยตนเองอีกด้วย

นอกจากนี้ ก็ยังต้องคอยควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเสวยพระกระยาหารเช้า และพระเครื่องว่างในเวลาที่ต้องพระราชประสงค์

รวมความว่า งานรับใช้ทุกอย่างภายในห้องพระบรรทมนั้น อยู่ในหน้าที่ดูแลของท่านโดยตลอด

โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ เข้าที่พระบรรทมซึ่งส่วนใหญ่จะประทับประจำอยู่ ณ พระที่นั่งบรมพิมานเป็นเวลาราว 01.00 น. หรือบางทีก็จน 02.30 น. ล่วงแล้ว และจะไปตื่นพระบรรทมเอา ราว 11.00-11.30 น.

แล้วก็จะเสวยเครื่องเช้า ลำพังพระองค์ที่เฉลียงข้างห้องพระบรรทม จากนั้นจึงจะเสด็จเข้าห้องทรงพระอักษร ทรงปฏิบัติงานราชการแผ่นดิน และทรงปฏิบัติพระราชกิจต่าง ๆ

ในระหว่างเวลาต่อจากนี้ไปแล้ว จึงจะมีเวลาพักผ่อนเอาแรง หรือทำธุรกิจส่วนตัวได้ รวมทั้งตระเตรียมวางงานการบางอย่างไว้ด้วย

ตลอดเวลาที่ท่านรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในวัง เป็นเวลาช้านานถึง 10 ปี นั้นท่านไม่เคยได้กลับมานอนที่บ้านเลย จะออกมาเยี่ยมเยียนบ้านได้บ้าง ก็เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

และไม่เคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเตร่ที่ไหน ๆ เลย ไม่เคยได้ตามเสด็จไปในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะภาระงานในหน้าที่ของท่านนั้นบีบรัดอยู่ตลอดเวลา

พอจะเสด็จไปคราวใด ท่าน ก็จะทำหน้าที่แต่งพระองค์โดยตลอด พอเสด็จกลับมาถึง ก็จะต้องรับหน้าที่คอยถอดฉลองพระองค์อีก ซึ่งจะต้องกระทำกันอย่างเร่งรีบรวดเร็วและเรียบร้อยด้วย หลายคนต้องช่วยกันชุลมุนวุ่นวาย

เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงมีพระวรกายอวบอ้วน (ทรงพ่วงพี) จึงทรงเป็นบุคคลชนิดที่เรียกกันว่า ขี้ร้อนเอาการอยู่ทีเดียว กล่าวกันว่าพอเสด็จกลับมาถึงเมื่อใด ก็จะต้องเปิดพัดลมถวายคราวละ 4-5 เครื่องพร้อม ๆ กัน แล้วก็ ช่วยกันระดมถอดกระดุมฉลองพระองค์ ถอดถุงพระบาท ฉลองพระบาทให้ทันพระราชหฤทัย

ก็เมื่องานในหน้าที่รัดตรึงอยู่อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ โอกาสที่ท่านจะตามเสด็จไปในที่ต่าง ๆ เยี่ยงข้าราชบริพารและขุนนางคนอื่น ๆ นั้นจึงหาได้ยากยิ่ง

ท่านเคยเล่าว่า ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมในที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากในบ้านในเมือง เนื่องในวาระซ้อมรบเสือป่าทุกคราวนั้น

แม้ทางการจะได้จัดการวางเวรยามรักษาการณ์ถวายอารักขาไว้อย่างเข้มงวดกวดขันเพียงใดแล้วก็ตาม แต่ท่านก็อดมิได้ที่จะต้องเอาเป็นธุระกังวล หมั่นออกตรวจตราตรากตรำ ดูแลกำกับอยู่เสมอทุกครั้งไปโดยมิได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ความง่วงเหงาหาวนอน ตามความต้องการพักผ่อนของร่างกายแต่อย่างใด
13#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ด้วยความไม่ไว้วางใจ เกรงว่าเวรยามเหล่านั้น อาจจะเผลองีบหลับไปบ้างด้วยความง่วงจัด ในยามดึกสงัด ก็จะเป็นโอกาสของทรชนผู้คอยจ้องหมายปองจะประทุษร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้

อันความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเคยกล่าวอยู่ เสมอ ๆ ว่า

“ต้องตายแทนได้!”

ถ้าหากว่าตัวท่านกระทำผิดคิดร้ายใด ๆ ต่อพระองค์ท่าน หรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบังเกิดความไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในตัวท่านเมื่อใดแล้ว

ท่านก็พร้อมเสมอที่จะน้อมรับพระบรมราชโองการให้เอาตัวไปประหารชีวิต ตัดศีรษะเสีย ตามแบบฉบับของการประหาร ในสมัยนั้นได้ ท่านกล่าวอย่างหนักแน่นในเรื่องนี้ว่า

“เอาหัวเป็นประกันได้เลย!”

แปลว่าท่านมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสุดชีวิตเลยทีเดียว

ส่วนองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น ก็ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัย และทรงรู้ใจในตัว พระยานรรัตนราชมานิตเป็นอย่างดีเช่นกัน

เป็นต้นว่าในยามที่เสด็จ แปรพระราชฐานไปประทับที่ พระราชวังบางปะอินนั้น คราวใดที่พระองค์มีพระประสงค์จะทรงดนตรีร่วมกับข้าราชบริพาร อันไม่ต้องอัธยาศัยของพระยานรรัตนราชมานิต

ท่านก็จะถือโอกาสกราบบังคมทูลปลีกตัวออกไปนั่งสงบอยู่ในป่าช้าแต่โดยลำพัง แต่ก็มิใช่ไปอย่างขาดลอยสบายตัวเลย เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงเรียกใช้สอย หรือ ทรงต้องการตัวเมื่อใด ก็จะต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงแหล่งที่จะไปตามพบตัวได้ทุกเมื่อ

กล่าวคือเป็นที่รู้กันระหว่าง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระยานรรัตนราชมานิต

ก็โดยเหตุที่ท่านได้อุตสาหะ ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างสุดกำลัง ไม่ว่าทั้งด้านกายใจ ได้ทุ่มเทอุทิศถวายให้ทั้งหมด แม้กระทั่งชีวิตและความสุขของตนเอง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะซาบซึ้ง ตระหนักชัดในความจงรักภักดี ของมนตรีของพระองค์ผู้นี้เป็นอย่างดีเช่นกัน ถึงกับคราวหนึ่ง เมื่ออยู่ลำพังสองต่อสอง ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับท่านว่า

“ตรึก นี่เราเป็นเพื่อนกันนะ แต่เวลาออกงานออกการแล้ว เราจึงจะเป็นเจ้าเป็นข้ากัน”

พระราชดำรัสทั้งนี้ เป็นที่จับใจพระยานรรัตรราชมานิตเป็นอย่างยิ่ง
14#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ยอดกตัญญู


พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต
ผู้บวชถวายราชกุศล ร.6 ถ่ายภาพร่วมกับ
พระภิกษุพระยาสีหราชฤทธิไกร ผู้บวช
ถวายพระราชกุศล ร.5 ณ วัดราชบพิตร
เมื่อพ.ศ.2469


โดยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจบวชหน้าไฟ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วก็กลายเป็นบวชจนชั่วชีวิต ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ตลอดเวลาที่ท่านบวชอยู่เป็นเวลาช้านานถึง 46 พรรษา คิดเป็นวันก็ได้กว่า 16,000 วันนั้น ไม่มีวันใดเลยที่ท่านจะว่างเว้นจากการกรวดน้ำอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นยอดกตัญญูอย่างที่จะหาบุคคลใดมาเทียบได้ยากยิ่ง

ยิ่งกว่านั้น ทุกวันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ท่านก็จะงดเว้นการฉันอาหาร 1 วัน

และนั่งกระทำสมาธิตั้งแต่หัวค่ำไปจนยันสว่างเพื่อน้อมจิตอุทิศถวายกุศลผลบุญ ที่ได้ปฏิบัติบำเพ็ญมาโดยตลอด แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น

ท่านได้เฝ้าปฏิบัติอยู่เช่นนี้ เป็นประจำทุกปีมิได้เคยมีขาด หรือเว้นเลย

นอกจากนี้ยังได้บำเพ็ญกุศลด้วยประการต่าง ๆ เพื่อน้อมอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอีกเป็นอเนกประการ

อันความจงรักภักดีของท่านธมฺมวิตกฺโก ที่มีต่อองค์พระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งใหญ่หลวงจริง ๆ

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
คราวหนึ่ง ในขณะที่มีการประกวดนางงามกันในงานวชิราวุธานุสรณ์ และนางงามผู้ชนะเลิศยังเรียกกันว่า “นางงามวชิราวุธ” ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกเป็น “นางสาวไทย” นั้น ได้การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีนี้กันต่อหน้าท่านธมฺมวิตกฺโกในพระอุโบสถ

ทันใดนั้น ท่านธมฺมวิตกฺโก ก็กล่าวขึ้นว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในการที่เอาพระปรมาภิไธยของพระองค์ไปใช้เรียกชื่อนางงามที่นุ่งน้อยห่มน้อย เป็นเชิงประกวดขาอ่อนกันเช่นนั้น

ทุกคนที่ได้ฟัง พากันตะลึง และงงงัน

ทันใดนั้น คนหนึ่ง ด้วยความสงสัยเต็มประดา ก็โพล่งถามท่านไปว่า

“พระเดชพระคุณได้ติดต่อกับพระองค์อยู่เสมอหรืออย่างไร จึงได้ทราบว่าไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย”

“โธ่” ท่านพยักหน้าตอบ

คำตอบของท่าน เป็นคำตอบอย่างจนมุม สุดที่จะเลี่ยงตอบให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะตามปกตินั้น ท่านก็มักจะไม่พูดถึงเรื่องเร้นลับใด ๆ ให้เป็นการแสดงอวดรู้อวดวิเศษกับบุคคลใด นอกจากเป็นการโดยบังเอิญ ดังเช่นกรณีนี้เท่านั้น

เมื่อท่านพูดสิ่งใดออกไปแล้ว ทุกคนก็ต้องเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น และไม่มีใครกล้าซักถามกันอีกต่อไป ด้วยความกลัวเกรงท่าน แล้วเรื่องก็ยุติลงแต่เพียงแค่นั้น

บวชอุทิศ

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต รับราชการจนกระทั่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สวรรคต ท่านจึงได้บวชอุทิศถวายพระราชกุศล เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2468 ที่วัดเทพศิรินทราวาส

โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอุดมศีลคุณ และพระพุทธวิริยากร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์

ท่านได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคต ก็จะบวชถวายพระราชกุศล มีตัวอย่างมาเสมอ

แต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตเช่นกัน
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ)

เหตุที่ท่านธมฺมวิตกฺโกเลือกเอาวัดเทพศิรินทราวาส เป็นสำนักเพื่อการอุปสมบท ทั้ง ๆ ที่บ้านท่านก็อยู่ใกล้กับวัดโสมนัส เมื่อแรกเขียนหนังสือก็เรียนอยู่ในวัดโสมนัสฯ ท่านและโยมบิดา-มารดาเคยมีความสัมพันธ์กับวัดโสมนัสเป็นอันดีตลอดมา

ตลอดทั้งการที่ท่านได้เลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในการตัดสินใจ “บวชหน้าพระเพลิง” เพื่ออุทิศกุศลถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2468 (ถ้านับอย่างปัจจุบันก็จะเป็นปี พ.ศ. 2469 แล้ว) นั้น

นอกจากจะแอบสังเกตดูลายมือของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ใน สมัยนั้น เวลาที่ท่านเข้าประเคนของถวายหรือขอดูโดยตรงจากพระเถระบางองค์ตามที่โอกาสจะอำนวย จนกระทั่งมาพบลายมือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และได้ดูลักษณะทุกอย่าง จึงได้ตกลงใจเลือกเอาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ในการบวชดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว

ยังได้ทราบจากคำบอกเล่าของญาติผู้ใกล้ชิดของท่านมาอีกทางหนึ่ง เป็นข้อเท็จจริงที่แปลกออกไปจากเรื่องที่ทราบกันมาแล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่ารับฟังไว้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้บ้าง

ระหว่างที่มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 นั้น ได้มีการทำบุญถวายสลากภัตเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเป็นประจำทุก 7 วัน ในพระบรมมหาราชวัง

โดยได้กำหนดให้ข้าราชบริพารชั้นพระยาพานทองสายสะพายรับเป็นเจ้าภาพ จัดเครื่องไทยธรรมถวายพระที่ไปในโอกาสนั้นด้วยการจับสลาก

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ท่านธมฺมวิตกฺโกหรือเจ้าคุณนรรัตนฯ ในเวลานั้นบังเอิญจับสลากได้พระดี คือได้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งขณะนี้ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ เจ้าคณะรองคณะธรรมยุติกนิกาย

ก็เลยเกิดศรัทธาในรูปโฉมของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ละม้ายคล้ายพระสิริโฉมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ซึ่งท่านมีความเคารพและภักดียิ่งชีวิต

กล่าวอย่างธรรมดาสามัญก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีรูปร่างอ้วน ขาว และศีรษะล้าน ละม้ายกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก

จากรูปโฉมนี้เอง เป็นจุดแรกที่โน้มเหนี่ยวให้เกิดศรัทธา กอปรกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์นั้นมีบุคลิกและอัธยาศัยที่สุภาพ สุขุม นุ่มนวลละมุนละไม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น และได้มีโอกาสสนทนาวิสาสะด้วย

เป็นสมณะที่สงบและเคร่งครัดต่อการประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งรูปหนึ่ง และเป็นพระเถระที่มีเมตตาเป็นอย่างสูงแก่ทุก ๆ คนไม่เลือกหน้าว่าจะมั่งมี หรือยากจน จะเป็นคนชั้นสูงหรือชั้นต่ำ ฯลฯ

จากรูปโฉมและบุคลิกปฏิปทาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังกล่าวได้ทำให้เจ้าคุณนรรัตนฯ บังเกิดศรัทธาและเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นยิ่งนัก

ดังนั้นพอเสร็จกิจพิธีถวายสลากภัต เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันนั้นแล้ว ท่านก็ตามไปส่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จนถึงวัดเทพศิรินทราวาสเลยทีเดียว

และก็คงจะได้ไปมาหาสู่เป็นประจำวันแต่นั้นมา พร้อมกับได้ตัดสินใจเลือกท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยเชื่อมั่นว่าได้เลือก “พ่อ” ในเพศใหม่คือเพศบรรพชิต ที่เพียบพร้อมเหมาะสมถูกใจเป็นอย่างยิ่งจริง ๆ แล้ว

พอถึงวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 24 มีนาคม 2468 ท่านก็เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

เพื่อน้อมเกล้าฯ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น เป็นการบวชอย่างที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บวชหน้าไฟ”

พอบวชเสร็จแล้ว ค่ำวันนั้น ท่านได้ไปร่วมในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พร้อมกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์

http://www.dharma-gateway.com/mo ... -nor-hist-08-01.htm
18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทุกข์ซ้อนทุกข์


ธมฺวิตกฺโกภิกขุเมื่อบวชปีแรก

ท่านบอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะ บวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป

เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา ท่านบอกว่า ท่านได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง

สมเด็จฯ ได้สอนเรื่อง อริยสัจสี่ แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข

จนกล่าวได้ว่า ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้น

และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์แท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์

อย่างไรก็ดี ท่านก็บอกว่า ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอด ชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่าน นั้นท่านไม่ได้บวชอย่างขอไปที หรือบวชอย่างที่คนตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะลาสิกขาหรือไม่

ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวัน หนึ่ง ๆ

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์

ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวด ในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น

และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง

ท่านบอกว่า ท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ 6 ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง

จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไป ใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม อีก

ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไม่เล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น

ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจน คิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดีพนมยงค์ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา

ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน

เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยไม่รู้ว่า ต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ

การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ คิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
บ้าดี

เรื่องบวชแล้วไม่สึกของท่านธมฺมวิตกฺโกนี้ ท่านบอกว่า คนอื่นเขาหาว่าท่านบ้า

ท่านเล่าว่าพระบวชใหม่องค์หนึ่งมาบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ขณะที่มาบวชนี้มีคู่หมั้นอยู่แล้ว เมื่อบวชแล้วได้รู้จักกับท่าน ได้เล่าให้ท่านฟังว่า

ก่อนบวชคู่หมั้นได้สั่งไว้ว่า ไม่ให้มาหามาคุยกับท่านธมฺมวิตกฺโก โดยบอกว่าท่านธมฺมวิตกฺโกบ้า บวชแล้วไม่สึก คู่หมั้นของพระรูปนั้นเกรงว่า ถ้าได้รู้จักกับท่านธมฺมวิตกฺโกแล้วจะไม่สึกตามไปด้วย จึงได้ห้ามไว้เช่นนั้น

เรื่องนี้ท่านธมฺมวิตกฺโกบอกว่า คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยม ก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูดไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อย่างไรจึงบ้า อย่างไรจึงดี

ท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมานี้มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ คือการทำให้พ้นทุกข์ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่าไร้ประโยชน์ในการเกิดมา เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง

และคนที่มีความประสงค์จะพ้นทุกข์ และพยายามกระทำเพื่อให้พ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจก็ว่าบ้า เหมือนอย่างที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) บอกว่า “เมื่อขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี เมื่อขรัวโตดีก็ว่า ขรัวโตบ้า”

อสุภะ



ในกุฏิของท่านธมฺมวิตกฺโก นอกจากจะมีหีบศพแล้ว ยังมีโครงกระดูกแขวนอยู่ เป็นโครงกระดูกเต็มตัว ร้อยไว้อย่างดี ท่านเคยชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นโครงกระดูกผู้หญิง ท่านว่าเป็นคุณหญิงของท่าน

ท่านชมว่าดีแท้ ๆ ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย ไม่เคยบ่น ไม่เคยทำให้กลุ้มใจ มีแต่ให้ประโยชน์ให้สติ ให้รู้ว่า จะต้องตายเช่นนั้น วันหนึ่งก็จะเหลือแต่โครงกระดูกเช่นนี้ ได้พิจารณาทุกวัน

แล้วท่านก็บอกว่าเมื่อมีเนื้อหนังหุ้มโครงกระดูก ก็นิยมกันว่า สวย รักกันอยู่ด้วยกันด้วยความหลงแท้ ๆ หลงว่าจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ตลอด ไปไม่ได้มองลึกลงไป

ไม่ได้เห็นแก่นแท้ว่ามีแต่กระดูก ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด ทำไม่จึงยังหลงมัวเมากันอยู่ได้ แล้วท่านก็จะสรุปว่า “บ่อน้อย เท่ารอยโค หรือจะโผข้ามพ้น เป็นมหาบาเรียนยังเวียนไปหากัน”

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-4 17:33 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
กรรมดี

ใครก็ตามที่เคยพบท่านจะต้องเคยได้ยินท่านให้พรว่า “จงเลือกทำแต่กรรมที่ดี ๆ นะ” ซึ่งก็มีที่มาจากอุทานธรรมเช่นกันโดย มีบทเต็มว่า

รักษาตัวกลัวกรรมอย่าทำชั่ว

จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี

จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีดี

จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย

คำให้พรของท่านที่ว่า จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีนั้น แต่บางคนเกิดมาไม่มีโอกาสจะทำกรรมดีเลย เพราะไปเกิดในประเทศที่ไม่สมควร ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร

ท่านบอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สุดแต่บุพกรรม แต่โดยปกติแล้ว คนใจแข็งต้องเว้นจากกรรมชั่ว เลือกทำแต่กรรมดีได้

และท่านได้กรุณาบอกถึงลักษณะของคนใจแข็งว่า จะต้องประกอบด้วย

1. ไม่บ่น

2. ไม่ร้องทุกข์

3. ไม่อยากรู้ความลับของใคร

4. ไม่บอกความลับของตนแก่ใคร

5. ไม่สนใจว่าใครจะเห็นเป็นอย่างไร

6. ไม่กลัวความทุกข์ยาก

7. รู้จักเอาความทุกข์ยากมาเป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในชีวิต
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้