ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 5353
ตอบกลับ: 9
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

“ทวารบาล” ศิลปะพิทักษ์ประตูที่ถูกมองข้าม

[คัดลอกลิงก์]

ประตูเซี่ยวกางตามคตินิยมของจีนที่วัดราชประดิษฐ์ฯ


“ทวารบาล”
ศิลปะพิทักษ์ประตูที่ถูกมองข้าม


“วัด” นอกจากจะเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางใจในพระพุทธศาสนาแล้ว วัดยังเป็นแหล่งรวมงานศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลายๆ คนนอกจากจะเข้าวัดไปไหว้พระทำบุญ ฟังเทศน์ ฟังธรรมแล้ว เขาเหล่านั้นยังเข้าวัดไปเพื่อเสพงานศิลป์อีกด้วย
      
แต่กระนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะพุ่งเป้าไปที่พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง พระเจดีย์ พระพุทธรูป รวมถึงองค์ประกอบเด่นอื่นๆ ภายในวัด โดยมักจะมองข้ามด่านแรกของวัด หรือด่านแรกของพระอุโบสถและพระวิหาร ที่เรียกขานกันว่า “ทวารบาล” ไป
      
• กำเนิด “ทวารบาล” ผู้พิทักษ์รักษาประตู
      
หนังสือทวารบาลผู้รักษาศาสนสถาน ที่จัดทำเผยแพร่ขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  เขียนไว้ว่า “ทวารบาล” มาจากคำว่า “ทวาร” ที่แปลว่า “ประตู” และ “บาล” ซึ่งแปลว่า “รักษา, ปกครอง”
      
“ทวารบาล” จึงมีความหมายว่า “ผู้รักษาประตู” ซึ่งจากคำแปลก่อให้เกิดการตีความต่อประติมากรรมประเภททวารบาล ว่าคือ รูปของสัตว์ อสูร เทพ เทวดา และมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ ก็ตาม ที่ตั้งอยู่บริเวณบานประตู ช่องทางผ่านเข้าออก ช่องหน้าต่าง หรือราวบันได แต่หากประติมากรรมชนิดเดียวกันนี้ไปตั้งอยู่บริเวณอื่นที่มิใช่ประตู หรือช่องหน้าต่าง หรือทางเข้าออก ก็ไม่สามารถจะกล่าวว่าเป็นทวารบาล

   
เซี่ยวกางท่าทางขึงขังของวัดนางชีโชติการาม


สำหรับกำเนิดของการสร้างทวารบาลนั้น น่าจะเกิดมาจากความเชื่อที่ว่า “ผี” เป็นผู้กระทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหนือธรรมชาติ และได้รับการพัฒนามาเป็นความเชื่อในเรื่องของเทวดาโดยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ โดยทางศาสนาฮินดูนั้นได้ก่อเกิดเทพเจ้าต่างๆ ขึ้น
      
โดยกำหนดให้เขาไกรลาส หรือเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาล อันจะรายรอบไปด้วยป่าหิมพานต์ มีพระอิศวรเป็นใหญ่ และมีเทพชั้นรองทำหน้าที่พิทักษ์ผู้รักษาประตู หรือทางเข้าสู่เขาไกรลาสทั้งแปดทิศ ซึ่งเทพเจ้าในศาสนาฮินดูไม่จำกัดรูปร่าง จะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ ตามแต่ความเชื่อ ซึ่งสัตว์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์เรียกว่า “สัตว์หิมพานต์” ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาสที่ถือเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้า
      
จากคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตูนี้ ได้นำมาใช้กับงานประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจิตรกรรม ด้วยเหตุที่ชาวฮินดูต้องการให้มีเทพปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา เนื่องจากมนุษย์ทั่วไปไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะป้องกันภัยจากสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา ทั้งนี้ เนื่องจากศาสนสถานเหล่านั้นสร้างขึ้นตามคติว่าเป็นสถานที่อันเทพเจ้าสูงสุดประทับอยู่ จึงได้จำลองเขาไกรลาสมาไว้ยังโลกมนุษย์แล้วเกิดคติการสร้างทวารบาลขึ้นมา
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-12-10 10:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ทวารบาลแต่งกายแบบทหารที่วัดราชบพิธฯ

      
จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงทวารบาลตำนานของอินเดีย ว่า “ในยุคบรรพกาล พวกอสูรกับเทวดามักจะรบกันอยู่เสมอๆ แต่ว่าพวกอสูรจะเกรงกลัวพระอินทร์มาก เนื่องจากพระอินทร์ถือสายฟ้า (วชิราวุธ) และพระอินทร์ท่านก็เห็นว่าพวกเทวดาที่เป็นบริวารหวาดกลัวพวกอสูร จึงให้วาดรูปพระอินทร์ไว้ตามประตูสวรรค์”

“ส่วนตามคติความเชื่อของไทยเองก็ถือว่าพระอินทร์เป็นผู้รักษาพระศาสนาด้วยเช่นกัน ด้วยความคิดตรงนี้จึงเกิดมีการผสมผสานขึ้นมา เพราะคนไทยเป็นชาติที่ไม่ลอกเขา แต่เราชอบเลียนเขา คือเราไม่ได้ลอกเขามาทั้งหมด แต่เราจะดูว่าแบบของเขาเป็นอย่างไร ส่วนของเราคิดอย่างไร แล้วค่อยมาผสมกัน ก็เลยเกิดเป็นทวารบาลหลายรูปแบบขึ้นมา มีทั้งเทวดาถือพระขรรค์ เทวดาไทยผสมจีน (เซี่ยวกาง) หรือถือพวกอาวุธต่างๆ ขี่กิเลนบ้าง ขี่สิงห์บ้าง แบบแผนตรงนี้ตามศาสนสถานหลายแห่งต่างก็มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป”
      
นอกจากจะรับอิทธิพลมาจากอินเดียแล้ว ไทยเรายังรับเอาอิทธิพลของทวารบาลมาจากจีนด้วยเช่นกัน สำหรับตำนานทวารบาลของจีนนั้น สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัย “พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้” ซึ่งตามตำนานเล่าว่า ในยุคของพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ “พญาเล่อ๋อง” เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ให้ฝนแก่ชาวโลก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดเพลินให้ฝนมากเกินไป ส่งผลทำให้น้ำท่วม ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก  

   
ทวารบาลอันสวยงามที่วัดสุทัศน์ฯ


เมื่อ “เง็กเซียนฮ่องเต้” รู้เข้าก็โกรธพร้อมกับสั่งให้ “งุยเต็ง” จัดการประหารพญาเล่อ๋องเสีย ทางฝ่ายพญาเล่อ๋องก็หาทางที่จะรักษาชีวิตของตนเองไว้ โดยได้สืบทราบมาว่า งุยเต็งนั้นมีชีวิตอยู่สองภาค คือ ภาคมนุษย์ รับราชการอยู่กับพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ส่วนภาคสวรรค์ ทำหน้าที่เป็นเพชฌฆาต จึงได้ไปเข้าฝันพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ ให้ช่วยบอกกล่าวกับงุยเต็งขออย่าให้ประหารชีวิตตน ซึ่งพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ก็รับปาก โดยในคืนประหารก่อนบรรทมจึงให้งุยเต็งเข้าเฝ้า แล้วออกอุบายชวนเล่นหมากรุกกันหลายกระดานเพื่อไม่ให้งุยเต็งหลับ แต่ว่างุยเต็งก็เผลองีบหลับไป โดยช่วงที่งีบนั้นงุยเต็งได้ละเมอคำว่า “ซัว” ที่หมายถึง ฆ่า ขึ้นมาก่อนสะดุ้งตื่นมาเล่นหมากรุกต่อ
  
พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ เมื่อเห็นงุยเต็งตื่น ก็สอบถามว่าช่วงที่งีบไปละเมอเห็นอะไรบ้าง งุยเต็งก็เล่าความฝันเรื่องไปประหารพญาเล่อ๋องบนสวรรค์ให้ฟัง เมื่อพระเจ้าถังไท้จงฯ รู้เรื่องดังนั้น ก็ทรงเสียพระทัยที่ไม่สามารถทำตามที่รับปากกับพญาเล่อ๋องไว้ได้

ทางฝ่ายพญาเล่อ๋องเมื่อตายไป วิญญาณก็โกรธแค้นพระเจ้าถังไท้จงฯ อย่างมาก ในทุกๆ คืนจึงมาคอยรังควานพระเจ้าถังไท้จงฯ ในวังหลวง ทำให้พระองค์พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ แล้วเกิดประชวร บรรดาแพทย์พยายามรักษาจนสุดความสามารถก็ไม่หาย ในเวลานั้นทหารเอก 2 คนคือ “อวยซีจง” และ “ซินซกโป้” ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าถังไท้จงฯ เป็นอย่างมาก ได้รับอาสาเฝ้าพระทวารห้องบรรทมมิให้พญาเล่อ๋องมารบกวนได้ แต่นานวันเข้าทหารทั้ง 2 ก็เจ็บป่วยเสียเอง เนื่องจากตอนกลางคืนต้องยืนยาม ส่วนกลางวันก็ต้องทำงาน
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-12-10 10:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
  
ทวารบาลนางฟ้าอ่อนช้อยงดงามที่ประตูพระวิหารวัดอัปสรสวรรค์

      
พระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้ จึงออกอุบายเรียกช่างฝีมือดี มาเขียนภาพทหารทั้งสองขึ้นที่บานประตูห้องพระบรรทมบานละคน โดยให้มีขนาดใหญ่เท่าตัวจริง มือถืออาวุธ หน้าตาถมึงทึง ทำให้เหมือนกับว่าทหารทั้งสองยืนยามเฝ้าประตูอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะหลังจากนั้นวิญญาณพญาเล่อ๋องก็ไม่มารบกวนพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้อีกเลย

นับตั้งแต่นั้นมาคติความเชื่อการเขียนทวารบาลก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองจีน ก่อนจะแผ่อิทธิพลมาถึงเมืองไทยจนกลายเป็นงานศิลปะไทยที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสันนิฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว โดยตอนแรกๆ ยังคงมีอิทธิพลของจีนอยู่ สำหรับทวารบาลแบบจีนที่ไทยนำมาและนิยมกันก็คือ “เซี่ยวกาง” มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง
      
จุลภัสสร อธิบายเพิ่มเติมว่า คติของการมีเทพผู้พิทักษ์ประตูหรือการตั้งสิ่งที่ดูน่าเกรงขามน่ากลัวในการป้องกันศาสนสถานมีมาตั้งแต่โบราณแล้ว ไม่ได้มีแต่เฉพาะที่จีนหรืออินเดียเท่านั้น ทางกรีซ โรมัน ก็มีความเชื่อในเรื่องผู้พิทักษ์เช่นกัน เพราะพวกเขาต่างก็เชื่อว่าสถานที่ต่างๆ บางครั้งจะมีสิ่งที่ชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ มารบกวน ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างผู้พิทักษ์เป็นรูปปั้นบ้าง ใช้เป็นรูปสลักบ้าง หรือเป็นรูปวาดบ้าง เพื่อใช้ในการป้องกันศาสนสถานนั้นๆ

  
ประตูเซี่ยวกางที่มีปากสีดำอันโดดเด่นของวัดบวรนิเวศ
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-12-10 10:32 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• สำรวจทวารบาลน่าสนใจตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ
      
หากพูดถึงทวารบาลที่น่าสนใจในเมืองไทยแล้วก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หลายๆ วัดมีทวารบาลที่สวยงาม แปลก โดดเด่น และมีเรื่องเล่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว

วัดบวรนิเวศวิหาร วัดนี้มี “ประตูเซี่ยวกาง” ตรงประตูทางเข้าวัดด้านหน้าพระอุโบสถที่ได้รับอิทธิพลของจีนมาอย่างเด่นชัด โดยประตูเซี่ยวกางแห่งนี้เป็นรูปเทวดาผี ใช้ไม้แกะเป็นรูปเทวดา หนวดเครายาว ปิดทองเหลืองอร่าม ตนหนึ่งมือซ้ายถือสามง่าม มือขวาถือกริช เหยียบบนหลังจระเข้ อีกตนหนึ่งมือขวาถือโล่ มือซ้ายถือดาบ เหยียบบนหลังมังกร มีตำนานอยู่ในลัทธิมหายานว่าเป็นจอมแห่งเทวดาผู้พิทักษ์ประตูวัด ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตามคตินิยมแบบจีน
      
ส่วนที่แปลกและสะดุดตาของผู้คนที่เดินทางผ่านไป-มา ก็คือ บริเวณปากของเซี่ยวกางวัดบวรนิเวศวิหาร จะมีสีดำ ซึ่งแม่ค้าพวงมาลัยหน้าประตูวัดเล่าว่า สมัยก่อนยุคที่เมืองไทยยังดูดฝิ่น ได้มีชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงม พอต่อมาทางการได้ปราบทำลายโรงงานยาฝิ่นจนหมดสิ้น เมื่อแกหาฝิ่นดูดไม่ได้ สุดท้ายเลยไปลงแดงตายตรงประตูนี้  หลังจากเมื่อทางวัดมาพบจึงได้ทำพิธีกงเต๊กให้ ต่อมาชาวจีนคนนั้นได้ไปเข้าฝันสมเด็จท่านเจ้าอาวาสว่า ให้ทำที่ให้แกอยู่แล้วแกจะเฝ้าวัดให้ ทางวัดจึงได้สร้างกำแพงทำซุ้มประตูแล้วอันเชิญดวงวิญญาณชาวจีนคนนั้นมาสถิตย์อยู่ ณ ประตูแห่งนี้

  
ภาพเขียนสีทวารบาลข้างประตูพระอุโบสถวัดราชนัดดาราม
     
     
ต่อมาก็มีเรื่องเล่ากันว่าของในวัดที่เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง ล้วนได้คืนกลับมาหมดด้วยความศักดิ์สิทธิของดวงวิญญาณคนจีนที่คอยเฝ้าวัด ทำให้เกิดการสักการบูชาประตูเซี่ยวกางขึ้น ซึ่งหลายๆ คนต่างเชื่อกันว่าถ้าบนอะไรแล้วก็จะได้สิ่งนั้นตามที่ขอหมด โดยนิยมนำฝิ่นมาป้ายปาก และนำถุงโอยัวะกับพวงมาลัยมาแขวนบูชา

“ในช่วงรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3 พวกคนจีนเข้ามาในเมืองไทยเยอะเพื่อมาเป็นแรงงาน พวกนี้ส่วนมากจะสูบฝิ่นติดฝิ่น แล้วอาจจะมาขอหวยอะไรทำนองนี้ แล้วปรากฏว่าถูก คิดว่าเราเองชอบฝิ่นเจ้าก็คงชอบเหมือนกัน เลยเอาขี้ฝิ่นดิบมาป้ายปาก ปากก็เลยดำ แต่ปัจจุบันความเชื่อมันก็เริ่มกลาย กลายเป็นว่าท่านโปรดของดำหมดเลย เหมือนพระราหู พอเราผ่านไปก็เลยเห็นเป็นถุงโอเลี้ยงบ้าง ซุปไก่ดำบ้าง ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล”
      
จุลภัสสร อธิบายต่อว่า ส่วน “เซี่ยวกาง” ที่เราได้รับมาจากจีนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวัดในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะงานศิลปะจีนได้เข้ามาเมืองไทยในยุคนี้เยอะมาก บางแห่งวาดรูปเป็นทหารจีน ใส่ชุดเกราะป้องกันศัตรูป้องกันสิ่งอัปมงคล อย่างเรื่องพระเจ้าถังไท้จงฮ่องเต้


“ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่
ที่ยืนถือศาสตราวุธเฝ้าซุ้มประตู้เข้าออก บางคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ยักษ์วัดโพธิ์”


      
สำหรับเซี่ยวกางตามคตินิยมของจีนนั้น ดูได้จากประตู วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ซึ่งแม้จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น แต่ก็เป็นศิลปะที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากจีนอยู่ โดยบานประตูจะเป็นไม้สักสลักเป็นรูปเซี่ยวกางกำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต แต่ถ้าเป็นแบบจีนสวยๆ ก็ต้องที่ วัดนางชีโชติการาม ที่ตรงบานประตูพระอุโบสถแกะสลักไม้เป็นรูปเซี่ยวกางหรือทวารบาลเหยียบสิงห์อย่างสวยงาม ซึ่งเป็นฝีมือช่างชาวจีน
      
ส่วนที่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีทวารบาลที่แปลกและโดดเด่น เพราะบานประตูของวัดราชบพิธฯ จะเป็นรูปทหารต่างๆ แต่งกายไม่เหมือนกันสลักติดไว้ รูปทหารที่สลักตามประตูเหล่านี้เข้าใจว่าเป็นทหารมหาดเล็กซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่ต้นรัชกาล

จุลภัสสร แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “สำหรับที่วัดราชบพิธฯ ผมคิดว่าความคิดเรื่องทวารบาลมันเริ่มเปลี่ยน คือแทนที่จะเป็นรูปเซี่ยวกาง รูปยักษ์ แต่ทำเป็นรูปทหารฝรั่ง ทหารแต่งเครื่องแบบถือปืน ตรงนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของบ้านเมืองได้ว่า ความคิดเรื่องผู้พิทักษ์ทั้งหลายจะเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม จะเห็นว่าเดี๋ยวนี้เวลาไปไหนก็จะมี ร.ป.ภ. (พนักงานรักษาความปลอดภัย) เฝ้าประตู ก็คงลักษณะคล้ายๆ ร.ป.ภ. นี่แหละ”

5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-12-10 10:34 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ยักษ์วัดอรุณฯ ที่ด้านหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ
อีกหนึ่งรูปแบบอันโดดเด่นของทวารบาล


      
หันมาดูทวารบาลแบบไทยๆ กันบ้าง ประธานชมรมสยามทัศน์ กล่าวว่า ทวารบาลแบบไทยจะมีหลายรูปแบบ ทั้งเทวดาขี่พระขรรค์ หรือบางแห่งที่เคยเห็นเขาทำเป็นรูปจักรก็มี เป็นรูประหว่างเทวดากับอสูร หรือลิงกับยักษ์ก็มี หรือเป็นรูปเทพเจ้าก็มี อย่างเช่นที่บานประตูพระวิหารคดของ วัดสุทัศนเทพวราราม ทั้งพระวิหารหลวงทั้งพระอุโบสถจะมีรูปเทพผู้พิทักษ์ หรือที่ วัดอัปสรสวรรค์ จะมีทวารบาลลงรักปิดทองเป็นรูปนางฟ้ากำลังเพลิดเพลินอยู่ในสระบัว ดูอ่อนช้อยงดงามสมกับชื่อวัดอัปสรสวรรค์ ส่วนที่ วัดราชนัดดาราม นี่ก็มีทวารบาลที่ค่อนข้างแปลก คือจะไม่อยู่บนประตูแต่จะเป็นภาพเขียนสีอยู่ที่ข้างประตูพระอุโบสถแทน
      
ในขณะที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ก็จะมีทั้งภาพทวารบาลที่เป็นชาวต่างชาติ หรือเป็นรูปตุ๊กตาฝรั่งถือกระบอง หรือจะเป็นยักษ์วัดแจ้งอันโด่งดังที่ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) ก็เป็นทวารบาลอีกแบบหนึ่งที่พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ส่วนที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) นั้นก็มีทวารบาลสวยๆ งามๆ อยู่มากมายหลายแบบ
      
นอกเหนือจากทวารบาลที่กล่าวมาแล้ว ตามวัดต่างๆ ทั่วไทยยังมีทวารบาลให้ชมอีกมากมาย ที่นอกจากจะมุ่งเน้นความเชื่อเรื่องเทพผู้รักษาประตูแล้ว ทวารบาลบางวัดยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของสังคมนั้นได้เป็นอย่างดี แต่ว่าส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าวัดมักจะมองข้ามความงามแห่งศิลปะของผู้พิทักษ์ประตูไปเสียเป็นส่วนใหญ่


ยักษ์ทศกัณฐ์-ยักษ์สหัสเดชะ คู่ยักษ์ทวารบาลวัดพระแก้ว


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 สิงหาคม 2549 16:02 น.                                                                                        
.........................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19804

ขอบคุณครับ
ขอบคุณครับ
ชอบครับ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย morntanti เมื่อ 2015-2-2 01:03

เห็นแล้วนึกถึงหนังเรื่องหนึ่งขึ้นมาเลย ....ใครเคยดูยกมือหน่อย ยักษ์วัดแจ้งพบยักษ์วัดโพธิ์ น่าจะเรื่องท่าเตียน ...


แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย wind เมื่อ 2015-2-2 08:37

ต้นเรื่องคือท่าเตียน  เอาเนื้อเรื่องอุทัยเทวีมาผูกกับตำนานท่าเตียนนางเอกเป็นระดับ นางสาวไทยในยุคนั้น  ในปีต่อมาก็เอาจัมโบ้เอมาแจมด้วย. ไอเดียกระฉูดมากครับดูแล้วดูอีกไม่เบื่อเลยสนุกมากๆ. "นั้นแหละน้องเอย ตั้งแต่นั้นมา ตรงนั้นแหละหว่าเรียกว่าท่าเตียน"
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้