ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4713
ตอบกลับ: 24
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๑๓ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)  
พุทธศักราช ๒๔๘๘-๒๕๐๑


วัดบวรนิเวศวิหาร
แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ


•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        เมื่อทรงพระเยาว์
•        ทรงบรรพชา
•        ทรงอุปสมบท
•        การศึกษาพิเศษ
•        พระภารกิจในการคณะสงฆ์
•        พระภารกิจทางการศึกษา
•        พระภารกิจในการคณะธรรมยุต
•        พระภารกิจด้านมหามกุฏราชวิทยาลัย
o        ในด้านการเผยแผ่
o        ในด้านต่างประเทศ
•        พระภารกิจด้านการวัด
o        ฝ่ายการศึกษาอบรม
o        การก่อสร้างภายในวัดในสมัยที่ทรงครองวัด
o        การก่อสร้างอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์
o        การอุปการะศิษย์วัด
o        ปกิณกะ
•        พระกรณียกิจพิเศษ
•        การหนังสือและผลงานพระนิพนธ์
•        การเลื่อนสมณศักดิ์
o        ในรัชกาลที่ ๕
o        ในรัชกาลที่ ๖
o        ในรัชกาลที่ ๗
o        ในรัชกาลที่ ๘
•        การสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
•        ประชวรใหญ่ครั้งแรก
•        ประชวรใหญ่ครั้งที่ ๒
•        พระราชอุปัธยาจารย์
•        การทรงกรม
•        อภิธชมหารัฏฐคุรุ
•        พระกรณียกิจพิเศษในรัชกาลปัจจุบัน
•        ประชวรครั้งอวสาน
•        การพระราชทานพัดรัตนาภรณ์ ชั้น ๑
•        พระอวสานกาล
•        การพระศพ
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 08:26 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
มีพระนามเดิมว่า “หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์” พระนามฉายาว่า “สุจิตฺโต”
เป็นพระโอรสใน หม่อมเจ้าถนอม และหม่อมเอม นภวงศ์
ประสูติเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช  ๒๔๑๕ ตรงกับวันศุกร์
แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๓๔ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา

จึงทรงเป็นพระราชปนัดดาในรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฏพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้ทรงเนื่องในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราชด้วย
เพราะกรมหมื่นมเหศวรวิลาสและพระอนุชา คือ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร

(พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ วรฤทธิราชมหามกุฏ บุรุษยรัตนราชวโรรส)
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นธิดาของพระอินทรอไภย (เจ้าฟ้าทัศไภย)
โอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช


(ราชพัสดุของสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีมหาราช
บางอย่างที่ทรงได้รับสืบต่อมา เช่น พระแท่นหินอ่อนยังอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร)


ส่วนหม่อมเอมเป็นธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย)
ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)
บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (พญาเจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี

หม่อมเจ้าถนอม ทรงมีโอรสธิดากับหม่อมเอม คือ

๑.        ม.ร.ว.ชุบ (พระยานครภักดีศรีนครนุรักษ์)
๒.        ม.ร.ว.ชื่น (สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ)
๓.        ม.ร.ว.เณร
๔.        ม.ร.ว.หญิงหนู
๕.        ม.ร.ว.กมล (พระยาวิเศษภักดี)
๖.        ม.ร.ว.ถกล (หลวงประสานคดี)
๗.        ม.ร.ว.หญิงรอด

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ประสูติที่ตำหนักท่านบิดา
ซึ่งอยู่ในวังพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นมเหศวรศิวิลาส
(คือบริเวณตลาดนานา บางลำภู พระนคร ในเวลานี้)


เมื่อทรงพระเยาว์

เมื่อทรงพระเยาว์ก่อนบรรพชา ได้ทรงศึกษาอักขรสมัยที่วังพระบิดา  
ครูผู้สอนที่เคยรับสั่งเล่าชื่อครูชม (ส่วนพระยาวิเศษภักดีเล่าว่า ครูผู้สอนชื่อจำเริญ
เป็นการสมัครเรียนเอง และครูก็ได้สมัครสอนให้  
มิได้มีการบังคับให้เรียนหรือให้สอนจนอ่านหนังสืออก)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔) พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีได้ทรงเล่าพระประวัติตอนนี้
ตามที่พระสนตยากโร  (พลตรีพระยาเสนาสงคราม ม.ร.ว.อี๋ นภวงศ์) บันทึกมาว่า  

เมื่อมีพระชนมายุพอจะเป็นมหาดเล็กได้   ก็ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กราชวัลลภ  
ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ สยามกุฏราชกุมาร
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  
ได้เป็น “คะเด็ด” ทหารม้า  ในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ
มีหน้าที่ตามเสด็จรักษาพระองค์  ทำนององครักษ์  

เวลาอยู่ประจำการตามหน้าที่ ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน  ได้พำนักอยู่
ณ ตำหนัก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔)  พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสดิ  
ซึ่งทรงเป็นผู้อุปการะและอบรมสั่งสอน  

(ส่วนพระยาวิเศษภักดีเล่าว่า  ทรงอยู่ที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๔)
พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา   กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ)  
ซึ่งเป็นพระเชษฐภคนี ร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน  (เจ้าจอมมารดาเที่ยง)  
กับพระเจ้าบรมวงษ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวสดิ)
จึงทรงได้รับการศึกษาอบรมจากราชสำนักฝ่ายในมาแต่ทรงพระเยาว์


พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงบรรพชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 08:27 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทรงบรรพชา

เมื่อมีพระชนมายุเจริญขึ้นแล้ว ได้ทรงออกจากวังและได้บรรพชาเป็นสามเณร
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาส
เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ในขณะที่ทรงบรรพชาเป็นสามเณรนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ยังทรงพระชนม์อยู่

แต่ปรากฏในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า
ในระยะหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ไม่ค่อยได้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แม้ในวัดนี้ก็ไม่ทรงรับเป็นพระอุปัชฌาย์
แต่ก็ทรงโปรดฯ ให้บวชอยู่ในวัดได้ต้องถือพระอุปัชฌาย์อื่น

ในระหว่างที่ทรงเป็นสามเณร ได้ตามเสด็จ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ไปประทับอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
ซึ่งในขณะนั้น ม.ร.ว.ชุบ นภวงศ์ (พระยานครภักดีศรีนครนุรักษ์)
ผู้เป็นพี่ชายได้อุปสมบทอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม

และต่อมาได้ตามเสด็จ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
กลับมาประทับยังวัดบวรนิเวศวิหาร

ในปลายสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
และทรงศึกษาจากพระอาจารย์อื่นบ้าง เช่น หม่อมเจ้าพระปภากร,
พระสุทธสีลสังวร (สาย) ได้ทรงเข้าสอบไล่ครั้งแรกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ สอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค เมื่อยังทรงเป็นสามเณร


พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
พระอุปัชฌาย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 08:28 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทรงอุปสมบท

ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
โดยมี พระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๕  มีพระนามฉายาว่า “สุจิตฺโต”

การอุปสมบทในครั้งนี้ และทั้งการบรรพชาในครั้งก่อน
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ได้ทรงจัดพระราชทาน  และได้พระราชทานพระอุปถัมภ์ตลอดมา  

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น  ได้ทรงครองวัดนี้ต่อมา  
และได้ทรงจัดการวางระเบียบการปกครองวัดขึ้นใหม่หลายอย่าง  
ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร”
(พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  พิมพ์เมื่อปี พ.ศ ๒๔๖๕  
โดยพระบรมราชโองการในงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ)

ในปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
ได้ทรงจัดตั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖
เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง และเป็นที่ประชุมแปลสอบไล่
เรียกว่าเป็นส่วนวิทยาลัยแผนกหนึ่งจัดโรงเรียนขึ้นตามพระอาราม
เป็นสาขาของวิทยาลัยอีกแผนกหนึ่ง

ฉะนั้น การสอบไล่พระปริยัติธรรมจึงสอบได้ ๒ แห่ง คือ สนามหลวงแห่ง ๑
สนามมหามกุฏราชวิทยาลัยแห่ง ๑ (ต่อมาทรงเลิกสนามมหามกุฏฯ)

เปรียญผู้สอบได้ ทรงตั้งให้เป็นเปรียญหลวงเหมือนกัน
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (เวลานั้นทรงเป็น ม.ร.ว.พระชื่น เปรียญ)
ได้ทรงเป็นครูรุ่นแรกของ โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งเป็นสาขาที่ ๑ ของวิทยาลัย ที่เปิดพร้อมกันทุกโรงเรียน
และพร้อมกับเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้เคยรับสั่งเล่าว่า
มีพระประสงค์จะสอบไล่เพียง ๕ ประโยคเท่านั้น จะไม่ทรงสอบต่อ
ทรงตามอย่างสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งทรงสอบเพียงเท่านั้น
เพื่อมิให้เกินสมเด็จพระบรมชนกนาถ

แต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สอบต่อไป
และทรงคัดเลือกส่งเข้าสอบสนามหลวง


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระกรรมวาจาจารย์ในคราวทรงอุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕



หลังจากที่ทรงอุปสมบทแล้ว จึงทรงสอบต่อได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗  กิจที่ทรงปฏิบัติ ร.ศ. ๑๑๔ ในระหว่างนี้
เป็นไปดังที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ในพระรูปที่ประทานในโอกาสพิเศษครั้งหนึ่งว่า

“ให้สุจิตต์ไว้เป็นที่ระลึก ในการที่ได้ช่วยเอาภารธุระ
เป็นครูสอนภิกษุสามเณรในโรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร  
ซึ่งนับว่าเป็นการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
แลเป็นการช่วยในตัวเราผู้เป็นอาจารย์ของตัวเธอด้วย”  


ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๒ เมษายน ร.ศ. ๑๑๔
ซึ่งเป็นวันเกิดที่ครบ ๓๕  รอบบริบูรณ์ของเรา

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส


อนึ่ง เมื่อทรงอุปสมบทได้ ๓ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 08:29 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสุคุณคณาภรณ์


การศึกษาพิเศษ

ในส่วนการศึกษาพิเศษ ตามที่เคยมีรับสั่งเล่า
ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากครูฝรั่ง ชื่อ วิลส์
ซึ่งมาเป็นครูสอนที่วัดบวรนิเวศวิหาร  เมื่อทรงมีพรรษา ๖ หรือ ๗  
และโดยปกติโปรดอ่านหนังสือต่างๆ  มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์  
ทั้งที่เป็นร้อยแก้วทั้งที่เป็นร้อยกรอง  

ในระหว่างเวลานั้น  
เป็นสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เกิดความเจริญขึ้นโดยทั่วไป
ในฝ่ายอาณาจักรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
ในทรงจัดระบอบการปกครองการศึกษาเป็นต้น

ในฝ่ายศาสนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเริ่มจัดการพระศาสนา  
ทั้งการศึกษาทั้งการปกครอง ทั้งการอื่นๆ ดังที่ปรากฏผลอยู่ในปัจจุบันนี้

ในเบื้องต้น เมื่อยังไม่ทรงมีอำนาจที่จะจัดในส่วนรวม
ก็ได้ทรงจัดในส่วนเฉพาะคือได้ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ดังกล่าวแล้ว  

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เคยมีรับสั่งเล่า มีผู้บันทึกไว้ว่า

“โรงเรียนมหามกุฏใช้หอสหจร และพระตำหนักทรงพรตชั้นล่างเรียนหนังสือไทย   
ชั้นบนเรียนภาษาบาลี  นักเรียนหนังสือไทยเมือมีมาก  ขยายไปใช้ศาลาฤาษี ๔
ศาลาไม่เก็บค่าเล่าเรียน สอนให้เปล่า  นักเรียนสอบได้แล้วออกไปรับราชการมีมาก  
สมเด็จพระพุทธเจ้หลวงเคยเสด็จทอดพระเนตรโรงเรียนของมหามกุฏ
มีพระราชดำรัสชม  ตรงกันข้ามกับคำพูดที่กล่าวกันว่า  

พระมี ๓ คือ พระเรียนคันถธุระ  พระเล่าสวดมนต์ พระเรียนวิปัสสนาธุระ  
พระเรียนคันถธุระเป็นเลซี พระเล่าสวดมนต์เป็นเลซีเออร์
พระเรียนวิปัสสนาธุระเป็นเลซีเอสต์”


สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเริ่มจัดปรับปรุงพระให้บำเพ็ญประโยชน์
ทั้งแก่พระศาสนา  ทั้งแก่ชาติบ้านเมือง  ดังที่เป็นที่ประจักษ์แก่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงมีส่วนร่วมกับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
มาตั้งแต่ต้นในการงานหลายอย่าง อาทิ ได้ทรงรับเลือกเข้าเถรสมาคม
และมีพระภารกิจในการคณะสงฆ์อีกหลายประการ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)

6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 08:30 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระภารกิจในการคณะสงฆ์

o ผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี

ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีพระราชประสงค์บำรุงการศึกษามณฑลหัวเมือง
ทรงอาราธนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้บังคับพระอารามในหัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนการพระศาสนา และการศึกษา
ได้ทั้งในมณฑลกรุงเทพฯ ทั้งในมณฑลหัวเมือง ตลอดพระราชอาณาจักร

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
เป็นเจ้าหน้าที่จัดการอนุกูลในกิจที่ฝ่ายฆราวาสจะพึงทำ
มีจัดการพิมพ์แบบเรียนต่างๆ ที่จะพระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ไปฝึกสอน เป็นต้น

ตลอดจนการที่จะเบิกพระราชทรัพย์จากพระคลังไปจ่าย
ในการที่จะจัดตามพระราชประสงค์นี้
และโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนพุทธศาสนิกชนในหัวเมืองทั้งปวง
มารวมขึ้นอยู่ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เพื่อจะได้เป็นหมวดเดียวกัน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสุคุณคณาภรณ์
ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรีในศกนั้น   

ได้เคยรับสั่งเล่าตามที่มีผู้บันทึกไว้ว่า

“พระที่ไปอำนวยการศึกษามณฑลหัวเมืองมักไปเป็นครั้งคราว
ปีหนึ่งไม่เกิน ๔ เดือน การที่ให้พระช่วย คิดว่าให้เปลืองน้อย  

อีกอย่างหนึ่ง โรงเรียนต้องเลือกตั้งในวัดที่สมควร
เมื่อให้พระออกไปจัด เข้ากับพระด้วยกันได้
และไปหนุนเจ้าคณะเจ้าอาวาสให้ตั้งโรงเรียน เจ้าวัดต้องหาเลี้ยงนักเรียนด้วย  
เด็กเดินมาเรียนก็มี เป็นเด็กวัดก็มี ทางรัฐบาลเสียค่าเงินเดือนครูบ้างก็ไม่เป็นไร  
ผู้อำนวยการศึกษาต้องหาของไปรางวัลผู้จัดการศึกษาแต่ละแห่ง
เช่น นาฬิกา โคมลาน เป็นต้น ครั้งนั้นยังไม่มีเจ้าคณะมณฑล มีแต่เจ้าคณะเมือง  

เมื่อผู้อำนวยการศึกษาไปตรวจ เห็นอะไรสมควรจะจัด
เกี่ยวแก่การคณะและการพระศาสนา (ที่นอกจากการศึกษา) ก็แนะนำให้จัดการเอาเอง  
เมื่อกลับจากการตรวจ ก็ทำรายงานเสนอสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ  
เพื่อทรงพิจารณาร่วมกับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แล้วถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง”


o เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี


ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕)
อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดการพระศาสนา และการศึกษาในหัวเมือง
พระองค์ก็ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีในศกนั้น
ได้ทรงออกไปตรวจการในศกนั้น จะไปเมืองปัจจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง)  
ด้วยเรือในหน้ามรสุม กำหนดการไปมาหาแน่นอนมิได้  
จึงทูลลาเพื่อที่จะทรงจำพรรษาในเมืองที่ไปถึง  
แต่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต


พระภารกิจทางการศึกษา

ส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งแผนกธรรมและบาลี
ในสมัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ได้ทรงเลือกพระเถระให้เป็นแม่กองสอบไล่ธรรม และบาลี
ตามวาระ ทั้งในมณฑลกรุงเทพฯ และมณฑลหัวเมือง
ก็ได้ทรงรับเลือกให้เป็นแม่กองสอบไล่พระปริยัติธรรมหลายคราว

เช่น ได้ทรงเป็นแม่กองสอบไล่มณฑลปัตตานี และมณฑลอยุธยา
ทั้งระหว่างที่ทรงเป็นเจ้าคณะมณฑลนั้น
และทรงได้รับเลือกเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
แม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗


สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เมื่อพระชนมายุ ๓๙ พรรษา

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 08:31 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระภารกิจในการคณะธรรมยุต

เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
ทรงมีพระชราพาธเบียดเบียน ไม่เป็นการสะดวกที่จะทรงปฏิบัติพระภารกิจ
ในฐานะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ทรงมอบหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ให้ทรงบัญชาการแทน ด้วยลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๗

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๐
จึงได้ทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกา ตามแบบปกครองในคณะธรรมยุตสืบมา

เมื่อทรงรับหน้าที่ปกครองคณะธรรมยุตแล้ว
ได้ทรงจัดการปกครองคณะธรรมยุต ที่สำคัญหลายประการ คือ

๑.  วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๗๗ ประกาศใช้ระเบียบการชั่วคราวของคณะธรรมยุต
ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต
โดยมีหลักการให้คณะกรรมการมหามกุฏฯ เลือกคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง
มีจำนวนไม่เกิน ๙ ประกอบด้วย ประธาน ๑ รองประธาน ๑ กรรมการ ๖ และเลขาธิการ ๑
เพื่อทรงตั้งเป็นกรรมการคณะธรรมยุต มีหน้าที่สอดส่อง แนะนำ
ชี้แจงแสดงความเห็น วางระเบียบแบบแผน ปรับปรุงกติกาอาณัติเป็นต้น
สำหรับคณะธรรมยุตทั่วไปให้ถือวันวิสาขบูชาเป็นวันแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑ ปี

๒. วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๑ เถรสมาคมคณะธรรมยุต
มีมติให้เพิ่มจำนวนกรรมการคณะธรรมยุต ๑๐ รูป ๕ รูป
จากสังฆมนตรีธรรมยุต อีก ๕ รูป จากเถรสมาคมคณะธรรมยุต
ตามลำดับคะแนนที่ได้รับเลือก และให้กรรมการเถรสมาคมธรรมยุตเป็นผู้เลือก

๓. วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๔๘๑ เพื่ออนุวัตรตามสมเด็จพระมหาสมณนิยม
จึงวางระเบียบกำหนดให้พระราชาคณะตั้งแต่ชั้นราชขึ้นไปอยู่ที่ในพระนคร-ธนบุรี
ดำรงตำแหน่งกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุตประเภทประจำ
มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา แสดงความเห็นการคณะทั่วๆ ไป
ในการนี้ถ้าเป็นการสมควรก็ทรงแต่งตั้งพระเถระที่เป็นพระราชาคณะสามัญ
เป็นกรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต ประเภทชั่วคราวก็ได้

๔. กำหนดความนิยม ให้เจ้าอาวาสพระครูสัญญาบัตร
และพระราชาคณะขึ้นไปในพระนคร-ธนบุรี ที่จะเดินทางไปพักแรมคืนต่างจังหวัด
แจ้งการเดินทางไปนั้นให้เจ้าคณะใหญ่ทราบ

๕. กำหนดความนิยม ให้วัดที่มีภิกษุสามเณรมาก
ควรตั้งพระเถระในวัดนั้นๆ จำนวนตามแต่จะเห็นสมควร เป็นกรรมการวัด
มีหน้าที่ช่วยให้ความคิดเห็น เป็นที่ปรึกษาของเจ้าอาวาส

๖. วางระเบียบกำหนด ให้สามเณรต่อศีล ในวันขึ้นและแรม ๑๔ ค่ำของทุกเดือน

๗. ส่งพระเถระกรรมการคณะธรรมยุตออกไปตรวจการคณะสงฆ์
ในส่วนภูมิภาคจังหวัดต่างๆ ทางภาคพายัพ ภาคอิสาน และภาคใต้ ตามแต่กรณี

๘. ส่งนักเรียนปกครองและนักเรียนครูของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่ได้รับการอบรมแล้ว
ไปยังวัดที่ส่งเข้ามาบ้าง ส่งไปยังสำนักที่ต้องการขอมาบ้าง ปีละหลายรูป

๙. ส่งพระผู้สมควรไปกำกับการวัดต่างๆ ในคณะธรรมยุต
เพื่อความเหมาะสมในขณะนั้น มีวัดศรีสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี
วัดมัชฌินติการาม บางเขน พระนคร วัดตรีทศเทพ พระนคร
วัดหนองดู่ จังหวัดลำพูน วัดศรีมุงเมือง จังหวัดเชียงใหม่
วัดเกตการาม จังหวัดสมุทรสงคราม วัดจันทนาราม จังหวัดจันทบุรี วัดธาตุทอง พระนคร

๑๐. เปิดการประชุมคณะธรรมยุตจังหวัด
ให้เจ้าอาวาสวัดธรรมยุตมาประชุมที่วัดเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดเดือนละครั้ง
เพื่อพบปะปรึกษาหารือในข้อพระธรรมวินัย ปรับปรุงวัดและการปกครองเป็นต้น
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีการเปิดประชุมคณะธรรมยุต จังหวัดสมุทรสงคราม
จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดกาญจนบุรี

๑๑. ต่อมาเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
การปกครองในคณะธรรมยุตก็คงเป็นไปตามเดิม

อนึ่ง เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
ถึงมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔
ได้ทรงรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ไปก่อน

ทรงมอบให้กรรมการวัดปฏิบัติกิจการของวัด อย่างที่เคยปฏิบัติ
(ทรงตั้งเจ้าอาวาสใน พ.ศ. ๒๔๙๗)

ต่อมา เมื่อสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  
ได้มีพระบัญชาเรียกประชุมพระเถระทั้ง ๒ ฝ่าย
มาพิจารณาตกลงกันที่พระตำหนักเพชร เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฏคม พ.ศ. ๒๔๙๔
พระเถระทั้ง ๒ ฝ่ายได้ตกลงกัน ดังนี้

๑. การปกครองส่วนกลาง คณะสังฆมนตรีคงบริหารร่วมกัน
แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย

๒. การปกครองส่วนภูมิภาค ให้แยกตามนิกาย

๓. ส่วนระเบียบปลีกย่อยอื่นๆ จะได้ปรึกษาในภายหลัง   
ได้ทรงสั่งให้พระธรรมยุตเจ้าคณะชั้นต่างๆ เป็นต้น ปฏิบัติตามข้อตกลงนี้

(๓.๑) พ.ศ. ๒๔๙๕ ประชุมพระคณาธิการส่วนภูมิภาค
คือ เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดและผู้ช่วย
เจ้าคณะธรรมยุตอำเภอทั่วพระราชอาณาจักร ณ พระตำหนักเพชร

(๓.๒) กำหนดนโยบายบริหารคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๘

(๓.๓) ประกาศใช้ประมวลระเบียบบริหารวัดธรรมยุต พุทธศักราช ๒๕๐๐
เพื่อให้วัดธรรมยุตทั่วไป มีการบริหารเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๑

(๓.๔) จำนวนวัดธรรมยุต พ.ศ. ๒๔๘๒ มี ๓๒๐ วัด พ.ศ. ๒๕๐๑ มี ๘๓๔ วัด

(๓.๕) ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมยุตต่างประเทศ ได้รับพระภิกษุสามเณรธรรมยุต
จากประเทศเขมรให้อยู่ศึกษาอบรมสืบเนื่องมา ในสมัยที่รัฐบาลไทยให้ความอุดหนุน  
ด้วยให้ทุนการศึกษาแก้พระภิกษุสามเณรชาวต่างประเทศใกล้เคียง
เพื่อเข้ามาศึกษาอบรมในประเทศไทยจนสำเร็จ รูปละ ๘ ปี
คณะธรรมยุตได้รับพระภิกษุสามเณรชาวกัมพุชไว้ที่วัดบวรนิเวศฯ ถึง ๘ รูป

8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 10:53 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ทรงฉายร่วมกับพระเถระกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยยุคแรก


พระภารกิจด้านมหามกุฏราชวิทยาลัย

ในทางมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
ก็ได้ทรงมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กล่าวคือ
ได้ทรงเป็นกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอาราธนาบัตรทรงตั้งมา
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ ขณะทรงเป็น หม่อมราชวงศ์พระชื่น เปรียญ พรรษา ๒

ต่อมาได้ทรงเป็น อุปนายกกรรมการ
ในสมัยที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  ทรงเป็นนายกกรรมการ

พ.ศ. ๒๔๗๖ ทรงได้รับมอบหน้าที่การงานในตำแหน่ง นายกกรรมการ
จาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ)
(ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖)
เมื่อ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ) สิ้นพระชนม์แล้ว
ทรงได้รับเลือกเป็นนายกกรรมการตลอดมา

ในสมัยที่ทรงเป็นนายกกรรมการ ได้ทรงฟื้นฟู
และปรับปรุงกิจการของมหามกุฏฯ หลายประการเป็นต้นว่า

o ในด้านการบริหาร

ได้จัดตั้งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบรรพชิตเป็นผู้ปฏิบัติงานอำนวยการต่างๆ
เกี่ยวแก่ธุรการทั่วไปบ้าง เผยแผ่ปริยัติธรรมบ้าง ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
ปรับปรุงเจ้าหน้าที่ฝ่ายคฤหัสถ์ วางระเบียบต่างๆ ให้เหมาะสมและตราสารมูลนิธิ
ซึ่งได้จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖

ในสมัย สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ) ทรงเป็นนายกกรรมการ
ได้จดทะเบียนแก้ไขอีกหลายคราว

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้บัญญัติประมวลระเบียบบริหารมูลนิธิ ตามความในตราสาร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้ทรงแสดงพระประสงค์ให้คฤหัสถ์เป็นผู้จัดการ
ในเรื่องทรัพย์สินของมูลนิธิ ให้พระเป็นแต่ผู้ควบคุมเท่านั้น ตามควรแก่กรณี  

แต่จะแบ่งแยกกันโดยเด็ดขาด  จำต้องได้ผู้จัดการที่สามารถเป็นที่ไว้วางใจได้จริง
จึงจักไม่เกิดเรื่องยุ่งยากทางการเงิน  
เมื่อ หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ทรงเข้ามาช่วยเป็นผู้จัดการ
จึงมีการแก้และบัญญัติประมวลระเบียบบริหารฯ ดังกล่าวนั้น

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๐  ได้บัญญัติ
ข้อบังคับการรักษาทุนและสินกุศลและระเบียบบริหาร พ.ศ. ๒๕๐๐  

นอกจากนี้ได้วางระเบียบอื่นๆ ขึ้นบ้าง ยกเลิก แก้ไข เปลี่ยนแปลงระเบียบเก่าบ้าง
ให้เหมาะสมแก่การงานที่ก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ

o ในด้านการบำรุงและอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม

ได้วางระเบียบบำรุงการศึกษา อบรม แก่สำนักเรียนต่างๆ
รับอบรมนักเรียน ครู นักเรียนปกครอง ที่ส่งเข้ามาจากจังหวัดนั้นๆ

ส่งครูออกไปสอนในสำนักเรียนที่ขาดครูบ้าง บำรุงสำนักเรียนต่างๆ
ด้วยทุนและหนังสือตามสมควร กำหนดให้มีรางวัล
เป็นการส่งเสริมสำนักเรียนที่จัดการศึกษาได้ผลดี

จัดตั้งหอสมุดมหามกุฏฯ
(ตามคำสั่ง วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘)

ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏฯ เป็นรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา
(ตามคำสั่ง วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘)

ทำการเปิดเรียนเป็นปฐม เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 10:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้



o ในด้านการเผยแผ่

ฟื้นฟูการออกหนังสือ นิตยสารธรรมจักษุรายเดือน
ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏฯ
ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ จัดพิมพ์คัมภีร์พระธรรมเทศนา
โดยใช้กระดาษแทนใบลานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ บัดนี้เรียกว่า “มหามกุฏเทศนา”
จัดส่งพระไปทำการเผยแผ่ในส่วนภูมิภาคตามโอกาส

o ในด้านต่างประเทศ

ได้จัดส่งพระไปจำพรรษาที่ปีนัง ในความอุปถัมภ์ของ ญาโณทัย พุทธศาสนิกสมาคม
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๒ ได้ส่งพระไปร่วมสมโภชฉลองพระบรมสารีริกธาตุ
พระธาตุของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคัลลานุเถระ ตามคำเชิญของเขมร
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ให้อุปการะส่วนหนึ่งแก่พระที่เดินทรงไปสังเกตการพระศาสนา
และการศึกษาในประเทศอินเดีย และลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘


พระรูปทรงฉายร่วมกับพระนวกะวัดบวรนิเวศวิหาร หน้าพระอุโบสถ


พระภารกิจด้านการวัด

ในสมัย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ได้โปรดให้ทรงช่วยในการปกครองวัดมาโดยลำดับ  
รับสั่งเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวช
ในขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ โปรดให้ทรงเป็นพี่เลี้ยงกับพระราชมุนี (ชม)
เพราะทรงผนวชกว่า ๓ เดือน  ในตอนหลังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
เมื่อเสด็จหัวเมืองทุกครั้ง  ตลอดจนถึงเสด็จไปประทับพักรักษาพระองค์ในครั้งที่สุด
ที่จังหวัดสงชลา  ก็ได้โปรดให้ทรงรักษาการวัด  
และโปรดให้เป็นพระอุปัชฌาย์แทนพระองค์  เมื่อประชวรมากขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓

และได้ทรงตั้งให้เป็นกรรมการรับมอบสมณบริกขารส่วนพระองค์
(ใบทรงตั้งลงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓)

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าสิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔  
ได้ทรงครองวัดต่อมานับเป็นปีที่ ๔
(เคยรับสั่งว่าไม่มีใครตั้งพระองค์ท่านเป็นเจ้าอาวาส รัชกาลที่  ๖ ก็มิได้ทรงตั้ง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ (วัดราชบพิธ) ก็ไม่ได้ทรงตั้ง


การปกครองวัดได้ทรงปฏิบัติตามแบบที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงวางไว้เป็นส่วนใหญ่  
มีพระกรรมการวัดเป็นผู้ช่วยพิจารณา   
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-8-30 10:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
o ฝ่ายการศึกษาอบรม

ได้มีเปรียญและนักธรรมเพิ่มพูนมากขึ้น
การอบรมสั่งสอนนวกะภิกษุนั้น  
ได้ตั้งพระหฤทัยประทานพระโอวาทอบรมด้วยพระองค์เอง
โดยมากเคยมีรับสั่งว่า  เป็นอุปัชฌาย์พระบวชใหม่แล้วมิได้สอนเอง  
ก็เหมือนมารดามีบุตรแล้วไม่ได้เลี้ยงด้วยขีโรทกของตน  

ในตอนหลังได้มีพระใหม่เพิ่มมากขึ้น  
จนต้องจำกัดจำนวน  เพราะเสนาสนะไม่เพียงพอ  
ในวันธรรมะสวนะ ทรงแสดงธรรมกัณฑ์อุโบสถเวลาเช้าเสมอ
(เทศน์ต่างๆ ที่รวมพิมพ์เป็นเล่ม  
บันทึกจากแสดงที่ทรงเป็นมุขปาฐะในวันธรรมสวนะโดยมาก)



ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน


o การก่อสร้างภายในวัดในสมัยที่ทรงครองวัด

ได้มีขึ้นเป็นอันมาก ที่เป็นอาคารใหญ่ก็คือ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน  
ตึกสภาการศึกษา ขนาดย่อมลงมาก็มี ตึกลออโรงเรียนสามัคคีธรรมทาน  
ตึกคอยท่า และกุฏีต่างๆ อีกจำนวนมากหลัง  

o การก่อสร้างอันเกี่ยวเนื่องกับพระองค์

ได้แก่ โรงเรียนสามัคคีธรรมทาน สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗
ด้วยทุนที่เหลือจากการบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุ ๕ รอบ ๖๐ ปี  บริบูรณ์

ตึกอุทิศนพวงศ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ด้วยทุนไวยาวัจกรส่วนพระองค์

ส่วนที่ทรงสร้างในส่วนธรณีสงฆ์ของวัดคือ ทำถนนหลังวัดและสร้างห้องแถว ๖ ห้อง
ที่หลังวัด  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ด้วยทุนที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  
ทรงปวารณาเก็บไว้ที่พระคลังข้างที่  โปรดฯ ให้ไวยาวัจกรวัดเบิกมาทำ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้