ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7453
ตอบกลับ: 22
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ


วัดอรัญญบรรพต
ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย



๏ ก่อนบวช

หลวงปู่ได้เล่าไว้ในอัตตโนประวัติไว้ว่า ท่านเกิดในครอบครัวใจขาน นามเดิม เหรียญ นามสกุล ใจขาน เกิดเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ณ บ้านหม้อ ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย บิดาชื่อ ผา มารดาชื่อ พิมพา ปฐมวัยครอบครัวของข้าพเจ้ามีอาชีพทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ มีพี่น้องเกิดด้วยกัน ๗ คน ข้าพเจ้าเป็นคนที่ ๒ บรรดาพี่น้องผู้ที่เกิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คนนั้น ได้ตายเสียตั้งแต่ยังเล็กทุกคน จึงไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในที่นี้ ส่วนมารดานั้นได้ตายจากไปตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ ๑๐ ปี ครั้นอยู่ต่อมาไม่กี่เดือน บิดาก็ไปมีภรรยาใหม่ ข้าพเจ้าจึงได้อยู่กับคุณยายมาจนอายุได้ ๑๓ ปี และเรียนหนังสือไทยจบในปีนั้น ต่อจากนั้นจึงได้ไปอยู่กับบิดา มารดาใหม่นั้นมีลูกกับสามีคนก่อน ๕ คน ซึ่งบังเอิญสามีก็ตายไปในปีเดียวกันกับมารดาข้าพเจ้าเหมือนกัน ต่อมาได้มีลูกกับบิดาข้าพเจ้าอีก ๒ คน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยเป็น ๘ คนพอดี เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่ด้วยก็ได้ทำการงานช่วยบิดามารดาร่วมกับพี่น้องทั้งหลายตลอดมา และเคารพนับถือกันฉันท์พี่น้องที่เกิดร่วมท้องเดียวกัน ไม่เคยมีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนถึงกับแตกสามัคคีกันเลย ข้าพเจ้านั้นมีนิสัยชอบทำการงาน และทำจริง ไม่ทำเหลาะแหละเหลวไหล ทำการงานอย่างใดก็ให้เสร็จไปอย่างนั้น ไม่ทอดทิ้งการงาน และไม่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ชอบทะเลาะกับใครๆ ถ้าจะมีเหตุให้ทะเลาะกันก็ต้องหาทางหลีกเลี่ยง และมีความอดทนต่อคำด่าว่าติเตียนต่างๆ ไม่ถือมั่นไว้ในใจ

พูดถึงความรักแล้ว นับว่าข้าพเจ้ามีความรักมาก เช่น รักพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา และผู้อื่นที่เกิดร่วมวงศ์ตระกูลเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ยังรักขยายออกไปถึงเพศตรงข้ามซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันในทางชู้สาว และฝ่ายตรงข้ามก็รักข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน โดยเข้าใจว่าเขาคงจะมองเห็นคุณธรรมอันมีอยู่ในใจของข้าพเจ้า คือ ความอดทนต่อความชั่วร้ายดังกล่าวมานั้นหนึ่ง และอดทนต่อหน้าที่การงานหนึ่ง เขาจึงได้มีความรักอย่างจริงใจต่อข้าพเจ้า

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
กราบหลวงปู่ครับ
ชอบฟังเทศน์ขององค์ท่าน
ครับสาธุ
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ สาแหรกธรรมหลวงปู่มั่น
คอลัมน์ มงคลข่าวสด



นับแต่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อดีตมหาเถระชื่อดังแห่งวัดหินหมากเป้ง หลักใจชาวหนองคาย ละสังขารแล้ว
พระสุธรรมคณาจารย์ หรือหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ก็เป็นหลักชัย สืบทอดมรดกธรรมแทนหลวงปู่เทสก์ จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวหนองคายมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยท่านเป็นหนึ่งในศิษย์เอกผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยได้อยู่รับใช้ปฏิบัติและมีโอกาสศึกษาธรรมะ
"หลวงปู่เหรียญ" เกิดในสกุล ใจขาน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2455 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด สถานที่เกิด ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงไหม่ จ.หนองคาย

เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 7 คน ของนายผาและนางพิมพา ประกอบอาชีพกสิกรรม ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ชีวิตครอบครัว พี่น้องทุกคนเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก ส่วนโยมมารดาถึงแก่กรรม เมื่อท่านมีอายุ 10 ขวบ

ภายหลังบิดามีภรรยาใหม่ ท่านจึงไปอาศัยอยู่กับยาย ก่อนกลับมาอยู่กับบิดาอีกครั้ง เมื่ออายุ 13 ปี

ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ เคยมีความคิดจะแต่งงานมีครอบครัวเหมือนปุถุชนทั่วไป แต่คิดปลงตกในชีวิตที่มีแต่ความวุ่นวาย มีทุกข์มีสุขวนเวียนไม่รู้จบสิ้น เห็นว่ามีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะหลุดพ้นทุกข์ คือ การออกบวช

เมื่อศรัทธาแห่งการออกบวชแรงกล้า จึงขอบิดาเข้าวัด บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 15 วัน ก่อนเข้าอุปสมบท ที่วัดบ้านหงษ์ทอง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เมื่อเดือนมกราคม 2475

สังกัดมหานิกาย โดยมีพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ก่อนกลับมาจำพรรษาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ ระยะหนึ่งไปจำพรรษาที่วัดศรีสุมัง อ.เมือง จ.หนองคาย เข้าศึกษาด้านพระปริยัติธรรม จนสอบได้นักธรรมตรี

ระยะแรกหลวงปู่เหรียญ เริ่มศึกษาพระกรรมฐาน ได้รับเมตตาจากพระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นผู้สอนภาวนาพุทโธ และพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน เป็นครูฝึกสอนการปฏิบัติธรรม

ต่อมา พระอาจารย์กู่ได้พาท่านออกธุดงค์ไป จ.อุดรธานี และสวดญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2476 ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี

โดยมีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

จากนั้นออกธุดงค์ไปสถานที่ต่างๆ หลายจังหวัดภาคอีสาน ก่อนขึ้นไปทางเหนือและเข้าฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น มุ่งบำเพ็ญเพียรและเข้าจำพรรษาในหลายที่

พรรษา 1-5 อยู่ใน จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย ช่วงพรรษาที่ 6-14 ขึ้นไป จำพรรษาอยู่ใน จ.เชียงใหม่ วัดสันต้นเปาและสำนักสงฆ์ใน อ.สันกำแพง พรรษาที่ 15-18 อยู่ที่ อ.เถิน จ.ลำปาง พรรษาที่ 19-22 ล่องลงใต้เข้าจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ จ.พังงา ก่อนย้ายไปอยู่วัดอรัญญบรรพต ตั้งแต่ปีพ.ศ.2502 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในบางโอกาสท่านจะมาพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ในวังสวนจิตรลดา กรุงเทพฯ

กาลต่อมา หลวงปู่เหรียญได้เป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญบรรพต ซึ่งในอดีตวัดแห่งนี้ ยังขาดความพร้อมในหลายด้าน แต่บรรยากาศทั้งภายในและภายนอกวัดสงบเหมาะสมสำหรับการวิปัสสนากรรมฐาน โดยสมัยที่หลวงปู่มาอยู่ใหม่ๆ มีเพียงกุฏิเล็กมุงหญ้าคาพอหลบฝนได้เท่านั้น

แต่กว่า 40 ปีที่หลวงปู่เหรียญได้ปกครองดูแลวัดอรัญญบรรพต พยายามคงสภาพของความเป็นวัดป่าไว้มากที่สุด โดยสร้างเสริมสิ่งก่อสร้างเท่าที่จำเป็นแก่การประกอบศาสนกิจ

หลวงปู่เหรียญ เป็นพระกัมมัฏฐาน ถือธุดงควัตร ฉันสำรวมในบาตรมื้อเดียว ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งในพระธรรมวินัยยิ่ง รับกิจนิมนต์สอนปฏิบัติธรรมสมาธิและเทศนาธรรมแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศ เดินทางไปมาจากหนองคายและกรุงเทพฯ เป็นประจำ

แม้หลวงปู่จะมีฐานะทางการปกครองสงฆ์เป็นเจ้าคณะอำเภอศรีเชียงใหม่-สังคม ฝ่ายธรรมยุต และเป็นพระเถระอาวุโสแห่งเมืองหนองคาย แต่ท่านยังคงยึดแนวทางการครองตนตามแบบฉบับพระป่าในสายอีสานไว้อย่างเคร่งครัด

ด้วยการฝึกฝนอบรมจากหลวงปู่มั่น ปฏิปทาการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เหรียญจึงงดงามหมดจด อุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา

ทุกวันที่ 8 มกราคม คณะศิษยานุศิษย์จะร่วมกันจัดงานบุญใหญ่ที่วัดอรัญญบรรพต เพื่อสรงน้ำรับพร เป็นการแสดงกตัญญุตาคุณแด่หลวงปู่เหรียญ เป็นประจำเสมอมา ซึ่งจัดให้มีงานทำบุญ 2-3 วัน ประมาณ 7-8-9 ม.ค.ของทุกปี โดยบางปีขยับเลื่อนวันให้ตรงกับเสาร์อาทิตย์ เพื่อสะดวกในการเดินทางไปร่วมงานของศิษย์

ใบหน้าหลวงปู่จะมีรอยยิ้มให้เห็นอยู่เสมอ ไม่เคยแสดงอากัปกิริยาเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าในการสนองศรัทธาญาติโยม

ประสบการณ์ทางธรรมที่หลวงปู่สั่งสมมา ล้วนถูกถ่ายทอดสู่บรรดาศิษย์ให้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อหนทางแห่งมรรคผลนิพพาน ด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

คำสอนและธรรมะของท่านเน้นให้พยายามควบคุมจิต อย่าให้หลงไปในอารมณ์ที่คิด นึก มาแต่ก่อน

"ชีวิตนี้จะอยู่เฉพาะลมหายใจเข้า หายใจออก อยู่ที่ปัจจุบันเท่านั้น ให้กำหนดจำกัดลง อนาคตยังไม่ได้ไปถึง มันก็ยังไปไม่ถึง ไม่ต้องไปคำนึงหา การงานอะไรที่ทำล่วงมาแล้ว ผิดหรือถูกมันได้ล่วงมาแล้ว ไม่ต้องไปคำนึงหา"

"เราต้องกำหนดรู้เฉพาะปัจจุบันเท่านั้น คือ การทำสมาธิ สำคัญอยู่ที่สติ ขอให้ได้จดจำเอาไว้ให้ดี สติแปลว่าความระลึกได้ คือระลึกเข้าไปในจิต อย่าให้มันระลึกเฉไปทางอื่น จิตที่ตั้งมั่นอยู่ไม่ได้เพราะมันขาดสติ หากสติไม่ได้เข้าไปควบคุมอยู่ใกล้ชิด สตินั้น จะระลึกออกไปทางอื่น ห่างออกไปจากจิต"

ขอให้สติมันเข้มแข็งเสียอย่างเดียว หายใจเข้ากำหนดรู้ หายใจออกกำหนดรู้ อยู่ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออก เพ่งกำหนดรู้แต่ลมหายใจเข้าออก ความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ มันจะค่อยเบาไปๆ หมดไปโดยลำดับ

เพราะจิตไม่ส่งเสริม จิตมาคอยจ้องอยู่เฉพาะลมหายใจ แต่จิตไม่ส่งเสริมความคิดเสียแล้ว ทีนี้จะคิดดีคิดชั่วอย่างไร ในขณะปล่อยทิ้งไม่ใช่เวลาคิด เวลาสงบ เวลาเพ่ง เวลากำหนดรู้ ไม่ใช่เวลาคิด ให้มีสติเตือนจิตอย่างนี้เสมอไป จิตเมื่อถูกสติเตือนเข้าบ่อยๆ มันรู้ตัว รู้ตัวแล้วมันคลาย มันปล่อยวางอารมณ์ไม่ส่งเสริม ไม่คิดไม่ปรุงไปอีก

"เรื่องสมาธินี่ สำคัญมากทีเดียว เรื่องปัญหานั้นมันเกิดจากสมาธิ ดังนั้น เมื่อเราไม่สามารถจะทำสมาธิให้บังเกิดได้ ปัญญามันก็เกิดไม่ได้ ปัญญาในที่นี้หมายถึงปัญญาที่เกิดจากสมาธิ ปัญญาที่เกิดจากสมาธินี้เป็นปัญญาที่รู้แจ้งในธาตุสี่ ขันธ์ห้า ในนามในรูปไม่ปรารถนารู้อย่างอื่น"

กล่าวกันในหมู่ศิษย์ว่า หลวงปู่มักปรารภถึงความปรารถนาสูงสุด คือ อยากให้ประชาชนมีความสามัคคี คณะสงฆ์ไม่ว่าจะสังกัดใด ลัทธิมหายาน-เถรวาท หรือมหานิกาย-ธรรมยุต ขอให้มีความสามัคคีเข้าไว้ ร่วมมือร่วมใจกันเผยแผ่งานพระพุทธศาสนา สร้างสันติสุขให้บังเกิดแก่โลก

วันที่ 5 มิถุนายน 2548 ถือเป็นวาระแห่งความสูญเสียของชาวพุทธศาสนิกหนองคายและชาวไทยทั่วประเทศ
เมื่อหลวงปู่เหรียญได้ละสังขารลงด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ 93 ปี 73 พรรษา
สร้างความอาลัยให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างยิ่ง

...................................................................

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5309
http://www.matichon.co.th/

..................................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20708

20#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติตอนมรณภาพ
วันมรณภาพหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
                                       

19#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ-หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี-หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส



๏  พรรษาที่ ๒๑–๒๖ จำพรรษาวัดประชาสันติ

ข้าพเจ้าบำเพ็ญศาสนกิจอยู่ในสำนักสงฆ์แห่งนั้นโดยลำดับมาจนขออนุญาตสร้างวัดได้สำเร็จ และตั้งชื่อว่า วัดประชาสันติ และอยู่วัดนั้นได้ ๖ ปี อยู่วัดสันติวราราม ๒ ปี รวมเป็น ๘ ปี ข้าพเจ้าได้จากวัดประชาสันติ จังหวัดพังงา ไปอยู่วัดอรัญญบรรพต ปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒

๏  มูลเหตุของการมาอยู่วัดอรัญญบรรพต

หลวงพ่อผา ปภากโร ซึ่งเป็นบิดาของข้าพเจ้า ได้ไปบวชอยู่กับข้าพเจ้า ในขณะนั้นท่านอายุได้ ๘๖ ปี พรรษาได้ ๑๗ พรรษา ตาของท่านมัวมากแทบจะมองอะไรไม่เห็น ท่านปรารภกับข้าพเจ้าว่า อยากจะให้พาไปเยี่ยมบ้าน ข้าพเจ้าหน่วงเหนี่ยวไว้ไม่อยากพาท่านไปบ้าน เพราะหนีจากบ้านมาแล้วจะห่วงบ้านทำไม เป็นนักบวชไม่ควรห่วงบ้าน ไม่ดี ท่านก็อ้อนวอนอยู่บ่อยๆอดสงสารท่านไม่ได้ก็เลยพาท่านกลับไปเยี่ยมบ้านและพาท่านมาพักอยู่วัดอรัญญบรรพตปัจจุบันนี้เอง ได้พาท่านมาลอกตาที่จังหวัดอุดรธานี พอมองเห็นอะไรได้บ้าง และได้อุปการะท่านมาโดยลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านจึงมรณภาพจากไปเมื่ออายุได้ ๙๓ ปี พรรษาได้ ๒๓ พรรษา นี้เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้มาอยู่วัดอรัญญบรรพต

แต่ก่อนที่จะมาอยู่วัดอรัญญบรรพตนี้ ได้พาท่านจากเมืองเหนือไปอยู่ทางปักษ์ใต้ คือจังหวัดพังงา ที่วัดประชาสันติ อำเภอเมืองพังงาอยู่ที่นั้นได้ ๘ ปี จึงได้พาท่านมาอยู่วัดอรัญญบรรพต จนอวสานแห่งชีวิตของท่าน

ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติต่อบิดาตามมงคลสูตร หมวด ๓ ที่ว่า "มาตาปิตุอุปัฏฐานัง" ท่านกล่าวว่าเป็นมงคลอันสูง ส่วนมารดานั้นไม่ได้อุปัฏฐาก เพราะท่านได้ล่วงลับไปตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ ๑๐ ปีเท่านั้น จึงน่าเสียดายมาก

อีกมูลเหตุหนึ่ง ก็เพราะวัดนี้เป็นสถานสงบห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร เหมาะสำหรับบำเพ็ญสมถวิปัสสนา ทั้งอากาศก็ดี ทั้งมีโบราณสถานก็คือ เจดีย์เล็กองค์หนึ่งเป็นเครื่องหมายว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่มีผู้มาบำเพ็ญเพียรทางจิตใจมาแล้วแต่อดีต หากไม่ทราบว่าแต่เมื่อไร เพราะไม่พบคำจารึกเป็นตัวหนังสือไว้เลย มีแต่เจดีย์เล็กๆองค์หนึ่งซึ่งชำรุดมากแล้วเป็นเครื่องหมายพอให้รู้เท่านั้น และบริเวณเจดีย์นั้นเวลานี้ได้รื้อออกแล้ว ได้สร้างศาลาการเปรียญแทนไว้ นับว่าเหมาะสำหรับผู้ที่แสวงหาความสงบทางจิตจะพึงไปพักผ่อนได้ตามประสงค์ เพราะเวลานี้ทางวัดได้จัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้นหลังหนึ่ง ซึ่งกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๔๘ เมตร เพื่อต้อนรับพุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่สันติดังกล่าวนั้น โดยสร้างที่บนหลังเขา ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถนั้นมีห้องน้ำตลอดจนน้ำไฟพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่างไม่ขัดข้องแต่ประการใด

เวลานี้อายุของข้าพเจ้าได้ ๗๘ ปี (๒๕๓๓) พรรษาได้ ๕๘ พรรษา ดังนั้นจึงขอจบอัตตโนประวัติไว้แต่เพียงเท่านี้

พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
(พระสุธรรมคณาจารย์)
วัดอรัญญบรรพต ตำบลบ้านหม้อ
อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

(หมายเหตุ ประวัติท่านตอนที่ท่านเล่าให้ฟังในปี พ.ศ.2533)
จากคุณ : พีทีคุง [ 7 ก.ค. 2544 / 22:41:19 น. ]




หลวงปู่ท่อน ญาณธโร-หลวงปู่จันทร์โสม กิตฺติกาโร-หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



พระธาตุหลวงปู่เหรียญ  วรลาโภ

18#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่มหาปิ่น ชลิโต
วัดอริยวงศาราม  อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี



๏  พรรษาที่ ๑๙–๒๐ จำพรรษาสำนักสงฆ์อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

เมื่อขึ้นจากเรือไปถึงที่พักแล้ว ก็ได้พบกับท่านมหาปิ่น ชลิโต (พระครูวิโรจน์ธรรมาจารย์) ซึ่งท่านคอยต้อนรับอยู่แล้ว คือท่านเป็นผู้เดินธุดงค์ไปก่อนคณะของอาจารย์เทสก์ เทสรังสี แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านองค์นี้กำเนิดอยู่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พอไปถึงที่พักท่านก็นิมนต์ให้แสดงธรรมให้ญาติโยมซึ่งคอยต้อนรับอยู่ฟังทันที และก็ได้ยกเอาเรื่องคลื่นกระทบกันแสดงให้ญาติโยมฟังดังกล่าวแล้วนั้น ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปสมทบกับท่านอาจารย์เทสก์ยังที่พักสงฆ์ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ท่านจำพรรษาปีแรก พรรษาที่สองท่านอาจารย์เทสก์ไปจำพรรษาที่พักสงฆ์หลังศาลาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ขออนุญาตสร้างเป็นวัดเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งชื่อว่า วัดเจริญสมณกิจ และท่านมหาปิ่นก็ไปจำพรรษาร่วมกับท่านอาจารย์ด้วย ส่วนข้าพเจ้านั้น ท่านอาจารย์ให้ไปจำพรรษาที่พักสงฆ์ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ท่านมหาปิ่น จำพรรษามาก่อนแล้ว

ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่นั้น ๒ พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้ไปเจริญสมณธรรม ตามถ้ำตามภูเขาในเขตอำเภอเมืองพังงา เพราะว่าตัวเมืองพังงานั้นมีภูเขาล้อมรอบจึงมีถ้ำอยู่หลายแห่ง ญาติโยมก็ไปฟังเทศน์และฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนากันมากพอสมควร


ศาลหลักเมือง


๏  เกี่ยวกับพระเจ้าหลักเมือง

เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใสได้นิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ในเมืองพังงา ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังพักบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำหลักเมืองนั้น ที่หน้าถ้ำหลักเมืองมีศาลเจ้าอยู่ ชาวเมืองเขาเรียกว่า เจ้าพ่อหลักเมือง ทั้งชาวไทยและชาวจีนนับถือมากพากันไปไหว้บ่อยๆ ยิ่งกว่านั้นยังได้พาคนทรงไปทำพิธีเข้าทรงกันแล้วก็ขอบัตรขอเบอร์กัน ตลอดถึงฆ่าสัตว์ไปสังเวยเป็นประจำทุกปี เมื่อข้าพเจ้าเดินไปดูถ้ำนั้นวันแรก ก่อนจะเข้าถึงถ้ำ ต้องไปถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียก่อน เข้าไปในศาลนั้นเห็นมีหินสองก้อนฝังดินอยู่ แต่พ้นดินอยู่ส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าสวมรองเท้าขึ้นไปเหยียบหิน ๒ ก้อนนั้นแล้วกล่าวว่า ได้ยินว่าเจ้าพ่อหลักเมืองมาอาศัยอยู่ที่นี่หรือ ท่านมาอยู่ที่นี่จริง ขอให้เจ้าพ่อคอยฟังธรรมะนะ อาตมาจะแสดงธรรมให้ญาติโยมฟังอยู่หน้าถ้ำนี่แหละ

ครั้นแล้วก็เดินเข้าไปสำรวจดูในถ้ำ เห็นว่าพออยู่ได้ จึงให้ญาติโยมยกร้านคร่อมธารน้ำไหลในถ้ำนั้น เพราะในถ้ำนั้นมีธารน้ำไหลจากฟากเขาทางโน้นมาทะลุออกทางหน้าถ้ำทางนี้ แล้วไหลลงสู่คลองลงทะเลไป ข้าพเจ้าได้อาศัยบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในถ้ำนั้นอยู่ ๒ เดือน ญาติโยมได้ยกศาลาน้อยหลังหนึ่งชั่วคราว พอได้นั่งฉันภัตตาหารและแสดงธรรม สำหรับญาติโยมนั้นเอาเสื่อปูลงบนพื้นดินแล้วนั่งกัน ต่อจากนั้นญาติโยมก็ติดต่อซื้อเอาสวนของคนหนึ่งซึ่งอยู่หลังโรงเรียนช่างไม้จัดทำเสนาสนะให้อยู่จำพรรษา มีพระจำพรรษาด้วยกัน ๕ รูป ในระหว่างพรรษามีญาติโยมไปฟังธรรมและนั่งสมาธิทุกคืนอย่างมากไม่เกิน ๓๐ คน

ในวันอุโบสถวันหนึ่ง มีโยมผู้ชายคนหนึ่งซึ่งมาจำศีลอุโบสถอยู่ในวัด ได้ไปดูเขาทำพิธีเข้าทรงขอหวยกัน ทันทีที่เจ้าพ่อเข้าทรงคนแล้ว เขาก็ขอเบอร์กัน ทีนี้เจ้าพ่อในร่างคนทรงก็บอกว่า ต่อไปนี้ท่านทั้งหลายอย่ามาขอเบอร์จากเจ้าพ่ออีก เจ้าพ่อไม่ให้แล้วเพราะมันเป็นบาป และการฆ่าสัตว์มาสังเวยก็เป็นบาปเช่นเดียวกัน

มีคนถามว่า แต่ก่อนเจ้าพ่อยังบอกลูกหลานอยู่ มาบัดนี้ทำไมจึงว่ามันเป็นบาป

เจ้าพ่อตอบว่า แต่ก่อนเจ้าพ่อไม่รู้ว่ามันเป็นบาปอะไรเพราะไม่ได้ฟังธรรม เมื่อเจ้าพ่อได้ฟังธรรมจากพระกรรมฐานรูปหนึ่งที่มาแสดงอยู่หน้าถ้ำนี้ จึงได้รู้ว่ามันเป็นบาป และถ้าลูกหลานจะบวงสรวงเจ้าพ่อ ก็ให้เอาขนมบ้างผลไม้บ้างมาบวงสรวงเจ้าพ่อก็พอแล้ว ทุกวันนี้เจ้าพ่อจำศีลภาวนาอยู่เสมอ

ตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายก็ไม่ฆ่าสัตว์ไปบวงสรวง และไม่นำคนไปเข้าทรงขอเบอร์อีกต่อไป นับว่าได้ผลมากพอสมควรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนั้น
17#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

หลวงปู่เทสก์  เทสรังสี


๏  ได้พบพระอาจารย์เทสก์ ที่อำเภอท่าบ่อ

สาเหตุที่จะพบกับท่านอาจารย์เทสก์ เพราะท่านกลับจากจังหวัดพังงามาพักอยู่ที่นั้น ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่พักสงบ ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา รู้สึกว่าประชาชนสนใจในทางธรรมปฏิบัติมากพอสมควร ถ้าหากมีพระผู้ใหญ่หลายองค์ไปช่วยกันเผยแพร่แนวทางปฏิบัติดังที่พวกเราทำมากันทางภาคอีสานนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้นมาก เมื่อได้ฟังท่านอาจารย์ชี้แจงเหตุผลของการไปอยู่ภาคใต้ให้ฟังเช่นนั้น พิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์จริง จึงตัดสินใจเดินทางลงไปภาคใต้โดยทางรถไฟบ้าง รถยนต์บ้าง และเรือยนต์บ้าง จนถึงภูเก็ต การเดินทางนี้ทั้งพระทั้งเณรรวมแล้ว ๘ รูปด้วยกัน



๏  เจอกับมรสุม

เวลา ๒๒.๐๐ น. ( สี่ทุ่ม) เรือออกจากท่าอำเภอกันตัง วิ่งไปถึงปากอ่าวก็สว่างพอดี พอถึงปากอ่าวแล้วก็เจอกับมรสุมคือ คลื่นลมแรงกระทบกับเรืออย่างแรงจนเรือเอียงไปเอียงมาเหมือนมันจะคว่ำลงไปแต่มันก็ไม่คว่ำ ถึงเวลาฉันภัตตาหาร เขาก็เอาอาหารมาถวาย ในขณะฉันอยู่นั้น เรือถูกคลื่นกระทบเอาโคลงไปมาอย่างแรง ทำเอาถ้วยแกงคว่ำเหลือเพียงครึ่งถ้วย นับว่าขบขันมาก เมื่อฉันแล้วสักประมาณ ๒ ชม. พระเณรพากันเมาคลื่นอาเจียนกันออกหมด เหลือแต่ข้าพเจ้า และอาจารย์คำพองเท่านั้นที่ไม่เมาคลื่นและไม่อาเจียน เรือต้องต่อสู้กับมรสุมทั้งวันจนค่ำจึงค่อยสงบลง


หลวงปู่คำพอง ติสโส
วัดถ้ำกกดู่  อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี



๏  ธรรมะเกิดในขณะเรือฝ่าคลื่น

ในขณะที่เรือวิ่งฝ่าคลื่นลมแรงอยู่นั้น ได้มองเห็นลูกคลื่นวิ่งมากระทบกับหัวเรือเข้าแล้วก็แตกกระจายไป แล้วไม่นานลูกอื่นก็กลิ้งมากระทบหัวเรืออีก แล้วก็แตกกระจายไปอีกอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งวัน จึงเกิดความคิดเป็นธรรมขึ้นมา

"เรือที่นายช่างต่อดีแล้วอย่างแข็งแรง เมื่อถูกคลื่นกระทบแล้วไม่เสียหายฉันใด จิตของบุคคลใดเมื่อฝึกฝนให้ดีแล้ว คลื่นของกิเลสกระทบเข้าย่อมไม่หวั่นไหวก็ฉันนั้น"

อธิบายว่า เมื่อบุคคลใดฝึกจิตนี้ให้มั่นอยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ในปัญญาเต็มที่แล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปดประการฉันนั้น คือ เมื่อมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ และมีความสุขกายสบายใจ ก็ไม่เพลิดเพลินมัวเมาในลาภ เป็นต้น และเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ถูกทุกข์ครอบงำกาย และจิตก็ไม่หวั่นไหว คือไม่เศร้าโศกเสียใจ ทั้งนี้เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอนอะไรเลย มีเกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนแตกดับไปเป็นธรรมดา เหมือนกับเรือที่นายช่างต่อดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวต่อคลื่นฉันนั้น
16#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏  นิมิตเกี่ยวกับอนาคตของประเทศลาว

เมื่อถึงนครเวียงจันทน์แล้ว ได้ไปพักอยู่วัดป่าแห่งหนึ่งในเขตนครเวียงจันทน์นั้นเอง ณ ที่นั้นได้พบกับ พระอาจารย์ผุย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนั้น ท่านอาจารย์ผุยรูปนี้ก็เป็นพระผู้ปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาเหมือนกัน ครั้นอยู่ต่อมาท่านได้ชวนขึ้นไปวิเวกบนเขาซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของนครเวียงจันทน์ ห่างจากนครเวียงจันทน์ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เขาเรียกว่า ด่านน้ำเกลี้ยง หลังเขาเป็นที่ราบและเป็นลานหินล้วนๆสะอาดดี ณ ที่นั้นแหละ ข้าพเจ้าภาวนาอธิษฐานในใจว่า ต่อไปในอนาคตนครเวียงจันทน์ประเทศลาว จะมีความสงบสุขหรือจะมีความไม่สงบอย่างไรก็ขอให้เกิดธรรมนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เมื่อภาวนาแล้วก็นอนหลับไป ปรากฏเห็นดวงพระจันทร์ตกลงมาแต่ท้องฟ้า ตกลงมากลางนครเวียงจันทน์ เสียงดังเปรี้ยงเหมือนฟ้าผ่า ในขณะนั้นนึกในใจว่า อะไรหนอเกิดขึ้น


เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว

ความรู้สึกในใจขณะนั้นว่า ฟ้าผ่าเมืองเวียงจันทน์แล้วเห็นจะย่อยยับไปแล้วกระมัง

ทันใดนั้นปรากฏเห็นรถไฟขบวนหนึ่งวิ่งผ่านหน้าแล้วหยุดต่อหน้า ครั้นแล้วก็มีคนทั้งหญิงทั้งชายลงจากรถกรูกันมาหาข้าพเจ้าเป็นจำนวนมาก และแสดงการอาการเกรงกลัวกันระส่ำระสาย แล้วพากันนั่งลงกราบ ข้าพเจ้าจึงถามว่า พวกญาติโยมเป็นอย่างไรจึงกระสับกระส่ายกันอย่างนี้ เขาก็ตอบว่า ฟ้าผ่าเมืองเวียงจันทน์พังทลายหมดแล้ว พวกกระผมรอดตายมาได้นับว่าเป็นบุญอย่างมาก พวกกระผมจะมาขอพึ่งบารมีของท่านอาจารย์

ข้าพเจ้าจึงตอบเขาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้ญาติโยมตั้งใจสมาทานเอาซึ่งพระไตรสรณาคมน์ และศีล ๕ ประการเสีย ข้าพเจ้าจึงได้ประกาศพระไตรสรณาคมน์และศีล ๕ ให้แก่คนเหล่านั้น จบแล้วก็ได้ชี้แจงให้เขาฟังว่า พระไตรสรณาคมน์และศีล ๕ ประการนี้เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของสัตว์โลกทั้งหลายขอให้ท่านทั้งหลายจงรักษาไว้ให้ดี อย่าประมาท และต่อไปนี้ให้พากันนั่งสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง หลับตาแล้วตั้งสติสำรวมจิตเข้าไปไว้ภายในแล้วบริกรรม "พุทโธ" ไปเรื่อยๆจนกว่าใจจะสงบ คนเหล่านั้นก็พากันนั่งสมาธิอยู่ได้ครู่หนึ่งจึงออกจากสมาธิแล้วพากันกราบลาขึ้นรถไฟเดินทางต่อไป

๏  พิจารณานิมิต

ครั้นรู้สึกตื่นขึ้นก็พิจารณาดูนิมิตที่ปรากฏเห็นนั้น ได้ความว่า ต่อไปเบื้องหน้านี้ประเทศลาวจะหาความสงบได้ยาก ประชาชนจะระส่ำระสาย มีแต่ความหวาดกลัวภัยต่างๆอยู่เสมอ เมื่อกลับจากภูเขาลงมาพักที่วัดในเมืองเวียงจันทน์อีก ญาติโยมผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่นครเวียงจันทน์นั้น ถ้าชอบอยู่ที่ไหนเขาก็จะสร้างถวายให้อยู่ที่นั้น ข้าพเจ้าไม่รับนิมนต์เขา เพราะพิจารณาเห็นแล้วว่าไม่เป็นมงคล จึงได้ข้ามแม่น้ำโขงมาสู่ประเทศไทยที่อำเภอท่าบ่อ
15#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-24 03:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏  พรรษา ๑๕ พรรษา ๑๗–๑๘ จำพรรษาอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ข้าพเจ้าได้ธุดงค์มาทางจังหวัดลำปาง และจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์อำเภอเถินสองพรรษา ในพรรษาแรกถูกเจ้าของถิ่นเขาขับไล่ให้หนีไปไม่ให้จำพรรษา แต่ญาติโยมผู้ที่นับถือเลื่อมใสเขาไม่ยอมให้หนี เพราะเขาได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่นั้นแล้ว และเขาก็จัดเสนาสนะถวายอยู่ ข้าพเจ้ากับหมู่คณะได้รับนิมนต์เขาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรหนีไปที่อื่น ในที่สุดก็ได้จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนั้น ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ถวายที่ดินสวนให้อยู่จำพรรษา ข้าพเจ้าจำพรรษาอยู่ที่สำนักนั้น ก็ได้แนะนำสั่งสอนญาติโยมชาวอำเภอเถินให้มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ตลอดจนรู้จักแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้าพอสมควร ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ได้พาโยมบิดาไปบวชเป็นพระภิกษุที่วัดเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอุปการะท่านมาโดยลำดับ ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วในเดือนมกราคม ได้นำนาคไปบวชที่วัดเชตวัน และ ณ ที่วัดนี้เอง ได้พบกับ พระมหาถวัลย์ ฐิตังกูร ซึ่งเดินทางมาจากวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝึกหัดเจริญสมถะและวิปัสสนา จึงได้ชวนกันไปเที่ยววิเวกที่จังหวัดเชียงรายโดยไปด้วยกันสามรูป ได้ไปพักภาวนาอยู่ตามโบราณสถานต่างๆที่อำเภอเชียงแสน ซึ่งแต่ก่อนเป็นเพียงตำบลเท่านั้น นับว่าได้ความสงบกายสงบใจพอสมควร

๏  พรรษาที่ ๑๖ จำพรรษาในจังหวัดเชียงใหม่


ในพรรษานี้ได้จำพรรษาอยู่ที่บ้านว่างของคนอังกฤษที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งญาติโยมได้นิมนต์ไปจำพรรษาอยู่ เพื่อได้อบรมสั่งสอนแนวทางปฏิบัติธรรม ได้แนะนำสั่งสอนแก่ญาติโยมและบำเพ็ญสมณธรรม ณ ที่นั้นอยู่จนตลอดพรรษาได้ผลดี และมีความเจริญในธรรมอย่างดี



๏  ธุดงค์ประเทศลาว

ครั้งอยู่ในที่นั้นพอสมควรแล้ว พระมหาถวัลย์ ฐิตังกูร ก็ขอร้องให้พาไปจังหวัดหลวงพระบาง ประเทศลาว เพราะไม่เคยเห็นมาแต่ก่อน จึงตกลงพาเพื่อนไปจังหวัดหลวงพระบาง การไปประเทศลาวครั้งนั้นนับว่าลำบากมาก เพราะประชาชนลาวกำลังรวมตัวกันขอเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสไม่ยอมให้เอกราชจึงเกิดรบกันขึ้นทั่วไปในประเทศลาว โดยเฉพาะเลียบปากแม่น้ำโขง เขาตั้งด่านตรวจเรือขึ้นล่องตามลำน้ำโขงเป็นแห่งๆ บรรดาเรือที่ขึ้นก็ดี ล่องก็ดี ระหว่างเวียงจันทน์กับหลวงพระบาง เมื่อถึงด่านไหนก็ต้องจอดเรือที่ด่านนั้น บรรดาผู้โดยสารเรือต้องขึ้นไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่เขา และถ้าเป็นคนไทยต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสจากที่ต้นทางเสียก่อน เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงจะไปได้ ดังนั้นพวกเราจึงข้ามเรือไปขอใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส แล้วจึงติดต่อขอโดยสารไปกับเรือพ่อค้า เขาก็ไม่ขัดข้อง โดยเสียค่าโดยสารให้เขาตามที่เขาเรียกเอา และได้มีเรือทหาร 2 ลำล่องติดตามให้อารักขาไปด้วย พวกเราพยายามนั่งสมาธิภาวนาอธิษฐานขออย่าให้มีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นเลยในระหว่างทาง และก็ปลอดภัยจริงๆจนถึงนครเวียงจันทน์

                                                                                                
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้