ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 15838
ตอบกลับ: 101
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส ~

[คัดลอกลิงก์]


ประวัติและปฏิปทา
พระครูศาสนูปกรณ์
(หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล)


วัดป่าสันติกาวาส
ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี



• คำนำของผู้เขียนประวัติ
• ชาติกำเนิด
• ชีวิตเมื่อยังเยาว์
• ชีวิตนี้ไม่แน่นอนต้องจรจากไป
• การปฏิบัติไม่เป็นไปตามหนทางแห่งอริยมรรค
• ตนแลเป็นที่พึ่งของตน
• อาพาธครั้งที่ 1
• ความไม่เที่ยงย่อมแปรปรวน
• ความโลภเป็นอันตรายต่อความเป็นธรรม
• ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

• บรรพชาเป็นสามเณรครั้งที่ 2
• เดินทางมุ่งหน้าเพื่อนมัสการพระธาตุพนม
• พบพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก
• เดินธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดนครพนม
• พบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
• มุ่งหน้าสู่เขาพระวิหาร
• เร่งความเพียร
• เดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ
• อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตตามที่ได้ตั้งใจไว้

• พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2479 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 2 พ.ศ. 2480 จำพรรษาที่วัดป่าบ้านวังถ้ำ จ.อุบลราชธานี
• พรรษาที่ 3-5 พ.ศ. 2481-2483 จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
• พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2484 จำพรรษาที่วัดป่าบ้านโนนแท้ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
• พรรษาที่ 7 พ.ศ. 2485 จำพรรษาที่วัดประชาบำรุง
(วัดป่าพูนไพบูลย์) อ.เมือง จ.มหาสารคาม

• พรรษาที่ 8 พ.ศ. 2486 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 9 พ.ศ. 2487 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 10 พ.ศ. 2488 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 11 พ.ศ. 2489 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 12 พ.ศ. 2490 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
• พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2491 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นปีสุดท้าย
• พรรษาที่ 14 พ.ศ. 2492 จำพรรษาที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

• มูลเหตุที่ได้มาสร้างวัดป่าสันติกาวาส
• สร้างวัดป่าสันติกาวาสในครั้งแรก
• ที่ดินตั้งวัด
• สร้างเสนาสนะในปีแรก
• ชื่อวัดในครั้งแรก
• หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ร่วมสร้างวัดด้วย

• พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2493 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
บ้านหนองตูม ต.ไชยวาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
• พรรษาที่ 16 พ.ศ. 2494 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2495 พรรษาที่ 17 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2496-2497 พรรษาที่ 18-19 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 20 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2499 พรรษาที่ 21 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2500 พรรษาที่ 22 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2501-2502 พรรษาที่ 23-24 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2503 พรรษาที่ 25 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

• พ.ศ. 2504 พรรษาที่ 26 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2505 พรรษาที่ 27 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2506 พรรษาที่ 28 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2507-2508 พรรษาที่ 29-30 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2509 พรรษาที่ 31 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2510 พรรษาที่ 32 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2511 พรรษาที่ 33 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2512-2513 พรรษาที่ 34-35 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 36 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2515 พรรษาที่ 37 จำพรรษาที่ตึกมหิดลวรานุสรณ์
ชั้น 2 ห้อง 16 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ

• พ.ศ. 2516 พรรษาที่ 38 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2517-2518 พรรษาที่ 39-40 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2519 พรรษาที่ 41 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2520 พรรษาที่ 42 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2521-2522 พรรษาที่ 43-44 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2523 พรรษาที่ 45 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2524 พรรษาที่ 46 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2525 พรรษาที่ 47 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส  อาพาธครั้งที่ 6 ด้วยโรคทางปอด
• พ.ศ. 2526 พรรษาที่ 48 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

• พ.ศ. 2527 พรรษาที่ 49 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2528 พรรษาที่ 50 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2529 พรรษาที่ 51 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2530-2531 พรรษาที่ 52-53 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2532 พรรษาที่ 54 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส อาพาธครั้งที่ 8 พ.ศ. 2532
• พ.ศ. 2533 พรรษาที่ 55 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2534 พรรษาที่ 56 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2535 พรรษาที่ 57 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2536 พรรษาที่ 58 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
• พ.ศ. 2537 พรรษาที่ 59 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส อาพาธครั้งที่ 10 สุดท้ายแห่งสังขาร

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:46 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน ผู้เขียนประวัติของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล


คำนำของผู้เขียนประวัติ

ประวัติของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ได้เริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 โดยหลวงพ่อสุจินต์ จิตฺตปชฺโชโต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงปู่องค์หนึ่ง โดยมองเห็นการณ์ไกลว่า ปฏิปทาการดำเนินของครูบาอาจารย์ควรจะเป็นแบบอย่างของกุลบุตรสุดท้ายภายหลังที่สนใจในธรรม จะได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติตาม ท่านจึงขอโอกาสต่อหลวงปู่ ขอให้เล่าเรื่องความเป็นมาในชีวิตให้ฟังในเวลามีโอกาสธาตุอำนวย แล้วก็เขียนบันทึกไว้ยังไม่ได้เท่าไร หลวงพ่อสุจินต์ท่านก็มาด่วนจากไปในปี พ.ศ. 2508

ผู้เขียนจึงได้เก็บส่วนที่หลวงพ่อสุจินต์ท่านเขียนแล้วมารักษาไว้ และตั้งใจจะเขียนต่อจากหลวงพ่อสุจินต์ จึงจดบันทึกต่อตามที่หลวงปู่เล่าให้ฟังในโอกาสต่างๆ บางครั้งเวลานวดเส้นถวายท่าน ท่านเล่าให้ฟังแล้วก็จดบันทึกไว้ บางครั้งท่านก็เทศน์อบรมพระเณร แล้วก็จดบันทึกไว้ การจะเขียนให้เสร็จเป็นเล่มสมบูรณ์นั้น ได้แต่คิดอยู่ในใจว่าไม่มีโอกาสพอจะทำให้เสร็จได้

จนเวลาล่วงเลยมาก่อนที่หลวงปู่จะละสังขาร 2 ปี ผู้เขียนได้นิมิตฝันว่าหลวงปู่บอกว่า “จะทำอะไรที่ทำยังไม่เสร็จนั้น ให้รีบๆ ทำให้เสร็จเสียนะ” พอรู้สึกตัวขึ้นก็นึกถึงเรื่องเขียนประวัติหลวงปู่ยังไม่เสร็จ จิตหนึ่งก็ประหวัดไปว่า “หรือหลวงปู่จะจากไปในไม่ช้า ท่านจึงเตือนให้รีบๆ ทำ” จากนั้นจึงได้ตั้งใจเขียนเพื่อให้เสร็จ แต่ก็ยังขาดการต่อเนื่อง เวลาผ่านไปจนในที่สุดหลวงปู่อาพาธลง ยิ่งไม่มีโอกาสเวลาที่จะเขียนเลย ได้แต่นึกในใจว่าความจริงใกล้เข้ามาทุกขณะแล้ว ประวัติหลวงปู่ยังไม่เสร็จ

สุดท้ายหลวงปู่ได้ละสังขารจากไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2538 เวลา 10.52 น. คณะศิษย์มีความประสงค์จะพิมพ์ประวัติหลวงปู่ให้ทันแจกในวันพระราชทานเพลิงศพของท่าน คือ วันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ผู้เขียนไม่สามารถจะเขียนต่อให้จบได้ เพราะวุ่นอยู่กับการจัดเตรียมงานศพของหลวงปู่ ดังนั้น แพทย์หญิงวัฒนา สุขีไพศาลเริญ จึงรับภาระนำเอาต้นฉบับที่ผู้เขียนได้เขียนไว้แล้ว และเขียนรวบรวมส่วนที่ยังขาดอยู่อย่างรวบรัด เพื่อส่งโรงพิมพ์ให้พิมพ์ทันแจกในวันงานจำนวน 5,000 เล่ม เพราะฉะนั้น ข้อความบางเรื่องบางตอนอาจผิดพลาดได้

หลังจากพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสร็จสิ้นแล้ว ผู้เขียนจึงตั้งใจตะเกียกตะกายเขียนประวัติหลวงปู่อย่างละเอียดให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อน้อมถวายเป็นอาจาริยบูชา การเขียนนั้นได้อาศัยจากหลวงปู่เล่าให้ฟัง และได้รู้ได้เห็นด้วยตนเอง จากการที่ได้อยู่กับหลวงปู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 จนถึงท่านละสังขารจากไป ตลอดถึงอาศัยครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยอยู่กับหลวงปู่ และญาติโยมที่เคยปฏิบัติหลวงปู่เล่าให้ฟังด้วย

การเขียนนั้นได้ใช้ความระมัดระวัง อาศัยความเพียรเป็นที่ตั้ง ถึงอย่างนั้นอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ผู้เขียนขอน้อมรับเอาความผิดพลาดนั้นเพียงผู้เดียว ส่วนที่เป็นบุญกุศลคุณประโยชน์ทั้งหลายนั้น ขออธิษฐานจิตอุทิศให้แก่ผู้มีพระคุณและสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ และขอน้อมถวายเป็นอาจาริยบูชาต่อหลวงปู่ผู้เป็นบิดาในทางธรรม ด้วยความเคารพรักและบูชาเทิดทูนไว้เหนือเกล้าตลอดกาล การเขียนประวัติหลวงปู่ในครั้งนี้กว่าจะสำเร็จได้ใช้เวลาเกือบ 2 ปี หากผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้อ่านจงให้อภัยแก่ข้าผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด

พระครูเมตตากิตติคุณ
(พระอาจารย์สมหมาย อตฺตมโน)
27 มีนาคม พ.ศ. 2540


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


๏ ชาติกำเนิด

เนื่องในวันมีโอกาสธาตุอำนวย คณะสานุศิษย์ได้อาราธนาให้หลวงปู่ท่านเทศน์ในเรื่องชีวประวัติความเป็นมาของท่าน ผู้เป็นบุพพาจารย์สำคัญองค์หนึ่ง และได้บันทึกตามคำเทศนาของท่านดังนี้

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เกิดเมื่อวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง จุลศักราช 1278 ตรงกับวันที่ 15 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2459 ที่บ้านคำพระ (กุดโอ) ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ คำภา นามสกุล กัมปันโน มารดาชื่อ มุม มีพี่น้องร่วมท้องบิดามารดาด้วยกัน 5 คน คือ

1. นางดา นินทกาล (ถึงแก่กรรม)
2. นายอ่อนสี นินทกาล (ถึงแก่กรรม)
3. นายคำสิงห์ นินทกาล (หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต) (มรณภาพ)
4. นายบุญจันทร์ กัมปันโน (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) (มรณภาพ)
5. นายมูล ทัพพิลา


๏ ชีวิตเมื่อยังเยาว์

หลวงปู่อายุได้ 7 ขวบ พ่อพาไปเลี้ยงช้าง ไปเลี้ยงด้วยกันทั้งหมดมีช้าง 4 เชือก (4 ตัว) คือ ตัวเมีย  2 ตัว ตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมียชื่อ อีคำหมื่น อำคำแสน ตัวผู้ชื่อ บักกุ บักบุญชู บักบุญชูนี้เป็นของตัวเอง ส่วนอีก 3 ตัวนั้นเป็นของคนอื่น อยู่มาวันหนึ่ง เวลาจะนำช้างกลับบ้าน พ่อให้ขี่คอช้าง พอมาถึงลำห้วยมีน้ำลึกก็ขี่ช้างข้ามน้ำ พอช้างลงถึงน้ำ มันพามุดดำน้ำ หลวงปู่กลัวจะจมน้ำตายจึงร้องเรียกพ่อ พอช้างได้ยินเรียกพ่อมันจึงพาโผล่ขึ้น พอขึ้นพ้นลำห้วย ช้างมันเป็นอะไรไม่ทราบ มันพาสะบัดเกือบจะตกจากคอช้าง แต่อาศัยพ่อเคยสอนไว้จึงใช้ขาหนีบเข้ากับสายสนิงรัดคอช้าง จึงไม่ตก ถ้าตกลงก็คงตายแต่คราวนั้น บุญยังมีกรรมดียังรักษาอยู่จึงผ่านพ้นมา

พอพ่อเห็นอย่างนั้นจึงร้องตะโกนใส่ ช้างก็หยุดทำ พ่อจึงขึ้นนั่งบนคอช้าง ให้ลูกกอดเอวให้แน่นแล้วพ่อใช้ขอสับหัวช้างทั้งมีดแหลมแทงลงบนหัวช้าง ช้างเจ็บปวดจึงพาวิ่งพร้อมร้อง อู้กๆ ทั้งวิ่งทั้งร้อง ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร จึงถึงบ้าน พ่อจึงหยุด พอเห็นพ่อทำกับช้างอย่างนั้นก็เกิดความสงสาร แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

เมื่ออายุได้ 8 ปีได้เข้าเรียนหนังสือ การเรียนก็อาศัยศาลาวัดบ้านคำพระ (ปัจจุบันชื่อวัดสว่างอารมณ์) เป็นที่เรียน พอถึงวันพระก็หยุดเรียน ขนเก้าอี้ลงจากศาลา ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไปจำศีลภาวนา ใช้ศาลาในวันพระ พอพ้นวันพระแล้วก็เข้าเรียนต่ออีกทำอยู่อย่างนั้น เรียนจบแค่ชั้น ข. ก็หยุดเรียน หนีไปอยู่กับพี่ชายที่อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด (พี่และน้องของท่านนั้นร่วมมารดาเดียวกัน แต่คนละบิดา) จากนั้นก็ไม่ได้เรียนต่ออีก การเรียนจึงจบแค่ชั้น ข. สมัยนั้นเท่านั้น อยู่กับพี่ชายระยะหนึ่งจึงกลับมาอยู่กับแม่ที่บ้านคำพระ อำเภอพนมไพรอย่างเดิม

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:47 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ชีวิตนี้ไม่แน่นอนต้องจรจากไป

ต่อมาโยมพ่อได้หย่าจากโยมแม่ไป หลวงปู่จึงอยู่ในความดูแลของแม่และพี่ชายเท่านั้น ครั้นลุถึงปี พ.ศ. 2472 หลวงปู่อายุ 13 ปี มารดาจึงอพยพครอบครัวจากบ้านคำพระ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ไปอยู่บ้านบึงเป่ง ตำบลงูเหลือม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น การเดินทางสมัยนั้นใช้วัวเทียมเกวียน สำหรับบรรทุกสัมภาระที่จำเป็น เครื่องใช้ในครัวเรือน คนก็เดินตามเกวียน สำหรับเด็กก็ให้นั่งเกวียน ส่วนหลวงปู่ในครั้งนั้น เดินบ้าง นั่งเกวียนบ้าง สองข้างทางเต็มไปด้วยป่าดงพงไพร ต้นไม้ดอกไม้ผล และสัตว์ป่านานาชนิด

เริ่มออกเดินทางจากบ้านคำพระ ผ่านเข้าอำเภอพนมไพร ผ่านตัวจังหวัดร้อยเอ็ด ทะลุถึงจังหวัดมหาสารคาม ผ่านข้ามท่าขอนยางจนทะลุถึงบ้านบึงเป่ง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ใช้เวลา 6 คืน การเดินทางสมัยนั้นลำบาก ทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางแทบจะเอาตัวไปไม่รอดจากอันตรายต่างๆ

หลวงปู่เป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการทำความดีมาตั้งแต่เด็ก มีนิสัยชอบสงบ และพูดจริงทำจริง พูดน้อยแต่ทำมาก และมีนิสัยชอบภาวนา มีเมตตามาแต่เป็นเด็ก เมื่อคราวอยู่บ้านบึงเป่งนั้น ขณะนั้นอายุได้ 13 ปี วันหนึ่งพี่เขยให้ไปไถนา การไถนารู้สึกลำบากมากเพราะยังเล็กอยู่ เมื่อเวลาไถนาไป จิตเกิดความเมตตาสงสารควายที่กำลังลากไถอยู่เป็นอันมาก

ในขณะนั้นจิตประหวัดไปถึงพระพุทธเจ้า ทันใดนั้นก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นที่ใจ เหมือนกับเป็นรูปโฉมของพระพุทธองค์จริงๆ จิตเกิดปีติเป็นกำลัง และมีจิตเลื่อมใสอยากจะบวชในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก และมีปีติอิ่มเอิบอยู่อย่างนั้น

อยู่มาวันหนึ่ง พี่เขยบอกให้ไปเอาปลาที่กำลังจะตายอยู่ที่มุมนามาทำอาหาร ปลาถูกแดดเผาน้ำแห้งลง วิ่งกระเสือกกระสนอยู่ ตัวที่ตายแล้วก็มี พอเห็นอย่างนั้นก็เกิดความสงสารเป็นกำลัง จึงหาใบไม้มาเย็บเป็นกระทงเอาน้ำใส่ แล้วเก็บเอาปลาที่ไม่ตายใส่ในกระทง ในขณะที่เก็บปลาอยู่นั้นรู้สึกร้อนมากเพราะแดดจัด แต่ก็ไม่ได้เอาผ้าคลุมศีรษะเพื่อกันแดด เพราะคิดว่าปลาก็ร้อนเหมือนกันกับเรา จึงทนเอา พอเก็บปลาที่ยังไม่ตายได้หมดแล้วจึงนำไปปล่อยลงในน้ำลึก ในขณะที่ปล่อยปลานั้นจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า  “ด้วยอำนาจกุศลผลบุญที่ได้ช่วยปลาในครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้บวชในพระพุทธศาสนาและให้ได้ดำรงอยู่จนตลอดชีวิต และให้มีผู้ช่วยชีวิตของข้าพเจ้าไว้ในเวลาป่วยไข้ อย่าพึ่งให้ล่วงไปในกาลที่ยังไม่สมควร”

เมื่อปล่อยปลาเสร็จแล้วจึงกลับไปเก็บเอาปลาที่ตายแล้วไปเถียงนา (กระท่อมนา) พอพี่เขยเห็นก็ถามว่า “เห็นปลามีเยอะแยะทำไมได้มานิดเดียว” หลวงปู่ตอบว่า “ก็มีแค่นี้แหละ” ในระยะนั้นเป็นฤดูเดือน 8 กำลังปักดำนา

ครั้นอยู่ต่อมาถึงเดือนพฤศจิกายน (เดือน 12) พ.ศ. 2472 จึงได้บวชเป็นสามเณร ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดบ้านท่าเดื่อ ตำบลตูม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระอาจารย์อุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็พำนักอยู่ในสำนักวัดบ้านท่าเดื่อ โดยมีพระอาจารย์ทอก เป็นพระพี่เลี้ยง เมื่อบวชแล้วก็ได้ตั้งใจท่องบ่นสาธยายทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น และปฏิสังขาโย ซึ่งเป็นบทพิจารณาปัจจัยสี่ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค


๏ การปฏิบัติไม่เป็นไปตามหนทางแห่งอริยมรรค

หลวงปู่เล่าว่า พอได้บวชเป็นสามเณรแล้วก็ตั้งใจสำรวมระมัดระวังในสิกขาบท 10 ประการ ซึ่งเป็นศีลของสามเณรจะพึงศึกษาและงดเว้นจากข้อห้ามทั้ง 10 อย่างนั้น อยู่มาวันหนึ่งพวกโยมชาวบ้านนิมนต์ครูบาเข้าไปสวดมนต์ในบ้านหมด เหลือแต่สามเณรอยู่วัดด้วยกัน เพื่อนสามเณรด้วยกันเอาไข่ไก่มาต้มสุก แล้วมาเรียกหลวงปู่ไปกินข้าวกับไข่ต้มนั้นในเวลากลางคืน หลวงปู่ไม่ได้ไปกินด้วย กลัวว่าศีลจะขาดเพราะผิดศีลข้อวิกาลโภชนา เมื่อไม่กินด้วย หมู่สามเณรเหล่านั้นจึงอายัดคำขาดว่าไม่ให้บอกครูบา ถ้าขืนบอกครูบาจะต้องมีเรื่องกัน หลวงปู่ก็รับว่าจะไม่บอกครูบา คือถ้าครูบารู้ว่าเณรกินข้าวเย็น จะจับเณรมาแล้วเฆี่ยนด้วยไม้เรียวเพื่อให้ศีลจับใหม่ หมายความว่าอย่างนั้น

บางวันโยมมาข้อร้องเจ้าอาวาสให้เอาพระเณรไปช่วยเกี่ยวข้าวบ้าง ไปช่วยขุดดินทำฝายกั้นน้ำบ้าง เจ้าอาวาสก็พาไปทำ พอเวลาเลิกทำงานตอนเย็น โยมก็เอาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงพระเณรที่ไปช่วยทำงาน สำหรับตัวหลวงปู่เองเมื่อเวลาโยมเขาจะเลี้ยงข้าวเย็นก็ทำทีเป็นปวดถ่ายหนีเข้าป่าไป ไม่ยอมกินกับหมู่เพื่อนเพราะกลัวว่าศีลจะขาด พอหมู่กินเสร็จแล้วจึงออกมาแล้วก็กลับวัด

เมื่อเห็นการปฏิบัติของหมู่พระเณรเป็นไปในทางที่ไม่ถูกตามธรรมวินัยจึงเกิดความวิตก เห็นว่าการกระทำที่ไม่ถูกตามหนทางอริยมรรคย่อมจะนำไปสู่ทุคติคือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นภพภูมิที่ต่ำและหาความสุขมิได้โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:48 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

เมื่อเห็นว่าหมู่เพื่อนปฏิบัติไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งได้ หลวงปู่จึงสำรวมระมัดระวังเอาเฉพาะตนเอง พยายามไม่ให้ด่างพร้อยในศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาไปโดยลำพังตนเอง ความดีและความชั่วเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนกับหว่านพืชลงไปในดิน หว่านพืชเช่นไรก็ได้รับผลเช่นนั้น


๏ อาพาธครั้งที่ 1

ครั้นอยู่มาถึงเดือน 5 คือ เดือนเมษายน พ.ศ. 2473 ขณะนั้นอายุ 14 ปี เกิดล้มป่วยด้วยโรคไข้รากสาด (ไข้หมากไม้ใหญ่) อยู่ที่วัดบ้านท่าเดื่อนั้นเอง อยู่มาวันหนึ่งไข้กำเริบหนัก จึงได้สลบไป ในขณะที่สลบไปอยู่นั้นได้ปรากฏนิมิตเห็นกองเพลิงใหญ่อยู่กองหนึ่งแดงโร่อยู่ เมื่อมองดูในกองเพลิงนั้นเห็นมีฆ้องใหญ่อยู่ลูกหนึ่ง และเงินสตางค์แดงอยู่ตรงกลางกองเพลิง มองดูกองเพลิงน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาถึงนิมิตที่เกิดขึ้น จึงได้ความว่าเป็นเรื่องศีลวิบัติ คือในขณะที่ป่วยไม่สบายอยู่นั้น เพื่อนสามเณรด้วยกันนำเงินสตางค์แดงที่โยมเขาถวายเวลาไปสวดมนต์ในบ้านตอนที่ยังไม่ป่วย เมื่อแบ่งกันแล้วนำมาใส่มือให้ จึงเกิดนิมิตเช่นนั้นคือผิดศีลข้อ 10 ของสามเณร เพราะสามเณรศีลข้อที่ 10 นั้น ท่านห้ามไม่ให้รับเงินและทองที่เขาสมมติซื้อขายกันได้ในประเทศนั้นๆ เมื่อเพื่อนสามเณรด้วยกันนำเงินมาใส่มือให้จึงเป็นศีลวิบัติ

ในขณะที่ป่วยอยู่นั้น ผู้เป็นมารดาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะความรักและเป็นห่วงในบุตรของตน ได้หาหมอยาที่ชาวบ้านถือกันว่าเก่งสามารถในการรักษา มารักษาด้วยยารากไม้ฝนให้กิน อาการป่วยก็ไม่หายเพียงแต่ทุเลาลงบ้างเล็กน้อย ต่อมาอาการป่วยก็ได้กำเริบขึ้นอีกจึงทรุดหนักลง สลบตายไป ในขณะนั้นปรากฏว่ามีคน 4 คน รูปร่างใหญ่กำยำหามเอาไป ในขณะที่เขาหามไปนั้นรู้สึกว่ามีความกลัวเป็นกำลัง พอหามไปถึงพุ่มดอกพุดใหญ่พุ่มหนึ่ง เขาก็โยนเข้าไปในพุ่มดอกไม้นั้น ลุกขึ้นได้ก็วิ่งหนีกลับพอดีไปสะดุดตอไม้หยิกบ่อถอง (พืชชนิดหนึ่ง) จึงรู้สึกตัวขึ้นเห็นมารดานั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ จึงถามมารดาว่า “ร้องไห้ทำไม”

มารดาว่า “เมื่อกี้นี้ลูกได้ตายหยุดหายใจไป แม่รักลูกห่วงลูกจึงได้ร้องไห้”

พอแม่บอกอย่างนั้นก็ได้สติดีขึ้นมา จึงกำหนดจิตนึกพุทโธเป็นคำบริกรรมไว้ในใจ การนึกถึงพุทโธเป็นคำบริกรรมนั้นได้ทำมาเป็นประจำตั้งแต่บวชมา และมีนิสัยนึกอย่างนั้นมาก่อน เพราะเคยได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่พูดบ้าง และอุปัชฌาย์อาจารย์สอนให้ฟังบ้าง ในตอนบวชใหม่ๆ จึงได้ทำมาเป็นประจำ

หลวงปู่เล่าว่า ถึงป่วยหนักขนาดนั้นก็ไม่ได้ประมาท ในขณะที่ได้สติขึ้นมานั้น อยากจะลุกขึ้นนั่งภาวนา พวกที่เฝ้าไข้ถึงประคองลุกขึ้นนั่งภาวนา ในขณะนั้นได้บริกรรมพุทโธจนออกเสียงเต็มแรงเพราะเวทนายังกล้าอยู่ ในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนได้มองเห็นเงาตัวเองก็เกิดความกลัวขึ้น เขาจึงให้นอนลง เมื่อนอนลงแล้วก็ยังบริกรรมพุทโธออกเสียงเต็มแรง พวกคนที่ดูทั้งหลายเขาก็ห้ามไม่ให้บริกรรมพุทโธเพราะกลัวว่าจะผิดผีและของรักษาต่างๆ ในระยะนั้นคนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือผีไท้ ผีแถน ผีฟ้า เทวดาเป็นของรักษา กลัวว่าเสียงพุทโธนั้นเมื่อผีได้ยินแล้วผีจะโกรธให้ แม้พระพุทธเจ้าจะสอนให้เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันอุดม แต่คนทั้งหลายก็ยังเห็นผิดกันอยู่มาก

ในขณะที่ป่วยอยู่นั้นไม่รู้ว่าญาติพี่น้องให้สึกแต่เมื่อไหร่ ต่อมามารดาได้นำหมอจากบ้านท่าแก ชื่อทิดหวด มารักษา อาการป่วยในครั้งนี้จึงหายขาดไป มารดาจึงยกวัวให้หมอตัวหนึ่งเป็นค่าคาย (ค่ารักษา) หลวงปู่เล่าว่าเมื่อหายป่วยในครั้งนี้แล้วระลึกทบทวนดูว่า ตัวเองเคยบวชแล้วป่วยหนักและก็ได้สึกโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ว่าตนเองสึกแล้วอย่างนั้นก็ยังมีความตั้งใจไว้ว่าจะบวชอีก เพราะมีความพอใจในการประพฤติพรหมจรรย์


๏ ความไม่เที่ยงย่อมแปรปรวน

เมื่อหายป่วยพักฟื้นพอได้กำลัง ย่างเข้าเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473 มารดาจึงได้พาอพยพครอบครัวจากบ้านบึงเป่ง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กลับคืนไปบ้านคำพระ (กุดโอ) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบ้านเดิม การเดินทางก็ใช้เกวียนเทียมวัวเป็นพาหนะขนส่งสิ่งของ คนก็เดินตาม เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านคำพระแล้ว ได้ทำเพิงเป็นที่หลบแดดหลบฝน เพราะตอนที่อพยพไปอยู่ที่บ้านบึงเป่งนั้น ได้ขายบ้าน แต่นายังไม่ขายให้ผู้อื่น พอกลับถึงบ้านเดิมแล้วก็เป็นฤดูทำนาพอดี ประกอบกับร่างกายที่หายจากป่วยไข้ก็มีเรี่ยวมีแรงขึ้น จึงได้ช่วยมารดาและพี่ชายทำนาหว่านกล้าปักดำจนเสร็จ ย่างเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ข้าวเหลืองเต็มท้องทุ่ง จึงได้ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวตามหน้าที่ของชาวนาผู้ที่พึ่งพากำลังของตัวเอง

วันหนึ่งขณะที่เกี่ยวข้าวอยู่นั้น จิตได้นึกขึ้นมาว่า “เราได้บวชเป็นสามเณรครั้งหนึ่ง ที่เราได้สึกก็เพราะเราป่วยหนักจนไม่รู้สึกตัว จึงระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรเพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนนั่นคือเราจะต้องตายเป็นแน่แท้ หาทางหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย จึงคิดว่าจะออกบวชอีก”

แต่แล้วก็มาคิดถึงผู้ที่เป็นมารดาว่า บ้านเรือนที่อาศัยของมารดาก็ไม่แน่นหนาแข็งแรงเพราะเป็นบ้านชั่วคราว จึงคิดจะสร้างบ้านให้มารดาเสียก่อนจึงจะออกบวช พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จย่างเข้าฤดูแล้ง จึงได้ชวนพรรคพวกพากันไปเลื่อยไม้ที่บ้านแสนขุมเงิน เพราะสมัยนั้นบ้านแสนขุมเงินมีต้นไม้ใหญ่ๆ มากมาย
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระธาตุพนม (ในปัจจุบัน) ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร
บ้านธาตุพนม ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม



๏ ความโลภเป็นอันตรายต่อความเป็นธรรม

หลวงปู่เล่าว่า “การเลื่อยไม้ในครั้งนั้น พรรคพวกที่ไปด้วยกันเป็นพวกผู้ใหญ่ ตัวเราเด็กกว่าเขา เมื่อเลื่อยไม้เสร็จแล้ว เวลาจะแบ่งไม้กัน เขาเอาเปรียบเรา เขาจะให้เราน้อยกว่าเขา แต่เครื่องมือเลื่อยไม้นั้นเป็นของเรา จึงได้ต่อว่าต่อขานกัน ในที่สุดเขาก็ยอมออกค่าเครื่องมือให้ เรื่องความโลภนี้เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดย่อมไม่มองเห็นความเป็นธรรมเลย ขอให้ตนเองได้มากๆ ตามความปรารถนาของตนเองแล้ว ใครจะทุกข์จะยากลำบากอย่างไรไม่คำนึงเลย โลกจึงลุกเป็นไฟเผาผลาญกันอยู่ตลอดเวลา” เมื่อรวบรวมไม้พอที่จะสร้างบ้านได้หลังหนึ่งแล้ว จึงได้ใช้ล้อเทียมด้วยควายขนไม้จากบ้านแสนขุมเงินมาบ้านคำพระ (กุดโอ)

ได้ช่วยมารดาและพี่ชายทำนาหาเลี้ยงชีพจนกาลเวลาผ่านไปถึง 3 ปี อายุย่างเข้า 18 ปี กำลังเป็นหนุ่ม มารดาอยากให้มีครอบครัวเหมือนชาวโลกทั่วๆ ไป เพื่อจะได้มีผู้ช่วยการงานบ้าง “ในขณะนั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน พร้อมทั้งแม่ของเขาด้วย เกิดความรักชอบในตัวเรา ได้พยายามไปมาหาสู่กับแม่ของเราอยู่เรื่อยๆ แม่ของเราก็อยากให้แต่งงานกับเขา แต่เราไม่มีความยินดีพอใจอย่างนั้น คิดอยู่แต่จะออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ เพราะคิดว่าในไม่ช้าความตายก็จะมาถึง เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ

อยู่มาวันหนึ่งแม่ของหญิงสาวนั้นคิดอุบายที่จะเอาเราเป็นลูกเขยให้ได้ จึงมาหาแม่ของเราขอร้องให้เราไปขุดบ่อน้ำในสวนให้ เพื่อจะได้ตักเอาน้ำรดผัก ฟักแฟงแตงเต้า และยาสูบ แม่เราจึงบอกให้เราไปช่วยทำให้เขาเสียเพราะสงสาร เขาก็มีลูกสาวคนเดียวไม่มีผู้ชายจะทำให้

เมื่อแม่บอกอย่างนั้นเราจึงไปขุดบ่อน้ำให้เขา ฝ่ายแม่หญิงสาวก็ปล่อยให้ลูกสาวมาช่วยขนดินอยู่กับเราสองต่อสอง ไม่มีใครเป็นเพื่อน และเราเป็นคนขุด เขาเป็นคนรับดินขึ้นไปข้างบน เราก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดไม่พูดอะไรกับเขาเลย เพราะรู้อยู่ในใจว่าเป็นกลอุบายที่เขาวางบ่วงจะผูกเราไว้ในวัฏสงสาร เมื่อขุดบ่อลึกลงไปถึงตาน้ำ กะว่าพอใช้แล้วเราก็ขึ้นจากบ่อ ฝ่ายหญิงสาวจึงพูดว่าคอยอาบน้ำที่บ่อนี้แหละ หนูจะตักขึ้นมาให้อาบ เราไม่ฟังเสียงได้เสื้อผ้าแล้วเดินหนีไปอาบน้ำที่แม่น้ำชี   แล้วก็กลับบ้านไป พ้นภัยพญามารในครั้งนั้น”


๏ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างที่ช่วยพี่ชายและมารดาทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่นั้น ได้ตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนา สวดมนต์ไหว้พระอยู่ไม่ได้ขาด บริกรรมภาวนาพุทโธเป็นอารมณ์ ครั้งหนึ่งเมื่อภาวนาหนักเข้าเกิดลมละเอียดลงๆ จนลมหายใจไม่ปรากฏ จึงเกิดความกลัวสะดุ้งตกใจ จิตจึงถอนขึ้นมา จึงได้หยุดภาวนาในวันนั้น ครั้นวันต่อมาก็ได้ภาวนาบริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ของใจตลอดมา
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ บรรพชาเป็นสามเณรครั้งที่ 2

กาลเวลาผ่านไปถึงปี พ.ศ. 2477 อายุย่างเข้าปีที่ 19 หลวงปู่เล่าว่า พอเข้าฤดูทำนาได้ช่วยแม่และพี่ชายทำนา คราดนา ปักดำ เสร็จแล้วย่างเข้าฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ไม้ที่เตรียมมาไว้ว่าจะปลูกบ้านให้แม่ก็ยังไม่ได้ปลูก เก็บเกี่ยวข้าวก็ยังไม่เสร็จ ภาวนาระลึกถึงความตายจะเกิดขึ้นกับตนเองในเร็ววัน จึงเกิดความร้อนใจกลัวว่าตนจะไม่ได้บวชอีก ยิ่งคิดก็ยิ่งร้อนใจ ในที่สุดทนไม่ไหวจึงได้พูดกับมารดาว่า “ลูกอยากบวชอีก”

เมื่อมารดาได้ฟังนั้นก็ไม่ได้ขัดข้อง จึงพูดขึ้นมาว่า “ดีแล้วนะลูก ถ้าลูกจะบวชให้แม่อย่างนั้น เพราะลูกทั้งหมดยังไม่มีใครบวชให้แม่สักคนเลย ถึงแม้จะมีความยากลำบากในการเก็บเกี่ยวข้าวอย่างไร แม่ก็จะอุตส่าห์อดทนเอาตามยถาของแม่”   

พอแม่บังเกิดเกล้าได้อนุญาตให้บวชได้ดังใจหมาย ก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงจัดแจงเก็บเอาสิ่งของใช้ที่จำเป็นแล้วอำลาผู้เป็นมารดา เดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าไปสู่ที่อยู่ของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน “ในขณะที่เราออกจากบ้านไป หญิงสาวที่มีความหมายมั่นจะได้เราเป็นคู่ครอง ได้มาคอยดักเราอยู่หนทางแล้วเดินตามหลังพูดขอร้องไม่ให้เราออกไปบวช แต่เราไม่ยอมฟังเสียงใคร ในที่สุดเขาก็ได้แต่ยืนร้องไห้มองตามหลังของเราไปเท่านั้น”

ณ ที่ดอนธาตุ บ้านคำพระ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ได้มีพระอาจารย์คำดี ซึ่งเป็นพระธุดงค์กัมมัฏฐานสายพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น มาปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นั้น เมื่อไปถึงดอนธาตุแล้ว ได้กราบนมัสการพระอาจารย์คำดี ขอถวายตัวเป็นศิษย์ของท่าน ท่านรับเป็นศิษย์ของท่านด้วยความเมตตา

ท่านอบรมสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคอยู่ครบ 7 วัน ท่านอาจารย์คำดีได้นำไปบวชเป็นสามเณร (ปลายปี พ.ศ. 2477) ที่วัดฟ้าหยาด บ้านคำไฮ ตำบลคำไฮ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี พระครูวิจิตร (จันทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายมหานิกาย เพราะในสมัยนั้นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายมีน้อยและอยู่ห่างไกล

ครั้นบวชเสร็จแล้ว พระอาจารย์คำดีได้พากลับมาพักอยู่ที่ดอนธาตุระยะหนึ่ง จึงพาเดินธุดงค์จากบ้านคำพระไปอำเภอพนมไพร พักอยู่ที่วัดโนนช้างเผือกซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ มีป่าไม้ ห่างจากตัวอำเภอพนมไพรพอประมาณ เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม อยู่มาไม่นานพระอาจารย์คำดีได้จากไป ท่านได้ฝากให้อยู่กับหลวงพ่อสิ้วและได้จำพรรษาที่วัดโนนช้างเผือกนี้ (วัดประชาธรรมรักษ์ในปัจจุบัน)


๏ เดินธุดงค์มุ่งหน้าเพื่อนมัสการพระธาตุพนม

ต้นปี พ.ศ. 2477 หลวงพ่อสิ้วได้พาเดินธุดงค์จากอำเภอพนมไพร รอนแรมผ่านบ้านเล็กบ้านใหญ่ ป่าเล็กป่าใหญ่ ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น จากพนมไพรผ่านเข้าเขตอำเภอมหาชนะชัย ผ่านเขตอำเภอลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) ทะลุเข้าเขตอำเภอบุ่ง (อำนาจเจริญ) ผ่านเลยไปเลิงนกทา เข้าเขตมุกดาหาร ข้ามน้ำก่ำ ทะลุถึงอำเภอพระธาตุพนม ใช้เวลาเดินทางถึง 15 คืน เมื่อถึงอำเภอพระธาตุพนมแล้ว ได้เข้าพักที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน ในเวลานั้นมี พระอาจารย์ทอง อโสโก เป็นประธานสงฆ์


พระอาจารย์ทอง อโสโก  
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:50 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก  


๏ พบพระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก

หลวงปู่ได้พบ พระอาจารย์กงแก้ว ขนฺติโก ที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทามารยาทอันงดงามของท่าน จะเดินจะยืนจะนั่งท่านจะมีอาการสำรวมอยู่ทุกเวลา เมื่อได้พบเห็นแล้วทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในองค์ท่านเป็นอย่างมาก (ภายหลังท่านมาอยู่ที่วัดกลางสนาม อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2523 รวมอายุ 75 ปี)

ในขณะที่พักอยู่วัดเกาะแก้วอัมพวันนั้น เวลากลางวันก็ได้ไปนมัสการพระธาตุพนม พอดีในปีนั้นคณะกรรมการวัดพระธาตุพนมได้คาดสะเภา (ทำนั่งร้าน) ขึ้นไปจนเกือบถึงยอด หลวงปู่เล่าว่า ในสมัยนั้น 3 ปี จะคาดสะเภา (ทำนั่งร้าน) ขึ้นพระธาตุพนม 1 ครั้ง พอวันสุดท้ายคือวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 จะทำขึ้นไปจนถึงยอดสุดแล้วตกแต่งประดับประดาที่ยอด เสร็จแล้วก็รื้อสะเภาลงมาพร้อม เพราะว่าปล่อยไว้ไม่ได้ บนยอดพระธาตุพนมมีแต่ทองคำ คนทั้งหลายก็นิยมอธิษฐานขึ้นพระธาตุพนม ถือว่าใครมีบุญก็ได้ขึ้นไปถึงยอดได้ ใครไม่มีบุญก็ขึ้นไปได้นิดหน่อยต้องกลับลงมาเพราะเกิดลมวิงเวียนหน้ามืดตาลาย

หลวงปู่อธิษฐานต่อองค์พระธาตุพนมว่า “ถ้าหากจะได้ดำรงอยู่ในเพศพรหมจรรย์จนตลอดอายุขัยนั้น ขอให้ขึ้นพระธาตุพนมได้ถึงยอด” เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วหลวงปู่ก็ขึ้นไปได้ถึงยอดโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย ต่อมาคำอธิษฐานของหลวงปู่ได้กลายเป็นความจริง คือหลวงปู่ได้อยู่ในเพศพรหมจรรย์จนตลอดอายุขัย

9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:51 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ เดินธุดงค์ต่อไปทางจังหวัดนครพนม

เมื่อนมัสการพระธาตุพนมสมความตั้งใจแล้ว หลวงพ่อสิ้วได้พาออกเดินทางจากวัดเกาะแก้วอัมพวัน อำเภอพระธาตุพนม เลาะเลียบแม่น้ำโขงจนถึงนครพนม พักที่ป่าช้าเมืองนครพนม เมื่อพักอยู่ป่าช้าเมืองนครพนมหายเหนื่อยแล้ว ได้เดินต่อจากนครพนมรอนแรมผ่านอำเภอกุสุมาลย์ เดินไปภาวนาไป ไม่ได้ปล่อยจิตใจให้โลเลไปตามสัญญาอารมณ์ การเดินธุดงค์แบบนี้ทำให้ได้กำลังทางจิตใจคือ สติธรรมก็มีกำลัง ขันติธรรมก็มีกำลัง สมาธิธรรมก็มีกำลัง ปัญญาธรรมก็มีกำลัง ธรรมเหล่านี้มีอยู่ที่ไหนเล่า ก็มีอยู่ที่ใจนั่นเอง


พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล


๏ พบพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

เมื่อเดินธุดงค์รอนแรมจากอำเภอกุสุมาลย์ ทะลุถึงเมืองสกลนคร ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พำนักอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส เมืองสกลนคร เมื่อเดินทางถึงวัดป่าสุทธาวาส ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ของอาคันตุกวัตร คือผู้เข้าไปสู่อาวาสต้องแสดงความเคารพ ไม่แสดงความแข็งกระด้าง ลดผ้าห่มเฉวียงบ่า วางบริขารไว้ในที่อันสมควร ดูว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าในอาวาส ไม่ได้รับแขก เป็นโอกาสอันสมควร หลวงพ่อสิ้วจึงได้พาเข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ขอพักค้างคืนอยู่กับท่าน ท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ไม่ขัดข้อง อนุญาตให้พักได้ คือในขณะนั้นต่างนิกายกันกับท่าน

หลวงปู่เล่าว่า เมื่อได้ทัศนาและกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ในครั้งแรก ได้เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาจริยาวัตรของท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้คิดในใจว่า “เมื่ออายุของเราครบบวชพระได้ เราจะบวชในสังกัดธรรมยุติกนิกาย แล้วจะติดตามไปปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์”

พักอยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ ที่วัดป่าสุทธาวาสนี้ 2 คืน เมื่อฉันบิณฑบาตและจัดแจงบริขารลงในบาตร เตรียมการเดินทางเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อสิ้วจึงได้พาเข้ากราบนมัสการลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ในขณะนั้นท่านได้เตือนให้ธรรมะว่า “ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดีนะ” สามเณรบุญจันทร์ กัมปันโน พอได้ยินท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ให้โอวาทอย่างนั้น เกิดปีติเยือกเย็นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย มีความเบากายเบาจิต คำที่ท่านเตือนให้โอวาทนั้นฝังอยู่ในจิตไม่ได้เลือนลาง


เมื่อกราบลาท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์แล้ว หลวงพ่อสิ้วได้พาเดินธุดงค์จากสกลนครข้ามเขาภูพานลงไปทางบ้านชาตินาโก ภูแล้นช้าง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินรอนแรมผ่านอำเภอบัวขาว (กุฉินารายณ์) ทะลุถึงอำเภอแวง (อำเภอโพนทอง) จังหวัดร้อยเอ็ด ผ่านอำเภอเสลภูมิ เดินไปภาวนาไป ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ในที่สุดการเดินทางก็ได้ทะลุถึงอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด พักที่วัดโนนช้างเผือก (วัดประชาธรรมรักษ์ ในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2478 อายุ 20 ปี ได้จำพรรษาที่วัดโนนช้างเผือก เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว หลวงพ่อผงได้พาเดินธุดงค์เที่ยววิเวก

10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-1-9 12:52 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๏ มุ่งหน้าสู่เขาพระวิหาร

เมื่อจัดแจงบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุงเรียบร้อยแล้ว สะพายบาตรใส่บ่าข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งจับกลดแบกใส่บ่า มือข้างหนึ่งถือกาน้ำ ออกเดินทางจากวัดโนนช้างเผือกถึงบ้านนาม่วง อำเภอพนมไพร เป็นเวลาใกล้ค่ำ มีป่าแห่งหนึ่งเป็นที่วิเวกเหมาะแก่พระธุดงค์กัมมัฏฐาน หลวงพ่อผงจึงได้พาเข้าพักในป่านั้น ในคืนนั้นฝนได้ตกตลอดทั้งคืน ได้นั่งกรำฝนอยู่ใต้กลดจนตลอดรุ่ง พอรุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านนาม่วง ได้อาหารมาฉันพอประทังชีวิต  ต่อจากนั้นได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอคง (อำเภอราษีไศล ในปัจจุบัน) รอนแรมไปจนถึงบ้านจุมพร ได้พักวิเวกในป่าช้าบ้านจุมพร หลวงปู่เล่าว่า โยมเขาทำร้านด้วยไม้เลียนลำ (ไม้กลมวางเรียงกันโดยไม่ได้ยึดติดกัน) ให้ยาวพอสุดหัวสุดเท้า กางกลดบนร้านนั้น และทำทางจงกรมข้างหลุมฝังศพใหม่ๆ เมื่อโยมทำสถานที่ให้แล้ว เขาก็กลับบ้านไป เหลือแต่หลวงปู่กับหลวงพ่อผงอยู่ในป่าช้านั้น ซึ่งทำที่พักอยู่ห่างๆ กัน พอตะวันค่ำมืดลงจึงได้เข้าสู่ทางเดินจงกรม

ในขณะนั้นได้มีแสงพระจันทร์สาดแสงส่องสว่างมาแทนแสงพระอาทิตย์ เพราะในวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน 12 พอดี เดินจงกรมอยู่ริมหลุมฝังศพใหม่ๆ นั้น เดินกลับไปกลับมา ตั้งสติกำหนดจิตบริกรรม พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก ทันใดนั้นได้เกิดเสียงดังโครมครามขึ้นที่กองฟอนหลุมฝังศพนั้น หลวงปู่ตกใจจนเหมือนตัวหายไปหมด สักครู่หนึ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา ตั้งสติสอนใจตัวเองว่า “คงจะไม่ใช่ผีหลอกผีหลอนอะไรหรอก เราจะกลัวอะไร ถ้าว่าผีก็ไม่เห็นมันมาต่อสู้อะไรกับเรา ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตนอะไรมา”

ในที่สุดก็ได้กำลังใจขึ้นมาทุกทีๆ ความกลัวนั้นก็หายไป ได้เดินจงกรมไปมาจนเหนื่อยแล้วจึงหยุด ล้างเท้าแล้วขึ้นบนร้าน จัดแจงเอามุ้งกลดลงแล้วเข้านั่งในมุ้งกลดนั้น เตรียมไหว้พระสวดมนต์ ขณะนั่งไหว้พระนั้นกระดุกกระดิกแรงก็ไม่ได้ เพราะไม้ที่ปูเลียนลำนั้นวิ่งออกจากกัน จึงต้องมีสติระมัดระวัง นี้จึงเป็นเหตุให้ธรรมะเกิดขึ้นที่ใจ คือ ความเพียร ความระลึกรู้ ความตั้งใจมั่น และความรอบรู้ของใจ เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เข้าที่นั่งภาวนาต่อไป ในขณะนั้นจิตได้รวมตัวสงบเข้าเป็นหนึ่ง คลายจากความกลัวทั้งหมด แล้วจึงได้หยุดพักผ่อน รุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน กลับออกมาที่พักมีโยมผู้หญิง 3 คน ตามมาถวายอาหาร

พักอยู่ 2 คืน จึงออกเดินทางต่อไปถึงบ้านนาทุ่ง พวกโยมทำที่พักให้ในป่าแห่งหนึ่งจึงได้พักอยู่ในที่นั้น ได้มีคนรู้จักกับหลวงพ่อผงได้มาสนทนาด้วย ต่อจากนั้นจึงได้เดินธุดงค์ต่อไปทางอำเภออุทุมพร ถึงบ้านนาม้อง พักในป่าแห่งหนึ่ง จัดแจงเอาสายระเดียงขึง สันข้างหนึ่งผูกต้นไม้ต้นหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ผูกต้นไม้อีกต้นหนึ่ง แล้วเอากลดแขวนตรงกลางเอามุ้งกลดวงรอบ เอาผ้าอาบน้ำปูลงกับพื้นดิน ไหว้พระภาวนาแล้วจำวัดในที่นั้น

รุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านเขาตื่นสายไม่มีคนใส่บาตร เดินไปพอดีมีบ้านหลังหนึ่งเจ้าของกำลังติดไฟแล้วเอาหม้อหุงข้าวใส่น้ำตั้งบนก้อนเส้า จึงได้ยืนภาวนาคอยอยู่ในที่นั้น เมื่อเขาเอาหม้อตั้งไว้แล้ว เขาก็ไปตักเอาข้าวเปลือกในเล้ามาใส่ครกไม้ตำด้วยสากมือ คือเอามือจับสากแล้วตำข้าวในครก ตำไปแล้วก็ตักออกใส่กระด้ง ฝัดข้าวสารใส่หม้อ ที่เหลือเป็นข้าวเปลือกก็ใส่ครกตำไปอีก ฝัดเอาข้าวสารใส่หม้ออีก ทำอยู่อย่างนี้จนกะว่าจะกินอิ่มในครัวเรือนนั้นจึงหยุด

เมื่อข้าวสุกดีแล้ว เขาก็ตักเอาข้าวในหม้อนั้นมาใส่บาตรให้ พร้อมกับเกลือก้อนหนึ่งเท่าหัวโป้มือ (หัวแม่มือ) และพริกแห้ง 2-3 ลูก และปลาระฮอกก้อนหนึ่งเท่าลูกมะกอก รับบิณฑบาตโดยเคารพด้วยเมตตาและขันติความอดทน แล้วจึงกลับไปสู่ที่พักทำภัตตกิจ ฉันข้าวกับพริกเกลือและปลาระฮอก พอกำจัดความหิวและยังชีพให้เป็นไปพอได้เจริญสมณธรรมต่อไป เมื่อฉันเสร็จแล้วล้างบาตรจัดแจงแต่งบริขารเรียบร้อยแล้ว จึงได้อำลาบ้านนาม้อง สององค์กับหลวงพ่อผงได้ธุดงค์รอนแรมไปถึงห้วยทับทัน แล้วได้วกกลับมาจนถึงอำเภอพนมไพร ความตั้งใจจะไปเขาพระวิหารจึงไม่สำเร็จ เมื่อกลับถึงอำเภอพนมไพร จึงเข้าพักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีก ในระหว่างนั้นก็ไม่มีครูบาอาจารย์สอนเรื่องภาวนา ก็ด้นเดาทำเอา
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้