ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ~

[คัดลอกลิงก์]
31#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร



สุณาตุ เมภนฺเต สงฺโฆ,

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

อิทานิ โข ปเวทิเตน ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส
ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส ปรมราชโองฺการเรน
ญาณสํวโร มหาเถโร สยามรฏฺเฐ สกลมาสงฺฆปริณายโก
สงฺฆราชา ปติฏฺฐาปิโต,

บัดนี้ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการ
แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า  
ทรงพระกรุณาสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประธานาธิบดีสงฆ์ทั่วสยามรัฐราชอาณาจักรแล้ว

โส มหาราชา ธมฺมิโก ธมฺมราชา อคฺคสาสนูปตฺถมฺภโก,

สมเด็จพระมหาราชเจ้าทรงตั้งอยู่ในธรรม  
ทรงเป็นธรรมราชา ทรงเป็นเอกอัครรณูปถัมภก

รฏฺฐปาลาโรจนญฺเจว มหาเถรสมาคเม สงฺฆทสฺสนญฺจ  
เอกจฺฉนฺาทมเตน สุตาวี สยมฺปิ โยนิโส อุปฺปริกฺขิตฺวา,

ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล
และสังฆทัศนะในมหาเถรสมาคม โดยเอกฉันทมติแล้ว
ทรงพิจารณาโดยรอบคอบ  แม้ด้วยพระองค์เองด้วย

ราชารมนฺวาย พุทฺธสาสนํ อุปตถมภิตํ
สงฺฆราชฏฺฐปนปฺปกาสนํ กาเรสิ,

ทรงอาศัยพระราชอำนาจให้ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระสังฆราช  เพื่ออุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา

สาธุ ภนเต สกโล สงฺโฆ อิมญฺจ สงฺฆราชฏฺฐปนํ
อิมญฺจ สงฺฆราชฏฐปิตํ มหาเถรํ อนุโมทตุ สมปสีทตุ,

ข้าแต่ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์ทั้งปวง  
จงอนุโมทนาปสาทการ  
ซึ่งการทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  และพระมหาเถระ
ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ดังนี้

สาธุ โข ปน สกโล สงฺโฆ สงฺฆราชมหาเถรปฺปธาโน
สมคฺโต เอกจฺฉนฺโท หุตวา,

และขอพระสงฆ์ทั้งปวง
ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราช  ทรงเป็นประธาน  
จงมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นเอกฉันท์

พุทฺธสาสเน สพฺพกรณียํ อนุคฺคณฺหาตุ,

อนุเคราะห์ปฏิบัติกรณียะทั้งปวงในพระพุทธศาสนา

อปิจาหํ ภนฺเต อามนฺเตมิ,

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  อนึ่งข้าพเจ้าขอเชิญชวน

สกโล สงฺโฆ กลฺยาณจิตฺตํ สมนฺนาหริตฺวา ปรมินฺทสฺส ภูมิพลอตุลเตชสฺส
ธมฺมิกมหาราชาธิราชวรสฺส สพฺพวรชยมงฺคลํ,

พระสงฆ์ทั้งปวงจงรวมกัลยาณจิตอธิษฐาน
ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า,

โส มหาราชา สราชินีราปุตฺตธีตุราชวํสโก สามจฺจปริวาโร
สสพฺพวสกนิกโร สุขิโต โหตุ อโรโค นิรุปทฺทโว,

ขอพระองค์จงทรงพระเกษมสำราญ
ปราศจากโรคาพาธอุปัทธวอันตราย
พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา พระราชวงศ์
พร้อมทั้งรัฐบาล  ข้าราชการ ข้าราชบริพารทุกฝ่าย พสกนิกรทุกหมู่ทุกเหล่า,

จิรํ รชฺเช ปติฏฺฐาตุ,

ขอพระองค์จงเสด็จสถิตในพระศิริราชสมบัติตลอดกาลนาน

อิโต ปรํ สงฺโฆ ญาณสํวรสงฺฆราชฏฺฐปิตสฺส
มหาเถรสฺส กลฺยาเณเนว เจตสา อนูโมทนสชฺฌายนํ กโรตุ,

ต่อแต่นี้ ขอพระสงฆ์ได้มีกัลยาณจิต
สวดอนุโมทนาถวายพระมหาเถร
ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าประกาศสถาปนา
เป็นสมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ บัดนี้ เทอญ.


จบแล้ว พระสงฆ์ในพิธีมณฑลพนมมือถวายอนุโมทนา
เปล่งวาจา “สาธุการ” พร้อมกันแล้ว

32#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร
ในวันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช



• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๐ นาที

สมเด็จพระวันรัต (แทนสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ นำสวด)

พระสงฆ์ทั้งปวงในพิธีมณฑลพนมมือทั้งปวงรับพร้อมกัน ๓ จบ จบแล้ว

• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๑ นาที

นายเสนาะ พ่วงภิญญโญ
รองอธิบดีกรมการศาสนารักษาการแทนอธิบดีกรมการศาสนา
กราบทูลนำเสด็จ สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
ไปประทับ ณ อาสนะซึ่งปูลาดไว้ข้างพระท่านเศวตฉัตร  
ที่ต้นอาสนะสงฆ์สังฆมณฑล

สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะกรรมการมหาเถรสมาคม  
ตามไปนั่งที่อาสนะสงฆ์ในลำดับถัดจากสมเด็จพระสังฆราช
  
• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๔ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
เสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตรแด่ สมเด็จพระสังฆราช

ทรงแบพระหัตถ์เหนือพานแก้วรับน้ำนั้นทรงลูบพระเศียร
ขณะนั้นพระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา
โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พรานบันลือสังข์  พนักงานภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์
เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร  ดุริยางค์  
(พิณพาทย์กรมศิลปากรบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย)

พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรชุมนุมในพระอุโบสถเจริญชัยมงคลคาถา
และมีการย่ำระฆังพร้อมด้วยวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมื่อถวายน้ำมหาสังข์ทักษิณาวัฏแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ถวายพระสุพรรณบัฏ  ตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
พัดยศ ไตรแพร เครื่องสมณศักดิ์  รวม ๑๙ รายการ ตามลำดับดังนี้

- พระแท่นเศวตฉัตร ๓ ชั้น

ทอดถวาย ณ ที่ต้นอาสนะสงฆ์  

- พระสุพรรณบัฏ พร้อมด้วยพระบรมราชโองการใหญ่
และใบกำกับการเลื่อนสมณศักดิ์   

นายสุรินทร์ ศรีวิทยา ผู้อำนวยการกองประกาศิต เป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้บนแท่นพระเศวตฉัตร

- พระตราตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนา
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการศาสนา เป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้บนแท่นพระเศวตฉัตร

- พัดยศ

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้ที่ฐานปักพัดยศ

- ไตรแพร ๑ สำรับ บาตรพร้อมฝาและเชิงบาตร

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญไปตั้งไว้ที่ฐานปักพัดยศ

- พานพระศรีประกอบด้วยมังสี ๒
ตลับพู่ ๑ จอก ๑ ซองพลู ๑ (พร้อมพลู)
ขันน้ำพานรองมีจอกคลุมตาดรูปฝาชี
หีบตราจักรี (หีบหลังเจียด) คณโฑกาทรงกระบอก
หม้อลักจั่นปิ่นโตกลม ๔ ชั้นสุพรรณาราช สุพรรณศรี

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้เชิญทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับแล้ว
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนารับไปตั้ง
ที่โต๊ะข้างพระแท่นเศวตฉัตร โดยลำดับ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ถวายใบปวารณาแทนจตุปัจจัยไทยธรรม
แด่สมเด็จพระราชาคณะที่อาสนะสงฆ์  

พระราชาคณะและสงฆ์นอกนั้นในสังฆมณฑล  
ลงจากอาสนสงฆ์เดินเข้าไปรับพระราชทานตามลำดับ รวม ๑๔๘ รูป
แล้วกลับเขานั่งในอาสนะที่เดิม  
พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถาจบ ดุริยางค์หยุดประโคม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
พระทับพระราชอาสน์ทรงหลั่งทักษิโณทก  
พระสงฆ์ในสังฆมณฑลถวายอนุโมทนา  
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
ถวายอดิเรกจบแล้ว  

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์  กรมการศาสนา
เชิญพัดยศ  สมเด็จพระสังฆราชไปตั้งที่เบื้องขวา
ที่ประทับ สมเด็จพระสังฆราช ที่แท่นอาสนะสงฆ์กลางพระอุโบสถ
กราบทูลนำเสด็จ สมเด็จพระสังฆราช  ไปประทับที่อาสนะสงฆ์
หันพระพักตร์ออกไปทางพระทวารกลางพระอุโบสถ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายมหานิกาย  
และสมเด็จพระวันรัต พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายธรรมยุต
(แทนสมเด็จพระมหาวีระวงศ์)  
ถวายเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธง ธูปเทียนแพ  ทรงรับไว้แล้ววางไว้  
เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์  กรมการศาสนา เชิญออกไป

33#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

ตราอักษรย่อพระนาม ญสส.


• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๕๐ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ ธูปเทียนแพ พร้อมกระทงดอกไม้ ทรงกราบราบ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประนมพระหัตถ์ถวายอนุโมทนา
เสด็จไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ ธูปเทียนแพ พร้อมกระทงดอกไม้ ทรงกราบราบ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประนมพระหัตถ์ถวายอนุโมทนา เสด็จไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
เสด็จไปถวายเครื่องสักการะ ธูปเทียนแพ พร้อมกระทงดอกไม้ ทรงกราบราบ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงประนมพระหัตถ์ถวายอนุโมทนา เสด็จไปประทับพระราชอาสน์ที่เดิม

อนึ่ง เมื่อจะเสด็จไปถวายเครื่องราชสักการะ
เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังลาดพระสุจหนี่ถวายที่พื้นหน้าอาสนะสงฆ์
และเมื่อเสร็จการแล้วถอนออก  และขณะเครื่องสักการะนั้น
ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทลดตัวลงนั่งคุกเข่า

ลำดับจากนั้น นายสัญญา ธรรมศักดิ์  ประธานองคมนตรี
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
นายอุกฤษ มงคลนาวิน  ประธานรัฐสภา
และนายจำรัส เขมะจารุ ประธานศาลฎีกา
เข้าถวายเครื่องสักการะตามลำดับ
  


ตราอักษรย่อพระนาม ญสส.

34#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๕๕ นาที

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
หันพระองค์ไปทรงกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  
แล้วเสด็จลงจากอาสนะสงฆ์  

นายเสนา พ่วงภิญโญ รองอธิบดีกรมการศาสนา
รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการศาสนา
นำเสด็จออกจากพระอุโบสถลงทางพระทวารกลาง
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาเชิญพัดยศนำเสด็จ
เจ้าหน้าที่กองประกาศิตและเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา
เชิญพระสุพรรณบัฏไตรแพร และเครื่องยศสมณศักดิ์ตามเสด็จ

ณ ที่ระเบียงหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม   
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงรับเครื่องสักการะของบรรพชิตญวน ๑๐ รูป  
และบรรพชิตจีนรวม ๒๐ รูป มีดังนี้

พระคณานัมธรรมวิธานาจารย์ เจ้าคณะใหญ่อนัมนิกาย วัดกุศลสมาคร
พระสมณานัมวุฒาจารย์ รองเจ้าคณะใหญ่ วัดถ้าเข้าน้อย
พระครูบริหารอนัมพรต ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่  วัดอนัมนิกายาราม
องสุตบทบวร ปลัดซ้าย วัดสมณานัมบริหาร
องสรพจนสุนทร รองปลัดขวา วัดอุภัยราชบำรุง
องพจนกรโกศล รองปลัดซ้าย วัดเขตร์นาบุญญาราม
องอนนตสรภัญ ผู้ช่วยปลัดขวา วัดถาวรวราราม กาญจนบุรี
องปลัดวันเดื๊อก คณานุกรม วัดกุศลสมาคร
องใบฏีกาไพศาล คณานุกรม วัดกุศลสมาคร
พระภิกษุจิ้นฟุก วัดสมณานัมบริหาร
พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนเนตา (เย็นเต๊ก)
เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (ซิวแจ๋) ปลัดขวา เจ้าสำนักสงฆ์สุธรรม
หลวงจีนธรรมนาทจีนประพันธ์ (เย็นช้ง) รองปลัดขวา เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เย็น
หลวงจีนธรรมนันท์จีนประภัทธ์ (เย็นเฮ้า) รองปลัดซ้าย  เจ้าอาวาสวัดฉื่อฉาง
หลวงจีนธรรมรักษ์จีนประจิต (เย็นเกา)  ผู้ช่วยปลัดซ้าย วัดโพธิธัตตาราม
หลวงจีนวินัยธร  (เย็นจี่) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนสังฆรักษ์ (เย็นซิม) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
รักษาการเจ้าอาวาสวัดเทพพุทธาราม  
หลวงจีนสมุห์  (เย็นบุ๊ง) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนใบฎีกา (เย็นงี้) คณานุกรมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย วัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงจีนเย็นจี่ วัดมังกรกมลาวาส  



หลวงจีนสังฆรักษ์ (เย็นซิม)
หรือพระอาจารย์จีนธรรมนันท์จีนประพัทธ์



จากนั้น สมเด็จพระญาณสังวร   สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
เสด็จออกจากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์ประเทียบ
ที่ประตูเกยหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร

อนึ่ง พระสงฆ์นอกนั้นในสังฆมณฑล  
กลับออกจากพระอุโบสถทางพระทวารด้านท้ายอาสนะสงฆ์

•  เวลา ๑๘ นาฬิกา ๓ นาที  

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ  
เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการหน้าธรรมาสน์ศิลา
แล้วทรงรับการถวายการเคารพของผู้มาเฝ้าฯ
เสด็จออกจากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์
เสด็จไปตามทางลาดพระบาท
ทรงรับพวงมาลัยและเงินโดยเสด็จพระราชกุศลจากประชาชน  
เสด็จไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง  
ที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษชัยศรี  
กลับพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

อนึ่งการพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นี้
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย  
และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
ได้ถ่ายทอดให้ประชาชนได้ชมและฟังตั้งแต่ต้นจนเสร็จการพระราชพิธี

ในปีเดียวกันนั้น  ได้เสด็จเยี่ยมพระภิกษุสามเณร  
และพุทธศาสนิกชนใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้
คือ สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ตามคำกราบทูลอาราธนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้   
ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒


• พ.ศ. ๒๕๓๓

เป็นประธานสงฆ์ในการเจริญพระพุทธมนต์  
พระราชพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปชัยวัฒน์
และพระกริ่งสมเด็จระศรีนครินทรา พระบรมราชชนนี
ทรงเจริญพระชนมายุ ๙๐ พรรษา
และเป็นประธานจุดเทียนชัย  
ทรงนั่งปรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
35#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ พระศาสนกิจในต่างประเทศ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียะต่างๆ
มาแต่ครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่  พระสาสนโสภณ
เช่น การจัดให้มีการเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ
จัดให้มีการสอนกรรมฐานแก่ชาวต่างประเทศ
และจัดให้มีการสนทนาธรรมแก่ชาวต่างประเทศเป็นประจำ
(ทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์)

โดย เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ดำเนินการเองร่วมกับพระภิกษุไทย
และพระภิกษุชาวต่างประเทศที่บวชอยู่ วัดบวรนิเวศวิหาร
นอกจากนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังได้เสด็จไปปฏิบัติศาสนกิจ
เกี่ยวกับการพระศาสนาในต่างประเทศอีกหลายคราว คือ

• พ.ศ. ๒๕๐๙

ในฐานะประธานกรรมการอำนายการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ได้เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์
ในพิธีเปิดวัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ  
เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด
เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

การเสด็จไปประเทศอังกฤษ คราวนี้
ก็เป็นโอกาสให้ได้ดูกิจการพระธรรมทูต
และการพระศาสนาในประเทศนั้น
และในประเทศอิตาลีในขากลับประเทศไทยอีกด้วย

• พ.ศ. ๒๕๑๐

ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม ได้ตามเสด็จ
สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม
ซึ่งเสด็จเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ
ตามคำทูลอาราธนาของรัฐบาลศรีลังกา
เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างศาสนิกชนแห่งประเทศทั้งสอง

และเป็นการตอบแทนไมตรีของรัฐบาลไทย
ที่ได้นิมนต์พระมหานายกะของสยามวงศ์นิกายแห่งลังกา
มาเยือนประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙

• พ.ศ. ๒๕๑๑

เสด็จไปดูการพระศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษาทั่วไป
ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์
ในฐานะประธานสภาการคึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
โดยอนุมัติของมหาเถรสมาคม
พร้อมด้วย พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙)
(สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม)
เลขาธิการสภาการศึกษาฯ ในขณะนั้น

เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้
ผลปรากฏว่าต่อมาได้มีการติดต่อกับหัวหน้าชาวพุทธไปประเทศอินโดนีเซีย
และได้วางโครงการร่วมกันในอันที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น
สุดท้ายหัวหน้าชาวพุทธในประเทศอินโดนีเซียได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย
เจรจากับ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ
ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ขอพระธรรมทูตไทยออกไปช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศอินโดนีเซีย

กรมการศาสนาร่วมกับสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
จึงได้คัดเลือกพระธรรมทูตไทย ๔ รูป  เสนอ มหาเถรสมาคม
ส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น
พระธรรมทูตชุดแรกออกไปเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
และพระธรรมทูตชุดนี้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในประเทศนี้ถึง ๑๐ ปีเศษ

สำหรับประเทศออกเตรเลียนั้น
ปรากฏว่ามีผู้นับถือและสนใจพระพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก
มีความประสงค์ให้มีพระสงฆ์อยู่
เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศนั้นด้วย

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ในฐานะผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย
จึงได้เสนอเรื่องการจัดตั้งสำนักสงฆ์ไทยในออสเตรเลีย
ต่อคณะกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ก็ได้รับความเห็นชอบ และจัดตั้งสำนักสงฆ์ไทยขึ้นในประเทศนั้น
ในความอุปการะของ มหามกุฏราชวิทยาลัย

และได้จัดส่งพระภิกษุไทยร่วมกับพระภิกษุชาวต่างประเทศ
(ซึ่งบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร) ออกไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นครั้งแรก
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ และต่อมาก็ได้จัดตั้งวัดขึ้น
และประกอบพิธีเปิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘



• พ.ศ. ๒๕๑๓

เสด็จไปประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง
ตามคำอาราธนาของหัวหน้าพระธรรมทูตไทย
และ พระชินรักขิตเถระ หัวหน้าพุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซีย

เพื่อให้การบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวอินโดนีเซีย ๗ คน
พร้อมด้วย พระธรรมโสภณ (สนธิ์ กิจฺจกาโร)
(ภายหลังเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระญาณวโรดม
รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร)

การเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้
เป็นโอกาสให้ได้สังเกตการณ์เกี่ยวกับความเป็นอยู่
วัฒนธรรม และความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น

พระขนฺติปาโล ได้บันทึกการเดินทางเล่าถึงสิ่งที่พบเห็น
และข้อคิดเห็นบางประการไว้อย่างน่าสนใจ
หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔
36#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


• พ.ศ. ๒๕๑๔

ในฐานะประธานสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
เสด็จไปดูการศาสนาและการศึกษา
ในประเทศปากีสถาน เนปาล และอินเดีย
พร้อมด้วย พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙)
(สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม)
เลขาธิการสภาการศึกษาฯ ในขณะนั้น

ในโอกาสเดียวกัน ก็ได้รับอนุมัติจาก มหาเถรสมาคม
ให้เป็นผู้แทนของคณะสงฆ์ไทยไปเยี่ยมเยียนพระสงฆ์
และวัดพระพุทธศาสนาในประเทศปากีสถานตะวันออก
และนำสาส์นของ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)  
ถึงพุทธศาสนิกชนชาวปากีสถานตะวันออก


สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


พร้อมทั้งนำเอาวัสดุสิ่งของต่างๆ และกัปปิยภัณฑ์จำนวนหนึ่ง
ซึ่งทางคณะสงฆ์ไทยได้จัดหามาไปมอบแก่
พระภิกษุสามเณรและชาวพุทธในประเทศปากีสถานตะวันออก
ที่ประสบวาตภัยครั้งใหญ่ในคราวนั้นด้วย

เมื่อกลับจากการเดินทางครั้งนั้นแล้ว
ก็ได้ทำรายงานเสนอมหาเถรสมาคม
ทำให้คณะสงฆ์ได้ทราบถึงความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในประเทศนั้นๆ
ซึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลือในการฟื้นฟู

และทำให้คณะสงฆ์เห็นชอบด้วยกับความดำริของคณะสงฆ์เนปาล
ซึ่งจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศนั้น
และยินดีสนองความต้องการของคณะสงฆ์เนปาล

ในขั้นแรกนี้สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
ได้เสนอให้ทุนการศึกษาจำนวน ๒ ทุน
สำหรับให้พระภิกษุสามเณรชาวเนปาล
เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ต่อมาคณะสงฆ์เนปาลก็ได้คัดเลือกสามเณร ๒ รูป
ส่งเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยพักอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
เข้าศึกษาที่สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในหลักสูตรพิเศษ ๓ ปี
สำหรับพระภิกษุและสามเณรชาวต่างประเทศ

• พ.ศ. ๒๕๑๘

เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิด วัดพุทธรังษี สแตนมอร์
ณ นครซิดนีย์ รัฐนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด
และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
ระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม-๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘

• พ.ศ. ๒๕๒๐

เสด็จไปบรรพชากุลบุตรชาวอินโดนีเซียจำนวน ๔๓ คน
ณ เมืองสมารัง ประเทศอินโดนีเซีย
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สังฆเถรวาทอินโดนีเซีย
ได้เสด็จไปเยี่ยมชมกิจการพระศาสนา ณ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ขากลับทรงแวะเยี่ยมชมการพระศาสนา ณ ประเทศสิงคโปร์ ด้วย
ระหว่างวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐-๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑

• พ.ศ. ๒๕๒๓

เสด็จไปร่วมประชุม  สหพันธ์คีตาอาศรมสากล
ในฐานะที่ทรงเป็นพระอาคันตุกิเศษ ณ ประเทศอินเดีย

เมื่อทรงเสร็จภารกิจที่ประเทศอินเดียแล้ว
ได้เสด็จไปเยี่ยมชมกิจการพระศาสนา ณ ประเทศเนปาล อีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ในศกเดียวกัน เสด็จไปทรงดูกิจการพระศาสนา
ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรป
ตามคำอาราธนาของบริษัท ศรีกรุงวัฒนา จำกัด

พร้อมด้วย พระธรรมดิลก (ปุญฺญาราโม วิชมัย บุญมาก)
(สมณศักดิ์สุดท้ายที่ พระพรหมมุนี)
ระหว่างวันที่ ๓ เมษายน-๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

• พ.ศ. ๒๕๒๘

เป็นประธานคณะสงฆ์พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก ๑๙ รูป
จากประเทศไทยไปทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ
วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ณ ประเทศอินโดนีเซีย
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เถรวาทอินโดนีเซีย

เป็นการผูกพัทธสีมาพระอุโบสถวัดพระพุทธศาสนาเถรวาท
เป็นครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซียนั้น

ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๘

ในศกเดียวกัน เสด็จพร้อมด้วยคณะสงฆ์จากประเทศไทย
ไปเป็นประธานบรรพชากุลบุตรศากยะแห่งเนปาล
จำนวน ๗๓ คน ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เนปาล
ระหว่างวันที่ ๒๓-๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘

• พ.ศ. ๒๕๓๖

เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ
ตามคำกราบทูลอาราธนาของรัฐบาลจีน
โดยได้เสด็จเยือนเมืองต่างๆ คือ
ปักกิ่ง ซีอาน คุนหมิง และสิบสองปันนา
ระหว่างวันที่ ๒๐ มิถุนายน-๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

นับเป็นการเจริญศาสนสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน
เป็นทางการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง


• พ.ศ. ๒๕๓๘

เสด็จไปทรงเป็นประธานวางศิลาฤกษ์
วัดไทยลุมพินี  ณ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล  
ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘

37#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


๏  การสาธารณูปการ

นับแต่ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร  
ได้ทรงบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด
ตลอดถึงการก่อสร้างถาวรวัตถุอันเป็นสาธารณประโยชน์
ในที่อื่นๆ ภายนอกวัดบวรนิเวศวิหาร อีกเป็นจำนวนมาก

ถาวรวัตถุที่สร้างขึ้นใหม่ในวัดบวรนิเวศวิหารคือ

๑. ตึกกวีบรรณาลัย  ห้องสมุดของสภาการศึกษาของสภามหามงกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
๒. ตึกวชิรญาณวงศ์  อาคารเรียนของวัดบวรนิเวศ  
๓. ซุ้มปรางที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ บนลานประทักษิณชั้นที่ ๒ ของพระเจดีย์ใหญ่
๔. กุฏิหลวงเจริญฤทธิศาสตร์ ในคณะเหลืองรังษี
๕. กุฏิพระนิกรบดี คณะเขียวรังษี
๖. ตึก ภ.ป.ร. พิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร
๗. กุฏิคุณหญิงจี๊ด สัตยานุรักษ์ ในคณะเหลืองรังษี
๘. กุฏิรามเดชะ ในคณะสูง
๙. ถังน้ำบ่อบาดาล พร้อมติดตั้งนาฬิกาไฟฟ้าและระฆัง ข้างตึกมนุษยนาควิทยาทาน
๑๐. อาคารกิจกรรม หลังตึกวชิรญาณวงศ์ โรงเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
๑๒. มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง หลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
๑๓. โพธิฆระ (เรือนโพธิ์) หลังพระวิหารพระศาสดา
๑๔. ศาลาวชิรญาณ วัดบวรนิเวศวิหาร ๑๕๐ ปี
๑๕. ศาลาหน้าศาลาวชิรญาณ
๑๖. กุฏิตึกหน้ากุฏิใหญ่คณะเขียวรังษี


ตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร ณ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


ส่วนเสนาสนะและถาวรวัตถุอื่นๆ ภายในวัดบวรนิเวศวิหาร
ก็ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งพระอาราม ที่สำคัญคือ


๑. ปิดทองเจดีย์ใหญ่ด้วยโมเสกสีทองตลอดทั้งองค์
๒. ประดับหินอ่อนพระอุโบสถตลอดทั้งหลัง

การก่อสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ ภายนอกวัด
ตลอดถึงการอุปถัมภ์การก่อสร้างวัดต่างๆ นั้นก็มีจำนวนมาก ที่สำคัญคือ



ป้ายชื่อตรงปากทางเข้าวัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี


๑. สร้างตึกวชิรญาณวงศ์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สำหรับเป็นตึกสงฆ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
๒. สร้างตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร ณ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
สำหรับเป็นตึกสงฆ์และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
๓. ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดล้านนาสังวราราม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
๔. ทรงสร้างวัดสันติคีรี  ณ ดอยแม่สลอง บ้านสันติคีรี
ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
๕. ทรงอุปถัมภ์การสร้างโรงเรียนมัธยมญาณสังวร อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
๖. ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
๗. ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดพุมุด อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
๘. สร้างวัดญาณสังวราราม ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี


อาคารสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี



๙. สร้างโรงเรียน และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต
ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
๑๐. ทรงอุปถัมภ์การสร้างตึก ภ.ป.ร.
(ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย)
๑๑. ทรงอุปถัมภ์การสร้างโรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม
ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
๑๒. ทรงจัดสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทรามหาสันติคิรี
ณ ดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย


ตึกวชิรญาณวงศ์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


นอกจากนี้ ก็ยังทรงอุปถัมภ์การก่อสร้างวัดในต่างประเทศอีกหลายแห่งคือ

๑. วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ ณ นครซิดนีย์ รัฐนิวเซ้าท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และเปิดวัดเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๘
๒. วัดจาการ์ตาธรรมจักรชัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ และผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘
๓. พระอุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร
ณ เมืองกิรติปูร กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล
วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑
๔. วัดแคโรไลนาพุทธจักรวนาราม
ณ เมืองโบลิเวีย รัฐแคโรไลนาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑


พระอุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร ณ เมืองกิรติปูร ประเทศเนปาล
38#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระพุทธคยาเจดีย์ วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี


พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ วัดญาณสังวราราม อ.บางละมุง จ.ชลบุรี





วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย


พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ประดิษฐาน ณ วัดประดู่ ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ สามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้



  “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีลักษณะเป็นทรงไทย ๒ ชั้น ๔
หลังคาแฝด ชั้นบนเป็นไม้สักทองฝาสกล สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึง
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เมื่อครั้งเสด็จทรงเยี่ยมวัดประดู่ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
แล้วได้เสด็จทอดพระเนตร “พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕”

39#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏  การสาธารณสงเคราะห์

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเป็นสาธารณสงเคราะห์
เพื่อสุขประโยชน์ของสาธารณชนเป็นเอนกประการ
ทั้งในด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข และด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ

เป็นต้นว่า ประทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ขาดแคลน
ทั้งในโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และโรงเรียนในต่างจังหวัดจำนวนมาก

ทรงจัดสร้างสถานศึกษา เช่น
โรงเรียนสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต
อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
เป็นต้น
เพื่ออำนวยให้เยาวชนมีที่ศึกษาเล่าเรียนได้โดยสะดวก

ทรงจัดสร้างโรงพยาบาล
สำหรับเป็นที่รักษาพยาบาลทั้งแก่ประชาชนทั่วไป
และพระภิกษุสามเณรอาพาธ เช่น
โรงพยาบาลวัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยะมหาราชรมณียเขต
อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
เป็นต้น

ที่นับว่าสำคัญก็คือเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
ทรงพระดำริให้จัดสร้าง “ตึกสกลมหาสังฆปริณายก”
สำหรับสงฆ์อาพาธในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร
เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกพระองค์ รวม ๑๙ พระองค์


ในถิ่นที่ขาดแคลนสถานพยาบาล
กระจายไปในจังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศ

พร้อมทั้งโปรดให้สร้างพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชทั้ง ๑๙ พระองค์
ประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชาประจำโรงพยาบาล
ที่สร้างถวายเป็นพระอนุสรณ์แต่ละแห่ง
และเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนสืบไป ดังนี้

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑”
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆสิตาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๒”
ณ โรงพยาบาลละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๓”
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๔”
ณ โรงพยาบาลเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๕”
ณ โรงพยาบาลแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๖”
ณ  โรงพระปริยัติธรรมวัดพระบาทมิ่งเมือง จังหวัดแพร่
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงษญาณ
สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๗”
ณ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
(พระองค์เจ้าวาสุกรี) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  

“ตึกสกลมหาสังปริณายก ๘”
ณ โรงพยาบาลหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปัญญาอคฺคโต) วัดบวรนิเวศวิหาร

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๙”
ณ โรงพยาบาลชลบุรี จังหวัดชลบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๐”
ณ โรงพยาบาลนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๑”
ณ โรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๒”
ณ โรงพยาบาลขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวราราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๓”
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๔”
ณ โรงพยาบาลอ่าวลึก จังหวัดกระบี่
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๕”
ณ โรงพยาบาลตราด จังหวัดตราด
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๖”
ณ โรงพยาบาลภูกระดึง จังหวัดเลย
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๗”
ณ โรงพยาบาลลานสะกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๘”
ณ โรงพยาบาลไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

“ตึกสกลมหาสังฆปริณายก ๑๙”
ณ โรงพยาบาลท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
(เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร



โรงพยาบาลท่าม่วง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

40#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


๏ พระนิพนธ์

ทางด้านงานพระนิพนธ์ หรือตำรับตำรานั้น
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้เริ่มเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเปรียญ
โดยการเป็นเจ้าหน้าที่แผนกตำราของมหามกุฏราชวิทยาลัย
และเป็นเจ้าหน้าที่หนังสือธรรมจักษุ เป็นต้น

ได้เรียบเรียงเรื่องต่างๆ ไว้มาก
บางเรื่องก็ได้พิมพ์ออกเผยแพร่มาแล้วหลายครั้ง
บางเรื่องก็ยังไม่เคยได้พิมพ์เผยแพร่
กล่าวเฉพาะเรื่องที่เคยพิมพ์มาแล้ว
ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นประเภท ดังนี้

ประเภทตำรา

พ.ศ. ๒๔๙๒ เรียบเรียงอธิบายวากยสัมพันธ์ ภาค ๑-๒
เป็นหนังสืออธิบายบาลีไวยากรณ์
สำหรับใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาของนักเรียนบาลี

และ พ.ศ. ๒๕๑๒ ทรงเป็นผู้อำนายการในการจัดทำปทานานุกรม
บาลี ไทย อังกฤษ และสันสกฤต
ฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้พิมพ์ขึ้นในงานทำบุญอายุ ๖๐ ปี ของหม่อมหลวงบัว กิตติยากร
พระชนนีของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒







ประเภททั่วไป

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทรงเรียบเรียงไว้มาก เช่น
๑.        แนวความเชื่อ
๒.        บัณฑิตกับโลกธรรม
๓.        บวชดี
๔.        การนับถือพระพุทธศาสนา
๕.        คำกลอนนิราศสังขาร
๖.        บุพพการี-กตัญญูกตเวที
๗.        อาหุเนยโย
๘.        ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร (เล่ม ๒)
๙.        หลักพระพุทธศาสนา
๑๐.        พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านเลิศล้ำ
๑๑.        แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน
๑๒.        ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
๑๓.        พระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไร ไทย-อังกฤษ
๑๔.        วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ
๑๕.        ศีล ไทย-อังกฤษ
๑๖.        เรื่องกรรม
๑๗.        สันโดษ
๑๘.        อวิชชา
๑๙.        หลักธรรมสำหรับการปฏิบัติอบรมทางจิต
(ทางลม-อาหารใจ-ปริญญา-บันทึกกรรมฐาน)
๒๐.        พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
๒๑.        การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่

(เริ่มแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ รวมพิมพ์เป็นเล่มใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์
เนื่องในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา
ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕)




ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้