ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ~

[คัดลอกลิงก์]
21#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 22:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร
(พระรูปฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)



๏ สมเด็จพระญาณสังวรรูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในอภิลักขิตกาลเฉลิมพระชนมพรรษาที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระญาณสังวร”
สมเด็จพระราชาคณะในราชทินนามนี้ มีขึ้นเมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์

คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑
ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในวิปัสสนาคุณ
ของ พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย พระนครศรีอยุธยา

จึงทรงอาราธนามาให้ครอง วัดพลับ (คือวัดราชสิทธาราม)
และพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระญาณสังวร”
ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ
สมเด็จพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนนาท
และ บาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

สมัยดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
เป็นพระอุปัชฌาย์ของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓
สมัยทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

และเป็นพระอุปัชฌาย์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔
สมัยทรงผนวชเป็นสามเณร

ถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่
“สมเด็จพระญาณสังวร” และกล่าวกันว่าท่านนั่งหน้า
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
เสมอในงานราชการเพราะมีพรรษายุกาลมากกว่า


สมเด็จพระสังฆราช (สุก) หรือ “พระสังฆราชไก่เถื่อน”


ครั้นเมื่อ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์แล้ว
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ท่านทรงเป็นที่เลื่องลือมากในทางวิปัสสนาคุณ
โดยเฉพาะทางเมตตาพรหมวิหารคุณ กล่าวกันว่า
สามารถแผ่เมตตาจนทำให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้
จึงเรียกกันทั่วไปว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน”

ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณสังวร”
ซึ่งพระองค์ท่านได้รับพระราชทานเป็นองค์แรก
จึงเป็นที่รู้จักและจำกันได้ติดใจของคนทั่วไป
22#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 22:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนา
ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๓ แล้ว
สมเด็จพระราชาคณะในราชทินนามนี้
ก็มิได้พระราชทานแก่พระเถระรูปใดอีกเลย  
นับแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ มาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๕
นี่ก็เป็นเวลานานถึง ๑๕๒ ปี


อนึ่งในวโรกาสที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับสถาปนา
เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นี้


คณะชาวจังหวัดกาญจนบุรี
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเป็นประธาน
ได้พร้อมใจกันจัดงานสมโภชสุพรรณบัฏ
ในวันที่ ๒๑-๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖
ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี

คณะกรรมการจัดงานได้มีมติให้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกในโอกาสอันเป็นมงคลนี้
สำหรับเป็นที่ระลึกบูชาของคณะศิษยานุศิษย์
และผู้เคารพนับถือใน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ขึ้น
จำนวน ๒๐,๐๐๐ เหรียญ (สองหมื่นเหรียญ)


เหรียญสมโภชน์พระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ (ด้านหน้า)



ลักษณะเป็นเหรียญทองแดงรมดำ ขนาด ๒.๗-๓ ซ.ม.
ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินสีห์
ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถพระวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร
มีจารึกอักษรขอม มีมุม  มุมๆ ละหนึ่งตัว
อ่าน น ชา ลิ ติ เป็นหัวใจคาพระสิวลี หริอพระฉิมพลี

ใต้รูปพระพุทธชินสีห์มีจารึก

“สมโภชน์พระสมณศักดิ์สมเด็จพระญาณสังวร ๒๒ เมษายน ๒๕๑๖”

สำหรับด้านหลังเป็นคำอำนวยพร
ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้ประพันธ์ขึ้นสำหรับจารึกในเหรียญนี้เป็นพิเศษ  
และมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับประวัติของพระองค์ด้วย ดังนี้

อิสฺวาสุรตนตฺตยํ         

ขอรัตนสาม คือ อิ (อิติปิโส ภควา, สวา (สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม),
สุ (สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ)

รกขตุ ตฺวํ นิรนฺตรํ

จงรักษาท่านชั่วนิรันดร์

โหตุ สวฑฺฒโน สาธุ

จงเป็นผู้เจริญดี เป็นคนดี

สพฺพตฺถ ญาณสํวโร
และจงเป็นผู้สำรวมในญาณ (คือ ความรู้) ทุกเมื่อแล

23#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 22:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เหรียญสมโภชน์พระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ (ด้านหลัง)



คำว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งแปลว่า “ผู้เจริญดียิ่ง”
มาจากนามฉายาของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ

คำว่า “ญาณสํวโร” ซึ่งแปลว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้
หรือผู้มีความสำรวมในความรู้อย่างยิ่ง
(“ญาณ” หมายถึง ความรู้ และ “สังวร” หมายถึง สำรวม)
มาจากราชทินนาม “สมเด็จพระญาณสังวร”



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


• พ.ศ. ๒๕๑๖

ในฐานะคณะกรรมการมหาเถรสมาคม
และรองประธานคณะกรรมการคณะธรรมยุต
ทรงได้รับฉันทานุมัติจากคณะกรรมการคณะธรรมยุต
ให้เสด็จไปทรงตรวจการณ์คณะสงฆ์  

และทรงเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม ๙ จังหวัด  
คือจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดขอนแก่น

• พ.ศ. ๒๕๑๗

เป็นคณะกรรมการคณะธรรมยุต  

• พ.ศ. ๒๕๑๘

เป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนครูปริยัติธรรม คณะธรรมยุต  

•  พ.ศ. ๒๕๑๙  

เป็นกรรมการคณะมูลนิธิสังฆประชานุเคราะห์

• พ.ศ.  ๒๕๒๐  

เป็น ประธานอำนวยการมูลนิธิมหาวชิราลงกรณ์ราชวิทยาลัย
24#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 22:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฏราชกุมาร
ในการทรงผนวช และเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร



• พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
ในการทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  
เป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัย
ขณะที่พระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร   กรุงเทพฯ
ระหว่างวันที่ ๖-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์

• พ.ศ ๒๕๒๒

เป็นประธานอำนวยการมูลนิธิสิรินธร

• พ.ศ. ๒๕๒๔

ในฐานะ กรรมการมหาเถรสมาคม
และ ประธานกรรมการคณะธรรมยุต
ทรงได้รับฉันทานุมติจากคณะกรรมการคณะธรรมยุต
ให้เสด็จไปทรงตรวจการคณะสงฆ์
และทรงเยี่ยมพุทธศาสนิกชนในภาคเหนือ รวม ๑๐ จังหวัด

คือ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดตาก จังหวัดลำปาง
จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย
จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดอุรดิตถ์ และจังหวัดกำแพงเพชร

• พ.ศ. ๒๕๒๕

เป็นผู้ถวาย พระธรรมเทศนามงคลวิเสสกถา (วิเศษกถา)
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และถวายตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน


พระรูปสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ประดิษฐาน ณ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ วัดญาณสังวราราม จ.ชลบุรี



25#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 22:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
• พ.ศ. ๒๕๒๖

เป็น ประธานกรรมการมูลนิธิวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์

• พ.ศ. ๒๕๒๗

เป็น ประธานกรรมการมูลนิธิพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา
เป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของคณะสงฆ์

• พ.ศ. ๒๕๒๘

เป็น ผู้อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
ในกระบวนพระราชอิสริยยศ สู่ พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง

เป็น รองประธานกรรมการสังคีติการกสงฆ์
ในการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก

เป็น สังฆปาโมกข์ปาลิวิโสธกะพระวินัยปิฎก
ในการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  ๕ รอบ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

จนสำเร็จทันในการพระราชพิธีฉลองเฉลิมพระชนมพรรษา

• พ.ศ. ๒๕๓๐

เป็น พระประธานกรรมการมูลนิธิแผ่นดินธรรม
เป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิสงเคราะห์และฟื้นฟูจิตใจผู้ติดยาเสพติด

และเป็น พระอุปัชฌาย์ ในวโรกาส
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชูถัมภ์ในการ หม่อมเจ้าจุฑาวัชร มหิดล
พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร
ทรงผนวชสามเณร ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
เมื่อวันอังคารที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา

• พ.ศ. ๒๕๓๑

รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
รักษาการเจ้าอาวาสวัดญาณสังวราราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดชลบุรี
ทรงเป็น นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ
เป็น นายกสภาการศึกษาในมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ


พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
26#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 22:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย kit007 เมื่อ 2013-10-25 23:00


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



๏ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ นี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต สืบต่อจาก
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล
สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ
สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง
วชิรญาณวงศวิวัฒ  พุทธะบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร
สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสีอรัณยวาสี


สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  พระอารามหลวง
ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ
คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญฯ


พระนาม และคำแปล

สมเด็จพระญาณสังวร        
สมเด็จ พระผู้มีสังวรธรรม (ธรรมเป็นเครื่องระวัง)
อันประกอบด้วยพระปรีชาญาณ

บรมนริศธรรมนีติภิบาล        
ทรงเป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ในการถวายแนะนำพระธรรม
แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    ผู้ทรงเป็นใหญ่อย่างยิ่งในหมู่นรชน

อริยวงศาคตญาณวิมล        
ผู้บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน  
ด้วยพระญาณอันสืบมาแต่วงศ์ของพระอริยะเจ้า

สกลมหาสังฆปริณายก        
ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง

ตรีปิฎกปริยัติธาดา
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือพระไตรปิฎก

วิสุทธจริยาธิสมบัติ
ทรงถึงพร้อมอย่างยิ่งด้วยพระจริยา (ความประพฤติ) อันบริสุทธิ์วิเศษ

สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต        
ปรากฏพระนาม (พระฉายา) ในทางพระสงฆ์ว่า สุวัฑฒนะ

ปาวจนุตตมพิสาร
ทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์
(คำอันเป็นประธานคือพระธรรมวินัยอันสูงสุด)

สุขุมธรรมวิธานธำรง        
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน

วชิรญาณวงศวิวัฒ  
ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

พุทธบริษัทคารวสถาน        
ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท

วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
ทรงมีพระคุณอันเจริญด้วยพระปฏิภาณอันวิจิตร

วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร        
ทรงงดงามด้วยพระศีลจารวัตรอันไพบูลย์

บวรธรรมบพิตร        
ทรงเป็นบพิตร (เป็นเจ้า) ทรงพระธรรมอันประเสริฐ

สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี
ทรงเป็นประธานและอธิบดีผู้เป็นใหญ่ เป็นอิสระของคณะสงฆ์ทั้งปวง

คามวาสีอรัณยวาสี        ทั้งคามวาสีและอรัณยวาสี

สมเด็จพระสังฆราช  ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระอารามหลวง
ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ
คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญฯ


ผู้แปลความพระสุพรรณบัฏ

นายสิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. ๙
นายสุชีพ ปุญญานุภาพ ป.ธ. ๙  ตรวจ
นายแปลก สนธิรักษ์  ป.ธ. ๙  ตรวจ

27#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระแท่นเศวตฉัตร ๓ ชั้น
หนึ่งในเครื่องประกอบพระสมณศักดิ์สำคัญที่สมเด็จพระสังฆราช



๏ พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อการพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเสร็จสิ้นลงในภาคเช้าแล้ว  

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีสถาปนา
สมเด็จพระสังฆราช  ในภาคบ่ายวันเดียวกัน  

เจ้าพนักงานได้เตรียมการตั้งแต่ง  
และตรวจแต่งเครื่องประกอบ
พระราชพิธีในพระอุโบสวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มเติม ดังนี้

บนธรรมาสน์ศิลาหน้าฐานพระเบญจาบุษบก  
ที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  
ประดับตกแต่งด้วยแจกันดอกบัวขาวแซมด้วยดอกหน้าวัว  
ตั้งโต๊ะสลักลายปิดทอง  
ปูด้วยผ้าขาววางพานพระมหาสังฆ์ทักษิณาวัฏ  
พร้อมด้วยเรื่องยศสมณศักดิ์  
ประกอบด้วยพระสุพรรณบัฏวางบนพานแว่นฟ้า  
กลีบบัวครอบด้วยคลุมปักดิ้นทอง

ใบกำกับพระสุพรรณบัฏและใบประกาศพระบรมราชโองการ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวางที่ขอบพานกลับบัว  
พระตราตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช  
วางบนตะลุ่มพุก  พัดยศ ไตร   แพรวางบนตะลุ่มมุก
บาตรพร้อมด้วยฝาและเชิงบาตรรมปัด  

เครื่องถมปัดมี พานพระศรี  
ประกอบด้วยมังสี ๒ ตลับพู่ ๑ จอก ๑ ซองพลู ๑  (พร้อมพลู)  
ขันน้ำพานรองมีจอกคลุมตาดรูปฝาชี
ถาดสรงพระพักตร์ หีบตราพระจักรี (หีบหลังเจียด)
คณโฑ กาทรงกระบอก หม้อลักจั่น
ปิ่นทรงกลม ๔ ชั้น สุพรรณราช สุพรรณศรี

หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่  
พร้อมพระแท่นทรงกราบสำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  
และทอดเครื่องนมัสการทองทิศ
สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ

แนวผนังพระอุโบสถด้านใต้  ปูพรมที่สีแดงลาดสุหนี่ทับ
ทอดพระราชอาสน์สำหรับเป็นที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ
พร้อมด้วยเครื่องราชูปโภค   
มีพานพระขันหมาก พระสุพรรณศรีทองคำลงยา
พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ พระสุพรรณาราช  
พระแสงปืนและพระแสงง้าวด้ามทอง

แถวที่สองหลังพระราชอาสน์ทอดพระราชอาสน์
สำหรับเป็นที่ประทับของ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระเก้าอี้เหลืองตัด)
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี

แถวที่สามชิดผนังพระอุโบสถ
ตั้งเก้าอี้สำหรับราชเลขาธิการ
เลขาธิการพระราชวังสมุหราชองครักษ์ และผู้ตามเสด็จฯ

หลังพระฉากพระทวารด้านทิศใต้
จัดเก้าอี้เฝ้าฯ เป็น ๓ แถว
ชิดผนังแถวที่ ๑ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน
แถวที่ ๒ สำหรับประธานองคมนตรี และคณะองคมตรี
และแถวที่ ๓ สำหรับนายกรัฐมนตรี
ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา
คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายพลเรือน

แนวผนังพระอุโบสถด้านหนือตรงข้ามที่ประทับ
ตั้งอาสนสงฆ์เก้าอี้ แถวหน้า ๑ ตัว
แถวหลังยกพื้นบุด้วยผ้าขาวสำหรับพระสงฆ์ ๑๓๖ รูป
นั่งเจริญชัยมงคลคาถา

ในแถวอาสนะสงฆ์เก้าอี้  
จัดไว้เป็นที่ประทับสำหรับ สมเด็จพระสังฆราช
พร้อมด้วยโต๊ะเคียงวางพระศรีพานแก้ว
  ขันน้ำพ้นรองแก้ว  และกระโถนไว้พร้อม ๑ ที่
และสำหรับสมเด็จพระราชาคณะ ๕ รูป
พระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป
ต้นอาสนะสงฆ์ติดกับที่ประทับ สมเด็จพระสังฆราช
ทอดเครื่องยศสมณศักดิ์สำหรับ สมเด็จพระสังฆราช  

คือพระแท่นเศวตฉัตร ๓ ชั้น ตกแต่งด้วยแจกันดอกบัวขาว
บนพระแท่นตั้งโต๊ะสลักลายปิดทองปูด้วยผ้าเยียรบับ
และหน้าพระแท่นตั้งโต๊ะเคียง ๒ ตัว  ปูด้วยผ้าเยียรบับเช่นกัน
สำหรับวางเครื่องยศสมณศักดิ์ที่จะได้รับพระราชทาน

กลางพระอุโบสถ ตั้งอาสนะสงฆ์ยกพื้นปูผ้าขาว
และบุรอบด้วยผ้าขาวปิดทองแผ่ลวดฉลุลายดอกลอย  
สำหรับเป็นที่นั่งของสมเด็จพระราชาคณะ
และพระราชาคณะซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม  
ขณะสดับประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช
แล้วนำพระสงฆ์สวดคาถาสังฆานุโมทนา

ท้ายอาสนะสงฆ์ ตั้งฆ้องชัย และเป็นที่ยืนของชาวพนักงานประโคม

ที่ชานหน้าพระอุโบสถตรงกับพระทวารกลาง
ตั้งเก้าอี้สำหรับบรรพชิตจีนและบรรพชิตญวน
พร้อมด้วยโต๊ะเคียงปูผ้าขาววางพานเรื่องสักการะ
ที่จะถวายแด่ สมเด็จพระสังฆราช

ถัดออกไปทางด้านทิศเหนือและทิศใต้  
และระเบียงพระอุโบสข้างพระทวารด้านทิศใต้  
ตั้งเก้าอี้สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ที่มุมระเบียงพระอุโบสถด้านทิศเหนือ
ตั้งโต๊ะปูผ้าขาววางพานผ้าไตร และตั้งเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์นั่งพัก

ที่ชานหลังพระอุโบสถ  
ตั้งเก้าอี้สำหรับสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ และพระสงฆ์นั่งพัก

28#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ครั้นใกล้ถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนิน พระบรมวงศานุวงศ์
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี พร้อมด้วย องคมนตรี
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา สมาชิกรัฐสภา
นายจำรัส เขมะจารุ ประธานศาลฎีกา
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร พลเรือน
และผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพร้อมกัน
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ที่ลานนอกกำแพงแก้วพระอุโบสถด้านทิศเหนือ
มีประชาชนรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ข้างทางลาดพระบาทเป็นจำนวนมาก

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๑๕ นาที

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
เสด็จพระราชดำเนินถึงพระอุโบสถประทับ ณ พระเก้าอี้ที่ทอดถวายไว้

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๒๕ นาที

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา
อาราธนาสมเด็จพระราชาคณะ ๕ รูป มี

สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ชุตินฺธโร ฟื้น พรายภู่ ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ธมฺมสาโร วิน ทีปานุเคราะห์ ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระวันรัต (ฐิตธมฺโม จับ สุนทรมาศ ป.ธ. ๙)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสโภ อาจ ดวงมาลา ป.ธ. ๘)
ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระธีรญาณมุนี (เขมจารี สนิท ทั่งจันทร ป.ธ. ๙)
อาพาธมิได้มาร่วมในพระราชพิธี

และพระราชาคณะที่เป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป มี

พระพุทธิวงศมุนี (สุวณฺณโชโต สุวรรณ วงศ์เรืองศรี ป.ธ. ๗)
พระพรหมคุณาภรณ์ (อุปเสโณ เกี่ยว โชคชัย ป.ธ. ๙)
พระพรหมมุนี (จนฺทปชฺโชโต สนั่น สรรพสาร ป.ธ. ๙)
พระธรรมวโรดม (ฐานิสฺสโร นิยม จันทนินทร์ ป.ธ. ๙)
พระธรรมปัญญาบดี (วรปุญฺโญ ช่วง สุดประเสริฐ ป.ธ. ๙)
พระธรรมดิลก (ปุญฺญาราโม วิชมัย บุญมาก ป.ธ. ๖)
และพระธรรมบัณฑิต (ถาวโร มานิต ก่อบุญ ป.ธ. ๙)

รวม ๑๓ รูป ขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์เก้าอี้แถวหน้าพระสงฆ์ราชาคณะ

นอกนั้นขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์ยกพื้นแถวหลังโดยลำดับ

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินพร้อม
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามมกุฏราชกุมาร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร
และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี
ทหารกองรักษาการแต่งเต็มยศถวายความเคารพ

อนึ่งในวันนั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ทรงฉลองพระองค์จักรีเต็มยศ
ทรงสายสะพายราชอิสริยาภรณ์
อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
สายสร้อยจักรี ประดับดาราราชอิสริยาภรณ์

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๕ นาที

รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่ประตูเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการสำนักพระราชวังรับเสด็จ
ตำรวจหลวง ๔ นาย นำเสด็จผ่านเถวทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์
รับเสด็จและแซงเสด็จ

เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางลาดพระบาทเข้าสู่พระอุโบสถ
ทรงจุดธุปเทียนท้ายที่นั่งบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร
พระสังฆพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว
เสด็จไปที่อาสนสงฆ์ ทรงประเคนผ้าไตรแด่สมเด็จพระราชคณะ ๕ รูป

ส่วนพระราชาคณะที่เป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป
เดินเข้าไปรับพระราชทาน
จากนั้นทรงรับถวายการเคารพของผู้มาเฝ้าฯ
แล้วประทับพระราชอาสน์

สมเด็จพระราชาคณะลงจากอาสนะสงฆ์ไปครองผ้าที่ในพระฉากหลัง
พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ส่วนพระราชาคณะกรรมการมหาเถรสมาคม
ออกจากพระอุโบสถไปครองผ้าที่พระระเบียงข้างพระอุโบสถ
เมื่อครองเสร็จแล้วเข้าไปนั่งยังอาสนะสงฆ์ที่เดิม

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๕๐ นาที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
สยามินทราธิราช บรมนาถบบพิตร
เสด็จไปทรงจุดธุปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ
บูชาพระรัตนตรัยที่หน้าธรรมาสน์ศิลา
ทรงกราบแล้วประทับพระราชอาสน์

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถมภ์ กรมการศาสนา
นิมนต์สมเด็จพระราชาคณะะทั้ง ๕ รูป
พระราชาคณะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ๘ รูป รวม ๑๓ รูป
ไปนั่งยังแท่นอาสนสงฆ์กลางพระอุโบสถ
หันหน้าสู่องค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

โดยนั่งเรียงเป็น ๓ แถว คือ

แถวแรก (จากขวาไปซ้าย)

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุฒาจารย์

แถวที่ ๒ (จากขวาไปซ้าย)

พระพุทธพจนวราภรณ์ พระพุทธิวงศมุนี
พระพรหมคุณาภรณ์ พระพรหมมุนี

แถวที่ ๓ (จากขวาไปซ้าย)

พระธรรมวโรดม พระธรรมปัญญาบดี พระธรรมดิลก พระธรรมบัณฑิต

• เวลา ๑๖ นาฬิกา ๕๖ นาที

เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา อาราธนาศีล
สมเด็จพระญาณสังวรถวายศีล ทรงศีล จบแล้ว

• เวลา ๑๗ นาฬิกา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานอาลักษณ์
กองประกาศิต สำนักเลขาธิการคณะรฐมนตรี
อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช
ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้น
ยืนขึ้นเคารพพระบรมราชโองการพร้อมกัน

นายสุรินทร์ ศรีวิทยา ผู้อำนายการกองประกาศิต
ถวายคำนับแล้วออกไปยืนที่หน้าไมไครโฟน
ซึ่งตั้งไว้ที่มุมช่องว่างด้าน
พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง
แล้วอ่านประกาศพระบรมราชโองการ ดังนี้


29#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พัดยศสำหรับพระสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่



ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ประกาศ พระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  
มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

มีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า  

โดยที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่างลง  
สมควรที่จะสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้น
ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเพื่อจักได้บริหารการพระศาสนา   
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕   
และตามระเบียบพระราชประเพณีให้สมบูรณ์สืบไป  

และโดยที่ได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของคณะรัฐบาลกับ
ทั้งสังฆทัศนะ ในมหาเถรสมาคมเป็นเอกฉันทมติ

จึงทรงพระราชดำริว่า  

สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นพระมหาเถระ  
เจริญในสมณคุณเนกขัมมปฏิบัติ
สมบูรณ์ด้วยศีลสมาจารวัตร  
รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม  
ดำรงสถาพรอยู่ในสมณพรหมจรรย์ตลอดมาเป็นเวลาช้านาน   
ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์ไพศาลแก่พุทธจักร และอาณาจักร  

ดังมีอรรถจริยาปรากฏเกียรติสมภารตามความพิสดาร
ในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะมหาสังฆนายก
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ นั้นแล้ว  

ครั้นต่อมา สมเด็จพระญาณสังวรฯ  ยิ่งเจริญด้วยอุตสาหะวิริยาธิคุณ
สมารถรับภารธุระพระพุทธศาสนา  เป็นพาหุลกิจนิตยสมาทานมิได้ท้อถอย  
ยังการพระศาสนาให้เรียบร้อย และเจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา  

ในการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พุทธศักราช ๒๕๐๕  
สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมมาแต่เริ่มแรก  
เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร  และสมุทรปราการ  

ฝ่ายธรรมยุตเป็นคณะกรรมการคณะธรรมยุต  และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
ในการปริยัติศึกษาเป็นกรรมการปรับปรุงหลักสูตรศาสนศึกษาของคณะสงฆ์  
เป็นนายกกรรมการและนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย  
เป็นผู้อำนวยการครูพระปริยัติธรรม คณะธรรมยุต

ด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ  

ได้เป็นประธานดำเนินการ  และประธานกรรมการอุปถัมภ์  
ในการสร้างวัดและพระอุโบสถในต่างประเทศหลายแห่ง  

คือ วัดพุทธรังสี ในนครซิดนีย์  ประเทศออสเตรเลีย  
วัดจากาตาร์ธรรมจักรชัย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย  
วัดแคโรไลนาเหนือ ประเทศสหรัฐอเมริกา  
อุโบสถวัดนครมณฑปศรีกีรติวิหาร  ณ เมืองกีรติปูร นครกาฏมัณฑุ ประเทศเนปาล

ได้ไปดูการพระศาสนาที่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
สิงคโปร์ อินโดนีเซีย  อินเดีย เนปาล หลายวาระ  

เป็นประธานสงฆ์จากประเทศไทยไปประกอบพิธีผูกพัทธสีมา  
อุโบสถวัดจาการ์ตา วัดธรรมจักรชัย  
ซึ่งเป็นการผูกพัทธสีมาพระอุโบสถ
เป็นครั้งแรกของวัดพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศนั้น  

บรรพชากุลบุตรชาวอินโดนีเซีย  ณ เมืองสมารัง  
ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สังฆเถรวาทอินโดนีเซีย  
ไปบรรพชากุลบุตรศากยะแห่งเนปาล  ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์เนปาล  
ไปร่วมประชุมสหพันธ์อาศรมคีตาสากล  ในฐานะแขกพิเศษ ณ ประเทศอินเดีย

ด้านการแสดงและเผยแผ่ธรรม

แสดงธรรมเป็นประจำในวันธรรมสวณะและวันอาทิตย์  
ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายธรรมในการฝึกอบรมในการฝึกปฏิบัติการทางจิต  
ทุกวันพระ และวันหลังวันพระ ณ ตึกสว. ธรรมนิเวศ  
บรรยายธรรมในรายการบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่
ทางสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต  เป็นประจำทุกวันอาทิตย์  
บรรยายธรรมแก่ชาวต่างประเทศในวันจันทร์  วันพุธ และวันศุกร์  

นอกจากนั้นยังเรียบเรียงหนังสือ
ทั้งที่เป็นตำราประกอบการศึกษา ธรรมกถา ธรรมเทศนา และสารคดีอีกเป็นอันมาก  
เช่นเรื่องหลักพระพุทธศาสนา แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน
สัมมาทิฏฐิ โสฬสปัญหาธรรมบรรยาย พระพุทธศาสนากับสังคมไทย
ตำนานวัดบวรนิเวศวิหารเล่ม ๒ เป็นต้น  

ทั้งยังให้ริเริ่มแปลหนังสืออธิบายธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นภาษาต่างประเทศ
เพื่อเป็นการเผยแผ่และเป็นคู่มือการศึกษา
พระพุทธศาสนาสำหรับชาวต่างประเทศอีกทางหนึ่ง  

ในด้านสาธารณูปการ  

ได้เป็นประธานกรรมการอุปการะฝ่ายบรรพชิต  
ในการก่อสร้างตึก ภปร.  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  
ได้ร่วมกับสภากาชาดไทยสร้างตึกวชิรญาณวงศ์  
และตึกวชิรญาณสามัคคีพยาบาร เป็นตึกสงฆ์
และให้ประโยชน์ทางการแพทย์

ในการพระอารามนั้นก็ได้เอาใจใส่ควบคุมดูแล  
ระวังรักษาและบูรณะปฏิสังขรณ์  ปูชนียวัตถุสถาน
ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ  ซึ่งทรุดโทรมเสียหาย  
ทั้งในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
ให้ดำรงคงสภาพที่มั่นคงถาวร และเรียบร้อยงดงาม  

ทั้งได้สร้างอาคารขึ้นใหม่อีกหลายหลัง  อาทิ ตึก สว. ธรรมนิเวศ
ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

นับว่า สมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นผู้มีปรีชาสามารถอย่างยิ่ง  
ในการปกครองทะนุบำรุงพระอารามหลวง
ที่มีความสำคัญให้เจริญรุ่งเรืองสมพระราชประสงค์

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ยังได้เป็นประธานอุปถัมภ์  
การสร้างวัดในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง  
เช่น วัดรัชดาภิเษก  วัดพุมุด จังหวัดกาญจนบุรี,  
วัดวังพุไทร จังหวัดเพชรบุรี, วัดล้านนาสังวราราม จังหวัดเชียงใหม่  เป็นต้น

ที่สำคัญได้เป็นประธานสร้างวัดญาณสังวราราม
ณ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ในเนื้อที่ ๓๖๖ ไร่ ให้เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณร
และเป็นประโยชน์เกื้อกูลการพัฒนาอาชีพของประชาชนในถิ่นนั้น  

อุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระอดีตมหาราชผู้ทรงกอบกู้ชาติไทย
และสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์  
ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
และสมเด็จพระบรมราชโอรสธิดาทุกพระองค์
ไปทรงเป็นประธานในพิธีผูกพัทธสีมาในพระอุโบสถ
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕

30#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-10-25 23:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

‘พระรูปเขียนสี’ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)


อนึ่งเมื่อคราวทรงพระผนวช และประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร  
สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้รับหน้าที่เป็นพระอภิบาลโดยตลอด
และต่อมาได้เป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา  พระมงคลวิเสสกถา  
ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๑๗
และได้ถวายสืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชวาสนมหาเถระ
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

บัดนี้ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า  

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ก็เป็นผู้เจริญยิ่งด้วยพรรษานุกาล
รัตตัญญูมหาสถาวีรธรรม ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ  
เป็นอจลพรหมจริยาภิรัตยั่งยืนช้านานมา
ดำรงมั่นในศีลสมาธิปัญญามิได้เสื่อมถอย
มีจริยาวัตรสำรวมเรียบร้อย ไม่หวั่นไหวต่อโลกามิส  

เป็นพหุลศรุตบัณฑิตผู้ทรงปรีชาญาณลึกซึ้งแจ่มใส
รอบรู้ในพระไตรปิฎกธรรมวิสารท
สามารถวิจัยวิจารณ์ธรรมนำมาแสดงได้ถูกต้องเที่ยงตรงบริสุทธิ์บริบูรณ์  
เกื้อกูลสงเคราะห์พุทธบริษัทโดยเสมอหน้าเป็นอเนกประการ  

ได้เป็นครูและเป็นอุปัธยาจารย์ของมหาชนมากมาย
มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายไพศาล   
เป็นที่เคารพสัการแห่งมวลศาสนิกบริษัททั่วสังฆมณฑล  
ประธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑล  
เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนาสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวรฯ
ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช
มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล
สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ
สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง
วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธะบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ
วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร
สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสีอรัณยวาสี

สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวง
เป็นประธานสังฆมณฑลทั่วราชอาณาจักร

ขออาราธนาให้ทรงรับพระธุระพระพุทธศาสนา
เป็นภาระสั่งสอน  ช่วยระงับอธิกรณ์
และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในสังฆมณฑลทั่วไป  
โดยสมควรแก่พระอิสริยยศ  ซึ่งพระราชทานนี้  
ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณสุข พล และปฏิภาณ  คุณสารสิริสวัสดิ์  
จิรัฏฐิติวิรุฬหิไพบูลย์  ในพระพุทธศาสนาเทอญ

ให้ทรงมีพระราชาคณะและพระครูฐานานุกรมประดับพระอิสริยยศ ๑๕ รูป  คือ

พระมหานายก พุทธปาพจนดิลกโลกยปสาทาภิบาล
สกลสังฆประธานมหาเถรกิจการี
คณาธิบดีศรีรัตนคมกาจารย์ พระราชาคณะปลัดขวา ๑
พระจุลนายก ธรรมนีติสาธกมหาเถราธิการ คณะกิจบรรหารธุรการี
สมุหธิบดีศรีธรรมภาณกาจารย์ พระราชาคณะปลัดซ้าย ๑
พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ๑ พระครูพิศาลวินัยวาท ๑ พระครูประสาทพุทธปริตร
พระครูพระปริตร ๑ พระครูประสิทธิพุทธมนต์ พระครูพระปริตร ๑
พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูสรภัญญประกาศ พระครูคู่สวด ๑
พระครูสรนาทวิเศษ พระครูคู่สวด ๑ พระครูนิเทศธรรมจัก ๑
พระครูพิทักษ์ธุรกิจ ๑ พระครูสังฆสิทธิกร ๑ พระครูสมุห ๑ พระครูใบฎีกา ๑

ขอให้พระคุณผู้ได้รับตำแหน่งทั้งปวงนี้
มีความสุขสิริสวัสดิ์สถาพรในพระบวรพุทธศาสนาเทอญ

ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ เป็นปีที่ ๔๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
นายกรัฐมนตรี

นายสุรินทร์ ศรีวิทยา อ่านจบแล้วถวายคำนับ   
ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ที่นั้น  
ถวายคำนับพร้อมกันแล้วนั่ง  

เมื่ออ่านประกาศพระบรมราชโองการจบ

• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๑๕ นาที  

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงเลื่อนพระองค์ไปประทับยังอาสนะ
ซึ่งปูลาดด้วยพระสุจหนึ่สีเหลือง   
อันเป็นอาสนะสำหรับสมเด็จพระสังฆราช
ทรงหันพระพักตร์สู่พระกรรมการมหาเถรสมาคม  

• เวลา ๑๗ นาฬิกา ๑๖ นาที  

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  
นั่งกระหย่งเท้าแล้วสวด “สงฺฆราชฎฺฐปนานุโมทนา” มีความดังนี้

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้