ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

100

[คัดลอกลิงก์]
121#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
20. เกษตรอินทรีย์  (organic  farming)  เกษตรอินทรีย์หมายถึงการทำการเกษตรที่ไม่ใช้ สารเคมีในการผลิต  สารเคมีหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารเคมีหรือที่ผ่านกระบวนการทางเคมี
คำว่า  “  อินทรีย์ ”  (organic)  หมายถึงกระบวนการทำการเกษตรทั้งหมด  หมายถึงเกษตรกรรมทั้งระบบที่เป็น  “ อินทรีย์ ”  คือเป็นหน่วยหนึ่งหรือองค์รวมหนึ่งซึ่งส่วนประกอบต่าง ๆ ล้วนสัมพันธ์  เกื้อหนุนกันประหนึ่งว่าเป็นสิ่งมีชีวิต จึงไม่สามารถใช้สารเคมีอย่างยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง  รวมทั้งปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์ต่างๆ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับสัตว์เลี้ยง และไม่ให้สัตว์กินอาหารที่ปนสารเคมีหรือผ่านกระบวนการทางเคมี
เกษตรอินทรีย์เป็นวิธีการทางการเกษตรที่ต้องการสร้างระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีลักษณะบูรณาการ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้ผลทางเศรษฐกิจ และมีการจัดการทรัพยากรและผลผลิตในพื้นที่เองอย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะหมุนเวียนและเกื้อกูลกัน ทำให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย อันเนื่องมาจากความสมดุลของระบบ ไม่ใช่การใช้สารเคมี
องค์ประกอบสำคัญของเกษตรอินทรีย์  คือ
ก)  การปกป้องความสมบูรณ์ของดินโดยการรักษาระดับของอินทรียสาร  ทำให้เกิด กิจกรรมชีวภาพของดิน และการใช้เครื่องมือจักรกลด้วยความระมัดระวัง   
ข)  การให้อาหารพืชทางอ้อม ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยวิธีการสร้างจุลินทรีย์ให้ดิน
ค)  การช่วยให้เกิดไนโตรเจนอย่างพอเพียงโดยการหมุนเวียนวัสดุชีวภาพต่าง ๆ รวมทั้งเศษพืชและมูลสัตว์
ง)  การควบคุมหญ้า แมลงและโรค กระทำโดยการปลูกพืชแบบหมุนเวียน ใช้สัตว์ แมลงควบคุมกันเอง ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด การใช้ปุ๋ยชีวภาพ
จ)  การจัดการเลี้ยงสัตว์ การให้อาหาร ที่อยู่ของสัตว์ สุขภาพ โดยคำนึงถึงการปรับตัวของสัตว์ ความต้องการและสวัสดิการสัตว์
ฉ)  คำนึงถึงผลกระทบของการทำการเกษตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมในระดับกว้าง การคุ้มครองสัตว์ป่า และที่อาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติ
ความจริงเกษตรอินทรีย์เป็นวิธีทำการเกษตรแต่โบราณ ซึ่งใช้อินทรียวัตถุภายในพื้นที่ มีเทคนิควิธีการที่สั่งสมสืบทอดกันมาเป็นพันปี วันนี้มีการปรับประยุกต์และจัดการให้เป็นระบบที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของปัจจุบันและผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
122#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:56 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
21. ขบวนการทางสังคม (social  movement) ขบวนการทางสังคมหมายถึงประชาชนที่ รวมตัวกันเป็นกลุ่มมีอุดมการณ์เดียวกัน  และพยายามร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายบางประการ เช่น ขบวนการแรงงาน ขบวนการสิทธิพลเมือง (ในสหรัฐอเมริกา) ขบวนการสิ่งแวดล้อม  ขบวนการนิเวศ  ขบวนการสีเขียว  ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น  
ขบวนการเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ใน ประวัติศาสตร์ตะวันตก  ขบวนการทางสังคมมักนำไปสู่การตั้งพรรคการเมือง ต้นแบบสำคัญของขบวนการทางสังคมคือขบวนการแรงงานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งองค์กรและพรรคคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมประชาธิปไตย
นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา เกิดมีขบวนการต่าง ๆ ขึ้นมามากมาย เรียกร้องให้มีการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง  ประเด็นสำคัญคือสันติภาพการเหยียดผิว(สิทธิพลเมือง) สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิ่งแวดล้อม และล่าสุดคือขบวนการ เพื่อแก้ปัญหา โรคเอดส์
ขบวนการ (movement) เป็นคำที่ทำให้เห็นการเคลื่อนไหว เห็นชีวิตมีพลัง มีพลวัต มีการรวมกลุ่มโดยเอาชีวิตและจิตวิญญาณนำหน้ากฎระเบียบ ขบวนการมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้ เปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป้าหมายขบวนการส่วนใหญ่คือการเปลี่ยนแปลง
ตรงกันข้ามกับสถาบัน (institution) ซึ่งมีลักษณะแข็งตัว เอากฎระเบียบนำหน้าชีวิตและ จิตวิญญาณ ขาดความยืดหยุ่น ในขบวนการ กฎมีไว้สำหรับคน กฎจึงเปลี่ยนแปลงได้ถ้าหากคนต้องการ แต่ในสถาบัน คนมีไว้สำหรับกฎ กฎจึงเปลี่ยนแปลงยาก หลายครั้งและบางสถาบันถือว่ากฎมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นอะไรที่แตะต้องไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
123#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:57 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
22. สถาบัน (institution) มีความหมายหลายอย่าง เช่น องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมี เป้าประสงค์เฉพาะ หรือหมายถึงขนบประเพณีที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของกลุ่มคนหรือสังคมหนึ่ง เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันหมู่บ้าน

124#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
23. องค์กรประชาชน (PO)  ใช้กันแพร่หลายที่ประเทศฟิลิปปินส์  เพื่อหมายถึงการรวมกลุ่มกันของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ  เพื่อดำเนินกิจการเพื่อการพัฒนาตนเอง โดยอาจจะมีประเด็นที่เน้นเป็นพิเศษ  เช่น  เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการแก้ปัญหาที่ดิน เพื่อการศึกษา เพื่อการพัฒนาการเกษตร  โดยมีสถานภาพทางกฎหมายที่คล้ายกับ “ กลุ่มเกษตรกร ” ของไทย ซึ่งแตกต่างจากสหกรณ์ โดยกลุ่มเกษตรกร และองค์กรประชาชน มีลักษณะแคบกว่าเล็กกว่า ทั้งโดยขอบเขต  เนื้อหา  และการดำเนินงาน
      อย่างไรก็ดี คำว่าองค์กรประชาชนมักถูกใช้เป็นคำกลาง ๆ เพื่อหมายถึงการรวมกลุ่มของประชาชนทั่วไปเพื่อดำเนินการ  “  การเมืองภาคประชาชน ”  ทำการรณรงค์สร้างสำนึกในประเด็นเฉพาะต่าง ๆ  หรือเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฏหมายและนโยบาย จึงเป็นคำที่คล้ายกับคำว่า “ ขบวนการประชาชน ”  แต่  “ องค์กร  ประชาชน ”  ดูจะมีการจัดการองค์กรและมีระบบที่ชัดเจนกว่าเท่านั้น  แต่ทั้งสองคำมีลักษณะที่มีพลวัต มีความยืดหยุ่นมากกว่า  “  สถาบัน  ”
125#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
24. องค์กรประชาชนมีลักษณะคล้ายกันกับคำว่า   “ องค์กรชุมชน ”  (community - based organization – CBO)   ซึ่งเป็นคำที่ใช้แพร่หลายมากกว่า มีความหมายถึงการรวมกลุ่มของชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านและท้องถิ่นต่าง ๆ   เพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคม  เช่น  การทำกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ตามประเด็นเฉพาะต่าง ๆ โดยมีหรือไม่มีสถานภาพทางกฎหมายก็ได้

126#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
25. คลัสเตอร์ (cluster) คลัสเตอร์เป็นคำที่ใช้กันในหลาย ๆ วงการ  ที่พูดถึงกันมากที่สุดวันนี้คงเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรม  ( industry  clusters )  ซึ่งเป็นกลุ่มการประกอบธุรกิจที่ทั้งแข่งขัน  ร่วมมือ  และเป็นอิสระจากกันแต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น คลัสเตอร์การผลิตเสื้อผ้า เครื่องหนังรองเท้า และการประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคเหนือของอิตาลี หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ซิลิคอน วัลเลย์ในสหรัฐอเมริกา การผลิตซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เมืองบังกาลอร์ ในอินเดีย  การผลิตเครื่องบินที่เมืองตูลูส์ ฝรั่งเศส และการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเซรามิกที่ลำปางของไทย
องค์ประกอบทางเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญเพื่อก่อให้เกิดคลัสเตอร์ดังกล่าวมี 3 ประการ คือการดำเนินงานเป็นภาคีหรือพันธมิตร (partnership) ของภาครัฐ ภาคธุรกิจ  และภาคชุมชนต้องอาศัยนโยบายที่ดี  อาศัยแนวคิดด้านการจัดการและทุน รวมทั้งอาศัยแรงงานและความรู้ความสามารถของ ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในพื้นที่ก็สัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย (network , networking) และทำให้การประกอบการต่าง ๆ เสริมกันเกื้อหนุนกันทั้งทางตรงและทางอ้อม  รวมทั้งการแข่งขันก็เป็นการช่วยให้เกิดการพัฒนา  
      คลัสเตอร์ทางธุรกิจเหล่านี้บางครั้งเรียกว่า   “ คลัสเตอร์ของพอร์เตอร์ ”  ( Porter ’ s  Cluster )  เรียกตามชื่อของศาสตราจารย์ไมเกิล พอร์เตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  แนวคิดคลัสเตอร์แบบนี้มีลักษณะแข่งขัน  ( competitive  cluster )  ซึ่งหมายถึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งมีทรัพยากรคน ทุน การจัดการ        และความชำนาญเพื่อดำเนินกิจการที่เป็นข้อได้เปรียบที่อื่น ๆ  (อย่างซิลิคอน  อย่าง    ฮอลลิวูด  และที่อื่น ๆ )  
พอร์เตอร์บอกว่า  คลัสเตอร์แบบนี้ก่อให้เกิดการแข่งขันกันในอย่างน้อย 3  ด้าน คือเพิ่มการผลิตให้บริษัทในคลัสเตอร์ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรม และกระตุ้นให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ  ในเรื่องนั้น ๆ  
      คำว่าคลัสเตอร์ยังใช้ในอีกหลายวงการ  เช่น  คลัสเตอร์คอมพิวเตอร์  หรือการเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายตัวและทำงานไปด้วยกันหรือแยกกันได้  คลัสเตอร์ดาว  หรือกลุ่มดาวที่สัมพันธ์กันในรูปแบบและลักษณะต่าง ๆ คลัสเตอร์เสียง (tone cluster) ซึ่งเป็นกลุ่มเสียงในคอร์ดและการจัดรูปแบบเสียงหลายแบบที่สัมพันธ์กัน
      นอกนั้นในประเทศไทยยังมีการใช้คำว่าคลัสเตอร์จังหวัดหมายถึงพื้นที่จังหวัดที่ติดต่อและสัมพันธ์กันเป็นกลุ่มจังหวัดร่วมกัน  วางยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สัมพันธ์และเกื้อกูลกัน และใช้คำ คลัสเตอร์เพื่อบอกถึงความร่วมมือกันระหว่างองค์กร  หน่วยงาน  สถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  เช่น  ไข้หวัดนกเป็นความร่วมมือระว่างกระทรวงเกษตร  กระทรวงสาธารณสุข  สถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก  และอีกหลายหน่วยงาน  เป็นต้น

127#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 07:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
26. คืนสู่รากเหง้า  (back to the roots) คืนสู่รากเหง้าเป็นคำที่ใช้เพื่อหมายถึงแนวคิดที่ เกี่ยวกับการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น การฟื้นฟูเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ (identity) ของท้องถิ่น โดยการ สืบสาวราวเรื่องในอดีต  ค้นหาประวัติความเป็นมา คุณค่าต่าง ๆ อันบูรณาการอยู่ในวิถีของชุมชนในลักษณะต่าง ๆ แล้วนำมาปรับประยุกตืเพื่อสืบทอดคุณค่าเหล่านั้นอย่างเหมาะสมกับสภาพทางสังคมปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต
การคืนสู่รากเหง้าเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ทำให้เคารพบรรพบุรุษ  ความรู้ภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายที่เป็นรากฐานของเผ่าพันธ์และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่สืบทอดและถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา การคืนสู่รากเหง้าทำให้เข้าใจวิถีของผู้คนในอดีตเข้าใจความสัมพันธ์อันดีและสมดุลที่ผู้คนมีต่อธรรมชาติต่อกันและกัน
       การคืนสู่รากเหง้าไม่ใช่การคืนสู่อดีต  ไม่ใช่การกลับไปสู่รูปแบบดั้งเดิม  ไม่ใช่การ  “ โหยหาสวรรค์หาย ”  ( yearning  for  the  lost  paradise )  แบบ   “ วันวานยังหวานอยู่ ”  ไม่ใช่การฟื้นฟูรูปแบบ  แต่ฟื้นฟูเนื้อหาหรือคุณค่าที่ดีงามและที่ทำให้ชีวิตของผู้คนดีกว่าที่เป็นอยู่  เช่น  การเป็นอยู่ร่วมกันเป็น    ชุมชน  การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ซึ่งในอดีตมีหลายรูปแบบ  เช่น  การลงแขก  แต่วิธีการลงแขกแบบเดิมไม่อาจใช้ได้ในวิถีสังคมปัจจุบัน  มีชุมชนหลายแห่งโดยเฉพาะในภาคใต้ที่ปรับให้เป็นแชร์แรงงาน มีระเบียบกฎเกณฑ์  ซึ่งการลงแขกในอดีตไม่มี  แต่เนื้อหาคือการพึ่งพาอาศัยกัน จัดการแรงงานร่วมกัน  เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม
       คืนสู่รากเหง้าที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า  “ คืนสู่ต้นกำเนิด ”  ( back  to  the source ) ซึ่งใช้กันในประเทศตะวันตกเพื่ออธิบายกระบวนการสืบค้นหาที่มาและความหมายของหลักธรรมคำสอน
ศาสนาคริสต์จากคัมภีร์ไบเบิล เช่น การเน้นการศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลเพื่อเข้าใจความหมายของ หลักธรรมโดยตรง  โดยไม่ผ่านการตีความของใคร

128#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
27. เครดิตยูเนียน (Credit  Union) เครดิตยูเนียนเป็นชื่อเรียกกลุ่มออมทรัพย์ประเภทหนึ่งซึ่งในประเทศไทยได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์  เครดิตยูเนียนมีต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนี  โดยมีนายฟรีดรีช  วิลเฮล์ม  ไรฟายเซน  เป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี  1849  จดทะเบียนเมื่อปี  1866  เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไป  ชาวนา  กรรมกร  นำเงินมาออม  แล้วจัดการบริหารให้กู้ยืมในหมู่สมาชิก  ปลายปีมีการปันผลกำไร  นำกำไรบางส่วนไปจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้สมาชิก  และช่วยพัฒนาท้องถิ่น
สหกรณ์ออมทรัพย์ไรฟายเซนได้แพร่หลายออกไปในประเทศต่าง ๆ ในยุโรป  ในปี  1900 เริ่มเปิดตัวที่แคนาดาและแพร่ไปในสหรัฐอเมริกา  และได้ชื่อ “ เครดิตยูเนียน ”  ที่อเมริกาเหนือนี่เอง  ปัจจุบันมีเครดิตยูเนียนในสหรัฐอเมริกาอยู่ประมาณ  13,000 แห่ง ทำประโยชน์ให้ชาวอเมริกันกว่า  75  ล้านคน  มีอาสาสมัครทำงานอยู่กว่า  200,000  คน
       เครดิตยูเนียนกลุ่มแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี  2508  ที่ชุมชนแออัดห้วยขวาง ที่ซอย ศูนย์กลางเทวา  (ประชาสงเคราะห์  24 )  เริ่มจากสมาชิก  13  คน  เงินออม  280  บาท  ในปี  2547 มีสมาชิกกว่า  1,200  คน  มีเงินเรือนหุ้น  เงินฝาก  สินทรัพย์รวมประมาณ  80  ล้านบาท  จากเริ่มต้นจนถึงปี  2547  ได้ให้เงินกู้แก่สมาชิกกว่า  25,000  คน  รวมเป็นเงินกว่า  350  ล้านบาท
       ทั่วประเทศไทยวันนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์เครดิตยูเนียนที่จดทะเบียนอยู่  300  กว่ากลุ่ม  และยัง  ไม่ได้จดอีกประมาณ  400  กลุ่ม  มีเงินออม  เงินทุนหมุนเวียนรวมกันมากกว่า  2,000  ล้าบาท  เฉพาะที่จังหวัดเพชรบุรีแห่งเดียวมีเครดิตยูเนียนอยู่ประมาณ  50  กลุ่ม  มีสมาชิกกว่า  35,000  คน  มีเงินออมและเงินหมุนเวียนกว่า  300  ล้านบาท
       คำว่าเครดิตยูเนียนเป็นภาษาอังกฤษ  แปลตามตัวว่าการรวมกลุ่มด้วยความไว้ใจกัน มีความเชื่อถือกัน  ผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิกจะได้รับการอบรมเตรียมตัวก่อนเพื่อให้เข้าใจจิตวิญญาณ  (spirit )  ของเครดิตยูเนียน  ซึ่งมีอยู่  5  ข้อ  คือ  ความซื่อสัตย์  ความเสียสละ  ความรับผิดชอบ  ความเห็นใจกัน  และความไว้ใจกัน  และให้เข้าใจว่าเครดิตยูเนียนเป็นเครื่องมือเพื่อให้คนช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน  ทำให้เกิดระบบสวัสดิการและความมั่นคงในชีวิต


129#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
28. เครือข่าย  (network)  คำว่า  “ เครือข่าย ” มักหมายถึงโทรทัศน์ สถานีที่ถ่ายทอด เป็นแม่ข่ายและมีสถานีย่อย ๆ ที่เป็นลูกข่ายหรือถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกระจายไปทั่วประเทศทั่วโลก
       คำว่า  “ เครือข่าย ”  “ การสร้างเครือข่าย ”  ( network ,  networking)  ในทางธุรกิจเป็น คำที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมองค์กรใหม่  การทำงานแบบใหม่ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์   ทั้งภายใน องค์กรเองระหว่างผู้บริหารและพนักงาน ระหว่างพนักงาน กับองค์กรอื่น บุคคลอื่น และกับลูกค้า
เครือข่ายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากวัฒนธรรมเดิมแบบสั่งการ  แบบบนลงล่าง  และแบบลำดับขั้น (top down, vertical, hierarchical)  เครือข่ายเน้นความสัมพันธ์แบบแนวนอน (horizontal) ผู้นำในองค์กรเช่นนี้ไม่ใช่คนสั่งการ ไม่ใช้อำนาจ  ทำให้ลูกน้องเกรงกลัว (intimidate)  แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ  เป็นโค้ช  ทำให้คนเข้มแข็ง  (empowerment)  สร้างความเชื่อมั่นและความไว้ใจกัน  (trust )
       คำว่า  “ เครือข่ายทางสังคม ”   (social  network)  โดยทั่วไปหมายถึงกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มองค์กรซึ่งสมัครใจสัมพันธ์กันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร  ดำเนินกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน  โดยที่แต่ละคน แต่ละองค์กรยังคงเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน
เครือข่ายทางสังคมก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมและประชาสังคมในรูปแบบหลากหลาย  เช่น  ชุมชนเสมือนจริง  (virtual  community)ซึ่งเป็นเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ต  จส. 100  ซึ่งสมาชิกสัมพันธ์กันทางโทรศัพท์ โทรเข้าไปที่สถานีเพื่อแจ้งสภาพการจราจรในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด และบางครั้งก็จัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
       เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน  เครือข่ายองค์กรชุมชน  เช่น  เครือข่ายอินแปงที่ภูพาน เครือข่าย ยมนาที่นครศรีธรรมราช  และอื่น ๆ เป็นตัวอย่างของการรวมตัวกันทั้งในแบบหลวม ๆ และแบบที่มี การจัดการเหมือนเป็นองค์กรเดียวกัน  แต่อยู่ต่างถิ่นต่างที่  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจัดกิจกรรม การเรียนรู้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรมร่วมกัน

130#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-12-15 08:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
29. จิตวิญญาณ (spirit)  คำว่า  จิตวิญญาณ  แปลจากภาษาอังกฤษว่า  spirit  เป็นการยืมคำสองคำมารวมกัน  (จิต + วิญญาณ ) และเกิดความหมายใหม่  ( เช่นเดียวกับหลายคำ เช่น รถไฟ  ไฟฟ้า ผีเสื้อ  นกหวีด  สติปัญญา ) เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตที่วัฒนธรรมต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กันโดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์
คำว่า  spirit  ในภาษาอังกฤษมีหลายความหมาย  หมายถึง  ลม  ลมหายใจ  ชีวิต  แก่นชีวิตที่ นอกเหนือไปจากร่างกาย  เป็นส่วนที่เกี่ยวกับสติปัญญา  ( intelligent) และส่วนที่เป็นความคิดที่ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นร่างกาย  นอกนั้นยังมีความหมายถึงส่วนของคนที่เป็นไม่เป็นร่างกาย – วัตถุ ส่วนที่เป็นอมตะ           เป็นวิญญาณ (soul) เป็นอีกด้านหนึ่งหรือมิติหนึ่งของคน
คำว่า  spirit  ยังหมายถึงพลัง  (energy) ชีวิตชีวา ความกระตือรือร้น ความกล้าหาญ หรือสภาพจิตใจของคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนั้น และรวมความถึงกฎเกณฑ์แห่งชีวิต (vital principle)  หรือพลังภายใน (animating force) ของสิ่งมีชีวิต รวมถึงขององค์กร  สถาบัน   ขบวนการ
คำว่า  “ จิตวิญญาณ ”  ในภาษาไทยมีการใช้อย่างแพร่หลายเพื่อบอกถึงชีวิตของคนในอีกมติหนึ่งด้านหนึ่งที่ไม่ใช่ร่างกาย  บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นคนที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  บอกถึง พลังชีวิต   ซึ่งสามารถแยกแยะแออกไปเป็นรายละเอียดอีกมากมายขึ้นอยู่กับว่าใช้ปรัชญาสำนักไหนในการอธิบาย  ซึ่งถ้าหากคิดลึกขนาดนั้นก็จะมีข้อโต้เถียงที่ไม่รู้จบ
       “ ความหมายของภาษาอยู่ที่การใช้ ”  (วิตเกนสไตน์ ) วันนี้ผู้คนในสังคมไทย  (ซึ่งเป็นเจ้าของภาษาไทยกันทุกคน)  ใช้คำนี้ด้วยความหมายนี้  วันหน้าอาจจะเปลี่ยนไปตามวิถีและสิ่งแวดล้อม  และอาจจะมีคำใหม่เพื่อบอกถึงความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและ   “ ความรู้สึกนึกคิด ”  ของตนเอง

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้