ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ

~ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท วัดคันธาวาส(วัดทุ่งปุย) ~

[คัดลอกลิงก์]
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:32 | ดูโพสต์ทั้งหมด

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถระ)


พระธรรมมังคลาจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล)
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:33 | ดูโพสต์ทั้งหมด

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท


๏ สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

เรื่องที่กระทบความรู้สึกของหลวงปู่ครูบาอิน คือ การที่ท่านสูญเสียญาติพี่น้องภายในปีเดียวกัน ในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ พี่ชายท่านตาย เผาได้ ๓ วัน ลุงที่เจ็บอยู่และท่านนำมาดูแลพยาบาลที่วัดด้วยก็ตาย ต่อมาน้องหล้าและน้องที่เป็นหญิงก็ตายอีก สมัยก่อนยังไม่มีการเก็บเงินค่าฌาปนกิจศพเป็นรายหัวเพื่อช่วยกันอย่างในปัจจุบัน เป็นหน้าที่ของญาติพี่น้องที่ช่วยกันไป ปีนั้นหลวงปู่ครูบาอินมีอายุประมาณ ๖๐ ปี ท่านว่าอารมณ์เวทนาก็มีแต่รู้เท่านั้น หากท่านมิได้บวชประสบการณ์เช่นนี้คงทุกข์หนัก


๏ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์

ด้านกิจการพระศาสนา พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) ได้ปฏิบัติกิจของพระศาสนาเป็นอเนกประการ จนท่านได้รับตำแหน่งบริหารคณะสงฆ์และสมณศักดิ์ ดังนี้

พ.ศ.๒๔๘๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งปุย

พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลยางคราม

พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูอิน (พระครูประทวน)

พ.ศ.๒๕๐๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูวรวุฒิคุณ (พระครูสัญญาบัตร ชั้น ๑)

พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้น ๒ ในราชทินนามเดิม

หลวงปู่ครูบาอิน มีความผูกพันกับวัดทุ่งปุยนับตั้งแต่บวชครั้งแรก จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ และได้พัฒนาวัดให้เหมาะแก่กาลสมัย ทั้งการสร้างอาสนะสงฆ์ต่างๆ ขึ้นภายในวัด เมื่อวัดทุ่งปุยเจริญรุ่งเรืองแล้ว ทางการจึงได้ให้เปลี่ยนชื่อว่า “วัดคันธาวาส” ตามชื่อ ครูบาคันธา ผู้มาบูรณะวัดร้างทุ่งปุยเป็นองค์แรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๕

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ นายประหยัด ศรีนุ ครูใหญ่โรงเรียนแม่ขาน ได้มาอาราธนานิมนต์หลวงปู่ ไปเป็นประธานสร้างอาคารเรียนโรงเรียนแม่ขาน แบบตึกชั้นเดียว โดยท่านได้มอบเงินให้เป็นทุนก่อสร้างอีกเป็นจำนวนถึง ๙,๐๐๐ บาท และเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ท่านได้ไปปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเศียรขาดที่เป็นรูปหินแกะของเดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่วัดร้างโรงเรียนแม่ขานในปัจจุบัน เมื่อเสร็จแล้วจึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “หลวงพ่อโต” แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในหอประชุมโรงเรียนแม่ขาน จนถึงปัจจุบัน
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:33 | ดูโพสต์ทั้งหมด
๏ รับนิมนต์สู่วัดฟ้าหลั่ง

ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ จำนวนราษฎรในหมู่บ้านสันหินเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการโรงเรียนสำหรับบุตรหลาน จึงได้ร่วมกันเข้าชื่อขออนุญาตใช้ที่ดินของกรมทางหลวงที่สงวนไว้มาสร้างโรงเรียน ซึ่งกรมทางหลวงก็ได้อนุญาต เมื่อเตรียมที่ทางแล้ว ชาวบ้านสันหิน (ฟ้าหลั่ง) โดยการนำของนายปั๋น เผือกผ่อง, นายจันทร์ ปัญญาไว, นายวัง โพธาติ๊บ และนายจันทร์ทิพย์ เรือนรักเรา (จันทร์ติ๊บจ้างซอ) ได้ร่วมกันไปอาราธนานิมนต์หลวงปู่ครูบาอิน อินโท (สมณศักดิ์ขณะนั้นเป็นพระครูอิน) มานั่งหนักเป็นประธานงานก่อสร้างโรงเรียน ซึ่งท่านก็ได้รับนิมนต์ และพอดีจะถึงฤดูเข้าพรรษา ทางคณะศรัทธาจึงช่วยกันแผ้วถางที่วัดร้างฟ้าหลั่ง สร้างเป็นอาราม และอาราธนาให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นั้นเลย และขณะเดียวกันก็เตรียมการสร้างโรงเรียนต่อไป

โรงเรียนวัดฟ้าหลั่งได้วางศิลาฤกษ์สร้างอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ ช่วงที่ออกพรรษาแล้ว อาคารเรียนที่ก่อสร้างนั้น เป็นอาคารเรียนตามแบบ ป ๑ ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นแบบตึกชั้นเดียว ๓ ห้องเรียน (เพิ่งรื้อไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ นี้เอง เครื่องไม้ที่ประกอบอาคารเรียนหลังนั้น ยังได้นำบางส่วนมาใช้สร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบันนี้ด้วย) การสร้างโรงเรียนในครั้งนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการเลย เกิดจากพลังศรัทธาของสาธุชนที่มีต่อองค์หลวงปู่ครูบาอินแทบทั้งสิ้น ท่านได้ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๑ ปี ๖ เดือน จึงแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียนเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗ ตั้งชื่อว่า “โรงเรียนวัดฟ้าหลั่ง”

ส่วนทางวัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ซึ่งเป็นวัดเดิมของท่าน  ท่านก็ได้มอบให้พระบุญปั๋น ปัญโญ ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้พี่ผู้น้อง และได้บวชหลังท่าน ๑ พรรษา รักษาการแทน ต่อมาท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ เรียกขานกันว่า ครูบาบุญปั๋น ปัญโญ และเพิ่งถึงแก่มรณภาพไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ นี้


ครูบาศรียูร คนฺธวํโส กับ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-22 14:34 | ดูโพสต์ทั้งหมด
๏ วัดร้างฟ้าหลั่ง

วัดฟ้าหลั่งก่อนที่พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) จะมาอยู่นั้นเป็นวัดร้าง ยังมีโบราณวัตถุ โบราณสถานเหลืออยู่ ที่ชื่อว่าวัดฟ้าหลั่งนั้น ตามคำบอกเล่าของคนโบราณที่สืบทอดกันมา ก็คือ “เป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์มาก” กล่าวคือ หากปีใดฟ้าฝนแห้งแล้ง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล พวกชาวบ้านจะพากันเอาข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน และนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวงสรวงเทวดาเพื่อขอฝน เมื่อทำพิธีถูกต้องจะปรากฏว่าบนท้องฟ้าจะมืดครึ้ม เต็มไปด้วยก้อนเมฆ แล้วฝนก็จะหลั่งลงมาจากฟ้าไม่ขาดสาย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “วัดร้างฟ้าหลั่ง” เนื้อที่ของวัดตามแนวรากฐานกำแพง มีเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ และมีที่ดินนอกแนวกำแพงวัดอีกมาก ประมาณกว่า ๒๐๐ ไร่ เป็นป่าไม้ประเภทต่างๆ เช่น ไม้เหียง ไม้ตึง ไม้แงะ และไม้เปา

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ กรมทางหลวงแผ่นดิน ได้สร้างถนนสายเชียงใหม่-ฮอด ผ่านที่ดินของวัด จึงทำให้ที่ดินของวัดฟ้าหลั่งแยกออกเป็นสองแปลง ส่วนที่เป็นโบสถ์ วิหารเก่า อยู่ตรงข้ามกับบริเวณวัดปัจจุบัน นอกจากนั้น กรมทางหลวงยังได้ปักหลักเอาที่ดินของวัดและป่าข้างๆออกไปอีกประมาณ ๒๐ ไร่ ประกาศเป็นที่ดินกองทางสงวน พอกรมทางหลวงสร้างถนนเสร็จ ราษฎรบ้านใกล้เรือนเคียงก็พากันมาจับจองแผ้วถางที่ดินสองฟากถนน เป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ประมาณ ๖๐ ครอบครัว

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ โรงเรียนบ้านสามหลังเก่าถูกพายุพัดล้มทั้งหลัง นายทิพย์ มณีผ่อง ครูใหญ่ นำชาวบ้านไปขออาราธนาเอาท่านครูบาขาวปี มานั่งหนัก (เป็นประธาน) สร้างโรงเรียนสามหลังขึ้นมาใหม่ พอครูบาขาวปีสร้างโรงเรียนเสร็จแล้ว คณะกรรมการสร้างโรงเรียนโดยนายสมบูรณ์  ไชยผดุง (เจ้าน้อยสมบูรณ์) ได้อาราธนาให้ท่านอยู่นั่งหนัก (เป็นประธาน) สร้างวัดฟ้าหลั่งต่อ ท่านบอกว่าท่านไม่ใช่เจ้าของที่จะสร้าง ตัวเจ้าของมีแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏเพราะยังไม่ถึงเวลา หากถึงเวลาเมื่อใดเขาจะมาสร้างเอง ขอให้เหล่าญาติโยมจงรอไปก่อน


๏ บูรณะวัดร้างฟ้าหลั่ง

หลวงปู่ครูบาอินเล่าว่า ท่านมาอยู่วัดฟ้าหลั่งเมื่ออายุได้ ๕๗ ปี วัดฟ้าหลั่งยังเป็นป่าอยู่ ชาวบ้านเชื่อกันว่าที่นี้แรง บริเวณกำแพงวัดปัจจุบัน เป็นที่ที่ชาวบ้านมาเลี้ยงผีกัน เข้าใจว่าเป็นพวกผีตายโหง เมื่อท่านมาอยู่ชาวบ้านก็ได้สร้างกุฏิเป็นกระท่อมเล็กๆ ให้ท่านอยู่ ท่านก็ได้สอนให้ชาวบ้านแผ่เมตตาให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นได้รับส่วนกุศล ท่านก็อยู่มาได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน สภาพของวัดที่เห็นในปัจจุบัน ท่านค่อยๆ สร้างขึ้นทั้งสิ้น คติการสร้างของครูบาอินก็คือค่อยทำไป ท่านไม่บอกบุญให้ชาวบ้านต้องเป็นทุกข์ เดือดร้อน ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์เสมอว่า อย่าทำบุญให้ตนเองเดือดร้อน ให้ทำตามกำลัง

เรื่องที่ครูบาขาวปีกล่าวถึงเจ้าของที่จะมาสร้างนั้น ครูบาอินท่านก็ได้ยินที่ครูบาขาวปีว่า “เจ้าเปิ้นมี เจ้าตึงมาสร้าง” เมื่อมีผู้เรียนถามท่านว่า ท่านใช่เจ้าของตามที่ครูบาขาวปีท่านกล่าวถึงหรือไม่ ท่านตอบแบหัวเราะๆ ว่า “ถ้าจะแม่แต้เน่อ หลวงปู่มาอยู่นี่นะ ทีแรกมาอยู่มีบ้านสักสิบสักซาว มุงคามุงต๋อง (ตองตึง) กะต๊อบหลวงปู่ ได้ซื้อข้าวสารมานึ่ง บอกเขาว่าสตางค์มีก่อซื้อข้าวสารมาไว้ เขาก่อซื้อมาหื้อหลายเตื้อ เอามาเตื้อถังๆ โอถ้าเป็นพระเณรสมัยนี้ มันก่อไปแล้วแล้วเน้อ บ่ออยู่ละ อยู่มาก็ดีขึ้นๆ บ้านก็หลายหลังขึ้น ก็เจริญขึ้น”


หลวงปู่ครูบาอิน อินโท กับ พระอาจารย์อินทร  จิตตสังวโร
เจ้าอาวาสวัดใหม่หนองหอย ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-24 08:42 | ดูโพสต์ทั้งหมด

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท เมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม มีอายุพรรษาไม่มากนัก


๏ วัตรปฏิบัติ

พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) หรือที่เรียกติดปากว่า “ครูบาอิน” หรือ “หลวงปู่” หรือ “หลวงปู่ครูบาอิน” หรือ “ครูบาฟ้าหลั่ง” นั้นเป็นพระสุปฏิบันโน ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นมีความชุ่มเย็นเสมอ ท่านแม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังแข็งแรง และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของท่านมิได้ขาด คือการทำวัตรเช้า-เย็น พร้อมกับเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาในตอนเช้ามืดและก่อนนอน

ครูบาอินมีความพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ท่านมักกล่าวอยู่เสมอว่า เป็นบุญของท่านที่อยู่มาจนทุกวันนี้ และไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อ ครูบาไม่เคยเรียกร้องต้องการอะไร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ ในวัยเกือบ ๙๐ ปีท่านยังทำความสะอาดกุฏิเอง ผู้ที่พบเห็นท่านมักจะเกิดศรัทธาและประทับใจในความเป็นพระแท้ของท่าน ท่านมีเมตตาต่อศิษย์โดยถ้วนหน้า พยายามให้ลูกศิษย์หาโอกาสปฏิบัติธรรมเสมอ ปกติแล้วครูบาจะไม่ค่อยพูด แต่ถ้าหากคุยธรรมะแล้วท่านจะคุยได้นาน หรือถ้าพบคนสูงอายุท่านจะชวนคุยด้วยนานๆ คนรุ่นเดียวกับท่านล่วงลับไปเกือบหมดแล้ว ท่านเล่าว่ามีเพื่อนรุ่นเดียวกับท่านเป็น “น้อย” (ผู้เคยบวชเป็นสามเณร) ยังเหลืออยู่เพียงคนเดียว

ทางด้านสุขภาพของครูบาอิน ท่านว่าสังขารของท่านร่วงโรยไปตามอายุ เดี๋ยวนี้มีอาการอ่อนเพลีย และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง แต่ก็มีหมอคอยดูแลรักษาเป็นประจำ ท่านเองถ้าหากไม่อ่อนเพลียนัก ก็พยายามไปตามกิจนิมนต์อยู่เสมอด้วยเมตตาของท่าน แม้ลูกศิษย์จะห่วงใยและพยายามขอร้องให้พักผ่อนก็ตาม

ท่านครูบาเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงต่อเรื่องต่างๆ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของท่านด้วย ท่านไม่ค่อยจะบอกเล่าอาการ หรือทุกขเวทนาให้ใครทราบ ได้แต่ห่วงใยทุกข์สุขของผู้อื่น ความมีเมตตาเอื้อเฟื้อของท่าน เผื่อแผ่ถึงสัตว์เลี้ยงภายในวัด ท่านไม่ยอมให้ใครนำไปปล่อยที่อื่น ท่านว่าข้าววัดพอมีเลี้ยงดูกันไปได้ ยามสัตว์เหล่านี้เจ็บป่วย ท่านก็พยายามจัดการให้มีการเยียวยาตามกำลัง พระภิกษุและสามเณรก็มีความรักสัตว์และมีความเมตตาเช่นท่านด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งมีลูกสุนัขของวัดเจ็บอยู่นาน ท่านเรียกมันว่า “ขาว” พอดีมีโอกาสที่จะนำตัวไปรักษาที่คลินิกสัตวแพทย์ลูกศิษย์ของท่าน ท่านเดินมาส่งถึงรถพร้อมกับกล่าวว่า “ขาวเอ๊ย ไปโฮงยานะลูก”

ในเรื่องนี้ บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและฆาราวาสซึ่งมีทั้งชาวบ้านวัดฟ้าหลั่งและจากที่ต่างๆ ก็พยายามดูแลท่านตามกำลังความสามารถเพื่อถนอมท่าน ครูบาเองนั้นมีความเกรงใจทุกคน ท่านมักกล่าวเสมอว่า ไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ท่าน ท่านพอใจใสความเป็นอยู่ของท่านแล้ว แต่หมูลูกศิษย์ก็มีความห่วงใย จึงอดไม่ได้ที่จะจัดหาสิ่งต่างๆ ให้ท่านได้รับความสะดวกบ้าง รวมทั้งพยายามหาแพทย์มาดูแลสุขภาพของท่าน ให้ท่านอยู่กับพวกเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่า ท่านไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านี้

พระครูวรวุฒิคุณ (หลวงปู่ครูบาอิน อินโท) เป็นผู้มีสติระมัดระวังอยู่เสมอ ท่านรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในวงการพระพุทธศาสนา มีผู้ไปถามความเห็นจากท่าน ท่านจะให้ข้อคิดที่ดี โดยยึดหลักธรรมะ ไม่เคยคิดซ้ำเติมผู้ใดด้วยอคติหรืออารมณ์ ในระยะหลังได้มีผู้มาพบเห็นและได้ข่าวปฏิปทาของท่านจนเกิดความเลื่อมใสในองค์ท่านมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้แวะเวียนไปกราบนมัสการท่านอยู่เนืองๆ และได้ทำบุญร่วมกับท่านโดยการก่อสร้างถาวรวัตถุในวัดฟ้าหลั่ง อาทิเช่น วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิ โรงครัว ตลอดจนห้องสุขา เป็นต้น จนวัดมีความเจริญดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน

วัตรปฏิบัติประจำวันของท่านครูบาอินเท่าที่ทราบ ท่านตื่นนอนตอนเช้าตีสี่ ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ เมื่อพระในวัดมาพร้อมกันที่กุฏิของท่าน ท่านครูบาก็จะเป็นผู้นำในการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและนั่งสมาธิแผ่เมตตาเป็นประจำ ท่านฉันประมาณ ๘ โมงเช้า โดยฉันเอกา คือฉันเพียงมื้อเดียว และตลอดทั้งวันจะไม่ฉันอย่างอื่นนอกจากน้ำ ประมาณ ๙-๑๐ โมงเช้า หากไม่ติดกิจนิมนต์ ท่านก็จะมีปฏิสันถารกับญาติโยมที่ไปกราบนมัสการหรือไปทำบุญ หลังจากนั้นท่านจะพักผ่อนเป็นการส่วนตัว เช่นอ่านหนังสือหรือทำกิจอื่นจนถึงเวลาประมาณบ่ายสองโมงท่านจึงออกรับแขกจนถึงเวลาประมาณห้าโมง

จากนั้นท่านจึงสรงน้ำแล้วสวดมนต์ทำสมาธิจนถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม พระภิกษุสามเณรในวัดจึงมาพร้อมกันที่กุฏิของท่านเพื่อทำวัตรสวดมนต์เย็น ทำสมาธิ ซึ่งเสร็จประมาณสองทุ่ม หลังจากนั้นท่านครูบาอินจะมีปฏิสันถารกับพระในวัดตามสมควร แล้วพักผ่อน ซึ่งท่านจะเดินจงกรมและทำสมาธิก่อนจำวัดทุกคืน
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-24 08:43 | ดูโพสต์ทั้งหมด



พระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน


๏ นมัสการพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์ประจำปีเกิด

ตามปกติท่านครูบาอินเป็นผู้ที่ชอบอยู่กับที่มากกว่าจะเดินทางท่องเที่ยวหรือรับกิจนิมนต์ไปในที่ไกลๆ นอกจากกิจนิมนต์ที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งในบางครั้งท่านไปด้วยความเมตตา แต่พอกลับมาแล้วมีอาการเจ็บป่วยเป็นที่ห่วงใยแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาเป็นอย่างมาก จนถึงกับขอเมตตาจากท่านครูบางดการรับกิจนิมนต์ลงบ้าง เพื่อจะได้อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ลุกศิษย์ลูกหา และศรัทธาสาธุชนทั้งหลายไปนานๆ และพากันมีความหวังว่า ท่านทั้งหลายที่เลื่อมใสศรัทธาในท่านครูบาจะเข้าใจ และยินดีที่ลูกศิษย์ลูกหาใกล้ชิดมีความเป็นห่วงหลวงปู่เช่นนี้

เท่าที่ทราบสถานที่อันเป็นความปีติของท่านในสมัยหลังที่ท่านได้มีโอกาสไปเยือนและกราบนมัสการ คือการไปกราบนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองน่าน ณ วัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงติ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน อันเป็นคตินิยมของคนภาคเหนือ ถือกันว่าเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ซึ่งในชั่วชีวิตหนึ่งควรจะมีโอกาสไปนมัสการ ซึ่งครูบาอินท่านก็ได้ไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ คือปี พ.ศ.๒๕๓๓ ในวันที่ท่านไปเป็นการพอดีกับประเพณีทำบุญของพระธาตุ ซึ่งยังความปีติแก่ท่านเป็นอันมาก
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-24 08:43 | ดูโพสต์ทั้งหมด
๏ การสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะ

นับตั้งแต่หลวงปู่ครูบาอิน ได้รับอาราธนาให้มาเป็นประธานสร้างโรงเรียนวัดฟ้าหลั่งเป็นต้นมา มีเหตุการณ์และการก่อสร้างที่พอจะเรียงลำดับเวลาและอายุของหลวงปู่ ได้ดังนี้คือ

พ.ศ.๒๕๐๔  อายุ ๕๘ ปี ได้มาพำนัก ณ วัดร้างฟ้าหลั่ง โดยคณะศรัทธาได้สร้างกุฏิถวาย และอาราธนาให้หลวงปู่ครูบาอิน อยู่จำพรรษาเป็นพรรษาแรก

พ.ศ.๒๕๐๕  อายุ ๕๙ ปี เริ่มสร้างอาคารเรียน โรงเรียนวัดฟ้าหลั่ง เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕

พ.ศ.๒๕๐๖  อายุ ๖๐ ปี ก่อสร้างโรงเรียน (ต่อ)

พ.ศ.๒๕๐๗  อายุ ๖๑ ปี อาคารเรียนเสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี ๖ เดือน ทำพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ในปีนี้เอง ได้เริ่มลงมือสร้างศาลาการเปรียญ เพื่อใช้แทนวิหารมีขนาดกว้าง ๙ เมตรยาว ๑๒ เมตร (เพิ่งรื้อลงและสร้างใหม่แทนเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๒)

พ.ศ.๒๕๑๐  อายุ ๖๔ ปี เริ่มสร้างกำแพงด้านหน้า สร้างกุฏิเล็ก ทางทิศตะวันตกเรียงกัน ๒ หลัง และกุฏิใหม่อีก ๑ หลัง เป็นที่หลวงปู่ครูบาใช้รับแขกและประชุมสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น

พ.ศ.๒๕๑๓  อายุ ๖๗ ปี สร้างกำแพงด้านเหนือและด้านใต้ (ด้านโรงเรียน)

พ.ศ.๒๕๑๕  อายุ ๖๙ ปี สร้างกำแพงด้านตะวันตกพร้อมโรงครัว ๑ หลัง (เพิ่งรื้อลงและสร้างใหม่แทนที่เดิม ปี พ.ศ.๒๕๓๓)

พ.ศ.๒๕๑๘   อายุ ๗๑ ปี ย้ายอุโบสถเดิม (มีปรากฏเพียงฐานอุโบสถแต่โบราณ) ซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดในปัจจุบัน มาสร้างใหม่ เพื่อความสะดวกในการดูรักษาและปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย

พ.ศ.๒๕๒๔  อายุ ๗๘ ปี  สร้างหอระฆัง

พ.ศ.๒๕๒๖  อายุ ๘๐ ปี เริ่มสร้างวิหาร การก่อสร้างเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ ด้วยเหตุผลที่ว่าหลวงปู่ครูบาอินไม่เรี่ยไรบังคับให้คนทำบุญ

พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๙  อายุ ๘๑-๘๓ ปี อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างวิหาร

พ.ศ.๒๕๓๐  อายุ ๘๔ ปี มีการทอดกฐินสามัคคีเพื่อนำทุนทรัพย์สร้างวิหาร ในการทอดกฐินครั้งนี้ เพื่อเป็นฉลองศรัทธาผู้มาร่วมบำเพ็ญบุญกุศล คณะกรรมการฯ จึงได้อาราธนาพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม  พุทธาจาโร ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณสิทธาจารย์) สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง ตำบลบ้านถ้ำ  อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนาสมโภชองค์กฐิน เพื่อยังประโยชน์สุขแก่สาธุชนทั้งหลายให้ถึงพร้อมด้วยทาน ศีล และภาวนา

พ.ศ.๒๕๓๑  อายุ ๘๕ ปี มีการทอดกฐินสามัคคีโดย ห.ส.น.เวชพงษ์โอสถ และบริษัทอุตสาหกรรมผึ้งไทย นำทุนทรัพย์สมทบสร้างวิหารจนแล้วเสร็จ

พ.ศ.๒๕๓๒  อายุ ๘๖ ปี วันที่ ๒๒-๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๒ มีการฉลองวิหารและสมโภชพระประธาน ซึ่งคุณวีระ-คุณยุวดี อุชุกานนท์ชัย พร้อมครอบครัว และ ผศ.ดรุณี ศมาวรรตกุล เป็นเจ้าภาพผู้ศรัทธา และทำบุญอายุครบ ๘๖ ปี หลวงปู่ครูบาอิน ในครั้งนั้น ท่านได้เป็นประธานองค์ผ้าป่าทอดถวายบำรุงเสนาสนะสำนักสงฆ์ถ้าผาปล่อง ซึ่งพระครูสันติวรญาณ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร) แสดงพระธรรมเทศนาสมโภชวิหารใหม่ด้วย หลังจากออกพรรษา ครอบครัวคุณวีระ-คุณยุวดี อุชุกานนท์ชัย ได้เป็นประธานทอดกฐินสามัคคี นำทุนทรัพย์เริ่มก่อสร้างศาลาการเปรียญแทนหลังเก่าซึ่งทรุดโทรมแล้ว และมีอายุการใช้งานนับได้ถึง ๒๖ ปี และได้มีคณะศรัทธาศิษยานุศิษย์บริจาคทุนทรัพย์สมทบจนแล้วเสร็จ

พ.ศ.๒๕๓๓ อายุ ๘๗ ปี อาจารย์รัตนา หิรัญรัศ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมญาติมิตรสหาย ได้เป็นเจ้าภาพสร้างกุฏิต่อเติมออกไปจากกุฏิเดิม เพื่อให้หลวงปู่ครูบาได้พักอาศัยให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ในช่วงก่อนเข้าพรรษา (เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) ได้มีการปรับถมที่บริเวณวัดด้านทิศเหนือของพระอุโบสถให้ได้ระดับเดียวกับหน้าลานวิหาร และได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างกุฏิกรรมฐานจำนวน ๕ หลัง แล้วเสร็จทันเวลาให้พระภิกษุได้เข้าพักในเวลาพรรษาพอดี ครั้นเมื่อออกพรรษาครอบครัวของอาจารย์รัตนา หิรัญรัศ พร้อมญาติมิตรสหาย โดยคุณแม่ลัดดา หิรัญรัศ และคุณป้าถาวร ทองลงยา เป็นประธานทอดกฐิน ณ วัดฟ้าหลั่ง คณะกรรมการได้นำทุนทรัพย์จากการทอดกฐินในครั้งนี้สมทบกับทุนเดิมที่มีอยู่ เริ่มสร้างโรงครัว หอฉัน แทนที่โรงครัวเดิม ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานถึง ๑๙ ปี

พ.ศ.๒๕๓๔  อายุ ๘๘ ปี  สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคี สมทบสร้างโรงฉัน โรงครัว คณะศิษยานุศิษย์จัดทำบุญอายุครบรอบ ๘๘ ปี และมีงานฉลองสมโภชกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงฉัน โรงครัว ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ตามลำดับ ฯลฯ

หลังจากนั้นในแต่ละปี ก็ได้มีการจัดงานบุญทอดผ้าป่า กฐิน และทำบุญอายุของหลวงปู่ครูบาอินประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ทุกๆ ปี ซึ่งก็จะมีศิษยานุศิษย์ และคณะศรัทธาทั้งใกล้และไกลจำนวนมากเข้าร่วมงาน ซึ่งรวมทั้งคณะลูกศิษย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, กองบิน ๔๑, และคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมงานจนแน่นวัดทุกๆ ปี
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-24 08:44 | ดูโพสต์ทั้งหมด



หลวงปู่ครูบาบุญปั๋น ธัมมปัญโญ กับ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-24 08:45 | ดูโพสต์ทั้งหมด


๏ กลับวัดทุ่งปุย

ภายหลังจากที่หลวงปู่ครูบาอินได้ไปสร้างความเจริญ ที่วัดฟ้าหลัง ร่วม ๓๐ ปี จนวัดฟ้าหลั่งมีความสวยงามและรุ่งเรืองยิ่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้ว เมื่อกาลล่วงมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๓ วันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ เหนือ หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ก็ได้หวนกลับมาสู่ “บ้านเกิด” ที่วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของหลวงปู่ที่เคยเป็นเด็กวัด และได้บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเคยเป็นเจ้าอาวาสที่นี่มาก่อน และได้เป็นเจ้าคณะตำบลยางคาม มาตามลำดับ

มูลเหตุสำคัญ เนื่องจากวัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) กำลังพัฒนาเสนาสนะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ทรุดโทรมไปตามกาลสมัย อย่างเช่น กุฏิ ศาลา กำแพง เป็นต้น อีกทั้งการกลับมาของท่านด้วยอายุที่สูงถึง ๙๘ ปี ด้วย “วุฒิ” อัน “เจริญ” จนถึงขั้นสูงสุด หาใดเปรียบมิได้อย่างเต็มภูมิ เป็นการกลับมาของท่านในวัยชรามากแล้ว ได้กลับมาอยู่ใกล้ลูกหลาน ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน

นับว่าหลวงปู่ครูบาอิน เป็นปูชนียบุคคลที่ควรเคารพบูชาอย่างยิ่ง ถึงแม้นจะไปอยู่ที่อื่น ไปสร้างที่อื่นให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่ลืมบ้านเดิมถิ่นฐานบ้านเกิดของท่าน คงเป็นเพราะบุญกุศลที่ศรัทธาญาติโยมได้มาร่วมกันทำกับหลวงปู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศาลาการเปรียญ ๑๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ การสร้างกำแพง ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ และการสร้างกุฏิวรวุฒิคุณ เพื่อเป็นที่พำนักของหลวงปู่ ในปีเดียวกัน ในแต่ละวันจึงมีผู้คนมากราบนมัสการเยี่ยมเยียนหลวงปู่ไม่ขาดสาย ถึงแม้นว่าท่านจะอาพาธ นอนพักรักษาตัวอยู่ที่วัดหรือที่โรงพยาบาล ท่านก็ยังเมตตาให้ศรัทธาญาติโยมที่มานั้นได้เข้าไปกราบไหว้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต


กุฏิวรวุฒิคุณ พ.ศ.๒๕๔๕ เป็นกุฏิที่หลวงปู่ครูบาอินพำนักในช่วงปลายชีวิต
ณ วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) ต.ยางคราม กิ่ง อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่


 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-24 08:46 | ดูโพสต์ทั้งหมด
๏ ปัจฉิมวัยและการมรณภาพ

หลวงปู่ครูบาอิน อินโท ได้เพียรอุทิศตนไว้ในบวรพระพุทธศาสนา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่ศาสนจักร คือ การสร้างถาวรวัตถุ สร้างวัดวาอาราม ให้ความช่วยเหลือไว้หลายวัด ฝ่ายอาณาจักรท่านก็ได้สร้างอาคารสถานที่ และสาธารณประโยชน์แก่ทางราชการบ้านเมืองอย่างมากมายมาโดยตลอด ใครมาขอให้ท่านช่วยสร้างอะไร ท่านก็เมตตาให้ ท่านทำแบบเงียบๆ ใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย ไม่ค่อยจะพูดจามากนัก หลวงปู่ท่านมีข้อวัตรปฏิบัติที่เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ผู้ที่ได้มาพบเห็นกราบไหว้ เห็นปฏิปทาการปฏิบัติของท่านแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่

ช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ สังขารร่างกายของท่านไม่แข็งแรงซึ่งเป็นไปตามอายุขัย อาพาธบ่อย หลวงปู่ท่านมีความอดทนสูงมาก มีสติและสมาธิความจำที่ดีเลิศอยู่เสมอ ยามเจ็บไข้เกิดทุกขเวทนาท่านจะไม่ยอมบอกใครง่ายๆ ท่านเกรงใจ ไม่อยากให้เป็นภาระแก่ลูกหลาน ศิษยานุศิษย์ และญาติโยม

ยามเมื่อท่านไม่สบายพักรักษาตัวอยู่ที่วัด ต้องให้ออกซิเจนอยู่เป็นระยะ เมื่อมีญาติโยมมากราบนมัสการท่าน ท่านก็ให้เข้าพบ พร้อมกับให้พรอันยาวนานตามปกติของท่าน จนญาติโยมที่มากราบไหว้รับพรจากท่านนั้นเหนื่อยแทน ขอร้องท่านให้พรสั้นๆ เพราะกลัวท่านเหนื่อย ท่านก็ไม่ยอม ลุกขึ้น ไม่นอนให้ศีลให้พรแก่ญาติโยม ไหว้พระสวดมนต์อยู่ตลอด ท่านบอกว่าไม่เหนื่อย

หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕ หมอวินิจฉัยว่าท่านติดเชื้อในปอด และน้ำท่วมหัวใจ พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๘ เมษายน ก็กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) อาการดีขึ้น

วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๕ นิมนต์หลวงปู่ขึ้นอยู่บนกุฏิหลังใหม่ (กุฏิวรวุฒิคุณ) ที่คณะศรัทธาญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหา สร้างถวาย

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ คณะศรัทธาศิษยานุศิษย์ ทำบุญฉลองอายุ ๑๐๑ ปี ถวาย

หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๑๓.๑๕ น. อาการเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงเวลา ๑๙.๔๐ น. ท่านก็จากไปอย่างสงบ ปัจจุบันนี้ได้ตั้งสรีระของท่านไว้บำเพ็ญกุศล ณ วัดคันธาวาส (วัดทุ่งปุย) จังหวัดเชียงใหม่

คณะศรัทธาศิษยานุศิษย์ขอขอบคุณและอนุโมทนา ผู้บริหาร นายแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การรักษาดูแลหลวงปู่มาด้วยดีโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจวบจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของหลวงปู่ โดยเฝ้าดูแลอุปัฏฐากแวะเวียนเยี่ยมดูอาการ ให้กำลังใจหลวงปู่อยู่มิได้ขาด

ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้รับพรของหลวงปู่ที่เคยให้เราและท่านไว้ว่า  “ตั้งแต่นี้ไปปายหน้า ขอให้ทุกคนจงอยู่ดีมีสุข มีอายุมั่นยืนยาว ขอหื้อพ้นเสียยังโรค ภัย ไข้ เจ็บ เป็นต้นว่าเคราะห์ปายหลังอย่าได้มาท่า เคราะห์ปายหน้าอย่าได้มาจน เคราะห์ปายบนอย่าได้มาใกล้ เคราะห์ขี้ไร้อย่าได้มาปานถูกต้อง ฝูงปาปะเคราะห์พร่ำพร้อมคือว่าเคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์เมื่อหลับเมื่อตื่น เคราะห์เมื่อยืมเมื่อเตียว เคราะห์เมื่อเหลียวเมื่อผ่อ เคราะห์เมื่อคืนบ่อหัน เคราะห์เมื่อวันบ่อฮู้ เคราะห์เมื่ออู้เมื่อจ๋า เคราะห์นานาต่างต่าง จุ่งกลับกลายเป็นเป็นโสมะ ตัวใดเป๋นโสมะแล้ว จุ่งนำมายังลาภะสะก๋าร คือ โจคลาภ ขอหื้อทุกคนมีอายุปี๋ อายุเดือน อายุวัน อายุยาม โจคปี๋ โจคเดือน โจคยาม อยู่ก็ขอหื้อมีจัย ไปก็ขอหื้อมีโจคมีลาภ ฮิมาก๊าขึ้นเหมือนกั๋นทุกผู้ทุกคน นั้นจุ่งจักมี วิรุฬหา พุทธศาสเน อะโรคาสุขิตา โหนตุ อายุ วัณโณ สุขัง พะลังฯ สาธุ สาธุ สาธุ”

ขอวิญญาณท่านอยู่คู่สวรรค์
สถิตย์มั่นบรรลุบุญกุศล
แม้จะอยู่ใต้หล้าทั่วสากล
สถิตย์บนบัลลังค์ทองของวิมาน





พระมหาเถรานุเถระ ขึ้นวางดอกไม้จันท์
ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ครูบาอิน อินโท
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐




.............................................................

คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://krubain.awardspace.com/                                                                                       
.............................................................

ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22950

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้