ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2773
ตอบกลับ: 9
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ วัดดอนยายหอม ~

[คัดลอกลิงก์]

หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ
วัดดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม


ประวัติและปฏิปทา

๐ ปฐมวัย

ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๓
ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ นางกลอง-นายพรม นามสกุล ด้วงพลู
ครอบครัวของหลวงพ่อเงิน ถือได้ว่าว่าเป็นผู้มีอันจะกินครอบครัวหนึ่งใน ต.ดอนยายหอม
ในขณะนั้นหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๘ คน คือ
นายอยู่ ด้วงพลู
นายแพ ด้วงพลู
นายทอง ด้วงพลู
หลวงพ่อเงิน
นายแจ้ง ด้วงพลู
นายเนียม ด้วงพลู
นางสายเพ็ญ ด้วงพลู
และนางเมือง ด้วงพลู

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-26 18:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ การบวชและมูลเหตุแห่งการบวชตลอดชีวิต



หลวงพ่อเงิน ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2453
โดยมี พระปลัดฮวย เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์
ได้ฉายา “จนฺทสุวณฺโณ”

เมื่อหลวงพ่อได้เข้าสู่เพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้บอกแก่โยมพ่อของท่านว่า

“อาตมาสละหมดทุกอย่างแล้ว โดยขอให้สัจจะปฏิญาณแก่พี่น้องชาวตำบลนี้ว่า
อาตมาจะไม่ขอลาสิกขา อาตมาจะเป็นแสงสว่างทางให้เพื่อนมนุษย์
ขอให้โยมร่วมอนุโมทนาด้วยความยินดีและมั่นใจ”


ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท หลวงพ่อเงิน ท่านมีความตั้งใจอย่างมาก
มีขันติ วิริยะ สามารถท่องปาติโมกข์จบ และแสดงในเวลาทำสังฆกรรมได้ตั้งแต่พรรษาแรก
หมั่นบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติสมถะ และวิปัสสนากรรมฐาน
ตามที่โยมพ่อพรมของท่านแนะนำ เป็นเวลาถึง 4 ปีเต็ม

ในปลายพรรษาที่ 5 หลวงพ่อเงินพร้อมด้วยพระที่วัดอีก 2 รูป ได้ออกธุดงค์ไปตามชนบท
มุ่งหน้าขึ้นภาคเหนือ ผ่านป่าสระบุรี ลพบุรี เรื่อยขึ้นไปถึงนครสวรรค์
ค่ำที่ไหนก็ปักกลดพักแรมที่นั่น อาหารที่ฉันก็เพียงมื้อเดียว
การเดินทางในสมัยนั้น เดินทางด้วยเท้าเปล่า บ้านคนก็ไม่ค่อยมี
ป่าก็เป็นป่าดงดิบ ที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด
ซึ่งยากที่พระภิกษุผู้ที่ไม่มีอาวุธ หรือเครื่องมือเพื่อป้องกันภัย
จะธุดงค์ได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความปลอดภัย เพราะเหตุที่ต้องประสบกับความยากลำบาก

การธุดงค์เป็นการวิเวกตามแบบพระคณาจารย์สมัยนั้นปฏิบัติกัน
อันเป็นการกำจัดอาสวะหรือกิเลสให้บรรเทาเบาบางลง
และทั้งจะยังเป็นการได้เผยแพร่ธรรมไปในตัวด้วย

การเดินทางด้วยวิธีทรมานสังขาร ฉันอาหารเพียงมื้อเดียวนี้
มิใช่เป็นสิ่งที่จะปฏิบัติได้อย่าง่ายดาย

พระภิกษุผู้จะออกธุดงค์ จะต้องทำเป็นพิธีรีตองให้ถูกต้องตามแบบแผน
จะต้องจาริกไปในป่าดงที่เงียบสงัดและทุรกันดารจริงๆ จึงจะเกิดกุศลผลบุญ
ไม่ใช่จาริกเข้าไปในถิ่นที่เจริญรุ่งเรือง
เป็นต้นว่า เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้วกลับอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นการธุดงค์

เริ่มแรก พระภิกษุเงิน ได้จาริกไปตามชนบทต่างๆ ด้วยการเดินเท้า
โดยบ่ายหน้าไปสู่ภาคเหนือและยึดเอาป่า จังหวัดลพบุรี
สระบุรีที่มีดงป่าหนาทึบแน่นขนัดไปด้วยไม้ใหญ่น้อย เป็นที่หมาย

ทั้งนี้เป็นการธุดงค์ที่เดาสุ่มปราศจากความสันทัดจัดเจนในภูมิประเทศ
ว่าตอนใดเขตไหนเป็นอย่างไร ท่านมิได้มีความรู้มาก่อนเลย

มืดค่ำที่ไหนก็กางกลดพักแรมที่นั่น เรื่องข้าวเรื่องน้ำไม่มีการคำนึงถึง
อดบ้าง ฉันบ้าง สุดแต่ใครจะศรัทธานำมาถวาย และเป็นการฉันมื้อเดียว

จากลพบุรี สระบุรี ท่านได้จาริก เรื่อยไปจนถึงนครสวรรค์ ตลอดเวลาการธุดงค์นั้น
ท่านได้ปฏิบัติตามแบบแผนอย่างเคร่งครับ มีการสำรวมในอิริยาบถด้วยไตรทวารอย่างมั่นคง

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-26 18:20 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ทุกคืนที่กางกลดอยู่ในป่าลึกดงสูง ก็สวดมนต์เจริญพระกรรมฐาน
น้อมจิตแผ่เมตตาให้แก่สัตว์โลกจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

นอกจากนี้ ท่านยังตั้งสัตย์อธิษฐานขออุทิศสังขารให้เป็นทาน
หากจะมีสัตว์ร้ายมาขบกัด ก็จะไม่โกรธเคืองในสังขาร
อันที่จะพลีร่างกายและเลือดเนื้อให้เป็นทานแก่สัตว์ร้ายทั้งหลาย

แต่ด้วยเดชะอำนาจของพุทธบารมี ธรรมบารมี สังฆบารมี จึงไม่ปรากฏว่ามีสัตว์ร้ายใดๆ
มาทำอันตรายท่านเลย จึงทำให้เพิ่มพูนกำลังใจที่จะเดินทางไปสู่ทางแห่งความดับทุกข์ยิ่งๆ ขึ้น

แต่ก็มีอยู่บ้างที่บางคืนท่านหลงปักกลดอยู่ในดงทึบใหญ่ ที่หนาแน่นไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด
พอตกกลางคืน ก็มีช้างและเสือมาเดินวนเวียนอยู่รอบๆ กลด

ท่านก็มิได้ตกใจ กลับเข้าไปนั่งในกลด สวดมนต์ภาวนาอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย
พร้อมกับแผ่เมตตาไปยังสัตว์ร้ายเหล่านั้น ด้วยถือหลักธรรมว่า เมตตาย่อมสนองต่อผู้มีเมตตา

เจ้าสัตว์ร้ายทั้งหลายก็ไม่ได้กล้ำกรายเข้าไปทำอะไรท่าน มีแต่วนเวียนอยู่ใกล้ๆ
คล้ายกับว่าจะมีเมตตาตอบ โดยจะคอยระวังภัยอันตรายให้ท่านกระนั้น

ในการออกธุดงค์ในครั้งนั้น จึงมีเรื่องเล่าต่อมา
ภายหลังจากที่หลวงพ่อเงินกลับจากธุดงค์เป็นเวลา 4 เดือน
หลวงพ่อเงิน ได้มาปักกลดอยู่ข้างบ้านดอนยายหอม โดยที่มีผิวกายดำกร้าน
ร่างกายซูบผอมราวกับคนชรา ชาวบ้านที่เดินผ่านไปมาจึงจำท่านไม่ได้
แม้แต่นายแจ้งซึ่งเป็นพี่ ชาย ก็คิดว่าเป็นพระธุดงค์มาจากที่อื่น
แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ตกตะลึง แทบจะปล่อยโฮออกมา พอได้สติจึงยกมือไหว้
แล้วถามท่านว่า“คุณเงินหรือนี่”
ซึ่งหลวงพ่อเงินก็ตอบพร้อมกับหัวเราะว่า “ฉันเอง โยมพี่ทิดแจ้ง”
ฉันแปลกมากไปเชียวหรือ จึงจำฉันไม่ได้ ฉันมาปักกลดอยู่ที่นี่นานแล้ว
เห็นพวกบ้านเราเขาเดินผ่านไปผ่านมาหลายคน แต่ไม่มีใครทักฉันเลย
ฝ่ายพ่อพรมนั้น พอทราบข่าวว่า พระลูกชายกลับจากธุดงค์ด้วยความปลอดภัยแล้ว
ก็เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มยินดี

สาเหตุที่ หลวงพ่อเงิน ท่านไม่อยากครองชีวิตแบบคฤหัสถ์
กล่าวกันว่า เพราะท่านมองเห็นว่า ความสุขทางโลกไม่จีรังยั่งยืนเหมือนความสุขทางธรรม
เรื่องของทางโลก มีแต่ความยุ่งยาก วุ่นวาย เดือดร้อน ข่มเหง เบียดเบียน
และอิจฉาริษยากันไม่สิ้นสุด ผู้เสพรสของความหรรษาทางโลก
ย่อมมียาพิษเจือปนอยู่เสมอ ส่วนผู้เสพรสพระธรรม ไม่มีพิษไม่มีโทษแต่อย่างใด

หลวงพ่อเงิน มักจะปรารภให้ผู้ใกล้ชิด ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า
ร่างกายมนุษย์เรานี้ ไม่มีแก่น เกิดมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ที่เต็มไปด้วยกองทุกข์
มนุษย์จะหนี ทุกข์ได้ มิใช่มากด้วยสมบัติพัสถาน หรือข้าทาสบริวาร
ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้เป็นพันธะยึดเหนี่ยวจิต เสมือนจิตถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน
ต้องพะวักพะวนเศร้าหมอง

คติธรรมที่หลวงพ่อเงินได้ให้ไว้ คือ รู้จักพอ ก่อสุข ทุกสถาน
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-26 18:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ กิจอื่นๆในการบำรุงพระศาสนา



ปฏิสังขรณ์วัดดอนยายหอม

หลังจากได้รับตำแหน่งเป็นรองเจ้าอาวาสแล้ว หลวงพ่อเงิน ได้เริ่มงานปฏิสังขรณ์วัดทันที
พระอุโบสถ หรือกุฏิที่ชำรุดผุพังเกือบทุกหลัง ถนนหนทางในวัดสำหรับภิกษุจะเดิน
ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นงานที่จะต้องรีบแก้ไข

เมื่อสำรวจดูแล้ว ท่านก็ตระหนักว่า พระอุโบสถเป็นหัวใจของวัด
ซึ่งขณะนั้นพื้นเป็นดิน เวลาภิกษุเข้าทำสังฆกรรมต้องเปรอะเปื้อนเลอะเทอะ

เมื่อมีโอกาส ท่านจึงปรารภกับบรรดาสัปบุรุษทั้งหลาย
ท่านเหล่านั้นก็พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์ จึงได้หินอ่อนมาปูพื้นอุโบสถจนเรียบร้อย
ต่อจากนั้นก็ได้มีการดัดแปลงกุฏิที่ชำรุด ให้เป็นที่อยู่อาศัยอันสมบูรณ์อีกหลายหลัง

เมื่อชาวบ้านหมดจากฤดูเก็บเกี่ยว หลวงพ่อเงิน ก็ขอแรงบอกบุญชาวบ้านให้ถือจอบถือพลั่วมาคนละอัน ช่วยกันขุดลอกคูเก่าทางด้านทิศตะวันตกของวัดที่มีความยาวเกือบยี่สิบเส้น ให้ลึกลงไป และขุดลอกให้น้ำสะอาดสดใส

ต่อมาก็ขอแรงชาวบ้าน ช่วยกันขุดสระน้ำขนาดใหญ่ทางด้านใต้ของวัดอีกหนึ่งสระ มีความกว้าง 10 วาเศษ ยาวประมาณ 3 เส้น ลึกประมาณ 8 วา จัดว่าเป็นสระใหญ่ และยาวที่สุดของตำบลนั้น ด้วยความพร้อมเพรียงของชาวบ้านดอนยายหอม สระใหญ่ก็เสร็จเรียบร้อย ขังน้ำไว้ใช้ได้ตลอดปี

สร้างหอสวดมนต์

แม้วัดดอนยายหอมจะเป็นวัดเก่าแก่ก็จริง
แต่หาได้มีหอสวดมนต์สำหรับภิกษุสามเณรจะทำวัตรเช้าเย็นไม่

ฉะนั้นพอถึงปี พ.ศ. 2465 หลวงพ่อเงิน จึงปรึกษาชาวบ้านถึงเรื่องนี้
โดยเน้นให้เห็นถึงความจำเป็นของหอสวดมนต์ให้ฟัง

ชาวบ้านก็พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์คนละเล็กละน้อย ทั่วทั้งตำบล ได้เงินมาสร้างในสมัยนั้น

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-26 18:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
งานเพื่อปวงชน

ด้วยความห่วงใยในสุขภาพและการเจ็บป่วยของชาวบ้าน
หลวงพ่อเงิน ได้สละทรัพย์ส่วนตัวของท่านร่วมกับพี่ชายซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง
เพื่อสร้างสุขศาลาในปี 2494 การสร้างสุขศาลาก็เสร็จเรียบร้อย

ก่อนที่จะมีสุขศาลา ชาวบ้านคนใดถูกงูกัดก็จะต้องนำตัวเข้าไปรักษาถึงในเมือง
บางคนก็ต้องเสียชีวิตกลางทาง เพราะไปรักษาไม่ทัน แต่เมื่อมีสุขศาลาแล้ว
ไม่มีชาวบ้านคนใดตายเพราะงูกัดอีกต่อไป

หลวงพ่อเงิน มีความสนใจและห่วงใยในการศึกษาของเยาวชนตำบลดอนยายหอมเป็นอย่างมาก

ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2496 ท่านก็ได้สร้างโรงเรียนประชาบาลเป็นตึกสองชั้น
ตึกหลังนี้มีมูลค่าถึง หนึ่งล้านหกแสนบาท (เงินในสมัยนั้น)

แม้จะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่คุณความดีของหลวงพ่อก็เปรียบเสมือนแม่เหล็ก
ที่ดูดศรัทธาของประชาชนทั้งใกล้และไกลให้มาร่วมการกุศลกับท่าน

สำหรับชาวบ้านดอนยายหอม ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา และการมีโรงเรียน
ต่างก็ได้พร้อมใจกันบริจาคทรัพย์และแรงงานอย่างเต็มที่


ปิดโรงยาฝิ่น

หลวงพ่อเงินได้ทำการปกป้องคุ้มครองชาวบ้านดอนยายหอม
ให้พ้นจากอบายมุขทั้งหลาย ในสมัยที่รัฐบาลยังอนุญาตให้ตั้งโรงยาฝิ่น
ปรากฏว่าทุกตำบลในอำเภอเมืองนครปฐม มีโรงยาตั้งอยู่ทั้งสิ้น
มีเพียงตำบลดอนยายหอมเท่านั้น ที่โรงยาฝิ่นมาตั้ง แล้วตั้งอยู่ไม่ได้

เมื่อเขาจะตั้งโรงยาฝิ่นใหม่ ๆ หลวงพ่อเงินเที่ยวเตือนชาวบ้านให้รู้ถึงภัยจากฝิ่น
โดยท่านปรารภให้ใครต่อใครฟังว่า

“ฉันใจไม่ดีเสียแล้ว เพราะได้ข่าวว่าไฟบรรลัยกัลป์ กำลังจะมาก่อหวอดขึ้นกลางหมู่บ้านพวกเรา
ฉันเกรงว่ามันจะเผาผลาญทรัพย์สินของญาติพี่น้องชาวบ้านนี้ให้วอดวายไปหมด
ไฟบรรลัยกัลป์นี้มันร้ายแรงนักเผาทั้งเงินทอง บ้านช่อง แม้กระทั่งแผ่นดินที่ไร่ที่นาทีเดียว
ต่อไปพวกเรา จะต้องพากันลำบากยากไร้ที่อยู่อาศัย ลูกเล็กเด็กแดงก็จะพากันพลอยรับบาปไปด้วย
มันช่างน่ากลัวเหลือเกินโยม....”

ชาวบ้านเมื่อได้ฟังคำปรารภของท่านต่างก็ไม่สบายใจไปด้วย
และต่างก็บอกต่อ ๆ กันไปถึงภัยที่จะเกิดขึ้นจากโรงยาฝิ่น

ผู้หวังดีต่อส่วนรวม จึงร่วมมือกันคอยชี้แจงคนที่จะเข้าโรงยาว่า หลวงพ่อไม่ชอบให้ใครสูบ
ไม่ว่าใครจะเข้าโรงยาฝิ่นเป็นถูกมติมหาชนบ้านดอนยายหอมคัดค้านไว้เสมอ

เจ้าของโรงยาต้องขาดทุนเพราะไม่มีใครมาสูบฝิ่นเลย เมื่อตั้งได้ 5 เดือนกว่าๆ ก็ต้องเลิกกิจการ
พร้อมกับความแปลกใจว่า ทำไมหนอคนตำบลนี้ออกหนาแน่นและร่ำรวยทั้งนั้น
แต่ไม่มีใครมาสูบฝิ่นกันบ้างเลย
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-26 18:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ปราบบ่อนการพนัน

นอกจากนี้ท่านยังพยายามสั่งสอนอบรมประชาชน ให้เห็นโทษและเลิกจากการพนัน
และได้ทำลายแหล่งการพนันที่เกิดขึ้นด้วยกุศโลบายอันแยบคายโดยไม่ต้องใช้กฎหมายและตำรวจแต่อย่างใด

ครั้งหนึ่งได้มีการตั้งบ่อนเล่นหวยจับยี่กีขึ้นที่โรงสีเจ๊กเสียว เมื่อหลวงพ่อเงินทราบ
ท่านก็ทำเตร่ไปเยี่ยมเถ้าแก่โรงสี เมื่อได้ไต่ถามทุกข์สุขแล้วท่านก็เปรยขึ้นว่า

“ได้ยินเขาเล่าลือกันว่า เถ้าแก่ตั้งบ่อนการพนัน
ไม่คิดว่าคนที่มีเงินเหลือเฟืออย่างเถ้าแก่จะโง่ตั้งบ่อนการพนันขึ้น
เพราะถ้าคนเล่นการพนันมากๆ และยากจนลง ก็คงจะต้องลักขโมยและปล้นสะดม
ตัวเถ้าแก่เองก็อาจจะถูกปล้นด้วย

หากเถ้าแก่ตั้งบ่อนการพนันจริงก็ขอให้เลิก เพราะยังมีหนทาทำมาหากินอย่างอื่น
นอกจากเถ้าแก่จะไม่มีหนทางทำมาหากินอย่างอื่น ก็แล้วไป”


เถ้าแก่เสียวฟังแล้วละอายแก่ใจพอหลวงพ่อเงินกลับวัด เถ้าแก่ก็สั่งลูกน้องปิดบ่อนการพนันแต่นั้นมา!


ไม่ขอรับการเลื่อนสมณศักดิ์

ต่อมาทางคณะสงฆ์จะขอเลื่อนสมณศักดิ์ท่านเป็นชั้นราช เจ้าคุณรัตนเวที ได้สั่งให้ลูกศิษย์ของหลวงพ่อเงินคนหนึ่ง ไปค้นประวัติความดีความชอบของหลวงพ่อเงินมาให้เพิ่มเติม ลูกศิษย์คนนั้นดีใจรีบไปบอกท่าน แต่แทนที่หลวงพ่อเงินจะดีใจ ท่านกลับดุเอาว่า

“ฉันไม่อยากได้หรอก ไม่เอา อย่ายุ่งเลย ไปบอกพระครูปลัดทีว่า งดฉันเถอะ ฉันแก่แล้ว ขอให้สนับสนุนพระหนุ่มๆ ท่านจะได้มีกำลังใจปฏิบัติกิจในพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้น”

ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านมีกำลังใจและความตั้งใจดีต่อศาสนามาตั้งแต่บวชแล้ว การได้ลาภยศ จะว่าเพื่อเป็นกำลังใจแก่ท่านก็ไม่ใช่ เรื่องลาภยศนั้น ท่านเห็นว่าเป็นภาระรุงรัง ถึงจะเป็นอะไร ชาวบ้านก็เรียกท่านว่า หลวงพ่อเงิน อยู่นั่นเอง

ถ้าหากยศถาบรรดาศักดิ์ทำให้ท่านไม่แก่ ไม่ตาย ก็อยากได้ แต่นี่ก็เปล่า ถึงอย่างไรท่านก็ต้องฉันข้าวอยู่ดี มีจีวรสอง-สามชุดอยู่นั่นเอง
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-6-26 18:22 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ ละสังขาร

หลวงพ่อเงิน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เมื่อปี พ.ศ.2466
และท่านได้ละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2520 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ทั้งนี้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม ตลอดจนประชาชนที่มีจิตศรัทธาต่อวัดดอนยายหอม
ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ดังนี้

1. จัดงานวันคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อเงิน ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อเงิน เพื่อให้ประชาชนใน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาได้สักการะ โดยในช่วงงานจะมีพิธีบวชพราหมณ์ เพื่อเป็นการรักษาศีล ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีของชาว ต.ดอนยายหอม

2. จัดงานปิดทองกลางเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุกปี เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชน ต.ดอนยายหอม และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสักการะทำบุญ บำเพ็ญกุศลปิดทองรอยพระพุทธบาท รูปปั้นคุณยายหอม รูปจำลองหลวงพ่อเงิน ศิลาเสมาธรรมจักร ซึ่งขุดค้นพบที่เนินพระเจดีย์ ใกล้วัดดอนยายหอม และ

3. จัดงานคล้ายวันมรณภาพหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม เจ้าอาวาสรูปต่อจากหลวงพ่อเงิน และเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังอีกท่านหนึ่ง ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อเป็นการระลึกถึงบุญบารมีของหลวงพ่อแช่ม ที่มีอุปการคุณต่อชาว ต.ดอนยายหอม ตลอดมา


ที่มา
(๑) http://www.dharma-gateway.com/monk/monk ... x-page.htm
(๒) http://www.tumsrivichai.com/index.php?l ... 60&Ntype=5
(๓) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44037
กราบหลวงปู่ครับ

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้