ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1477
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

รัก

[คัดลอกลิงก์]
รักที่ปรากฏในพระเครื่องไม่ว่าจะเป็นการลงรักบนองค์สมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)คำว่า “รักน้ำเกลี้ยง”หรือพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักของเกจิอาจารย์หลายๆท่านอีกทั้งความแตกต่างของ “รักจีน” กับ “รักไทย”จึงมาเล่าสู่กันฟังเรื่อง “รัก”เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและความกังขาของทุกท่าน

          รักจีนเป็นรักเก่าสีออกน้ำตาลอมแดง ถ้าเป็นรักไทยสีจะดำเข้ม จึงสรุปกันว่าพระที่มีรักจีนเป็นพระเก่าซึ่งก็ถูกแต่ถ้าจะให้ลึกซึ้งต้องทำความเข้าใจเรื่อง “รัก”และความสัมพันธ์กับพระเครื่องด้วย

          เมื่อพูดถึง  “รัก”แทบทุกคนจะนึกถึง “ต้นรัก”ที่มีดอกสีม่วงสีขาว และมียางสีขาวซึ่งความจริงแล้วเป็นรักคนละตระกูลกันไม่สามารถกรีดยางมาทำ “รักดิบ”ได้ ต้นรักที่นำมาใช้ในวงการพระเครื่อง ตลอดจนการทำเครื่องเขิน ลงรักปิดทอง งานจิตกรรม-สถาปัตยกรรม เป็นรักที่อยู่ในตระกูลANCARDIACEAEในประเทศไทยทางเหนือเรียกว่า “รักหลวง”ชาวกระเหรี่ยงเรียก “ซู”เป็นไม้ขนาดใหญ่กิ่งก้านแน่นหนา(ให้นึกถึงต้นยางแถบภาคใต้)ใบใหญ่คล้ายใบมะม่วงออกดอกเป็นพุ่ม มีดอกเล็กๆคล้ายดอกต้นสัก อายุที่จะให้ยางรักได้จะต้องมากกว่า10ปี

          ส่วนรักต่างประเทศ ที่มีคุณภาพและเป็นที่มาของการพิจารณาพระที่มี “รัก” ได้แก่ “รักจีน” และ “รักญี่ปุ่น”ซึ่งมีการเพาะปลูกจนเป็นอุตสาหกรรมส่งออกมาตั้งแต่สมัยโบราณเมืองไทยซื้อรักจากจีนมาจนกระทั่งสิ้นสุดราชวงศ์เช็ง (ราว พ.ศ.2454)รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงงดส่งออกรักมาพบรักจีนอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเป็นองค์ประธานการบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว ในคราวฉลองกรุง200ปีด้วยพระอัจฉริยะและการเจริญสัมพันธไมตรีจึงได้รักจีนมารช่วยในงานตกแต่งบูรณะสถาปัตยกรรมในวัดพระแก้วนอกจากรักจีนและรักญี่ปุ่นแล้วยังมีรักเวียดนาม และรักไต้หวัน แต่คุณภาพสู้รักจีนและรักญี่ปุ่นไม่ได้ความนิยมใกล้เคียงกับรักไทย รักพม่า รักลาว และรักกัมพูชา ซึ่งเป็นรักสายเดียวกัน
         
           กรรมวิธีการให้ได้มาซึ่ง “ยางรัก” หรือ “รักดิบ”นั้นก็จะคล้ายกับการ “กรีดยาง”ของภาคใต้ยางรักที่ได้จากต้นรักจะมีคุณสมบัติคือยางรักที่กรีดใหม่ๆจะมีสีขาวเหลืองคล้ายน้ำนมเมื่อถูกแดดและอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆสามารถกันน้ำได้เมื่อแห้งตัวจะแข็งเป็นเงามันงดงามกว่าการเคลือบทางวิทยาศาสตร์ทุกชนิดคนโบราณนิยมเก็บไว้ในไหหรือตุ่มเพื่อจะคงความเหลวไม่จับตัวเป็นก้อนความไม่บริสุทธิ์ของยางรักจะเกิดจากฝุ่นละออง เปลือกไม้ น้ำฝน สนิมของภาชนะที่เก็บหรือมีการปลอมปนซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของ “รัก”โดยตรง

ลักษณะที่น่าสังเกตของยางรักแต่ละชนิด มีดังนี้

             -รักจีนเมื่อกรีดใหม่ๆจะออกสีขาวอมเทาคล้ายน้ำนมเมื่อทิ้งไว้จะออกสีน้ำตาลอมแดงเป็นรักที่มีคุณภาพที่สุด
             -รักญี่ปุ่น ลักษณะคล้ายรักจีนแต่สีเข้มกว่าเล็กน้อยได้รับความนิยมสูง
             -รักเวียดนามจะคล้ายรักไทยเมื่อแห้งจะเปราะบางและมีสีดำ
             -รักไทย รักพม่า และรักกัมพูชาเมื่อปล่อยไว้ให้แห้งจะมีสีดำสนิทคุณภาพสู้รักจีนและรักญี่ปุ่นไม่ได้ข้อแตกต่างอีกประการหนี่งคือแห้งตัวช้ากว่ารักจีนและรักญี่ปุ่นและจะมีสีดำสนิทกว่ารักเวียดนาม                
          รักกับพระเครื่อง

          โบราณาจารย์และพุทธศาสนิกชนในอดีตได้อาศัยรักในการจัดสร้างพระเคริ่อง เครื่องรางของขลังเพราะรักมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถรักษาเนื้อพระและสภาพองค์พระให้สมบูรณ์ตามเดิมแม้เวลาจะล่วงเลยไปหลายร้อยปีส่วนการสร้างพระปิดตาที่เรียกว่า “เนื้อผงคลุกรัก” น่าจะหมายถึงการสร้างพระเนื้อผงตามแบบโบราณแล้วนำรากต้นรักซ้อน,กาฝากรัก,ดอกรัก,ยางต้นรักอันเป็นไม้มงคลนามผสมผสานกันโดยมียางรักเป็นตัวประสานเฉกเช่นคณาจารย์บางท่านใช้น้ำมันตังอิ๊วบางท่านใช้น้ำอ้อยเป็นต้น

          ส่วนคำว่า “จุ่มรัก” นั้นหมายถึงการนำพระทั้งองค์จุ่มลงไปในรักดิบหรือยางรักแล้วผึ่งให้แห้งเพื่อรักษาเนื้อหามวลสารขององค์พระเอาไว้เช่นตำนานการสร้างพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว “วัดเครือวัลย์”ที่จุ่มรักหรือชุบรักเพื่อมิให้ผู้ใดขูดผงบนองค์พระนำไปทำเสน่ห์เล่ห์กลผิดลูกผิดเมียผู้อื่นและนอกจากนี้การจุ่มรักเมื่อผึ่งองค์พระให้แห้งหมาดๆเมื่อนำทองคำเปลวมาติดเป็นพุทธบูชาจะสามารถติดได้แน่นสนิทสวยสดงดงามเป็นอันมาก

          แต่การจุ่มรักหรือชุบรักนั้นแม้เป็นการรักษาเนื้อพระที่คนโบราณมักจะใช้แช่ทำน้ำมนต์บ้างหรือฝนกินตลอดจนอมไว้ในปากน้ำรักมักจะบดบังพุทธศิลปะแห่งองค์พระไปจึงมีผู้คิดวิธีทำ “รักน้ำเกลี้ยง” คือเป็นรักที่เกิดจากยางรักเช่นกันหากแต่มีสีขาวใสเหมือนทาแชลแล็กเคลือบไว้สามารถแลเห็นพุทธศิลปะขององค์พระเช่นเดิม โดยสูตรการทำรักน้ำเกลี้ยง(มีหลายสูตร)นั้นท่านอาจารย์ให้นำรักดิบซึ่งเพิ่งกรีดใหม่ๆผสมกับรักดิบเก่าในอัตราส่วนประมาณ5ต่อ1แล้วนำน้ำมันจากถั่วเหลืองครึ่งส่วนผสมกันตั้งไฟเคี่ยวจนร้อนจัดกลางแดดแล้วกวนประมาณ4-5ชั่วโมงแล้วจึงช้อนน้ำรักที่ลอยอยู่ที่ผิวบนด้วยกระบวยไม้ไผ่เก็บไว้ในภาชนะที่ไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเช่นตุ่ม,ไห,โอ่งก็จะได้รักน้ำเกลี้ยง(หากไม่ใช้น้ำมันถั่วเหลืองให้ใช้ยางสนแทน)
                การพิจารณาความแท้ขององค์พระจาก “รัก”
          เป็นที่น่าแปลกใจที่ “พระแท้” เท่าที่พบโดยเฉพาะพระเครื่อง พระปิดตา และเครื่องรางประเภทตะกรุด,ลูกอมของเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังสามารถวิสัชนากันได้โดยยึดหลักการดู “รัก”เป็นส่วนใหญ่จากความพยายามค้นคว้ามานั้น พบว่า พระคณาจารย์ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5แห่งกรุงเทพทวาราวดีศรีรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่ที่สร้างพระเครื่องและของขลังพากันใช้ “รักจีน”เป็นหลัก เมื่อดูจากบริบททางประวัติศาสตร์ก็จะพบว่าในระยะนั้นไทย เวียดนาม ลาวกัมพูชามิได้เพาะปลูกต้นรักผลิตยางรักเป็นอุตสาหกรรมส่งออกนอกประเทศแต่เป็นการผลิตชนิดที่เรียกว่า “ของป่า”อาศัยเก็บเกี่ยวยางรักที่ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติใช้กันภายในอีกทั้งคุณภาพตลอดจนปริมาณที่ได้ก็ไม่เพียงพอที่จะส่งออกจะเห็นว่าไทยกับจีนมีสัมพันธภาพที่ดีทางการค้ามาเป็นเวลายาวนานช่วงกลางกรุงศรีอยุธยาลงมาจนถึงรัตนโกสินทร์ไทยรับเอาอิทธิพลทางด้านการเคลือบจากจีนอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่การสร้างแหล่งเตาเผาชามสังคโลกบริเวณแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี สมัยสมเด็จพระนครินทราชาการติดต่อสั่งทำถ้วยชามเบญจรงค์อาทิชามเจ้าตากสมัยกรุงธนบุรี การนิยมศิลปะจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่5 จุดที่น่าสังเกตุตือบรรดาคณาจารย์ที่ใช้ “รักจีน”นั้นล้วนแต่เป็นผู้เกี่ยวข้องเป็นอาจารย์ของบรมวงศานุวงศ์หรือชนชั้นสูงในระยะนั้นแทบทั้งสิ้นเช่น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี),หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง,หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าเป็นต้น
ดังนั้นการจำแนก “รักจีน”จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาเพราะคุณสมบัติของ “รักจีน”แตกต่างจาก “รักไทย”ดังนี้

       -รักจีนมีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนรักไทยสีดำสนิทวิธีการให้ใช้กล้องส่องดูส่วนที่เจือจางที่สุดของน้ำรักบนองค์พระจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน
       -เนื้อรักไทยจะแห้งตัวสม่ำเสมอ ไม่หดตัวเป็นริ้วคลื่น อันส่งผลให้เมื่อล้างรักออกไม่เกิดการแตกลายงาเหมือนรักจีนหากแห้งจะแข็งเป็นแผ่นหนาใหญ่และแห้งช้ากว่ารักประเภทอื่น ดังนั้นจึงมักพบฝุ่นละออง หรือเศษผงปะปนอยู่กับเนื้อรัก
       -รักจีนมีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งเร็วดังนั้นจะพบพระเครื่องบางองค์ “จุ่มรัก”หลายครั้งซึ่งหากเป็นรักไทยจะไม่พบการจุ่มเป็นชั้นๆ
       -เนื้อของรักจีนจะมีความเหนียวละเอียดกว่ารักไทย
       -รักจีนจะละลายตัวในเมทิลแอลกอฮอล์เร็วกว่ารักไทยมาก
       -รักจีนจะมีอายุคงทนยาวนานมาก จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจะเห็นเครื่องโต๊ะ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์หลายประเภทของจีนมีอายุนับพันปี ใช้ยางรักชุบทาเคลือบไว้ส่วนรักอื่นๆนั้นมีอายุไม่ยาวนานเท่ารักจีนมักจะเกิดการบวมและปริร่อนเป็นแผ่นใหญ่โดยรักไทยจะปริจากภายนอกเข้าหาภายในส่วนรักจีนหากเกิดการปริไม่ว่าจะโดยอายุหรือการใช้สารเคมีจะปริจากภายในออกสู่ภายนอกในกรณีตรวจสอบรักจีนเก่าจะพบว่าไม่ดูดซึมน้ำหากเป็นรักอื่นน้ำจะค่อยๆซึมลงตามรอยปริเล็กๆ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้