ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4139
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

คชสารประสานงา

[คัดลอกลิงก์]
ข้าบดินทร์ พี่เราเผาเรือน[url=http://pantip.com/tag/หนังสือนิยาย][/url]

                สัปดาห์นี้หลากรส รักระหว่างรบ รบระหว่างรัก เสร็จศึกนอกต่อศึกใน ชะรำมลทิน

พระเอกไสช้างเข้ารบ ตามหลักคชยุทธ



คชยุทธ
ในการคชยุทธบนหลังช้างและยุทธหัตถี ช้างเป็นพาหนะสำคัญในการรณรงค์สงครามมาแต่อินเดียโบราณ
เมื่อเกิดสงคราม เหล่าช้างศึกพร้อมควาญจำนวนมากจะถูกเกณฑ์เข้ามาร่วมกองทัพ โดยมีกรมพระคชบาลเป็นแม่กองใหญ่
เหล่าขุนศึกผู้ควบคุมช้าง จะจัดกระบวนทัพช้างเป็นแถวตามหลัก พิชัยสงคราม
โดยมีพระมหากษัตริย์ที่ประทับบนคอช้างศึก เป็นผู้นำออกคำสั่งผ่านการโบกเครื่องหมายธงบนสัปคับหลังช้าง

ช้างศึก
ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้น ต้องเป็นช้างพลาย(ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์ คือ
รูปร่างใหญ่โตกำยำ
หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์
หน้าเชิดหลังต่ำ
งายาวใหญ่มีความโค้ง และแหลมคมได้ที่

โดยที่ช้างเชือกที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี และสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ เรียกว่า ช้างชนะงา

ในสงครามครั้งหนึ่ง จะมีช้างร่วมศึกด้วยข้างละประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ เชือก ช้างจะผ่านพิธีกรรม

ลงยันต์ตามตัวเพื่อให้หนังเหนียว และศักดิ์สิทธิ์
พร้อมแต่งช้างให้พร้อมในการรบ ด้วยการใส่เกราะขาด้วยโซ่พัน หรือเกราะมีหนาม
ใส่เกราะงวงที่มีหนามแหลม ใส่เกราะงา
แล้วกระตุ้นให้ช้างให้ตกน้ำมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงคราม
หรือกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา
ให้ดมฝิ่นหรือควันศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดความฮึกเหิม
ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้าง ให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้า เพื่อไม่ให้ช้างตกใจ และเสียสมาธิ
ในการพุ่งไปข้างหน้า เรียกว่า ผ้าหน้าราหู

ในสงครามประจัญบาน ช้างศึกอาจมีคนนั่งเพียง ๑-๒ คน โดยไม่มีสัปคับช้างอยู่บนหลัง ช้างศึกประเภทนี้มีมากในกองทัพ
เคลื่อนที่เร็วตามฝีเท้าช้าง และสามารถเข้าตีทัพไพร่ราบฝ่ายศัตรูให้แตกกระจาย ได้ง่ายกว่าธนูและหอกซัด

ส่วนช้างศึกหลวง มีตำแหน่งของหลังช้าง ๓ คน คือ

ตำแหน่งบนคอช้าง พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ มหาเสนาระดับแม่ทัพ จะเป็นผู้ควบคุมช้างเข้าทำการต่อสู้เอง
โดยอาวุธประเภทต่างๆ ทั้งธนูและหอกซัดในระยะใกล้ และใช้ง้าวเมื่อประชิดตัว

ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณการปรับรูปทัพ และส่งอาวุธที่อยู่บนสัปคับให้แก่คอช้าง
โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่างๆ เช่น โล่ เขนเป็นต้น

ตำแหน่งควาญช้างท้าย ซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด คอยปัดอาวุธไม่ให้ศัตรูเข้ามาทำร้ายจากทางด้านหลัง

ช้างทรงของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ จะมีขุนทหารฝีมือดี ๔ คน ประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง ๔ ข้างด้วย
เรียกว่า จตุรงคบาท ไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันเสมอ
และจะมีจาตุรงคบาทกลางช้าง และท้ายช้างสำรอง ตามเสด็จช้างทรงอย่างคล่องแคล่ว เพื่อสลับผลัดเปลี่ยนหากตำแหน่งนั้นตายลง

การจัดกระบวนทัพช้างไทยสมัยโบราณ
พลช้างนับเป็นกำลังสำคัญของกองทัพบกในการรบ เพราะใช้เป็นหน่วยประจัญบาน มีการจัดกระบวนแบ่งเป็นหมวด ดังนี้
               
๑.ช้างดั้ง เป็นช้างที่นั่งละคอ มีหมอนั่งคอ ควาญนั่งท้าย ควาญกลางหลังนั่งถือหอ เดินอยู่กลางแนวริ้วขบวนหน้า
โดยคัดช้างที่ร่างใหญ่กำยำ งาโต
๒.ช้างกัน  มีลักษณะอย่างเดียวกับช้างดั้ง เดินอยู่ริ้วขบวนหลัง
               
๓.ช้างแทรก คล้าย ๒ ชนิดแรกแต่ไม่มีควาญหลังช้าง ทำหน้าที่ตรวจตราริ้วนอกทั้ง 2 ข้าง เป็นสารวัตรช้าง คัดช้างที่วิ่งเร็ว
๔.ช้างแซง เหมือนช้างแทรก เดินเป็นริ้วเรียงกันทั้ง ๒ ข้างตลอดแนว
               
๕.ช้างล้อมวัง มีหน้าที่ล้อมพระคชาธาร ผูกสัปคับโถง มีแม่ทัพนายกองฝีมือดีควบคุม โดยมีพลราบ ทัพม้ารายล้อม
๖.ช้างค้ำและช้างค่าย หรือเรียกว่า ช้างต้น เดินอยู่วงในของช้างล้อมวัง คอยอารักขาพระคชาธาร
               
๗.พระคชาธาร ช้างประธาน เป็นช้างทรงพระมหากษัตริย์ อุปราช  โดยคัดช้างชนะงา ที่กร้าวแกร่งที่สุด            
๘.ช้างพระไชย เป็นช้างผูกจำลอง ตั้งสัปคับหลังคากันยา สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป นำหน้าพระคชาธาร เป็นขวัญทัพ
               
๙.ช้างพังคา ช้างสำหรับเจ้าพระยาเสนาบดี และเจ้าประเทศราชเป็นช้างผูกเครื่องมั่น เป็นช้างพังทั้งหมด
อยู่ห่างจากทัพหลวงราว ๑ เสียงสังข์
               
๑๐.พระที่นั่งกระโจมทอง ช้างผูกสัปคับ กูบรูปเรือนวิมาน เป็นพระที่นั่งรอง คราประทับแรม
               



2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 06:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๑๑.ช้างโคตรแล่น เป็นช้างสัปคับเดินอยู่ท้ายกระบวนช้าง เป็นช้างซับมัน เดินอยู่ท้ายขบวน
เว้นช่วงเสียงสังข์แตร กันมิให้อาละวาด ในเวลาสงครามช้างโคตรแล่นจะเป็นช้างประจัญบาน
คัดเฉพาะช้างพลายที่ตกมันเต็มที่ ซึ่งเป็นช้างที่ดุร้ายที่สุด ควาญต้องชำนาญ
มีหน้าที่อาละวาดสร้างความปั่นป่วนทัพข้าศึก ทำลายเครื่องกั้นค่าย หอรบข้าศึก เปรียบเสมือนรถถังบุกตะลุยกรุยทาง

หากเป็นช้างยุทธหัตถี อาวุธที่เพิ่มขึ้นมา คือ
หอกผูกผ้าแดง ๒ เล่ม
ปืนใหญ่หันปลายออก ข้างขวา ๑ กระบอก ข้างซ้าย ๑ กระบอก
มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะโพกผ้า
ตัวช้างที่เข้ากระบวทัพจะสวมเกราะตลอดกาย
ใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม
โดยใส่ทั้งสี่เท้า สวมหน้าราห์งาสองข้าง มีปลอกเหล็กสวม
และเกราะโซ่ฟันงวงช้าง เพื่อการงัด ชน โคนค่ายประตูหอรบโดยไม่เจ็บปวด

ลักษณะการใช้อาวุธบนหลังช้างแบบดังกล่าวนี้ ยังคงใช้สืบเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ก่อนการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการจัดกองทัพอย่างตะวันตก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



กองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน วรราชาธิราช ยกเข้าตีเมืองจันทบูร(จันทบุรี) เวลา ๓.๐๐น. พ.ศ.๒๓๑๐
ให้ยิงปืนสัญญาณ ให้ทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน

สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ฯ วรราชาธิราช หรือ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทอิศวร องค์ที่๖(พระสุบรรณบัฏ)
ทรงช้างพังคีรีบัญชร หรือช้างพังคีรีกุญชรฉัททันต์(ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 92)
สามารถพังประตูเมืองเข้าไปได้

ขบวนช้างม้า ปรากฏในเสภาขุนช้างขุนแผน(ฉบับหอสมุดวชิรญาณ)
ตอนที่ ๒ พ่อขุนช้างขุนแผน ความว่า

ฯครั้นรุ่งเช้าฝ่ายเจ้าพนักงาน      เตรียมการโดยกระบวนถ้วนถี่
กรมช้างจัดช้างที่ตัวดี              คนขี่ครบทั่วตัวคชา
จ่าดาบขวาซ้ายก็จ่ายเครื่อง      ขนเนื่องมาวางไว้ข้างหน้า
กรมช้างพลางผูกมิทันช้า      เบาะอานผ่านหน้าดาราราย
สองหูพู่จามรีกรอง              ปกตระพองทองพร้อยห้อยตาข่าย
แต่ล้วนช้างพระที่นั่งทั้งพังพลาย     หลากหลายเข้ากระบวนส่วนคชา
พระที่นั่งพุดตานสำหรับเสด็จ             ผูกเสร็จทอดพระแสงแสนสง่า
นายทรงบาศเป็นควาญชำนาญมา     ใส่ครุยกรองนุ่งผ้าสมปักลาย
ผูกทั้งพระที่นั่งกระโจมทอง             วงพระสูตรรูดคล้องเป็นสองสาย
เบาะปักหักทองขวางสล้างลาย       เขนยอิงพิงฝ่ายประปฤษฎางค์
ผูกทั้งพระที่นั่งเถลิงศอ                     พระยี่ภู่ปูคอกันกระด้าง
พระที่นั่งประพาสโถงแรมทาง        ต่างต่างแลล้วนละกลกัน
หมอควาญนุ่งลายใส่เสื้อ              ประจุเจือเวทมนตร์ดลขยัน
เจียระบาดคาดกับปั้นเหน่งพลัน     จัดสรรเลือกล้วนแต่ตัวดี
ถัดมาช้างที่นั่งต่างกรม                     ข้าไทเกณฑ์ระดมอยู่อึงมี่
ทั้งช้างดั้งช้างกันนั้นมากมี             หมอควาญขับขี่อยู่ครบครัน
หน้าช้างสล้างล้วนเหล่าทหาร        เพียงจะราญรอนรบภพสวรรค์
กระบวนช้างพร้อมสรรพฉับพลัน     จึงจัดสรรอัสดรที่ตัวดี
พระยาศีเสาวพ่าห์จัดม้าต้น             หลวงทรงพลเตรียมกระบวนเป็นถ้วนถี่
ให้นายม้าผูกม้าพาชี                     ล้วนขับขี่แคล่วคล่องว่องไว
ม้าต้นพระที่นั่งตัวประเสริฐ             ลํ้าเลิศทั้งสองผ่องใส
ผ่านดำขำเหลืองเรืองวิไล             สูงได้สามศอกโดยประมาณ
ผูกเครื่องกุดั่นฝรั่งเศส                     อย่างเทศพรรณรายฉายฉาน
พระแสงปืนซ้ายขวาอาชาชาญ      เบาะอานปักเอี่ยมอุไรมี
โกลนทองคล้องห้อยพลอยประดับ     วาบวับจับคลุมกำมะหยี่
ไหมทองถักบังเหียนแนบเนียนดี     งามสมพาชีที่โสภา
ม้าหนึ่งชื่อว่าพลาหก                     ม้าหนึ่งชื่อกระหนกภูษา
นายม้าจูงประคองทั้งสองม้า             ขุนหมื่นขี่อาชามาในกระบวน
ขุนนางขี่ช้างตามเสด็จ                     เตรียมเสร็จตามที่ถี่ถ้วน
หัวพันเที่ยวสำรวจตรวจจำนวน      เวลาจวนก็พร้อมพลนิกร ฯ



เสร็จศึกญวน พระเอกได้เป็นหมื่นสุรบดินทร์ ก็เริ่มรุ่มร่ามกับนางเอก
นางเอกบางฉาก หน้าขาวกว่าคอ แป้งผัดหน้าสมัยนี้ ขาวผ่องจริงๆ

ฉากเรือนนางเอกที่โคราช มีต้นชวนชมประดับฉากที่บนเรือน และท่าน้ำ
เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ยังไม่ปรากฏช่วงเวลาที่แน่ชัด

พระเอกมีวิชาคงกระพัน หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า แต่งูฉกได้แปลกดี
ตอนตกหลุม ก็ไม่เป็นไร ขาดแต่วิชาตัวเบา จึงต้องปีนขึ้นมา

คุณหญิงชม ทำงานเกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง ทำขนมส่งขาย ได้เงินมาโข จนปลูกเรือนใหญ่โต
อยู่ฝั่งตรงข้าม วัดไชยวัฒนาราม เรือนที่ได้ก็ถูก แม่บัวก็หาคนมารื้อ ถอด ขนย้ายให้เพื่อคิดการใหญ่
ราบนี้ใครหมดประโยชน์ทิ้งทันที มีประโยชน์มารยาสาไถยล่อหลอกให้ตายใจ

พระเอกพอล้างมลทินได้แม่บัวก็หมายจะหวนคืน วางแผนกับหมื่นหื่น แต่ไม่สำเร็จ
เพราะดันไปขอฤกษ์กับพุ่ม ศิษย์พี่ร่วมสำนัก จึงถูกซ้อนแผนโดยละม่อม

แม่บัวก็แผนสูง คิดส่งนางเอกเข้าวัง คงต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนพระเอก ย้ายสังกัดมาอยู่กับคุณชายช่วง ได้ยลเรือเหล็กลอยน้ำ ก็คิดได้ว่า
ขนาดเรือนายหันแตรนำมาขาย ยังดีถึงเพียงนี้ แล้วเรือรบของทัพเรือวิลาศจะขนาดไหน

ท้ายนี้ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณครับ


3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 06:54 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ประติมากรรมสังคโลก สุโขทัย รูปช้างศึก มีแม่ทัพนั่งบนสัปคับ ด้านหลังมีควาญท้ายช้าง
ที่ขาช้างทั้งสี่ มีทหารจตุรงคเสนาถือปืนสั้น แม่ทัพโพกผ้าส่วนทหารและควาญตัดผมสั้น
นุ่งผ้าโจง กระเบนสั้น ผูกผ้าคาดเอว สวมเสื้อ




ประติมากรรมช้างศึก สมัยสุโขทัย ณ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (MUSEUM SIAM)
ได้แสดงร่องรอยให้เห็นว่า จตุรงคบาทนั้น บางที ไม่ได้วิ่งตามช้างอย่างเดียว
แต่อาศัยการโหนเชือกปะกำ ที่ติดอยู่กับตัวช้างไป คล้ายกับการโหรรถเมล์ สองแถว


วรรณวรรธน์ ผู้ประพันธ์นิยายข้าบดินทร์ ได้เคยให้ความเห็นเรื่องช้างศึกไว้ ความว่า

เรื่องช้างถือเป็น Tank หรือรถถังขนาดใหญ่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ทั้งอาวุธ คือ
ความดุดันของช้างที่เมื่อตกมันในขั้นที่เอามาทำศึก หรือบรรดาโคตรแล่นที่เอาไว้ ไล่วิ่งทุบข้าศึกให้บี้แบนอย่างเดียว     
หรือช้างเป็นพาหนะ แบกเสบียง ขนของ หรือเชิงเทินเคลื่อนที่ในเวลาที่เอาปืนใหญ่ขึ้นหลังช้างไว้ยิง
ก็จะได้ระยะไกลกว่าการยิงตามเนิน ที่เคลื่อนตัวไปไหนต่อไหนไม่ได้  

ตำราของไทยเขียนไว้ละเอียดอ่อนที่สุด ในบรรดาตำราว่าด้วยการควบคุมสัตว์ใหญ่ เลยไปรวมถึง ตำราไสยศาสตร์
เพราะถือเป็นการควบคุมสิ่งที่เกินกำลังของมนุษย์ การศึกษาและควบคุมช้างเป็น

กระบวนวิธีการธรรมชาติ และเหนือธรรมชาติในเวลาเดียวกัน    

ตำรานั้นมีทั้งกระบวนการฝึกช้างและแบ่งช้างประเภทต่างๆ คัดสายพันธ์ยิ่งกว่าเพดดีกรี มีดูโหวงเฮ้งช้าง
ประเภทฉลาดหรือ ประเภททิ้งไว้ตามป่า เพราะขืนเอามาฝึกคงพากันตายทั้งควาญทั้งช้างอย่างนั้นก็มี   

ปัจจุบันเราอยากเลี้ยงช้าง แต่เลี้ยงไม่ได้เพราะกลัวตกน้ำมัน

ขณะที่คนสมัยก่อน เวลาจะออกศึกเขามีตำราว่า ด้วยการทำให้ช้างตกมันด้วยซ้ำ เพื่อเอาไปใช้ออกศึก
และเขาสามารถควบคุมได้  ช้างบำรุงงา นั่นยากยิ่งกว่าขี่ม้าล่อแพน  เดี๋ยวนี้หาควาญมาฝึกบำรุงงาแทบไม่ได้
เพราะต้องเอาควาญระดับหมอควาญชั้นสูง มาควบคุมช้างสองเชือกที่ตกมันเอางามาต่อสู้กัน  
แล้วรู้วิธีผ่อน วิธีเร่ง ไม่อย่างนั้นช้างถึงตาย  เพื่อเป็นการเตรียมช้างเวลาต่อสู้ยุทธหัตถี เดี๋ยวนี้ล่อแพนยังหาคนใจถึงยาก  

จตุรงคบาทมีไหม ส่วนตัวเชื่อว่ามี อาจจะมากกว่าสี่  ฝ่ายที่ควบคุมนอกจากรบได้ ต้องรู้จักวิชาว่าด้วยช้างเช่นกัน
รู้ว่าจังหวะนี้ช้างเจ็บ ช้างล้า หรืออย่างไร  เวลาช้างวิ่งมัวแต่เอาดาบไล่ฟันข้าศึกอย่างเดียวก็ไม่ได้  
แต่ต้องเกี่ยวตัวติดเชือกผูกช้างตามไปด้วยกัน

คนบนหลังช้างสามคนที่เคยเห็นในพิพิธภัณฑ์ ก็ใช่ว่าจะนั่งหลังตรงอยู่แต่บนหลังแบบนั้นตลอดเวลาที่ทำการต่อสู้   
แต่ต้องยืนได้ และเดินได้บนหลังช้าง ขณะที่ช้างวิ่งช้างเดิน ต้องรู้จักเลี้ยงตัวไม่ให้หล่น อาจจะมีคนอีกสี่หรือกว่านั้น
พ่วงติดขาช้างออกสนามรบ และอาจจะปลายงวงอีกหนึ่งหรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำ  
แต่ยึดตามตำราจัดทัพ เขาว่าจตุรงคบาทมีสี่ ก็ว่าสี่ตามนั้นไปก่อนแล้วกัน ไม่ได้แย้ง ไม่ได้ขัด  

แต่เรื่องช้างคงไม่ง่ายอย่างที่จะสรุป  ผิดพลาดประการใดก็แลกเปลี่ยน อย่าถือสา  เพราะก็ไม่เคยเห็นกับตาเวลาออกศึกเช่นกัน   
ขนาดอยากเห็นนั่งทางใน  ก็ยังไม่เคยเห็นได้อะไร.... แม้แต่เลขท้ายสองตัว


การฝึกช้างศึก
แทงหุ่น ฝึกช้างให้เข้าแทง หุ่นฟาง และใช้งวง งา กำจัดข้าศึก
ล่อแพน ฝึกช้างให้วิ่งไล่เสื่อลำแพน ที่ม้าลาก เป็นการฝึกวิ่งไล่ข้าศึก และทำให้ม้าไม่ตื่นช้าง
บำรูงา ฝึกช้างชนกับช้างด้วยกัน ประกอบด้วย ๑๒ กระบวนท่า ได้แก่

นาคีพันหลัก            
หักด่านลมกรด
องคตควงพระขรรค์   
คชสารสะบัดงวง
ทะลวงประจัญบาน     
คชสารประสานงา
บาทาลูบพักตร์         
หักคอเอราวัณ
โค่นเขาพระสุเมรุ        
เถรกวาดลาน
บั่นเศียรทศกัณฑ์        
ประหารราชสีห์


4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 06:55 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

























5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 06:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่เกี่ยวกับช้างของชาวกูยจังหวัดสุรินทร์

สรุปได้ดังนี้..

๑.ด้านการโพนช้าง เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่สามารถนำมาฝึกเพื่อใช้งานหนักได้
การจับช้างป่าจะใช้วิธีการต่างๆ มาฝึกให้เชื่องไว้ใช้งานหรือขาย ที่นิยมกันก็คือ การโพนช้างและการคล้องช้าง
ซึ่งเป็นวิธีจับช้างป่าในเขตจังหวัดสุรินทร์ หรือจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ไปจนถึงฝั่ง แม่น้ำโขง ในเขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์ และปากเซ เป็นต้น (Carrington, 1959)


๒.ด้านอาหารช้าง ชาวกูยจะเตรียมอาหารจำพวกหญ้า กก อ้อ หญ้าปล้อง
ไม้ไผ่ เถาวัลย์ ไม้ยืนต้น กล้วย และพืชไร่ เช่น ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง สับปะรด แตงโม เป็นต้น
ให้ช้างกินวันละประมาณ 200 – 250 กิโลกรัม

อาหารช้างที่มีสีเขียว จะให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า สีเหลือง ซึ่งย่อยยากทำให้ท้องผูก
ยกเว้นกล้วยที่เป็นทั้งอาหาร และพืชสมุนไพรมีประโยชน์ต่อสุขภาพช้าง

อาหารช้างที่เป็นหญ้าอ่อน หน่อไม้อ่อน ในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่เริ่มแตกยอดอ่อนจะทำให้ช้างท้องเสียเมื่อกินเข้าไป
ผู้เลี้ยงช้างต้องไปหาเปลือกไม้ รากไม้หรือเถาวัลย์ที่มีรสฝาดหรือขมมาให้ช้างกินเพื่อรักษาท้องเสีย

ดินโป่ง(salt lick) (Jean, 2006) ควาญช้างจะปล่อยให้ช้างออกไปหากินตามธรรมชาติเนื่องจากในดินโป่ง(salt lick)
มีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เป็นต้น เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของช้าง

ควาญช้างจะต้องนำไปเลี้ยงในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ บริเวณป่าภูดิน ป่าดงสายทอ หรือป่าวังทะลุ(ป่าบุ่งป่าทาม)
ที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน โดยชาวกูยจะล่ามโซ่ไว้แล้วแต่ความเหมาะสม

ชาวกูยบ้านตากลางใช้ภูมิปัญญา ในการตามหาช้างที่เลี้ยงไว้ในป่า คือ การสังเกตจากรอยเท้าและกองมูล
ซึ่งควาญช้างจะจดจำรอยและกองมูลช้างของตนเองได้อย่างแม่นยำ
เมื่อเข้าใกล้ช้างควาญจะส่งเสียงเรียกช้างแต่ไกลเพื่อให้ช้างรู้ตัว
ความรู้และวิธีการนำช้างไปปล่อยไว้ในป่าทั้งคืน เพื่อให้ช้างได้มีอาหารกิน และมีที่พักนอนนั้น
ควาญช้างจะได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดี โดยต้องระมัดระวังภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดกับช้าง

พี้เลี้ยงของช้างจะมีสองสามคน คือ ควาญ และตีนช้าง

ช้างถูกฝึกให้ใช้เท้าหน้าข้างซ้ายช่วยยกควาญขึ้นคอ ยังไม่เคยเห็นควาญช้างขึ้นทางด้านขวาเลย  
เมื่อควาญช้างจะขึ้นขี่คอ เขาเอามีดออกจากฝักคาบไว้ที่ปาก จะเอาเท้าเหยียบที่บริเวณข้อเข่า เอามือซ้ายจับที่โคนหู
พอช้างยกขาช่วยชูขึ้น เขาก็จะเอามือขวาคว้าที่หลังคอ ช่วยดึงตัวให้ขึ้นไปคร่อมอยู่บนคอช้างทันที  

เหตุที่คาบมีดไว้ก็เพื่อจะให้สามารถจับได้ในทันที เมื่อช้างเบี้ยว และกันช้างเหยียบเมื่อพลาดท่า  
บริเวณที่ช้างเจ็บมากที่สุดมีอยู่สองที่ คือ บริเวณรอยต่อระหว่างเนื้อที่หุ้มเล็บเท้า กับบริเวณที่เนื้อหุ่มงา   

ส่วนคนที่เดินคู่ไปกับช้างนั้นเรียกว่า ตีนช้าง มักจะถือไม้เรียวอันเล็กๆ ดูเหมือนกับถือไม้เล่นๆ แต่แท้จริงแล้ว
เพื่อใช้ตีที่รอยต่อเนื้อกับเล็บเมื่อเวลาช้างเบี้ยว คือช่วยควาญนั่นเอง
คนที่เดินตามหลังนั้น ก็คือพวกระวังหลัง หากไม่มีคนเชื่อใจระวังหลังให้ ช้างก็แทบจะไม่เป็นอันเดินไปข้างหน้า
จะคอยหันรีหันขวาง คอยดูว่าจะมีอะไรมาทำมิดีมิร้ายให้

ช้างเป็นสัตว์ที่ขี้ตกใจ  งู กบ เขียด หรือเสียงที่ผิดธรรมชาติบางอย่าง อาจจะทำให้ช้างวิ่งกระเจิงได้ง่ายๆทีเดียว
โดยเฉพาะ การระวังข้างหลังของช้างนั้น เป็นสัญชาติญาณของช้างที่กลัวเสือจะกระโดดขึ้นหลัง
ทำให้ตัวเองหมดหนทางสู้ นอกจากจะใช้วิธีสะบัดให้ตกลงไปเท่านั้น การตกใจของช้างจากด้านบั้นท้ายนี้
ช้างจะวิ่งผ่ามุดเข้าไปในดงไม้ เพื่อให้ไม้ช่วยครูดของที่อยู่บนหลังของมันออกไป

หากสังเกตช้างที่เดินอยู่ จะมีคนเดินตามช้างอยู่ 2 คนเสมอ คนหนึ่งจะเดินอยู่ด้านข้างซ้าย อีกคนจะเดินตามหลัง


๓.การทำคอกช้าง โดยชาวกูยจะทำคอกช้างโดยใช้บริเวณบ้านซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 12 ตารางเมตร
มีลักษณะเป็นลานกว้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ใต้ถุนบ้านทำเป็นคอกช้าง โดยการปลูกบ้านใต้ถุนสูงขึ้น
นอกจากนี้ จะต้องมีหลังคากันแดด กันฝน มีรั้วกั้น โดยหลักที่ผูกช้างจะเป็นไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ 1 เมตร
ฝังอยู่กับพื้นดินและไม้โผล่เหนือพื้นดินประมาณ 3 เซนติเมตร หรือถ้าไม่มีการทำคอกช้าง ก็จะนำช้างของตนไปผูกกับต้นไม้ในที่นา
ที่สวนของตน ส่วนลูกช้างจะผูกไว้บริเวณข้างๆ บ้านหรือข้างแม่ช้าง โดยควาญช้างจะนำอาหารมาให้กิน และให้แม่ช้างคอยปกป้องคุ้มภัย

๔.การดูนิสัยของช้าง ซึ่งเป็นความรู้ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เนื่องจากช้างแต่ละตัวแต่ละเชือกมีนิสัยเฉพาะตัว
ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด สุภาพ สะอาด มีความจำดี อดทน รักเจ้าของ และจำกลิ่นที่เคยชินได้
ตามปกติของช้างแล้วจะไม่มีนิสัยดุร้าย แต่จะดุร้ายเฉพาะช่วงตกมันในระยะเวลานั้น
ความจำจะเสื่อม และอาจทำร้ายควาญช้างหรือบุคคลทั่วไปได้

ลักษณะนิสัยของช้างต้องห้ามไม่ควรนำมาเลี้ยง เช่น

พวกกินลมห่มฟ้า คือ ช้างที่มีนิสัยชอบยื่นงวงขึ้นสูง ชี้ไปที่ท้องฟ้าแล้วม้วนกลับเข้าใส่ปาก
ช้างที่นิสัยชอบถ่ายปัสสาวะรดขา หรือเหยียบอุจจาระปัสสาวะ
ปล่อยอวัยวะเพศออกมาทั้งๆ ไม่จำเป็นถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี
หรือเป็นช้างที่สกปรก ช้างที่มีนิสัยชอบเล่นโซ่ อีกอย่างหนึ่ง คือ
ชอบใช้งวงแกะสลักโซ่ หรือสะเก้นบ้างก็ดึงโซ่แกว่งไปมา บางทีก็ชอบบิดโซ่

ลักษณะดังที่กล่าวมานี้ห้ามเลี้ยง ถือว่า เป็นช้างที่ไม่ยอมรับการจองจำ
หากผู้ใดเลี้ยงไว้จะนำความเดือดร้อนมาให้เจ้าของ


6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-7-23 07:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๕.การฝึกช้าง การฝึกช้างของชาวกูยมี ๒ วิธี คือ

๕.๑ การฝึกช้างไว้ใช้งาน ควาญช้างจะให้เวลาช้างคุ้นเคยพักผ่อนก่อน 1 สัปดาห์
หลังคล้องช้างมาได้จากนั้นหมอช้างจะสร้างเชื่อน(ภาษากูย)(เสาไม้ขนาดใหญ่ฝังลงในดินสามต้น ทาราวไม้ด้านขวางสองชั้น)
ในสนามฝึกจะมีการตั้งศาลเซ่นไหว้ผีปะกา เพื่อขออนุญาตฝึกช้างในบริเวณนั้น โดยมีครูบาใหญ่และหมอช้างนาช้างต่อ

ไปเทียบช้างป่าที่จับมาได้จูงเข้าไปใกล้เชื่อน เพื่อสวมปลอกขา ทั้งขาหน้าและขาหลัง
เชือกนี้จะทำด้วยหวายหรือเถาวัลย์ฟั่นเป็นเกลียวรัด หรือรั้งตรงกลางระหว่างขาแต่ละคู่เพื่อไม่ให้ช้างเดินสะดวก
เป็นการทรมานช้างให้เชื่อง จากนั้น 2-3 วันต่อมาก็พาช้างป่าที่ฝึกเข้าเชี่ยน และถอดปลอกขาออกฝึกจนช้างเชื่อง
เมื่อฝึกเสร็จก็จะมาเข้าปลอกที่เชื่อนอีก ทำจนกระทั่งช้างหายพยศ จนกลายเป็นช้างบ้านในที่สุด และพร้อมที่จะฝึกใช้งาน
ภาษาที่ใช้ฝึกช้างให้ปฏิบัติตามนั้นต้องใช้ภาษาป่า เป็นภาษาของชาวกูยเท่านั้น

๕.๒การฝึกช้างไว้แสดง ความสามารถของควาญช้างเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ของช้างในการฝึกช้างไว้แสดง
ควาญช้างที่เก่ง มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญในการฝึกช้าง ช้างก็จะเรียนรู้ได้เร็ว
โดยเฉพาะช้างที่มีความดื้อ จะสามารถฝึกได้เร็วและมีความสามารถหลายอย่าง
การฝึกช้างให้แสดงโชว์ เป็นความสามารถเฉพาะตัวของควาญช้าง ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากภูมิปัญญาที่สั่มสม

๖.การอาบน้ำให้ช้าง ควาญช้างจะนำช้างของตนเองไปอาบน้าที่วังทะลุ(ลำน้ำชีและลำน้ำมูลไหลมาบรรจบกัน)
ภูมิปัญญาที่ควาญช้างนำมาใช้ในการอาบน้ำให้ช้าง คือ การนำช้างมานอนตะแคงในลำน้า
ควาญช้างจะช่วยกันชำระล้างโคลนหรือสิ่งสกปรกออกเสียให้หมด โดยใช้กาบมะพร้าวหรือเยื่อบวบแห้ง
(ซึ่งหาได้จากป่าบุ่งป่าทามวังทะลุ) ถูทั่วตัว โดยเฉพาะบริเวณโคนงา ในใบหู ริมปาก ตะโพก และโคนหาง

เพราะตามบริเวณเหล่านี้ จะมีตัวพยาธิและไข่แมลงวันเกาะติดอยู่ ซึ่งจะกลายเป็นตัวหนอนไชเข้าไปในผิวหนัง
แล้วดูดเลือดกิน ทำให้หนังช้างเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ ทั่วลำตัวหากเอาไม้แหลม แซะดูจะพบหนอนตัวเล็กๆ

ตัวหนอนเหล่านี้ชาวกูยบ้าน เรียกว่า หนอนช้าง จะเจริญเติบโตภายใต้ผิวหนัง
จากนั้นก็จะกลายเป็นแมลงวันและแพร่พันธุ์ต่อไป การทำลายพยาธิชนิดนี้ ควาญช้างจะใช้เครือสะบ้าทุบให้ละเอียด
และนำมาถูตามตัวช้างทุกวัน หลังจากอาบน้าเสร็จแล้ว เครือสะบ้าจะเกิดเป็นฟองคล้ายสบู่ ปล่อยทิ้งไว้ให้ฟองแห้งเอง
ตัวหนอนช้างเหล่านี้ก็จะหายไปในช่วงเวลาที่ช้างอาบน้ำ

๗.การขยายพันธุ์ช้าง ควาญช้างจะคัดเลือกพ่อพันธุ์ ที่สมบูรณ์แข็งแรงมาผสมพันธุ์กับ แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์และกำลังเป็นสัด
สังเกตได้จากนมสองเต้าจะตั้งและมีน้ำมันออกมาที่แก้ม การดูว่าช้างตั้งท้องหรือไม่ อีกวิธีหนึ่ง คือ

หลังจากมีการผสมพันธุ์นั้นดูได้จากอาการอุ้ยอ้ายของช้าง เต้านมของช้างขยายตัวมีน้ำนมไหล
เมื่อมีอาการดังกล่าวที่แสดงว่า ช้างที่ได้รับการผสมพันธุ์ตั้งท้องแล้ว

๘.การดูแลสุขภาพช้าง โดยปกติช้างตามธรรมชาติจะไม่ค่อยอยู่นิ่ง ยิ่งถ้าบางครั้งเราปล่อยไว้ไม่ได้ล่ามโซ่
เขาก็จะเดินไปตามป่าเพื่อกินใบพืชต่างๆ ทำให้หนามทิ่มตำผิวหนังบ้างก็เป็นตุ่มพุพอง และบางทีก็มีแมลงวันไข่ไว้ที่แผล
และตามรูขุมขนของช้าง เกิดเป็นตัวอ่อนอาศัยและดูดเลือดช้างเป็นอาหาร

เมื่อตัวหนอนแก่จะกลายเป็นแมลงวันคอยรบกวนช้าง ตามรูขุมขนที่หนอนเคยอาศัยอยู่ก็จะอักเสบเป็นตุ่มมีหนอง
ควาญช้างจะนำภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับมาใช้เป็นวิธีป้องกัน คือ

ให้ช้างอาบน้าอยู่เสมอ และใช้กาบมะพร้าวหรือเยื่อบวบแห้งขัดตามผิวหนังให้ ไม่ให้ไข่แมลงวันติดอยู่
แล้วนำเครือสะบ้ามาทุบชุบน้ำฟาดตามลาตัวช้าง

นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการรักษาโรค ที่ควาญช้างนำมาใช้จนถึงปัจจุบันนี้มีมากมายหลายวิธี เช่น

ช้างท้องผูก ควาญช้างจะใช้กระเทียมตำแล้วนำมาผสมกับเหล้าขาว
ช้างท้องเสีย ควาญช้างจะนำกิ่งพุแดง ต้นแต้ และข่อยมาให้ช้างกิน
ช้างมีบาดแผลตามผิวหนัง ควาญช้างจะใช้เปลือกต้นพุแดง ต้นข่อย และต้นแต้
ต้มใส่น้าเมื่อน้าเย็นลงกะว่าพออุ่นก็จะนำไปราดที่แผลบ่อยๆ จนกระทั่งแผลหาย
ช้างเบื่ออาหารไม่กินหญ้า นำจิ้งจกเป็นๆ ใส่ในอ้อยให้ช้างกิน
ช้างคางบวม ให้เอาก้อนครามที่ย้อมไหมให้ช้างกิน
ช้างตาเจ็บตาเป็นฝ้า ให้ใช้ยาสีฟันทา ใช้เปลือกหอยบดหรือใช้เกลือแล้วเป่าใส่ตา
ช้างมีแผลเปื่อย ใช้เปลือกลำพูแดงต้มทิ้งไว้ให้เย็นแล้วรดขา
ช้างแทงกันเป็นรู ใช้ไก่เป็นมาถอนขน เลาะเอากระดูกออกสับทั้งตัวยัดรูแผล แผลจะตื้นขึ้นเรื่อยๆ จนหาย เป็นต้น

หากพบว่า เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือได้รับแผลบาดเจ็บมีแผลฉกรรจ์กระดูกแตกหัก จึงนาส่งโรงพยาบาลช้าง
หรือแจ้งให้สัตว์แพทย์เข้ามารักษาที่หมู่บ้าน ตามปกติจะมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยสุขภาพช้างจังหวัดสุรินทร์
มาตรวจเป็นประจำทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์

การเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม
ภายหลังยุติการเถื่อนช้าง(โพนช้าง)อย่างถาวร ตั้งแต่ พ.ศ.2501 เป็นต้นมา

ชาวปะคำ(โคราช)มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดใน 3 ลักษณะ คือ

1) นำช้างไปรับจ้างแห่ในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น งานบวชนาค งานบุญผ้าป่า และงานบุญกฐิน เป็นต้น
2) นำช้างไปรับจ้างลากซุง ลากไม้ในอุตสาหกรรมทำไม้ตามจังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศ
3) นำช้างไปเข้าสังกัดหมู่บ้านช้างพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้เกี่ยวกับช้าง
โดยให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในลักษณะการแสดงโชว์ และให้บริการนั่งช้างชมธรรมชาติ

http://pantip.com/topic/33822393
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2016-8-4 14:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้