ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2404
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

คะนัง เงาะป่าที่มีตัวตนอยู่จริง

[คัดลอกลิงก์]


จากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงนิพนธ์กล่าวถึงเรื่องความรักของนางลำหับกับชายคู่รักและชายที่เป็นคู่หมั้น โดยมีคะนังน้องชายของลำหับช่วยเหลือให้เธอหนีตามชายคนรักไปได้ แต่สุดท้าย ทั้งสามคนก็ต้องเสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อความรักของต

ด้วยความที่เป็นกลอนและเป็นเรื่องไกลตัว เราเลยไม่ค่อยอินกับเรื่องเงาะป่าเสียเท่าไหร่ แต่เคยอ่านหนังสือของกรมพระยาดำรงฯ ที่กล่าวถึงบุคคลสำคัญที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลของร. ๕ แล้วตกใจที่ว่าท่านนำเงาะป่ามาชุบเลี้ยง

รัชกาลที่ ๕ เคยทรงประพาสที่แถบหัวเมืองมลายู ทรงเดินตลาดและได้เจอกับวัฒนธรรมชาวบ้านแปลกประหลาด มีคนสวมผ้าเตี่ยว ผมหยิก ตัวดำ เป็นเผ่าซาไก เข้ามาในเมืองมาซื้อหาของใช้ แรก ๆ ก็ทรงแปลกพระทัยว่า ในบ้านเมืองที่ทรงปกครองมีประชากรหน้าตาแบบนี้ด้วยหรือ? ขณะทรงพักอยู่เรือนผู้ว่าราชการจังหวัดสมัยนั้น ก็ได้มีโอกาสเจอพวกซาไกบ่อยขึ้น เห็นเด็กชายซาไกคนหนึ่งน่าสงสาร อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ ทรงทราบว่าเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่พี่น้องเสียชีวิตจากวิถีชีวิตแบบคนป่า จึงทรงนำตัวเข้าวังมาชุบเลี้ยง

คะนังเป็นคนป่า เข้าใจว่าเป็นพวกที่เราเรียกว่าเงาะป่าซาไก มีเผ่าพันธุ์อยู่ทางใต้ของสยามใกล้ชายแดนมาเลย์ เจ้าเมืองทางใต้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าตามพระราชประสงค์ โดยเลือกมาจากเด็กกำพร้าในกลุ่มเงาะ ไม่มีพ่อแม่พี่น้อง แล้วเอาตัวมาส่งถึงกรุงเทพ คะเนว่าเกิดราวพ.ศ. ๒๔๓๖ แต่ตัวเล็กดูเหมือนเด็กกว่าวัย

คะนังมีสีผิวดำ แต่ไม่ดำสนิทอย่างคนแอฟริกันยังมีสีน้ำตาลแก่เจืออยู่มาก แบบที่เรียกว่าดำแดง ผมหยิกเป็นสปริงขอดติดหนังหัวจมูกแบน ปากหนาตัดกับฟันขาว เป็นเด็กร่าเริงฉลาดเฉลียว พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดมากทรงเลี้ยงดังพระราชโอรสบุญธรรม เพียงแต่ว่าไม่ได้ยกให้เป็นเจ้า ทรงมอบให้พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎทรงดูแล มีเตียงนอนมุ้งหมอนผ้าห่มอย่างดี คะนังชอบสีแดงก็ได้ผ้าห่มแดงและเสื้อแดงสวมใส่ แต่ปกติ แต่งกายอย่างมหาดเล็กเข้านอกออกในได้ทุกแห่ง และได้ตามเสด็จอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งคะนังเคยแต่งกายเป็นเจ้าเงาะในละครเรื่องสังข์ทองไม่ต้องสวมหัวเงาะก็เป็นเงาะอย่างสมบูรณ์ เคยเห็นภาพถ่ายคะนัง แต่ไม่ทราบว่าคะนังได้รำละครจริง ๆ หรือว่าแค่แต่งแฟนซี คะนังเคยเล่าเรื่องของคนในเผ่าเงาะถวายพระเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้เป็นที่มาของพระราชนิพนธ์เงาะป่า มีศัพท์แสงต่าง ๆ ของพวกเงาะปนอยู่หลายคำ เป็นเรื่องราวความรักที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม สำนวนไพเราะกินใจ

คะนังพูดภาษาไทยได้ แต่ไม่ยอมพูดราชาศัพท์ นอกจากนี้ก็ไม่ค่อยจะรู้จักขนบธรรมเนียมไม่รู้ที่ต่ำที่สูง พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกพระบรมวงศานุวงศ์ด้วยพระนามสั้น ๆ อย่างไร คะนังก็เรียกตามอย่างนั้น ถือเหมือนตัวเองเป็นเจ้า คลุกคลีในหมู่เจ้านาย เคยมีข่าวว่าคะนังกำเริบทะลึ่งกับพระราชธิดา จะด้วยตั้งใจหรือว่าไม่รู้ประสาก็ตาม แต่ก็ทำให้บรรดาเจ้านายสตรีเรื่อยลงมาถึงมหาดเล็กเด็กชายทั้งหลายพากันไม่ชอบคะนังไปตาม ๆ กัน แม้แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯเมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ไม่โปรดคะนังทรงเห็นว่าทะลึ่ง แต่เกรงพระราชหฤทัยสมเด็จพระบรมชนกนาถจึงมิได้ทรงทำสิ่งใดออกมา

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ คะนังก็ชะตาตก ประกอบกับโตเป็นหนุ่ม ต้องออกจากพระบรมมหาราชวังมาหาที่อาศัยอยู่ข้างนอก แต่พระวิมาดาฯก็ทรงพระเมตตาให้เงินเลี้ยงชีพตามสมควร

มหาดเล็กหนุ่ม ๆ ชักนำคะนังไปในทางชั่วพาไปเที่ยวหญิงโสเภณี สมัยนั้นเรียกว่าหญิงโคมเขียวเพราะหน้าซ่องจะจุดโคมสีเขียวไว้เป็นสัญลักษณ์ คะนังก็ไม่รู้การควรมิควร ตัวเองสมัครเข้าเสือป่าได้ ก็ขี่ม้าหลวงไปผูกไว้หน้าโรงโคมเขียว ทำเอาชาวบ้านมาดูกันเอิกเกริกว่าคะนังไปเที่ยวซ่อง

วาระสุดท้ายของคะนังน่าเศร้าตายตั้งแต่ยังหนุ่ม เคยอ่านพบว่าคะนังไปหลงรักผู้หญิง ปีนเข้าหาเลยถูกญาติฝ่ายหญิงทำร้ายถึงตาย แต่ข่าวที่ยืนยันตรงกันมากกว่าคือ คะนังตายเพราะติดโรคผู้หญิงจากหญิงโคมเขียวตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบปี เมื่อตายแล้วก็แล้วกัน คะนังมิได้ทำความดีพอที่ใครจะสรรเสริญอาลัยเรื่องของคะนังจึงเป็นเพียงเกร็ดย่อย ๆ เรื่องหนึ่งที่คนรุ่นหลังเกือบจะไม่รู้จักกันอีกแล้ว

เครดิต: ประวัติศาสตร์ชาติไทยก่อนและหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕

ถั่วเขียว

ถึงแม้นจะปลูกในดินดีเพียงใด

ก็เป็นถั่วเขียววันยังค่ำ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้