ท่านจงรักษาธุดงควัตรอันเป็นเครื่องทำลายกิเลสไว้ให้ดีและมั่นคง อย่าให้เป็นพระวัตรร้าง เพราะจะเป็นทางรั่วไหลแตกซึมแห่งมรรคผลนิพพานที่ควรจะได้จะถึง พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายบรรดาที่เลิศแล้วล้วนแต่รักษาธุดงควัตรกันทั้งนั้น ใครประมาทธุดงค์ว่าไม่สำคัญ ผู้นั้นคือผู้หมดสาระสำคัญในตัวเอง ท่านจงรักษาความสำคัญของตนไว้ด้วยธุดงควัตร ผู้ที่มีธุดงควัตรเป็นผู้มีอำนาจทั้งภายนอกภายในอย่างลึกลับจับใจที่บอกใครไม่ได้ เป็นผู้เด่นในวงทวยเทพชาวไตรภพทั้งหลาย มนุษย์และเทวดาทุกชั้นภูมิเคารพรักผู้มีธุดงควัตรประจำตัวอยู่ และไปที่ไหนไม่เป็นภัยแก่ตัวเองและผู้อื่น มีแต่ความเย็นฉ่ำภายในทั้งกลางวันและกลางคืน ธุดงควัตรเป็นธรรมลึกลับ ยากที่จะมองเห็นความสำคัญ ทั้งที่ธุดงควัตรเป็นธรรมสำคัญในศาสนามาดั้งเดิม ธุดงควัตรเป็นหลักใหญ่แห่งพระศาสนา ผู้ที่มีธุดงค์ประจำตัวคือผู้รู้ความสำคัญของตัวและรักษาถูกจุดแห่งความสำคัญได้ดี เป็นที่น่าชมเชยอย่างถึงใจ ผู้ที่มีธุดงควัตรดีเป็นผู้มีจิตใจเมตตาอ่อนโยนในสัตว์ทั้งหลาย ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติธุดงควัตรอยู่ตราบใด ศาสนาก็ยังทรงออกทรงผลอยู่ตราบนั้น เพราะธุดงค์เป็นทางที่ไหลมาแห่งมรรคและผลทุกชั้น ไม่มีสถานที่ กาลเวลา หรือสิ่งใดๆ มาเป็นอุปสรรคกีดขวางทางเดินเพื่อมรรคผลนิพพานได้ ถ้าธุดงควัตรยังเป็นไปอยู่กับผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ท่านจงจดจำให้ถึงจิต คิดไตร่ตรองให้ถึงธรรม ถือธุดงควัตรดังกล่าวมา อยู่ที่ใดไปที่ใดจะชุ่มเย็นอยู่กับตัวท่านเอง ธุดงควัตรนี่แลคือบ่อเกิดแห่งธรรมทั้งหลายดังนี้” ในนิมิตนั้น หลังจากพระพากุละแสดงธรรมเทศนาเป็นที่เรียบร้อยก็ได้จากไป แต่ถึงแม้พระอรหันตเถระจะจากไปแล้ว ข้อธรรมที่ท่านได้แสดงไว้ก็ยังจารึกอยู่ในใจไม่รู้ลืม หลวงปู่ชอบนำข้อธรรมที่เต็มไปด้วยความลุ่มลึกนั้นมาพิจารณาและรู้สึกว่า “การดำเนินของเราคงไม่เป็นโมฆะในวงพระศาสนา มิฉะนั้น พระอรหันต์องค์วิเศษคงไม่เหาะมาโปรดเมตตาให้เสียเวลา” คิดได้ดังนี้ก็รู้สึกมีกำลังใจ เร่งความเพียรภาวนาอย่างเต็มที่
[ เพิ่มเติม ] - พระพากุลเถระ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ไม่มีโรคาพาธ
เมื่อท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้ช่วยแบ่งเบาภาระทางพระพุทธศาสนาใน
การอบรมสั่งสอนพุทธบริษัท และท่านเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัดในธุดงค์ ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือ
การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ในอิริยาบท ๓ คือ ยืน เดิน และนั่งเท่านั้น ไม่นอน และข้อ
“อรัญญิกธุดงค์” คือ การสมาทานธุดงค์ด้วยการอยู่ป่าเป็นวัตร ดังจะเป็นได้ว่า ตั้งแต่ท่านบวช
มานั้น ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่เคยให้
หมอรักษาพยาบาล ไม่เคยฉันแม้แต่ผลสมออันเป็นยาสมุนไพรแม้แต่เพียงผลเดียว เพราะว่าท่าน
ไม่มีโรคใด ๆ เลยนั่นเอง ทั้งนี้เป็นเพราะด้วยอานิสงส์แห่งการสร้างเว็จกุฎี (ส้วม) แลการถวาย
ยาเป็นทานแก่พระสงฆ์ เหตุการณ์ที่แสดงว่าท่านเป็นผู้อายุยืนยาวนั้น ได้มีเรื่องกล่าวไว้ใน
กุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตรแห่งคัมภีร์มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า.....
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพากุลเถระ พักอาศัยยู่ที่เวฬุวันมหาวิหารเมืองราชคฤห์ ขณะนั้น มี
อเจลกะท่านหนึ่ง ชื่อว่า กัสสปะ (อเจลกะ คือ นักบวชประเภทหนึ่งที่ไม่สวมเสื้อผ้า ซึ่งเรียกว่า
ชีเปลือย) ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของท่าน เมื่อสมัยที่ยังเป็นคฤหัสถ์ ได้มาเยี่ยมเยือนและได้สนทนาไต่
ถามพระเถระว่า
“ท่านพากุละ ท่านบวชมาได้กี่ปีแล้ว”
“กัสสปะ อาตมาบวชมาได้ ๘๐ ปีแล้ว”
“ท่านพากุละ ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปี ที่ท่านบวชมานั้น ท่านมีความเกี่ยวข้องกับ
โลกิยธรรมกี่ครั้ง”
“ท่านกัสสปะ อันที่จริงท่านควรถามอาตมาว่า ตลอดระยะเวลา ๘๐ ปีนั้น กามสัญญา
คือ ความใฝ่ใจในทางกามารมณ์เกิดขึ้นแก่ท่านกี่หนแล้ว กัสสปะ ตั้งแต่อาตมาบวชมาได้ ๘๐ ปี
แล้วนี้ อาตมามีความรู้สึกว่า กามสัญญาที่ว่านั้นไม่เกิดขึ้นแก่อาตมาเลย”
อเจลกกัสสปะ ได้ฟังคำของพระเถระแล้วกล่าวว่า “เรื่องนี้ น่าอัศจรรย์ จริง ๆ” และได้
สนทนาไต่ถามในข้อธรรมต่าง ๆ จากพระเถระ จนหมดสิ้นข้อสงสัยแล้ว ในที่สุดก็เกิดศรัทธา
ขอบวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อีกรูปหนึ่ง
ด้วยความที่ท่าน เป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียนเป็นเหตุให้ท่านมีอายุยืนยาวดังกล่าวมานี้
พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง
ผู้ไม่มีโรคาพาธ
ท่านพระพากุลเถคะ ดำรงอายุสังขารสมควรแก่กาลแล้ว
- ในวันที่ท่านจะนิพพานนั้น
ท่านนั่งอยู่ในท่ามกลางประชุมสงฆ์ ได้อธิษฐานว่า “ขออย่าให้สรีระของข้าพเจ้าเป็นภาระแก่หมู่
ภิกษุสงฆ์เลย” ดังนี้แล้วท่านก็เข้าเตโชกสิณ ปรินิพพานในท่ามกลางหมู่สงฆ์นั้น พลันเปลว
เพลิงก็เกิดขึ้นเผาสรีระของท่านจนเหลือแต่อัฐิธาตุ ซึ่งมีสีและสัณฐานดังดอกมะลิตูม
เรียบเรียงโดยเธียรนันท์ จากหนังสือ วินาทีบรรลุธรรม อรหันต์มีจริง 1
http://panyayan.tnews.co.th/contents/198617/
|