๒. | |
| | "พุ่งดาบมาเลยครับ"
ครูมาโนทย์ร้องบอกให้พวกเราพุ่งดาบหวายใส่ ขณะเขาวาดดาบท่าคลุมไตรภพไปด้วย ดาบหวายในมือซ้ายขวา วาดประสานเป็นวงรูปเลขแปดอาระบิคแนวตั้ง อย่างต่อเนื่องครั้งแล้วครั้งเล่า
พวกเราคนหนึ่งจดๆ จ้องๆ ในที่สุดดาบหวายในมือเขาถูกพุ่งออกไป แม้ไม่ถึงกับสุดแรงเพราะยังติดด้วยเกรงใจ ทว่าก็ไม่เรียกว่าเบา แต่สุดท้ายมันถูกม่านดาบอันรวดเร็วของครูมาโนทย์ปัดกระเด็นไปอีกทาง
"ท่าคลุมไตรภพมีความหมายตามชื่อของมัน ไตรภพหมายถึงสวรรค์ มนุษย์ นรก เปรียบได้กับส่วนบน กลาง ล่างของร่างกาย หมายความว่าท่านี้สามารถปกคลุม ป้องกันทุกส่วนของร่างกายได้หมด"ครูมาโนทย์กล่าว"สมัยก่อนตอนฝึกกับครูสุริยา ท่านใช้ดาบเหล็กพุ่งใส่ ผมต้องปัดให้ได้ แล้วต้องฝึกในเวลากลางคืน เพื่อฝึกสายตา ให้เห็นแนวดาบ แต่ฝึกเด็กทุกวันนี้ผมใช้ดาบหวาย เพราะเด็กต้องเรียนหนังสือ บาดเจ็บแล้วไม่คุ้มกัน"
ท่าคลุมไตรภพแม้มีความสำคัญ แต่เป็นเพียงส่วนเดียว ของความพลิกแพลงซับซ้อนของวิชาดาบอาทมาฏ อาจารย์ชาติชายนั่นเองเป็นผู้จัดลำดับ และอธิบายโครงสร้างของหลักวิชา เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
ศิษย์ใหม่ของสำนัก จะได้เรียนหลักวิชาพื้นฐานอย่างท่าการ์ดดาบเป็นอันดับแรก แต่หากศิษย์ผู้นั้นเคยผ่านสำนักดาบอื่นมาบ้าง เขาจะรู้ว่าท่าการ์ดดาบอาทมาฏไม่เหมือนสำนักอื่นใด
การ์ดดาบอาทมาฏเป็นดาบรับใน ขาข้างหนึ่งก้าวมาข้างหน้า งอเข่าเล็กน้อย แขนข้างเดียวกับขาหน้ายื่นมาข้างหน้า กำดาบโดยหันด้านฝ่ามือเข้าในตัว แนวดาบพาบเฉียงสี่สิบห้าองศา พาดผ่านระหว่างคิ้วและดวงตาที่จ้องไปยังคู่ต่อสู้ ดาบอีกข้างถืออยู่แนบด้านข้างตัวในระดับเอว ปลายดาบชี้เฉียงขึ้นเล็กน้อยพุ่งเข้าหาหน้าอกคู่ต่อสู้ และเมื่อเดินการ์ดหรือถอยการ์ด คือเดินมาข้างหน้าหรือถอยหลัง ดาบที่ระดับเอวจะถูกดึงขึ้นมาพาดเฉียงแทนที่อีกข้างที่ถูกดึงลงแนบลำตัว สลับสับเปลี่ยนกัน
เพียงท่าพื้นฐานเช่นท่าการ์ด ก็สามารถชักนำเข้าสู่หัวใจ ของเคล็ดวิชาดาบอาทมาฏที่ว่า"ท่าฟันคือท่ารับ ท่ารับคือท่าฟัน"
"ผมจะแสดงให้ดู"
อาจารย์ชาติชายคว้าดาบหวายสองเล่ม เดินเข้าหาเป้ายางรถยนต์บนเสาไม้กลางลานปูน เขาตั้งการ์ด ดาบหน้าฟาดลงบนยางบังเกิดเสียงดังหนักหน่วง ทว่าสิ่งที่น่าสนใจกว่าความรุนแรงกลับเป็นท่วงท่าเคลื่อนไหว เพราะดาบที่แนบลำตัวได้ถูกดึงขึ้นพาดเฉียงด้านหน้าแทน ส่วนดาบที่ฟาดยางรูดลงไปแนบลำตัวในขณะเดียวกัน อยู่ในท่าป้องกันอันรัดกุม ไม่มีช่องว่างให้โจมตี นี่คือความหมายของการฟันในท่ารับ ในทางกลับกัน หากคู่ต่อสู้ฟันมาก็จะติดดาบหน้าที่พาดขวาง ขณะดาบที่แนบลำตัวพร้อมพุ่งแทงสวนออกไปในฉับพลัน | |
| | จากท่าการ์ดดาบ ลำดับต่อไปคือแม่ไม้ทั้ง ๓ ท่า เราได้เห็นท่าคลุมไตรภพไปแล้ว โอกาสต่อมาครูมาโนทย์ได้รำอีกสองท่าให้เราดู ในท่า"ตลบสิงขร" ดาบซ้ายขวาวาดวนในระดับเอวเป็นวงรูปเลขแปดอาระบิคในแนวนอน ขณะท่า"ย้อนฟองสมุทร" ดาบทั้งสองข้างวาดเป็นรูปเลขแปดอาระบิคแนวตั้ง ทว่าต่างจากท่า"คลุมไตรภพ"ตรงที่ ในท่านี้ดาบทั้งสองมือวาดเป็นเลขแปดสองตัวต่อกันจากล่างขึ้นบน ขณะวาดดาบก็มีการโล้ตัวไปข้างหน้าและหลังด้วย
อาจารย์ชาติชายอธิบายว่า"แม่ไม้ทั้งสามท่ามันทำให้แขนได้วาดไป ดาบของเราจะวนอย่างนี้ตลอด เพื่อไม่ให้มีช่องว่าง เราจะไม่หยุดดาบ จะวาดดาบช้าๆ ก็ได้ แต่ต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขณะวาดดาบก็พร้อมฟันหรือแทงเขาไปด้วย"
"ดูดีๆ ผมจะทำคลุมไตรภพให้ดู"ครูมาโนทย์ว่า"คู่ต่อสู้เข้ามา ผมจะฟันดื้อๆ อย่างนี้ก็ได้ แล้วกลับมาพร้อมที่จะรับ หรือผมจะแทงเลยก็ได้ เพราะไม่มีการเงื้อ ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นก่อนฟันจะต้องเงื้อดาบ...เรียกว่าเงื้อให้เห็นมาจากบ้าน พอเงื้อดาบคู่ต่อสู้ก็รู้ตัว แต่ของเราวนดาบอยู่ตลอด ไม่มีการเงื้อให้เห็น จะฟันจะแทงก็แตกออกไปจากท่าวนดาบได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ตายตัว"
"ผมเคยเจอคู่ต่อสู้เร็วมาก"อาจารย์ชาติชายยกตัวอย่าง"แต่ผมก็กุ่มเข้าไปเลย คลุมไตรภพเข้าไปเลย พอเขาเงื้อจะฟัน ผมพลิก ตีเลย ปัง! มันก็โดนอยู่แล้ว ผมไม่ต้องคอยรับเลย แต่ผมใช้ท่าแม่ไม้คลุมตัวไว้ก่อน ค่อยทำเขา"
ลำดับต่อจากแม่ไม้ ๓ ท่า ก็คือ ๑๒ ท่าไม้รำ ซึ่งมีชื่อเรียกแบบโบราณ ได้แก่ ท่าไม้รำเสือลากหาง ฟันเงื้อสีดา หงษ์ปีกหัก ท่ายักษ์ พระรามแผลงศร เชิญเทียนตัดเทียน มอญส่องกล้อง ลับหอกลับดาบ ช้างประสานงา กาล้วงไส้ พญาครุฑยุดนาค เรียงหมอน และท่าสอดสร้อยมาลา | |
| | ผู้เรียนดาบอาทมาฏจะต้องฝึกรำท่าไม้รำให้ครบทั้ง ๑๒ ท่า เพราะแต่ละท่าได้บรรจุ"ลูกไม้"ต่างๆ เอาไว้ ซึ่งก็คือท่วงท่าที่ใช้ในการต่อสู้จริงๆ ลูกไม้แต่ละท่าต่างก็มีชื่อเรียกเป็นของตัวเอง เช่น เสือทลายห้าง-การฟันดาบคู่ลงมาจากเหนือศรีษะ, เสือลากหาง-การวาดดาบโดยปลายดาบจรดพื้นในแนวข้างลำตัว พร้อมเตะขาไปข้างหน้าเพื่อส่งแรง, ไอยราฟาดงวง-จิกปลายดาบจากด้านบนลงสู่ศรีษะคู่ต่อสู้, ฟันเรียงหมอน-ดาบคู่ฟันกวาดแนวนอน หรือมอญส่องกล้อง-ดาบหนึ่งขวางไว้ด้านบน กันดาบคู่ต่อสู้ฟันลงมา ส่วนดาบอีกข้างแทงย้อนขึ้นสู่ลำตัวคู่ต่อสู้
นอกจากฝึกท่าไม้รำแล้ว ยังต้องฝึกท่าเท้า ได้แก่ท่าเท้า ๔ ทิศ ๘ แฉก คือการหัดพลิกเหลี่ยมสู่ทิศทั้งสี่ และการหัดเคลื่อนตัววนเป็นวน นอกจากนั้นยังต้องฝึกเหยาะย่าง เขย่งก้าวกระโดด ฝึกการเหินตัว ทั้งนี้เพราะท่าเท้าเป็นส่วนสำคัญมากของวิชาดาบอาทมาฏ
"เมื่อฝึกท่าการ์ด ท่าเท้า และฝึกท่าไม้รำแล้ว ก็จะเข้าสู่การฝึกกลยุทธและกลศึก หลายลูกไม้เป็นหนึ่งกลยุทธ หลายกลยุทธเป็นหนึ่งกลศึก"ครูมาโนทย์กล่าว
ส่วนอาจารย์ชาติชาย อธิบายให้เห็นภาพ "วิชาดาบอาทมาฏจะแตกออกจากจุดศูนย์กลางไปรอบวง จากท่าการ์ด สู่ท่าแม่ไม้ สู่ท่าไม้รำ แล้วแตกออกสู่ท่าลูกไม้ เหมือนก้อนหินหล่นสู่ผิวน้ำ เกิดคลื่นวงกลม แผ่ออกจากศูนย์กลางวงแล้ววงเล่า แล้วท่าลูกไม้วงนอกยังสามารถแตกออกไป หรือผสมกับลูกไม้อื่นได้อีกเป็นร้อยๆ พันๆ ท่า ไม่รู้จบ แล้วแต่ความสามารถและไหวพริบปฏิภาณของแต่ละคน"
"คนยิ่งฉลาดเท่าไหร่ก็ยิ่งแตกวงท่าดาบออกไปได้กว้างขึ้น"พี่เป๊ก ศิษย์รุ่นใหญ่ของสำนักสรุป
อาจเปรียบเทียบได้อีกอย่างว่าวิชาดาบอาทมาฏคล้ายดอกไม้ไฟ มันแตกออกจากจุดศูนย์กลางเป็นประกายแสงสี ยิ่งแตกออกไปวงแล้ววงเล่า ก็ยิ่งพร่างพรายลายตา ทว่ายิ่งสวยงามก็ยิ่งอันตราย เพราะมันหมายถึงทางดาบที่ยิ่งพลิกแพลงยากคาดเดา
| |
| | ๓. | |
| | ครูมาโนทย์กำลังจะแสดงท่วงท่าพลิกแพลงของดาบอาทมาฏให้เราชม เขายืนประจันหน้ากับศิษย์เอก คราวนี้ทั้งสองใช้ดาบเหล็ก ยืนจดจ้องกันในท่าการ์ด แล้วเข้าสู่ท่าคลุมไตรภพ
ลูกศิษย์เป็นฝ่ายบุกเข้ามาก่อน แทงดาบขวาเข้ามา ครูมาโนทย์รับด้วยลูกไม้ท่าพิรุณร้องไห้ โดยดาบในมือซ้ายพลิกปลายลงพื้น ใช้คมต้านดาบที่แทงมา พร้อมถอยขาขวาไปข้างหลังแล้วพลิกเหลี่ยมกลับตัวไปทางขวา ดาบในมือขวาแทงย้อนกลับมาด้วยท่าไผ่พันลำ เข้าสู่แผ่นหลังอันเป็นจุดอับของคู่ต่อสู้ จากนั้นหมุนตัวทางขวาอีกครึ่งรอบ หันมาประจันกับด้านหลังคู่ต่อสู่ โดยคมดาบขวากดตรงหลังคอเอาไว้ ขาซ้ายยกขึ้นเตรียมเขย่งก้าวกระโดด ปาดดาบขวาเฉือนลง ตามด้วยดาบซ้ายฟันเฉียงจากด้านบนสู่แผลเดิมตรงหลังคอเพื่อเผด็จศึก ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในชั่วพริบตาเดียวเท่านั้น ยังดีที่เป็นเพียงการสาธิต เราจึงไม่ได้เห็นเลือดจากคมดาบ
ครูมาโนทย์ให้ลูกศิษย์แทงมาอีกครั้ง เขาใช้ดาบซ้ายพลิกปลายลงรับดาบขวาที่แทงมา พร้อมพลิกตัวเบี่ยงไปทางขวาคู่ต่อสู้เช่นเดิม แต่คราวนี้แทนที่จะแทงดาบขวาย้อนกลับในท่าไผ่พันลำ กลับพลิกข้อมือให้ปลายดาบซ้ายชี้ขึ้นฟ้า แล้วจิกคมปลายดาบลงกลางหัวคู่ต่อสู้ด้วยลูกไม้ท่าไอยราฟาดงวง
ทั้งหมดคือการพลิกแพลงด้วยท่าต่อท่า แต่ลูกไม้ท่าเดียวกัน ยังสามารถแตกตัวผสมกับท่าอื่นได้อีก อย่างเช่นลูกไม้ท่าฟันเรียงหมอน ที่ดาบซ้ายขวาฟันกวาดตามขวางในแนวขนานกัน | |
| |
|
|