ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 18178
ตอบกลับ: 0
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ประวัติ หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล (เพชรบุรี)

[คัดลอกลิงก์]




(พระอธิการปลอด วัดในปากทะเล) ท่านถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ที่หมู่บ้านตะปอนน้อย อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ...(ไม่ทราบนามบิดามารดา) ครอบครัวของท่านมีอาชีพทำไร่สวน ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๖ เมื่อท่านมีอายุครบบวช ก็ได้อุปสมบท ณ พัทสีมา "วัดรั้วเหล็ก"(วัดประยูรวงศาวาส) จังหวัดธนบุรี
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ฝึกฝนตนเองเสมอ ด้วยการศึกษา และปฎิบัติทางวิปัสสนา โดยเฉพาะการเทศน์ที่ไพเราะ จึงเป็นที่นิยมของสาธุชนนัก ท่านมักได้รับนิมนต์ไปเทศน์ทำนองเทศน์มหาชาติอยู่เนืองๆ ชื่อเสียงด้านการเทศน์ทำนอง ของท่านขจรขจายไปทั่ว จนกระทั่งได้รับกิจนิมนต์เทศน์ประชันในงานเทศน์มหาชาติของวัด ทว่าการ เทศน์ประชันครั้งนั้นของท่านว่ากันว่าท่านแพ้ให้กับผู้ประชัน จึงเกิดความน้อยใจตนเอง ท่านจึงตัดสินใจ ออกธุดงควัตร
ระหว่างธุดงค์ท่านได้พบกับ (นายทองพิมพ์) ชาวบ้านปากทะเล การสนทนาระหว่างกัน เป็นที่ต้อง อัธยาศัย ซึ่งกันและกัน ฝ่ายนายทองพิมพ์ชาวบ้านปากทะเล ถึงกับเลื่อมใส ในปฏิปทาจริยวัตรของหลวงพ่อปลอดเป็นอันมาก จึงอาราธนาท่าน มาจำพรรษาที่ (วัดปากทะเล) หลวงพ่อปลอด ท่านก็มีความตั้งใจ เช่นกันว่าจะไม่กลับไปยังวัดเดิม จึงรับปากตกลงจำพรรษาอยู่ ณ วัดปากทะเลตั้งแต่นั้นมา
"วัดในปากทะเล" นี้ เดิมเป็นวัดเก่าแก่ มีหลวงพ่อแก้ว เป็นผู้ดูแลก่อนอยู่ในขณะนั้น การสร้างวัดสมัยนั้นต้องสร้างเอง สมัยนั้น หลวงพ่อแก้วต้องเกณฑ์ภิกษุสามเณร และชาวบ้านเข้าไปตัดไม้เองในป่า ต้องพักแรมอยู่ในป่าครั้งละนานๆกว่าจะได้ ไม้มาปลูกศาลาหรือกุฎิสักหลัง งานโค่นต้นไม้ งานชักลากไม้ในป่า เป็นงานหนักและเหนื่อย หลายครั้งผู้ร่วมงานก็เจ็บป่วย หลวงพ่อแก้วจึงเริ่มสร้างพระปิดตาขึ้นเป็นครั้งแรก และแจกเป็นกำลังใจให้กับผู้ร่วมงาน ตอนแจกท่านบอกว่าเอาไว้ป้องกันไข้ป่า ป้องกันภัยจากสัตว์ร้าย ลดอันตรายจากไข้และสัตว์ร้ายได้ไม่น้อย ภูตผี ปีศาจ ก็ไม่อาจเข้าใกล้ หลวงพ่อแก้วท่านเป็นนักก่อสร้าง ถ้าใครมาช่วยชักลากซุงจากป่า มาถึงวัดท่านก็ให้พระ ๑ องค์ ใครเอาซุงมาถวายท่าน ๑ ท่อน ท่านก็จะให้พระ ๑ องค์
ช่วงปลายชีวิต หลวงพ่อแก้วก็ย้ายไปอยู่ที่วัดเครือวัลย์ จังหวัดชลบุรี
หลวงพ่อปลอด ท่านเป็นพระร่วมยุคสมัยเดียวกับ (หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์) เมื่อหลวงพ่อแก้วท่านจะไปครองวัดเครือวัลย์ ท่านได้มอบหมายให้หลวงพ่อปลอด ครองวัดปากทะเลแทนท่าน
เมื่อหลวงพ่อปลอดได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากทะเล การปฏิบัติตนของหลวงพ่อปลอด ต่างก็เป็นที่ยอมรับของสาธุชน ในละแวกบ้านปากทะเล เป็นอันมาก เนื่องจากท่านมีวัตรปฎิบัติในด้านการวิปัสสนากรรมฐาน การแสดงธรรมเทศนาของท่านเป็นเอกอุ ทำให้อุบาสกอุบาสิกา เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน ดังนั้นการ พัฒนาบูรณะวัดให้เจริญงอกงาม เป็นผลให้ปลูกสร้างกุฎิขึ้นมาใหม่อีก ๔ หลัง ศาลาหลังเล็กๆเพื่อใช้แสดงธรรมอีก ๓ หลัง และเพียงเวลา ๓ ปี ท่านสามารถรวบรวมความศรัทธาจากสาธุชน สร้างอุโบสถได้สำเร็จ
หลวงพ่อปลอด เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านปากทะเล ท่านได้รวบรวมความศรัทธาของชาวบ้านปากทะเล เพื่อทำเขื่อนกั้นน้ำทะเล ป้องกันการกัดเซาะบริเวณหน้าวัดและหมู่บ้าน ซึ่งจะประสบภัย ทางธรรมชาติอยู่เสมอ หลวงพ่อและชาวบ้านได้ทำการต่อเรือใบขึ้น ๒ ลำ เพื่อนำ ไปบรรทุกหินและทราย จากเกาะสะเดาบางปูในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาถมแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเล การขนหินขนทรายโดยเฉพาะทางเรือใบ เป็นไปด้วยความมานะและอดทน ทำอยู่หลายปีแนวเขื่อนกั้นน้ำทะเลจึงสำเร็จ วัดและชาวบ้านจึงปลอดภัย จากการกัดเซาะของน้ำทะเล
ปฏิปทาวัตรปฏิบัติ อีกทั้งงานสาธารณูปการของท่านเป็นที่ประจักษ์ หลวงพ่อปลอดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลปากทะเลในที่สุด
นอกจากงานด้านการปฏิสังขรณ์บูรณะวัดแล้ว ท่านยังฝากผลงานด้านคีตศิลป์ และนาฎศิลป์ไว้ให้กับชาวบ้านปากทะเลอีกด้วย ท่านได้สร้างวงปี่พาทย์ไว้ประจำวัด ๒ วง แล้วฝึกสอนให้กับบรรดาศิษย์ ได้มีฝีมือติดตัวเป็น เครื่องเลี้ยงชีพ ละครชาตรีแห่งวัดในปากทะเลท่านก็เป็นผู้แต่งบทบาทและควบคุมการแสดงด้วยตัวท่านเอง มรดกทางวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งก็คือการเชิดการประดิษฐ์หุ่นกระบอก ท่านก็นำ (นายหริ่ง) ชาวตำบลบางแก้วที่มีความชำนาญ ทางด้านนี้ร่วมฝึกหัดให้สานุศิษย์ ชาวปากทะเล ได้รับความรู้จนสามารถตั้งวงหุ่นกระบอกประจำวัดได้ ๑ วง
วัตถุมงคลของหลวงพ่อปลอดนั้น ท่านสร้างไว้หลายชนิดด้วยกัน อาทิเช่น ลูกอม ตะกรุด ลูกสะกด และผ้ายันต์ ส่วนเหรียญรุ่นแรก สร้างปี พ.ศ.๒๔๙๒ บล็อกแตก ไม่แตก และรูปหล่อนั้นสร้างภายหลังท่านมรณภาพแล้ว ไม่ทันหลวงพ่อ
สำหรับลูกอม (หลวงพ่อปลอด วัดในปากทะเล) จ.เพชรบุรี เป็นลูกอมที่มีขนาดใหญ่ กว่าหลายๆ สำนัก ซึ่งตามปกติท่านจะทำ ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก (ขนาดใหญ่ ประมาณ ลูกมะนาว หรือขนาดเท่าเหรียญ ๑๐ บาท ) เพราะพอมีให้เห็นอยู่บ้าง ซึ่งลูกอมของท่าน มีทั้งแบบถักเชือกธรรมดา และถักเชือกชุบรัก ส่วนด้านพุทธคุณนั้นหนักในทาง เมตตาแคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพัน ปัจจุบันนี้ลูกอมของท่านก็หาชมยากด้วยเช่นกัน

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้