ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3213
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ครูจูหลิง ปงกันมูล

[คัดลอกลิงก์]
8 ปีครูจูหลิงที่จากไป...กับโศกนาฏกรรมร้ายที่ยังไม่จบบริบูรณ์                .

เขียนโดยสุเมธ ปานเพชร










เมื่อเอ่ยถึงชะตากรรมครูชายแดนใต้ที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับความรุนแรง ณ ดินแดนปลายด้ามขวานตลอด 11 ปีที่ผ่านมาแล้ว คงไม่มีใครลืมเรื่องราวของ ครูจูหลิง ปงกันมูล



         

8 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาว จ.เชียงราย ก็ยังร่วมจัดงานรำลึก 8 ปีการจากไปของครูจูหลิง ซึ่งเป็นชาว ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ต่อเมื่อสำเร็จการศึกษาเธอจึงได้เดินทางไปสอนหนังสือ เป็นครูสอนศิลปะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วถูกผู้ก่อเหตุรุนแรงรุมทำร้ายที่บ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2550


          ผลพวงจากการเสียชีวิตของครูจูหลิง ไม่ได้มีเฉพาะการจัดงานรำลึกถึงเธอ ณ ดินแดนบ้านเกิดเท่านั้น แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ยังมีเหตุการณ์เชื่อมร้อยโยงถึงครูจูหลิงเป็นข่าวอยู่เนืองๆ เช่น เมื่อกลางเดือน ธ.ค.57 ทหารพรานได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นและยิงปะทะกับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยในพื้นที่ อ.ระแงะ และสามารถจับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ 2 คน หนึ่งในนั้น คือ นายบารูวัน บากา ชาวบ้านกูจิงลือปะ ซึ่งมีประวัติเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีจับตัวและกรุ้มรุมทำร้ายครูจูหลิง


          โศกนาฏกรรมของครูสาวชาวเหนือที่ต้องมาสละชีวิตถึงปลายสุดด้ามขวาน จึงยังสะท้อนก้องไปมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ให้ได้ระลึกถึงอยู่ตลอด


          ย้อนรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูสาวไทยพุทธเมื่อ 8 ปีที่แล้วนั้น เริ่มต้นจากช่วงเช้าของวันที่ 19 พ.ค.49 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองจำนวนกว่า 50 นาย เข้าปิดล้อมพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ เนื่องจากสืบทราบว่าผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงทหารเสียชีวิต 2 นายที่สถานีรถไฟลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ไปหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้าน


          ผลจากการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 คน คือ นายอับดุลการีม มาแต และ นายมูหะมะสะแปอิง มือลี พร้อมยึดอาวุธปืนพกสั้นขนาด .45 ได้ 1 กระบอก และนำตัวทั้งสองไปสอบปากคำ พร้อมถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากหมู่บ้านกูจิงลือปะ
          เวลาเที่ยงวันเดียวกัน เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีเสียงประกาศจากเครื่องขยายเสียงในหมู่บ้านให้ผู้หญิงไปรวมตัวกันที่หน้าโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ทำให้มีสตรีในหมู่บ้านไปรวมตัวกันเกือบร้อยคน เป็นจังหวะเดียวกันกับที่ ครูจูหลิง และ ครูสิรินาถ ถาวรสุข สองครูสาวไทยพุทธกำลังทานอาหารอยู่ที่ร้านข้างๆ มัสยิดพอดี

          จากนั้นก็มีหญิงชาวบ้านหลายคนกรูเข้าจับตัวครูสาวทั้งสอง แล้วนำตัวไปขังไว้ที่ห้องเก็บของภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห่างจากโรงเรียน 300 เมตร
          การจับตัวครูสาวทั้งสองคนของกลุ่มสตรีบ้านกูจิงลือปะ เพื่อเป็นข้อต่อรองให้ปล่อยตัว นายอับดุลการีม มาแต และ นายมูหะมะสะแปอิง  มือลี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปสอบสวนเมื่อช่วงเช้า

          ระหว่างที่ครูจูหลิงและครูสิรินาถถูกขังอยู่นั้น ผู้หญิงในหมู่บ้านอีกกลุ่มหนึ่งและบรรดาเพื่อนครูได้พยายามเจรจาขอร้องให้ชาวบ้านปล่อยตัวครูสาวทั้งสองคน แต่ก็ไม่เป็นผล ซ้ำร้ายในช่วงเวลาเดียวกันยังมีกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ใช้ผ้าคลุมปิดบังใบหน้า บุกเข้าไปทำร้ายครูสาวทั้งสอง โดยใช้ไม้ทุบตีจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและสลบไป

          ต่อมาผู้ใหญ่บ้านได้เข้าไปเจรจาพูดคุยกับชาวบ้าน จนสามารถช่วยเหลือและนำครูสาวทั้งสองออกมาได้ ก่อนจะรีบนำส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส แต่อาการสาหัส ต้องส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


          ครูสิรินาถอาการเบากว่า เธอจึงหายเป็นปกติ แต่ครูจูหลิงอาการสาหัสมาก เนื่องจากถูกตีด้วยไม้เข้าที่ศีรษะ สมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ระหว่างรักษาตัว ครูจูหลิงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และยังได้รับกำลังใจมากมายจากประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศ


          แต่แล้วเมื่อเย็นวันที่ 8 ม.ค.50 ครูจูหลิงก็จากไป สุดความสามารถที่คณะแพทย์จะยื้อชีวิตเอาไว้





และก็อย่างที่เกริ่นในตอนต้น แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานถึง 8 ปีเต็ม แต่เรื่องราวที่เกี่ยวกับครูจูหลิงยังไม่จบ โดยเฉพาะคดีความต่างๆ
          พ.ต.ท.เฉลิม ยิ่งคง รองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ ตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช (รอง ผกก.ฝอ.ภ.จว.นครศรีธรรมราช) ซึ่งเคยเป็นพนักงานสอบสวน สภ.ระแงะ และเคยรับผิดชอบคดีครูจูหลิงมาตั้งแต่หลังเกิดเหตุ เล่าให้ฟังว่า หากย้อนไปถึงคดีในตอนนั้น มีผู้ถูกออกหมายจับทั้งหมด 58 ราย ได้เข้ามอบตัวและควบคุมตัวได้ 27 ราย จึงได้ทำสำนวนส่งอัยการและอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง คดีจึงไปอยู่ในชั้นศาล และอยู่ในกระบวนการของศาล จนประมาณปี 54 ศาลตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ



          "ในตอนนั้น สำนวนคดีที่ส่งอัยการมีข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย หลังจากอัยการสั่งฟ้องและเข้าสู่กระบวนการศาล ก็จะเป็นการสืบพยาน ในขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมาก จนสุดท้ายแล้วไม่มีพยานหลักฐาน โดยเฉพาะประจักษ์พยาน ทำให้ศาลยกฟ้อง จำได้ว่ามีเพียงคนเดียวที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน ฐานเป็นผู้ที่พูดผ่านเครื่องขยายเสียงปลุกระดมให้คนมารวมตัวกัน ส่วนรายอื่นๆ ที่ถูกออกหมายจับในคดีเดียวกัน และมีบางรายถูกจับได้ภายหลัง ก็ต้องดำเดินการเหมือนกันในข้อหาเดียวกัน เมื่อศาลยกฟ้องก็จบ ขณะที่บางรายเสียชีวิตไปก่อน ก็ต้องจำหน่ายคดีไป" พ.ต.ท.เฉลิม ระบุ

          ขณะที่ พ.ต.ท.สมใจ สิงเกลี้ยง พนักงานสอบสวน สภ.ระแงะ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีต่อจาก พ.ต.ท.เฉลิม กล่าวว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาลไปแล้ว และศาลได้ตันสินยกฟ้อง ทำให้คดีก็สิ้นสุดไป มีประมาณ 30 ราย ทั้งที่มอบตัวสู้คดีตั้งแต่ต้น และเป็นที่ผู้ถูกติดตามจับกุมตามหมายจับได้ในภายหลัง รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตระหว่างดำเนินคดี

  "คดีนี้ก็ยังคงมีผู้ที่ถูกออกหมายจับอีก 20 ราย และยังคงหลบหนีอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีหมายจับในคดีอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ทำให้ต้องหลบหนีการจับกุม หากถูกจับกุมได้ต้องนำตัวมาดำเนินคดีตามกระบวนการเช่นเดียวกัน เพราะคดีนี้มีอายุความ 20 ปี"


          เรื่องราวความรุนแรงที่เกิดกับครูจูหลิง แม้จะผ่านมากว่า 8 ปีแล้ว และได้รับการคลี่คลายไปบ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าจบบริบูรณ์




http://www.isranews.org/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B2/item/35881-eight.html


เศร้าครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้