อมตะตลอดกาล ---อำนาจของสัจจะหรือบุญฤทธิ์ของสัจบารมีนั้น ไม่ว่าคนยุคนี้จะเชื่อมั่นกันเต็มร้อยหรือไม่ เรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงเป็นเรื่องอมตะตลอดกาล เช่น เรื่องพระร่วงกับขอมดำดิน เรื่องสัจจะของนางสุชาดาในตำนานพระแก้วดอนเต้า เรื่องสัจจะของพระนางมัสสุหรีหรือพระนางเลือดขาวแห่งลังกาวี เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของพระเถระผู้มีวาจาสิทธิ์อีกมากมาย
*ด้วยสัจจกิริยาของลูกนกคุ่มโพธิสัตว์ ---ไฟจะไม่ลุกหรือแม้จุดไฟก็ไม่ติดไปตลอดกัป(ภัทรกัป) *ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาใน อรรถกถาชาดก ได้กล่าวไว้ว่า ---เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์และทรงถือกำเนิดเป็น ลูกนกคุ่ม นกพ่อแม่ทำรังอยู่ในป่า ทิ้งให้ลูกนกนอนอยู่ในรัง ส่วนนกสองตัวผัวเมียก็ออกไปหาเหยื่อมาป้อน ยังมิทันที่ลูกนกจะมีกำลังกางปีกบินและยกเท้าก้าวเดินได้ก็พอดีถึงฤดูไฟไหม้ป่า ไฟเกิดไหม้ป่าลุกลามมาเสียงดังสนั่นหวั่นไหว บรรดาฝูงนกทั้งหลายต่างกลัวตาย พากันส่งเสียงร้องเอ็ดอึงบินออกจากรังของตนหนีไป นกคุ่มพ่อแม่ทั้งสองของพระโพธิสัตว์ก็กลัวตาย จึงทิ้งพระโพธิสัตว์ไว้ในรังแล้วพากันบินหนีไปเช่นกัน พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังยืดคอออกดู เห็นไฟป่ากำลังลุกลามท่วมท้นเข้ามาจึงรำพึงว่า ---ถ้าข้าพเจ้ามีกำลังกางปีกบินไปในอากาศได้ ข้าพเจ้าก็จะบินไปที่อื่น ถ้าข้าพเจ้ามีแรงยกขาเดินไปบนพื้นดินได้ ข้าพเจ้าก็จะก้าวขาเดินไปที่อื่น ทั้งพ่อและแม่ของข้าพเจ้าก็กลัวตายทิ้งข้าพเจ้าไว้แต่ผู้เดียว ต่างเอาตัวรอดบินหนีไปแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าไม่มีที่พึ่งอื่น ตัวเองก็หาคุ้มครองตัวเองได้ไม่ ตัวเองหาเป็นที่พึ่งแก่ตัวไม่ วันนี้ข้าพเจ้าควรทำอย่างไรดีหนอ ครั้นแล้วก็คิดได้ว่า ในโลกนี้มีคุณคือ ศีล มีคุณคือ สัจจะ พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีมาแล้วในอดีต ได้ประทับนั่ง ณ โคนไม้โพธิพฤกษ์และทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงประกอบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ประกอบด้วยสัจจะ ด้วยความเอ็นดู ด้วยความกรุณาและขันติ ทรงเจริญเมตตาในสรรพสัตว์ทั้งหลายบรรดามีอยู่ในโลกมาแต่อดีตกาล อนึ่ง คุณธรรมทั้งหลายที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดมีอยู่ เรื่องนี้เป็นสัจจะ คือความจริง แม้ในตัวข้าพเจ้าเองก็มีสัจจะ 3 ประการปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าควรระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบรรลุแล้วนั้น ยึดเอาสัจจะที่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้ามาทำสัจจกิริยา ขอให้ไฟป่าถอยกลับไป ทำความสวัสดีให้เกิดแก่ตนเองและฝูงนกทั้งหลายด้วย..... ---ครั้นแล้ว ลูกนกคุ่มก็ทำสัจจกิริยา(ซึ่งภายหลังเรียกว่า วัฏฏกะปริตร) ไฟไหม้ป่าก็ดับไปเหมือนเอาคบเพลิงจุ่มลงในน้ำ พระปริตรนี้มีเดชหรือความขลังตั้งอยู่ชั่วกัปในที่บริเวณนั้น ไฟจะไม่ลุกหรือแม้จุดไฟก็ไม่ติดไปตลอดกัปด้วย *วัฏฏกะปริตร มีอานุภาพป้องกันไฟและภยันตราย ---ในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนที่จะตามมานี้เป็นช่วงที่เกิด อัคคีภัยได้ง่าย พุทธศาสนิกชนผู้ไม่ประมาทนอกจากจะต้องระมัดระวังรอบคอบแล้ว การสวด วัฏฏกะปริตร ก็เป็นเครื่องป้องกันที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่ยึดถือกันมาแต่โบราณและกล่าวกันว่ามีผู้เห็นผลมามาก ---สำหรับคาถา หัวใจนกคุ่ม หรือ หัวใจนกคุ้ม นั้น เป็นคาถาที่มีมาแต่โบราณ ใช้ภาวนากันความร้อนและไฟไหม้ เวลาเกิดไฟไหม้ให้ภาวนาคาถาแล้วใช้ผ้าหรือมือโบกไป ไฟก็จะดับ คาถามีเนื้อความว่า สุ โป กัญ จะ บางตำราจะว่าคาถา หัวใจน้ำ คือ อะ ปา นุ ติ ก่อนนำหน้า จึงรวมเนื้อความเป็นว่า อะ ปา นุ ติ สุ โป กัญ จะ มีอานุภาพเช่นกัน ---สัจจะ มิได้หมายความเพียงการกล่าววาจาเท่านั้น แต่โดยความหมายแล้วสัจจะนั้น หมายถึง ความจริงใจ จริงจัง ความซื่อสัตย์ โดยสรุปก็คือความรับผิดชอบนั่นเอง รับผิดชอบต่ออะไรบ้าง ก็รับผิดชอบต่อบุคคล คือคบใครก็คบด้วยความจริงใจ ไม่คดในข้องอในกระดูก รับผิดชอบต่อคำพูดคือพูดจริงทำจริง พูดอย่างไรก็ทำ ---อย่างนั้น ทำอย่างไรก็พูดอย่างนั้น รับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน คือไม่ว่าจะทำงานอะไร ก็ตามจะตั้งใจทำงานนั้นให้ดีที่สุด และประการสุดท้ายรับผิดชอบต่อความดี คือไม่ว่าจะทำอะไรก็จะถือเอาธรรมเป็นใหญ่ไม่ยอมทำในสิ่งที่ผิดศีลธรรม. *วิธีการฝึกสัจจบารมีกระทำได้ดังต่อไปนี้ ---1.ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของนักสร้างบารมีในทั้งในอดีต และในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนที่พระองค์พทรงปรารภความเพียรทรง กระทำสัจจกิริยาว่า หากไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณจะไม่ลุกจากที่ ที่สุดพระองค์ ก็ทรงบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ หรือพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านก็ได้กระทำสัจจกิริยาในคืนวันเพ็ญเดือน ๑๐ หากไม่บรรลุธรรมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ยอมลุกจากที่ ที่สุดท่านก็สามารถค้นพบวิชชาธรรมกายได้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อเราได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของท่านทั้งหลายเหล่านี้ เราจะมีกำลังใจในการสร้างสัจจบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
---2.ฝึกทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น กิจวัตร กิจกรรม ภาระกิจที่ได้รับหมอบหมายอย่างดีที่สุด ไม่ทำแบบขอไปที เพียงพอให้เสร็จ จะทำวัตร จะสวดมนต์ จะบริหารร่างกาย จะทำงาน ทุกอย่างก็ต้องทำอย่างดีที่สุด ไม่ปล่อยผ่านแม้เรื่องเล็กน้อย ทำอย่างเต็มที่ เท่าที่ ความสามารถของเราจะทำได้ อย่างนี้แหละจะเป็นการฝึกสัจจบารมีของเรา ---3.ประหยัดคำพูด คือพูดเท่าที่จำเป็น คำพูดนั้นพูดแต่คำที่เป็นประโยชน์จริง ไพเราะ ถูกกาล เพราะการพูดมากก็ผิดมาก พูดน้อยก็ผิดน้อย แต่หากไม่พูดเลย เดี๋ยวจะไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นก่อนพูดทุกครั้งต้องพิจารณาก่อน ว่าสิ่งใดควรพูดสิ่งใดไม่ควรพูด แล้วสัจจบารมีของเราจะเพิ่มพูนขึ้น ---4.ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าเรายังไม่หมดกิเลส โอกาสที่จะกระทำความผิดนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เมื่อกระทำไปแล้วต้องยอมรับผิด อย่ากลัวเสียหน้า เพราะหากกลัวเสียหน้าแล้ว เราจะไม่สบายใจเอง ต้องตามจดจำความผิดที่กระทำไว้ เมื่อเรายอมรับผิด แล้วตั้งใจแก้ไขตนเอง ผู้อื่นก็พร้อมจะให้อภัยอยู่แล้ว เราเองก็สบายใจ
---5.คบหากัลยาณมิตรที่เป็นคนทำจริง พูดจริง เพราะกัลยาณมิตรจะคอย ตักเตือนเราไม่ให้กระทำสิ่งที่ไม่ดีได้ นอกจากนี้ การมีผู้ที่เราไว้ใจสามารถบอกกล่าว ความผิดที่เรากระทำได้ นั่นจะเป็นการฝึกให้เราเป็นคนที่ไม่ปิดบังความชั่วของตนเองไปได้อีกทาง และกัลยาณมิตรจะช่วยบอกหนทางแก้ไขให้กับเรา ไม่ให้เราต้องกระทำ ผิดอีกครั้ง ---6.ปฏิบัติธรรม หมั่นนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เพราะการหมั่นทำสมาธิจะทำให้ เรามีสติสามารถควบคุมความประพฤติทางกายวาจา โดยเฉพาะทางวาจา เมื่อเรามีสติ ก็จะกล่าวแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ สัจจบารมีก็จะเพิ่มพูนอยู่เรื่อยๆ และเป็นการสร้างสัจจบารมีอย่างดีที่สุดด้วย
|