ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 8538
ตอบกลับ: 24
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี วัดหินหมากเป้ง ~

[คัดลอกลิงก์]
ประวัติย่อหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี


พระอาจารย์เทสก์
(สมัยยังหนุ่ม)


นามเดิม เทสก์ เรี่ยวแรง

บิดา อุสาห์ เรี่ยวแรง

มารดา ครั่ง เรี่ยวแรง

เกิด วันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๔๕ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ตรงกับวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ณ บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรคนที่ ๙ ในจำนวน ๑๐ คน

บรรพชาและอุปสมบท ในพ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ออกจากบ้านติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์คำ เดินทางไปยังบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ แล้วได้ไปบรรพชาเป็นสามเณรกับพระอุปัชฌาย์ลุย ที่บ้านเค็งใหญ่ เมื่ออายุย่าง ๒๒ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันพุธที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๑๑.๔๘ น. โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโลเป็นพระกรรมวาจาจารย์
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 21:58 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
กราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี


    การจาริกเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ
    - พ.ศ. ๒๔๖๖ เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ฯ และพระมหาปิ่นฯ ออกธุดงค์จากวัดสุทัศน์เป็นครั้งแรก เดินทางบุกป่ามาจนถึงจังหวัดอุดรธานี และได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์เสาร์เป็นครั้งแรกที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ ต่อจากนั้นก็ได้จาริกไปจังหวัดต่างๆ
    - พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูนิโรธรังสี
    - พ.ศ. ๒๕๐๗ เดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ต มาอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำขามกับท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร
    - พ.ศ. ๒๕๐๘ เดินทางไปพักวิเวกอยู่ที่วัดหินหมากเป้ง

    สมณศักดิ์
    - ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญฝ่ายวิปัสสนาที่พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์
    - ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย
    - ๕ ธันวาคม ๒๕๓๓ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษย์ ยติคณิสสรบวรสังฆาราม อรัณยวาสี

    มรณภาพ ที่วัดถ้ำมะขาม จังหวัดสกลนคร เมื่อ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗
    เวลา ๒๑.๐๐ น. สิริอายุได้ ๙๒ ปี ๗ เดือน ๒๑ วัน

ที่มา http://www24.brinkster.com/thaniyo/archan0145_1.html

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 21:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติ หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี จากหนังสือแก้วมณีอีสาน

หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี
วัดหินหมากเป้ง  อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี มีนามเดิมว่า เทสก์ เรี่ยวแรง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๕
ปีขาล ณ บ้านสีดา ตำบลกลางใหญ่ จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อ อุส่าห์ เรี่ยวแรง
เดิมเป็นชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย หนีความทุกข์ยากมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนางิ้ว
ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มารดาชื่อ ครั่ง เป็นชาวพวน
ได้อพยพหนีพวกโจรขโมยมาจากทุ่งย่างเมืองฝาง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
ได้สมรสกับนายอุสาห์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๙ ตายตั้งแต่เด็ก ๒ คน
เป็นหญิงหนึ่ง ชายหนึ่ง เติบโตมาด้วยกัน ๘ คน ชาย ๔ คน หญิง ๔ คน
เมื่อเป็นเด็กอายุได้ ๙จวบ ได้เรียนหนังสือภาษาไทยกับพี่ชายซึ่งบวชเป็นพระ
กับเด็ก ๆ ด้วยกันกว่า ๑๐ คน และได้เรียนหนังสือประถม ก.กา มูลบทบรรพกิจ
เรียนอยู่ปีกว่าพออ่านได้บ้าง แต่ยังไม่คล่อง แต่หนังสือธรรม (โดยเฉพาะธรรมะคำสอน
ของพระพุทธเจ้า ) อ่านได้คล่อง ต่อมาพี่ชายสึกจากพระไม่มีใครสอนเลยเลิกเรียนกันทั้งหมด
แล้วได้ออกจากวัดไปช่วยงานบิดามารดา จนอายุราว ๑๓-๑๔ ปี เกิดนิมิตความฝันว่า
พระธุดงค์ไล่ตีด้วยแส้วิ่งหนีเอาตัวรอด กระทั่งวิ่งเข้าห้องนอนร้องให้บิดามารดาช่วย
ท่านทั้งสองก็เฉยอยู่เหมือนกับไม่มีเรื่องอะไร พระธุดงค์หวดด้วยแส้สะดุ้งตื่นเหงื่อโชกทั้งตัว
ปรากฏรอยแส้ยังเจ็บแสบอยู่ หลวงปู่นึกว่าเป็นจริง ตื่นขึ้นมาจึงรู้ว่าเป็นความฝัน
ต่อนั้นมาหลวงปู่ได้มีความคิดถึงเรื่องอาชีพของมนุษย์ที่กระทำกันอยู่ ตั้งแต่ฝนตกดินชุ่มฉ่ำ
ลงมือทำนา และเรื่องอะไรจิปาถะ ตลอดถึงปีใหม่ ลงมือทำนาอีก อย่างนี้อยู่ตลอดชีวิต
มาคิดเห็นว่าเกิดมานี้แสนทุกข์ลำบากจริง ๆ ทำงานไม่มีเวลาหยุดยั้ง ซึ่งแต่ก่อนมา
หลวงปู่ไม่เคยนึกคิดอย่างนี้เลยสักที มีแต่มัวเมาด้วยการเพลิดเพลินตามประสาคนชนบท

เมื่ออายุ ๑๖ปี เจ้าคุณพระญาณวิสิษฎ์ สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม)
ได้เดินรุกขมูล มาถึงวัดบ้านนาสีดา  ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่อุปัฎฐากอยู่ จึงเป็นโอกาสดีที่หลวงปู่ได้มีโอกาสปฏิบัติ
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาโม แต่เนื่องด้วยวัดเป็นป่าทึบไข้มาลาเรียชุกชุม
พระอาจารย์สิงห์เป็นไข้อยู่ไม่ได้ จึงได้ออกไปจำพรรษาที่อื่นและได้ชักชวนหลวงปู่
ให้ไปจำพรรษากับท่านด้วย ออกพรรษาแล้วพระอาจารย์สิงห์ได้กลับเมืองอุบลฯ
ซึ่งเป็นถิ่นเดิมของท่าน หลวงปู่ได้ติดตามท่านไป โดยก่อนไปหลวงปู่ได้เอาดอกไม้ธูปเทียน
ใส่ขัน แล้วไปขอขมาโทษผู้เฒ่าผู้แก่ที่หลวงปู่คุ้นเคย ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ให้ศีลให้พรสำเร็จ
ตามความปรารถนาทุกประการ  หลวงปู่เทสก์ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ รอนแรมไปในป่า
และบ้านเล็กบ้านน้อย บางครั้งผจญกับไข้ป่าซึ่งเมื่อเป็นไข้ก็พักนอนตามร่มไม้
ไข้สางแล้วก็เดินต่อไป พร้อมกันนั้นก็ทำความเพียรภาวนาไปในตัว เป็นเวลาเดือนกว่า
จึงถึงเมืองอุบลฯ หลวงปู่ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอาจารย์ลุย บ้านดงเค็งใหญ่
เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรชาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนสอบนักธรรมชั้นตรี
ได้ในปีที่มีอายุครบ ๒๐ และวันที่ ๑๖พฤษภาคม ๒๔๖๖ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ณ วัดสุทัศน์ อำเภอเมืองอุบลราชธานีโดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์
มีพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 21:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม  และปฏิปทา

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่ก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์นั่นเอง ในปีนั้น พระอาจารย์สิงห์ฯ
ได้กลับมาจำพรรษาที่เมืองอุบลฯอีก ออกพรรษาแล้วพร้อมด้วยพระมหาปิ่น  ปญฺญาพโล
(น้องชายของท่านอาจารย์สิงห์) และพระอีกหลายรูปด้วยกันได้ออกเดินรุกขมูลไปในที่ต่าง ๆ
เดินตัดลัดป่าดงมูลและดงลิงซึ่งเลื่องลือในสมัยนั้นว่าเป็นป่าช้าง ดงเสือ  ผ่านจังหวัดร้อยเอ็ด
และกาฬสินธุ์ ตลอดจนถึงจังหวัดอุดรธานี หลวงปู่ได้ผจญอันตรายและความยากลำบากต่าง ๆ
แต่ก็ได้รับรสชาติของการออกเที่ยวรุกขมูล จนกระทั่งเดินทางถึงบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ
จังหวัดอุดรธานี ได้พบท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อยู่ ณ ที่นั่น
ได้เข้าฟังธรรมเทศนาจากท่าน ได้รับความชื่นใจสงบสบายดี ได้พักอยู่กับท่าน 2-3 คืน
จากนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ได้พากลับไปจำพรรษาที่บ้านหนองลาด อำเภอสว่างแดนดิน
จังหวัดสกลนคร ในปีนั้นหลวงปู่ได้ทำความเพียรอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีการทำความเพียร
ภาวนาตลอดวันค่ำคืนรุ่ง พร้อมกันนั้นก็ผ่อนอาหาร ฉันน้อยที่สุดคือ ทำคำข้าวเหนียวเป็นคำๆ
ตั้งแต่ 60 คำ ถอยลงมาโดยลำดับถึง 3 คำ ฉันอยู่ 3 วัน แล้วก็เพิ่มขึ้นโดยลำดับถึง 5 คำ
ฉันอยู่ได้ 5 วัน 10 คำ ฉันอยู่ได้ 10 วัน 15 คำ ฉันอยู่ได้ 3 เดือน
กับข้าวก็มีแต่พริกกับเกลือเท่านั้น ตลอดเวลา 3 เดือน กิจวัตรเป็นต้นว่า บิณฑบาต
ปัดกวาดลานวัด และหาบน้ำ ตลอดถึงอาจารยวัตร ไม่ขาดสักวัน จนกระทั่งออกพรรษาแล้ว
หลวงปู่มั่นได้เรียกตัวให้ไปพบเพื่อกิจของสงฆ์บางอย่าง หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ไม่ได้กลับไป
จำพรรษากับพระอาจารย์สิงห์อีก ในปี พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นพรรษาที่ 3 ของหลวงปู่
หลวงปู่ได้จำพรรษาที่บ้านนาช้างน้ำ ซึ่งไม่ไกลจากท่าบ่อ ที่ท่านอาจารย์มั่นอยู่
หลวงปู่ได้หมั่นไปฟังเทศน์เสมอ ออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่น พร้อมด้วยคณะ
ได้ออกเดินทางลงไปทางสกลนคร หลวงปู่มีความคิดถึงโยมแม่ จึงได้กลับไปบ้าน
เพื่อสงเคราะห์โยมแม่และได้แนะนำให้ท่านนุ่งขาวรักษาศีล 8 ด้วย หลังจากนั้นหลวงปู่
ได้รุกขมูลต่อไปอำเภอพรรณานิคม ซึ่งท่านอาจารย์สิงห์จำพรรษาอยู่ ณ ที่นั่น
ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ฯได้พาหมู่พระเณรไปตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้านอากาศอำนวย อยู่ไม่นาน
ท่านอาจารย์มั่นได้ตามไปถึง ท่านอาจารย์มั่นได้ให้หลวงปู่ตามท่านไปตั้งสำนักสงฆ์ที่บ้านสามผง
ที่นี้หลวงปู่ได้มีโอกาสถวายการปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น โดยท่านได้ไปนอนที่ระเบียงกุฏิ
ของท่านอาจารย์ คอยถวายการปฏิบัติท่าน และได้มีโอกาสปฏิบัติความเพียรเดินจงกรม
ทำความสงบฟังเทศน์จากพระอาจารย์มั่น ในพรรษาที่ 6 พ.ศ. 2471 โยมพ่อของหลวงปู่
ซึ่งบวชเป็นชีปะขาวมาได้ 11 ปี ได้มาอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ที่ถ้ำพระนาฝักหอก
ทำให้เป็นโอกาสอันดี ที่หลวงปู่ได้มีโอกาสอุปการะโยมพ่อทางธรรม และโยมพ่อของท่าน
ก็ได้ทำภาวนากรรมฐานอย่างสุดความสามารถของท่าน และได้ผลอย่างยิ่ง จนโยมพ่อของท่าน
ได้อุทานออกมาว่า "ตั้งแต่เกิดมาในชีวิตนี้พึ่งได้ซาบซึ้งในรสชาติของพระธรรมในครั้งนี้เอง"
โยมพ่อท่านนั่งภาวนากัมมัฎฐานได้นานเป็นเวลาถึง 3-4 ชั่วโมงทีเดียว ซึ่งทำให้หลวงปู่ดีใจมาก
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 21:59 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่ได้สงเคราะห์โยมพ่อสมเจตนารมณ์ ต่อมาในปีนั้นโยมพ่อของหลวงปู่เกิดอาพาธ
หลวงปู่ได้คอยให้สติและอุบายต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจ และถึงแก่กรรมด้วยอาการมีสติ
สงบอารมณ์อยู่ตลอดจนหมดลมหายใจ หลังจากโยมพ่อของหลวงปู่ถึงแก่กรรม
หลวงปู่ก็ได้อยู่คนเดียว ได้วิเวกและได้กำหนดในใจว่า "ชีวิตและเลือดเนื้อตลอดถึงข้อวัตร
ที่หลวงปู่ทำอยู่ทั้งหมด ขอมอบบูชาพระรัตนตรัยเหมือนกับบุคคลเด็ดดอกไม้บูชาพระฉะนั้น"

แล้วหลวงปู่ก็รีบเร่งปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า ตั้งสติกำหนดจิต
มีให้คิดนึกส่งออกไปภายนอก ให้อยู่ในความสงบเฉพาะภายในอย่างเดียว ตลอดวัน
ยันค่ำคืนยันรุ่ง ก่อนจะนอนตั้งสติไว้อย่างไร ตื่นมาก็ให้ได้อย่างนั้น หลวงปู่บอกว่า
แม้บางครั้งนอนหลับอยู่ก็รู้สึกว่าตัวเองนอนหลับ แต่ลุกขึ้นไม่ได้ พยายามให้กายเคลื่อนไหวแล้ว
จึงจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา โดยความเข้าใจในตนเองว่า จิตที่ไม่คิดนึกส่งส่ายออกไปภายนอก
สงบนิ่งอยู่ ณ ที่เดียวนั่นแล คือความหมดจดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ปัญญาก็เอามาใช้ชำระใจ
ที่ส่งส่ายแล้วเข้ามาหาความสงบนั่นเอง ฉะนั้นจึงไม่พยายามที่จะใช้ปัญญา
พิจารณาธาตุขันธ์อายตนะ เป็นต้น หาได้รู้ไม่ว่า "กายกับจิตมันยังเกี่ยวเนื่องกันอยู่
เมื่อวัตถุหรืออารมณ์อันใดมากระทบส่วนใดส่วนหนื่งเข้าแล้ว มันจะต้องกระเทือนถึงกัน
ทำให้ใจที่สงบอยู่แล้วนั้น หวั่นไหวไปตามกิเลสได้"

ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้ย้อนกลับไปหาพี่ชายและพระอาจารย์เสาร์ที่นครพนม
เนื่องจากได้ห่างจากหมู่เพื่อนและครูบาอาจารย์มาสองปีแล้ว ตั้งแต่พระอาจารย์เสาร์
และท่านอาจารย์มั่นฯ พร้อมทั้งหมู่คณะจากท่าบ่อไป เมื่อไปอยู่ด้วยกับพระอาจารย์เสาร์
หลวงปู่ก็ได้ช่วยท่านอบรมญาติโยม และในปีนั้นหฃลวงปู่ได้ขออาราธานาให้ท่านถ่ายรูปไว้
เป็นที่ระลึก ทีแรกท่านก็ไม่ยอม พอหลวงปู่อ้อนวอนอ้างถึงเหตุผลความจำเป็น
เพื่อให้บรรดาศิษยานุศิาย์และลูกหลานยุคต่อไปได้มีโอกาสกราบไหว้เคารพบูชา
ท่านถึงได้ยอม ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์ เพราะแต่ก่อนมาท่านไม่ถ่ายรูปเลย แต่กระนั้น
หลวงปู่ก็ยังเกรงว่าท่านอาจารย์เสาร์จะเปลี่ยนใจ ต้องรีบให้ข้ามไปตามช่างภาพมาจากฝั่งลาว
มาถ่ายให้ หลวงปู่ดีใจมาก ถ่ายภาพท่านอาจารย์เสาร์ได้แล้ว ได้แจกท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์
และท่านพระครูสีลสัมปัน (ภายหลังได้เลื่อนเป็นเจ้าคุณธรรมสารมุนี) รูปท่านอาจารย์เสาร์
ที่หลวงปู่จัดการถ่ายครั้งนั้น ดูเหมือนจะเป็นรูปของท่านครั้งเดียวที่มีโอกาสถ่ายไว้ได้
แม้ท่านอาจารย์มั่นก็เช่นเดียวกัน การถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกเป็นเรื่องที่ท่านปฏิเสธเสมอ
เมื่อหลวงปู่อาราธนาอ้อนวอนบ่อยๆ ท่านก็ว่า "ซื้อขนมให้หมากินดีกว่า" แต่เมื่อหลวงปู่อ้อนวอน
ชี้แจงเหตุผลหนักเข้า สุดท้ายท่านก็ใจอ่อน ทำให้เป็นบุญของคนรุ่นหลัง ๆ ที่ได้มีโอกาส
มีรูปของท่านไว้กราบไหว้สักการะ
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ในปี พ.ศ. 2475 นับเป็นพรรษาที่ 10 ของหลวงปู่ ท่านอาจารย์สิงห์ได้เรียกให้ลูกศิษย์
ที่อยู่ทางขอนแก่น ลงไปโคราช หลวงปู่ซึ่งขณะนั้นได้ออกจาการจำพรรษา ที่อำเภอพล
และอยู่ที่อำเภอพล จึงได้ออกเดินทางพร้อมด้วยคณะ ไปพักที่สวนของหลวงชาญนิคม
หลวงปู่ได้พาหมู่คณะจัดเสนาสนะชั่วคราวขึ้น ในเวลานั้นอากาศร้อนจัดมาก
หลวงปู่ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ชอบอากาศร้อน แต่ก็ได้กัดฟันอดทนต่อสู้ทำความเพียรไม่ท้อถอย
สติที่อบรมดีแล้วของหลวงปู่สงบอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
วันหนึ่งจิตรวมอยู่อย่างน่าประหลาดใจ คือรวมใหญ่เข้าสว่างอยู่คนเดียว แล้วมีความรู้ชัดเจน
จนสว่างจ้าอยู่ ณ ที่เดียว จะพิจารณาอะไรๆ หรือมองดูในแง่ไหนในธรรมทั้งปวง
ก็หมดความลังเลสงสัยในธรรมวินัยนี้ทั้งหมด คล้ายๆกับว่า ถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวงแล้ว
แต่หลวงปู่ก็มิได้สนใจในเรื่องนั้น มีแต่ตั้งใจไว้ว่า
"ไฉนหนอเราจะชำระใจของเราให้บริสุทธิ์หมดจด"

ในปี พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นพรรษาที่ 11หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ
เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้ปรารภกับพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี) และชักชวนกัน
ไปตามหาท่านอาจารย์มั่น ซี่งขณะนั้นปลีกหมู่หนีความวุ่นวายไปอยู่จำพรรษาที่เชียงใหม่
หลวงปู่กับพระครูสีลขันธ์สังวร (อ่อนสี) ได้เข้าไปถึงพม่าไปถึงผาฮังฮุ้งซึ่งเป็นเขตแดน
ของเมืองปั่น ประเทศพม่า โดยเข้าใจว่าท่านอาจารย์มั่น คงจะไปทางนั้น แต่ก็ไม่ปรากฏวี่แวว
ว่าท่านได้ไปทางนั้น การเดินทางครั้งนั้นทำให้หลวงปู่ได้มีโอกาสไปไหว้พระธาตุหล่อง
ซึ่งอยู่บนผาฮังฮุ้ย ซึ่งหลวงปู่กล่าวว่า พระธาตุนี้ขึ้นไปไหว้ยากที่สุด เพราะอยู่สูงบนผาฮังฮุ้ง
และทางขึ้นยากมาก หลังจากได้ไหว้พระธาตุปะหล่องแล้ว จึงได้กลับลงมา
โดยเดินข้ามดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (ดอยอ่างขางนี้เดิมเขาเรียกว่า
"ดอยมหาขาง" ซึ่งชาวบ้านเขาแปลว่า "ผีหวงที่สุด" )
การเดินทางยากลำบากมาก
ต้องเดินไปตามลำห้วยและหน้าผาชันมาก จนได้เกิดอุบัติเหตุเดินพลาด ก้อนหินล้มลง
หินบาดฝ่าเท้าเป็นแผลเหวอะหวะ หลวงปู่ได้เอาผ้าอังสะพันแล้วเดินทางต่อไป
จนกระทั่งถึงบ้านมโนราห์ มีชาวบ้านบอกว่า มีตุ๊เจ้าองค์หนึ่ง อยู่ที่ป่าเมียง แม่ปั๋ง ชื่อตุ๊เจ้ามั่น
หลวงปู่ได้ถามลักษณะท่าทีและการปฏิบัติ ก็แน่ชัดว่าเป็นท่านอาจารย์มั่นแน่แล้ว
จึงได้ออกเดินทางต่อไปเพื่อพบท่านอาจารย์มั่น การเดินทางได้แวะพักนอนที่ถ้ำดอกคำหนึ่งคืน
แล้วเดินทางต่อจนถึงป่าเมียง แม่ปั๋ง ในเวลาบ่าย หลวงปู่และพระครูสีลขันธ์สังวร
ตามไปถึงที่อยู่ของท่านอาจารย์มั่นราวบ่าย 4 โมง ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ พอท่านมองมา
เห็นหลวงปู่ท่านจำได้แม่นและเรียกชื่อหลวงปู่เลย หลังจากนั้นท่านอาจารย์ ได้พักเดินจงกรม
เดินเข้าไปนั่งในอาศรมของท่าน หลวงปู่และพระครูสีลขันธ์สังวร ได้เจ้าไปกราบนมัสการท่าน
และกราบเรียนถามอุบายธรรมจากท่านอาจารย์มั่น ซึ่งท่านอาจารย์มั่นก็ได้เทศนาให้หลวงปู่ฟัง
เป็นใจความว่า "ถ้าองค์ไหนดำเนินตามรอยของผมจนชำนิชำนาญมั่นคง
องค์นั้นย่อมเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยก็คงตัวอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ถ้าองค์ไหนไม่ดำเนินตามรอยของผม
องค์นั้นย่อมอยู่ไม่ทนนาน ต้องเสื่อมหรือสึกไป

7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ผมเองหากมีภาระมากยุ่งกับหมู่คณะ การประกอบความเพียรไม่สม่ำเสมอ เพ่งพิจารณา
ในกายคตาสติไม่ละเอียด จิตใจก็ไม่ค่อยจะปลอดโปร่ง การพิจารณาอย่าให้จิตหนีออกนอกกาย
อันนี้จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ก็อย่าได้ท้อถอยเพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ละ
จะพิจารณาให้เป็นอสุภหรือให้เห็นเป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์ หรือให้เห็น
เป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะเรื่องนั้นจริง ๆ ตลอดอิริยาบททั้งสี่
แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อไร จะเห็นชัดดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ
เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนั้นจะมาปรากฏชัด
ในทีเดียวกันดอก"
หลวงปู่ได้น้อมนำเอาธรรมะนั้นมาปฏิบัติตาม ใช้เวลาปรารภความเพียร
อยู่ด้วยความไม่ประมาทสิ้นเวลา 6  เดือน โดยไม่มีความเบื่อหน่าย ใจได้รับความสงบ
และเกิดอุบายเฉพาะตนขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น
แต่คนเราไปสมมุติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อน
ด้วยประการทั้งปวง" การได้อุบายครั้งนี้ทำให้หลวงปู่มีจิตหนักแน่นมั่นคง
ผิดปกติกว่าเมื่อก่อนๆมาก แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองว่า เดินถูกทางแล้ว
แต่ก็ไม่ได้กราบเรียนท่านอาจารย์มั่น เพราะเชื่อมั่นในอุบายนี้ และคิดว่า
จะกราบเรียนท่านอาจารย์มั่นเมื่อไรก็คงได้ ในปีนั้นหลวงปู่ทั้งสามรูป
(ท่านอาจารย์มั่น, หลงปู่เทสก์, พระครูสีลขันธ์สังวร) ได้อยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น
ในปีนั้นอากาศหนาวเย็นมากเป็นพิเศษ หลวงปู่จึงได้ทำโรงไฟให้ท่านอาจารย์มั่นนอน

พรรษาต่อมาหลวงปู่ได้ลาท่านอาจารย์มั่น ขึ้นไปจำพรรษาที่บ้านมูเซอร์อำเภอพร้าว
จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในที่นั้นไม่เคยมีพระไปจำพรรษาเลยสักที ต่อมาในปี พ.ศ 2481
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ ได้สั่งให้หลวงปู่
ไปเป็นสมภารที่วัดหมู่บ้านชาวมอญ ชื่อบ้านหนองดู่ เขตอำเภอปากบ่อง (อำเภอป่าซางปัจจุบัน)
จังหวัดลำพูน ในพรรษานี้หลวงปู่ได้เทศนาอบรมชาวมอญทั้งหมู่บ้าน จนพวกเขาเลื่อมใสศรัทธา
ได้พากันสละผีมอญ เกือบทั้งหมดหมู่บ้านหันมานัยถือพระไตรสรณคมน์
ยังเหลืออีกก๊กหนื่งจะหมด แต่หลวงปู่ไม่มีโอกาสอยู่ได้ ออกจากวัดบ้านหนองดู่
กลับมาภาคอีสาน ก่อนจะกลับได้ไปนิมนต์ท่านอาจารย์มั่น ให้กลับมาภาคอีสานอีกวาระหนึ่ง
ซึ่งท่านอาจารย์มั่นได้บอกว่า"ดูกาลก่อน"หลวงปู่ได้ลาท่านอาจารย์มั่นกลับมาเพียงผู้เดียว
ส่วนพระครูสีลขันธ์สังวร ยังอยู่ติดตามท่านอาจารย์มั่น ต่อมาหลวงปู่ได้เดินทางกลับมาท่าบ่อ
จังหวัดหนองคาย และอยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ระหว่างพรรษาที่ 17-25 (พ.ศ.24842-90)
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 22:00 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ณ. ที่กลับมาอยู่วัดอรัญญวาสีได้ 2พรรษา คือระหว่างปี พ.ศ.2484-2485 หลวงปู่
ได้พาญาติโยมไปสร้างสำนักขึ้นที่ทิศตะวันตกของ บ้านกลางใหญ่ ซึ่งยังคงเป็นสำนักถาวร
มีพระเณรอยู่จำพรรษาตลอดมาทุกปีมิได้ขาด จนทุกวันนี้ ชื่อว่า "วัดนิโรธรังสี"
ขณะที่หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ เป็นเวลานานครั้งแรกถึง 9 ปี
หลวงปู่ได้เล่าว่า เมื่อก่อนหลวงปู่ไม่สนใจในการก่อสร้างเพราะถือว่าเป็นเรื่องยุ่ง
และไม่ใช่กิจของสมณะ ผู้บวชจำต้องประพฤติเฉพาะสมณกิจเท่านั้น แต่เมื่อมาอยู่ที่วัดนี้แล้ว
มองดูเสนาสนะที่อยู่อาศัยล้วนแต่เป็นมรดกของครูบาอาจารย์ ได้ทำไว้ให้อยู่ทั้งนั้น
แล้วมาค้นคิดถึงพระวินัยบางข้อ ท่านอนุญาตให้บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะได้
จึงเกิดความละอายใจว่า มานอนกินของเก่าเฝ้าสมบัติเดิมของครูบาอาจารย์แท้ๆ
ต่อจากนั้นหลวงปู่จึงได้เริ่มพาญาติโยมทำการก่อสร่างมาจนกระทั่งบัดนี้  แต่ถึงกระนั้นก็ตาม
ไม่ว่า ณ ที่ใด ๆ หลวงปู่ไม่เคยทำการเรี่ยไรมาก่อสร้างเลย ด้วยละอายแก่ใจ มีก็ทำ ไม่มีก็ไม่ทำ
แล้วก็ไม่ยอมติดในงาน ถึงงานไม่เสร็จเมื่อทุนไม่มีก็ทิ้งได้โดยไม่มีเยื่อใย
และขณะอยู่ที่วัดอรัญญวาสีที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ออกพรรษาเมื่อ พ.ศ.2490
โยมมารดาของหลวงปู่ป่วยอยู่ที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ หลวงปู่ก็ได้พยาบาลโยมมารดา
ด้วยธรรมโอสถและยาภายนอกจนสุดกำลัง แต่เนื่องจากโยมมารดาอายุมากแล้วได้ 82 ปี
อาการจึงมีแต่ทรุดลง ๆ แต่ด้านจิตใจ หลวงปู่ได้พยาบาลรักษาให้อยู่ในความสงบอย่างยิ่ง
จนวาระสุดท้าย

ในปี พ.ศ.2491 -2492 ซึ่งเป็นพรรษาที่ 26-27 หลวงปู่ได้ไปอยู่จำพรรษาที่เขาน้อย
อ.ท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งหลวงปู่ได้เห็นภูเขาลูกนี้แล้วตั้งแต่อยู่วัดอรัญญวาสี
ณ ที่นี้ หลวงปู่ได้ทำความเพียรและรู้สึกแปลกมาก คือได้ค้นธรรมที่ไม่เคยคิดและรู้ธรรม
ที่ยังไม่เคยรู้ ลำดับอุบายและแนวปฏิบัติได้ละเอียดถี่ถ้วน จนวางแนวปฏิบัติได้อย่างเชื่อตนเอง
จึงได้เขียนหนังสือส่องทางสมถะวิปัสสนาเป็นเล่มแรก  หลวงปู่ได้อยู่จำพรรษาที่เขาลูกนี้
จนได้ข่าวอาพาธของท่านอาจารย์มั่น จึงได้ลาจากเขาน้อยไปเยี่ยมอาการไข้ของท่านอาจารย์มั่น
จนท่านมรณภาพแล้ว ได้อยู่ทำฌาปนกิจศพของท่านจนเสร็จ หลังจากนั้นหลวงปู่
ได้มาคิดถึงหมู่คณะว่าพระผู้ใหญ่ที่จะเป็นที่พึ่งของพระกรรมฐานไม่มี หลวงปู่จึงตั้งใจ
ออกเดินทางเข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งแรก เพื่อติดต่อกันพระผู้หลักผู้ใหญ่จนกระทั่งไปถึง
จังหวัดภูเก็ต
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 22:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ที่จังหวัดภูเก็ต  หลวงปู่ได้ผจญภัยอย่างร้ายแรง โดยพระท้องถิ่นเขาไม่อยากให้อยู่
ถูกเผากุฏิบางแห่ง จนกระทั้งถูกปาด้วยก้อนอิฐและขับไล่โดยประการต่าง ๆ
ทางเจ้าคณะจังหวัดพังงา ได้ขับไล่ให้หนีจากท้องถิ่นที่เขาปกครอง หลวงปู่ได้พยายาม
พูดความจริงให้ฟังว่า หลวงปู่มาเพื่ออบรมศีลธรรมและเผยแพร่ศาสนาอันเป็นประโยชน์
แก่บ้านเมือง มิได้มาเบียดเบียนใคร ต่อมาผู้ช่วยสังฆมนตรีได้มีหนังสือไปต่อว่าเจ้าคณะ
จังหวัดพังงา ด้วยประการต่างๆ เรื่องจึงสงบลง หลวงปู่ได้ไปอยู่จังหวัดพังงาหนึ่งพรรษา
ต่อมาได้ขยับมาอยู่ที่เกาะภูเก็ต กระทั่งได้ 15 พรรษา จึงได้ลาญาติโยมกลับมาภาคอีสาน
การไปอยู่ที่เกาะภูเก็ต เป็นเหตุให้พระท้องถิ่นและญาติโยมเปลี่ยนสภาพไปหลายอย่าง
โดยเฉพาะการเทศนาและการบริหารนับว่าเป็นประโยชน์แก่พระท้องถิ่นมาก ตามประเพณีเดิม
ชาวบ้านเขาเข้าหาพระและกราบพระต้องนั่งขัดสมาธิ(ขัด-สะ-หมาด) หลวงปู่ได้ไปสอน
ให้ทำความคารวะด้วยให้นั่งพับเพียบ ทำให้เรียบร้อยดีมาก หลวงปู่ได้สละทุกอย่าง
เพื่อประโยขน์แก่ชนขาวภูเก็ตและจังหวัดพังงาดังกล่าวแล้ว เมื่อกลับมาภาคอีสาน
หลวงปู่พิจารณาเห็นว่าได้แก่ชรา เดินรุกขมูลมามากแล้ว ควรหาที่พัก
ทำความเพียรภาวนาวิเวกเฉพาะตัวและเห็นว่า วัดหินหมากเป้ง เหมาะที่สุด จึงได้เข้ามาอยู่ที่วัดนี้
ตั้งแต่ปี พ.ศ 2508 เรื่อยมาจากระทั่งบัดนี้ หลวงปู่ได้พัฒนาวัดให้เจริญไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง
ญาติโยมทางกรุงเทพฯและหมู่บ้านใกล้เคียงรู้จัก เข้าไปสนับสนุนช่วยกันทำถาวรวัตถุ
จนสมเด็จพระสังฏราขสกลมหาสังฆปริณายก ทรงยกย่องให้เป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง"
การก่อสร้างวัดหรือถาวรวัตถุนี้ คำว่า "ขอ หรือ เรี่ยไร ไม่เคยออกจากปากของหลวงปู่
แม้แต่คำเดียว สร้างอะไรขึ้นมาก็มีแต่ญาติโยมผู้มีศรัทธาบริจาคให้ทั้งนั้น"

นอกจากวัดหินหมากเป้งแล้ว ยังมีวัดสาขาของวัดหินหมากเป้งอีก
คือ "วัดเทสรังสี" และ "วัดลุมพินี"

เมื่อปี พ.ศ.2520 หลวงปู่ได้ไปเผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์ อินโดนีเซียและออสเตรเลีย
พร้อมด้วยพระ 3 องค์ ฆราวาส 2 คน ตามคำชักชวนเป็นเวลา 3 เดือนกว่า และได้กลับไป
ที่สิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง และได้ไปพักที่เดิมอีกเป็นเวลานาน เพราะมีผู้อยากจะสร้างวัดที่นั่น
แต่สถานที่ไม่เหมาะจึงไม่ได้สร้าง

หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการหลายตำแหน่ง เช่น
เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะอำเภอภูเก็ต-พังงา-กระบี่ (ธรรมยุต) และในปี พ.ศ.2500
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ
ที่พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ และในปี พ.ศ.2534 ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราช
ฝ่ายวิปัสนาธุระที่ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ สถิต ณ วัดหินหมากเป้ง
อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันท่านมีอายุ 91 ปี (นับถึงปี 2536)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-22 22:01 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ธรรมโอวาท

หลวงปู่ให้ธรรมโอวาทแก่พุทธศาสนิกชนมากมาย เช่น

1. ธรรม คือ ของจริงของแท้ เป็นแก่นของโลก ธรรม แปลว่า ของเป็นอยู่ทรงอยู่สภาพ
ตามเป็นจริง เป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น  เรียกว่า ธรรม ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
เป็นธรรมทั้งนั้น เรียก ชาติธรรม ชราธรรม พยาธิธรรม มรณธรรม ทำไมจึงเรียกว่า ธรรม
คือทุกๆคนจะต้องเป็นเหมือนกันหมด (ธรรมเทศนาเรื่อง ธรรมะ)

2. สมบัติที่มนุษย์ต้องการ ไม่ทราบว่าจะกอบโกยเอาไปถึงไหน
ได้มาก็เพียงแต่เอาเลี้ยงชีวิตเท่านั้น เลี้ยงชีวิตให้นานตายหน่อย นั่นละ
ประโยชน์ของมนุษย์สมบัติเพียงแค่นั้นแหละ

3. เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวง
ของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเหมือนกับอยู่ในคุกในตาราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน
จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ช่าง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
สรีระร่างกายของพระองค์ ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์
เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย (ธรรมเทศนาเรื่อง มัจจุราช)

4.  ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติ
แล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก มันก็ต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง(อัตตโนประวัติ)

5. มนุษย์เราพากันสมมติ เรียกเอาตามความชอบใจของตนว่านั่นเป็นคน นั่นเป็นสัตว์
เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆนานาไป แต่ก้อนธาตุนั้นมันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของคนไม่
มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม สมมติว่า หญิง ว่าชาย ว่าหนุ่ม ว่าแก่
ว่าสวย ไม่สวย ก้อนธาตุอันนั้นก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หน้าที่ของมันเมื่อมาประชุมกันเข้า
เป็นก้อนแล้ว อยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็แปรไปตามสภาพของมัน ผลที่สุดมันก็แตกสลาย
แยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง (ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ สัมพันธ์)

6. เมื่อเรามาฝึกหัดปฏิบัติธรรม จนเห็นเรื่องโทษของตนเองแล้ว ค่อยชำระสะสางให้มันหมดไปๆ
ก็จะเป็นคุณแก่ตนในอนาคตข้างหน้า ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติที่เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์
แล้วยังมาพบพระพุทธศาสนา และยังมาพบครูบาอาจารย์
ที่สอนให้เราละกิเลสอีกด้วย (ธรรมเทศนาเรื่องแก่นของการปฏิบัติ)

7. แท้ที่จริงธรรมะคือตัวของเรานี้ทุกคนก็มีแล้ว ครบมูลบริบูรณ์ทุกอย่าง
แต่เราไม่ได้สร้างสมอบรมให้เห็นธรรมะที่มันมีในตนของตน ธรรมะแทรกอยู่ในขันธโลกอันนี้
หากใช้อุบายปัญญาพิจารณากลั่นกรองด้วยวิธี 3 อย่าง มีศีล สมาธิ ปัญญา ดังอธิบายแล้ว
ธรรมะ จะปรากฎในตัวของตน (ธรรมเทศนาเรื่องวิจัยธรรมออกจากโลก)

8. การศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้องแล้ว ต้องให้มีทั้งปริยัติคือ การศึกษา
และปฏิบัติตามความรู้ที่ได้ศึกษามานั้นให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการปฏิบัติ ถ้าไม่ยืนตัว
อยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะไม่มีความถูกต้องอันจะให้เกิดความรู้
ในสัจธรรมได้เลย มรรคปฏิปทาอันจะให้ถึงสัจธรรมนั้น ก็ต้องรวมศีล สมาธิ ปัญญา
ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วปฏิเวธธรรมจึงจะเกิดขึ้นได้
(ธรรมเทศนา เรื่อง พุทธบริษัทพึงปฏิบัติตนเช่นไร)

9. คนที่จะข้ามโอฆะได้ต้องมีศรัทธาเสียก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาเสียอย่างเดียวก็หมดทาง
ที่จะข้ามโอฆะได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่สุด เช่น เชื่อมั่นในกรรม เชื่อผลของกรรม
ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่าศรัทธาอันนั้น เป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน ถ้ามีศรัทธาแล้ว
ไม่อดเรื่องการทำทาน อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้ ไม่ต้องเลือกวัตถุในการทำทาน
จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทาน ได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง
ใบหญ้า ก็เป็นทานได้ เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำไปแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น ๆ
ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาก็เป็นบุญนั่นแหละ ศรัทธา มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ทำให้เกิดบุญ
ซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ
(ธรรมเทศนา เรื่องหลักการปฏิบัติธรรม)
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้