ธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ ให้รู้จักบุญ
การทำบุญทำกุศลนั้น โปรดอย่านึกว่าจะต้องหอบข้าวหอบของไปใส่บาตรที่วัดทุกวัน หรือบุญจะเกิดได้ก็ต้องทอดกฐินสร้างโบสถ์ สร้างศาลา และอื่นๆ อย่างที่เขาโฆษณาขายบุญกันทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ และใบเรี่ยไรกันเกลื่อนกลาด จนรู้สึกว่าจะต้องเป็นภาระที่จะต้องบริจาคเมื่อไปวัดหรือสำนักนั้นๆ เป็นประจำ
บทสวดมนต์ชื่อ พระพุทธชัยมงคลคาถา ที่ขึ้นต้นด้วยพาหุงมีอยู่ท่อนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงชนะมารคือกิเลสว่า
“ทานาทิธัมมวิธินา ชิตวา มุนินโท” แปลว่า
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ ทรงชนะมารคือกิเลส ด้วยวิธีบำเพ็ญบารมีธรรม คือความดี มีการบริจาคทานเป็นต้น
พระพุทธเจ้าทรงสอนการทำบุญทำกุศล ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา ให้ทานทุกครั้ง ให้ทำลายความโลภ คือกิเลสทุกครั้ง รักษาศีล เจริญภาวนาเพื่อทำลายความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ให้ใจสะอาด ใจไม่เศร้าหมอง มองเห็นบาปคุณโทษได้ทุกครั้ง ทำได้ดังนี้จึงชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า
๒. จบของทำบุญ-อธิษฐานรับพร
ก่อนที่ท่านผู้มีศรัทธาทั้งหลายจะถวายของแก่พระภิกษุสงฆ์ มักจะมีการอธิษฐานหรือที่เรียกว่า จบของ บางคนจบนาน บางคนจบช้า หลวงปู่ท่านให้ข้อคิดว่า
“ก่อนที่เราจะถวายให้จบมาเสียก่อนจากบ้าน เนื่องจากพอมาถึงวัดมักจะจบไม่ได้เรื่อง คนมากมายเดินไปเดินมา จะหาสมาธิมาจากไหน เราจะทำอะไรก็ตามอธิษฐานไว้เลย เวลาถวายจะได้ไม่ช้าเสียเวลาคนอื่นเขาอีกด้วย บางคนก็ขอไม่รู้จบ ให้ตัวเองไม่พอ ให้ลูกให้หลาน จิตเลยส่ายหาบุญไม่ได้”
การที่หลวงปู่ให้จบก่อนนั้น มีความประสงค์ให้ตั้งเจตนาให้ดี บุญที่ได้รับจะมีผลมาก ญาติโยมจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“ควรอธิษฐานอย่างไร”
หลวงปู่ตอบว่า
“อธิษฐานให้พ้นทุกข์หรือขอให้พบแต่ความดีตลอดไปจนพ้นทุกข์ ถ้าเป็นบาลีก็ว่า สุทินนังวะตะเม ทานัง อาสวะขะยาวะหัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ คนเราจะพ้นทุกข์ได้ต้องพบกับความดีมีความสุขใช่ไหม ไม่ต้องอธิษฐานให้ยืดยาวหรอก”
เมื่อทำบุญแล้วมักจะมีการรับพรจากพระ มีการกรวดน้ำ บางทีไม่ได้เตรียมไว้ต้องวิ่งหากันให้วุ่นวาย หลวงปู่บอกว่า
“ใช้น้ำจิตน้ำใจของเรากรวดก็ได้ เขาเรียกกรวดแห้ง ไม่ต้องกรวดเปียก เรื่องการกรวดเปียกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อถวายของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านกรวดน้ำให้เปรตญาติพี่น้องที่มาร้องขอบุญจากท่าน ตอนแรกท่านไม่รู้เลยทูลถามพระพุทธเจ้า ที่เขาเรียกว่า ทุ สะ นะ โส คือหัวใจเปรตนั่นแหละ”
หลวงปู่ท่านตอบเพื่อให้คลายกังวลสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลากรวดน้ำเช่น คนที่รีบใส่บาตรก่อนจะไปทำงาน เป็นต้น ส่วนการอธิษฐานรับพรนั้นท่านแนะนำว่า
“ข้าพเจ้าขอรับพรที่ได้นี้ ขอให้ติดตัวข้าพเจ้าตลอดไปในชาตินี้และชาติหน้า แล้วก็อธิษฐานเรียกพระเข้าตัวเวลามีพิธีอะไร อย่างเช่น เวลาเขาปลุกเสกพระ เราก็สามารถรับพรจากพระองค์ไหนๆ ก็ได้ทั้งนั้น”
การสำรวมกาย วาจา ใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญเมื่อมีพิธีกรรมทางสงฆ์ เพราะบ่อยครั้งที่ขณะพระให้ศีลหรือให้พร ญาติโยมบางคนก็เริ่มคุยแข่งกับพระ เสียงโยมเมื่อรวมกันดังกว่าเสียงพระเสียอีก ตนเองไม่ได้บุญยังไม่พอ แต่กลับไปสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น เรียกว่าการขัดบุญที่ผู้อื่นพึงได้รับ หลวงปู่เคยพูดว่า
“ระวังให้ดี เดี๋ยวจะเกิดเป็นตะเข้ขวางคลอง”
อยู่ที่ใจ
การจุดธูปเทียนเพื่อบูชาพระในพิธีกรรมต่างๆ มักจะไม่เหมือนกัน บางท่านต้องการไหว้พระแต่ยังตกลงใจไม่ได้ว่าจะใช้ธูปกี่ดอกถึงจะเหมาะสม หลวงปู่เคยตอบคำถามเรื่องนี้กับผู้ที่สงสัยว่า
หลวงปู่ “จุดกี่ดอกก็ได้ ส่วนใหญ่มักใช้ ๓ ดอก บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กี่ดอกก็มีความหมายทั้งนั้น”
ผู้ถาม “อย่างนั้นถ้าจุดดอกเดียว ไม่ถือว่าไหว้ผีหรือไหว้ศพหรือครับ”
หลวงปู่ “จุด ๑ ดอก หมายถึง จิตหนึ่ง
จุด ๒ ดอก หมายถึง กายกับจิต หรือ โลกกับธรรม
จุด ๓ ดอก หมายถึง พระรัตนตรัย หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จุด ๔ ดอก หมายถึง อริยสัจ ๔
จุด ๕ ดอก หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ นะโมพุทธายะ
จุด ๖ ดอก หมายถึง สิริ ๖ ประการ ที่แกกราบพระ ๖ ครั้ง
จุด ๗ ดอก หมายถึง โพชฌงค์ ๗
จุด ๘ ดอก หมายถึง มรรคแปด
จุด ๙ ดอก หมายถึง นวโลกุตรธรรม
จุด ๑๐ ดอก หมายถึง บารมี ๑๐ ประการ
อยู่ที่เราจะคิดให้ดี เอาอะไรก็ได้”
ผู้ถาม “ถ้า ๑๑ ดอก หมายถึง.......”
หลวงปู่ “ก็บารมี ๑๐ ประการกับจิตหนึ่ง ว่าไปได้เรื่อยๆ แหม แกถามซะข้าเกือบไม่จน”
ผู้ถาม “ถ้าไม่มีธูปเทียน”
หลวงปู่ “ก็ใช้ชีวิตจิตใจบูชา ไม่เห็นต้องมีอะไร
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ชีวิตัง ปูเชมิ”
หลวงปู่หัวเราะมองหน้าผู้ถาม ที่รู้สึกทึ่งในปฏิภาณของหลวงปู่
|