ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 2490
ตอบกลับ: 4
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) ~

[คัดลอกลิงก์]

หลวงปู่ไข่ อินฺทสโร
วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน)
แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร


ประวัติและปฏิปทา

อินฺทสโรภิกฺขุ (ไข่)
หรือที่รู้จักกันดี
ในหมู่นักสะสมพระเครื่องว่า หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน
เป็นชาวแปดริ้ว บ้านเกิดอยู่บริเวณ ประตูน้ำท่าไข่
อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน

๐ ปฐมวัย


หลวงปู่เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๒
ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม
เป็นบุตรของนายกล่อม นางบัว จันทร์สัมฤทธิ์ มีพี่น้องกี่คนไม่ปรากฏ

ขณะที่ท่านอายุได้ ๖ ขวบ (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๐๘)
บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อปาน วัดโสธร
คือ วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน เพื่อให้เรียนหนังสือ
ต่อมาจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร
เมื่อได้บรรพชาแล้วก็ได้หัดเทศน์มหาชาติและเทศน์ประชัน
กล่าวกันว่าหลวงพ่อปู่ไข่มีความสามารถในการเทศน์มหาชาติ
กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี ได้ไพเราะกังวานจับใจผู้ฟังยิ่งนัก
แม้ภายหลังเมื่อชราแล้ว ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดก็มักจะได้ยินหลวงปู่
ทบทวนการเทศน์มหาชาติทั้ง ๒ กัณฑ์ ในตอนกลางคืนอยู่เสมอๆ

ครั้นเมื่อหลวงพ่อปาน วัดโสธร มรณภาพแล้ว
หลวงปู่ไข่ได้ไปอยู่กับพระอาจารย์จวง วัดน้อย
ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
จนกระทั่งพระอาจารย์จวงมรณภาพ
ขณะนั้นหลวงปู่ไข่มีอายุได้ ๑๕ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๗)
ตามประวัติกล่าวว่าหลวงปู่ไข่ ได้เดินทางมากรุงเทพฯ
ไปอยู่กับพระอาจารย์รูปหนึ่ง (ไม่ปรากฏนาม) ที่วัดหงส์รัตนาราม
อำเภอบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:14 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ บรรพชา

อีก ๓ ปีต่อมา (ประมาณ พ.ศ.๒๔๒๐)
หลวงปู่ไข่ได้เดินทางไปอยู่กับพระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน
ซึ่งอยู่ที่แม่กลอง จังหวัดสมุทรสาคร
และได้เล่าเรียนปริยัติธรรมและพระวินัยจนอายุครบบวช
(ประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๒) จึงได้อุปสมบทที่วัดนี้ โดยมี

พระอาจารย์เนตร วัดบ้านแหลม เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์เอี่ยม วัดลัดด่าน เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์ภู่ วัดบางกะพ้อม เมืองสมุทรสงคราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์



๐ ออกธุดงค์และการสงเคราะห์โลก

อุปสมบทแล้วได้เดินทางไปเรียนพระกรรมฐานกับพระอาจารย์รูปหนึ่ง (ไม่ปรากฏนาม)
ซึ่งอยู่ที่เชิงเขา แขวงเมืองกาญจนบุรี เรียนอยู่ระยะหนึ่งจึ่งกลับมาอยู่วัดลัดด่านตามเดิม
ต่อมาหลวงปู่ไข่ได้ออกธุดงค์ไปตามสำนักพระอาจารย์ต่างๆ
ซึ่งอยู่ที่อำเภอโพธาราม เมืองราชบุรี และเมืองกาญจนบุรี
จากนั้นได้กลับมาอยู่ที่วัดลัดด่านอีกระยะหนึ่ง
จึงได้ออกธุดงค์ไปเรียนวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์ในถ้ำที่เมืองกาญจนบุรี
เป็นเวลาประมาณ ๖ ปี (ราวปี พ.ศ.๒๔๒๓-พ.ศ.๒๔๒๙)

ตามประวัติกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

"ท่านเล่าว่า ระหว่างอยู่ในถ้ำนั้น
ตกกลางคืนจะมีสิงห์สาราสัตว์ต่างๆ เข้ามานอนล้อมกอด
พอเช้ามืดต่างคนต่างออกไปหากิน
ส่วนท่านก็จะออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน (ท่านฉันหนเดียว)
เมื่อท่านศึกษาอยู่ในถ้ำนั้นเป็นเวลานานพอสมควร
เห็นว่าจะช่วยเหลือโลกได้บ้างแล้ว ท่านก็เดินธุดงค์ออกจากถ้ำไปในที่ต่างๆ
โดยไม่ยอมขึ้นรถลงเรือ และไม่มีจุดหมายปลายทาง
สุดแต่มืดที่ไหนก็กางกลดนอนที่นั่น เช้าก็ออกเดินธุดงค์ต่อไป
ในระหว่างทางมีราษฎรมาขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด
เรื่องตกทุกข์ได้ยาก หรือเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเป็นบ้าเสียจริต
ท่านมีจิตเมตตาช่วยรักษาให้ตามที่อธิษฐานทุกคน"

หลวงปู่ไข่เดินธุดงค์อยู่ราว ๑๕ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๙-พ.ศ.๒๔๔๔)
เกียรติคุณของหลวงปู่ไข่ได้เลื่องลือเข้ามาถึงกรุงเทพฯ
จึงมีผู้นิมนต์มาอยู่ที่วัดบางยี่เรือ ฝั่งธนบุรี เป็นเวลา ๑ ปี
จากนั้นหลวงปู่ไข่ก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรอีกหลายปี
ในที่สุดหลวงปู่ไข่ก็เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง
เข้าใจว่าคงราวๆ ปี พ.ศ.๒๔๕๕-พ.ศ.๒๔๖๑

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งนี้
หลวงปู่ไข่ได้เลือกจำพรรษาอยู่ที่วัดเชิงเลน หรือวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร
ทั้งนี้เพราะที่วัดบพิตรพิมุขมีพระภิกษุน้อย และมีคณะกุฏิ ซึ่งใช้เป็นที่เก็บศพ
และบางครั้งก็มีชาวบ้านเข้ามาใช้เป็นที่ถ่ายอุจจาระด้วย
ดังนั้นคณะกุฏินี้จึงเป็นสถานที่เงียบสงบ ไม่มีใครมารบกวนมากนัก
หลวงปู่ไข่จึงเข้ามาอยู่ที่คณะกุฏิในป่าช้าของวัดบพิตรพิมุข
สมัยนั้นพระภิกษุรูปใดจะเข้ามาอยู่วัดก็ได้โดยเสรี
ไม่ต้องมีบัตรและไม่มีใครตรวจตรา ไม่ต้องขออนุญาต
เพียงแต่ถึงคราวเข้าปุริมพรรษา ก็บอกกล่าวเจ้าอาวาสให้รับทราบ
เพื่อจะได้จำพรรษาที่วัดนั้น และเมื่อหลวงปู่ไข่มาอยู่ที่วัดบพิตรพิมุขนั้น
พระกวีวงศ์ (กระแจะ วสุตตโม ป.ธ.๔) เป็นเจ้าอาวาส

ในระหว่างที่หลวงปู่ไข่จำพรรษาอยู่ ณ วัดบพิตรมุข
หลวงปู่ไข่ได้ปฏิบัติทางธรรมและสร้างการกุศลหลายประการ ได้แก่

๑. สอนพระกรรมฐานแก่บรรพชิตและฆราวาส
ช่วยอนุเคราะห์แก่ผู้เจ็บไข้ได้ทุกข์

๒. บริจาคทรัพย์ส่วนตัวและชักชวนบรรดาศิษย์และผู้ที่คุ้นเคยให้มาร่วมการทำบุญ
เช่น สร้างพระพุทธปฏิมา ซ่อมพระพุทธรูปของเก่าที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น

๓. สร้างพระไตรปิฎก โดยหลวงปู่ไข่ลงมือจารใบลานด้วยตนเองบ้าง ให้ช่างจารขึ้นบ้าง

๔. ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิเป็นห้องแถวไม้ขึ้นอีกหลายกุฏิ

๕. ทั้งได้สร้างถนน สระน้ำ ถังรับน้ำฝน ขึ้นภายในบริเวณวัด
สร้างแท่นสำหรับนั่งพักภายในคณะกุฏิให้เป็นที่สะดวก
แก่พระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่ในคณะนั้น เป็นต้น

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อครั้งหลวงปู่ไข่จำพรรษาอยู่ตามหัวเมือง
ก็ได้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ มาแล้วหลายแห่ง
หลวงปู่ไข่เป็นผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในคูณพระรัตนตรัย
มีจิตสุขุมเยือกเย็นประกอบด้วยเมตตากรุณา มีจริยาวัตรอัธยาศัยเรียบร้อย
เคร่งครัดในทางสัมมาปฏิบัติ
เป็นที่เคารพนับถือแก่บรรดาศิษย์และผู้ที่รู้จักคุ้นเคยทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัดเป็นอันมาก หลวงปู่ไข่เป็นพระที่สมณะใฝ่สันโดษ
เจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นนิตย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร
บรรดาศิษย์ของหลวงปู่ไข่ได้ป่วยก็มาหา หลวงปู่ไข่ก็จะแนะนำให้ไปซื้อยามาเสกให้กิน
เมื่อมีเวลาว่างหลวงปู่ไข่ก็จะสร้างพระ ตะกรุด ธง
และเหรียญออกแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-7-5 15:15 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
๐ ปัจฉิมวัย

ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงปู่ไข่เตรียมบาตร กลด และย่ามเพื่อจะออกธุดงค์
แต่บรรดาศิษย์ทั้งที่เป็นข้าราชการ พ่อค้า ได้ปรึกษาหารือกันว่า
หลวงปู่ไข่ชราภาพมากแล้ว หากออกธุดงค์คราวนี้ไซร้คงจะไม่ได้กลับมาแน่
จึงได้นิมนต์ยับยั้งไว้ โดยขอให้หลวงปู่ไข่อยู่วิปัสสนากรรมฐานแก่บรรดาศิษย์ต่อไป

หลวงปู่ไข่เริ่มอาพาธด้วยโรคชราตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๕
ครั้นวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๕ เวลา ๑๓.๒๕ น. ก็ถึงแก่มรณภาพ

ก่อนเวลาที่จะมรณภาพ หลวงปู่ได้ข่มความทุกข์เวทนาอยู่ในเวลานั้นให้หายไปได้
ประดุจบุคคลที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยใดๆ
แล้วขอให้ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ ประคองตัวให้ลุกขึ้นนั่ง
และให้จุดธูปเทียนบูชาพระ เมื่อกระทำนมัสการบูชาพระเสร็จแล้ว
ก็เจริญสมาธิสงบระงับจิต เงียบเป็นปกติอยู่ประมาณ ๑๕ นาที ก็หมดลมปราณ

ถึงวาระสุดท้ายศิษย์ผู้คอยเฝ้าพยาบาลอยู่
จึงประคองตัวหลวงปู่ไข่ให้นอนลง รวมอายุได้ ๗๔ ปี พรรษา ๕๔ พรรษา

ตามปรกติที่วัดบพิตรพิมุขไม่มีที่ประชุมเพลิงศพโดยเฉพาะ
ด้วยเหตุนี้คณะสงฆ์เห็นว่าหลวงปู่ไข่ เป็นพระเก่าแก่ของวัด และมีผู้เคารพนับถือมาก
จึงขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำการประชุมเพลิงศพหลวงปู่ไข่ที่บริเวณกุฏิ
กำหนดประชุมเพลิงในวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๖ เวลา ๑๗.๐๐ น.
(คือประมาณ ๑๐๐ วันหลังจากมรณภาพ สมัยนั้นวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน)

ในวันประชุมเพลิงศพ มีคนมาร่วมงานมากมาย ถึงกับล้นออกไปตามตรอกซอยและถนน
พอถึงเวลาเคลื่อนศพเพื่อนำไปขึ้นเชิงตะกอน ทันใดนั้นเอง
แผ่นดินบริเวณคณะได้เกิดไหวขึ้น
คนตกใจถึงกับออกปากว่า อภินิหารของหลวงปู่มากเหลือเกิน

เมื่อประชุมเพลิง แล้วสัปเหร่อได้จัดการแปรธาตุเก็บอัฐิ
บรรดาศิษย์เข้าขออัฐิของหลวงปู่ไปไว้บูชาเป็นจำนวนมาก


ที่มา (๑) http://www.watbopit.com/story_longpoo.html
(จากหนังสือวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ประวัติและเกียรติคุณหลวงปู่ไข่ อินฺทสโร,
พิมพ์ครั้งแรก, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒)

ที่มา (๒) http://www.dharma-gateway.com/mo ... hist-index-page.htm

ที่มา (๓) http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=43913

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้