|
๓. ชนิดและจำนวนการสร้าง
การจัดทำเหรียญหลวงปู่ทวดครั้งนี้ นอกจากเหรียญทองแดงแล้ว ยังมีเหรียญโลหะอื่น ๆ รวมทั้งเนื้อผง โปสเตอร์ และลูกแก้ว ซึ่งสรุปได้ดังนี้
๑. เหรียญเนื้อทองคำ ๒๔๐ เหรียญ
ใช้ทองคำชนิด ๙๖% แต่ละเหรียญมีน้ำหนัก ๙.๙ กรัม
ให้สั่งจองเท่าราคาทองคำรวมค่ากำเหน็จที่ช่างแกะพระคิด คือ เหรียญละ ๓,๔๐๐ บาท
ในจำนวนนี้ มี ๓ เหรียญที่คุณวรวิทย์สั่งทำพิเศษ แต่ละเหรียญมีน้ำหนัก ๑ บาท
๒. เหรียญเนื้อเงิน ๑,๐๓๗ เหรียญ
ให้สั่งจองเท่าราคาที่ช่างแกะพระคิด คือ เหรียญละ ๑๓๐ บาท
๓. เหรียญเนื้อทองแดง ๑๐,๐๐๐ เหรียญ
ไม่รวมส่วนที่ช่างแกะพระปั๊มเกินมาอีกจำนวน ๕๐๐ เหรียญ
ภายหลังได้มอบให้ช่างแกะพระเป็นที่ระลึกจำนวน ๒๘ เหรียญ
ซึ่งเหรียญเนื้อทองแดงนี้ ไม่ได้เปิดให้สั่งจอง เพราะเป็นส่วนที่มีเจตนาจัดทำเพื่อแจกแก่ผู้ปฏิบัติธรรม
๔. เหรียญเนื้อตะกั่ว ๑,๔๐๐ เหรียญ
เป็นเหรียญที่ไม่มีข้อความ “หลวงพ่อทวดฯ” ๑,๐๐๐ เหรียญ
เป็นเหรียญที่มีข้อความ “หลวงพ่อทวดฯ” ๔๐๐ เหรียญ
๕. เนื้อผง (รูปทรง ๔ เหลี่ยมขอบมนเล็กน้อย) ๕,๐๐๐ องค์
ใช้ผงมวลสารว่าน ๑๐๘ ที่อาจารย์ศุภรัตน์มอบให้ ซึ่งหลวงปู่ดู่อธิษฐานให้แล้ว
ในจำนวนนี้ มีประมาณ ๓๖๐ องค์ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
เป็นที่น่าเสียดายที่พระผงกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ชำรุดระหว่างการขนส่ง เนื่องจากความรีบเร่งส่งของในขณะที่เนื้อผงยังไม่แห้งสนิทดี
พร้อมกันนี้ คณะผู้จัดสร้าง ยังได้จัดทำโปสเตอร์หลวงปู่ดู่ในอิริยาบถต่าง ๆ บนฉากหลังที่เป็นรูปใบโพธิ์
ขนาด ๘ x ๑๐ นิ้ว อีกจำนวน ๑๐,๐๐๐ แผ่น และลูกแก้วใสเคลือบปรอทบาง ๆ (เป็นลูกแก้วที่ใช้ประดับตู้ปลาทั่วไป) อีกจำนวน ๕,๐๐๐ ลูก (ไม่รวมลูกแก้วชนิดเคลือบปรอทสีสันต่าง ๆ อีกจำนวนประมาณ ๕๐ ลูก)
๔. เหตุการณ์ในวันพิธี (อังคารที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๒)
บ่ายเย็นวันนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก ขณะที่ข้าพเจ้าพร้อมด้วยน้องชายของคุณวรวิทย์เร่งขับรถฝ่าพายุฝน เพื่อจะนำวัตถุมงคลที่เหลือ (ส่วนมากเป็นพระเนื้อผง) ไปที่กุฏิของหลวงปู่ดู่ให้ทันพิธี แต่พอมาถึงวัด ฝนก็หยุดตก ท้องฟ้าแจ่มใสมาก ราวกับว่าได้ปัดเป่าสิ่งสกปรกออกไปจนหมดสิ้น พอใกล้เวลา ๒ ทุ่ม ก็ปรากฏว่า มีผู้คนมาร่วมพิธีกันจนเต็มตลอดพื้นที่หน้ากุฏิหลวงปู่ หลายคนได้นำวัตถุมงคลส่วนตัวมาร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก คุณวรวิทย์ได้เปิดกล่องพร้อมนำตัวอย่างวัตถุมงคลที่จัดทำแต่ละชนิดออกให้หลวงปู่ได้ชม ทั้งเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง ตะกั่ว พระผง โปสเตอร์ และลูกแก้ว
พอถึงเวลา ๒ ทุ่ม หลวงปู่เริ่มอธิษฐานจิต อัญเชิญบารมีพระพุทธเจ้าทั้งแสนโกฏจักรวาล รวมทั้งบารมีครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มาประดิษฐานที่วัตถุมงคล และหลวงปู่ได้ตั้งจิตอธิษฐานให้สว่างไปทั้งสามโลก คือ พรหมโลก เทวโลก และมนุษยโลก
สักครู่หนึ่ง หลวงปู่ลืมตาขึ้น ยกมือข้างขวาขึ้นลูบพระที่อยู่เบื้องหน้า สุดท้ายท่านก็กล่าวขอให้
หลวงปู่ทวด และ เทวดาปกปักรักษาวัตถุมงคลนี้ตลอดไป ให้ปิดกั้นภัยอันตรายทุกอย่าง
จากนั้นท่านก็ให้ผู้ที่มาร่วมงานตั้งจิตอุทิศผลบุญไปทั่วโดยรอบสุดขอบจักรวาล อนันตจักรวาล
พอเสร็จพิธี หลังจากกราบลาหลวงปู่แล้ว คุณวรวิทย์ก็แจกจ่ายเหรียญเนื้อทองแดงบางส่วนให้กับตัวแทนหมู่คณะหลายคน เพื่อหาโอกาสแจกจ่ายให้กับผู้เหมาะสมในโอกาสต่อไป ส่วนวัตถุมงคลอันเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ที่นำมาร่วมในพิธีนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามีอะไรบ้าง เพราะมากมายเหลือเกิน ทราบว่าบางท่านก็นำมาชนิดหมดหิ้งพระที่บ้านตนเองเลยทีเดียวก็มี
๕. ทำไมจึงชื่อว่า รุ่นเปิดโลก
เช้าวันรุ่งขึ้น ได้มีลูกศิษย์หลวงปู่ที่เป็นนักปฏิบัติบางคน ซึ่งไม่ได้มาร่วมงาน ได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า เมื่อคืนไม่รู้ที่วัดสะแกมีอะไร กำหนดจิตดูเห็นหลวงปู่ทวดลอยอยู่เต็มท้องฟ้าวัดสะแก หลวงปู่ก็บอกกับผู้นั้น รวมทั้งลูกศิษย์คนอื่น ๆ ณ ที่นั้นว่า
“เมื่อคืนข้าเสกให้แบบเปิดสามโลกเลยนะ”
นี่เอง น่าจะเป็นที่มาของการพูดปากต่อปากกระทั่งกลายมาเป็นชื่อรุ่นว่า “รุ่นเปิดสามโลก”
หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “รุ่นเปิดโลก”
๖. วัตถุมงคลรุ่นเปิดโลกมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าพระรุ่นอื่นจริงหรือ
คำกล่าวข้างต้น ค่อนข้างจะกล่าวเกินเลย
เพราะเหตุที่หลวงปู่เคยพูดให้เพื่อนข้าพเจ้าฟังว่า...
เวลาที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานพระที่ทางวัดจัดทำมาให้นั้น ท่านจะส่งกระแสจิตอัญเชิญพุทธคุณ ธรรมคุณ
สังฆคุณ บรรจุเข้าในวัตถุมงคลทั้งใหม่ และ เก่าทั้งหมดของท่าน
...ไม่ว่าจะวัตถุมงคลนั้นจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม
ดังนั้น เมื่อทราบความตามนี้แล้ว ก็ขอให้ผู้มีวัตถุมงคลของหลวงปู่รุ่นใด ๆ ก็ตาม ขอได้โปรดอย่าหวั่นไหวไปตามค่านิยมที่ตลาดเขาแต่งแต้มให้เลย และโปรดระลึกถึงพระที่หลวงปู่ให้ความสำคัญสูงสุด ที่หลวงปู่เรียกว่า
“พระเก่า พระแท้” นั่นก็คือ
จิตของเราที่ฝึกฝนอบรมดีแล้วนั่นเอง
เพราะพระองค์นี้เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนของเราทุกคน
การมีพระภายนอก ก็ล้วนต้องการที่จะโยงเข้าหาการสร้างพระภายในให้เกิดให้มีขึ้น
หากปราศจากการสร้างพระภายในแล้วไซร้
การมีพระภายนอก แม้มากเท่าใด ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลอดภัยอย่างแท้จริง
อีกทั้งยังไม่นับว่ารู้จักองค์แท้ของหลวงปู่
ดังที่ท่านกล่าวเชิงท้าทายนักปฏิบัติว่า
“ตราบใดที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ไม่นับว่าแกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใด แกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
เมื่อนั้น...ข้าจึงว่า แกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว”
***เรียบเรียงจากบทความของ คุณสิทธิ์
ที่มา http://luangpordu.com/
|
|