เรื่องเล่าชาวสยาม ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ในอัลบั้ม: ๙ สุดยอดเครื่องรางของขลัง แห่งสยาม
◎ เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ◎ ๙ สุดยอดเครื่องรางของขลัง แห่งสยามประเทศ ตอนที่ ๓ วัดมงคลโคธาวาส เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของ 'วัดบางเหี้ย' หรือ 'วัดคลองด่าน'ตั้งอยู่ที่ ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่เรียกกันมาแต่โบราณว่าวัดบางเหี้ยนั้น เนื่องจากเดิมมีตัวเงินตัวทองอยู่มาก เพราะเป็นเขตน้ำกร่อย หลวงพ่อปาน เป็นชาวคลองด่านโดยกำเนิด เกิดในปีพ.ศ.๒๓๗๐ บรรพชาเมื่ออายุ ๑๕ ปี ที่สำนักวัดอรุณราชวราราม และอุปสมบท มีพระศรีศากยมุนี เป็นอุปัชฌาย์ แล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่แตง เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา ชลบุรี ก่อนกลับมาวัดบางเหี้ยใน และขึ้นเป็นเจ้าอาวาสในเวลาต่อมา พุทธคุณ เสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย นั้นมีพุทธคุณครบเครื่องทั้งเมตตา แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และยังดีทางมหาอำนาจควรติดตัวไว้จะได้เป็นที่เกรงขามของสัตว์ป่าและสัตว์หน้าขน ทั้งหลาย และเวลาเข้าไปในป่าก็อาราธนาให้คุ้มกันภัยได้ แถมยังเอาแช่น้ำทำน้ำมนต์แก้ไข้ป่า ส่วนเขี้ยวขนาดใหญ่ที่กลวงตลอดนั้น ใช้เป่าให้ดังวี้ด วี้ด ๆ ๆ สะกดภูตผีปิศาจได้ทุกชนิด และเป็นคงกระพันชาตรีมหาอุตเป็นที่สุดแล สำหรับนักนิยมสะสมและผู้คลั่งไคล้ในเครื่องรางของขลังคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เขี้ยวเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ด้วยกิตติศัพท์เรื่อง 'เขี้ยวเสือ' ของท่าน โด่งดังไปทั่ว เนื่องจากถือเป็น สุดยอดเครื่องรางชิ้นเอก หนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางแห่งเมืองสยาม เมื่อมีการสร้างเขื่อนพระยาไชยานุชิตที่คลองด่านเพื่อกั้นกระแสน้ำทะเลไม่ให้ท่วมเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน แต่กรมชลประทานสร้างไม่ได้ เพราะกระแสน้ำแรงมากตีขึ้นมาตลอด หลวงปู่เห็นแก่การขจัดความเดือดร้อนของผู้คน ทำการเสกเขี้ยวเสือขว้างลงไป ปรากฏว่ากระแสน้ำลดกำลังลงอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถกั้นสร้างเขื่อนได้สำเร็จ เมื่อคราวล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อน คนเก่าๆ เล่ากันว่า หลวงปู่นำเขี้ยวเสือใส่พานถวาย ๕ ตัว แต่เณรที่ถือพานเกิดตกประหม่าทำตกน้ำไปหนึ่งตัว ท่านเลยให้เอาเนื้อหมูผูกเชือกหย่อนลงน้ำ บริกรรมพระคาถาจนเขี้ยวเสือติดชิ้นหมูขึ้นมาต่อหน้าพระพักตร์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงศรัทธาหลวงพ่อปานมากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระครูนิโรธสมาจาร และทรงเรียกเป็นส่วนพระองค์ว่า "พระครูปาน" มีปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า ... "พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือรูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดดลงไปยังเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียที่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือเป็นต้น ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ ๓ บาท ว่า ๖ บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ ๗๐ ปีแล้ว ยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย" อันว่า 'เขี้ยวเสือของหลวงพ่อปาน' นั้น ท่านแกะจากเขี้ยวเสือโคร่ง ลงเหล็กจารด้วยตัวเองปลุกเสกโดยใส่ 'พระคาถาหัวใจเสือโคร่ง' ลูกศิษย์ลูกหาได้ยินท่านว่า "พยัคโฆ พยัคฆา สุญญา สัพพติ อิติ ฮัมฮิมฮึม" (ตรงฮัมฮิมฮึมนี้ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าน่าจะเป็นเสียงเสือคำรามหรือลูกศิษย์ฟังไม่ออก) มีช่างที่แกะเสือแล้วเป็นศิษย์ท่านด้วยกัน ๕ คน แกะไม่เหมือนกันซะทีเดียว ขนาดจะไม่ใหญ่มากนัก นั่งปากเม้มหุบสนิท ตากลม ขาหน้าทั้งสองใหญ่ เล็บจิกลงบนพื้น แถบต่างจังหวัดจะมีช่างแกะคอย เวลาท่านไปธุดงค์ก็จะให้ปลุกเสก ที่สำคัญให้ดูรอยจารใต้ฐาน ท่านมักจะจารเองเป็น "นะขมวด" ที่เรียกกันว่า 'ยันต์กอหญ้า' และตัว 'ฤ ฤา' ลักษณะที่บอกเอกลักษณ์ในปัจจุบันคือ เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า ซึ่งมีทั้งเสือหุบปาก และเสืออ้าปาก เขี้ยวต้องกลวง มีทั้งแบบซีก และเต็มเขี้ยว เขี้ยวหนึ่งอาจแบ่งทำได้ถึง ๕ ตัว ตัวเล็กๆ เรียก "เสือสาลิกา" เป็นปลายเขี้ยว ส่วนใหญ่พบว่าเป็นซีก คนโบราณนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก วิธีจาร : ท่านจะจารตัวอุมีทั้งหางตั้งขึ้นและลง ที่ขาหน้าค่อนไปทางด้านบน และลงอักขระคล้ายเลข ๓ หรือเลข ๗ ไทยขยักๆ หางลากยาวหน่อย ตรงสีข้างส่วนใต้ฐาน ท่านจะจารยันต์กอหญ้า ถ้าเสือตัวใหญ่หน่อยท่านจะลงยันต์กอหญ้า ๒ ตัว ตรงข้ามกัน และลงตัว ฤ ฤา พร้อมตัวอุณาโลม บางตัวมีรอยขีด ๒ เส้นขนานกันดูให้ดีจะเห็นเป็นเส้นลึกและคมชัด
พระคาถา : พระคาถาพญาเสือมหาอำนาจใช้ภาวนากำกับเขี้ยวเสือ
ตั้งนะโมสามจบแล้วอาราธนาระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และกล่าวถึงหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (หรือผู้เป็นเจ้าของเขี้ยวเสือ) เป็นที่ตั้ง และจะมีเขี้ยวเสือหรือไม่มีเขี้ยวเสือก็ได้แล้วภาวนาพระคาถาว่า
" ตะมัตถัง ปะกาเสนโต ตัวกูคืพญาพยัคโฆ สัตถา อาหะ พยัคโฆจะวิริยะ อิมังคาถามะหะ อิติ ฮ่ำ ฮึ่ม ฮึ่ม " เคล็ดลับ การภาวนาพระคาถาให้ภาวนาตั้งแต่ ตะมัตถัง มาจนถึง อิมังคาถามะหะ ให้กลั้นลมหายใจเวลาท่องให้มั่น ทำจิตให้ดุเหมือนเสือแล้วจึงย้ำว่า อิติ ฮ่ำ ฮึ่ม ฮึ่ม จึงผ่อนลมหายใจ @เรื่องเล่าชาวสยาม
|