ตัวอย่างเกิดขึ้นจริงของวิปัสสนูปกิเลส
(ในภาพ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ) ในประวัติของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พอจะเห็นตัวอย่างของวิปัสสนูปกิเลส 2 ตัวอย่าง คือกรณีของท่านหลวงตาพวง และกรณีของท่านพระอาจารย์เสร็จ จะขอยกกรณีของหลวงตาพวงมาเล่าเพื่อประดับความรู้ต่อไป ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ หลวงตาพวง ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิกสำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านสำนึกตนว่ามาบวชเมื่อแก่ มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย จึงเร่งความเพียรตลอดวันตลอดคืน พอเริ่มได้ผล เกิดความสงบ ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง เกิดความสำคัญผิด เชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลกเห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตนบังเกิดจิตคิดเอ็นดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใคร่จะไปโปรดให้พ้นจากทุกข์โทษความโง่เขลา เล็งเห็นพระสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนครูบาอาจารย์ ล้วนแต่ยังไม่รู้ จึงตั้งใจจะต้องไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ผู้เป็นพระอาจารย์เสียก่อน[size=1.1em] ดังนั้น หลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่ามาจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา 6 ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่างหมดแล้ว พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านก็มาร้องเรียกหลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ยังเป็นสามเณรอยู่ ได้ยินเสียงเรียกดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์...” ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวง จึงลุกไปเปิดประตูรับ สังเกตดูอากัปกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตามธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่ พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว” ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่แต่คราวนี้ไม่กราบ แถมยังต่อว่าเสียอีก “อ้าว! ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ” เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดในทันทีนั้นว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อยๆ หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ก็ด้วยเมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ" หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว สำหรับพวกเราพระเณรที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิงคล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้นๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร"หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิดๆ ถูกๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์ ไปโน่น ที่พระอุโบสถ” ท่านเณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์ ไปเรียกพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่างๆ หลอกล่อให้หลวงตานั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่งสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว ไม่สำเร็จ หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง ด้วยการพูดแรงให้โกรธหลายครั้งก็ไม่ได้ผล ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้ หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ! สัตว์นรก สัตว์นรก ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้” ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวรและกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบูรพารามไปทางใต้ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น [size=1em]
ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้น เพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิดๆ ถูกๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า “เออ! กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้าเอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลดของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม ครั้นหลวงตาพวงไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่านี่เอง อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก โดยปราศจากการควบคุมของสติที่ได้สัดส่วนกัน ก็แตกทำลายลง เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความโกรธ อันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับได้ว่า ตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ท่านทราบ ท่านเจ้าคุณฯ ก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติเพิ่มเติมอีก ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์ และบังเกิดความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับมาขอขมาหลวงปู่กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐานเป็นเครื่องนำสติ มิให้ตกสู่ภาวะนี้อีก เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง ในแนวทางตรงต่อไป” ***********************************************************************
|