ชีวิตมนุษย์มีสุขเพียงเล็กน้อย
ในจำนวนน้อยแห่งสุขนั้นยังเจือด้วยทุกข์เสียอีก
สุขบางอย่างเหมือนเหยื่อที่ปลายเบ็ด..มีความทุกข์ตามมามาก
บุตรเศรษฐีหลายคนในเมืองสาวัตถี
เลื่อมใสในธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงออกบวช
คืนหนึ่งในราตรีสงัด พวกเธอเกิดความกำหนัด มีจิตน้อมไปในกามารมณ์ที่สละแล้ว
พระศาสดาทรงทราบวาระจิตด้วยประทีป คือ สัพพัญญุตญาณของพระองค์
ตามธรรมดา พระศาสดาย่อมทรงถนอมสาวกของพระองค์
ประดุจมารดาถนอมบุตร หรือเหมือนบุคคลผู้มีนัยน์ตาข้างเดียวย่อมถนอมนัยน์ตาของตน
ดังนั้นไม่ว่าสมัยใด เมื่อพระสาวกดำริไปในทางกิเลส
ก็ทรงข่มและให้ละกิเลสนั้นเสีย
การณ์นี้ พระศาสดาทรงเสด็จออกจากพระคันธกุฏี
ตรัสเรียกพระอานนท์ผู้เป็นขุนคลังแห่งธรรม (ธรรมภัณฑาคาริก)มาเฝ้า
แล้วรับสั่งให้ไปประกาศ ให้ภิกษุสงฆ์ประชุมกัน
ถามว่า เหตุไรจึงไม่รับสั่งให้ประชุมเฉพาะภิกษูสงฆ์หมู่นั้น?
ตอบว่า ถ้าทรงทำเช่นนั้น ทรงเกรงว่า พวกเธอเหล่านั้นจะสลดใจ
ละอายว่า พระศาสดาทรงทราบกองกิเลสอันเกิดในใจตน
เมื่อเป็นดังนี้พวกเธอเหล่านั้นจักไม่ตั้งใจฟังธรรมเทศนา
จักเสื่อมจากมรรคผลอันพึงได้ ดังนั้นพระศาสดาจึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ทั้งหมดพร้อมกัน
เมื่อภิกษุสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว
พากันถวายบัีงคมพระบรมศาสดาดวยจิตเปี่ยมคารวะมั่นคง
พระศาสดาทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะและประกอบด้วยเมตตาปรานี
ประทานธรรมเทศนาดังนี้
"ภิกษุทั้งหลาย ,
ธรรมดาภิกษุไม่ควรตรึกในกาม ในพยาบาท ในวิหิงสา
กิเลสทั้งหลายเป็นเช่นข้าศึก อย่าดูหมิ่นข้าศึกว่าเล็กน้อย
เพราะเมื่อได้โอกาสย่อมทำความพินาศให้
กิเลสทำนองเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นภายในแล้ว แม้น้อยก็มีโอกาสพอกพูนขึ้น
และนำความพินาศใหญ่หลวงมาสู่ผู้นั้นเอง
ภิกษุทั้งหลาย ,
กิเลสนี้เหมือนยาพิษที่ร้ายแรง เหมือนหัวฝีที่ผิวหนังปอกเปิกไปแล้ว
เหมือนอสรพิษและเหมือนไฟจากสายฟ้า
ไม่ควรที่พวกเธอจะไยดีกับกิเลสนั้นแม้เพียงเล็กน้อย
ควรกีดกันด้วยกำลังภาวนา กำลังการพิจารณา
ไม่ให้หลงเหลือในหทัยแม้เพียงน้อยหนึ่ง
ทำให้เหมือนน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว"
...............................
คัดลอกเนื้อหาจาก นิตยสารศุภมิตร
ปีที่ ๕๒ ฉบับที่ ๕๖๔ กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๕๐.
หน้า ๕๔- ๕๕