วิทยฐานะ
จบนิรุต ทางอักษรศาสตร์ภาษาล้านนา ภาษาบาลี(มูลกัจจาย) และเป็นผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฏกอรรถกถาฎีกา และได้รับการยกย่องว่าเป็นพหูสูตรการปฏิบัติธรรม เฉพาะท่านเองได้ออกไปเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน บำเพ็ญสมาธิวิปัสสนาในวิเวกสถานเป็นนิจ สถานที่นั้นคือเงิ้มผาทางหลังวัดซึ่งห่างออกไปอีกประมาณ ๒๐๐ เมตร
งานการบริหารปกครองและตำแหน่งสมณศักดิ์
ครั้งนั้น ฝ่ายสงฆ์จึงเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ทั้งคามวาสี และอรัญญวาสี การคณะสงฆ์ที่เคยกระจัดกระจายเพราะการศึก ก็ได้จัดการเป็นหมวดหมู่ขึ้น ด้วยความสามัคคีธรรม และสมรรถภาพของท่าน จวบจน พ . ศ. ๒๔๓๘ อันเป็นปีที่ ๓๖ ตั้งแต่อุปสมบทมา พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ( ราชบิดาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้ถวายตำแหน่งโดยแต่งตั้งให้เป็น “ ปฐมสังฆนายก” องค์ที่ ๑ ของลานนาไทย โดยให้มีสมณะศักดิ์ตำแหน่งนามว่า “ ปฐมสังฆนายะกะโสภา วัดฝายหิน สังฆราชาที่หนึ่ง เชียงใหม่” ในสังฆราชาทั้ง ๗ คือ
๑ . ปฐมสังฆนายะกะ วัดฝายหิน เชียงใหม่
๒ . สังฆราชา ศาณะโพธิ วัดแม่วาง ( อ. สันป่าตอง)
๓ . สังฆราชา สรภังค์ วัดนันทาราม ประตูเชียงใหม่ ( ตระกูลเขิน เชียงใหม่)
๔ . สังฆราชา คันธา วัดเชตุพน
๕ . สังฆราชา คูบายะ วัดหนองโขง เขตลำพูน ( ภายหลังมาอยู่ วัดดับภัย เชียงใหม่)
๖ . สังฆราชา เจ้าตุ๊ปัญญา วัดพวกแต้ม ( องค์นี้เป็นราชตระกูล ณ เชียงใหม่)
๗ . สังฆราชา ญาณะรังสี วัดสันคะยอม
ในการถวายตำแหน่งนี้ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ประกาศถวายเป็นมหาสังฆพิธี ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะ ( ๘ เหนือ) จุลศก ๑๒๕๗ ปี ดังนี้ หนนั้นบ้านเมืองจึงรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนะธรรมดา ตามลำดับกาลฯ ด้วยวิริยะอุตสาหะในการใจใส่ปกครองและจัดสรรการคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย
บริหารการคณะสงฆ์และจำพรรษาที่วัดเชียงยืน
ฉะนั้น เมื่อได้ถวายตำแหน่งสังฆนายะกะ และสังฆราชาทั้ง ๗ ของเมืองแล้วได้ ๑ปี พ. ศ. ๒๔๓๙ พระเจ้าอินทยานนท์และไพร่ฟ้าบ้านเมือง จึงอาราธนาให้ท่านมาประจำอยู่ที่วัดเชียงยืน เหนือเวียงเชียงใหม่ เพื่อจะได้จัดการคณะสงฆ์และการพระศาสนาโดยสะดวก
เมื่อการพระศาสนาได้รุ่งเรืองขึ้น ในเมื่อกาลนั้น บ้านเมืองก็สงบสุข เสียงแซ่ซร้องอนุโมทนาในกุศลผลบุญ ประกาศหยาดน้ำและปอยหลวง ก็เป็นมหกรรมพิธีอึงคะนึงอยู่มิได้ขาด ในเวลาเช้า สังฆ ภิกขุ เณร จะจาริกบิณฑบาต โปรยบุญสุนทานอร่าม เป็นขวัญเมืองอยู่นิรันดร์ ตราบสายันต์กาล เสียงกังวานของ “ เด็ก” ที่วัดสนั่น พระสงฆ์สวดสูตร นั่งเป็นระเบียบตามอายุพรรษกาล มีปริมณฑล การนุ่งห่ม “ มัดอก” ตามแบบสังฆบูรพาจารย์แต่ก่อนมา เป็นผลผาสุกยิ่ง แต่ครั้งนั้นแหละ
เกิดเหตุการณ์แตกแยกทางความคิด(ตุ๊ป่ากับตุ๊บ้าน)
เมื่อต่อมาอีกไม่นานเท่าใด ยังมีกุลบุตรชาวชนบทผู้หนึ่ง มีนามว่า “ ปิง” เป็นชาวบ้านลวงใต้ อำเภอดอยสะเก็ด ได้ไปทำการศึกษาพระปริยัติธรรมมาจากกรุงเทพฯ สำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้เป็นเจ้าหัวคณะใหญ่ฝ่ายพระธรรมยุติกะนิกาย เรียนปริยัติจนสำเร็จเปรียญธรรม เป็นพระมหาปิงมาแล้ว ก็ได้กลับมาสำนักอยู่วัดเจดีย์หลวง ชาวบ้านชาวเมืองมีเจ้าขุนมูลนายฝ่ายใต้ และฝ่ายเหนือ ก็นิยมชมชอบในลัทธิธรรม ที่มหานำมาจากใต้มาก แต่ว่าการนิยมนี้มีนัยอยู่สองประการ คือ
๑ . เพราะเจ้านายฝ่ายสูงทางใต้นิยม เจ้านายฝ่ายไพร่ และฝ่ายเหนือก็คล้อยตาม
๒ . เพราะลัทธิที่มหาปิงนำมาเป็นของใหม่ คนก็ตื่นกัน
เมื่อลัทธิใต้ที่มหาปิงนำมา ที่เรียกว่า “ ลัทธิกุมผ้าบ่รัดอก” เป็นที่นิยมของเจ้านายทั้งหลายแล้ว การพระศาสนาฝ่ายเหนือก็ซบเซาลงไป ผู้เอาใจช่วยเหลือฝ่ายที่เป็นเจ้านายก็เหลือน้อย เพราะไปนิยมกับนิกายใหม่ ฝ่ายพระมหาปิง เสียจนหลายปีดีดัก เมื่อได้ลูกศิษย์ลูกหาสาวกสาวิกามากมายแล้ว พระมหาปิงก็ลงเรือล่องไปเวียงใต้ ทำนองที่เป็นไปเพื่อรายงานตัว จวบจนกลับมา พระมหาปิงก็ได้รับตำแหน่ง “ เจ้าคุณนพีสีพิศาลคุณ” ขึ้นมาด้วย คนทั้งหลายก็ยิ่งปฏิพัทธ์เลื่อมใสมากขึ้นอีกเป็นล้นพ้น เจ้านายหลายคนถึงกับปวารณาตัวใจใส่ฝ่ายพระมหาปิง หรือเจ้าคุณใหม่เสียฝ่ายเดียวก็มี ลัทธิของ “ เจ้าคุณนพีสี” จึงรุ่งเรือง จนเจ้านครเชียงใหม่ฝ่ายหนนอกครั้งนั้น คือเจ้าอินทวโรรส กำหนดอารามให้เป็นสำนักใหม่ โดยนิมนต์ย้ายพระมหาปิงมาสำนักเสียที่ วัดเชียงมั่น คนทั้งหลายผู้ไพร่ฟ้า ก็สำคัญไปว่า อันอาชญาเหนือหัว พระเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครนี้มีน้ำพระทัยเป็นอคติครอบงำเสียแล้ว มาทิ้งรีดรอยธรรมเนียมเดิมฝ่ายสงฆ์ มาเป็นไปเสีย บ้านเมืองและการพระศาสนาครั้งนั้นจึงอลเวงมากมาย สังฆราชาครูบาวัดฝายหิน ก็ได้จัดการระงับความวิปฏิสารครั้งนั้นด้วยประการต่างๆ แม้จะมิได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่ฝ่ายหนภายนอก ก็ได้ปกครองหมู่สงฆ์ทั้งหลายด้วยความเรียบร้อย มีบางครั้งที่ฝ่ายบ้านเมืองที่ไปติดข้างพระมหาปิง จะมีความเอนเอียงใช้อำนาจบ้าง สังฆราชาครูบาฝายหิน ก็มิได้ยอม ถือธรรมาธิปไตยเป็นแบบในการปฏิบัติงานสงฆ์อยู่ คนทั้งหลายที่ศรัทธาปสาทะตามขนบแบบแผนเดิม ก็พลอยตำหนิเจ้านายด้วยตามนัยต่างๆ ความในบางครั้งจวนเจียนจะเกิดความร้าวราน ถึงขนาดใช้กำลังกันบ้าง ตามความดื้อรั้นของทิฏฐิ ที่ต่างฝ่ายมีอยู่ จนลางคนที่เป็นกลางจะบอกตกลงมิได้ เมื่อใครมาถามว่า “ จะไหว้ตุ๊ป่า หรือไหว้ตุ๊บ้าน” (ตุ๊ป่าได้แก่ ครูบาฝายหิน) ความแตกร้าวในพระศาสนามีมากขึ้น จนลุกลามไปจะเป็นความบ้านเมือง เจ้านายทั้งหลายก็นำความกราบทูลฯ พระเถระทั้งหลายในกรุงเทพอยู่เนืองนิจ เมื่อความอื้อฉาวไปถึงพระกรรณ์เจ้านายผู้ใหญ่ อันเป็นรัชสมัยของพระปิยะมหาราช รัชกาลที่ ๕ จึงสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ดำรัสให้เจ้ากรมมหาดไทย อาราธนาครูบาฝายหินลงไปเฝ้า ความจริงการอาราธนา “ ครูบาฝายหิน” ไปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ คงเป็นการประชุมพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ทั่วพระราชอาณาจักร “ ครูบาฝายหิน” คงไปในฐานะ ปฐมสังฆนายกองค์ที่ ๑ ของล้านนา และครั้งนั้นก็มี สังฆราชาคันธา แห่งวัดเชตุพนติดตามไปด้วย หากแต่สถานการณ์ครุกกรุ่นทางการเมืองขณะนั้น จึงเกิดคำร่ำลืออย่างปริวิตกยิ่ง
|