นาค ในที่นี้ คงมิใช่งูใหญ่อะไรดอก คงหมายถึงมนุษย์ที่ยังด้อยพัฒนาเผ่าหนึ่งพระพุทะองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวช ว่ากันอย่างนั้น อาฬวกยักษ์นี้ก็คงทำนองเดียวกัน ลองอ่านประวัติความเป็นมาก่อนค่อยตั้งข้อสังเกตภายหลัง เรื่องมีดังนี้ครับ ในป่าลึกชายแดนเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวี มียักษ์อาศัยอยู่จำนวนมาก วันหนึ่งเจ้าเมืองอาฬวีไปล่าสัตว์พลัดหลงกับ ข้าราชบริพาน เข้าไปยังป่าลึกถูกพวกยักษ์จับได้ตั้งใจจะเอามาทำ สเต็กกินให้อร่อย เข้าเมืองกลัวตายจึงหาทางเอาตัวรอดโดยกล่าวว่า “ถ้าพวกยักษ์กินตนอิ่มเพียงมื้อเดียว ถ้าปล่อยตนไป ตนจะไปหาคนมาส่งให้กินทุกวัน ขอให้ปล่อยตนไปเถอะ” “จะเชื่อได้อย่างไรว่าจะไม่เบี้ยว” ยักษ์ถาม “ไม่เบี้ยวแน่นอนท่าน เพราะข้ามิใช่นายกเมืองสารขัณฑ์ ที่รับปากใครไปเรื่อยกระทั่งกับพระกับเจ้า แล้วก็ลืม ข้าเป็นถึงเจ้าเมือง อาฬวีย่อมรักษาสัจจะยิ่งชีวิต” เจ้าเมืองพูดขึงขัง โชคยังดี พวกยักษ์เชื่อ จึงปล่อยไป ท้าวเธอก็ส่งนักโทษประหารมาให้กินวันละคน จนกระทั่งนักโทษหมดคุก เมื่อหาใครไม่ได้ก็สั่งให้ดักจับเอาใครก็ได้ที่เดินอยู่คนเดียว มีคดีคนหายอย่างลึกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จน จส.๑๐๐ ของยักษ์ประกาศหาไม่หยุด สร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนทั้งเมือง พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณด้วย พระมหากรุณาธิคุณ อันยิ่งใหญ่ต่อชาวเมืองอาฬวี พระองค์จึงเสด็จไปหาอาฬวกยักษ์ หัวหน้าพวกยักษ์ในป่าอาฬวี บังเอิญอาฬวกยักษ์ไม่อยู่ พระองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับ ณ ที่นั่งประจำตำแหน่งของแก อาฬวกยักษ์กลับมา พบพระพุทะองค์ประทับที่บัลลังก์ของตนก็โกรธเขี้ยวกระดิกทีเดียวตวาดด้วยเสียงดังฟังชัดว่า “สมณะโล้นมานั่งที่นั่งข้าทำไม ลุกขึ้นเดี๊ยวนี้” พระพุทธองค์ทรงลุกขึ้นอย่างว่าง่าย ยักษ์แกได้ใจ จึงออกคำสั่งอีกว่า “นั่งลง” พระองค์ ก็นั่งลง “ลุกขึ้น” สั่งอีก พระองค์ก็เสด็จลุกขึ้น “นั่งลง” พระองค์นั่งลงตามคำสั่ง ยักษ์เขี้ยวโง้งได้ใจ หัวร่อ ฮ่าๆ ที่เห็นพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโลกทำตามคำสั่งแกอย่างว่าง่าย ถามว่า “ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงทำตามยักษ์อย่างว่าง่าย” ตอบว่า “เป็นเทคนิควิธีสอนของพระพุทธเจ้า” พระองค์ทรงรู้อยู่แล้วว่า ยักษ์แกเป็นผู้ดุร้าย อารมณ์ร้อน ถ้าขัดใจแก แกก็จะโมโหจนลืมตัว ไม่มีช่องที่จะสอบอะไรได้ ถึงกล่าวสอนตอนนั้นแกก็คงรับไม่ได้ พระองค์จึงทรงเอาชนะความแข็งด้วยความอ่อน ดังคำพังเพยจีน (หรือเปล่าไม่รู้) “หยุ่นสยบแข็ง” หรือดังบทกวี (เก่า)บทหนึ่งว่า “ถึงคราวอ่อน อ่อนให้จริง ยิ่งเส้นไหม
เพื่อจะได้ เอาไว้โยง เสือโคร่งเฆี่ยน
ถึงคราวแข็ง ก็ให้แกร่ง ดังวิเชียร
เอาไว้เจียน ตัดกระจก เจียระไน” ยักษ์ถึงแกจะป่าเถื่อน ใช่ว่าแกจะไม่รู้ว่า พระพุทธเจ้านั้น เป็นที่เคารพนับถือของคนเป็นจำนวนมาก การที่แกสามารถสั่งให้คนยิ่งใหญ่ขนาดนั้นทำตามคำสั่งอย่างไม่ขัดขืน จึงทำให้แกภาคภูมิใจที่ปราบพระศาสดาเอกในโลกได้จิตใจจึงผ่อนคลายความดุร้ายลง สงบเยือกเย็นพอจะพูดกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง พระพุทธองค์จึงค่อยๆ สอนให้แกรู้ผิดชอบชั่วดี ยักษ์แกก็เข้าใจและรับได้อย่างเต็มใจ ในที่สุดก็รับเอาไตรสรณคมน์เป็นสรณะตลอดชีวิต พูดมาถึงตรงนี้ก็อยากฝากไปถึง ส.ส.ร. หรือฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายด้วย นักการเมืองทั้งหลายก็ไม่ต่างกับ “อาฬวกยักษ์” ดอกครับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ลิดรอนสิทธิและอำนาจนักการเมืองไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินตั้งหลายครั้ง (“ยังกับเป็นนักโทษ” นักการเมืองอาวุโสท่านหนึ่งคำราม) ไม่ว่าจะเป็นการห้าม ส.ส. เป็น รัฐมนตรี หรือเรื่องคนแปดหมื่นคนไล่นักการเมืองได้ ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ สำหรับพวกอาฬวกยักษ์ทั้งนั้น ใจจริงแล้ว เขาไม่อยากรับดอก (นอกเสียแต่บางพรรคหวังหาเสียงก็กัดฟันพูดว่า เรายินดีรับ) ถ้าอยากจะให้พวกเขายอมรับอย่างเต็มใจ ก็ ควรใช้วิธีของพระพุทธเจ้า คือ พูดดีๆ กับเขา อย่าได้พูด ในทำนองดูถูกว่าปัญญาอ่อน ไดโนเสาร์ พวกถ่วงความเจริญ ฯลฯ หรือชี้นำว่าต้องรับร่างรัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้วก็หมดหน้าที่ เป็นเรื่องของสภาเขาจะเอาหรือไม่เอา เมื่อสภาไม่เอา ก็ ตกมาถึงประชาชนตัดสินอยู่มิใช่หรือทำไม จะต้องมาปลุกกระแสตอนนี้ แจกธงเขียวอะไรนั่นผมว่าเชยตายห่า และถ้าพวกยักษ์เขาแจกธงแดงบ้างมิเป็นการประจันหน้ากันหรือครับ พวกยักษ์นั้น ต้องพูดดีๆ กับเขา แบบ พระพุทธเจ้าตรัสกับอาฬวกยักษ์ ไม่ควรปลุกม็อบชนม็อบ เพราะถ้ายักษ์เขาโมโหแล้ว เขาปลุกม็อบได้มากกว่าอีก บอกเขาไปด้วยความอ่อนน้อมสิครับ ว่าขอให้ท่านพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ดีกว่าฉบับเก่าไหม ถ้าดีกว่าก็โปรดรับเถิด ข้อบกพร่องที่มีเอาไว้แก้ไขภายหลังได้แค่นี้แหละทุกอย่างก็ราบรื่น อาฬวกยักษ์ ในที่นี้น่าจะเป็นมนุษย์กินคนเผ่าหนึ่ง ที่มีอยู่มากในชมพูทวีปสมัยโน้น เมื่อมนุษย์กินคนถือศีล ๕ สันติสุขมิได้เกิดแก่ชาวเมืองอาฬวีเท่านั้น หากรวมถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วย
|