ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 7201
ตอบกลับ: 7
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

~ พระอุปัชฌาย์อิ่ม สิริปุญโญ วัดหัวเขา ~

[คัดลอกลิงก์]

ชีวประวัติ หลวงพ่อ พระอุปัชฌาย์อิ่ม สิริปุญโญ
อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวเขา ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี


หลวงพ่ออิ่ม สิริปุญโญ ท่านเป็นหนึ่งใน๓พระอาจารย์ใหญ่สำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งเมืองสุพรรณในยุคช่วงก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่๒ (รัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่๖-๗) อันประกอบไปด้วย
๑.หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา (พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายเหนือของเมืองสุพรรณ)
๒.หลวงพ่อปลื้ม วัดพร้าว (พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายกลางของเมืองสุพรรณ)
๓.หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายใต้ของเมืองสุพรรณ)

อิทธิฤทธิ์ กิตติคุณ ปาฏิหาริย์ในเวทย์วิทยาคมในนามของ "หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์อิ่ม แห่งสำนักวัดหัวเขา" เป็นที่กล่าวขาน โจษจันกันมาช้านานตั้งแต่ครั้นสมัยท่านยังทรงสังขารอยู่
แม้จวบจนปัจจุบันท่านจะมรณะภาพไปนานแล้วกว่า๗๐ปีแล้วก็ตาม กิตติศัพท์ ชื่อเสียงในเวทย์วิทยาคมของท่านก็ยังคงอยู่ มิได้สูญหาย อันตธานหายไปจากใจของชาวเมืองสุพรรณตามกาลเวลา
เรื่องราวความดีและสิ่งต่างๆที่ท่านได้ถ่ายทอดและทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ให้แก่อนุชนคนรุ่นหลังอย่างเราๆทั้งหลายได้เคารพ สักการะ และเป็นหลักที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจอยู่เสมอ อย่างเช่น วัตถุมงคลที่ท่านได้สร้างขึ้นไว้ , ศาสนสถาน , ถาวรวัตถุต่างๆ , หรือจะเป็นบุคคลากร อย่างเช่น พระภิกษุสงฆ์ พระเกจอาจารย์ต่างๆที่เป็นศิษย์ท่าน และบุคคลากรอื่นๆที่มีศักยภาพทางสังคม และหลายต่อหลายอย่างอีกมากมาย ยังคงสถิตย์อยู่คู่โลกของเรามิได้ผ่านพ้นหายไปตามเวลาเลย


ประวัติของหลวงพ่ออิ่ม ท่านเลือนราง มีไม่มากพอและชัดเจนนัก เนื่องจากว่าในยุคของหลวงพ่อในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อมูลเรื่องราวของหลวงพ่ออิ่มในปัจจุบันที่ได้ศึกษากันอยู่นั้น จึงเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มาจากบทความหรือบันทึกลายลักษณ์อักษรที่มาจากหลวงพ่อ อิ่ม ผู้เป็นเจ้าของต้นเรื่อง ได้อาศัยเอาจากคำกล่าวคำบอกเล่าของลูกศิษย์ลูกหาที่ทันและทราบในเรื่องราว ของหลวงพ่อ ซึ่งแน่แท้ว่าคำกล่าวคำบอกเล่าของบุคคลหลายๆคนนั้นย่อมมีความผิดพลาด ขาดตกและบกพร่องเป็นธรรมดา


ก่อนจะกล่าวประวัติหลวงพ่ออิ่มต่อไป ก่อนอื่นขอท้าวความถึงบันทึกประวัติวัดไก่เตี้ย อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติหลวงพ่ออิ่มอย่างมาก ว่า

"วัดไก่เตี้ยได้ถูกทิ้งรกร้างลง กระทั่ง พ.ศ.๒๔๒๘ จึงได้มีหลวงพ่ออิ่ม จากวัดเสาธงทอง ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำสุพรรณ(ท่าจีน)เล็งเห็นความยากลำบากและเสี่ยง อันตรายของชาวบ้านย่านวังยางที่ต้องข้ามฟากไปทำบุญถึงวัดเสาธงทองโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำเชี่ยวกลาดน่ากลัวอันตรายอย่างยิ่ง หลวงพ่ออิ่มจึงได้ชักชวนชาวบ้านย่านวังยาง ช่วยกันฟื้นฟูวัดไก่เตี้ยจากวัดร้างให้คืนสภาพเป็นที่ควรอยู่อาศัยขึ้นมา ใหม่ จวบจนต่อมาก็ได้นิมนต์หลวงพ่อแสน สุวณฺโณ (จากวัดใดไม่ปรากฎ) ให้มาอยู่ประจำขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา ส่วนตัวหลวงพ่ออิ่มท่านเองต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่วัดหัวเขา นับได้ว่าวัดไก่เตี้ยได้กลับคืนสภาพเป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาต่อเนื่อง สืบสภาพมานับแต่กาลนั้นจนถึงปัจจุบัน"

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 12:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ชาติภูมิ

พระอุปัชฌาย์อิ่ม สิริปุญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวเขา ท่านมีนามเดิมว่า อิ่ม ไม่มีนามสุกล(ยุคสมัยก่อนนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้กัน) ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ปีจอ เดือน ๗ ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงกับวันที่ ๑ เดือนมิถุนายน ปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ ส่วนภูมิลำเนานั้นไม่ปรากฏ แต่มีความเป็นไปได้สันนิษฐานว่า)มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าท่านน่าจะเป็นชาว อ.ศรีประจันต์ เนื่องจากว่าท่านได้บวชเรียนอยู่วัดเสาธงทอง อ.ศรีประจันต์ ทั้งยังได้ฟื้นฟูวัดไก่เตี้ย อ.ศรีประจันต์ และในเขต อ.ศรีประจันต์นั้นก็ยังปรากฏพระเกจิอาจารย์ซึ่งได้ตามไปเป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออิ่มอยู่หลายท่าน และยังมีสหธรรมิก(ศิษย์ร่วมสำนัก)หลวงพ่ออิ่มอยู่ในเขตพื้นที่ศรีประจันต์นี้อีกด้วย

อุปสมบท

เมื่ออายุครบเกณฑ์วัยอุปสมบทได้แล้ว ท่านจึงอุปสมบทตามประเพณีไทย เมื่อประมาณ ปีพุทธศักราช ๒๔๒๖-๒๔๒๘ (อันอยู่ในช่วงระหว่างนี้ ไม่เกินปี พุทธศักราช๒๕๒๘อย่างแน่นอน เพราะเป็นปีที่ตามประวัติวัดไก่เตี้ย ได้บันทึกไว้ว่าหลวงพ่ออิ่มสมัยนั้นจำพรรษาอยู่วัดเสาธงทองพร้อมด้วยญาติโยมได้เริ่มฟื้นฟูวัดไก่เตี้ยขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๒๘)

ส่วนพัทธสีมาที่ทำการอุปสมบทและพระอุปัชฌาย์นั้นไม่ทราบ แต่ข้อสันนิษฐานซึ่งมีความเป็นไปได้สูง สันนิษฐาน ซึ่งใช้หลักแห่งความสมเหตุสมผลว่า...

หลังจากท่านอุปสมบทแล้วท่านคงจำพรรษาแรก ณ.วัดเสาธงทอง (ท่านอุปสมบทอยู่ในช่วงประมาณพ.ศ.๒๔๒๖ถึงก่อนพ.ศ.๒๔๒๘อันเป็นปีที่ท่านได้ย้ายจากวัดเสาธงทองซึ่งจำพรรษาอยู่แต่เดิม เพื่อไปฟื้นฟูวัดไก่เตี้ย)

และหากเป็นดังข้อสันนิษฐานแล้วนั้นท่านจำต้องเข้ารับการอุปสมบทจากพัทธสีมาวัดพร้าวเป็นแน่ เนื่องจากว่าในยุคนั้นวัดเสาธงทองยังไม่มีพระอุโบสถ กุลบุตรทั้งหลายในละแวกนี้หากจะเข้ารับการอุปสมบทจำเป็นจะต้องไปใช้พัทธสีมาวัดพร้าว ซึ่งอยู่ทางใต้แม่น้ำท่าจีนลงไปจากวัดเสาธงทง เพราะว่าที่วัดพร้าวนี้มีอุโบสถและพระอุปัชฌาย์ ซึ่งนั่นก็คือ หลวงพ่อแก้ว และหากหลวงพ่ออิ่ม อุปสมบท ณ.วัดพร้าวแล้ว อุปัชฌาย์ของท่านก็ย่อมคือ หลวงพ่อแก้ว วัดพร้าว นั้นเอง

"หลวงพ่ออิ่ม เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดหัวเขา"

หลังจากหลวงพ่ออิ่มร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟู พัฒนาวัดไก่เตี้ยขึ้นมาใหม่และได้นิมนต์หลวงพ่อแสนมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไก่เตี้ยแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆจวบจนเวลาต่อมาจึงได้ไปปักกลดปฏิบัติธุดงควัตรอยู่บริเวณวัดหัวเขาในปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมในยุคนั้นยังคงเป็นป่ารกทึบ จากคำบอกเล่าของญาติโยมที่เป็นคนเก่าแก่เล่าว่าหลวงพ่ออิ่มท่านได้เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวบ้านละแวกนั้นเป็นอันมาก จึงพร้อมด้วยชาวบ้านสร้างวัดหัวเขากันขึ้นมา และชาวบ้านได้นิมนต์ท่านจำพรรษาอยู่เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดหัวเขา

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 12:21 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
แม้ว่าประวัติของหลวงพ่ออิ่มค่อนข้างเลือนราง แต่ก็มีเกร็ดเรื่องราวของท่านบางตอนน่าสนใจเกี่ยวกับท่านว่า

๑ .หลักฐานจากหนังสือพระราชทานเพลิงศพพระครูวรนาถรังษี หลวงพ่อปุย วัดเกาะ กล่าวว่า พ.ศ.๒๔๖๓ หลวงพ่อปุยได้เดินทางมาฝากตนเป็นศิษย์หลวงพ่ออิ่ม และอาจารย์มนัส โอภากุล เขียนไว้ว่า หลวงพ่ออิ่มกล่าวยกย่องหลวงพ่อปุยว่า เปรียบเสมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว สอนอะไรก็เข้าใจง่าย ศึกษาได้รวดเร็ว ไม่ต้องจ้ำจี้จำไชเท่าไรนัก หลวงพ่อปุยเองก็เคยเล่าให้ศิษย์ฟังเสมอๆว่า หลวงพ่ออิ่มท่านเป็นพระที่เคร่งในพระธรรมวินัยมาก ญาณสมาบัติสูงมาก

๒. มีคำกล่าวว่าในการอุปสมบทครั้งแรกของหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรีนั้น หลวงพ่ออิ่ม ท่านเป็นพระคู่สวดให้ (หลวงพ่อมุ่ย บวชครั้งแรกประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑) แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนชัดเจนว่าจริงหรือเปล่า

๓. ในการอุปสมบทครั้งที่สองของหลวงพ่อมุ่ย หลวงพ่อมุ่ยท่านก็ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่ออิ่ม จากหนังสืองานทำบุญอายุครบ๘๐ปีหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ ที่ทางวัดดอนไร่จัดพิมพ์แจกออกมาในปีพ.ศ.๒๕๑๒ กล่าวถึงประวัติหลวงพ่อมุ่ยซึ่งเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงหลวงพ่ออิ่มว่า หลวงพ่อมุ่ยอุปสมบทครั้งที่๒ใน ปีพ.ศ.๒๔๗๒ หลังจากอุปสมบทแล้วไปจำวัดยู่วัดหนองสะเดาประมาณ๖เดือน แล้วจึงมาอยู่วัดดอนไร่อีก๖พรรษาเศษ แล้วจึงย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดหัวเขาในสำนักของหลวงพ่ออิ่มซึ่งคำนวณแล้วตรงกับประมาณ พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นระยะเวลา๑พรรษา เพื่อเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่ออิ่ม

๔. มีคำกล่าวจากสื่อต่างๆในวงการพระเครื่องว่าหลวงพ่ออิ่มเป็นศิษย์หลวงปู่ศุข ว่า เมื่อหลวงพ่อมุ่ยได้ศึกษาวิชาจนแตกฉานแล้วจากหลวงพ่ออิ่ม หลวงพ่ออิ่มได้เมตตาพาหลวงพ่มุ่ยไปศึกษาวิชาเพิ่มเติมจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ซึ่งชอบคอกันกับหลวงพ่ออิ่มท่าน ได้มีคำกล่าวขานจากชาวบ้านซึ่งอ้างว่าเคยถามกับหลวงพ่ออิ่ม หลังจากที่เดินทางพาหลวงพ่อมุ่ยมุ่งหน้าไปหาหลวงปู่ศุขหลายเดือนก่อนจะกลับมาว่า หลวงพ่ออิ่มได้อะไรกลับมาบ้าง หลวงพ่ออิ่มท่านตอบว่า ท่านแก่แล้วจึงได้มาเพียงครึ่งเล่ม แต่หลวงพ่อมุ่ยท่านหนุ่มกว่าจึงได้มาถึงเล่มครึ่ง แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนชัดเจนว่าจริงแท้แน่นอนเป็นเช่นไร่ เพราะหากดูจากช่วงเวลาในปีที่หลวงพ่อมุ่ยมาเรียนวิชาจากหลวงพ่ออิ่มนั้นอยู่ในช่วงปีพ.ศ.๒๔๗๘นั้น หลวงปู่ศุขท่านมรณภาพไปนานแล้วถึง๑๒ปี(หลวงปู่ศุขมรณะพ.ศ.๒๔๖๖) ประเด็นนี้ก็ยังคงมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่
อีกทั้งสื่อและหนังสือพระมากมาย อย่างเฉกเช่นในสมัยก่อนชอบยัดวัตถุมงคลหลวงพ่ออิ่มขายเป็นหลวงปู่ศุข เพื่อจะขายได้ราคาที่สูงขึ้น เช่น พระผงดำหลวงพ่ออิ่มนั้น เป็นต้นว่าในสมัยก่อนซื้อขายตีกันเป็นหลวงปู่ศุขกันเลยทีเดียว อันนี้ก็ขอฝากไว้ให้ขบคิดพินิจพิเคราะห์พิจารณาตามแต่ดุลยพินิจของแต่ละท่าน หากหลวงพ่ออิ่มท่านเป็นศิษย์หลวงปู่ศุขจริงก็ขอร่วมอนุโมทนาสาธุกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันนี้ แต่หากว่าท่านไม่ได้เป็นจริง แล้วการที่เราไปยัดไปแต่งเสริมเติมแต่งสร้างเรื่องราวประวัติชีวิตของท่าน เสมือนเราได้ไปเขียนกำหนดเส้นทางชีวิตท่านนั้น ก็เห็นว่าจะเป็นการมิสมควร ข้อความตรงไหนที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน หรือความรู้สึกส่วนตัวนั้น อย่าได้ลืมบอกไว้ว่าเป็นเพียง "สันนิษฐาน" หรือ"เรื่องเล่าที่ไม่ชัดเจน" มิใช่ละทิ้งเสีย หากรู้เท่าไม่ถึงการไปก็มิเป็นไร แต่หากรู้แล้วยังไปขืนทำกันอยู่เรื่องยัดวัด ยัดพระยัดเกจินั้น มีแต่จะทำให้วงการเสื่อมเสีย อนุชนคนรุ่นหลังที่ศึกษาเรื่องราวสืบกันต่อไปก็มีแต่จะเดินไปเส้นทางที่ผิด เพราะว่าเราได้ขีดเขียนเส้นทาง แนวทางที่ผิดกันให้ไป

4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 12:23 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ครูบาอาจารย์และสหธรรมิก

หลวงพ่ออิ่มท่านถือธุดงค์เป็นวัตรและพบครูบาอาจารย์ดีก็ศึกษาหาความรู้ไปเรื่อย ทั้งตำหรับตำราวิชาก็มากมี อันที่จริงหลวงพ่ออิ่มท่านเก่งได้ด้วยตัวท่านเอง เรื่องของครูบาอาจารย์ท่านนั้นไม่สามารถสืบค้นกันได้ชัดเจน แต่หากเอาจากข้อสันนิษฐานกัน ก็คือ

๑.หลวงพ่อแก้ว วัดพร้าว จ.สุพรรณบุรี (สันนิษฐาน)
ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ขึ้นชื่อลือชาในพระเวทย์วิทยาคม แห่งสำนักตักศิลาวิทยาคมวัดพร้าว บ้านโพธิ์เจ้าพระยา เมืองสุพรรณบุรีมาก ท่านอาวุโสกว่าหลวงพ่อเนียม วัดน้อย หลวงพ่อแก้วเป็นพระอุปัชฌาย์ที่กำการอุปสมบทให้กุลบุตรนับว่าค่อนจังหวัดได้ เพราะว่าในยุคนั้นเมืองสุพรรณบุรีมีพระอุปัชฌาย์เพียงสองสามรูปเอง หลวงพ่อแก้วท่านนับได้ว่าเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ของหลายเกจิเมืองสุพรรณเลยทีเดียว

๒.หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท (ข้อมูลยังไม่สมเหตุสมผล ไม่ชัดเจน)
หลวงปู่ศุขนั้นขึ้นชื่อเรืงเวทย์เป็นที่โจษจันกันอยู่แล้ว กล่าวกันว่าหลวงพ่ออิ่มท่านเป็นทั้งศิษย์และสหธรรมิกของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าด้วย

กิตติศัพท์หลวงพ่ออิ่ม

หลวงพ่ออิ่มท่านเป็นที่นับถือมากสำหรับชาวบ้านในย่านใกล้เคียงมาก กล่าวกันว่าท่านมีคุณวิเศษสามารถเดินตากฝนกลางแจ้งในขณะเวลาที่ฝนกำลังตกได้โดยที่ท่านไม่เปียกฝนเลย และยังสามารถทำมือยาวไปหยิบกระเบื้องบนหลังคาโบสถ์ได้ คนเฒ่าคนแก่เล่าขานกันว่าหลวงพ่ออิ่มชอบไปคุยด้วยกับสหธรรมิกของท่านที่วัดน้อยชมภู่ อ.ศรีประจันต์ อันตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดเสาธงทองซึ่งเป็นภูมิสถานครั้นท่านจำพรรษาอยู่แต่เดิม ไม่แน่ใจว่าเป็นในสมัยหลวงพ่อขำหรือหลวงพ่อเหมือนเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อยชมภู่แต่เวลาไปคุย ตัวหลวงพ่ออิ่มท่านไม่ได้ไป ท่านขว้างสบงเป็นก้อนลงมาจากบนเขา แล้วสบงวิ่งเข้าป่าไปโผล่ที่วัดน้อยชมภู่ ปรากฏเห็นเป็นหลวงพ่ออิ่มไปนั่งสนทนาอยู่ที่นั่น แต่ตัวหลวงพ่ออิ่มยังอยู่ที่วัดหัวเขา

สมัยที่หลวงพ่ออิ่มท่านได้ปกครองวัดหัวเขา ท่านพัฒนาวัดหัวเขาจนเป็นวัดที่เจริญวัดหนึ่งในสมัยนั้น เป็นตักศิลาแห่งวิชาที่มีพระภิกษุสงฆ์เดินทางมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์มากมาย อาทิ
หลวงพ่อปุย วัดเกาะ
หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่
หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน
หลวงพ่อกวย วัดโฆษิตาราม(สันนิษฐาน)
หลวงพ่อเต๊ะ วัดม่วงคัน
หลวงพ่อโต วัดโพธิ์ศรีเจริญ
หลวงพ่อปี วัดพิหารแดง
หลวงปู่แขก วัดหัวเขา
หลวงพ่อเปล่ง วัดหัวเขา
เป็นต้น

มรณภาพ

หลวงพ่ออิ่มปกครอง พัฒนาคนพัฒนาวัดเรื่อยมา จวบจนได้รับแต่งตั้งสมณศักด์สุดท้ายที่ "พระครูปลัดอิ่ม สริปุญโญ" ก่นท่านจะมรณภาพลง ในอิริยาบทท่านั่งสมาธิ เมื่อประมาณต้นปีพ.ศ.๒๔๘๐ สิริอายุ ๗๔ปี ซึ่งนับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์๑ใน๒รูปของเมืองสุพรรณที่มรณภาพในท่านั่งสมาธิ ซึ่งอีกท่านนั้นก็คือหลวงพ่อเซ้ง วัดพร้าว

ปัจจุบันวัดหัวเขามีประเพณีการตักบาตรเทโว คราวันออกพรรษาที่ขึ้นชื่อที่สุดของเมืองสุพรรณบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเดิมบางนางบวช
และที่วัดยังมีมณฑปที่สร้างมาตั้งแต่ครั้นสมัยหลวงพ่ออิ่ม มีรูปเหมือนหลวงพ่ออิ่มให้ประชาชนได้เคารพปิดทองสักการะบูชา ท่านใดที่ผ่านไปเดิมบางนางบวชก็อย่าลืมเข้าไปกราบนมัสการได้ที่วัดหัวเขาครับ
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 12:24 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
วัตถุมงคล

ด้วยบารมีอันยิ่งใหญ่ของหลวงพ่อ สังเกตุได้จากวัตถุมงคลที่ท่านสร้างออกมา มีมากมายหลายชนิด ตามความต้องการของผู้เคารพรักและศรัทธาในหลวงพ่อว่ามีมากมายขนาดไหน

ในยุคที่หลวงพ่ออิ่ม ครองวัดหัวเขา มีการสร้างเครื่องรางของขลังโบราณหลายชนิด เช่น ตะกรุดแบบต่างๆ รวมทั้งผ้ายันต์ เหรียญปั๊ม เหรียญหล่อโบราณ รูปหล่อโบราณ(นางกวัก) แหวนแบบต่างๆ พระพิมพ์ดินเผา พระผงใบลาน เป็นต้น
อันเป็นวัตถุมงคลของหลวงพ่ออิ่ม เชื่อกันในหมู่ผู้บูชาตั้งแต่สมัยก่อนจวบจนปัจจุบันว่า ประสบการณ์ยอดเยี่ยม มีคุณวิเศษในด้านบันดาลความมั่งมีศรีสุข เมตตามหานิยม ไปมาค้าขายดีมาก ส่วนเรื่องอยู่ยงคงกระพันชาตรีนั้นก็เลิศ แบบแมลงวันไม่มีวันได้กินเลือด กล่าวขานกันอย่างนี้มาช้านาน ตั้งแต่สมัยเหล่าทหารเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่๑แล้ว

ในการสร้างพระและวัตถุมงคลต่างๆ หลวงพ่ออิ่มท่านจะบอกบุญไปทางญาติโยม ในสมัยนั้นไม่มีการเรี่ยไรเงินโดยการกำหนดกฏเกณฑ์ตั้งราคาวัตถุมงคลให้เช่าบูชาทำบุญกันเฉกเช่นปัจจุบัน แต่ในสมัยนั้นผู้คนจะนำวัสดุพวกโลหะต่างๆมาให้หลวงพ่อทำให้ครับ กรรมวิธีการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่ออิ่มนั้นส่วนใหญ่ก็สร้างกันเองทำกันเองภายในวัดครับ มีอย่างจำพวกเหรียยปั๊มก็ต้งสั่งโรงงานไปครับ นอกนั้นก็จะตั้งใจสร้าง ทำกันเองเป็นพุทธบูชาครับ

การจัดสร้างของลพ.อิ่มท่านจะมีลักษณะเฉพาะคือ เวลาท่านจัดสร้างอะไร ท่านจะประกาศข่าวออกไปให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงทราบ ใครอยากจะร่วมบุญอะไร อย่างไร ก็นำมาร่วมสร้างได้เช่น เช่น สร้อย กำไล ขันเงิน ฯลฯ แล้วแต่ศรัทธาของเจ้าภาพ เมื่อถึงเวลาก็จะนำโลหะต่าง ๆ เหล่านั้นนำมาหลอมรวมกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยว่ากันว่าลพ.อิ่มท่านจะใช้กสิณไฟซึ่งท่านจะส่งพลังออกไปจากตัวท่านไปยัง เต้าหลอม ดังนั้นโลหะแม้ว่าจะต่างชนิดกันก็สามารถหล่อหลอมตัวเข้าหากันได้

ดังนั้นของลพ.อิ่ม จึงเป็นที่ต้องการกันมากโดยเฉพาะบรรดานักเล่นเครื่องรางรุ่นเก่า เพราะเล่นหาง่ายกว่าและราคาเช่าหาเบาๆครับ

อิทธิวัตถุมงคลของ "หลวงพ่ออิ่ม" วัดหัวเขา จ.สุพรรณบุรี มีแพร่หลายไปในวงกว้าง พระของท่านคงจะสร้างไว้น้อย ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ พระหล่อโบราณ ในวงการนักนิยมพระเครื่องรางของขลังถือว่าใครมีวัตถุมงคลหลวงพ่ออิ่ม นับได้ว่าเป็นผู้มีวาสนา ก็มีอยู่หลายพิมพ์ด้วยกัน ได้แก่ เหรียญหล่อใบเสมา ที่คุ้นหูคุ้นตาอย่างน้อย ๓ แบบ แตกต่างกันที่รายละเอียด นอกจากนี้ยังมีนางกวัก ๒ พิมพ์ หล่อแบบโบราณ อีกพิมพ์หนึ่งเป็นพิมพ์พระพุทธรูปหล่อโบราณแบบลอยองค์ก็มี พระปิดตา แบบมหาอุด หมายถึง ปิดตาและปิดทวาร พิมพ์นางกวัก มีสร้างไว้หลายแบบ พญาเต่าเรือน นอกจากนี้ก็ยังมี แหวนพิรอด หัวพระปิดตา หัวพระพุทธ มี ๒ แบบ ทั้งหมดสร้างด้วยเนื้อโลหะแบบหล่อโบราณ


เกี่ยวกับเหรียญ และรูปหล่อโลหะ พอมีหลักฐานจากรูปทรงใบเสมาบ่งบอกว่าน่าจะสร้างในยุคเร็วที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงใดช่วงหนึ่ง เพราะรูปทรงใบเสมานั้นตั้งต้นสร้างรุ่นแรกของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ อาจจะเป็นตอนกลางหรือตอนปลายในสมัยของพระองค์ หรือไม่ก็อาจจะเป็นการสร้างในสมัยหลังจากนั้น ช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนหลวงพ่ออิ่มท่านมรณภาพเมื่อปี ๒๔๘๐

เหรียญหล่อหลวงพ่ออิ่มมีด้วยกันหลายทรงหลายแบบ ปัจจุบันต้องระวังของเทียมของเลียนแบบให้ดี มีมานานแล้วกว่าสามสิบปี อีกทั้งระวังของยัดวัด หรือการสับสนกับของพระเกจิอาจารย์อื่นเป็นให้ดี จุดสำคัญเลยควรดูธรรมชาติความเก่า ดูเนื้อ ดูศิลป์ให้เป็น

พระพิมพ์ดินเผา เป็นวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเริ่มสร้างมานานตั้งแต่ครั้นยุคแรกๆเรื่อยมา มีทั้งเนื้อผงคลุกรัก ผงใบลานเผา ดินเผา นิยมเรียกขานกันตามสีตามพิมพ์นั้นๆ ว่าผงดำบ้าง ผงแดงบ้าง ขุนแผนบ้าง เป็นต้น สำหรับพิมพ์ทรงก็มีด้วยกันมากมายหลายพิมพ์ ปัจจุบันพบน้อย ไม่แพร่หลายนัก
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2013-3-29 12:25 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้


พระผงดำ

พระผงดำของหลวงพ่ออิ่มที่เป็นมาตรฐานนั้นมีด้วยกัน๓พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์สมาธิ ๒.พิมพ์มารวิชัย ๓. พิมพ์ปิดตา อายุของเนื้อพระนั้นเก่ามาก เนื้อจะใกล้เคียงและมีอายุพอกับพระผงของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า สมัยก่อนนักเล่นพระยุคเก่านิยมเล่นพระผงดำหลวงพ่ออิ่มเป็นพระของหลวงปู่ศุข แต่ต่อมาพบพยานยืนยันแถวเดิมบางว่าเป็นของหลวงพ่ออิ่มวัดหัวเขาแน่นอน

พระผงดำนั้นหลวงพ่อได้ตั้งใจทำเป็นอย่างมาก ท่านได้ทำตะกรุดดอกเล็กๆ เสียบเข้าใต้ฐานแล้วปาดผงปิดไว้ โดยทั่วไปจะมองไม่เห็น แต่ก็มีบางองค์ที่เห็นโผล่ออกมาให้เห็นนิดหน่อย ถ้านำไปเอกซ์เรย์จะเห็นทันทีว่ามีตะกรุดสอดอยู่ภายใน พระผงดำนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีประสบการณ์มาก ทั้งทางเมตตาโชคลาภตามพุทธคุณของพระเนื้อผง แต่ที่เด่นเท่าที่ได้ยินมาว่า คงกระพันชาตรีเป็นเลิศ มีคนเดิมบางเคยเล่าว่า ลองเอาพระผงดำยัดใส่ปากปลาช่อนแล้วใช้มีดสับไม่เข้าครับ เป็นเรื่องที่เล่าต่อกันมา

พระผงดำพิมพ์ยอดนิยมทั้ง๓พมพ์นั้นพิมพ์ปิดตาจะหายากที่สุด พิมพ์นิยมสุดก็จะเป็นพิมพ์สมาธิ และรองลงมาคือพิมพ์มารวิชัย ปัจจุบันมีของเก๊ระบาดอีกทั้งของพระเกจิลูกศิษย์รุ่นหลังทำเลียนแบบขึ้นมา การเล่นหาควรศึกษาให้ดีและมีความระมัดระวัง

ความก้าวหน้าในการหล่อหลอมโลหะในสมัยนั้น ส่งผลให้วงการพระเกจิอาจารย์สร้างวัตถุมงคลเนื้อโลหะแบบต่างๆไว้มากและกว้างขวางออกไปรอบนอกเขตสังฆปริมณฑล แม้ว่าพระของหลวงพ่ออิ่มจะใช้วิธีการหล่อแบบโบราณ ก็ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย น่าจะเป็นเจตนามากกว่า ส่วนเหรียญปั๊มของท่านก็พอมี ไม่นับพระเนื้อผง
พระเครื่อง เนื้อโลหะ รวมทั้งเครื่องรางของขลัง อันเป็นวัตถุมงคลของหลวงพ่ออิ่ม เชื่อกันในหมู่นักเลงพระว่าประสบการณ์ยอดเยี่ยม เหรียญหล่อโบราณใบเสมาเชื่อถือกันว่ามีคุณวิเศษในด้านบันดาลความมั่งมีศรี สุข ไปมาค้าขายดีมาก ถ้าใครมีเหรียญใบเสมา หล่อโบราณ พิมพ์นางกวัก กับนางกวัก รูปหล่อลอยองค์ไว้บูชา ไม่มีผิดหวัง แต่ถ้าได้เหรียญหล่อโบราณ พิมพ์พระพุทธ กับพระปิดตามหาอุดลอยองค์ ส่วนแหวนพิรอดก็เช่นกัน แบบหัวพระปิดตา ใช้ในทางแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี แต่หัวพระพุทธนั้นมีประสบการณ์ด้านเมตตาบารมี เสน่ห์ของวัตถุมงคล เนื้อทองเหลือง ทุกแบบของหลวงพ่ออิ่ม อยู่ที่ความเข้มขลัง ประกอบกับการหล่อแบบโบราณ ทำให้เนื้อโลหะขรุขระเหมือนของเก่า ยิ่งดูยิ่งเข้าตา บางท่านถือว่าเป็นการหล่อที่ต้องตำรับการสร้างอย่างพราหมณาจารย์โบราณ ที่จะต้องมีพิธีปลุกเสกตามหลักอาถรรพเวท จากคัมภีร์พราหมณ์ เมื่อผ่านการปลุกเสกแล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะได้มาสถิตประสิทธิ์ผลแก่ผู้บูชาในอิทธิวัตถุดังกล่าว การสร้างพระเครื่องรางและวัตถุมงคล ด้วยเนื้อโลหะ เป็นที่นิยมในเหล่าพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยหลายท่าน ซึ่งต่างก็มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท หลวงพ่อโบ้ย วัดมะนาว เป็นต้น แต่ของ หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา แม้ว่าวัตถุมงคลเนื้อทองเหลืองของท่าน จะสร้างไว้น้อยกว่าพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ แต่กิตติศัพท์ในคุณวิเศษหาได้ยิ่งหย่อนเลยแม้แต่น้อย

www.212cafe.com

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x

กราบนมัสการครับ

ขอบพระคุณข้อมูลครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้