ทำไมจึงเรียกว่า ขันธ์ ขันธ์ แปลว่ากอง หมวดหมู่ เป็นกองไว้
อย่างขันที่เราเรียกของภายนอก ขันใส่ข้าว ขันใส่น้ำ ขันใส่ดอกไม้ ฯลฯ มันเป็นขันอันหนึ่ง
เขาใส่เอาไว้ไม่ให้มันกระจัดกระจายไป เรียกว่าขัน
อันนี้ก็เหมือนกัน ไม่ให้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กระจัดกระจายไป
จัดไว้เป็นหมวดเป็นหมู่แต่ละอย่างไม่ให้มันปนกัน
สมมติบัญญัติอธิบายไปหลายเรื่องหลายอย่าง ล้วนอธิบายถึงเรื่องของใจตัวเดียวนี่แหละ
เรียกว่า ขันธ์ เรียกว่า ธาตุ อายตนะ อะไรต่างๆ หลายอย่าง
แต่ก็หมายถึงตัวเดียวคือใจนั่นแหละ พอเรียกอันนั้นอันนี้สารพัดต่างๆ ไปก็ฟังเพลินไปเลย
เลยลืมตัวเดิมคือ ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ใจเป็นใหญ่
ใจเป็นผู้เห็นธรรม ใจเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวงหมด ถ้าไม่มีใจสิ่งทั้งปวง ในโลกก็ไม่มี
สิ่งทั้งปวงหมดเกิดจากใจอันเดียว อย่างสร้างบ้านสร้างเรือนใหญ่ๆ โตๆ
นี่ถ้าใจไม่มี แล้วใครจะไปสั่งสร้าง ตนตัวของเรานี้ถ้าใจไม่มีมันจะอยู่ได้อย่างไร
ก็ต้องดับสูญไปละซิ ใจเป็นใหญ่ มันอยู่ได้ก็เพราะใจ
นี่แหละขอให้พิจารณาอย่างนี้ ไม่ต้องไปพิจารณาอื่นไกล
ธรรมทั้งหลายนั้นมีอยู่ในตัวของเรา หมด
ขอให้เชื่อแน่วแน่ในใจในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า
โอ ! ธรรมนี้มีอยู่ในตัวของเรานี้เอง จะขึ้นเหนือล่องใต้
จะไปไหนใกล้หรือไกล ธรรมมีอยู่ในตัวเราหมดทุกสิ่งทุกประการแล้ว
เราหอบธรรมไปแต่เราไม่ดูธรรมของเราน่ะซี มันจึงไม่เห็นธรรม
ครั้นมาดูตรงนี้แล้วเห็นธรรมชัดเจนขึ้นมาว่า อ๋อ ! ธรรมอยู่ที่นี่หรอกก็หมดเรื่อง
ทีนี้ไม่ต้องวิ่งหาหรอก ธรรมมีอยู่ในตัวของเราแล้ว
จึงว่าขอให้ตั้งศรัทธาเชื่อมั่นเต็มที่แล้วพิจารณาธรรมะ ก็จะไม่มีที่สิ้นที่สุด
ธรรมะมีอยู่ในตัวของเรา อันนี้เป็นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนทุกๆ คัมภีร์
ทรงแสดงออกไปจากธรรมะอันนี้อันเดียวเท่านั้น
(นั่งสมาธิ)
(ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน)
ได้อธิบายมามากแล้ว เรื่องกายของเรานี้มันประกอบด้วยธาตุสี่
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม (และอยู่ได้ด้วยธาตุสี่
จึงจะประกอบกิจการหรือคุณงามความดีได้ทุกประการ)
ถ้าไม่มีธาตุสี่อันเป็นโครงร่างนี้แล้ว สิ่งประกอบเป็นต้นว่า ขันธ์ห้า อายตนะหก เป็นต้น
ที่จะขับให้เคลื่อนไหวในการที่จะทำกิจนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าจะนำไปติดไว้ตรงไหน
และธาตุสี่อันนี้ก็หาประโยชน์ไม่ได้
เมื่อเราได้ของดีมีค่ามหันต์ และเป็นของอัศจรรย์อย่างนี้
จึงควรพิจารณาด้วยจิตให้เป็นธรรม คือให้พิจารณาให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยสมาธิจริงๆ
ถ้าจิตไม่เป็นสมาธิแน่วแน่ในอารมณ์อันเดียวที่ ตนมีอยู่นั้นแล้ว
จะพิจารณาอย่างไรมันก็ไม่ชัดเลย เหมือนกับคนขับรถไม่รู้เรื่องของรถ
เวลารถติดขัด หรือรถเสียก็ไม่รู้จะทำประการใด ถ้าคนรู้จักเรื่องรถดี
มันติดขัดตรงไหนหรือเสียตรงไหนก็จะเข้าไป แก้ตรงนั้นทันที
รถก็จะวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวก
กายอันนี้ซึ่งมีจิตเป็นใหญ่เป็นผู้ขับขี่ให้เคลื่อนไหวไปมาได้
ซึ่งประกอบด้วย ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น เป็นเครื่องยนต์ เมื่อติดขัด
ดินฟ้าอากาศแปรปรวนก็ดี หรือด้วยคลื่นมรสุม คือ กิเลส มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
ต้องรู้จักจุดเสียของมัน ติดขัดเพราะของภายนอกก็ต้องแก้ด้วยของภายนอก
เช่น อากาศวิปริตทำให้ร่างกายไม่สบาย ก็แก้ด้วยยาหาหมอ เป็นต้น
ติดขัดเพราะของภายใน ก็แก้ด้วยยาธรรมโอสถใช้อุบายแยบคายของตนเอง
จะหาหมออย่างยาภายนอกไม่มีแล้วเวลานี้
เพราะพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นหมอธรรมโอสถปรินิพพานแล้ว
ฉะนั้น กิเลสของใคร ใครก็ต้องรู้ว่ามันเกิดขึ้นที่ใจของตนเอง
ทำใจของตนเองให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส เราเห็นโทษของกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว
เรายอมสละปล่อยวางให้หนีจากจิตของเรา จิตของเราก็จะปลอดโปร่งสบายไปเลย
เพราะจิตของคนเราเป็นของผ่องใสมาแต่เดิม ถ้าจิตไม่ผ่องใสมาแต่เดิมแล้ว
ใครจะชำระจิตอย่างไรก็ผ่องใสสะอาดไม่ได้
ส่วนกิเลสเป็นของจรมาใหม่ต่างหาก เราจึงสามารถชำระออกไปได้
เปรียบดังคนเราอยู่คนเดียวเฉยๆ ไม่มีอะไร พอมีคนมาด่าว่า
ความโกรธวิ่งเข้าปกปิดจิตใจ ให้มืดมิด ไม่รู้จักชั่วดีอะไรแล้ว
ฉะนั้น จึงชำระกิเลสอันมาปกปิดจิตใจนั้น ให้หนีออกไปจากจิตเสีย
จิตใจของเราก็ผ่องใสสะอาดปกติอย่างเดิม.
ที่มา
http://www.dharma-gateway.com/monk/prea ... hes_12.htm