ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 4140
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

"ปล่อยผู้กระทำผิดไป ๑๐ คน ดีกว่าเอาผู้บริสุทธิ์คนเดียวมาลงโทษ"

[คัดลอกลิงก์]

อิสรภาพบนเส้นบรรทัด..
           "
            มีดินแดนหลากหลายที่คนไขว่คว้าอยากไปให้ถึง ไม่ว่าที่แห่งนั้นจะอยู่ไกลแสนไกล สุดขอบฟ้า นอกโลก ดวงจันทร์ และดาวอื่นๆ ก็น่าจะไปถึงได้
แต่มีอยู่ที่หนึ่ง ไม่ว่าท่านจะมีเงินทอง ร่ำรวยมหาศาลเพียงใด ท่านก็ไม่อาจจะเข้านอนพักแรม ค้างคืน ตากอากาศ กินลม ชมทิวทัศน์ได้ง่ายๆ หากท่านไม่มีความสามารถพอ หรือใบสั่งที่จะนำพาท่านมาที่นี่ได้ และเมื่อเข้ามาแล้วก็จะต้องอยู่กับความตื่นเต้น เร้าใจ และอาจะต้องท่องเที่ยวไปเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรืออาจจะไม่สามารถพาชีวิตรอดกลับไปได้ หากดวงชะตาชีวิตท่านไม่ดีพอ
           มันคือดินแดนที่กระบวนการยุติธรรมหยิบยื่นให้ สำหรับผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น "อาชญากร"
           แต่ละคนล้วนมาจากทั่วสารทิศ จะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเลว จะชั่วโดยสัน-ดาน หรือโดยความจำเป็น หรือแม้แต่เหล่าบรรดาที่เรียกตัวเองว่า "แพะ" ก็ตาม ต้องเข้ามาอยู่ร่วมกันโดยมิได้นัดหมาย ไม่ต้องรู้จักกันมาก่อน ดินแดนแห่งนั้นก็คือ "บางขวาง แดน ๑" หรือที่รู้จักกันว่า "ห้องประหาร" อันเป็นที่อยู่ของนักโทษประหารทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อศาลพิพากษาแล้วว่าสมควรตายก็จะถูกส่งมาขังไว้ที่นี่ เพื่อรอการประหาร เมื่อถึงเวลาก็จะมาหิ้วตัวไปขึ้นเขียง
           ดูแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับ "สัตว์ที่ขังกรงไว้" รอเวลาฆ่าเมื่อโตเต็มที่หรือมีน้ำหนักตามที่ต้องการ ทุกคนต่างก็ลุ้นว่าอย่าให้ถึงคิวตัวเอง

           ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่โชคดี มีโอกาสได้ย่างกรายเข้ามาสัมผัสภายในดินแดนแห่งนี้โดยไม่เจตนาและไม่ตั้งใจ เป็นครั้งแรกในชีวิตและก็สำทับกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต จะไม่หวนกลับมาที่นี่เป็นอันขาด หากจะบอกว่าเข็ดแล้วก็คงจะไม่ใช่ ต้องบอกว่า หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่กระทำผิดโดยเด็ดขาดดีกว่า เพราะไม่อยากจะมีชีวิตอยู่อย่างเฉียดตายเป็นรายวันเช่นนี้
           เมื่อเข้ามาอยู่ได้สักระยะหนึ่งก็ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากมาย จากที่เคยคิดว่าตัวเองอาจจะเข้ามาเพียงชั่วคราว เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม คงไม่เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ สิ่งที่คาดหวังไว้อาจไม่สมหวังดังที่คิดเสียแล้ว เมื่อผมได้รับคำเตือนจากเพื่อนๆ ผู้ต้องขังว่า "ระวังนะ คดีดังๆ และสื่อมวลชนตีข่าวบ่อยๆ ศาลมักตัดสินไปตามกระแส น้อยรายที่จะรอดไปได้ รู้ไหมว่าในคุกมีแพะอยู่ไม่น้อย ที่ประหารไปแล้วก็ไม่ใช่น้อย"
           เพื่อนเล่าว่า คนทั่วๆไปหากพูดถึงคดีจับแพะก็อาจจะนึกถึงคดีเชอร์รี่แอน แต่นั่นมันยังไม่โหดร้ายเท่าไรหรอกนะ มันต้องที่ห้องประหารเมื่อครั้งประหาร พัน.. ที่ดูเหมือนจะบ่งบอกถึงความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างโหดเหี้ยมที่สุด พันถูกกล่าวหาว่าข่มขืนฆ่าเด็กหญิงผู้หนึ่ง เหตุเกิดในซอยใกล้ๆกับบ้านอดีตนายกฯคนหนึ่ง ยิ่งทำให้ข่าวดังขึ้นไปอีก ซ้ำเป็นคดีสะเทือนขวัญ ทำให้ตำรวจต้องเร่งหาตัวผู้กระทำผิดมาให้ได้โดยไว
           จากคำบอกเล่าของเพื่อนที่รู้จักพัน ทราบว่าเขาติดกัญชาอย่างชนิดเข้าเส้น และมักจะต้องช่วยราชการเป็นประจำ เมื่อตำรวจต้องการผลงาน เมื่อมีคำสั่งกวาดล้าง พันจึงต้องเดินเข้าออกคุกเหมือนบ้านหลังที่ ๒ แต่สำหรับคดีนี้เจ้าตัวยืนยันว่าตนไม่ได้ทำจริงๆ แต่ด้วยบุคลิกและการแสดงออกที่ไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเชื่อคำพูดได้ ซ้ำกล่าวหาว่าเป็นบ้า สติไม่ดี คำพูดของเขาจึงดูเลื่อนลอยและไร้น้ำหนัก
           ทำให้น้ำหนักฝ่ายโจทก์ดูจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจร่างกายและอื่นๆ จึงปราศจากข้อสงสัย เพราะพยานหรือตำรวจมิได้รู้จักจำเลยมาก่อน อีกทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะปรักปรำหรือให้ร้ายจำเลย นี่คือคำพิพากษาโดยทั่วๆไป ที่เกือบจะใช้เป็นบรรทัดฐาน และสูตรตายตัวในทำนองเดียวกันในหลายๆคดี
           ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้คุมพยายามฉุดกระชากลากพันออกจากห้องประหาร เพื่อจะนำไปยังหลักประหาร แต่ด้วยความรักชีวิต รักตัวกลัวตายเฉกเช่นสัตว์ทั่วไป เขาจึงต่อสู้ดิ้นรนจนสุดฤทธิ์เพื่อรักษาชีวิตไว้ ไม่อยากตายเพราะสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อ ตลอดทางพันทั้งด่าทั้งแช่งศาลและผู้คุมที่มาลากตัวไป งานนี้มีผู้คุมคนหนึ่งถูกถ่มน้ำลายใส่หน้า พันร้องขอชีวิต บอกแต่ว่าเขาไม่ได้ทำ แต่เสียงร้องของเขาดูเหมือนจะไม่มีใครได้ยิน คล้ายเสียงเป็ดเสียงไก่ที่ดูน่ารำคาญมากกว่าน่าสงสาร ผลสุดท้ายก็ต้องจบชีวิตตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
           ในเวลาต่อมาได้มีการจับฆาตรกรตัวจริงได้โดยบังเอิญ จากการขยายผลในคดีอื่น จนข่าวที่ออกมาดังไปทั่วในขณะนั้นว่าเป็น "สามเณร" ในวัดที่อยู่ในซอยนั้นนั่นเองที่เป็นผู้ข่มขืนและฆ่าเด็กหญิง คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
           วันถัดมาที่บางขวางได้มีอนุศาสนาจารย์ที่เป็นอดีตนายทหารเข้ามาสอนการปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้มาพร้อมกับข่าวดี ประโยคแรกที่กล่าวด้วยความดีใจว่า "อ้าวคนไหนชื่อพัน.. จะได้กลับบ้านแล้วนะ ตอนนี้เขาจับฆาตรกรตัวจริงได้แล้ว"
           ทุกคนเงียบกริบ จนมีนักโทษคนหนึ่งได้ตอบสวนขึ้นมา "มันโดนยิงเป้าไปแล้วครับ" ทำให้อนุศาสนาจารย์ยืนตะลึงอยู่ตรงนั้น...

           ยังมีอีกหลายคดีที่แม้ไม่ค่อยจะตื้่นเต้นหรือชัดเจนเหมือนคดีของพัน บางคดีผู้ถูกประหารก็เคยกล่าวกับผู้คุมที่นำเขาขึ้นไปผูกกับหลักประหารว่าเขาบริสุทธิ์จริงๆ เป็นคำยืนยันก่อนตาย นี่เป็นคำพูดที่ผู้คุมพูดให้ฟังเอง และเล่าต่อๆกันมาจนรู้กันว่าไป
           จากนั้นเพื่อนก็ยังแสดงอาการเป็นห่วงและพูดย้ำเตือนกับผมอีกว่าให้ระวัง หากมีลู่ทางวิ่งเต้นได้ก็ต้องทำให้ถึงที่สุด แต่ผมไม่ได้ตกใจกับคำพูดที่ทั้งเตือนและขู่ของเพื่อแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรมที่จะรู้จากการที่ร่ำเรียนมา และดูเหมือนจะมีประโยคหนึ่งที่จำขึ้นใจ คือ ปล่อยผู้กระทำผิดไป ๑๐ คน ดีกว่าเอาผู้บริสุทธิ์คนเดียวมาลงโทษ แต่เมื่อได้สัมผัส รับรู้เหตุการณ์ภายในดินแดนแห่งนี้ ผมเริ่มมีความเห็นคล้อยตามเพื่อนบ้างแล้ว
           จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้รู้จักกับนักโทษเด็ดขาดคนหนึ่งชื่อ "เนตรน้อย" เป็นคนไทยใหญ่ไร้สัญชาติ รูปร่างเล็ก ผอม ดูยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เข้ามาด้วยคดียาเสพติด บ้านอยู่จังหวัดทางภาคเหนือ ผมจำไม่ได้ว่าจังหวัดอะไร รู้แต่ว่าบ้านเขาอยู่บนดอย เขาเล่าให้ผมฟังด้วยแววตาที่เป็นกังวลอย่างมากว่า "คดีที่ถูกจับมานี่ีผมไม่เคยรู้เรื่องสักนิด" แต่ด้วยความอยากจะเห็นกรุงเทพฯ อยากเห็นพัทยา อยากเห็นทะเล ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยเห็นของจริงเลยสักครั้ง จึงมีความตั้งใจและใฝ่ฝันที่จะเห็นของจริงให้ได้
           แล้ววันนั้นก็มาถึง เป็นวันที่เพื่อนๆของเขากำลังคุยกันว่าจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เขาเลยรีบขอเพื่อนติดรถมาเที่ยวด้วยทันที
           เขาบอกว่า "ทีแรกเพื่อนมันก็ไม่ให้ผมมาหรอกนะ เพื่อนๆบอกจะไปธุระกัน ผมก็เลยบอกเพื่อนไปว่าถ้าพวกพี่จะไปธุระก็ไปกันสิ ทิ้งผมนั่งรอในรถก็ได้ เพื่อนเลยใจอ่อนให้ผมติดรถมาด้วย จนกระทั่งมาถูกจับ เพิ่งมารู้ภายหลังว่า เพื่อนจะนำยาเสพติดไปส่งให้ลูกค้าที่ได้ติดต่อซื้อขายกันไว้ เพื่อนๆผมเขารับสารภาพหมด ศาลจึงพิพากษาจำคุก ส่วนผมต่อสู้มาตลอดก็เลยให้ยืนโทษประหารชีวิต ศาลไม่เชื่อคำให้การของผม ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง ไม่รู้เรื่องจริงๆ"
           ผมฟังคำบอกเล่าของเนตรน้อยก็ยังไม่เชื่อเสียทีเดียว แต่ด้วยคำพูดที่ดูมุ่งมั่นและสายตาที่แข็งกล้า ผมก็ชักไม่แน่ใจว่าเข้าพูดจริงหรือเปล่า จนกระทั่งวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๕ เป็นวันสุดท้ายของเขา เมื่อประตูห้องประหารถูกเปิดออกเวลา ๑๖.๑๕ น. ผู้คุมในชุดเต็มยศ สวมหมวก ถือกระบองเดินมาหยุดที่หน้าห้อง พร้อมกับเรียกชื่อเนตรน้อย วันนั้นมีผู้ถูกประหารรวมห้าคน แต่ละคนนอนแยกห้อง ทั้งหมดถูกให้ออกมารวมที่สายกลางระหว่างห้อง และเดินผ่านห้องต่างๆเพื่อออกสู่ประตูด้านหน้า
           ระหว่างทางเนตรน้อยได้เดินบอกเพื่อนแต่ละห้องว่า "เราไปก่อนนะ" แต่ไม่มีเสียงตอบจากเพื่อนคนใด คงได้แต่สบสายตา และพยักหน้าให้เล็กน้อยเป็นการรับรู้ ภายในห้องดูเงียบสงัด ได้ยินแต่เสียงลมหายใจของพวกเราจนทั้งหมดลับสายตาลงจากเรือนนอนไป ประตูก็ถูกปิดลงอีกครั้ง
           ๑๘.๐๐ น. ได้เวลาไขประตูเปิดห้องประหารในตอนเช้า โดยมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นนักโทษที่เหลือโทษน้อยกว่าเป็นผู้มาไขประตูห้องแต่ละห้องเพื่อให้นักโทษประหารลงจากห้องเพื่อมาเข้าแถวรอรับข้าวและแกงด้านหน้าเรือนนอน ซึ่งมีลูกกรงล้อมไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อแบ่งระหว่างนักโทษประหารและนักโทษทั่วไป ต่างคนต่างแย่งกันออกจากห้อง หากประตูยังไม่ถูกไขก็จะมารวมกันอยู่หน้าประตู
           ผมดูเพื่อนๆและตัวเองในยามนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับวัวควายที่ผมเคยไปเปิดคอกตอนเช้าๆสมัยอยู่ต่างจังหวัด ครั้นพอถึงเวลา ๐๙.๐๐ น. ทุกคนก็รู้ว่าได้เวลากลับเข้าห้อง ต่างก็พากันเดินเข้าโดยไม่ต้องมีใครไล่ต้อน เมื่อได้รับประทานอาหารและทำธุระเสร็จ รอจนถึง ๑๒.๓๐ น. ก็จะลงมารับข้าวรับแกงอีกครั้ง แล้วกลับขึ้นไปตอน ๑๕.๓๐ น.
           แต่ดูเหมือนวันนี้ดูผิดปกติจากทุกวัน หลังจากเมื่อวานได้ประหารเพื่อนๆของเราไป คนที่มารอเข้าคิวรับข้าวรับแกงในตอนเช้าแทบจะไม่มี หรืออาจจะนับคนได้ ส่วนใหญ่ยังคงซึมเศร้า หวาดผวา หวั่นวิตก บ้างก็จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานา ถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งจะผ่านมาสดๆร้อนๆ มีบางคนแสดงออกและเจ็บใจที่ไม่สามารถช่วยเพื่อนได้ทั้งๆที่รู้ว่าเขามาหิ้วเพื่อนไปฆ่าแท้ๆ แต่กลับได้แต่ยืนดูเงียบๆ
           สักพักมีเสียงประกาศทางไมโครไฟนดังขึ้น เป็นเสียงที่ทุกคนจำได้ดี ทุกคนเรียกแกว่า อาจารย์คิม พี่เลี้ยงที่คอยช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการติดต่อเจ้าหน้าที่หรือทำหนังสือทูลเกล้าฯถวายฎีกา เสียงประกาศว่า "ใครมีความประสงค์จะทำบุญหรือช่วยค่าทำศพเพื่อนที่ถูกประหารให้ไปแจ้งความจำนงได้ที่โต๊ะ" แกจะประสานงานรวบรวมเงินเพื่อส่งให้ญาติผู้ตาย จากการสังเกตแต่ละครั้งจะพบว่า เพื่อนๆห้องประหารแม้ตัวเองจะตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่ความมีน้ำใจดูเหมือนจะท่วมท้น บางคนมีน้อยก็ให้ตามน้อย ที่พอจะมีก็ให้มากหน่อย ดูเป็นภาพน่าประทับใจจริงๆ
           ต่อมาไม่นานคำพูดที่ว่า ผมไม่รู้เรื่องจริงๆ ของเนตรน้อยก็ได้รับการสนับสนุน เมื่อเพื่อนคนหนึ่งที่ย้ายมาจากเรือนจำลาดยาวเล่าให้ฟังว่า เขาได้รู้จักคู่คดีของเนตรน้อย คู่คดีบอกว่า "เนตรน้อยไม่รู้เรื่องจริงๆ วันนั้นที่ไม่ได้บอกเนตรน้อยว่าจะนำยาไปส่งลูกค้าเพราะกลัวเวลาเจอด่านตำรวจจะออกอาการพิรุธ และที่จำใจให้ติดรถมาเที่ยวด้วยก็เพราะเห็นความตั้งใจและอดสงสารไม่ได้" เขาเล่าให้ฟังพร้อมกับน้ำตาที่ไหลนอง เขาเสียใจอย่างมาก เมื่อรู้ข่าวว่าเนตรน้อยถูกประหาร และยังบอกอีกว่า ไม่รู้จะบอกญาติพี่น้องของเนตรน้อยอย่างไร
           ทุกคำพูดที่คู่คดีถ่ายทอดให้เพื่อนที่ย้ายมาบางขวางฟัง ถูกต้องตรงกันไม่ผิดเพี้ยนเลยกับที่เนตรน้อยเคยระบายให้ผมฟัง มาถึงตอนนี้ผมมั่นใจได้ทันทีว่า เนตรน้อยคือผู้บริสุทธิ์จริงๆ
           "

***
           ส่วนหนึ่งของข้อเขียนเรื่อง ที่นี่แดนประหาร ซึ่งเป็นข้อเขียนของ คชสาร เมืองเพชรหนึ่งในสิบสามนักโทษประหารจากเรือนจำกลางบางขวาง ที่เขียนเรื่องในหนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด

           อ่านจบแล้วรู้สึกว่า.. บีบหัวใจเหลือเกิน..

           หนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด เป็นหนังสือที่เป็นผลงานจาก "โครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร" ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดย โครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับเครือข่ายพุทธิกา เรือนจำกลางบางขวาง และกระทรวงยุติธรรม
           โครงการนี้มีเจ้าแม่สารคดีตัวฉกาจ อรสม สุทธิสาคร และ วีรศักดิ์ จันทร์ส่งแสง นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี เป็นครูประจำโครงการ และยังมีวิทยากรพิเศษที่เป็นนักเขียนระดับครูอีกหลายคน เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไพวรินทร์ ขาวงาม ศุ บุญเลี้ยง ฯลฯ

           แค่เห็นชื่อเหล่าครูๆในโครงการ ก็ช่วยรับประกันคุณภาพโดยที่แทบไม่จำเป็นต้องเปิดหนังสือลองอ่านก่อนเลย และเมื่อเปิดอ่านเพียงเรื่องแรก ฉันก็ยกให้เล่มนี้เป็นอีกหนึ่งหนังสือคุณภาพที่สมควรจะหามาอ่านกัน

          ข้อเขียนของ คชสาร เมืองเพชร อาจจะดูยังไม่ลื่นไหลเหมือนกับนักเขียนสารคดีมืออาชีพ แต่สารที่เขาสื่อออกมาทำให้ฉันถึงกับใจสั่น รู้สึกเหมือนหัวใจถูกบีบคั้น เป็นอารมณ์อึดอัดขัดข้องร่วมไปกับเหล่า "แพะ" ในหนังสือ และกว่าจะอ่านจบ ฉันก็เกิดคำถาม ทำไม.. ทำไม.. ผุดขึ้นมาในหัวแทบจะตลอดเวลา


           ทำไมกระบวนการยุติธรรมบ้านเราจึงจับคนบริสุทธิ์มาลงโทษบ่อยๆ และโดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนยากคนจน ลูกตาสีตาสา

ในขณะที่คนมีเงิน แม้จะทำความผิดให้เห็นอยู่ทนโท่ก็ไม่เห็นต้องรับโทษอะไร ดังที่มีคำพูดประชดประชันว่า

"คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น" ทำไมคำพูดที่ว่า "
ปล่อยผู้กระทำผิดไป ๑๐ คน ดีกว่าเอาผู้บริสุทธิ์คนเดียวมาลงโทษ"

จึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ตามนั้น ทำไมในคุกจึงเต็มไปด้วย "แพะ" ในขณะที่คนที่ทำผิดจริงกลับลอยนวล "แพะ"

บางตัวก็โชคดีหน่อย เมื่อคนที่ทำความผิดจริงถูกจับได้ก็ได้กลับบ้าน แต่บาง "แพะ" กว่าคนทั่วไปจะรู้ว่าเป็น "แพะ"

เขาก็ตายไปหลายปีดีดักแล้วก็มี




           คดีที่คนไทยไม่กล้าพูดถึงก็ประหาร "แพะ" ไปถึงสามคน.


.
           ในหนังสือเล่มนี้ เป็นรวมงานเขียนทั้งหมด 13 เรื่อง จากนักโทษประหาร 13 คน ส่วนใหญ่มีสำนวนการเขียนราวกับนักเขียนสารคดีมืออาชีพ ฉันอ่านแต่ละเรื่องไปด้วยความรู้สึกที่หนักอึ้ง เห็นใจและเข้าใจถึงทุกข์ของนักโทษประหาร.. ใช่ค่ะ.. ฉันกำลังเห็นใจนักโทษประหาร และภาวนาให้เขาไม่ต้องโดนเรียกตัวไปยิงเป้า (ตอนนี้เปลี่ยนเป็นฉีดยาพิษแล้ว) เมื่อมองจากคนนอก เวลาได้ดูข่าวคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญต่างๆ ก็เคยคิด 'อย่างนี้ต้องตายตกไปตามกันจึงจะสาสม' แต่เมื่อมาฟังจากคนใน จากตัวนักโทษเอง ฉันกลับรู้สึกเห็นใจ แต่ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ เจ้าของเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ใช่คนชั่วโดยสัน-ดานก็ได้ บางคนอาจจะทำผิดโดยไม่ตั้งใจ บางคนอาจจะทำผิดเพราะถูกบีบคั้น และบางคนก็ทำผิดเพราะถูกยัดเยียดความผิดเสียดื้อๆก็มี จึงทำให้คนอ่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้โดยง่าย
           จากข้อเขียนที่มาของต้นฉบับ ได้กล่าวไว้ว่า


           "การอบรมการเขียนในนาม "โครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร" ให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ด้วยความเชื่อและความหวังว่า การเขียนจะเป็นเครื่องมือให้ผู้ต้องขังแดนประหารได้ทบทวนตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนา เยียวยา คุณค่าในตัวเอง อีกทั้งเมื่อเรื่องราวเหล่านั้นได้รับการเผยแพร่ออกไป ยังจะเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้คนอื่นต้องก้าวพลาด และคลี่คลายปรับเปลี่บนทัศคติเมื่อได้ล่วงรู้ถึงที่มาที่ไปอันนำเขามาสู่ชะตากรรมในปัจจุบัน เป็นสื่อที่จะเชื่อมประสานให้เกิดความเข้าใจ มองเห็นคุณค่าความเป็นคน และส่งผลถึงความปลอดภัยต่อสังคมโดยรวม.."
           ฉันว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ และบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเต็มร้อยเลยทีเดียว
           

           หนังสือ อิสรภาพบนเส้นบรรทัด โดย 13 นักโทษประหาร จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี คำนิยมโดย อาจิณต์ ปัญจพรรค์ ราคา 190 บาท รายได้ส่วนหนึ่งนำเข้าโครงการ กำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
           ไปหามาอ่านกันนะคะ

ปล. ฉันยังอ่านไม่จบ แต่ต้องรีบมาเขียนถึง เพราะเป็นหนังสือที่ต้องเขียนถึงจริงๆ


.http://similan.diaryis.com/
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้