รายงานพิเศษ: รัฐทวารวดี จีนเรียก โถโลโปตี อยู่ เมืองลพบุรี (จ. ลพบุรี) มติชนรายวัน
คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน
แผนผังเมืองลพบุรี แสดงคูน้ำคันดินยุคทวารวดี
รัฐทวารวดี นักวิชาการไทยส่วนมากเชื่อถือตามนักปราชญ์ยุโรปบอกว่า มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครปฐม (จ. นครปฐม)
แต่นักปราชญ์สามัญชนคนหนึ่งของไทย มีความเห็นต่างไปว่ารัฐทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองลพบุรี (จ. ลพบุรี)
ลพบุรี หมายถึง เมืองของพระลพ (ซึ่งเป็นโอรสพระรามกับนางสีดา) เป็นชื่อที่ผูกคำขึ้นใหม่สมัยพระนารายณ์ ราวหลัง พ.ศ. 2100
ก่อนหน้านั้นมีชื่ออย่างอื่นต่างไป ดังนี้
1. โถโลโปตี เป็นชื่อราวหลัง พ.ศ. 1000 มีบอกในเอกสารจีนสมัยราชวงศ์ถัง ของภิกษุจีน 2 รูป คือ ยวนฉ่าง (ถังซำจั๋ง) กับอี้จิง
นักปราชญ์ยุโรป เทียบคำจีนกับชื่อในคัมภีร์อินเดีย ได้ใกล้เคียงว่า ทวารวดี
2. ชื่อ ละโว้ ราวหลัง พ.ศ. 1500 มีในศิลาจารึกพบที่เมืองลพบุรี
ชุมชนยุคโลหะ 3,000 ปีมาแล้ว
เมืองลพบุรี มีพัฒนาการแรกสุดเป็นชุมชนถลุงโลหะราว 3,000 ปีมาแล้ว (หรือก่อนนั้น) นับถือศาสนาผี ยกย่องแม่หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมและในชุมชน
ตั้งอยู่บริเวณที่เนินสูง (ปัจจุบันคือบริเวณศาลพระกาฬ, พระปรางค์สามยอด, สถานีรถไฟ, ฯลฯ) และที่ราบลุ่มโดยรอบ
มีคนหลายเผ่าพันธุ์ตั้งหลักแหล่งอยู่ร่วมกัน เช่น มอญ-เขมร, มาเลย์-จาม หรือชวา-มลายู ฯลฯ
มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนยุคเดียวกันโดยรอบ ทั้งอยู่ใกล้และไกล
ชุมชนยุคโลหะที่ลพบุรี จะเติบโตต่อไปข้างหน้า เป็นต้นทางประเทศไทย ได้แก่ รัฐทวารวดี, รัฐอโยธยา-ละโว้, รัฐอยุธยา, กรุงธนบุรี, กรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศสยาม, ประเทศไทย
(ซ้าย บน-ซ้ายล่าง-ขวาบน) รัฐทวารวดีที่ลพบุรี (ละโว้) มีพยานหลักฐานจำนวนมาก เช่น ปูนปั้นพระพุทธรูปและลวดลายประดับสถูป ฝีมือช่างยุคทวารวดี พบเมื่อนานหลายปีมาแล้วที่ อ. เมือง จ. ลพบุรี (ภาพจาก วารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 2 ปีที่ 1 มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2518)
(ขวาล่าง) ปูนปั้นยุคทวารวดี พบที่ลพบุรี จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วังนารายณ์ฯ ลพบุรี
เมืองทวารวดี หลัง พ.ศ. 1000
ชุมชนถลุงโลหะบนเนินสูง เติบโตเป็นบ้านเมือง ราวหลัง พ.ศ. 1000 เมื่อจีน, อินเดีย, ลังกา มีการค้าทางทะเลมาถึงดินแดนลพบุรี
แล้วเริ่มรับศาสนาพราหมณ์, พุทธ จากอินเดีย (โดยผสมผีที่เชื่อมาแต่เดิม)
จึงมีลำดับชนชั้นในสังคมยกย่องผู้ชายเป็นใหญ่ เรียกนามตามคติอินเดียว่าพระราชา, หรือกษัตริย์
สร้างสถูปเจดีย์ปนกันทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ แล้วขุดคูน้ำสร้างคันดินล้อมรอบทั้งเนินรวมเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด (บริเวณคันดินเคยพบกองตะกรันถลุงโลหะ)
คูน้ำยังใช้กักน้ำฝนและน้ำท่าที่ชักขึ้นจากลำน้ำโดยรอบ ไว้ใช้ทั้งในพิธีกรรม และในชีวิตประจำวันของคนชั้นสูงซึ่งอยู่ภายในคูน้ำคันดิน
เอกสารจีนเรียกเมืองนี้ว่าโถโลโปตี
ต่อมานักปราชญ์ยุโรปว่าตรงกับชื่อทวารวดี และมีศูนย์กลางอยู่ จ. นครปฐม
แต่นักปราชญ์สามัญชนของไทยมีความเห็นต่างไปว่ามีศูนย์กลางอยู่ จ. ลพบุรี
ทวารวดี แปลว่าช่องทาง (ประตู) เข้าออก หมายถึงเมืองท่าติดต่อ (ค้าขาย) สะดวกสบาย อุดมสมบูรณ์ (เป็นชื่อเมืองของพระกฤษณะในมหาภารตะ)
[มีรายละเอียดมากกว่านี้ใน www.sujitwongthes.com]
(ซ้าย) ป้อมหินกำแพงเมืองมีถนนแคบๆ เลียบตามแนวคันดิน (กลาง) คูน้ำขนานคันดิน ยุคทวารวดีบริเวณหลังโรงเรียนพิบูลฯ จ. ลพบุรี (ขวา) ประตูชัยและป้อมขนาดใหญ่ เมืองลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ สร้างทับบนคันดินยุคทวารวดี แล้วบ้านเรือนบุกรุกถมคูเมือง
อโยธยา-ละโว้ หลัง พ.ศ. 1500
ต่อมาน่าจะเรือน พ.ศ. 1500 รับวัฒนธรรมขอม พูดเขมร จากกัมพูชา
ขยายอำนาจลงไปสถาปนาศูนย์กลางแห่งใหม่บริเวณแม่น้ำ 3 สายไหลมารวมกัน คือ แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา
แล้วขนานนามว่าอโยธยาศรีรามเทพ หมายถึงเมืองแห่งชัยชนะ (ที่ไม่มีใครพิชิตได้) ของพระราม (ผู้ทรงเป็นเทพอวตารของพระนารายณ์) เท่ากับสืบจากทวารวดี
ส่วนเมืองเดิมได้ชื่อ ละโว้ หมายถึงเชื้อสายของทวารวดี มีคำอธิบายจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ว่ามาจากชื่อ ลว แผลงคำเป็น ลพ คือ พระลพ โอรสพระราม
[แต่ผู้รู้ภาษาพื้นเมือง เชื่อว่า ละโว้ มาจากภาษาละว้า (มอญ-เขมร) หมายถึงภูเขา]
ขอม
"ขอม" ไม่ใช่ชื่อชนชาติเฉพาะ ฉะนั้นชนชาติขอมจึงไม่มีจริง
แต่ "ขอม" เป็นชื่อทางวัฒนธรรมใช้สมมุติเรียกคนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธคติมหายาน แล้วใช้ภาษาเขมรสื่อสารในชีวิตประจำวัน กับใช้อักษรเขมรในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
[เช่นเดียวกับคำว่า แขก ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาอิสลาม และคำว่า คริสต์ ใช้สมมุติเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์]
ศูนย์กลาง "ขอม" ครั้งแรกอยู่ที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) ต่อมาย้ายลงไปอยู่ที่อโยธยาศรีรามเทพ (ต่อไปคือกรุงศรีอยุธยา) แล้วขยายไปถึงกัมพูชา
ด้วยเหตุนี้ใครก็ตาม ไม่ว่า มอญ เขมร มลายู ลาว จีน จาม หรือ ไทย ฯลฯ ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) และพุทธคติมหายาน อยู่ในสังกัดรัฐละโว้-อโยธยา และรัฐกัมพูชา จะได้ชื่อว่า "ขอม" ทั้งนั้น
แต่คนทั่วไปมักเข้าใจต่างกันเป็น 2 อย่าง ว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" และ "ขอมคือเขมร"
[ได้ข้อมูลและแนวคิดจากข้อเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช]
กรุงศรีอยุธยา
ราวเรือน พ.ศ. 2000 หลังกาฬโรคระบาด มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก อโยธยาจึงสถาปนาชื่อใหม่ว่ากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เท่ากับศรีอยุธยาสืบจากทวารวดี
เรียกสั้นๆ เป็นที่รู้กันว่ากรุงศรีอยุธยา หรืออยุธยา (แปลว่า ไม่แพ้ คือ ชนะ ตรงกับความหมายของ ศรีวิชัย) เครดิต เรื่องและภาพ MatichonOnline
|