นับแต่นั้นมา พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ คงโปรดให้พิจารณาวางแผน ขุดคอลงลัดเพื่อขจัดอุปสรรคการเดินทางในแม่น้ำ (เจ้าพระยา) ที่คดโค้งหลายแห่ง มีแห่งหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือบริเวณที่เป็นกรุงเทพฯ ปัจจุบัน มีคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ลงมือขุดคลองลัดแห่งนี้สำเร็จในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช ในปีใดปีหนึ่ง ระหว่าง พ.ศ. 2077 - 2089 ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ คือ 1. เส้นทางแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่าลดความสำคัญลง เพราะคดโค้ง เสียเวลาเดินทาง นานเข้าก็แคบลงเป็นคลอง ต่อมามีชื่อเรียกคลอง บางกอกน้อย - คลองบางกอกใหญ่ สืบมาทุกวันนี้
2. มีแม่น้ำเจ้าพระยา (สายใหม่) เกิดขึ้น ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย (บริเวณโรงพยาบาลศิริราช กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ (บริเวณพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี กับปากคลองตลาด)
ก่อนขุดคลองลัด มีคำบอกเล่าเก่าแก่ว่า ครั้งหนึ่ง ผู้จอดเรือแพพักแรมหุงหาอาหารเช้ากิน บริเวณริมฝั่งโค้งน้ำทางเหนือ (คือปากคลองบางกอกน้อย) เมื่อกินเสร็จแล้ว ก็ถ่อพายเรือแพ เข้าแม่น้ำคดโค้งต่อไป ใช้เวลาเต็มวัน ก็จอดพักหุงหาอาหารเย็นกินบริเวณริมฝั่งโค้งน้ำทางใต้ (คือปากคลองบางกอกใหญ่) เมื่อตั้งหม้อข้าว เพื่อหุงข้าวด้วยฟืนเสร็จแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า ลืมไม้ขัดหม้อ สำหรับฝาหม้อรินน้ำข้าวออกไว้ที่ปากคลองบางกอกน้อย ที่พักหุงข้าวเมื่อตอนข้า จึงรีบเดินลัดเรือกสวนไปเอาไม้ขัดหม้อ ที่ลืมไว้ เมื่อได้กลับมาที่เดิมก็พอดีข้าวเดือดทันใช้ขัดฝาหม้อรินน้ำข้าว
คำบอกเล่าอย่างนี้ แสดงให้เห็นลักษณะคดโค้งของแม่น้ำ (เจ้าพระยา) สายเก่า ที่เสียเวลาเดินทางเต็มวัน ถ้าตัดตรงลงช่วงคอคอดคดโค้ง จะใช้เวลาเพียงชั่วหม้อข้าวเดือดเท่านั้น
ตรงบริเวณคลองบางกอกใหญ่นี่เอง เมื่อขุดคลองลัดแล้ว จะกลายเป็นชุมชนบ้านเมืองใหม่ต่อไปข้างหน้า เพราะโค้งแม่น้ำเดิมตรงนี้ เป็นบริเวณเวิ้งน้ำ กว้างใหญ่ตามธรรมชาติ ที่ได้ชื่อในสมัยหลังว่า บางหลวง แต่คนทั่วไป เข้าใจเป็นชื่อคลองบางกอกใหญ่
บางทีอาจมีข้อกังขาว่า แต่ก่อนนั้นขุดคลองกันอย่างไร ? ดังนั้น จึงจะแทรกเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ไว้ ตอนหนึ่งว่า "การขุดลัดครั้งแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชา เห็นจะไม่ได้ขุดแผ่นดินดอน คงจะมีคลองลัดเล็ก ๆ ซึ่งเขาเดินเรือกันอยู่แล้วเป็นสิ่งนำทางขุดซ้ำรอย ให้เป็นคลองกว้างขวาง" (สาส์นสมเด็จ เล่ม 14: คุรุสภา 2526: หน้า 226) และทรงย้ำอีกว่า "คลองลัด น่าจะเป็นชาวบ้านขุดบางประจบกัน
กรณีขุดคลองโคกขาม ให้เป็นคลองมหาชัยสมัยหลัง ๆ (ครั้งพระเจ้าเสือ) ถ้าหากพิจารณาจากสภาพแวดล้อม ตามธรรมชาติแล้ว จะเห็นว่า บริเวณดังกล่าว เป็นเส้นทางน้ำ คือคูคลองคดเคี้ยวจำนวนมาก แต่ก็มีทางน้ำลัดตัดตรง ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และทั้งที่ชาวบ้านขุดลัดกันเองขึ้นมาก่อน เพื่อความสะดวกในการคมนาคม ต่อมาภายหลังทางราชการ จึงปรับปรุงให้กว้างขวาง และเป็นแนวตรงมากขึ้น
มีตัวอย่างการขุดคลองหมาหอน (สุนัขหอน) ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหกลาโหม (หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ในสมัยรัชกาลที่ 4) ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการ ให้เป็นแม่กอง ไปขุดแต่งซ๋อมคลองนี้ พิจารณาแล้วจึงให้วิธี "จ้างจีนขุดที่น้ำชน แยกเข้าไปริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎร ชาวบ้านลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยว ก็ลึกอยู่ได้ไม่ตื้นมาจนทุกวันนี้" (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3, เล่ม 1, คุรุสภา 2504. หน้า 95)
เหล่านี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่อาจจะมีวิธีการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีก
ตลอดลำน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยา จนนออทะเล อ่าวไทย มีช่วงคดโค้งหลายแห่ง ซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อการคมนาคมทางน้ำ พระเจ้าแผ่นดิน ในกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้ขุดคลองลัด เพื่อย่นระระทางหลายแห่งด้วยกัน ถ้านับเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยา จะมีดังนี้
1. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034 - 2072) ขุดซ่อมคลองสำโรง และคลองทับนาง
2. สมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089) ขุดคลองลัดที่บางกอก
3. สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111) ขุดคลองลัดที่บางกรวย
4. สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. 2153 - 2171) ขุดคลองลัด เกร็ดใหญ่ที่สามโคก
5. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199) ขุดคลองลัด จากเมืองนนทบุรี มาออกบางกรวย (หรือตั้งแต่ปากคลองแม่น้ำอ้อมเมืองนนทบุรี ลงมาจนถึงวัดเขมาฯ)
6. สมเด็จพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2245 - 2251) ขุดคลองมหาชัย
7. สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251 - 2275) ขุดคลองที่เรียกว่า ปากเกร็ด
แผนที่การขุดแม่น้ำเจ้าพระยา
1. ขุดในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089)
2. สมเด็จพระมหาจักพรรดิ (พ.ศ. 2091 - 2111)
3. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 - 2199)
แม่น้ำ เจ้าพระยา ที่เห็นว่ามีขนาดใหญ่ กัน กรุงเทพ เพราะถูกขุดให้กว้างขึ้นเพื่อใช้ ในการเดินทางเข้าออกของเรือค้าขายอยุธยา
แต่ พอถึง เกาะเมืองอยุธยา และเลยขึ้นไปเมืองต่าง ๆแล้วจะเห็นได้ว่า ลำน้ำจะมีขนาดเล็กกว่า กรุงเทพ
|