ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 9455
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

ดินโป่ง

[คัดลอกลิงก์]
ดินโป่ง แหล่งอาหารสัตว์ป่า

          เมื่อเวลาที่ขึ้นไปบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หากขี้นมาทางฝั่งอำเภอปากช่องแล้ว เมื่อถึงบริเวณที่ทำการหน่วยป้องกันไฟป่า จุดชมวิว กม.30 ทางขวามือ เราจะเห็นเหมือนหลุมดินขนาดใหญ่สองหลุมอยู่ทางด้านขวามือห่างกันประมาณ 100 เมตร  หากเดินทางมาเรื่อยๆ ก่อนถึงทางเข้าหอดูสัตว์ หนองผักชี เมื่อมองด้านข้างทาง  แล้วมีป้ายบอกว่า "โป่งชมรมเพื่อน" เมื่อมองไป ก็จะพบหลุมดินเหมือนกัน จำนวน 2 หลุม อยู่กลางทุ่งหญ้าคากว้างใหญ่ สิ่งนี้ เราเรียกว่า โป่ง
โป่ง1 และโป่ง 2  บริเวณจุดชมวิว กม.30 (ไฟป่า)
          อะไรคือโป่ง และโป่งคืออะไร หลังจากสงสัยมาก็เริ่มหาคำตอบของโป่งและได้คำตอบมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อเวลาที่ใครขึ้นไปบนเขาใหญ่แล้วสงสัยว่า "โป่ง" คืออะไร หลังจากไปหาคำตอบเพื่อคลายสงสัยว่าหลุมดินที่เห็นนั้น คืออะไร ก็ได้คำตอบว่า หลุมที่เห็นนั้นคือดินโป่ง ดินโป่งคือดินที่มีรสเค็มและละเอียด ซึ่งเกิดจากแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นอาหารของสัตว์ป่าที่กินพืช บางชนิด  
          โป่งคือบริเวณพื้นที่ ที่มีแร่ธาตุต่างๆ มารวมกัน อันเนื่องมาจากฝนตกหนัก และเกิดการชะล้างนำเอาแร่ธาตุที่จำเป็นของสัตว์ป่าออกมาจากดินทั่วไปให้่มารวมกันในจุดใดจุดหนึ่งซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ ที่เป็นแอ่ง ซึ่งแร่ธาตเหล่านี้เป็นสิ่งที่สัตว์ป่าไม่สามารถหาทดแทนได้จากพืช ดังนั้นบริพื้นที่ที่เป็นดินโป่ง จึงเป็นแหล่งแร่ธาตุสำหรับสัตว์ป่าที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น เก้ง กวาง กระทิง และช้างป่า โป่งแบ่งออกเป็นเป็น 2 ประเภทคือ
          1. โป่งดิน มักเกิดบนที่ราบ หรือเป็นลักษณะมูลดิน เนินดินเตี้ยๆบนที่ลุ่ม เช่น ทุ่งหญ้า โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางของโป่งไม่เกิน 10 เมตร อาจเกิดจากการไหลรวมตัวกันของน้ำ และเกิดตะกอนของแร่ธาตุขึ้น หรือเกิดจากแหล่งหินที่อยู่ใต้ดินแปรสภาพเป็นดิน จึงมีแร่ธาตุที่มีปริมาณสูงสุดคือ แคลเซี่ยม และยังพบแร่ธาตุอื่นๆอีก เช่น โซเดี่ยม เหล็ก ฟอสฟอรัส  แมกนีเซี่ยม โปแตสเซี่ยม คลอรีน เป็นต้น
          2.  โป่งน้ำ  มักได้แก่พื้นที่บริเวณตาน้ำ หรือแหล่งน้ำซับ ทำให้ชุ่มชื้นและแฉะตลอดเวลา เช่น ตาน้ำของภูเขาหินปูน  หรือเป็นแอ่งดินที่เกิดจากการขุดเซาะของโป่งดินมาก่อนก็ได้ มักมีแร่ธาตุองค์ประกอบหลักคือ โซเดี่ยม
  
ลักษณะของโป่งน้ำ
          เมื่อได้คุยกับเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทำให้เรารู้ว่าบริเวณดินโป่ง จะสามารถพบเห็นสัตว์ป่าได้ง่าย เนื่องจากในดินโป่งมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์ป่า โดยที่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะมีทั้งโป่งธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง และ โป่งเทียม ที่สร้างขึ้นเพื่อการศึกษาวิจัย
ความจำเป็นของโป่งต่อสัตว์ป่า
          สัตว์กินพืชจำเป็นต้องใช้โป่ง  โดยเข้ามากินดินโป่งเพื่อนำแร่ธาตุต่างๆมาใช้ในกระบวนการดำรงชีวิตของร่างกาย  ตลอดจนการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ เช่นการกินเพียงอาหารประเภทพืช เช่น หญ้าต่างๆ มีปริมาณแร่ธาตุค่อนข้างต่ำ ทำให้ร่างกายเกิดปัญหาการขาดแร่ธาตุจนเจ็บป่วยขึ้นมาสัตว์ป่าจะลงกินโป่งเมื่อต้องการแร่ธาตุบางอย่าง โดยเฉพาะแร่ธาตุที่เป็นส่วนสำคัญต่อขบวนการเมตาบอลึซึ่มต่างๆ และมีบทบาทต่อปฏิกิริยาชีวเคมีภายในเซลล์ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ และทำให้สัตว์สามารถเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
          แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายสัตว์กินพืชมีอย่างน้อย 15 ชนิด แบ่งออกเป็น
          1. Macro element (แร่ธาตุที่ต้องการในปริมาณมาก)ได้แก่แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส แมกนีเซี่ยม โปแตสเซี่ยม คลอรีน กำมะถันและอื่นๆ
          2. Trace element (แร่ธาตุที่ต้องการในปริมาณน้อย) ได้แก่ ทองแดง ไอโอดีน เหล็ก แมงกานีส โมลิบดีนั่ม ซิลีเนี่ยม โคบอลต์และสังกะสี นอกจากนี้ยังมีโครเมี่ยม นิเกิล ดีบุกและซิลิคอนซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานตามปกติของขบวนการชีวเคมีในตัวสัตว์เช่นกัน

พฤติกรรมการใช้โป่งของช้าง
          ช้างเป็นสัตว์กินพืช ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การกินโป่งเพื่อประโยชน์ของร่างกายเช่นเดียวกับเก้ง กวาง ช้างป่าสามารถหากินได้ทั้งโป่งดิน และโป่งน้ำ  แต่ชอบที่จะหากินแถบที่ใกล้แหล่งน้ำ โดยการใช้งวงกอบ โกยเอาดินที่ร่วนหรือเป็นผิวดินเข้าปากกิน  หากยังเป็นโป่งดินที่แข็งหรือเป็นเนินที่เป็นผิวหญ้าและวัชพืชปกติ  ช้างพลายที่มีงาจะใช้แซะ แทง จนดินนั้นแตกหรือเปิดผิวดินขึ้น เพื่อให้สะดวกในการกินส่วนช้างพังจะไม่มีงาจึงใช้ตีนช่วยกระทืบให้ดินโป่งแตก ทะลายก่อน   ช่วงเวลาการกินโป่งนั้น ช้างจะออกมากินตลอดปี ทั้งนี้เวลาที่มักเข้ากินจะเลือกช่วงที่ปลอดภัยโดยมากมักเป็นเวลากลางคืน หรือบางครั้งอาจเป็นช่วงเย็นๆ
          เนื่องด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีสัตว์ป่าจำนวนมาก ดังนั้น จำนวนโป่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน บางโป่งอาจจะขาดสารอาหารและแร่ธาตุบางชนิดไป โดยในพื้นที่ของโป่งเทียมนั้นทางเจ้าหน้าที่จะต้องมีการไปเติมเกลือ และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์ป่าอยู่เรื่อยๆ หากมีผู้สนใจที่จะทำโป่งทางอุทยานแห่งชาติก็จะมีกิจกรรมทำโป่งให้กับนักท่อง เที่ยวและผู้ที่สนใจอีกด้วย นับว่าเป็นกิจกรรมที่ให้ประโยชน์กับทางอุทยานและให้ความรู้แก่ผู้ที่มา เที่ยวอีกด้วย หากนักท่องเที่ยวสนใจกิจกรรมทำโป่งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สามารถที่จะติดต่อขอข้อมูลและรายละเอียดการทำโป่ง ได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่นำทำกิจกรรมพร้อมกับบรรยายให้ ความรู้ขณะที่ทำกิจกรรมไปด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจากฝ่ายวิชาการ และฝ่ายนันทนาการและสื่อความหมาย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-10-4 16:49 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้