ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1780
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

กามสุขและความสุขของฆราวาส

[คัดลอกลิงก์]
entry ส่งท้ายปี - กามสุขและความสุขของฆราวาส


ความสุขในพุทธศาสนานั้นมีหลายลักษณะ พอจะแยกเป็นประเภทใหญ่ๆได้คือ  กามสุข ฌานสุข และ นิพพานสุข พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธกามสุข (เช่น สุขจากการเสพด้วยหู ตา จมูก ลิ้น กาย) แต่ชี้ให้เห็นว่าสุขเหล่านั้น มีคุณน้อย โทษมาก ต้องยังพึ่งพิงสิ่งอื่น และ ยังมีสุขอื่นที่เลิศกว่ากามสุข นั่นคือ ฌานสุข นิพพานสุข หากหลงมัวเมาในกามสุข ก็ย่อมถึงความเสื่อม แต่หากสามารถควบคุมกามสุขได้ และใช้เป็นพื้นฐานเพื่อพบสุขที่เลิศขึ้น ชีวิตก็สามารถพัฒนาได้ เมื่อพบสุขที่เลิศขึ้นแล้ว ก็จะค่อยๆคลายการเสพกามสุขไปด้วยเห็นโทษที่มากกว่าคุณนั่นเอง







ในฐานะที่เป็นมนุษย์ธรรมดาและเป็นฆราวาส ก็เป็นธรรมดาค่ะที่จะยังเสพกามอยู่ การเสพกามบางครั้งก็ช่วยให้ชีวิตไม่ตึงไปนักได้ เช่น ในบางครั้ง หากเหนื่อยจากงานที่ทำมากๆ และมีงานคั่งค้างอยู่มาก แม้อยากพักในฌานก็อาจทำได้ยากด้วยปลิโพธคืองานที่ค้างอยู่นั่นเอง การนั่งพัก ฟังเพลงเบาๆ ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี จิบเครื่องดื่มเย็นๆสักแก้ว มองภาพประดับผนังงามๆ ก็อาจช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้บ้าง เมื่อหายเหนื่อยและจัดการกับปลิโพธได้แล้ว การพักด้วยจิตที่เป็นสมาธิในฌานก็จะทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งการพักในฌานนี้นอกจากจะเป็นการพักที่เลิศกว่า ไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งต่างๆ เช่น เสียงเพลง เครื่องดื่มอร่อยลิ้น สัมผัสต้องกาย แล้ว ยังสามารถใช้จิตที่ที่เป็นสมาธิแล้วพิจารณาธรรมได้เป็นอย่างดี อันเป็นการพัฒนาปัญญาอีกด้วย

เมื่อฝึกฝนการพักในฌานจนมีความชำนาญในการเข้าถึง การพักด้วยการอาศัยสิ่งต่างๆเหล่านั้น ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป จึงทำให้เมื่อนึกอยากจะพักในฌานเมื่อไร ก็ทำได้ทันที

อย่างไรก็ดี แม้ในขณะที่จิตฟุ้งซ่านและยังไม่มีความชำนาญในการเข้าฌาน จิตก็ยังสามารถเป็นสมาธิได้แม้ไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆเหล่านั้น นั้นคือ เมื่อจิตอยากจะคิด ก็ปล่อยให้คิด แต่คิดในเรื่องที่นำไปสู่การปล่อยวาง เช่น การระลึกถึงความดีที่ทำ ศีลที่รักษา พุทธคุณ เป็นต้น (การระลึกเหล่านี้ เรียก อนุสติ เช่น เมื่อระลึกถึงพุทธคุณ เรียกพุทธานุสติ เป็นต้น) เมื่อจิตน้อมตามความคิดจนสงบ องค์ธรรมในหลัก "ธรรมสมาธิ 5 " ก็จะเกิดดับเกิดดับตามกันมาเป็นชุด นั่นคือ ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข และ สมาธิ ซึ่งหากจิตเป็นสมาธิด้วยกระบวนการตามธรรมชาตินี้ จัดได้ว่าเป็นการหาวิธีพักจิตโดยใช้ความคิดให้เกิดประโยชน์ และหากนำจิตที่เป็นสมาธิที่ได้จากกระบวนการนี้ไปพิจารณาธรรมก็จัดเป็นการวิปัสสนาวิธีหนึ่ง ซึ่งท่านพุทธทาสเรียกว่าเป็นการวิปัสสนาโดยการใช้จิตที่เป็นสมาธิในชีวิตประจำวัน

หรือแม้แต่การระลึกถึงบุญที่ทำแม้จะต้องการกาม เช่น ทำบุญเพื่อหวังให้เกิดในสวรรค์ ทำทานเพื่อหวังผล เมื่อนึกถึงแล้วจิตเกิดปีติ ก็สามารถสู่สมาธิได้ตามองค์ธรรมในหลัก ธรรมสมาธิ ๕ (ปราโมทย์ - ปีติ - ปัสสัทธิ - สุข - สมาธิ) ได้ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จึงนำจิตที่เหมาะจะใช้งานไปพิจารณาธรรมต่อไป เช่น เมื่อเห็นว่าการทำบุญหวังผล นอกจากจะเป็นเหตุให้มีตัวตนวนเกิดไปรับผลบุญแล้ว ยังอาจโน้มจิตให้ตกต่ำลงได้ หากไม่ฝึกทำเพื่อการละคลายกิเลส เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างแท้จริงบ้าง ก็จะค่อยๆคลายการหวังผล โน้มไปสู่การละวาง ซึ่งในกรณีนี้ การทำบุญเพื่อหวังกาม จึงเป็นโอกาสให้เกิดปัญญาอันนำไปสู่การพิจารณาเพื่อทำบุญโดยปราศจากความต้องการอันเป็นกาม หรือความมีความเป็นต่างๆ อันทำให้สิ้นทุกข์ได้ในที่สุดต่อไป

ในฐานะฆราวาส ในขั้นต้นเราจะควรเสพกามโดยไม่จมอยู่ในกาม นั่นคือ เสพอย่างรู้เป้าหมายของการเสพ โดยนอกจากจะรู้จักควบคุมการเสพแล้ว ยังควรมีการปฏิบัติเพื่อให้ความต้องการเสพน้อยลง กระทั่งสามารถหยุดเสพได้ในที่สุดด้วย และเพราะมีความเข้าใจในการเสพ จึงเสพกามเท่าที่ยังจำเป็นแก่ชีวิต เนื่องจากเรายังมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตามสมมติสัจจะ เช่น ยังมีหน้าที่ของพ่อ แม่ สามี ภรรยา ลูก หัวหน้างาน ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น เสพโดยไม่หลงงมงาย

กามสุขที่ควบคุมได้นั้น พระพุทธเจ้าจัดเป็น  “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” คือ ประโยชน์ในปัจจุบันเลยทีเดียว อันเป็นประโยชน์สุขสามัญที่มองเห็นกันในชาตินี้ที่คนทั่วไปปรารถนา ซึ่งประกอบด้วย ทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นต้น

อันจะสำเร็จด้วยธรรม ๔ ประการ คือ
       "๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น
        ๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา
        ๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี
        ๔. สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้"

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์

กามสุข เช่น สุขจากการมีทรัพย์ จากการได้ลิ้มอาหารเลิศรส จากการได้อยู่ในบ้านที่สวยงาม จากการพอใจในคู่ของตน ฯลฯ จึงควรถูกมองว่าเป็นการมีเพื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พบสุขที่เลิศขึ้น ไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิต

เมื่อพบสุขที่เลิศขึ้นแล้ว เช่น ฌานสุข ในระยะแรกก็ยังมีการเสพคู่เคียงกันไป (ดังเช่นพระโสดาบัน ก็ยังเสพกามอยู่) จนเมื่อเข้าใจในสภาวธรรมมากขึ้น มีการฝึกตนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นแจ้งขึ้นเรื่อยๆ กามสุขจึงค่อยๆถูกแทนที่ด้วยสุขอื่นมากขึ้นๆ กระทั่งหายไป "เอง" ในที่สุด เพราะจิตเมื่อได้สัมผัสสุขที่เลิศขึ้นแล้ว มักไม่ใคร่ยินดีในสุขที่ต่ำกว่า (เรามักเข้าใจว่าพระอรหันต์ไม่สามารถเสพกามได้ อันที่จริง ท่านก็ยังเสพได้อยู่ แต่ที่ท่านไม่เสพ เพราะกิเลสที่จะทำให้เสพนั้นไม่มี)

แต่หากเรามัวเมาในกามสุข ชีวิตก็ต้องพึ่งพิงสิ่งต่างๆจากภายนอกอยู่ร่ำไป และหากเราเห็นกามสุขเป็นเป้าหมายของชีวิต นอกจากจะต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกตลอดไปแล้ว ยังทำให้มองเพื่อนมนุษย์ด้วยความหวาดระแวง (เช่นว่าเขาจะมาแย่งกามสุขของเราไปหรือไม่) มองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ (เช่นว่าทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์จากเขา) และสุดท้าย ตัวเราเองจะไม่สามารถพบความสุขที่แท้จริงได้ เพราะกามสุขเป็นการเสพด้วยตัณหา ซึ่งธรรมชาติของตัณหาคือ เมื่ออยากก็ขวนขวายให้ได้ เมื่อได้ ก็ขวนขวายให้ได้มากขึ้น ปรุงให้เลิศขึ้น เราจึงวุ่นวายกับการหาเพื่อเสพอยู่ตลอดเวลา

และจะค่อยๆสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไปได้ในที่สุด

และสุดท้าย ก็ยังให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะที่น่าเหนื่อยหน่าย
ขอบคุณครับ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้