ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554
งู นาค ศักดิ์สิทธิ์ในคติชนสุวรรณภูมิ
ผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ยกย่อง “งู “ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะงูมีอยู่ชุกชุมและเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายอันตรายเกินกว่าที่มนุษย์สมัยโบราณจะควบคุมได้ จากความกลัวจึงบูชานับถือเป็นสัตว์ที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ แล้วยกย่องให้ยิ่งใหญ่เป็น นาค หรือ พญานาค สัตว์ในจินตนาการที่มีเรื่องเล่านิทานตำนานอยู่มากมายในกลุ่มชนแถบภูมิภาคอุษาคเนย์ ดังมีรวบรวมไว้ในหนังสือ นาค : ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ ของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ร่องรอยคติการบูชานับถืองู อาจดูได้จากการทำลวดลายเป็นรูปงูบนภาชนะดินเผา ยุคสุวรรณภูมิ เมื่อ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว เช่น ภาชนะดินเผาที่พบจากบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี, บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี, โคกไม้เดน อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ และจากแหล่งโบราณคดีหุบเขาวงพระจันทร์ อ.โคกสำโรง จ. ลพบุรี เป็นต้น วัฒนธรรมหินตั้งหรือหินใหญ่ เมื่อราว 2,500 ปีก่อน บริเวณปราสาทวัดภู ของชาวเจนละ ก็มีรูปสลักจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน อย่างงู และจระเข้ อยู่เช่นกัน โดยที่ภาชนะดินเผา ซึ่งทำมาพิเศษสำหรับฝังอุทิศในพิธีฝังศพ และรูปสลักรูปงูหรือสัตว์เลื้อยคลาน บนลานพิธีศักดิ์สิทธิ์ บริเวณศาสนสถานวัดภู ที่รูปสลักจระเข้มีการสลักร่องทางน้ำไหล ที่อาจเป็นช่องสำหรับให้น้ำศักดิ์สิทธิ์จากการทำพิธีไหลลง ความ เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ช่วยยืนยันว่างูหรือนาคที่ปรากฎบนงานศิลปกรรมหรือข้าวของเครื่องใช้ประกอบในพิธีกรรม เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่คนยุคเก่าก่อนนั้นยกย่องนับถือ
|