แม่น้ำชี แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดกับตำนานเรื่องเล่า
สวัสดีครับ สืบเนื่องมาจากกระทู้เรื่อง "ชื่อแม่น้ำมาจากไหน" http://board.postjung.com/713237.html มีเพื่อนสมาชิกคอมเม้นท์ถามถึงแม่น้ำชี วันนี้ผมเลยขอนำเรื่องของแม่น้ำชี้พร้อมตำนานแม่น้ำชีที่เล่าขานต่อกันมาให้อ่านกันนะครับ
บริเวณที่แม่น้ำชี (ซ้ายบน) มาบรรจบกับแม่น้ำมูล (ซ้ายล่าง) ในเขต จ.อุบลราชธานี (ภาพจาก Google Earth) ในขณะที่ดินแดนอีสานตอนล่างมีแม่น้ำมูลเป็นแกนหลัก พื้นที่อีสานตอนกลางทางเหนือขึ้นมาก็มีแม่น้ำชีเป็นหัวใจสำคัญบนที่ราบสูงโคราชผืนเดียวกัน แม่น้ำชีมีต้นกำเนิดจากภูเขาที่ยกตัวเป็นขอบสูงทางทิศตะวันตกของภาคอีสานซึ่งต่อเนื่องจากภูพานทางตอนเหนือลงมา ต้นของแม่น้ำชีคือการรวมกันของลำห้วยเล็กๆ ที่ไหลจากสันปันน้ำของภูเหล่านี้ จนมารวมเป็นห้วยใหญ่ตั้งแต่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวอันเป็นรอยต่อของ จ.ชัยภูมิและเพชรบูรณ์ ไหลไปทางตะวันออก แม่น้ำชีในส่วนของ จ.มหาสารคาม โดยมีสาขาหลัก 5 ลำน้ำซึ่งประกอบไปด้วย ลำน้ำพอง ลำน้ำปาว ลำน้ำเซิน ลำน้ำพรมและลำน้ำยัง แม่น้ำชีถือว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ไหลผ่านจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่บ้านวังยาง ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวทั้งสิ้น 765 กม. ในลุ่มน้ำชีปรากฏลักษณะทางวัฒนธรรมโบราณสำคัญอย่างหนึ่งคือการปักใบเสมาหินมีอายุสมัยตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,000 ปีมาแล้วจนเข้าสู่สมัยทวารวดีราว 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการปักใบเสมาเช่นนี้คงมาจากวัฒนธรรมหินตั้งในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพื่อบอกเขตพิธีกรรม เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาจึงปรับเปลี่ยนเป็นหลักบอกเขตพุทธาวาส พบกระจัดกระจายอยู่ในชุมชนโบราณตามลุ่มน้ำชี เช่น บ้านกุดโง้ง บ้านคอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ บ้านโนนเมือง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ และพบในแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งที่ จ.ร้อยเอ็ดกับ จ.ยโสธร
ใบเสมาหินโบราณ ที่บ้านกุดโง้ง จ.ชัยภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมใบเสมาที่มีร่วมกันในลุ่มน้ำชีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์-ทวารวดี ลักษณะดังกล่าวเป็นการยืนยันว่าผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายไปตามลุ่มน้ำชีต่างก็มีวัฒนธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นอย่างน้อย จนหลัง พ.ศ.2300 ลงมา เมื่อมีผู้คนจากสองฝั่งโขงได้ทยอยกันลงมาตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำชีก็จะเห็นความสัมพันธ์กันจากงานศิลปกรรมแบบล้านช้างพื้นเมืองที่อยู่ในชุมชนตามลำน้ำชีนี้เช่นกัน
ชื่อแม่น้ำ “ชี” หลายท่านเชื่อว่าอาจมีที่มาจากคำว่า เซ ในภาษาไท-ลาวอันแปลว่าลำน้ำ ยังมีที่ใช้เรียกทั่วไปในลุ่มน้ำโขง เช่น เซบั้งไฟ เซกอง เซโปน
หรืออีกนัยหนึ่งคือ คำว่า "ชี" นั้น มาจากภาษาอีสาน(ลาว) ท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำชีบริเวณต้นน้ำนั้น คือคำว่า "ซี" ซึ่งหมายถึงการเจาะทะลุเป็นรู โดยลักษณะต้นกำเนิดของน้ำชีนั้นมีสายน้ำที่ไหลผ่านลอดใต้เทือกเขาหินปูน ที่เรียกว่า "ซีดั้น" และไหลทะลุลอดผ่านมาอีกฝั่งหนึ่งของเทือกเขา เรียกว่า "ซีผุด" เป็นเช่นนี้เป็นส่วนใหญ่ในบริเวณต้นกำเนิดสายน้ำชี จึงทำให้เรียกลำน้ำสายนี้ตามลักษณะพิเศษที่ลำน้ำไหลซี(ไหลทะลุ)ลอดผ่านใต้เทือกเขานั้นว่า "ลำน้ำซี" ในภาษาถิ่น หรือ ลำนำชี ในภาษากลาง นั่นเอง
|