|
๏ ปัจฉิมบท
หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร เป็นพระสุปฏิปันโน บุตรของกองทัพธรรมพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่เสาร์ กนุตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สานุศิษย์คาดว่าหลวงปู่มหาบุญมีไม่ได้พบหรือได้ฟังธรรมภายนอกจากพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยตรง แต่การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของหลวงปู่มหาบุญมี อยู่สำนักเดียวกับหลวงปู่เสาร์ กนุตสีโล คือวัดเลียบ และไปพำนักอยู่วัดบูรพา สำนักเก่าแก่ดั้งเดิมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นั่นเอง ด้วยบริบทและสภาวะธรรมของของสำนักวัดเลียบ วัดบูรพา และทราบประวัติของพระอาจารย์ใหญ่บูรพาจารย์ทั้งสองขณะที่ศึกษาปริยัติอยู่วัดนี้ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการแสวงหาโมกขธรรม เกิดแรงบันดาลใจและมองเห็นลู่ทางธรรมที่เหนือกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรม จึงเป็นสิ่งที่หลวงปู่ฝังใจตลอดเวลา
เมื่อไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่เมืองกรุงที่วัดปทุมวนาราม ก็ได้รับทราบเรื่องราวที่บูรพาจารย์และพระป่ามาพำนักที่นี่ หลวงปู่จึงทิ้งป่าคอนกรีตออกปฏิบัติธรรมอย่างอุกกฤษ ตามรอยพระพุทธองค์และบูรพาจารย์ทั้งสอง โดยมีสหธรรมมิกที่เคยปรนนิบัติและรับใช้บูรพาจารย์ที่ธุดงค์ร่วมกัน ถ่ายทอดคำสั่งสอนมรรควิธีของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่จึงถือว่าบูรพาจารย์ทั้งสองเป็นพระอาจารย์ และมีความสนิทคุ้นเคยกับกลุ่มกองทัพธรรมสายนี้ที่สุด
ดังจะเห็นได้ว่าหลวงปู่เป็นที่เคารพนับถือของพระสุปฏิปันโน ทั้งรุ่นศิษยานุศิษย์หลวงปู่มั่น และรุ่นหลานศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก นับตั้งแต่หลวงปู่มหาบัว ญานสมฺปนฺโน, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย, หลวงปู่ศรี มหาวีโร, หลวงพ่อเมือง พลวฑฺโฒ, หลวงพ่ออุ่นหล้า ฐิตธมฺโม วัดป่าแก้วชุมพล จังหวัดสกลนคร, พระอาจารย์อินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ที่เป็นวาระการชุมนุมของคณะศิษยานุศิษย์สายหลวงปู่มั่นมากที่สุดครั้งหนึ่ง และในงานรำลึกบูชาพระเถราจารย์ศิษย์หลวงปู่มั่น ณ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ประวัติและรูปของหลวงปู่ก็ได้รับการเผยแพร่ในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
ครั้นต่อมา หลวงปู่เริ่มอาพาธหนักในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2532 ในระหว่างที่พักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีโพธิ์ทอง อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด สาเหตุเกิดจากการหกล้มในขณะเดินเข้าห้องน้ำแล้วเกิดอาการเข่าอ่อน หลังจากนั้นท่านเกิดอาพาธเดินไม่ได้ คณะศิษย์จึงได้พยายามช่วยกันรักษาพยาบาลอาการอาพาธของท่าน ทั้งด้วยยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น ในที่สุดผู้ใหญ่สัญชัย และกำนันเซ็ง จึงได้นิมนต์ท่านไปรักษายาแผนโบราณ ที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพักจำพรรษาที่วัดป่าเกาะแก้วประเสริฐ์ พร้อมกับไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ด้วยในบางโอกาส จนอาการดีขึ้น
ภายหลังจากนั้น คณะศิษย์จากจังหวัดมหาสารคามได้พากันไปอาราธนาท่านให้มาพักจำพรรษาที่วัดป่าวังเลิง และท่านก็ได้มาพักจำพรรษาที่วัดป่าวังเลิง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533 ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2534 หลวงปู่ก็ได้เกิดอาพาธอีกครั้งหนึ่ง คณะศิษย์จึงได้นำตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น และตั้งแต่นั้นมาอาการอาพาธของหลวงปู่ก็มีแต่ทรงกับทรุดมาตลอด ตามลำดับดังนี้
เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2534
ออกจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534
เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ครั้งที่ 2 วันพุทธที่ 25 ธันวาคม 2534
ออกจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2535
เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2535 และในเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2535 ท่านก็ได้อนุญาตให้นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เพื่อทำการผ่าตัดใส่สายยางทางหลอดลม เข้า โอ อาร์ เวลา 16.15 น. ออกเกือบจะเวลา 17.00 น. และฟื้นเวลาประมาณ 20.00 น. หลังจากนั้นอาการอาพาธของหลวงปู่ ก็ทรุดหนักมาเรื่อยๆ จนเป็นที่หนักใจของคณะแพทย์และคณะศิษยานุศิษย์ผู้เฝ้ารักษาพยาบาลเป็นอย่างมาก จนในที่สุดหลวงปู่ก็ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 เวลา 10.10 น. ซึ่งตรงกับวันจันทร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก สิริรวมอายุหลวงปู่ได้ 81 ปี 6 เดือน 6 วัน พรรษา 60
เหลือเพียงภาพลักษณ์แห่งความเป็นพระภิกษุที่เยือกเย็น เบิกบาน เมตตาหาที่ประมาณมิได้ สันโดษ เรียบง่าย และแบบอย่างแห่งมรรควิธีไปสู่ความหลุดพ้น ที่พุทธศาสนิกชนจะต้องปฏิบัติตาม ขออำนาจบารมีธรรมของหลวงปู่ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมา จงแผ่เมตตาบารมีให้พุทธบริษัทได้เกิดธรรมจักษุ พบแก่นพุทธธรรมเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสรรพสัตว์ทั้งพิภพด้วยเทอญ
|
|