|
ถ้าจะกล่าวถึงบรรดาพระเครื่องที่มีการจัดสร้างขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้วบรรดานักนิยมพระเครื่องทุกท่านต่างยอมรับและยกให้ “พระ 25 พุทธศตวรรษ”คือที่สุดของพิธีกรรม เป็นการสร้างและปลุกเสกพระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทยเพื่อเฉลิมฉลองในวาระ “กึ่งพุทธกาล”ของศาสนาพุทธนั่นเอง โดยประธานฝ่ายสงฆ์ของพิธีกรรมในครั้งนั้น คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศมหาวิหาร ประธานฝ่ายฆราวาสได้แก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ประธานฝ่ายจัดสร้างพระพิมพ์คือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และรองประธานฝ่ายจัดสร้างได้แก่ พลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร และเป็นกรรมการจัดจำหน่ายวัตถุมงคลในครั้งนี้ให้สาธุชนและผู้มีเกียรติทั้งหลายเช่าไปบูชาสักการะ
ในการทำพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลในครั้งนั้น ได้นิมนต์พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณมาทำพิธีถึง 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกเป็นการนำวัตถุที่จะใช้สร้างพระมาทำพิธีพุทธาภิเษกก่อนครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2500 ณ พระอุโบสถวัดสุทัศน์ โดยมีพระคณาจารย์มาทำพิธีครบ 108 องค์ และต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2500พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จฯและทรงกดพิมพ์พระจำนวน 30 องค์ กับพระทองคำ 4 องค์ เป็นปฐมฤกษ์ หลังจากนั้นได้ทำการสร้างพระโดยตั้งโรงงานผลิตภายในบริเวณวัดสุทัศน์ ใช้ระยะเวลาสร้างประมาณ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ และได้ทำพิธีมหาพุทธธาภิเษกอีกครั้งเมื่อวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม โดยมีพระเกจิอาจารย์ที่ทรงวิทยาคุณชุดเดิมอาราธนาปลุกเสก 108 องค์ รวมเวลาของพิธีมหาพุทธาภิเษก 2 ครั้ง 6 วัน 6 คืน และวัตถุมงคลทั้งหมดได้ออกให้เช่าบูชาที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500
จำนวนการสร้างพระ 25 พุทธศตวรรษ
--เนื้อทองคำ 2,500 องค์ ราคาบูชา 2,500 บาท ถ้าสมทบทุนสร้างพุทธมณฑลบริจาคเหรียญละ 10,000 บาท
--เนื้อนาก 30 องค์ สมทบทุนสร้างพุทธมณฑลบริจาคเหรียญละ 5,000 บาท
--เนื้อเงิน 300 องค์ สมทบทุนสร้างพุทธมณฑลบริจาคเหรียญละ 1,000 บาท
--เนื้อชินดีบุก 2,421,250 องค์ ราคาบูชา 10 บาท
--เนื้อดินเผา 2,421,250 องค์ ราคาบูชา 10 บาท
--เหรียญเสมา 2,000,000 องค์ (มีเนื้อ ทองคำ นาก เงิน และอัลปาก้า) ราคาบูชาเหรียญอัลปาก้า 10 บาท
--พระบูชาพิมพ์พุทธลีลา ขนาดจำลอง สูง 71 ซม. เพื่อนำไปประจำจังหวัดต่างๆ 71 จังหวัด กับอีก 400 อำเภอ
--พิมพ์พิเศษ ไม่ทราบจำนวน จัดสร้างโดยคณะกรรมการท่านหนึ่ง นำเข้าพิธีพร้อมกัน แต่แจกให้คณะกรรมการที่ช่วยในการจัดงาน และนำไปสมนาคุณผู้ที่เช่าพระบูชา เนื้อดิน หรือ เนื้อชิน ที่เช่าพระเกิน 100 องค์ และถวายพระอาจารย์ ที่มาปลุกเสกด้วยรูปละ 1 องค์ โดยบรรจุในกล่องหุ้มสักหลาดสีเหลือง ภายในกล่องมีสองชั้นชั้นล่างบรรจุพระเนื้อชิน 2 แถวๆละ 6 องค์ เป็นพิมพ์ธรรมดา 11 องค์ พิมพ์พิเศษ 1 องค์
ชั้นบนบรรจุพิมพ์เนื้อดิน สีต่างๆกัน 13 องค์ ด้านในฝากล่องพิมพ์ข้อความว่า" พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ ถวายพระอาจารย์เป็นที่ระลึก" กล่องชุดนี้มี 108 ชุด เท่ากับพระอาจารย์ที่นิมนต์มาทำพิธีมหาพุทธาภิเษกในวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2500
จากสาเหตุที่สร้างพระจำนวนมากเป็นหลัก "ล้าน "องค์ ในขณะที่ประชากรในสมัย พ.ศ.2500 ยังมีไม่ถึง 20 ล้านคน ทำให้มีพระเหลือมาก ให้บูชาอย่างไรก็ไม่หมด มีการจัดส่งไปตามหน่วยงานราชการตามต่างจังหวัดเพื่อช่วยกันจำหน่าย แต่ก็ยังไม่หมดอยู่ดี และมีการเชิญชวนให้วัดตามต่างจังหวัดนำพระรุ่นนี้ไปบรรจุกรุในวัดอีกด้วย จนระยะเวลาผ่านไปนานเลยจำต้องส่งพระกลับคืนส่วนกลางโดยนำเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย ต่อมาก็ได้มีการย้ายพระชุดนี้มาเก็บรักษาไว้ที่พุทธมณฑล จ.นครปฐมและยังคงมีการจัดจำหน่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้ครับ
|
|