ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 3944
ตอบกลับ: 17
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

พระองค์ที่ ๕ : สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)

[คัดลอกลิงก์]


พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พุทธศักราช ๒๓๖๕-๒๓๘๕


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


หัวข้อ

•        พระประวัติในเบื้องต้น
•        ประวัติและความสำคัญของวัดหงส์รัตนาราม
•        ทรงย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ
•        ประวัติและความสำคัญของวัดสระเกศ
•        สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
•        พระกรณียกิจพิเศษ
•        การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ
•        จัดสมณทูตไทยไปลังกา
•        ชำระความพระสงฆ์ครั้งใหญ่
•        พระอวสานกาล
•        ประวัติและความสำคัญของวัดราชาธิวาส
•        วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์  
สถิตย์สถานของสมเด็จพระสังฆราช ๔ พระองค์
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:02 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
ทราบแต่เพียงว่า ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา
เดิมจะได้เปรียญและเป็นพระราชาคณะตำแหน่งใดมาก่อนหรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐาน
กระทั่งมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  จึงปรากฏหลักฐานว่าเป็นที่ พระเทพโมลี อยู่วัดหงษ์
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี
แล้วต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม
เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙
ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็น  สมเด็จพระสังฆราช
ในราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)  


วัดหงส์รัตนาราม

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและความสำคัญของวัดหงส์รัตนาราม

“วัดหงษ์” แต่เดิมมานั้นเรียกขานกันว่า วัดเจ๊สัวหงบ้าง วัดเจ้าสัวหงบ้าง
วัดเจ้าขรัวหงบ้าง ตามชื่อของคหบดีจีนที่เป็นผู้สร้างวัด
มาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ
ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเป็นพระอารามที่อยู่ติดกับพระราชวัง
และพระราชทานชื่อว่า “วัดหงษ์อาวาสวิหาร”  
จึงได้เป็นพระอารามหลวงและพระอารามสำคัญมาแต่ครั้งนั้น

จนมาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ทรงปฏิสังขรณ์ จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดหงษ์อาวาสบวรวิหาร”  
เพราะเป็นพระอารามที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม
อันเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า “วัดหงสาราม”  
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า
“วัดหงส์รัตนาราม” ดังที่เรียกกันสืบมาจนปัจจุบัน

ปัจจุบัน วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่
กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๔๖ ไร่เศษ และมีที่ธรณีสงฆ์คือ
ที่จัดประโยชน์ให้ประชาชนเช่าปลูกที่อยู่อาศัย ติดกับวัดอีกประมาณ ๒๐ ไร่

ภายในวัดหงส์รัตนารามฯ มีโบราณสถานสำคัญภายในวัดที่น่าสนใจ
อาทิ พระอุโบสถในสมัยอยุธยา ภายในมีเสาอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ๒ ข้างสวยงามมาก
พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอู่ทอง ปูนปั้นลงรักปิดทอง
ไม่มีพระนามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยา พระพุทธรูปหลวงพ่อแสน
เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะสวยงามเป็นพิเศษ
ตามประวัติ ได้มีการอัญเชิญมาจากเมืองเชียงแตง เมื่อพ.ศ.๒๔๐๑

นอกจากนี้แล้วยังมีสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร
อยู่ทางทิศตะวันตกท้ายวัด ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอพระไตรปิฎก
ตู้พระไตรปิฎก กุฏิไม้สักเก่า เป็นต้น นับเป็นวัดที่เก่าแก่
และเป็นที่พำนักจำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์
4#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:03 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม


ทรงย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ

ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริจะทรงตั้ง
สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่ไปอยู่วัดมหาธาตุ เพื่อเตรียมการทรงตั้งต่อไป
และโปรดเกล้าฯ ให้พระพิมลธรรม (ด่อน) ย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ
สืบต่อจาก สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ นั้น

สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) นั้นเมื่อแห่ไปอยู่วัดมหาธาตุได้ ๘ เดือน
ยังมิทันได้ทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เกิดอธิกรณ์ขึ้นเสียก่อน
จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเสียจากสมณฐานันดร แล้วให้ออกไปเสียจากวัดมหาธาตุฯ
จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง (บางที่เรียกว่า วัดแหลม)
ซึ่งเป็นวัดเบญจมบพิตรในบัดนี้ จนถึงมรณภาพ

ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน
พระพิมลธรรม (ด่อน) เป็น สมเด็จพระพนรัตน ในคราวเดียวกันกับที่ทรงตั้ง
สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็น สมเด็จพระสังฆราช
5#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:04 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)  
6#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:05 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ประวัติและความสำคัญของวัดสระเกศ

วัดสระเกศ หรือ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  
เป็นวัดโบราณ เดิมเรียกชื่อว่า “วัดสะแก” มามีตำนานเนื่องในพงศาวดาร
เมื่อปีขาล จัตวาศก  จุลศักราช ๑๑๔๔ พุทธศักราช ๒๓๒๕
ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท  ชนิดราชวรมหาวิหาร  
ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร  

ดังมีข้อความปรากฏตามตำนานว่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยโบราณ   
สันนิษฐานว่าจะได้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  
เดิมมีชื่อว่า   “วัดสะแก” เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นวัดสระเกศเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑   
เมื่อครั้งที่ได้สร้างกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก
ดังมีปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า


พระประธานในพระอุโบสถวัดสระเกศ
7#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:06 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ เบญจศก ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ นั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดเกล้าฯ ให้
ลงมือก่อสร้างพระนคร รวมทั้งพระบรมมหาราชวัง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล         
ได้รวมผู้คนให้ขุดคลองรอบเมือง ตั้งแต่บางลำพูเรื่อยไปจนจดแม่น้ำ
ด้านใต้ตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส

แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองหลอด และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง      
พระราชทานนามว่า คลองมหานาค  เพื่อให้เป็นที่สำหรับชาวพระนคร   
ได้ลงประชุมเล่นเพลง และสักวา ในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
  
และวัดสะแกนั้น  เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว
จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ”
และทรงปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอาราม
ตั้งต้นแต่พระอุโบสถตลอดถึงเสนาสนะสงฆ์ และขุดคลองรอบวัดอีกด้วย  
คำว่า “สระเกศ” นี้ตามรูปคำก็แปลว่าชำระหรือทำความสะอาดพระเกศานั่นเอง   


เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ


มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช   
ทรงพระราชทาน เปลี่ยนชื่อ  วัดสะแก  เป็น วัดสระเกศ  นี้
มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      
เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี  ข้อ  ๑๑  ว่า     

“รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศ     
แล้วบูรณะปฏิสังขรณ์    เห็นควรที่ต้นทางเสด็จพระนคร”


ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า  

“ปฏิสังขรณ์วัดสะแก และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ
เอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร”


มีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวาร สรงพระมรุธาภิเษกตามประเพณี
กลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า “วัดสระเกศ”
8#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:07 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้

เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในภูเขาทอง


สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่  ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๖๕
ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย นี้
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระพนรัตน (ด่อน)
ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อเดือน ๔ เดือนมีนาคม ปีมะแม ในศกนั้น แต่ไม่พบสำเนาประกาศสำเนาทรงตั้ง

เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
เช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒
และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ ๒ ปีเศษ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๒
9#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:08 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
พระกรณียกิจพิเศษ

ในปลายรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญคือทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗

เมื่อทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ ๓ วัน
แล้วเสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
หลังจากทรงผนวชได้เพียง ๑๕ วัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต

เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุ
เพื่อทรงศึกษาภาษาบาลีต่อไป พระตำหนักอันเป็นที่ประทับของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชครั้งนั้น
คือตรงที่ปัจจุบันสร้างเป็นวิหารโพธิลังกา ซึ่งอยู่ทางมุมวัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก
หลังพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในบัดนี้


ภาพทรงศีล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
(หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเถระ)




10#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-6-4 08:09 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ

เนื่องมาจากการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยของ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ครั้งนั้น
ได้ก่อให้เกิดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ที่นับว่าสำคัญครั้งหนึ่ง
ในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในเวลาต่อมา

กล่าวคือ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จกลับมาประทับทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดมหาธาตุ
จนทรงรอบรู้ในภาษาบาลีและเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกแล้ว
ก็ทรงพิจารณาเห็นความบกพร่องในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในยุคนั้น
ดังพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“ผลแห่งการที่ทรงศึกษาและพิจารณาทั่วถึงละเอียดเข้า
ก็ให้เกิดความสลดพระราชหฤทัยไปว่าวัตรปฏิบัติแลอาจาริยสมัย
ซึ่งได้นำสั่งสอนกันสืบๆ มานี้ เคลื่อนคลาดห่างเหิน แลหยาบหย่อนไปเป็นอันมาก
ดูประหนึ่งว่าจะมีรากเง่าเค้ามูลอันเน่าผุไปเสียแล้ว”


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้