|
หลวงปู่ชื่น ติคญาโณ วัดตาอี อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์
สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดกลียุคทั่วโลก ยิ่งประเทศเล็กประเทศน้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากข้าวยากหมากแพงแล้ว ประชาชนยังต้องรับกรรมหนักเพราะครอบครัวแตกสลายเนื่องจากความแร้นแค้นยากจนเป็นสาเหตุใหญ่
ครอบครัวของหลวงปู่ชื่น ติคญาโณ ซึ่งเป็นชาวกัมพูชาก็ได้รับความรุนแรงของไฟสงครามเช่นเดียวกัน ทำให้ญาติพี่น้องของหลวงปู่ชื่นลับหายตายจากไปหลายคน ซึ่งประเทศกัมพูชาขณะนั้นร้อนระอุสุด ๆ จนดูโหดร้ายไปทุกอย่าง ทำให้หลวงปู่ชื่นเกิดความเบื่อหน่ายจึงเดินธุดงค์เข้ามายังแผ่นดินไทยที่มีแต่ความสงบร่มเย็น
“หลวงปู่ชื่น นามเดิมชื่อ ชื่น นามสกุล ศรีโสด เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 11 ปีมะเมีย ตรงกับปี พ.ศ. 2461 เกิดที่บ้านหินกอง อำเภอหินกอง จังหวัดสวายศรีโสพล ประเทศกัมพูชา โยมบิดาชื่อ นายชุบ โยมมารดาชื่อ พิม ศรีโสด มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน คือ นายเรียว, นายโพธิ์, นายบุญ, นายเกิด, หลวงปู่ชื่น, นางยอด และนางยาว ครอบครัวมีอาชีพทำนาทำไร่ตามประสาชาวบ้านในชนบททั่วไปของชาวเขมร
ชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงปู่ชื่น นิสัยท่านเป็นคนใจบุญ มีความสุขุมลุ่มลึก และมีใจโอบอ้อมอารีชอบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ทั้งยังมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ๆ พออายุได้ 15 ปี ได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งพ่อแม่ไม่ขัดข้อง ท่านจึงได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดในหมู่บ้านเกิดของท่าน
หลังจากบวชเณรได้ระยะหนึ่งพอถึงอายุ 20 ปี หลวงปู่ชื่นก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาโดยได้รับฉายาว่า “ติคญาโณ” เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว หลวงปู่ชื่นได้ศึกษาบทสวดมนต์และบทสวดปาติโมกข์ ซึ่งใช้เวลาเพียงหนึ่งพรรษาก็สวดพระปาติโมกข์ได้แล้ว นับว่าหาพระที่เก่งเช่นนี้น้อยมาก เพราะการท่องบทพระปาติโมกข์พระบางรูปต้องใช้เวลานานนับ 5 ปี 10 ปี เนื่องจากเป็นบทสวดที่ยาวและยากที่สุดนั่นเอง
“หลวงปู่ชื่นสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในพรรษาที่ 3 หลังจากนั้นท่านจึงออกเดินธุดงค์ปลงสังขารลัดเลาะไปตามป่าดงพงพี ข้ามเขาลงห้วยในดินแดนประเทศกัมพูชา ทำให้ท่านได้พบกับครูบาอาจารย์ที่เก่ง ๆ อยู่หลายรูป ซึ่งแต่ละอาจารย์ก็ได้ถ่ายทอดวิชาอาคมที่ตนมีอยู่ให้หลวงปู่ชื่นจนหมดสิ้น โดยเฉพาะฤๅษีที่บำเพ็ญพรตอยู่กลางป่าดงดิบได้ถ่ายทอดวิชาขั้นสุดยอดให้หลวงปู่ชื่น เพื่อให้นำไปช่วยเหลือศิษย์ต่อไปอีก”
หลวงปู่ชื่นเป็นพระเถระที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีศีลจารวัตรที่งดงาม ชอบบำเพ็ญกุศลเพื่อเสริมสร้างบารมีให้แก่กล้าขึ้น ท่านจะตื่นตั้งแต่ตีสามทำวัตรสวดมนต์ และช่วงค่ำก็เช่นกันท่านจะสวดมนต์มิได้ขาด (นอกจากจะมีกิจนิมนต์และป่วยเท่านั้น)
“หลวงปู่ชื่นชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเป็นที่สุด และให้ความเป็นธรรมแก่ศิษยานุศิษย์เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์ทั้งหลายอีกด้วย ท่านจึงเป็นที่รักเคารพของศิษย์และประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมากในขณะนี้” |
|
ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง
คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน
x
|