หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม ( อ่านว่า ปะถะมะนามะ หรือ ปถมนาม )
อดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดสะพานสูง ท่านชาตะเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู
พ.ศ.๒๓๕๘ (ช่วงรัชกาลที่ ๒) เป็นเถราจารย์ผู้เรืองเวทย์ร่วมสมัยกับสมเด็จฯโต
วัดระฆัง กรุงเทพฯ ,หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร, กรมพระยาปวเรศฯ
วัดบวรนิเวศฯ กรุงเทพฯ,หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ
และเจ้าคุณเฒ่า (เอี่ยม) วัดหนัง กรุงเทพฯ เป็นต้น เมื่อท่านอายุได้ ๒๒ ปี ได้อุปสมบทที่วัดบ่อ
ต.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ลุล่วงถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๕ (ช่วงรัชกาลที่ ๔ ) จึงได้ย้ายมาสู่
วัดสว่างอารมย์ (วัดสะพานสูง) ต.บ้านแหลมใหญ่ (ต.คลองพระอุดม) อ.ปากเกร็ด
จ.นนทบุรี ขณะนั้นมีพระ ๒ รูปเท่านั้น ในระหว่างที่ย้ายมาสู่วัดสะพานสูง ท่านได้ออกธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร
เพื่อเล่าเรียนวิชา และธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ว่ากันว่า ท่านธุดงค์หายไปนาน
๑๐ ปี จนกระทั่งชาวบ้านแหลมใหญ่และญาติโยมคิดว่าท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว
จึงจัดแจงทำบุญบังสกุล และทำสังฆทานแผ่ส่วนกุศลไปให้ท่าน ทำให้หลวงปู่เอี่ยม
ทราบด้วยญาณของท่าน ท่านจึงเดินทางกลับวัด ปรากฏว่าท่านไม่ได้ปลงผม
ผมจึงยาวถึงบั้นเอว จีวรขาดรุ่งริ่ง หนวดเครายาวเฟิ้ม พร้อมกับมีสัตว์ปา เช่น
หมี,เสือ,งูจงอาง ติดตามมาส่งท่านด้วย จากการเจริญกรรมฐานนี้ มีเรื่องเล่ากันว่ามีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตกและดุมากเป็นที่เกรงกลัวแก่ชาวบ้านแถบนั้น
หลวงปู่จึงช่วยยืนเพ่งอยู่ ๓ วันเท่านั้น ต้นตะเคียนก็เฉาและยืนต้นตาย หลวงปู่เป็นผู้มีอาคมฉมัง วาจาสิทธิ์ มักน้อยและสันโดษ
ท่านเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้คือพระอุโบสถ
พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ จึงเป็นที่มาของการสร้างพระปิดตา และตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคลอันลือลั่นนั่นเอง จวบจนเมื่อถึงวันจันทร์ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เวลา ๑๐.๐๐ น.(ช่วงรัชกาลที่ ๕)ขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๙ ท่านได้มรณภาพ
ด้วยโรคชรา รวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ก่อนที่ท่านจะมรณภาพได้มีศิษย์ผู้ใกล้ชิดเป็นตัวแทนของชาวบ้าน และผู้เคารพนับถือ
ศรัทธา ที่มีและไม่มีของมงคลท่านไว้บูชา กราบเรียนถามหากว่าเมื่อหลวงปู่ได้มรณภาพแล้วจักทำประการใด ท่านจึงได้
มีปัจฉิมวาจาว่า " มีเหตุสุข ทุกข์ เกิดนั้น ให้ระลึกถึงชื่อของเรา" จึงเป็นที่ทราบและรู้กันว่า หากผู้ใดต้องการมอบตัว
เป็นศิษย์หรือต้องการให้ท่านช่วยแล้วด้วยความศรัทธายิ่ง ก็ให้เอ่ยระลึกถึงชื่อของท่าน ท่านจะมาโปรดและคุ้มครอง
และหากเป็นเรื่องหนักหนาก็บนตัวบวชให้ท่าน รูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ท่านประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ
สร้าง(หล่อ) ขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๐ ในสมัยหลวงปู่กลิ่น ผู้ปกครองวัดต่อจากท่าน เพื่อการสักการะบูชา ต่อมาจนทุกๆวัน
จะมีผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศมากราบไหว้และบนบานฯ ตลอดเวลาตราบแสงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า ท่านชอบกระทง
ใส่ดอกไม้เจ็ดสี จะมีผู้นำมาถวายและแก้บนแทบทุกวันโดยเฉพาะในวันพระแม้แต่ผงขี้ธูปและน้ำในคลองหน้าวัดก็ยัง
มีความ"ขลัง" อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง และหลังจากที่ท่านมรณภาพล่วงไปเนิ่นนานแล้วก็ตามที ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ผลปรากฏว่าฐานที่ท่าน
เคยถ่ายทุกข์เอาไว้และปิดตาย คราวที่เกิดไฟไหม้ป่าช้า ฐานของหลวงปู่เอี่ยมเพียงหลังเดียวเท่านั้นที่ไม่ไหม้ไฟ
เมื่อความอัศจรรย์ปรากฏขึ้นเช่นนั้น ผู้คนจึงค่อยมาตัดเอาแผ่นสังกะสีไปม้วนเป็นตะกรุดจนหมดสิ้น นอกจากนั้นแล้ว
ยังมารื้อเอาตัวไม้ไปบูชาจนไม่เหลือหรอ ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ไม่ได้อะไรเลยก็มาขุดเอาอุจจาระของท่านไปบูชา
|