ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 1730
ตอบกลับ: 2
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

การทำจิตให้สงบ

[คัดลอกลิงก์]



การทำจิตให้สงบ

การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึงเพราะขาดความพอดี ธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อยฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง
การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือการออกกำลัง ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตใจให้มีกำลังก็คือทำจิตให้สงบไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน


การทำสมาธิ

บัดนี้เราจะทำสมาธิ ก็ตั้งใจ ให้เอาความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ถ้าหากว่าเราหายใจสั้นเกินไปหรือยาวเกินไปก็ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบเหมือนกันกับเราเย็บจักร ผู้เย็บจักรมีมือมีเท้าเราต้องถีบจักรเปล่าดูก่อนให้รู้จักให้คล่องกับเท้าของเราเสียก่อนจึงเอาผ้ามาเย็บ
การกำหนดลมหายใจก็เหมือนกัน หายใจเฉยๆกำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน ยาวขนาดไหนสั้นขนาดไหน จะให้ค่อยขนาดไหน แรงขนาดไหน จะยาวก็ไม่เอากับมัน จะสั้นก็ไม่เอากับมันจะค่อยก็ไม่เอากับมัน เอาตามความพอดี เอายาวพอดี เอาสั้นพอดี เอาค่อยพอดีเอาแรงพอดีนั่นชื่อว่าความพอดี เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้องแล้วก็ปล่อย หายใจดูก่อนไม่ต้องทำอะไร
ถ้าหากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หายใจเข้าต้นลมอยู่ปลายจมูกกลางลมอยู่หทัยคือหัวใจปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลม เมื่อหายใจออกต้นลมจะอยู่สะดือกลางลมจะอยู่หทัยปลายลมจะอยู่จมูก นี่มันสลับกันอย่างนี้ กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัยผ่านสะดือ พอสุดแล้วก็จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกทั้งสามจุดนี้พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้น
เมื่อหากว่าเรากำหนดจิตของเรา ให้รู้จักต้นลมกลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควรเราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉยๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้าเอาแต่ความรู้สึกเท่านั้นไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามาเอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออกผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพียงแต่ให้มีความรู้สึกเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกันลมออกก็ให้รู้ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิดเอาเพียงเท่านั้นเสียก่อนในเวลานี้ หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมากกำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ ต่อไปจิตก็สงบลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไปกายก็จะเบาเข้าไปจิตก็จะสงบไป ความเบากายเบาใจนั้น ก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงาน และจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไปนี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำกำหนดไป.....
จิตเราละเอียดเข้าไป การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ให้เรารู้จักมัน มันก็มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกคลีกันไป มันมีวิตก วิตกคือการจะยกจิตของตนนึกถึงอันใดอันหนึ่งขึ้นมาถ้าสติของเราน้อยก็จะวิตกน้อย แล้วก็มีวิจารณ์คือ การตรวจดูตามเรื่องที่เราวิตกนั้นแต่ข้อสำคัญนั้นต้องพยายามรู้ให้ทันอยู่เสมอ แล้วก็พิจารณาให้ลึกลงไปอีก ให้เห็นว่ามีทั้งสมาธิและมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น

2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-8 08:10 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
องค์ประกอบของความสงบ

คำว่า "จิตสงบ" นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรมันต้องมี มีความสงบครอบอยู่ ท่านกล่าวถึงองค์ของความสงบขั้นแรกว่าหนึ่งมีวิตก ยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีวิจารณ์ คือพิจารณาตามอารมณที่เกิดขึ้นมาต่อไปก็จะมีปีติคือ ความยินดีในสิ่งที่เราวิตกไปนั้น ในสิ่งที่เราวิจารณ์ไปนั้นจะเกิดปีติ คือความยินดีซาบซึ้งอยู่โดยเฉพาะของมันแล้วกมีสุข สุขอยู่ไหน สุขอยู่ในการวิตกสุขอยู่ในการวิจารณ์ สุขอยู่กับความอิ่มใจ สุขอยู่กับอารมณ์เหล่านั้นแหละแต่ว่ามันสุขอยู่ในความสงบ วิตกก็วิตกอยู่ในความสงบ วิจารณ์ก็วิจารณ์อยู่ในความสงบความอิ่มใจก็อยู่ในความสงบ สุขก็อยู่ในความสงบ ทั้งสี่อย่างนี้เป็นอารมณ์อันเดียวอย่างที่ห้า คือ เอกัคคตา ห้าอย่างแต่เป็นอันเดียวกัน คือทั้งห้าอย่างนี้เป็นอารมณ์แตมีลักษณะอยู่ในขอบเขตอันเดียวกัน คือเมื่อจิตสงบ วิตกก็มี วิจารณ์ก็มี ปิติก็มีสุขกมี เอกัคคตาก็มี ทั้งหมดนี้เป็นอารมณ์เดียวกัน
คำที่ว่าอารมณ์เดียวกันนั้น ทำไมจึงมีหลายอย่างหมายความว่า มันจะมีหลายอาการก็ช่างมันเพราะอาการทั้งหลายเหล่านั้น จะมารวมอยู่ในความสงบอันเดียวกันไม่ฟุ้งซ่านไม่รำคาญ เหมือนกับว่ามีคน ๕ คน แต่ลักษณะของคนทั้ง ๕ คนนั้นมีอาการเดียวกันคือจะมีอารมณ์ทั้ง ๕ อารมณ์ เมื่ออารมณ์อันนั้นอยู่ในลักษณะ นี้ ท่านเรียกว่า"องค์" องค์ของความสงบ ท่านไม่ได้เรียกว่าอารมณ์ ท่านเรียกว่า วิตก วิจารณ์ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เป็นอารมณ์ตามธรรมดาท่านจึงจัดว่าเป็นองค์ของความสงบมีอาการอยู่๕ อย่าง คือวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ไม่มีความรำคาญ วิตกอยู่ก็ไม่รำคาญวิจารณ์อยู่ก็ไม่รำคาญมีปีติก็ไม่รำคาญ มีความสุขก็ไม่รำคาญ จิตจึงเป็นอารมณ์เดียวอยู่ในสิ่งทั้ง๕ นี้จับรวมกันอยู่ เรื่องจิตสงบขั้นแรกจึงเป็นอย่างนั้น


ปัญหาของการทำสมาธิ

ทีนี้บางอย่างอาจถอยออกมา ถ้ากำลังใจไม่กล้าสติหย่อนไปแล้ว มันจะมีอารมณ์มาแทรกเข้าไปเป็นบางครั้งคล้ายๆกับว่าเคลิ้มไป แล้วมีอาการอะไรบางอย่างเข้ามาแทรกตอนที่มันเคลิ้มไปแต่ไม่ใช่ความง่วงตามธรรมดา ท่านว่ามีความเคลิ้มในความสงบ บางทีก็มีอะไรบางอย่างแทรกเข้ามาเช่นว่า บางทีมีเสียงปรากฏบ้าง บางทีเหมือนเห็นสุนัขวิ่งผ่านไปข้างหน้าบ้างแต่ว่าไม่ชัดเจนและก็ไม่ใช่ฝัน อันนี้จัดเป็นฝันไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะกำลังทั้ง๕ ดังกล่าวแล้วไม่สม่ำเสมอกัน มันอ่อนลง อ่อนเคลิ้มลง จึงเกิดอารมณ์เข้าแทรกอันนี้เป็นอาการของจิต
ถ้าหากว่าเรามีความสงบมันก็มีสิ่ง ๕ สิ่งนี้เป็นบริวารอยู่ แต่เป็นบริวารในความสงบอันนี้เป็นเบื้องแรกของมัน ขณะที่จิตเราสงบอยู่ในขั้นนี้ ชอบมโนนิมิตทางตาทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางจิต มันชอบเป็นแต่ผู้ทำสมาธิจับไม่ค่อยถูกว่า"มันหลับไหม? ก็ไม่ใช่""มันฝันไปหรือ? ก็ไม่ใช่" ไม่ใช่อะไรทั้งนั้น มันเป็นอาการเกิดมาจากความสงบครึ่งๆกลางก็ได้บางทีก็แจ่มใสเป็นธรรมดา บางทีก็คลุกคลีไปกับความสงบบ้าง กับอารมณ์ทั้งหลายบ้างแต่อยู่ในขอบเขตของมัน
อย่างไรก็ตามบางคนทำสมาธิยาก เพราะอะไรเพราะจริตแปลกเขา แต่ก็เป็นสมาธิแต่ก็ไม่หนักแน่น ไม่ได้รับความสบายเพราะสมาธิ แต่จะได้รับความสบายเพราะปัญญาเพราะปัญญาความคิด เห็นความจริงของมันแล้วก็แก้ปัญหาถูกต้อง เป็นประเภทปัญญาวิมุตไม่ใช่เจโตวิมุต* มันจะมีความสบายทุกอย่างที่จะได้เกิดขึ้นเป็นหนทางของเราเพราะปัญญาสมาธิมันน้อย คล้ายๆกับว่าไม่ต้องนั่งสมาธิ พิจารณา "อันนั้นเป็นอะไรหนอ"แล้วแก้ปัญหาอันนั้นได้ทันที เลยสบายไป เลยสงบลักษณะผู้มีปัญญาต้องเป็นอย่างนั้น
ทำสมาธินี้ไม่ค่อยได้ง่ายและไม่ค่อยดีด้วย มีสมาธิแต่เพียงเฉพาะเลี้ยงปัญญาให้เกิดขึ้นมาได้โดยมากอาศัยปัญญา เช่นสมมติว่า ทำนากับทำสวน เราอาศัยนามากกว่าสวน หรือทำนากับทำไร่เราจะได้อาศัยนามากกว่าไร่ ในเรื่องของเรา อาชีพของเรา และการภาวนาของเราก็เหมือนกันมันจะได้อาศัยปัญญาแก้ปัญหา แล้วจะเห็นความจริง ความสงบจึงเกิดขึ้นมา มันเป็นไปอย่างนั้นธรรมดาก็เป็นไปอย่างนั้น มันต่างกัน


หลุดพ้นด้วยปัญญาสมาธิ

บางคน แรงในทางปัญญา สมาธิพอเป็นฐานไม่มาก คล้ายๆกับว่านั่งสมาธิ ไม่ค่อยสงบชอบมีความปรุงแต่ง มีความคิดและมีปัญญาชักเรื่องนั้นมาพิจารณาชักเรื่องนี้มาพิจารณาแล้วพิจารณาลงสู่ความสงบก็เห็นความถูกต้อง อันนั้นจะได้มีกำลังกว่าสมาธิ อันนี้จริงของบางคนเป็นอย่างนั้นแม้จะ ยืน เดิน นั่ง นอนก็ตามความตรัสรู้ธรรมะนั้นไม่แน่นอน จะเป็นอิริยาบถใดก็ได้ยืนก็ได้ เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้ อันนี้แหละผู้แรงด้วยปัญญา เป็นผู้มีปัญญาสามารถที่จะไม่เกี่ยวข้องกับสมาธิมากก็ได้
ถ้าพูดกันง่ายๆปัญญาเห็นเลย เห็นไปเลยก็ละไปเลย สงบไปเลย ได้ความสบายเพราะอันนั้นมันเห็นชัดมันเห็นจริงเชื่อมั่นยืนยันเป็นพยานตนเองได้ นี่จริตของบางคนเป็นไปอย่างนี้ แต่จะอย่างไรก็ช่างมันก็ต้องทำลายความเห็นผิดออกเหลือแต่ความเห็นถูก ทำลายความฟุ้งซ่านออก เหลือแต่ความสงบ มันก็จะลงไปสู่จุดอันเดียวกัน
บางคนปัญญาน้อย นั่งสมาธิได้ง่าย สงบ สงบเร็วที่สุด ไวแต่ไม่ค่อยมีปัญญาไม่ทันกิเลสทั้งหลาย ไม่รู้เรื่องกิเลสทั้งหลาย แก้ปัญหาไม่ค่อยได้ พระโยคาวจรเจ้าผู้ปฏิบัติมีสองหน้าอย่างนี้ก็คู่กันเรื่อยไป แต่ปัญญาหรือวิปัสสนากับสมถะมันก็ทิ้งกันไม่ได้ คาบเกี่ยวกันไปเรื่อยๆอย่างนี้
ทีนี้ถ้ามันชัดแจ้งในความสงบ เมื่อมีอารมณ์มาผ่าน มีนิมิตขึ้นมาผ่าน ก็ไม่ได้สงสัยว่า"เคลิ้มไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "หลงไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?" "ลืมไปหรือเปล่าหนอเมื่อกี้นี้?""หลับไปหรือเปล่าเมื่อกี้นี้?"จิตขณะนี้สงสัย "หลับก็ไม่ใช่ ตื่นก็ไม่ใช่"นี่มันคลุมเครือเรียกว่า มันมั่วสุมอยู่กับอารมณ์ ไม่แจ่มใสเหมือนกันกับพระจันทร์เข้าก้อนเมฆมองเห็นอยู่แล้ว แต่ไม่แจ่มแจ้งมัวๆไม่เหมือนกับพระจันทร์ออกจากก้อนเมฆนั้นแจ่มใสสะอาดจิตเราสงบมีสติสัมปชัญญะรอบคอบสมบูรณ์แล้วจึงไม่สงสัยในอาการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจะหมดจากนิวรณ์จริงๆรู้ว่าอันใดเกิดขึ้นมาเป็นอันใดหมดทุกอย่าง รู้แจ้งรู้เรื่องตามเป็นจริงไม่ได้สงสัยอันนั้นเป็นดวงจิตที่ใสสะอาด สมาธิถึงขีดแล้วเป็นเช่นนั้น
ระยะหลังๆมาก็เป็นไปในรูปอย่างนี้ทำนองนี้ ป็นเรื่องธรรมดาของมัน ถ้าจิตแจ่มแจ้งผ่องใสแล้วไม่ต้องไปถามว่าง่วงหรือไม่ง่วง ใช่หรือไม่ใช่ ทั้งหลายเหล่านี้มันก็ไมมีอะไรถ้ามันชัดเจนก็เหมือนเรานั่งธรรมดาอย่างนี้เอง นั่งเห็นธรรมดา หลับตาก็เหมือนลืมตา เห็นในขณะหลับตาก็เหมือนลืมตามาเห็นทุกอย่างสารพัดไม่มีความสงสัย เพียงแต่เกิดอัศจรรย์ขึ้นในดวงจิตของเราว่า"เอ๊ะ! สิ่งเหล่านี้มันก็เป็นของมันไปได้มันไม่น่าจะเป็นไปได้ มันก็เป็นของมันได้" อันนี้จะวิพากษ์วิจารณ์มันเองไปเรื่อยๆทั้งมีปีติ ทั้งมีความสุขใจ มีความอิ่มใจ มีความสงบเป็นเช่นนั้น ต่อนั้นไปจิตมันจะละเอียดไปยิ่งกว่านั้นมันก็จะทิ้งอารมณ์ของมันไปด้วยวิตกยกเรื่องขึ้นมาก็จะไม่มี และเรื่องวิจารณ์มันก็จะหมด จะเหลือแต่ความอิ่มใจอิ่มไม่รู้ว่าอิ่มอะไร แต่มันอิ่ม เกิดความสุขกับอารมณ์เดียว นี่มันทิ้งไปวิตกวิจารณ์มันทิ้งไป ทิ้งไปไหน? ไม่ใช่เรื่องทิ้ง จิตเราหดตัวเข้ามาคือมันสงบเรื่องวิตกวิจารณ์มันเป็นของหยาบไปแล้ว มันเข้ามาอยู่ในที่นี้ไม่ได้ก็เรียกว่าทิ้งวิตก ทิ้งวิจารณ์ ทีนี้จะไม่มีความวิตก ความยกขึ้นวิจารณ์ ความพิจารณาไมมีมีแต่ความอิ่ม มีความสุขและมีอารมณ์เดียวเสวยอยู่อย่างนั้น
ที่เขาเรียกว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เราไม่ได้ว่าอย่างนั้นเราพูดถึงแต่ความสงบวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา ต่อไปนี้ก็ทิ้งวิตกวิจารณ์เกิดขึ้นมาแล้วก็ทิ้งไป เหลือแต่ปีติกับสุข เอกัคคตา ต่อไปก็ทิ้งปีติเหลือแต่สุขกับเอกัคคตาต่อไปก็มีเอกัคคตากับอุเบกขา มันไม่มีอะไรแล้วมันทิ้งไป เรียกว่า จิตมันสงบๆๆๆจนไปถึงอารมณ์มันน้อยที่สุดยังเหลืออยู่แต่โน้น...ถึงปลายมัน เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขาเฉยอย่างนี้ อันนี้มันสงบแล้วมันจึงเป็น นี่ เรียกว่ากำลังของจิต อาการของจิตที่ได้รับความสงบแล้วถ้าเป็นอย่างนี้มันไม่ง่วงความง่วงเหงาหาวนอนมันเข้าไม่ได้นิวรณ์ทั้งห้า มันหนีหมด วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลอิจฉาพยาบาทฟุ้งซ่าน รำคาญหนี เหล่านี้ไม่มีแล้ว นี่มันค่อยเลื่อนไปเป็นระยะอย่างนั้นนี่อาศัยการกระทำให้มากเจริญให้มาก

3#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-4-8 08:11 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
สติ : สิ่งที่ช่วยรักษาสมาธิ

สิ่งที่รักษาสมาธินี้ไว้ได้ คือสติ สตินี้เป็นธรรมเป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมอันอื่นๆทั้งหลายเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงสตินี้ก็คือชีวิต ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เหมือนตาย ถ้าขาดสติเมื่อใดก็เป็นคนประมาทในระหว่างขาดสตินั้น พูดไม่มีความหมาย การกระทำไม่มีความหมาย ธรรมคือสตินี้คือความระลึกได้ในลักษณะใดก็ตามสติเป็นเหตุให้สัมปชัญญะเกิดขึ้นมาได้ เป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้นมาได้ ทุกสิ่งสารพัด



ธรรมทั้งหลายถ้าหากว่าขาดสติธรรมทั้งหลายนั้นไม่สมบูรณ์ อันนี้คือการควบคุม การยืน การเดิน การนั่ง การนอนไมใช่แต่เพียงขณะนั่งสมาธิเท่านั้น แม้เมื่อเราออกจากสมาธิไปแล้ว สติก็ยังเป็นสิ่งประจำใจอยู่เสมอมีความรู้อยู่เสมอเป็นของที่มีอยู่เสมอ ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เมื่อระมัดระวังทางจิตใจ ความอายมันก็เกิดขึ้นมาการพูด การกระทำอันใดที่ไม่ถูกต้อง เราก็อายขึ้น อายขึ้น เมื่อความอายกำลังกล้าขึ้นมาความสังวรก็มากขึ้นด้วย เมื่อความสังวรมากขึ้น ความประมาทก็ไม่มี นี่ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นั่งสมาธิอยู่ตรงนี้เราจะไปไหนก็ตาม อันนี้มันอยู่ในจิตของตัวเอง มันไม่ได้หนีไปไหน นี่ท่านว่าเจริญสติทำให้มาก เจริญให้มาก อันนี้เป็นธรรมะคุ้มครองรักษากิจการที่เราทำอยู่ หรือทำมาแล้วหรือกำลังจะกระทำอยู่ ในปัจจุบันนี้เป็นธรรมะที่มีคุณประโยชน์มาก ให้เรารู้ตัวอยู่ทุกเมื่อความเห็นผิดชอบมันก็มีทุกเมื่อ เมื่อความเห็นผิดชอบมีอยู่ เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อความละอายก็เกิดขึ้น จะไม่ทำสิ่งที่ผิดหรือสิ่งที่ไม่ดี เรียกว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อรวบยอดเข้ามา มันจะมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา คือ การสังวรสำรวมที่มีอยู่ในกิจการของตนนั้นก็เรียกว่าศีล ศีลสสังวร ความตั้งใจมั่น อยู่ในความสังวรสำรวมในข้อวัตรของเรานั้นก็เรียกว่ามันเป็นสมาธิ ความรอบรู้ทั้งหลายในกิจการที่เรามีอยู่นั้น ก็เรียกว่าปัญญาพูดง่ายๆก็คือ จะมีศีล จะมีสมาธิ จะมีปัญญา ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อมันกล้าขึ้นมามันก็คือมรรคนี่แหละหนทาง ทางอื่นไม่มี



*
ปัญญาวิมุต คือ บุคคลผู้หลุดพันเพราะปัญญา คือ ปัญญาเป็นกำลังสำคัญ หรือปัญญานำหน้าเจโตวิมุต คือ บุคคลผู้หลุดพ้นเพราะสมาธิ คือ สมาธิเป็นกำลังสำคัญ หรือสมาธินำหน้าวิมุต หมายถึง บุคคลผู้หลุดพ้นวิมุติ หมายถึง ความหลุดพ้น


ที่มา http://www.ubu.ac.th/wat/ebooks/ ... _Mind_Peaceful.html



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้