ตั้งให้เราเป็นเว็บแรกที่คุณเลือก เก็บเราไว้เป็นเว็บโปรด
สมัครสมาชิก ได้มากกว่าที่คุณคิด เข้าสู่ระบบ
ดู: 6724
ตอบกลับ: 1
สั่งพิมพ์ ก่อนหน้า ถัดไป

โอปปาติกะ

[คัดลอกลิงก์]


ปรัศนี:
โอปปาติกสัตว์ นี้เป็นอย่างไรครับ? เห็นได้ที่ไหนครับ? รูปร่างเป็นอย่างไรครับ?
พุทธทาส: นี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดกันอยู่เวลานี้ พวกหนึ่งเข้าใจว่า โอปปาติกะนั้น เป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่ง นี้เราไม่เห็นด้วย ที่แท้- โอปปาติกะ เป็นชื่อของกิริยาอาการที่เกิด ไม่ได้เป็นชื่อของสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นรูปร่างอะไรของตนโดยเฉพาะ
"โอปปาติกะ" หมายถึง การเกิดในลักษณะที่ว่า ผลุงขึ้นมาโตเต็มที่ ไม่ต้องเกิดเป็นเด็ก ไม่ต้องมีบิดามารดา มันเกิดผลุงขึ้นมาโดยไม่ต้องมีบิดามารดา โดยไม่ต้องเป็นเด็กก่อน เป็นหญิง เป็นชาย ไม่ต้องมีเพศ กิริยาเกิดผลุงอย่างนี้เรียกว่า โอปาติกะ อย่าเติมคำว่า สัตว์ เข้าไป มันเป็นกริยาอาการที่เกิด เป็นชื่อของกิริยาอาการ ทีนี้เมื่อเกิดแล้วจะไม่เรียกสัตว์นั้นว่า "โอปปาติกะ" ไม่ใช่ชื่อของสัตว์เป็นชื่อของกิริยาอาการที่เกิดได้ที่ไหน? เมื่อมีสติปัญญาเข้าใจความหมายของคำๆ นี้ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นกิริยาอาการเกิดมีรูปร่างอย่างไร? ไม่แน่ ไม่มีในตำราถ้าวาการเกิดอย่างนี้เกิดเป็นพรหม มันก็มีรูปร่างอย่างพรหม เกิดเป็นเทวดา ไม่ผิดแผกแตกต่างกันไปนี่ ผมจึงอธิบายว่า เมื่อจิตคิดอย่างเทวดา ก็เป็นเทวดา ผลุงขึ้นมาในจิตนี้ไม่ต้องมีพ่อมีแม่ ไม่ต้องเป็นเด็กก่อน มีความรู้สึกเป็นอย่างพรหม จิตก็อยู่ในสภาพพรหม ก็เกิดเป็นพรหมขึ้นมาในจิตใจนี้ การเกิดที่ไม่ต้องเป็นเด็กก่อนไม่ต้องมีบิดามารดา ไม่ต้องเข้าไปในครรภ์ไม่มีเพศอย่างนี้ การเกิดอย่างนี้ว่า "โอปปาติกะ" เป็นชื่อของการกำเนิดอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ชื่อของสัตว์เลย. เอาต่อไป...
การออกเสียง โอปปาติกะ
ปรัศนี: คำว่า "โอปปาติกะ"ที่ถูกต้องออกเสียงว่า โอป-ปา-ติ-กา, หรือ โอ-ปะ-ปา-ติ-กะ กันแน่ครับ?
พุทธทาส: ที่ถูกต้องออกเสียงว่า โอ ปะ ปา ติ กา อย่าออกเสียงว่า โอป ปา ติ กา ไม่ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี เอ้า มีอะไรอีก.

ขออภัย! โพสต์นี้มีไฟล์แนบหรือรูปภาพที่ไม่ได้รับอนุญาตให้คุณเข้าถึง

คุณจำเป็นต้อง ลงชื่อเข้าใช้ เพื่อดาวน์โหลดหรือดูไฟล์แนบนี้ คุณยังไม่มีบัญชีใช่ไหม? ลงทะเบียน

x
2#
 เจ้าของ| โพสต์ 2014-2-24 20:13 | ดูเฉพาะโพสต์สมาชิกนี้
ศาตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก / ราชบัณฑิต


มีคำที่คุ้นหูคุ้นตาชาวไทยอยู่คำหนึ่งคือ โอปปาติกะ พอเอ่ยถึงคำนี้คนทั่วไปจะเข้าใจทันทีว่า หมายถึงสัตว์ประเภทหนึ่งที่ผุดเกิดขึ้นมาตามแรงบุญแรงกรรม เกิดมาแล้วโตเต็มตัวในทันที

บางทีเราเรียกกันว่า "สัมภเวสี"

แต่โอปปาติกะกับสัมภเวสี น่าจะไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันอย่างไรเอาไว้พูดถึงทีหลัง ในที่นี้ขอพูดถึงโอปปาติกะก่อน

ในคัมภีร์ชั้นต้น (หมายถึงพระไตรปิฎก) มีคำเรียกสิ่งที่ว่านี้อยู่สองคำคือ อุปปาติกะ กับ โอปปาติกะ ทั้งสองคำนี้มาจากรากศัพท์เดียวกันคือ อุ+ป+ปตฺ+ณิก (ปัจจัย) ประกอบกันตามกรรมวิธีไวยากรณ์ หรือ Grammar ของภาษาบาลีแล้วสำเร็จรูปเป็น อุปปาติกะ หรือโอปปาติกะ แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้ผุดขึ้น" หมายความว่า ผุดเกิดเติบโตขึ้นมาทันทีดังกล่าวข้างต้น

ใน มหาสีหนาทสูตร มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎก (ฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2521) เล่ม 12 ข้อ 169 หน้า 117 พระพุทธเจ้าตรัสว่า

"ดูกร สารีบุตร กำเนิด 4 ประการเป็นไฉน คือ อัณฑชะกำเนิด ชลาพุชะกำเนิด สังเสทชะกำเนิด โอปปาติกะกำเนิด ดูกรสารีบุตร อัณฑชะกำเนิดเป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด นี้เรียกว่า อัณฑชะกำเนิด ดูกร สารีบุตร ชลาพุชะกำเนิดเป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดชำแรกไส้เกิด นี้เราเรียกว่า ชลาพุชะกำเนิด สังเสทชะกำเนิดเป็นไฉน สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดย่อมเกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในของสกปรกนี้เราเรียกว่า สังเสทชะกำเนิด ดูกร สารีบุตร โอปปาติกะเป็นไฉน เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เรียกว่า โอปปาติกะ"

สำนวนแปลไทยของท่านค่อนข้างเข้าใจยาก ขอถอดความให้ฟังง่ายคือ กำเนิดมี 4 ประเภทคือ (1) ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ (2) อัณฑชะ เกิดในไข่ (3) สังเสทชะ เกิดในที่สกปรกเน่าเหม็น และ (4) โอปปาติกะ พวกที่ผุดเกิดขึ้นมาทันที ซึ่งมีด้วยกัน 4 จำพวกคือ เทวดาพวกหนึ่ง สัตว์นรกพวกหนึ่ง มนุษย์บางจำพวกอีกพวกหนึ่ง เปรตบางจำพวกอีกพวกหนึ่ง

สามจำพวกแรกไม่มีปัญหา แต่ประเภทสุดท้ายคือมนุษย์นี่สิ พระคัมภีร์ยืนยันว่าบางพวกเป็นโอปปาติกะ แง่นี้ยังไม่มีใครพูดถึงกัน ว่าได้แก่มนุษย์ชนิดไหน

มีหลักฐานอยู่สองแห่ง น่าจะให้คำตอบได้คือ ปาสาทิกสูตร เล่ม 11 ข้อ 116 หน้า 122 กล่าวว่า

"ดูกรอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ในภายหน้า เพราะละสังโยชน์ 3 สิ้นไป ข้อนี้เป็นผลประการที่ 1 เป็นอานิสงส์ประการที่ 1 ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราวเดียวเท่านั้น แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์เพราะสังโยชน์ 3 สิ้นไป และเพราะความราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง ข้อนี้เป็นผลประการที่ 2 เป็นอานิสงส์ประการที่ 2 ดูกรอาวุโส ข้ออื่นยังมีอีกภิกษุเป็นอุปปาติกะ (เป็นอนาคามี) ผู้จะปรินิพพานในภพนั้น เป็นผู้ไม่ต้องกลับมาจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 สิ้นไป ข้อนี้เป็นผลประการที่ 3 เป็นอานิสงส์ประการที่ 3..."

ข้อความข้างบนนี้ พูดถึงคน 4 ระดับคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี โอปปาติกะ และพระอรหันต์ (ซึ่งไม่ได้ยกมาด้วยเพราะจะเปลืองหน้ากระดาษไป)

โอปปาติกะ ในที่นี้ก็คือพระอนาคามี

หลักฐานที่สองคือ อัฏฐกนาครสูตร เล่มที่ 13 ข้อ 2 หน้า 17-18 กล่าวว่า

"เธอตั้งอยู่ในธรรมคือสมถะวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรมคือสมถะวิปัสสนานั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 เธอย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา"

แม้จะไม่ระบุคำว่า "อนาคามี" ตรงๆ แต่จากข้อความแวดล้อม ก็บ่งชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ผู้ที่ฝึกสมถะและวิปัสสนา ได้ฌานที่ 3 และที่ 4 ย่อมได้บรรลุพระอรหันต์สิ้นอาสวกิเลสได้ในที่สุด แต่ถ้าไม่สามารถหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ เพราะไปติดอยู่ในความสุขในฌาน เพลิดเพลินในสมถะวิปัสสนา ก็จะได้เป็นโอปปาติกะ เพราะมาถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมละสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 อย่างได้

และคนที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 5 ชนิด ก็คือ พระอนาคามี

ครับ! มนุษย์ที่เป็นโอปปาติกะ คือ พระอริยบุคคลระดับอนาคามีดังหลักฐานที่อ้างมาข้างต้น

ปัจจุบันนี้ มีนักโอปปาติกะนิยมบางท่าน มุ่งความสนใจไปเฉพาะโอปปาติกะที่เป็นเทวดา หรือสัตว์นรก โดยลืมนึกถึงโอปปาติกะมนุษย์ บางท่านเอาเทวดามาขู่ว่า ใครไม่เชื่อว่าผีสางเทวดามีจริง หรือไม่กระตือรือร้นที่จะเห็นความสำคัญของเทวดาเป็นมิจฉาทิฐิ อะไรไปโน่นแน่ะ

จริงอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสมิจฉาทิฐิ (ความเห็นผิด) 10 อย่างไว้ในอปัณณกสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 13 การไม่เชื่อว่ามีโอปปาติกะเป็นหนึ่งใน 10 อย่างนั้น แต่โอปปาติกะชนิดไหนที่พระพุทธองค์น่าจะประสงค์ในที่นี้

เทวดา หรือมนุษย์?

น่าจะเป็นมนุษย์มากกว่า

โอปปาติกะมนุษย์นี่แหละ ที่ควรสนใจที่สุด เพราะถ้าเชื่อว่ามนุษย์ที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่จริงก็เท่ากับยืนยันความเป็นสวากขาตธรรม (พระธรรมตรัสดีแล้ว) สันทิฏฐิกธรรม (พระธรรมพึงรู้เห็นเอง) และเอหิปัสสิกธรรม (พระธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

การ "ผุดเกิด" ที่แท้จริง น่าจะเป็นการผุดขึ้นแห่งกระแสจิตก้าวพ้นกิเลสที่ผูกมัดไว้กับกองทุกข์ (สังโยชน์) 5 ชนิด คือ ความเห็นว่ามีตัวตน, ความลังเลสงสัย, ความถือขลังศักดิ์สิทธิ์ในศีลพรต, ความติดใจในกามคุณและความกระทบกระทั่งในใจ

คนที่ระดับจิตใจถึงขั้นนี้ ไม่มีทางตกต่ำ มีแต่จะพัฒนาขึ้นจนดับกิเลสได้สนิท ไม่กลับมาเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไป

โอปปาติกะประเภทนี้ต่างหากที่ควรสนใจ และถ้าใครไม่เชื่อว่าในพุทธศาสนามีโอปปาติกะชนิดนี้ จึงควรถูกประฌามว่าเป็นมิจฉาทิฐิแท้จริง

เพราะเท่ากับคัดค้านคำสอนของพระพุทธองค์
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้